คนไทยในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มักนัดพบกันหรือใช้เวลาในวันหยุดที่ห้างสรรพสินค้า เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจหรือทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พื้นที่เหล่านี้อาจมีทั้งสวนสาธารณะ แหล่งเรียนรู้หรือพื้นที่ทางวัฒนธรรมในอาคารและกลางแจ้ง รวมทั้งพื้นที่สำหรับการเล่นและการออกกำลังกาย
สำหรับกลุ่มเด็กๆ แล้ว พวกเขาต้องการพื้นที่สาธารณะไว้เพื่อการวิ่งเล่น ป่ายปีน ออกกำลังกาย หรือเจอเพื่อน ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ความสนุกเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้เติบโตตามพัฒนาการที่สมวัย กระตุ้นใยประสาทในสมองให้แตกกิ่งก้านสาขา มีสุขภาวะทางร่างกาย อารมณ์ และสังคมที่บริบูรณ์
ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่การเล่นสำหรับเด็กยังมีคุณค่าทางอ้อม ในการกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองและชุมชน ซึ่งเปิดโอกาสไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ ได้อีกมากมาย
ฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘คลาวด์ฟลอร์’ (Cloud-floor) บริษัทสถาปนิกซึ่งสนใจเรื่องการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ ได้บอกเล่าประสบการณ์ในการออกแบบนวัตกรรมพื้นที่เล่น ‘Active Play’ ซึ่งเปลี่ยนบ้าน ห้องเรียน และชุมชน ให้เป็นพื้นที่แสนสนุกสำหรับเด็กๆ รวมทั้งอีกหลากหลายไอเดียที่ทำให้เห็นว่า การเล่นของเด็กๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ และศาสตร์แห่งการดีไซน์สามารถช่วยเนรมิตให้เมืองและพื้นที่การเล่นมีเสน่ห์มากกว่าเดิม
ก่อนหน้านี้ ความสนใจหลักของ คลาวด์ฟลอร์ คือเรื่องการพัฒนาเมืองและพื้นที่สาธารณะ อยากรู้ว่าทำไมช่วงหลังจึงมาสนใจเรื่องพื้นที่การเล่น
เรามีโอกาสได้ทำโปรเจกต์ ‘Active Play’ ร่วมกับ สสส. TCDC และบริษัทพาร์ทเนอร์ เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีความสัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนมากขึ้น ทำให้เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะติดมือถือ ในขณะเดียวกัน การออกไปวิ่งเล่นในพื้นที่ภายนอกหรือกิจกรรมครอบครัวอาจจะลดลง จึงกลายมาเป็นโจทย์ว่า เราจะสามารถกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดการเคลื่อนไหวในเชิงกายภาพ และก่อให้เกิดความสมดุลได้อย่างไรบ้าง
ในโจทย์นี้มีประเด็นที่ซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น อย่างแรกคือประเด็นในเชิงพื้นที่ พื้นที่เล่นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้าน โรงเรียน และพื้นที่ชุมชน ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของอายุ คำว่าเด็กหมายถึงผู้ที่อายุยังไม่ถึง 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ค่อนข้างกว้าง
