พอกันที! อัศวินขี่ม้าขาว ก้าวสู่อนาคตด้วย ‘ปัญญารวมหมู่’

827 views
7 mins
September 3, 2021

          สังคมโดยทั่วไปมักให้คุณค่ากับคนเก่งหรือคนที่มีสติปัญญาโดดเด่น เพราะเชื่อว่าคนเก่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า มีความสุขมากกว่า และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากกว่าคนทั่วไป

          ทว่าแนวคิดเรื่อง ‘ปัญญารวมหมู่’ หรือ Collective Intelligence มีมุมมองตรงกันข้าม คือไม่เชื่อเรื่อง ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ แต่มีสมมุติฐานว่า หากมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ได้มีความสัมพันธ์ที่เสมอภาคกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้ จะก่อให้เกิดคุณค่าและประสิทธิภาพสูงสุดต่อสังคมส่วนรวม เพราะในความเป็นจริงมนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพียงลำพัง แต่ต้องมีปฏิสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัย เสมือนอวัยวะในร่างกายที่ทำงานสอดประสานกัน

          ในการประชุม TK Forum 2021 จัดโดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ คุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และอดีตผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม (CUD4S) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงระบบด้วยปัญญารวมหมู่” ว่าด้วยการรวมพลังทางปัญญาของผู้คนในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาในระดับโครงสร้างอย่างตรงจุดและยั่งยืน

ส่งเสริมความหลากหลาย หยุดยั้งวัฒนธรรมฉายเดี่ยว

          ณัฐพงษ์ เริ่มต้นการบรรยายโดยชวนตั้งคำถามต่อสิ่งที่ทุกคนน่าจะเคยพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง หน้าโรงเรียนหลายแห่งมักติดป้ายขนาดใหญ่เพื่อเชิดชูเด็กที่เรียนเก่งหรือมีความสามารถโดดเด่น แสดงให้เห็นวัฒนธรรมการแข่งขันที่แฝงอยู่ในสังคม ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศไทย

          “เรากำลังปลูกฝังเด็กจำนวนมากให้เห็นว่า ความฉลาดระดับปัจเจกคือที่สุดของชีวิต ซึ่งผมคิดว่าไม่จริง จะทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเอง และมองว่าความหลากหลายคือจุดแข็งของสังคม จะมีเครื่องมืออะไรที่ทำให้คนธรรมดาๆซึ่งอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองและอยากมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น รู้สึกว่าเขาถูกกระตุ้นหรือจูงใจ โดยไม่รู้สึกด้อยค่า”

          เขายกตัวอย่างปัญญารวมหมู่ที่ปรากฏในธรรมชาติ คือการอยู่รวมกันของมด มดที่ดำรงอยู่อย่างเอกเทศแทบจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้ความหมาย แต่เมื่อมันอยู่รวมกัน ตัวแรกที่หาอาหารได้จะทิ้งรอยไว้เพื่อให้ตัวที่เหลือเดินตาม พวกมันจะไม่กินทันทีที่เจออาหาร แต่ทุกตัวจะช่วยกันขนกลับรัง แสดงให้เห็นถึงการรวมตัวกันของปัจเจกที่ก่อให้เกิดคุณค่าแบบทวีคูณ

          มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามพิสูจน์เรื่องปัญญารวมหมู่ โดยการออกแบบสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ในการทดลองหนึ่ง มีการออกแบบให้ทีม A เป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยคนฉลาดและผู้เชี่ยวชาญที่มี IQ สูง ทีม B เป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยคนทั่วไปซึ่งมีความหลากหลาย และมีความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น (social perceptiveness) และทีม C เป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายกัน

          คนส่วนใหญ่ย่อมมีสมมติฐานว่าทีม A น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เหมือนการแบ่งห้องเรียนเป็นห้องคิง ห้องควีน แต่ผลการวิจัยกลับพบว่า สิ่งแวดล้อมที่หลากหลายของทีม B เป็นเงื่อนไขเหมาะสมที่สุดในการเกิดปัญญารวมหมู่

          นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ MIT ที่ระบุว่า องค์ประกอบที่ทำให้เกิดปัญญารวมหมู่ ได้แก่ ระดับความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น และสัดส่วนของผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่ม เนื่องจากมีการทดสอบแล้วว่า ผู้หญิงมีความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นการสร้างกลุ่มการเรียนรู้ที่เอื้อให้เกิดปัญญารวมหมู่ จึงต้องพยายามรักษาความหลากหลายของผู้คนเอาไว้ด้วย

ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเทคโนโลยีอัจฉริยะ

          เทคโนโลยีอันชาญฉลาดทั้งหลายไม่ได้มีความอัจฉริยะด้วยตัวของมันเอง แต่เป็นผลมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น ตัวอย่างง่ายๆ คือการที่แต่ละคนค้นหาคำคำเดียวกันใน Google ข้อมูลที่ปรากฏออกมาจะไม่เหมือนกัน เนื่องจาก Google มีระบบอัลกอริทึมที่ประมวลผลจากสถิติการค้นหาแบบเฉพาะบุคคล ยิ่งมีข้อมูลมาก เครื่องมือการสืบค้นก็ยิ่งฉลาดขึ้นเท่านั้น ทำนองเดียวกันกับการแสดงผลสภาพการจราจรของ Google Traffic ซึ่งมีความแม่นยำสูง ก็เป็นผลมาจากข้อมูลของทุกคนที่ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตพร้อมกัน นำไปสู่การประมวลผลเป็นสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์

          อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเกิดขึ้นของวิกิพีเดีย (Wikipedia) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมีอยู่ของสารานุกรมทั่วโลก แทนที่จะต้องลงทุนมหาศาลเพื่อจ้างนักวิชาการมาเขียนเนื้อหาและตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่มหนา วิกิพีเดียใช้วิธีสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนทั่วโลกที่มีความรู้เรื่องนั้นๆ สามารถช่วยกันเขียนและแก้ไขเนื้อหาได้ แม้จะมีโอกาสเกิดความผิดพลาดอยู่บ้าง แต่ก็ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างเสรี

          ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้าจนสามารถเอาชนะความสามารถของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน จนเกิดการตั้งคำถามว่าในที่สุดแล้วมนุษย์จะสู้กับเอไอได้อย่างไร ข้อสรุปที่นักวิชาการเห็นตรงกันคือ มนุษย์ที่เป็นปัจเจกจะไม่สามารถเอาชนะความฉลาดของเอไอได้ แต่ต้องอาศัยปัญญารวมหมู่ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่ยังไม่มีในปัญญาประดิษฐ์

แก้ปัญหาสังคมด้วยการระดมสมอง

          หลายปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องปัญญารวมหมู่ถูกนำไปปรับใช้อย่างแพร่หลายในองค์กรยุคใหม่ แต่การนำไปใช้ในแง่ประโยชน์สาธารณะยังมีไม่มากนัก ณัฐพงษ์ได้รวบรวมกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากทั่วโลก ที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของปัญญารวมหมู่ ซึ่งสุดท้ายแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม

1. CURA ห้อง ICU ตู้คอนเทนเนอร์ในอิตาลี 

          ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงที่ประเทศอิตาลี อาจารย์ชาวอิตาเลียนแห่ง MIT ได้ริเริ่มไอเดียการทำห้อง ICU จากตู้คอนเทนเนอร์ โดยจำเป็นต้องออกแบบและผลิตให้เสร็จอย่างเร่งด่วนภายใน 1 เดือน

          เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วว่าตนไม่สามารถทำงานนี้ได้เพียงลำพัง เขาจึงเลือกที่จะสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิด (Open Platform) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ ทั้งนักออกแบบ วิศวกร ผู้ประกอบการโรงงานกว่า 2,000 คน ระดมกำลังและสมองเพื่อช่วยกันทำงานนี้ให้สำเร็จ จนสามารถผลิตห้อง ICU เคลื่อนที่ กระจายไปตามชุมชนที่เกิดการแพร่ระบาดได้ภายในเวลาที่กำหนด

