อาคารชั้นเดียวหลังเล็กสีขาว รูปทรงมินิมอล ซ่อนตัวอยู่ในเขตกำแพงเมืองเก่า อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของ Cocoon Kids Book Club ซึ่งเป็นทั้งห้องสมุดและร้านหนังสือ รวบรวมหนังสือภาษาอังกฤษไว้ไม่น้อยกว่าพันเล่ม สมาชิกสามารถยืมหนังสือกลับไปอ่านที่บ้าน นำมาเปลี่ยนเล่มใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่มีค่าปรับหากหนังสือชำรุด และหากถูกใจเล่มไหนก็สามารถซื้อได้ทันที
ออม-กุหลาบ เลิศมัลลิกาพร ผู้ก่อตั้ง ให้คำจำกัดความว่าที่นี่คือ ‘พื้นที่ที่โลกการเรียนรู้ของเด็กๆ จะไม่ถูกจำกัด’ เพราะนอกจากหนังสือแล้ว ทีนี่ยังมีห้องของเล่น พื้นที่สำหรับวาดรูป ปั้นดิน จัดกิจกรรมบุ๊คคลับ สอนภาษา เปิดให้เด็กๆ และผู้ปกครองได้มาใช้เวลาร่วมกันอย่างอิสระ
ทั้งหมดนั้นเกิดจากจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ว่า อยากให้ลูกชายตัวน้อยได้อยู่ในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยหนังสือ
“ชื่อ Cocoon มาจากแนวคิดว่า เราอยากให้เด็กๆ เป็นหนอนหนังสือที่รักการอ่าน และสถานที่แห่งนี้คือพื้นที่บ่มเพาะให้ตัวอ่อนเหล่านั้นเติบโตไปเป็นผีเสื้อที่สวยงาม”
ความประทับใจในวัฒนธรรมการอ่านของสิงคโปร์
หากกล่าวถึงนโยบายส่งเสริมการอ่าน สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ที่มักได้รับการอ้างอิง ด้วยขนาดพื้นที่ 728.6 ตารางกิโลเมตร หรือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดเมืองกรุงเทพมหานคร มีประชากรราว 5.68 ล้านคน แต่เป็นที่ตั้งของห้องสมุดที่ดีติดอันดับโลก มีห้องสมุดประชาชน 26 แห่งซึ่งมีผู้ใช้บริการกว่า 70,000 คนต่อวัน หรือกว่า 25 ล้านคนต่อปี และมีจมุมอ่านหนังสือตามชุมชนอีกกว่า 300 แห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งเกาะ
สำหรับออม จากการทำงานเป็นสถาปนิกและใช้ชีวิตที่ประเทศสิงคโปร์กว่า 10 ปี ทำให้เธอคลุกคลีและได้เห็นความเคลื่อนไหวของภาครัฐที่เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
“วัฒนธรรมการอ่านสำคัญมากๆ คนอ่านหนังสืออาจไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกคน แต่ออมเห็นคนที่ประสบความสำเร็จทุกคนอ่านหนังสือ นอกจากนี้ หนังสือช่วยเปิดมุมมองของเราต่อโลก ให้เรารับรู้ความรู้นอกตำราเรียน เป็นการเรียนรู้ไม่รู้จบ ถ้าไม่อ่านหนังสือ ความรู้เราก็จะหยุดนิ่ง ดังนั้น ยิ่งเราอ่าน เราก็จะได้รู้มากขึ้น”
“อย่างสิงคโปร์ ห้องสมุดมีหลายแห่งมาก แต่เต็มตลอดเวลา ต้องต่อคิว แล้วคนที่มาใช้บริการก็มีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ ทุกคนอ่านหนังสือ การอ่านเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศของเขาถึงพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ออมมองว่าส่วนหนึ่งก็มาจากการส่งเสริมการอ่าน อย่างเราเองตอนอยู่ที่นั่น วันหยุดไม่รู้จะไปไหน เราก็ไปห้องสมุด ก็เลยรู้สึกว่าประเทศเราน่าจะมีห้องสมุดเยอะๆ และเข้าถึงได้แบบนี้บ้าง เพราะมันสำคัญมากต่อการพัฒนาบุคลากร”
จากความประทับใจ สู่การคิด ปรับใช้ และลงมือทำ
ภายหลังเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ออมทำสตูดิโอสถาปัตยกรรม HUES DEVELOPMENT ของตนเอง ที่บ้านเกิด จังหวัดเชียงใหม่ จากเดิมที่เธอเคยเป็นสถาปนิกสาวผู้บ้างาน ออมยอมรับว่าการมีลูก มีผลให้เธอเปลี่ยนความคิดและการใช้ชีวิตไปโดยสิ้นเชิง
“ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดเหมือนกันไหม แต่ว่าการมีลูกเปลี่ยนเราไปทุกอย่าง เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการใช้ชีวิต เรียกว่าลูกเป็นครูของเราคนหนึ่ง อย่างเมื่อก่อน ตอนทำงานได้เงินเดือนเยอะ แต่เราไม่มีเวลาอยู่กับลูก พอกลับมาไทย รายได้เราหายไปเยอะมาก แต่สิ่งที่ได้มา คือเวลาอยู่กับลูก การที่ได้อยู่กับเขา ได้สอนเขา เป็นเวลาที่มีค่ามาก” ดังนั้น เมื่อพอมีพื้นที่เหลือจากการทำออฟฟิศ เธอจึงคิดทำห้องสมุดให้ลูกชายวัย 4 ขวบ เพราะมองว่าในประเทศไทยยังขาดแคลนพื้นที่ลักษณะนี้
“ตอนอยู่สิงคโปร์ เนื่องจากมีห้องสมุดเยอะมาก เราก็พาลูกไปห้องสมุดตลอด แม้ว่าตอนนั้นเขาจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่อย่างน้อยมันทำให้เขาคุ้นเคยกับหนังสือ คุ้นเคยกับห้องสมุด รู้สึกสนุกกับการอ่าน เราอยากให้มีสถานที่แบบนี้ที่ไทยบ้าง อยากให้เด็กเข้าถึงหนังสือให้มากๆ แต่พอกลับมาแล้วไม่มี ก็เลยตัดสินใจทำเอง”
จากความตั้งใจข้างต้น บวกกับความคิดที่อยากจะแบ่งปันหนังสือให้คนอื่นๆ มีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการทำร้าน Cocoon ธุรกิจขนาดเล็กที่จะเป็นห้องสมุดสำหรับเด็กก็ไม่เชิง ร้านหนังสือก็ไม่ใช่ โดยใช้ระบบชำระค่าสมาชิก มีอายุครั้งละ 6 เดือน ลูกค้าสามารถมานั่งอ่านหนังสือหรือยืมกลับไปอ่านที่บ้าน หากชอบเล่มไหนก็เลือกซื้อเพื่อเป็นเจ้าของได้
หนังสือมือสอง แต่คุณค่าไม่เป็นรองใคร
หนังสือทุกเล่มภายในร้าน เป็นหนังสือมือสองภาษาต่างประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก มีหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คปะปนบ้าง ตามรอบหนังสือที่มาลง โดยออมจะรับมาจากแหล่งซื้อ ทำการคัดเลือกและจัดวางขึ้นชั้นด้วยตนเอง
สาเหตุที่เลือกเป็นหนังสือมือสอง เพราะว่าเธอทำธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยใจรัก บนทุนทรัพย์ที่มีจำกัด หนังสือมือสองที่มีราคาย่อมเยา น่าจะช่วยเพิ่มปริมาณและสร้างตัวเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้ใช้บริการได้มากกว่าหนังสือมือหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงกว่ามาก
ส่วนเหตุผลที่เน้นหนังสือภาษาต่างประเทศ นอกจากการมีแหล่งซื้อ ออมมองว่าปกติหนังสือต่างประเทศเหล่านี้มีราคาที่สูง ผู้ปกครองหลายคนอาจไม่มีกำลังซื้อหลายๆ เล่ม นอกจากนี้ ยังเป็นการปลูกฝังให้เด็กคุ้นเคยกับภาษา
“เด็กๆ ต้องกลายเป็น global citizen ในอนาคต ดังนั้น ถ้าเขาเห็นและผูกพันกับภาษาอังกฤษ ก็จะคุ้นเคยและไม่กลัว คืออ่านไม่ได้ไม่เป็นไร เพราะถ้าตั้งแต่เด็กเขาไม่กลัวเรื่องภาษา โตไปเค้าก็เอาไปปรับใช้ได้”
ออมวางระบบการจัดการหนังสือภายในร้านให้เรียบง่ายที่สุด เพียงแค่ติดสติกเกอร์ระบุว่าเป็นหนังสือของร้าน ถ้าเห็นว่าชั้นหนังสือเริ่มพร่องก็จะเติม เวลายืม-คืนหนังสือ จะใช้วิธีนับจำนวนเล่มที่ยืมลูกค้าไป สามารถยืมเพิ่มหรือเปลี่ยนเล่มได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นโมเดลที่ออมคิดขึ้นมาเอง