แล้วการออกแบบพื้นที่การเล่นให้ตอบโจทย์ครอบคลุมทั้งสองประเด็นที่ว่ามา มีกระบวนการทำงานเบื้องหลังอย่างไรบ้าง
ทีมลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม ทั้งครู พ่อแม่ หัวหน้าชุมชน และเด็กๆ ในพื้นที่ย่านเจริญกรุง อย่างเช่นชุมชนฮารูณและโรงเรียนอัสสัมชัญ เพื่อศึกษาความต้องการ พฤติกรรม และแนวทางที่จะสามารถกระตุ้นการเล่นหรือการเคลื่อนไหวในแต่ละพื้นที่ พอได้ข้อมูลระดับหนึ่ง เราก็ทำต้นแบบด้วยวัสดุโฟมหรือยางง่ายๆ เอาไปทดสอบ แล้วก็คุยกับคนทุกๆ กลุ่มว่า ผลลัพธ์มันเป็นอย่างไร เพื่อนำคำตอบที่ได้มาปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
เดิมทีเราอยากออกแบบให้ one fit to all คืองานชิ้นเดียวใช้ได้ทั้งที่บ้าน โรงเรียน และชุมชน และสามารถตอบโจทย์เด็กอายุตั้งแต่ 6-14 ปีได้ด้วย นี่คือสมมุติฐานที่เราตั้งขึ้น แต่พอเอาไปทดสอบแล้วมันไม่เป็นแบบนั้น อย่างแรกคือเรื่องของพื้นที่ แต่ละแห่งมีข้อจำกัดในด้านสเปซที่ไม่เหมือนกัน บางบ้านแคบ บางบ้านไม่มีพื้นที่เล่น เช่นเดียวกับโรงเรียนที่มีพื้นที่ต่างกัน ขณะที่บางชุมชนไม่มีพื้นที่เลย หรือถ้ามีก็เป็นพื้นที่ที่อันตราย
อย่างที่สองคือเรื่องวัย เป็นบทเรียนเลยครับว่าเด็กอายุ 6-14 ปี เขามีความสนใจที่ต่างกันสุดขั้ว การเล่นบางอย่างเด็ก 6 ขวบชอบมาก แต่เด็ก 14 ปีบอกว่ามันเด็กเกินไป เพราะฉะนั้นในแต่ละช่วงวัย 6 – 8 – 10 – 12 – 14 ซึ่งห่างกันช่วงละสองปี ความคิดของเด็กเขาจะต่างกันเลย ถามว่าดีไซน์ของเรามันเฟลใช่ไหม จะบอกว่าเฟลก็ได้ แต่จะบอกว่าไม่เฟลก็อาจจะได้เหมือนกัน เพราะมันทำให้เราได้รู้ว่า มันเหมาะสำหรับบางบริบทเท่านั้น
ต้นแบบชิ้นแรกที่เราออกแบบเป็นแผ่นปูพื้นสำหรับเล่น สามารถนำมาต่อเป็นจิ๊กซอว์ แล้วก็มีอุปสรรคให้เด็กกระโดดหรือมุดลอดได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราพยายามสร้างกฎมากจนเกินไป ว่าชิ้นนี้เด็กจะต้องเอามาต่อเพื่อที่จะกระโดด แต่เด็กเขากลับเอาชิ้นส่วนมาตีกัน เอามาเป็นดาบฟันกัน ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเด็กเขามีความคิดสร้างสรรค์ที่จะเล่นในแบบของเขา
เมื่อรู้แล้วว่า one fit to all เป็นไปไม่ได้ แล้วแก้ไขอย่างไรต่อ
เราถอยกลับมาคิดเชิงบริบทให้มากขึ้น ว่าอะไรที่มันตอบโจทย์บริบทและกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ ก็เลยเกิดเป็นต้นแบบที่มีความเฉพาะเจาะจง (specific) ขึ้นมา
สำหรับที่บ้าน เราได้คำตอบว่า การทำงานบ้านก็สามารถเป็นการเล่นได้ เราออกแบบให้อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเป็นของเล่นได้ เช่น ทำไม้โกยผงให้มีหลุม แล้วให้เด็กใช้ไม้กวาดตีลูกกอล์ฟให้ลงหลุม ตัดวัสดุเป็นรูปปลาไปวางไว้ตามพื้น เพื่อให้เด็กเอาไม้ถูบ้านมาถู หรือวางลูกบอลไว้บนฝาถังขยะ เมื่อเหยียบแล้วบอลก็จะกระเด้งลงไปในภาชนะ เด็กได้เล่นสนุกด้วย ขณะเดียวกันก็ช่วยปลูกฝังให้เด็กรู้จักช่วยงานพ่อแม่