          “กระบวนการแบบนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถพลิกเอาแง่บวกของเทคโนโลยีในปัจจุบันออกมา แล้วใช้จุดแข็งของมนุษย์เรื่องความฉลาดรวมหมู่ ทุกอย่างที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ดังที่ศาสตราจารย์ท่านนี้ได้กล่าวไว้ว่า ‘ถ้าเราไม่เชื่อว่ามนุษย์ธรรมดาอย่างเราจะทำอะไรได้ คุณลองเปลี่ยนโจทย์ จากที่คิดว่าต้องมีใครสักคนหนึ่งเป็นพระเอกมาช่วย คุณลองพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกัน แล้วรอดูผลลัพธ์ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร’”

2. ศาลเจ้าเมจิ กับการเนรมิตป่ากลางเมืองโตเกียว

          ศาลเจ้าเมจิ (Meiji Jingu) ในเขตโยโยงิ กรุงโตเกียว สร้างขึ้นในปีค.ศ. 1913 บนพื้นที่ 430 ไร่ เพื่ออุทิศแด่ดวงวิญญาณของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ชาวญี่ปุ่นกว่าแสนคนได้ช่วยกันปลูกต้นไม้ราว 120,000 ต้น ที่ได้มาจากการบริจาค

          ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการหลากหลายสาขาต้องร่วมกันคิดและวางแผนเพื่อคัดสรรพันธุ์ไม้หลายร้อยชนิด วิเคราะห์การเติบโตและการปลูกต้นไม้ทดแทนในปีถัดๆ ไป ประกอบกับความพยายามหาจุดสมดุลในมิติด้านจิตวิญญาณ ซึ่งคนรุ่นก่อนยังมีความเชื่อเรื่องเทพยดาที่สิงสถิตอยู่ในต้นไม้ใหญ่ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่อาจมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัย

          มีเอกสารจดหมายเหตุระบุไว้ว่า ชาวญี่ปุ่นมิได้ตั้งใจทำสวนสาธารณะเพื่อคนในรุ่นของเขา แต่ต้องการสร้างป่าที่สมบูรณ์เพื่อเป็นปอดให้เมืองในอีก 150 ปีข้างหน้า การสร้างศาลเจ้าและสวนป่าดังกล่าวใช้ระยะเวลา 5 ปีจึงแล้วเสร็จ ปัจจุบันต้นไม้น้อยใหญ่ได้งอกงามกลายเป็นป่าถาวรที่ร่มรื่นกลางเมืองโตเกียว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น

3. ชุดเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบาร์เซโลนา

          เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เคยมีปัญหาเรื่องหมอกควันอย่างรุนแรง แต่ทั้งเมืองกลับมีจุดติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศไม่ถึง 10 จุด ในขณะที่ประชาชนจำเป็นต้องทราบข้อมูลว่าแต่ละวันอากาศอยู่ในระดับอันตรายมากน้อยเพียงใด และสามารถเดินทางออกนอกบ้านได้หรือไม่

          ชาวบาร์เซโลนาจึงร่วมกันพัฒนาชุดเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศ ‘Citizen Sensing Toolkit’ โดยมีอาสาสมัครที่เป็นวิศวกรและโปรแกรมเมอร์ ช่วยกันออกแบบอุปกรณ์และเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ จากนั้นพลเมืองที่มีจิตสาธารณะจะช่วยกันซื้ออุปกรณ์ไปติดตั้งตามบ้านเรือน

          “กรณีนี้เป็นตัวอย่างของปัญญารวมหมู่ที่เกิดจากการนำปัญหาทางสังคมมาเป็นตัวตั้ง ชวนให้พลเมืองร่วมกันคิดว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตทุกคน จะรอความช่วยเหลือรัฐอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อก่อนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนมักเป็นแบบบนลงล่าง แต่ปัจจุบันเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เพียงแต่ต้องมีคนสักกลุ่มหนึ่งที่เริ่มลุกขึ้นมาทำ”

4. สะพานลอยเชื่อมเมือง ที่รอตเทอร์ดาม

          Luchtsingel เป็นสะพานเดินเท้าสีเหลืองสดใสในเมืองรอตเทอร์ดาม (Rotterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เชื่อมต่อย่านเมืองที่มีสภาพทางเศรษฐกิจไม่ดีไปยังย่านกลางเมือง ช่วยให้ผู้คนอีกฝั่งหนึ่งของเมืองสามารถเข้าถึงย่านพาณิชย์และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้สะดวกขึ้น อีกทั้งช่วยให้ผู้เดินเท้าหลีกเลี่ยงการจราจรที่วุ่นวายด้านล่าง

          การก่อสร้างสะพานแห่งนี้มาจากการระดมทุนของประชาชน โดยมีบริษัทสถาปนิกอาสาออกแบบให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้เมืองที่ไร้ชีวิตชีวากลับมามีชีวิตใหม่ ชื่อผู้บริจาคกว่า 17,000 คน ถูกจารึกไว้ที่แผ่นป้ายบนสะพาน โดย 1 ป้าย มาจากมูลค่าการบริจาค 25 ยูโร กรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่เรียบง่าย แต่สามารถช่วยปลดล็อคแผนการสร้างสะพานของเมืองที่ติดขัดมากว่า 30 ปีได้

5. แคมเปญลดขยะจากใบปลิวโฆษณาในเนเธอร์แลนด์

          ชาวดัชต์ได้ร่วมกันเสนอไอเดียผ่านแพลตฟอร์ม ‘Nudge’ ในการปฏิเสธการรับใบปลิวโฆษณา โดยการทำสติกเกอร์ติดไว้หน้าบ้าน รวมทั้งประสานงานกับเทศบาลเพื่อให้กำหนดเป็นกฎหมาย จุดประสงค์คือการลดปริมาณขยะจากกระดาษ

          ผลปรากฏว่า การรณรงค์นี้มีผู้เข้าร่วมกว่าสองหมื่นคน และสามารถช่วยลดปริมาณขยะจากกระดาษหลายร้อยตันต่อปี โดยผู้ประกอบการร้านค้าที่ยังนำใบปลิวมาใส่ไว้ในตู้จดหมาย จะได้รับบทลงโทษทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด

6. เปลี่ยนห้องสมุดประชาชนให้เป็น ‘สาธารณะ’

          ปี 2564 ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม (CUD4S) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดทำโครงการห้องสมุดประชาชน ‘สาธารณะ’ (People Public Library Project) โดยใช้แนวคิดปัญญารวมหมู่ และกระบวนการการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) ชวนคนในพื้นที่ร่วมออกแบบห้องสมุดประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของผู้คน และทดลองสร้างต้นแบบห้องสมุดที่จะสามารถนำไปปรับใช้กับห้องสมุดประชาชนแห่งอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป

แพลตฟอร์มที่รับฟังเสียงของทุกคน

          เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสาธารณะได้ โดยเฉพาะการระดมความเห็นผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          แพลตฟอร์ม ‘Your Priorities’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Better Reykjavik ประเทศไอซ์แลนด์ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดในการพัฒนาเมือง โดยข้อเสนอที่มีผู้โหวตเห็นด้วยจำนวนมาก จะได้รับการคัดเลือกจากเทศบาลเพื่อนำไปพัฒนาเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมต่อไป เช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม ‘OmaStadi’ ของเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และพลเมือง ต่างมีบทบาทในการช่วยกันขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง

          ผู้คนหลายประเทศในยุโรปยังใช้แพลตฟอร์ม ‘Nudge’ ที่ริเริ่มโดยชาวดัชต์ เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมกันเสนอประเด็นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น โดยเชื่อว่ารัฐมีข้อจำกัดในการริเริ่มไอเดียใหม่ที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้คน ประเด็นที่ได้รับการเสนอมีความหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องสภาพภูมิอากาศ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน

          “ท่านใดใช้เฟซบุ๊กคงจะรู้สึกคล้ายๆ กันว่า ฟีดมักเต็มไปด้วยข้อมูลหรือความคิดเห็นที่เป็นพิษและไม่สร้างสรรค์ แต่ความจริงแล้วการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสื่อสารจนนำไปสู่ฉันทามติ ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเผชิญหน้ากัน ก็สามารถแสดงออกและยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ เสมือนเป็นการสร้างสังคมของการเรียนรู้ที่พูดคุยกันด้วยเหตุผล” ณัฐพงศ์อธิบาย พร้อมเสริมว่า “ความรู้แบบรวมหมู่ไม่จำเป็นต้องมาจากความคิดที่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมาจากคนที่รู้จักกันมาก่อน ขอเพียงแค่มีเครื่องมือหรือช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้”

ย้อนมองการศึกษาไทย แก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้วนอยู่ในอ่าง

          หลังจากสำรวจไอเดียและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการใช้ปัญญารวมหมู่แล้ว ช่วงท้ายของการบรรยาย ณัฐพงษ์ชวนย้อนกลับมาคิดถึงปัญหาที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย คือเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้

          แม้ระบบการศึกษาไทยจะผ่านการปฏิรูปหลักสูตรและโครงสร้างมานับครั้งไม่ถ้วน มีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ ดังที่เห็นในโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงโรงเรียนทางเลือกอีกหลายแห่ง แต่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถขยายผลความสำเร็จเหล่านั้น เพื่อนำไปใช้กับการศึกษาทั้งระบบได้ เนื่องจากยังขาดการออกแบบโมเดลที่สามารถใช้ได้จริงกับทุกโรงเรียน

          หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือประเทศอังกฤษ มีองค์กรที่พยายามสร้างโรงเรียนในอุดมคติ บนเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป โครงการนี้เริ่มต้นจากการศึกษาความต้องการของเด็กๆ ว่าอยากได้โรงเรียนในฝันแบบไหน โดยใช้กระบวนการการออกแบบที่ยึดโยงกับความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลัก (UX หรือ User Experience) นำไปสู่การก่อตั้ง ‘Studio School’ ที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนแนวใหม่

          โรงเรียนดังกล่าวใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ (action learning) ไม่เน้นสอนทักษะทางปัญญา (non-cognitive skill) ไม่มีการคัดกรองคุณภาพเด็กหรือภูมิหลังของครอบครัว รวมทั้งใช้งบประมาณตามที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (ประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท ต่อคนต่อปี)

          เมื่อแรกรับเด็กเข้ามาในโรงเรียน นักเรียนมีผลคะแนนสอบระดับชาติอยู่ในช่วง 10% สุดท้ายของประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี นักเรียนเหล่านั้นพัฒนาขึ้นจนมีผลสอบอยู่ในช่วง 25% แรกของประเทศ ปัจจุบัน Studio School ถูกนำไปขยายผลในโรงเรียนกว่า 200 แห่ง และเกิดเป็นกองทุนสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาโดยไม่ต้องใช้เงินสนับสนุนจากรัฐ

          “เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน เราไม่ควรให้ความสำคัญกับตัวอย่างความสำเร็จซึ่งเกิดขึ้นกับที่ใดที่หนึ่ง แต่ต้องคำนึงถึงการขยายผลในวงกว้าง ซึ่งเกิดจากการมีต้นแบบจากการทดลอง (prototype) ที่ดี แนวคิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Systemic Change) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับข้อจำกัดของผู้ใช้งาน (user) การพัฒนาโรงเรียนที่ดีจึงไม่มีการเลือกรับเด็กฉลาดและไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากเป็นพิเศษ แต่เป็นการออกแบบบนบริบทจริงและข้อมูลจริง ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้จึงจะสามารถขยายผลได้” ณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย


ที่มา

การบรรยาย เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงระบบด้วยปัญญารวมหมู่” โดย ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) และอดีตผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม (CUD4S) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุม TK Forum 2021 “Library and Public Space for Learning” วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 ณ โรงแรมเอส 31

Cover Photo by Vlad Hilitanu on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก