ตอนที่ 2 ของบทสัมภาษณ์ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย ผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2562 กับชีวิตในเขตป่าเขา บริเวณดอยยาวดอยผาหม่น จังหวัดเชียงราย ติดพรมแดนลาว และเรื่องราวหลังออกจากป่ากลับมาใช้ชีวิตในเมือง ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
อาจเรียกได้ว่า มีคนไม่มากนักที่มีโอกาสได้รู้จักและช่วยเหลืองานให้กับบุคคลสำคัญ แต่ช่วงแห่งชีวิตของสินธุ์สวัสดิ์กลับได้พบและทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ครูองุ่น มาลิก ผู้เป็นครู อาจารย์ ผู้สื่อข่าว นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวนาชาวไร่ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ (ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เธอถูกจับและควบคุมตัวในข้อหาภัยสังคม) ได้พบกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยารัฐบุรุษอาวุโสและอดีตนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ รวมถึงบุตรีทั้งสามของท่าน ได้แก่ สุดา-วาณี-ดุษฎี พนมยงค์ และพบกับ ชนิด สายประดิษฐ์ (เจ้าของนามปากกา ‘จูเลียต’ ผู้แปลหนังสือ “เหยื่ออธรรม”) ภรรยาของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นักคิดนักเขียนนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญ
เขากลายเป็นผู้สืบสานแนวคิดและงานของบุคคลเหล่านี้ในเวลาต่อมาในสถานภาพต่างๆ อาทิ กรรมการมูลนิธิไชยวนา ผู้จัดการสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นหนึ่งในผู้จัดกิจกรรมเนื่องในวาระ 100 ปีชาตกาลปรีดี พนมยงค์ งานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา และกิจกรรมเนื่องในวาระ 100 ปีชาตกาลศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
ปัจจุบัน สินธุ์สวัสดิ์ลาออกจากงานทุกตำแหน่งและใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านพักอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แต่ยังคงเขียนหนังสือ สร้างสรรค์งานศิลปะสะท้อนยุคสมัยเพื่อสื่อถึงความคิดและอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อสังคม รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่อง