ส่วนโรงเรียน เราได้รู้ว่า ตอนนี้การเรียนกับการเล่นเป็นสิ่งที่ถูกแยกออกจากกัน การเรียนก็คือต้องอยู่ในห้อง ต้องนั่งอยู่กับโต๊ะ พอช่วงพักเบรกเด็กจึงจะได้ไปเล่น แต่จริงๆ แล้วเราสามารถบูรณาการทั้งสองส่วนนี้ได้ เราจึงคิดอุปกรณ์ที่ทำให้เด็กๆ ได้ลุกขึ้นยืน ได้เรียนกึ่งเล่น เป็นสายรัดข้อมือ เข็มขัด หรือเสื้อ ซึ่งมีช่องให้ใส่ content เกี่ยวกับการเรียนได้ เช่น ตัวเลข ตัวหนังสือภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เครื่องหมายบวกลบ ฯลฯ ครูสามารถตั้งโจทย์เลขเพื่อให้เด็กๆ แข่งกันวิ่งมาจับกลุ่มให้ตรงกับคำตอบ เกิดเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนอย่างสนุกสนาน
พอมาเป็นพื้นที่ชุมชน เราพบว่าชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ มีพื้นที่จำกัด เรามีพื้นที่สาธารณะน้อย บางทีมีแค่ซอย ที่จอดรถเล็กๆ หรือที่ว่างตามซอกตึก ในชุมชนที่เราลงไปทำงานมีสนามบอล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่มาเตะบอลมักจะมองว่า เด็กเล็กที่มาวิ่งเล่นเป็นตัวสร้างความรำคาญ เราเลยคิดว่าน่าจะสร้างพื้นที่ให้เด็กหลายช่วงวัยได้เล่นด้วยกันอย่างเท่าเทียม เกิดเป็นต้นแบบที่เป็นพื้นที่ยูนิตขนาด 1×1 เมตร ขึ้นมา เพื่อที่จะนำมาต่อเป็นรูปอะไรก็ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าไปอยู่ในนั้นได้
นอกจากนี้ ยังเกิดไอเดียที่เรียกว่า ‘play panel’ คือพื้นที่แนวตั้งของแต่ละยูนิตที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ตามที่ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความรู้กับเรา คือ ทักษะทางกาย ได้ขยับแขนขยับขา ทักษะทางความคิด เป็นพัฒนาการทางสมอง และทักษะในเชิงความแม่นยำ เช่น การปาเป้า การโยนห่วง
แล้วเนื่องจากเด็กแต่ละช่วงวัยเขาเล่นไม่เหมือนกัน เราก็ต้องออกแบบพื้นที่เล่นให้มีความท้าทาย เช่น แป้นบาสสำหรับเด็กโต เราทำให้เล็กแต่สูง ส่วนของเด็กเล็กเราทำให้ใหญ่หน่อย แต่เตี้ยตามสเกลลงมา พอเด็กเล็กเขาได้เห็นว่ามันยังมีอีกอันที่สูงกว่านะ เขาก็จะอยากพัฒนาตัวเองจนวันหนึ่งสามารถเล่นอันที่สูงกว่าให้ได้
ในการทำโปรเจกต์ Active Play มีอะไรที่ประทับใจเป็นพิเศษไหม
ทีแรกเราโฟกัสว่าอยากให้เด็กได้เล่น แล้วก็วัดผลในเชิงการเล่นว่าเด็กสนุกไหม ได้ใช้ร่างกายไหม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่านี่แหละคือคุณค่าที่แท้จริงของสนามเด็กเล่น ก็คือความเป็นชุมชน เราได้เห็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายมานั่งดูลูกหลานเล่น ซึ่งเท่ากับพวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่พึงจะเป็น เราไม่ใช่แค่กระตุ้นให้เด็กเล่นแล้ว แต่กระตุ้นให้ชุมชนและครอบครัวมีโอกาสมานั่งคุยกัน เมื่อมนุษย์เจอกัน มันก็เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไร ตรงนี้เป็นผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งโดยส่วนตัวประทับใจมากกว่าตัวเครื่องเล่นด้วยซ้ำไป
