CMRU Library ก้าวเล็กๆ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

493 views
5 mins
June 2, 2023

          เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับ SDGs ให้แก่มหาวิทยาลัยและตอบคำถามว่า “ห้องสมุด (สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) ได้ทำอะไรเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) ทั้ง 17 ข้อบ้าง?” ทำเอาคนห้องสมุดอย่างเราคิดหนักกันเลยทีเดียว

          การที่ห้องสมุดเล็กๆ จะเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน The UN 2030 Agenda for Sustainable Development (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030) ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ ไกลตัว และอาจไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ห้องสมุดเล็กๆ จะสามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ทำให้เราต้องย้อนกลับมาทบทวนการทำงานของเราอีกครั้ง และค่อยๆ คลี่ปมออกจากมโนคติที่ว่า “เป็นไปไม่ได้” เป็น “ทำสิ่งเล็กๆ ที่เราทำอยู่แล้ว ให้เป็นไปได้ โดยใช้พลังของทุกคนในห้องสมุด บวกกับความช่วยเหลือจากเครือข่าย และให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันกับเรา” เหมือนกับ SDGs เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

ก้าวที่ 1 สร้าง CMRU Library: Green Library Green Learning Society

          ปัจจุบันผู้คนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพของคนทั่วโลก ทำให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ห้องสมุดทั่วโลกรวมทั้งห้องสมุดในประเทศไทยได้ก่อตั้งเครือข่ายห้องสมุดสีเขียวขึ้นเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในการสร้างความตระหนักรู้และให้บริการความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

          ห้องสมุดของเราเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดสีเขียวในปี 2559 หลังจากนั้นเป็นต้นมาห้องสมุดได้เริ่มดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม พัฒนาบริการและการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ทั้งบุคลากรและผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น บริการทรัพยากรสารสนเทศด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Green Collections) ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ มุมสีเขียว (Green Corners) เพื่อให้บริการพื้นที่สีเขียวแก่ผู้ใช้ การบริการอบรมในหัวข้อต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนัก เช่น “การชดเชยคาบอร์นและการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์” (2562) “การบริหารจัดการสภาวะวิกฤตฝุ่นควันและการทำเครื่องกรองอากาศง่ายๆ ด้วยตัวเอง” (2564) “OZONE ไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นโล่ปกป้องเรา” (2565 ออนไลน์ผ่าน Zoom) โดยห้องสมุดนำความรู้จากการอบรม “การทำเครื่องกรองอากาศง่ายๆ ด้วยตัวเอง” มาต่อยอดในการพัฒนาบริการ Library as a Safe Space from PM2.5 (พื้นที่ปลอดภัยไร้ฝุ่น PM2.5) แก่ผู้ใช้บริการรวมทั้งบุคคลากรห้องสมุดเพื่อให้ทุกคนได้มีพื้นที่ปลอดภัยระหว่างช่วงวิกฤตฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี

CMRU Library ก้าวเล็ก ๆ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
บริการทรัพยากรสารสนเทศ Green Collections
Photo: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

          นอกจากนี้ห้องสมุดยังสนับสนุนการรณรงค์เพื่อให้บุคลากรและผู้ใช้บริการตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเช่น “แชร์เป๋า เฮาฮื่อยืม” โดยการบริการให้ยืมถุงผ้า ทำสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ โดยนำวัสดุที่ได้จากการประดิษฐ์มาถ่ายทอดเป็นความรู้แก่ผู้ใช้บริการและคนที่สนใจ เช่น ในเดือนมีนาคม 2566 ห้องสมุดจัดกิจกรรม Mini Workshop จากหนังสือสู่การลงมือทำ “The Bag Creator: กระเป๋าไวนิลสุดชิค สารพัดของปุ๊กปิ๊กก็ใส่ได้” โดยมีบุคลากรของห้องสมุดที่ชนะการประกวดสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เรื่องวิธีการเย็บกระเป๋าผ้าไวนิลซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ของห้องสมุดให้แก่ผู้ใช้บริการ เพื่อลดขยะและเป็นการนำของเหลือใช้ที่ห้องสมุดทุกแห่งน่าจะมีจำนวนมากมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ก้าวที่ 2 สร้างพลเมืองดิจิทัลและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นการพัฒนาที่สำคัญอย่างยิ่งและการให้การศึกษาเป็นวิธีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่สุด ดังนั้นห้องสมุดทุกแห่งจึงมีเป้าหมายเดียวกันคือ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยใช้สารสนเทศทุกประเภทและบริการต่างๆ ของห้องสมุดเพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการสามารถพัฒนาตนเองและมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          “โครงการห้องสมุดพบเพื่อนเรียนรู้” เป็นโครงการที่เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ห้องสมุดจะสัญจรไปพบกับผู้ใช้บริการตามคณะต่างๆ เพื่อทำกิจกรรมเช่น สอนทักษะการรู้สารสนเทศ แนะนำบริการของห้องสมุด และเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ สร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 โดยห้องสมุดเห็นว่า การเป็นพลเมืองดิจิทัล การใช้งานสื่อดิจิทัล สื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนเข้าใจบรรทัดฐานในยุคดิจิทัล เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนทุกช่วงวัย ดังนั้นห้องสมุดจึงมุ่งมั่นที่จะสร้าง “ทักษะความเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship)” ให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยจัดเสวนาอย่างต่อเนื่องในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เช่น “การรู้เท่าทันสื่อและการประเมินสารสนเทศ” (2561) “โซเชียลมีเดีย ยิ่งเสพ ยิ่งเครียด” (2562) “Digital Footprint” (2564) “การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์และดราม่ายุคดิจิทัล” (2565 ออนไลน์ผ่าน Zoom) มีการเชิญอาจารย์และนักวิชาการที่เป็นเครือข่ายห้องสมุดทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมาให้ความรู้แก่นักศึกษาทั้งในรูปแบบออนไลน์ (ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19) และออนไซต์ สำหรับในปีนี้ เราจัดเสวนาในหัวข้อ “Digital Citizenship: ทักษะในการจัดการความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ (Privacy Management)” แบบออนไซต์และมีนักศึกษาหลายสาขาวิชาเข้าร่วมกิจกรรม โครงการนี้จัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 เนื่องจากโครงการได้รับเสียงตอบรับจากผู้ใช้บริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาดีมาก โดยนักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่า “เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างทักษะที่นักศึกษาสามารถปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและการเรียน”

