CoderDojo ประเทศไทย ชุมชนการเรียนรู้ที่ไม่ได้สอนแค่เรียนอะไร แต่สอนว่าเรียนอย่างไร

702 views
8 mins
February 4, 2021

          การเรียนรู้ที่เป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 นั้น เราอาจคิดว่าต้องเรียนเทคโนโลยี เรียนภาษา เรียนการตลาด เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทักษะจำเป็นเหล่านี้คือสิ่งที่โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ บอกกับเราว่าต้องเรียนอะไรบ้าง จึงจะดำรงชีพได้ในยุคปัจจุบัน แต่สำหรับ CoderDojo Thailand ชุมชนการเรียนรู้แบบอิสระเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมสำหรับเด็ก ที่มีต้นตำรับมาจากประเทศไอร์แลนด์ ได้มองลึกไปกว่า ‘การเรียนอะไร’ แต่มองไปถึงวิธีการเรียนรู้ ว่าเด็กยุคนี้จะต้องรู้ว่า ‘ควรเรียนอย่างไร’ เพราะเมื่อพวกเขารู้จักวิธีการเรียนรู้ เขาก็จะสามารถเรียนอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ

          มิชารี มุคบิล อดีตซีอีโอของ Proteus Ops และผู้ก่อตั้ง CoderDojo สาขาประเทศไทย บอกเล่ามุมมองเรื่องการศึกษาและแนวคิดที่มาของชุมชนการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เพื่อให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ทราบมาว่าคุณเป็นคนที่ชอบอยู่กับตัวเองมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก

          ผมเรียนอยู่ในระบบการเรียนทั่วไป จบประถมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ไปต่อมัธยมที่โรงเรียนบางกอกพัฒนาซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติ แล้วไปจบด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ประเทศออสเตรเลีย

          ผมชอบอยู่กับตัวเองมาตั้งแต่อนุบาลแล้วครับ ผมเป็นเด็กที่ไม่มีเพื่อน ผมมีความรู้สึกว่าผมชอบอยู่คนเดียว ถึงได้ชอบคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็ก เวลาเรียนหนังสือก็อดทนเรียนเพื่อที่เลิกเรียนแล้วไปพบกับคอมพิวเตอร์สาเหตุที่ผมชอบมากเพราะเวลาเราพิมพ์คำสั่งเข้าไปแล้ว คอมพิวเตอร์จะตอบกลับมาในทางที่คาดการณ์ได้ ไม่เหมือนคนที่ต้องใช้พลังสมองเยอะมากเวลาเราคุยด้วย แต่ว่าเวลานั่งคุยกับคอมพิวเตอร์เราพิมพ์แบบไหนมันก็ตอบแบบนั้น

เพราะความชอบคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ทำงานด้านนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน

          ตอนที่ผมเรียนจบมัธยม ก็มีคนรู้จักผม ว่าผมถนัดพวกงานไอที ก็เลยได้ทำงานในบริษัทเขาที่เพิ่งเปิดใหม่ ตอนนั้นชื่อว่า Pop Network เป็นรุ่นเดียวกับเว็บไซต์ Mthai และเว็บไซต์ Sanook เป็นวงการเว็บยุคแรกเลยของไทย ตอนนั้นก็ไม่เคยมีใครขอใบปริญญาจากผม ผมก็เดินเข้าไปทำงาน เงินเดือนผมก็ดีด้วย แล้วผมมีความรู้สึกว่าสนุกกับงานครับ หลังจากเรียนจบจากออสเตรเลียผมก็ไปทำงานที่บริษัทกันตนา ได้ทำแอนิเมชันเรื่องก้านกล้วย คุมระบบไอทีในกระบวนการสร้างตัวละครขึ้นมา

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะเรียนด้านคอมพิวเตอร์เหมือนเดิมไหม