ต้นแบบสนามเด็กเล่น Active Play ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ได้ถูกนำไปต่อยอดอย่างไรบ้าง
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ซึ่งเห็นต้นแบบจากในเว็บไซต์ได้ติดต่อมา เราก็เลยขออนุญาตไปทาง TCDC เพื่อออกแบบสำหรับการผลิตเป็นวัสดุที่คงทนแข็งแรง และมีการต่อเติมต่างๆ ให้สนุกขึ้น เช่น สไลเดอร์ ปัจจุบันพึ่งติดตั้งเสร็จ
นอกจากนี้ก็มีบริษัทเสื้อผ้า Cotton On ของออสเตรเลีย ติดต่อเรามาเพื่อทำสนามเด็กเล่นให้โรงเรียนในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เราก็ทำกระบวนการเหมือนเดิม ลงพื้นที่ไปคุยกับเด็ก คุยกับครู เราได้แนวคิดจากการที่ทำ Active Play มาว่า การเรียนกับการเล่นมันนำมารวมกันได้นะ ก็เลยมีไอเดียว่า อยากจะทำให้พื้นที่ว่างระหว่างตึกเรียนกับตึกห้องสมุด กลายเป็นพื้นที่สนับสนุนให้เกิดการเล่นและการเรียนร่วมกันของหลายระดับชั้น สิ่งแรกที่เราดีไซน์ก่อนเลยก็คือหลังคา ให้แดดไม่ร้อน ฝนตกไม่แล้วเปียก ส่วนพื้นเป็นพื้นทราย จากนั้นก็คิดต่อไปว่า การมีเครื่องเล่นวางอยู่ในพื้นที่ที่อยากให้เกิดกิจกรรมการเรียน มันจะเกะกะไหม เราจึงคิดกลับกันเลย คือให้เครื่องเล่นไปอยู่ที่หลังคาแทน ถ้าเด็กจะเล่นก็ดึงออกมา ถ้าจะทำกิจกรรมการเรียนก็รูดเก็บไปไว้ด้านข้าง ส่วนเนินสไลด์เดอร์อันใหญ่จะมีช่องสำหรับเก็บของเล่นชิ้นเล็กๆ ไว้ข้างใน
การออกแบบพื้นที่การเล่นให้เด็กๆ ในเมือง ชนบท หรือพื้นที่ชายขอบ มีความเหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร
ถ้าในเรื่องของตัวเด็ก ไม่ว่าเด็กที่ไหนก็ล้วนมีพัฒนาการตามธรรมชาติของช่วงวัยที่เหมือนกัน พอมีสิ่งเร้ากระตุ้นให้เขาเล่น เขาก็เล่นอย่างอิสระเต็มที่เลย ส่วนความต่าง จะเป็นเรื่องบริบทมากกว่า ที่ทำให้การออกแบบสำหรับแต่ละพื้นที่สามารถใช้ความคิดที่ไม่เหมือนกันได้
ในฐานะที่ทำเรื่องนี้มาสักระยะ คิดว่าทุกวันนี้ประเทศไทยมีพื้นที่เพื่อการเล่นมากน้อยแค่ไหน และมีคุณภาพแค่ไหน
ผมมองว่าเรามีทั้งโชคดีและโชคร้าย โชคดีก็คือโรงเรียนในประเทศไทยมีพื้นที่ให้เล่นค่อนข้างเยอะ ตอนที่เด็กๆ ไปโรงเรียน อันนี้ไม่ต้องห่วงเลย แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือพื้นที่เล่นนอกโรงเรียน ถ้าอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่รู้เลยจะไปเล่นที่ไหน สุดท้ายก็ต้องไปสวนสัตว์ สวนจตุจักร อย่างสวนลุมพินี มีพื้นที่ให้วิ่งเล่นและมีเครื่องเล่น แต่ถามว่ามันดึงดูดให้เด็กอยากไปเล่นไหม ส่วนต่างจังหวัดเขาไม่ได้ขาดพื้นที่สาธารณะมากนัก พื้นที่เยอะแยะเลย ไปวิ่งเล่นตามที่ธรรมชาติได้ ทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้บอกว่าสิ่งที่มีอยู่มันไม่ดี แต่ผมคิดว่ามันยังพัฒนาได้อีก ด้วยการออกแบบที่ทำให้เกิดแรงจูงใจและเกิดความรู้สึกว่าตรงนี้น่าเล่น