ก้าวที่ 3 สนับสนุนการศึกษาและบริการที่เท่าเทียมสำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการ

          การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นจริงและประสบความสำเร็จได้นั้นเราต้องให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสารสนเทศ ความรู้ บริการต่างๆ อย่างเท่าเทียมสำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย รวมทั้งการส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดสังคมเสมอภาคยั่งยืนอย่างเท่าเทียม

          ห้องสมุดส่งเสริมการเข้าถึงสารสนเทศสำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่ม โดยปัจจุบันนอกจากหนังสือและทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ห้องสมุดยังให้บริการหนังสือสำหรับนักศึกษาที่มีความบกพร่องด้านการมองเห็น และมุ่งมั่นจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เนื่องจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาผู้พิการหรือผู้ที่มีความต้องการพิเศษเรียนร่วมกับนักศึกษาทั่วไปในสาขาวิชาต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้นักศึกษาทั่วไป ตลอดจนบุคลากรที่ต้องให้บริการทางการศึกษาแก่นักศึกษาที่มีความต้องการพิเศษเข้าใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ห้องสมุดจึงจัดโครงการ “ภาษามือสื่อใจ…สื่อสารอย่างไรให้ปัง” ขึ้นครั้งแรกในปี 2565 เพื่อสอนการใช้ภาษามือเบื้องต้นแก่นักศึกษาทั่วไปและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย โดยได้เชิญอาจารย์จากภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เข้าร่วมอบรมแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom ถึงจะเป็นโครงการที่จัดขึ้นครั้งแรก แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษาตลอดจนบุคลากรของมหาวิทยาลัยในการเข้าร่วมการอบรมจำนวนมาก นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมแสดงความคิดเห็นว่า “เป็นกิจกรรมที่ดีมาก หนูจะได้สื่อสารกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันได้มากขึ้น” และ “สนุกมากเลย น่าจะเปิดวิชาเลือกเสรี” แม้เป็นเพียงความเห็นเล็กๆ แต่ก็เป็นตัวชี้วัดได้ว่ากิจกรรมที่จัดประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว ทำให้ทีมผู้จัดอิ่มใจมากกว่าคะแนนประเมินความพึงพอใจใดๆ  ผู้ใช้บางส่วนเสนอแนะว่า “ห้องสมุดน่าจะจัดกิจกรรมนี้ในรูปแบบออนไซต์” ดังนั้นในปี 2566 ห้องสมุดจึงกำหนดจัดกิจกรรม “ภาษามือสื่อใจ…สื่อสารอย่างไรให้ปัง ปีที่ 2” ในรูปแบบดังกล่าวเพื่อให้สามารถเรียนรู้ สื่อสาร และอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจและมีความสุขมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนั้นทางห้องสมุดฯ ยังส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศและไม่เลือกปฏิบัติในการเข้าถึงทรัพยากร กิจกรรม ตลอดจนบริการของห้องสมุด โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้เรื่อง “แฟชั่นไร้เพศ (Gender Neutral Style)” กิจกรรมนี้เป็นความคิดของนักศึกษาฝึกงาน ถึงแม้ว่าจะเป็นความคิดเห็นเล็กๆ แต่ทางบรรณารักษ์เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ จึงส่งเสริมให้นักศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจัดกิจกรรมนี้โดยการไลฟ์สดผ่าน Facebook @cmrulibrary เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงกิจกรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากอยู่ระหว่างการระบาดของ COVID-19 กิจกรรมนี้ได้จุดประกายให้ห้องสมุดเริ่มหันมาสนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศนับแต่นั้นมา

          กิจกรรมเหล่านี้เป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ ที่ห้องสมุดพยายามทำอย่างต่อเนื่องเพราะเชื่อว่า ก้าวเล็กๆ หลายๆ ก้าวก็สามารถเดินไปถึงจุดหมายได้ งานเล็กๆ ของคนหลายๆ คนก็ประสบความสำเร็จได้ เราจึงอยากเชิญชวนห้องสมุดเล็กๆ หลายๆ แห่ง มาเริ่มเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมให้ไปไกลกว่าที่ผ่านมา ให้พลังเล็กๆ ของเราร่วมกันขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยกัน


ที่มา

Cover Photo: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก