ย้อนอดีตกลับไปในปี 1991 เยอรมนีในฐานะประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ประสบปัญหาอัตราการเกิดใหม่ของประชากรเพียง 8 – 10 คน ต่อประชากร 1,000 คน เมื่อสังคมมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะขาดกำลังคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เยอรมนีจึงเปิดรับผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ ซึ่งรวมถึงย่านคาล์ค (Kalk) ในเมืองโคโลญ (Cologne)
โดยทั่วไปแล้วกลุ่มผู้อพยพมักได้รับโอกาสทางสังคมไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ และมักถูกละเลยในการพัฒนา แต่ในกรณีของย่านคาล์ค ผู้คนเหล่านี้ไม่ถูกลืมและได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบเพื่อบูรณะห้องสมุดประจำชุมชน
อาทวอส (Aat Vos) เจ้าของบริษัทสถาปนิกสัญชาติดัตซ์ ได้นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสกัดความต้องการที่แท้จริงของชาวคาล์ค แล้ววางกลยุทธ์พื้นที่ให้สอดรับกับโจทย์เหล่านั้น แม้ที่นี่จะไม่ใช่ห้องสมุดขนาดใหญ่ แต่อัดแน่นไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อยกระดับการให้บริการ
ในอาคารมีสิ่งที่เรียกว่า ‘The Wall’ เป็นกำแพงสีขาวทำหน้าที่เป็นจอขนาดใหญ่ ซึ่งเชิญชวนให้เยาวชนมาสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกับศิลปินในท้องถิ่น เช่น กราฟฟิตี หรือแอนิเมชัน โดยใช้อุปกรณ์แท็บเล็ต ทันทีที่จรดปลายนิ้วผลงานจะถูกนำเสนอบนผนังในทันที นวัตกรรมนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะการฉายแสงสีบนอาคารซิดนีย์โอเปราเฮาส์ของกลุ่มศิลปินชาวเยอรมัน ‘Urbanscreen’
ส่วนช่วงนอกเวลาทำการซึ่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุดกลับบ้านไปแล้ว ทุกคนยังสามารถเข้ามาใช้บริการด้วยตนเองได้เพิ่มขึ้นอีก 17 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยืมคืนหนังสือพร้อมชำระค่าธรรมเนียมด้วยตัวเองผ่านตู้อัตโนมัติ นอกจากนี้ห้องสมุดยังจัดทำ ‘Makermobile’ เมกเกอร์สเปซบนรถซาเล้งไฟฟ้า สัญจรไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้บริการเครื่องพิมพ์สามมิติแก่ผู้คนนอกพื้นที่ห้องสมุด ซึ่งปกติแล้วอาจมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีไม่มากนัก
นวัตกรรมล้ำสมัยของห้องสมุดคาล์คมุ่งให้ผู้คนไม่ว่าชนชาติหรือภาษาใดก็ตามต่างเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยไม่แบ่งแยกกีดกัน และสามารถเข้าถึงเข้าถึงการให้บริการได้ง่ายขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50
ที่มา
บทความ “Cologne Public Library in Kalk” จาก includi.com (Online)
บทความ “KÖLN KALK LIBRARY” จาก includi.com (Online)
บทความ “Neue Stadtteilbibliothek Köln-Kalk Erweitert Als Inspirierender Dritter Ort Die Öffnungszeiten Mit Open+” จาก bibliotheca.com (Online)
บทความ “stadtbibliothek_köeln 2018 / 2019” จาก stadt-koeln.de (Online)
บทความ “Unser Angebot außerhalb der Servicezeiten” จาก stadt-koeln.de (Online)
บทความ “Governance of migrant integration in Germany” จาก ec.europa.eu (Online)
บทความ “Germany Birth Rate 1950-2024” จาก macrotrends.net (Online)