เดี๋ยวนี้เริ่มมีเอกชนเข้ามาทำเรื่องพื้นที่การเล่นเพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ทำไมห้างสรรพสินค้าต้องมีสนามเด็กเล่น แล้วก็เกิดคาเฟ่สำหรับเด็กขึ้นมา ก็เพราะเมืองมันไม่มีที่แบบนั้น ซึ่งมองด้านหนึ่งก็เหมือนการปรับตัว แต่ถ้ามองอีกด้าน ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่ออคนไม่มีพื้นที่แบบนี้ที่เข้าถึงได้ฟรี สุดท้ายก็ต้องไปเสียเงินเพื่อให้ลูกได้เล่น
แล้วคุณมีมุมมองต่อการเล่นในโลกดิจิทัลหรือโลกออนไลน์อย่างไร
ผมมองว่าไม่มีอะไรผิดถูกเลย เป็นเรื่องของยุคสมัยและความสมดุล ผมไม่ได้โทษเจนเนอเรชั่นของเด็ก และไม่ได้โทษเทคโนโลยี แต่เราควรหันกลับมามองว่า ผู้มีอำนาจในการบริหารพื้นที่ทางกายภาพ เขาพยายามสร้างสมดุลให้พื้นที่เล่นมันน่าดึงดูดเทียบเท่ากับโลกออนไลน์รึเปล่า ถ้ามีพื้นที่แบบนั้น คนก็จะออกไปเล่นอยู่ดี แต่ประเด็นคือมันยังไม่มี
หากเมืองต้องการจะลงทุนสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเล่น มีอะไรบ้างที่ควรจะคำนึงถึง
พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีอิสรภาพในการแสดงออกเชิงกายภาพ ผมมองว่าการพัฒนาพื้นที่การเล่น มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือส่วนที่เรียกว่าเป็น ‘ฮาร์ดแวร์’ คือพื้นที่กายภาพ กับอีกส่วนหนึ่งคือ ‘ซอฟต์แวร์’ เป็นอุปกรณ์หรือสิ่งที่มากระตุ้นให้เกิดการเล่น การทำพื้นที่เล่นอาจไม่ต้องลงทุนอะไรมากก็ได้ แค่มีพื้นที่ที่คนที่เล่นจินตนาการออกว่า เขาสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง ยกตัวอย่างลานคอนกรีตเปล่าๆ แค่เอาเซิร์ฟสเก็ตมาเล่นได้ มันก็วิเศษแล้ว
เราได้บทเรียนจาก Active Play ว่า ตรงลานคอนกรีตนั้น ถ้าเราเติมสนามหญ้ากับต้นไม้เสียหน่อยนึง ให้พ่อแม่ได้มานั่งปิกนิก มาดูลูกเล่น มันจะตอบโจทย์ที่สำคัญกว่า คือทำให้กลายเป็นพื้นที่รวมตัวทางสังคม ให้เด็กและครอบครัวได้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ อาจมีร้านน้ำหรือร้านกาแฟด้วยก็ได้ เพื่อทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย และรู้สึกว่าการมาใช้พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ก็คือเรื่องความปลอดภัย สิ่งที่ปรากฏอยู่ตอนนี้คือเราไม่สามารถพูดได้ว่าเมืองไทยปลอดภัย ไม่เหมือนเยอรมนีหรือญี่ปุ่น แต่สำหรับเครื่องเล่น มันเป็นสิ่งที่ออกแบบและควบคุมได้ ให้ตกลงมาไม่เจ็บ หรือเดินแล้วไม่ชน อย่าง Active Play ผู้ปกครองสามารถเข้าไปเล่นด้วยได้ ทุกๆ ลูปจะมีทางออกฉุกเฉินอยู่ เกิดเหตุอะไรผู้ใหญ่ต้องเข้าไปช่วยได้ และวัสดุจะต้องมีความเหมาะสม ในเวอร์ชั่นแรกวัสดุด้านนอกทำจากตาข่าย ปรากฏว่าเด็กเขาปีนเล่น เสี่ยงที่จะตกลงมา ต่อมาเวอร์ชั่นสองที่นครสวรรค์เราเลยพัฒนาให้เป็นตะแกรงเหล็กที่ปีนจากข้างนอกไม่ได้