ร้านแบบนี้อาจฟังดูแปลกและเป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่สำหรับเสียงตอบรับจากการเปิดร้านมาประมาณ 2 ปี ออมบอกว่าได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แม้ตอนแรกหลายคนจะยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอได้ทราบรายละเอียดทุกคนก็ชื่นชอบ
“เวลาเราซื้อหนังสือให้ลูกครั้งหนึ่งก็หลายบาท ยิ่งหนังสือเด็กที่มีลูกเล่นต่างๆ มี pop-up ที่เด็กๆ ชอบ จะมีราคาสูง บางทีพอเขาอ่านไปซักพักก็เบื่อ เราเลยมองว่าน่าจะมีช่องทางแบ่งปันหนังสือเหล่านี้กับคนอื่นๆ ได้ เกิดเป็นไอเดีย ทำห้องสมุดกึ่งร้านหนังสือ ที่สามารถยืมอ่านและเอาหนังสือมาเปลี่ยนเรื่องได้ตลอด”
“ในตอนเริ่มแรก เราทำระบบสมาชิกไว้ 3 แบบ คือแบบ 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี แต่พอเจอโควิด-19 ต้องปิดไปช่วงหนึ่ง พอกลับมาเปิดเลยเลือกให้เหลือแบบเดียว คือแบบสมาชิก 6 เดือน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ เพราะว่าร้านเราไม่ใหญ่มาก คิดว่า 6 เดือน ก็น่าจะเป็นระยะเวลาที่พอดี”
ร้าน Cocoon ไม่มีระบบชำระค่าปรับ หากหนังสือที่ยืมไปหาย ผู้ใช้บริการจะถูกหักเครดิตจำนวนหนังสือที่ยืมได้ หรือถ้าหนังสือชำรุด ก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์หลักของเธอ คืออยากให้ทุกคนสนุกับการอ่าน โดยไม่ต้องคอยพะวง ยิ่งในเด็กๆ ที่มีความซุกซนตามธรรมชาติ
“ถ้ามีเสียหาย เราก็ซ่อม ถ่านหมดก็เปลี่ยน หรือเปลี่ยนไม่ได้ก็ยังอ่าน ยังดูภาพได้อยู่ เพราะเราไม่ได้ขายหนังสือใหม่ ดังนั้นเราไม่ซีเรียส สำหรับออม ถ้ายังอ่านได้ คุณค่าของหนังสือไม่ได้หายไปไหน”
อ่าน เล่น เรียนรู้
ภายในร้าน Cocoon นอกจากส่วนของห้องสมุด ยังมีการจัดคอร์สเรียนภาษา มีห้องของเล่นที่เด็กๆ สามารถวิ่งเล่น ส่งเสียง และมีอิสระได้เต็มที่ ลบภาพจำของห้องสมุดหรือพื้นที่อ่านหนังสือแบบเดิมที่เน้นความเงียบขรึม
ออมเน้นย้ำว่า อยากให้เด็กๆ รู้สึกสนุก เพราะเธอต้องการสร้างการรับรู้ใหม่ว่า หนังสือไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ
“การอ่าน การเล่น ทุกอย่างคือการเรียนรู้ เอื้อต่อกันทั้งหมด ไม่อยากให้มองว่าห้องสมุดเป็นเรื่องน่าเบื่อ อยากให้เด็กที่มาทุกคน รู้สึกสนุก อย่างลูกชายที่อยู่กับหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ เขาจะไม่ได้รู้สึกว่าหนังสือเป็นอะไรที่น่าเบื่อ แต่รู้สึกว่าเหมือนเป็นของเล่นชิ้นหนึ่ง ของเล่นกับหนังสือมีค่าเท่ากัน หนังสือก็เป็นของสนุกเหมือนกัน”
ในอีกมุมหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น เด็กหลายคนมีปัญหาติดหน้าจอ ติดเกม ซึ่งในมุมมองของเจ้าของห้องสมุดและร้านหนังสือ ออมมองว่า เกมหรือสื่อออนไลน์เหล่านั้น ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย แต่มีข้อดีด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญคือต้องมีการจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ทำข้อตกลงอย่างชัดเจน
เมื่อถามถึงเคล็ดลับการเลี้ยงลูก ออมมองว่าสิ่งสำคัญคือการสื่อสาร ด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล
“อย่าโกหก อย่าหลอกลูก เพราะหลายครั้งที่เด็กไม่รับฟัง คือ เราเคยโกหกเขา ดังนั้น เราควรคุยกับเค้าแบบผู้ใหญ่ พูดด้วยเหตุผล”
ธุรกิจที่ทำด้วยใจ จากความรักและอุดมการณ์
พื้นที่เพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กในไทย ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด สนามเด็กเล่น หรือสวนสาธารณะ นับว่ายังขาดแคลนอยู่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แม้ในปัจจุบันจะมีพื้นที่ใหม่ๆ ที่สร้างโดยภาคเอกชนมากขึ้น แต่การเข้าถึงยังถูกจำกัดด้วยทุนทรัพย์ พูดง่ายๆ คือไม่ฟรี ทำให้ยังมีเด็กด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงพื้นที่เหล่านี้อีกมาก
ออมยกตัวอย่างสิงคโปร์ ที่มีสนามเด็กเล่นกระจายอยู่ทั้งเมือง ในระยะการเดินประมาณ 10-15 นาทีจากบ้าน พร้อมเสนอว่าปัญหาดังกล่าว ควรเป็นประเด็นหลักที่ภาครัฐไทยให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เพราะเด็กไม่ได้ต้องการแค่การเรียนหนังสือ แต่ต้องการพื้นที่เล่นด้วย ทุกองค์ประกอบคือส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมความรู้และทักษะทางสังคม (soft skill) ให้กับเด็กๆ ซึ่งจะเติบโตไปเป็นพลเมืองของประเทศในอนาคต
“ถ้าเด็กๆ ได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ปลูกฝังการรักการอ่าน ประเทศของเราจะพัฒนาก้าวหน้าได้อีกมากเลย”
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าการดำเนินงานของร้าน Cocoon ในช่วงที่ผ่านมา จะไม่ได้ทำเงินมากมาย แต่ก็ถือว่าไม่ได้ขาดทุน บวกกับใจรักและอยากให้ลูกได้มีพื้นที่อ่านหนังสือ พบปะเพื่อนวัยเดียวกัน อีกความตั้งใจของออมคือการเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็ก นั่นเป็นเหตุที่เธอพยายามคิดกิจกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เป้าหมายคือทำให้ Cocoon เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย และเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงมากยิ่งขึ้นในอนาคต
“เราทำด้วยใจ เราอยากทำให้ลูกเรา ยังอยากทำต่อไปเท่าที่ไหว อย่างน้อยก็มีพื้นที่ให้ลูกได้อ่านหนังสือ มีเด็กคนอื่นๆ มาเล่น มาเรียนด้วย เป็นสังคมของเขา”
โมเดลธุรกิจเล็กๆ ของร้าน Cocoon อาจเป็นสารตั้งต้นเพื่อจุดประกายความคิด การสร้างพื้นที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้กับภาคส่วนต่างๆ ไปปรับใช้ ยกตัวอย่างภาคเอกชน เช่น โรงเรียนสอนภาษา ร้านกาแฟ หรือคนทำธุรกิจที่พอมีพื้นที่ ก็สามารถจัดมุมใดมุมหนึ่งเป็นห้องสมุดหรือร้านหนังสือย่อมๆ ได้ เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐที่ควรเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้มีพื้นที่ลักษณะนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ราชการต่างๆ
“ออมอยากให้ภาครัฐทำมาก อยากให้มีพื้นที่แบบนี้ให้มากขึ้น แล้วถ้าวันหนึ่ง ภาครัฐทำสำเร็จจนธุรกิจออมไม่มีลูกค้า ก็ไม่เป็นไรเลย ออมยินดีมาก ขอให้มีแบบนี้เยอะๆ”
Cocoon Kids Book Club เปิดให้บริการ วันจันทร์-เสาร์ 10.00-18.00 น.
ติดตามข่าวสารและกิจกรรม ได้ที่ Facebook fanpage Cocoon Children English Books Chiangmai