          ด้วยประสบการณ์ชีวิตของผมแล้ว ถ้าผมจะกลับไปเรียนใหม่ผมคงไม่เลือกเรียนวิทย์คอม ผมคงไปเรียนอะไรอย่างอื่นอย่าง เช่น ปรัชญาหรือประวัติศาสตร์ หรืออะไรที่ทำให้ความคิดของเรากว้างขึ้น คือผมคิดว่าการไปเรียนเพื่อหวังที่จะได้งานมันเป็นสิ่งที่ผิด ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมทั้งสำหรับคนเรียนและสำหรับมหาวิทยาลัย

          แต่ถ้าเป็นยุคนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะมีพวกหลักสูตรออนไลน์เต็มไปหมดเลย ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้เรียนวิชาประหลาดๆ อย่างเช่น นิติเวช เห็นไหมครับ โลกกว้างขึ้นโดยไม่ต้องลงเรียนในมหาวิทยาลัยก็ได้

ถ้าได้เจอเด็กๆ คุณแยกออกไหม ว่าเด็กคนไหนเรียนในระบบโรงเรียน เด็กคนไหนเรียนโฮมสคูล

          ถ้าเดินๆ อยู่บนท้องถนนเจอเด็ก ผมมีโอกาสได้คุยกับเด็กผมรู้เลยเด็กคนไหนได้ไปโรงเรียนคนไหนไม่ไปโรงเรียน เพราะว่าเด็กที่ไม่ไปโรงเรียนมักจะมีความมั่นใจในตัวเองมากกว่า ส่วนเด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียนจะมีรูปแบบการแสดงออกที่ได้รับความกดดันโดยสังคมในนั้นให้มีพฤติกรรมแบบหนึ่ง

อะไรเป็นจุดเด่นของการเรียนแบบโฮมสคูล

          พ่อแม่มีโอกาสเลือกการเรียนตามความเหมาะสมของเด็ก ว่าตอนนี้เขาสนใจอะไรแล้วเราก็หาทางที่จะเสริมให้เขาอย่างเต็มที่ อย่างลูกผมอายุยังน้อย เพราะฉะนั้นช่วงนี้เราก็พยายามที่จะอัดภาษาให้เขาอย่างเต็มที่ ลูกผมสามารถที่จะพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เพราะว่าสื่อการเรียนการสอนของเราส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ หนังสือที่ผมอ่านให้เขาฟังเป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นภาษาอังกฤษเขาจะแข็งแรงมาก แต่ว่าเขาก็ได้ภาษาไทยด้วย นอกจากภาษาไทยก็ได้ภาษาอูรดูซึ่งเป็นภาษาที่พูดกันในประเทศอินเดีย ส่วนหลักการสอนก็แค่พูดคุยกับลูก เราถามคำถามให้เขาตอบมาหรือว่าให้เขาแสดงความคิดเป็นภาษานั้นๆ ครับ

การเรียนแบบโฮมสคูล พ่อแม่มีวิธีออกแบบหลักสูตรอย่างไร

          บางบ้านเขาจะเอาโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน คือทุกเช้ามีการนั่งอยู่ที่โต๊ะ เปิดตำราแล้วก็ไปตามหลักสูตรที่เขาเลือกเลย บางคนก็ซื้อหลักสูตรมาจากต่างประเทศ บางคนก็ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่าออกแนวฟรีสไตล์ ในวงการโฮมสคูลจะมีครอบครัวหลายแบบ บางบ้านเน้นกีฬา บางบ้านเน้นดนตรี บางบ้านก็เน้นวาดภาพ บ้านผมนี่เน้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี โดยเฉพาะไอที

คนส่วนใหญ่น่าจะยังไม่รู้ว่า CoderDojo คืออะไร เริ่มต้นได้อย่างไร

          CoderDojo เป็นชมรมเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศไอร์แลนด์เมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ตอนนี้ขยายไป 2,000 สาขาทั่วโลก ผู้ริเริ่มคือ James Whelton กฎพื้นฐานสำหรับการใช้ชื่อ CoderDojo มีไม่กี่ข้อเท่านั้น อย่างแรกก็คือ ห้ามอยู่ในที่พักอาศัยส่วนบุคคล เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยของเด็ก ก็เลยต้องเป็นสถานที่สาธารณะหรือกึ่งสาธารณะอย่างเช่น ออฟฟิศ หรือห้องสมุด ต้องมีสัญญาณ Wifi เพื่อให้เด็กอายุ 7-17 ปีได้เรียนรู้