อยากเห็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเล่นในประเทศไทยพัฒนาไปในทิศทางไหน
อย่างแรกคือต้องทำให้พื้นที่สาธารณะเหมือน 7-11 คือต้องกระจายทุกพื้นที่ และเข้าถึงง่าย ทุกวันนี้พื้นที่สาธารณะหรือสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มันเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ เข้าถึงยาก ต้องตั้งใจฝ่ารถติดไป แล้วก็มีกฎเกณฑ์ที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่า เขาทำอะไรได้บ้าง หรือห้ามทำอะไรบ้าง การเดินเข้าไปพื้นที่สาธารณะ ควรเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้ความพยายามน้อยที่สุด เหมือนเราเดินไปสี่แยก แป๊บเดียวก็เจอแล้ว ดังนั้นหัวใจสำคัญของพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่เพื่อการเล่น คือเรื่องการเข้าถึง
คลาวด์ฟลอร์ เคยร่วมประกวดแบบของสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เรามีไอเดียว่า ทุกๆ สี่แยก สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะได้ด้วยการออกแบบถนนใหม่ โดยนำสี่แยกไปไว้ใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่บนดินเป็นพื้นที่ซึ่งคนที่มีกำลังน้อย ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ ผู้ที่พิการ หรือเด็ก สามารถเข้าถึงได้โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด ในแต่ละพื้นที่สามารถสร้างคาแรคเตอร์กิจกรรมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในย่านนั้นๆ ได้
อีกเรื่องหนึ่งที่เราอยากเห็น คืออยากให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตอยู่นอกห้องแอร์บ้าง ผมมองว่ามนุษย์ควรจะได้รับแดด ได้รับฝน ได้รับความชื้น เพื่อให้เกิดการปรับตัว แล้วเราจะแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันทางกายภาพหรือทางเคมีที่ดีขึ้น อาจจะสร้างพื้นที่การเล่นใหม่ๆ อีก เพราะจริงๆ แล้วพื้นที่การเล่นมันไม่ได้ต้องการพื้นที่มาก พื้นที่แนวตั้งอย่างกำแพงตึกก็ประยุกต์มาเล่นได้ อีกทางหนึ่งคือต่อยอดกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่นสวนสาธารณะ เช่น มีโปรเจกต์ให้สถาปนิกช่วยออกแบบพื้นที่เล่นให้กับสวนสาธารณะทั่วเมือง ถ้าโมเดลนี้สำเร็จ สวนสาธารณะจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของครอบครัวที่ไปใช้เวลาร่วมกันในวันเสาร์อาทิตย์ มากกว่าอยากไปห้างสรรพสินค้า