ผู้ปกครองที่สนใจจะติดต่อกับ CoderDojo ได้อย่างไร

           โดยปกติแล้วก็จะมีคนทักมาทางเฟซบุ๊ก CoderDojo Thailand ของเรา จะถามในลักษณะว่าอยากส่งลูกมา แล้วเราก็จะดูว่าในพื้นที่ของเขามี CoderDojo ไหม ถ้ามีเราก็แนะนำให้ไปที่นั่นเลย ตอนนี้ที่กรุงเทพฯ มีประมาณ 4-5 แห่งครับ ต่างจังหวัดก็มีที่อุดรธานีครับ แต่ละแห่งมีความเป็นอิสระของตัวเอง

บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นอย่างไร

          ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ สบายๆ เพราะในช่วงแรกเด็กอาจจะมีความอาย ไม่กล้าคุยกัน เขาอาจจะไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน แต่พอเขาได้เริ่ม เขาสามารถไปหาข้อมูลใหม่ๆ ได้  CoderDojo แต่ละแห่งจะมีรูปแบบการจัดไม่เหมือนกัน ดูว่าเด็กแต่ละวัยเขาสนใจเรื่องอะไร ก็แนะนำเขาอย่างใกล้ชิด อย่างเด็กโตก็จะสนใจคอมพิวเตอร์ซึ่งผมสอนอยู่ ก็จะดูแลอย่างใกล้ชิด แนะนำให้เขาลงอุปกรณ์แล้วก็สอนแบบวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เลย แต่ก็จะมีที่อื่นครับที่เขาให้เด็กเข้ามาแล้วก็เล่น เรียนรู้ตามความสนใจของตัวเอง

ทักษะสำคัญในการสอนเด็กของ CoderDojo คืออะไร

          มีคนบอกว่าทักษะเขียนโค้ดคือฝึกเด็กให้เก่งคอม แต่ความจริงจะเก่งหรือไม่เก่งคอมเป็นปลายทาง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการหรือการเขียนโค้ดต่างหาก เพราะมันเป็นการติดอาวุธเรื่องทักษะการคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับคนอื่น ผลลัพธ์สุดท้ายเขาจะเป็นคนเก่งในการเขียนโค้ดและเก่งทักษะที่ว่ามา รวมถึงทักษะการเอาตัวรอด ที่พวกเขาได้มาจากกระบวนการฝึกเขียนโค้ด

อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างเขียนโค้ดได้กับมีทักษะต่างๆ

          ผมคิดว่าการเขียนโปรแกรมได้หรือไม่ได้ มันไม่ค่อยที่จะสำคัญเท่าไร แต่ว่าการทำงานเป็นทีมได้ การที่หาข้อมูลเพื่อที่จะมาแก้ปัญหาได้ตรงนี้ครับเป็นทักษะที่สำคัญ

แปลกไหมถ้าพ่อแม่ส่งลูกมาชมรม CoderDojo พอกลับบ้านไปลูกบอกว่าเขียนอะไรไม่ได้เลย

          ไม่แปลก เราเจอปัญหานี้อยู่ครับ เพราะว่ามีหลายครอบครัวที่เด็กกลับไปแล้วก็บอกพ่อแม่ว่าไม่เห็นได้เรียนรู้อะไรเลย จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กๆ ของเราไปงานที่ถูกจัดขึ้นมาโดยอีกองค์กรหนึ่ง เขามีการสอนเขียนโค้ด กลายเป็นว่าพอไปถึงงานนั้น เขาก็รู้ตัวว่าเขามีความรู้มากกว่าคนอื่น โดยครูที่ไปด้วยแทบไม่ต้องช่วยบอกช่วยสอนอะไรเลย เขาทำได้เอง

ภาษาโค้ดจะกลายเป็นอีกภาษาหนึ่งที่สำคัญหรือเปล่า

          ผมคิดว่าภาษาโค้ดสามารถที่จะช่วยผ่อนงานได้เยอะ ยกตัวอย่าง ถ้าเราทำบัญชีเวลาเราเอาเลขมาเยอะๆ แล้วเราต้องบวกมันไป จะต้องใช้เวลานานมาก แต่ว่าถ้าเราใช้โปรแกรม Microsoft Excel แล้วได้ใช้สูตรคำนวณ ซึ่งถือว่าเป็นโค้ดประเภทหนึ่ง ก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อยลง หรืออย่างผมเป็นสมาชิก TK Park สิ่งที่ผมขี้เกียจทำมากเลยก็คือการต่ออายุหนังสือ ผมก็ทำเป็นโค้ดครับ เขียน 10 บรรทัด เปิดคอมขึ้นมาเวลาจะต่ออายุผมกดปุ่มเดียวมันต่ออายุให้ผ่านเว็บบราวเซอร์ของผม

เด็กทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้การเขียนโค้ดไหม

          ไม่ขนาดนั้นครับ เด็กบางคนคิดเลขไม่เก่ง บางคนวาดภาพไม่เป็น ก็ไปทำอย่างอื่น จะให้คนคนหนึ่งเก่งทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้ครับ ต้องมีคนที่ทำอาหารเก่ง แล้วต้องมีคนที่เขียนโค้ดเก่ง บางคนก็เก่งเลข บางคนก็เก่งศิลปะ บางคนก็เก่งเรื่องภาษา ผมมีความสุขมากที่เห็นเด็กมาลองเขียนโค้ดแล้วหลังจากนั้นไม่มาอีก เพราะว่าเขาพบแล้วว่ามันไม่ใช่ตัวเขา แล้วเขาก็ไปทำอย่างอื่น คนที่ผมสงสารก็คือเด็กที่ถูกบังคับให้มา แล้วก็เด็กที่อยู่ตามโรงเรียน สถาบันต่างๆ ที่ถูกบังคับให้ไปเรียน มันเหมือนเป็นการฆ่าเวลา เพราะแทบจะไม่ได้อะไรจากตรงนั้นเลย ผมอยากให้ไปเรียนด้วยความชอบ แบบนั้นจะรับความรู้ได้มากกว่าครับ 

เราจะแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้อย่างไร

          อย่างแรกเราไม่ควรคิดว่านี่เป็นปัญหาของคนอื่น แต่เป็นปัญหาของเราทุกคน เพราะว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ถ้าแต่ละคนบอกว่าเป็นปัญหาของคนอื่น เป็นปัญหาของครู เป็นปัญหาของโรงเรียน เป็นปัญหาของระบบการศึกษา เป็นปัญหาของรัฐบาล เด็กเขาไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ครับ เพราะว่าคนที่นั่งอยู่ในสำนักงานทั้งหลายที่ออกนโยบายการศึกษาเขาไม่รู้จักลูกเรา ไม่รู้ว่าลูกเราชอบอะไร เขาอาจจะไม่เคยเจอกลุ่มผู้ปกครองด้วยซ้ำเพราะฉะนั้นการตัดสินใจของเขาก็จะเป็นไปตามระบบหน่วยงานของเขา การที่เขามารับผิดชอบลูกเราคงไม่ได้ เราก็ต้องเริ่มแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเราเองด้วย

อะไรมีอิทธิพลต่อการออกแบบระบบการศึกษาให้มีหน้าตาแบบปัจจุบัน

          ระบบการศึกษาถูกออกแบบมาเมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่แล้วภายใต้แนวคิดของระบบโรงงาน ในการปฏิวัติคน หรือผลิตคนเพื่อป้อนโรงงาน สังเกตได้ว่า ระบบโรงเรียนมีหลายอย่างที่ยืมมาจากการจัดการโรงงาน อย่างเช่นโรงงานก็จะมีระบบกะ ให้เด็กแยกออกมาเป็นห้องเรียนโดยรวมตัวกันตามอายุ แล้วมีการระบุเวลาที่ต้องอยู่ในระบบการศึกษา คือต้องเรียนเป็นเวลา 12 ปี มันเป็นวิธีคิดแบบโรงงานไงครับ แบบเป็นสายพานที่ไม่หยุด ซึ่งก็เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง  คุณลองคิดดูสิครับว่าเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ก่อนมีระบบการศึกษา คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่พอระบบการศึกษาเข้ามาคนอ่านออกเขียนได้ ระบบนี้เลยมีมาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน

แต่เพราะโลกเปลี่ยนไป สังคมจึงไม่ได้ต้องการระบบโรงงานอีกแล้วใช่ไหม

          ใช่ครับ โลกมันเปลี่ยน ระบบแบบเดิมที่เรียนมาอาจจะปรับตัวไม่ทัน นอกเหนือจากนั้นแล้วระบบการศึกษายังเต็มไปด้วยแรงกดดันด้านการเมือง ทั่วโลกมีปัญหานี้อยู่ เด็กก็เป็นหนึ่งหน่วยที่ต้องถูกวัด ถูกประเมิน ครูก็ต้องถูกประเมิน เป็นเพียงแค่ตัวเลข เป็นเพียงแค่สถิติ แล้วยังมีแรงกดดันทั้งในเรื่องของนโยบาย คนที่เขียนตำรา คนที่พิมพ์ตำรา คนที่บรรจุหลักสูตร ทุกคนมีผลประโยชน์หมด การตัดสินใจเพื่อเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเด็กมันจึงเป็นการตัดสินใจที่ยากมาก ระบบการศึกษาจึงเปลี่ยนแปลงยาก

มีคนพูดว่า การศึกษาในโลกยุคปัจจุบันคือการเรียนรู้วิธีการเรียน

          ใช่ครับ ผมคิดว่าเวลาเราเข้าไปเรียนในโรงเรียน สิ่งที่เราคิดว่าได้เรียนรู้กลับเอามาใช้ในโลกจริงไม่ได้ เราเรียนเพื่อที่จะทำเกรด แต่ว่าพอจบมาแล้วมีสักกี่คนที่ทำงานในวิชาชีพตามที่เขาจบมา ถ้าเขาไม่มีทักษะที่จะเรียน ถ้าไม่เรียนรู้ที่จะรู้วิธีการเรียน อย่างจบเศรษฐศาสตร์มาแต่ไปทำงานนิเทศศาสตร์ก็ตายเลย แต่ถ้าเรามีความสามารถที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ เราจะเป็นอะไรทำอะไรก็ได้ เพราะเรามีทักษะด้านการเรียนรู้

ถ้ามีคนอยากเปิด CoderDojo บ้าง แต่ไม่ถนัดเรื่องการเขียนโค้ด จะเปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้านอื่นได้ไหม

          ได้ครับ ถ้าอยากเปิด CoderDojo อะไรก็เปิดเลยครับ ถ้าคุณสนใจแสตมป์ สนใจเพลง ก็เปิดเรื่องที่ถนัดได้เลย อย่างตอนนี้ในประเทศไทยก็จะมีกลุ่มคนที่มีความถนัดแบบเดียวกันมารวมตัวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือ CoderDojo แหละครับ  เพียงแต่ว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแบบเป็นทางการ คุณเองก็สามารถที่จะริเริ่มพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนของคุณได้เลย สอนให้พวกเขามีความรู้ และไม่ลืมที่จะสอนให้พวกเขารู้จักวิธีการเรียน เพราะนี่เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้นั่นเอง  


เผยแพร่ครั้งแรก ทาง TK Podcast กุมภาพันธ์ 2562 (สัมภาษณ์เมื่อ มกราคม 2562)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก