“There are volcanoes, and that’s really classy” คือหนึ่งในคำแนะนำของบล็อกในเว็บไซต์อีราสมุส (Erasmus+ โครงการให้ทุนการศึกษาของสหภาพยุโรป) ที่เขียนไว้เพื่ออธิบายเมือง แกลร์มง-แฟร็อง (Clermont-Ferrand) ประเทศฝรั่งเศส แปลได้ว่า “เมืองเรามีภูเขาไฟด้วยนะ มันเลิศมากเลยล่ะ”
แกลร์มง-แฟร็อง เป็นเมืองที่น่าอยู่ทีเดียวในเว็บไซต์นำเที่ยวต่างๆ นอกจากภูเขาไฟที่มียอดตัดเพราะลาวาเย็นตัว ก็มีข้อเด่นทางด้านทะเลสาบสวยงามในฤดูร้อน เส้นทางปีนเขาวิวดี กิจกรรมกีฬาเข้าถึงง่ายในเมือง
สำนักงานใหญ่ของบริษัทขายยางมิชลินตั้งอยู่ที่นี่ และยังเป็นเมืองที่บรรยากาศทางการศึกษาดีเยี่ยม เพราะนักศึกษาเลือกมาศึกษาที่นี่เป็นอันดับต้นๆ
แต่เอกลักษณ์หนึ่งที่ทำให้ แกลร์มง-แฟร็อง สดใสและมีผู้คนจากทั่วโลกแวะเวียนเข้ามาร่วมกิจกรรม คือการมีพื้นที่ทางศิลปะที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้คนในชุมชนร่วมดีไซน์และเล่นสนุก
แถมยังมีโปรแกรมละครเวทีมียาวเหยียด มหกรรมดนตรีไม่เคยขาดตอน บทกลอนและการอ่านวรรณกรรมก็ยังมีไว้ให้เป็นตัวเลือกเสมอ
วัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ที่หลายฝ่ายร่วมกันสร้างเป็นทั้งสีสันและช่วงเวลาระหว่างวัน นาที วินาทีที่ดีของทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือน
ที่นี่ ศิลปะเดินทางมาหาผู้คน
แกลร์มง-แฟร็อง เป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ หรือ Learning City แห่งแรกในประเทศฝรั่งเศสที่อยู่ในเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities – GNLC) ที่มีข้อได้เปรียบอย่างแรกคือบริษัทถึง 25,000 แห่ง นักเรียน 35,000 คน นักวิจัย 1,300 คนพร้อมห้องแล็บวิจัย 35 แห่ง การบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) อีกหลายโครงการที่มีงบประมาณไว้ราว 43% เพื่อพัฒนาการศึกษาสำหรับเยาวชน และอีก 10% ถูกกันไว้สำหรับดีไซน์กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้
ทั้งละครเวที คอนเสิร์ตศิลปินอินดี้ กิจกรรมแลกเปลี่ยนไดอารีของคนทั่วโลก นิตยสารประจำเมือง งานประกวดศิลปวัฒนธรรม และองค์ประกอบยิบย่อยให้หัวข้อศิลปะใหญ่ๆ ที่ถูกวางแผนไว้จนข้ามเดือนข้ามปี และที่สำคัญคือหลายกิจกรรมเข้าร่วมได้ฟรี
สีสันของวัฒนธรรมที่วางแผนจะสร้างหรือสร้างไปแล้ว มีความหลากหลายและแสดงให้เห็นว่านี่คือเมืองที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกของคนธรรมดา
ในเว็บไซต์ของเมืองมีโปรแกรมการแสดงศิลปะหลายแขนงพร้อมรายละเอียดของแต่ละงานครบครัน ทั้งศิลปะการแสดงสด ดนตรีแจ๊ส Cafe Musical (คาเฟ่ที่เปิดพื้นที่ให้วงดนตรีออร์เคสตรา) ละครเวที งานแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทั้งยังเปิดรับสมัครโปรเจกต์จากศิลปินอิสระ เช่น งาน Square for the Arts เปิดพื้นที่กลางแจ้งให้นักดนตรีอาชีพและมือใหม่มาลับฝีมือกันในวันอาทิตย์แรกของทุกเดือน
กิจกรรมที่ง่ายแต่เจ๋งก็มีมากมาย เช่น จุดนัดพบบันทึกการเดินทางที่รวมตัวนักเดินทางมือใหม่และมือเก๋ากว่า 100 คนทั่วโลกมาร่วมแชร์และสนทนาเรื่องบันทึกการเดินทางของพวกเขาและเธอในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี หรือ Cafe Lecture คาเฟ่แห่งการจุดไฟปัญญาด้วยความสนุกสนาน ซึ่งนักเขียน นักดนตรี นักอ่าน นักเล่น หรือนักทดลองที่อยากออกแบบกิจกรรมของตัวเองก็สามารถมาใช้พื้นที่ที่นี่ได้ยิ่งพื้นที่ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรมเยอะขึ้น ชุมชนก็เริ่มเห็นความสามารถและศักยภาพของตัวตน ดังนั้นสภาพแวดล้อมเหล่านี้จึงเอื้อต่อการถูกยอมรับของปัจเจกได้เป็นอย่างดี
เมืองที่เห็นว่าเด็กคือผ้าขาวที่มีสีสัน
‘ตัวตน’ ที่ว่า ยิ่งสร้างตั้งแต่เด็กก็ยิ่งดี ยิ่งทำให้รู้ว่าสีที่สาดมาบนผ้าขาว ไม่ใช่ความเปรอะเลอะเทอะ แต่คือศิลปะแขนงหนึ่งของการใช้ชีวิตและเติบโต
หลายโปรแกรมที่เมือง แกลร์มง-แฟร็อง ออกแบบเอื้อให้เด็กได้มีพื้นที่เล่นและเรียนรู้อย่างกว้างขวาง พร้อมมอบสิทธิในการเข้าถึงให้ด้วย เช่น การไม่คิดค่าตั๋วละครเวที ค่าเข้าพิพิธภัณฑ์ ค่าเข้าเวิร์กชอปต่างๆ และแม้แต่ละครเวทีที่มีความเป็นนามธรรม ต้องอาศัยการตีความต่อ เช่น เรื่องการเปิดเปลือยตัวตนต่อโลกที่เห็นและเป็นอยู่ เด็กๆ หรือเยาวชนก็ยังได้รับสิทธิเข้าชมฟรี
เด็กชั้นอนุบาลกว่า 11,000 คนยังได้รับสิทธิในการใช้ Culture Pass เมื่ออยู่ในการดูแลของครอบครัวหรือพี่น้องในการเข้าพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่กำหนด สนุกสนานได้กับทั้งนิทรรศการชั่วคราวและถาวร ไม่รวมกิจกรรมพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อให้ประโยชน์ทางการศึกษาต่างๆ
Culture Pass ไม่ใช่แผนที่เพื่อเล่นอย่างเดียว แต่ยังมี Youth City Map ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ อายุตั้งแต่ 12-27 ปีได้ตะลุยไปตามจุดและกิจกรรมต่างๆ ในเมืองที่อวลไปด้วยความสำคัญทางศิลปะ วัฒนธรรม และมีประโยชน์ทางการกีฬา เช่น เข้าพิพิธภัณฑ์ในเมืองได้ฟรีทุกแห่ง เข้าชมภาพยนตร์สั้นบางเรื่องฟรี พบเจอศิลปิน นักแสดงหลังเวที เล่นสกี ขี่จักรยานเสือภูเขา ในราคาที่ถูกลงมาก
หรือฟรีทั้งหมด!
โปรแกรมงานดนตรีที่ล้นและหลากหลายบ่งบอกได้ว่าเมืองนี้สนับสนุนทั้งนักดนตรีมือสมัครเล่น ศิลปินมืออาชีพ หรือแม้แต่ประชาชนทุกเพศทุกวัยที่สนใจดนตรี และน่าสนใจเป็นพิเศษเมื่อมีโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะ เช่น Demos Project ของสถาบันดนตรี Cité de la Musique ที่ทดลองโปรเจกต์มาตั้งแต่ค.ศ. 2017 ร่วมกับวงออร์เคสตรา the Orchestre national d’Auvergne และสมาคมเพื่อนบ้าน 7 สมาคมเพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยผ่านวัฒนธรรม (Cultural Democratization) โดยการมอบเครื่องดนตรีและสอนเด็กกว่า 105 คนที่เข้าถึงเครื่องดนตรีได้ยาก
‘One thousand shapes’ family learning project เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่เมืองร่วมทำงานกับศูนย์พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติปงปีดู (National Museum of Modern Art Centre Pompidou) ศิลปินและดีไซเนอร์นานาชาติเพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่เรียนรู้ฟรี ครอบครัวมีโอกาสได้เข้าร่วมโปรแกรมด้านศิลปะที่ใช้องค์ความรู้หลากหลายสาขา (Multidisciplinary)
เด็กๆ จะมีโอกาสได้ใช้ผัสสะครบทุกด้าน ทั้งการสัมผัส ฟัง ดมกลิ่น โดยมีผู้ปกครองเป็นตัวช่วยสำคัญ ในงานอบรม ผู้ปกครองจะได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญต่อการทดลองที่เกิดขึ้นในวันนั้น เพื่อพัฒนาทักษะของลูกต่อไปในอนาคต
นอกเหนือจากศิลปะ แนวร่วมนี้ยังต่อยอดโครงการโดยการออกแบบการเรียนรู้ที่ไร้ที่สิ้นสุด เช่น หลายปีที่ผ่านมา ผู้คนในเมืองต่างสร้างพื้นที่ ‘ชีวิต’ ร่วมกันผ่านการปลูกไม้ผลบ้าง แบ่งปันพื้นที่สวนบ้าง หรือร่วมปรับแต่งพื้นที่เมืองบ้าง
แต่ละโครงการจะถูกโหวตจากคนในพื้นที่ ว่าโครงการไหนผ่านหรือไม่ผ่าน ถือว่าเป็นการสร้างการบริหารแบบมีส่วนร่วม (Participatory Management) ที่ถูกสานต่อมาเรื่อยๆ และเป็นหัวใจของทุกๆ โครงการ
เพราะโครงสร้างเมืองดี จึงมีพื้นที่ให้ปล่อยของ
โปรเจกต์ใหญ่พัฒนาชุมชนในเมืองที่ Saint-Jacques, Saint-Jean หรือ Vergnes ล้วนให้ความสำคัญกับสมาชิกในชุมชนในการร่วมออกแบบ เดินสำรวจเมือง จัดประชุม หรือรื้อสร้างพื้นที่ใหม่ และนั่นไม่ใช่แค่เสียงของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมนักเรียน องค์กรเครือข่ายการศึกษา นักออกแบบ และภาคส่วนอื่นๆ เข้าไว้ด้วย
The InspiRe Project คือตัวอย่างของการพัฒนาการขนส่งและคมนาคมในยุคที่คนเดินถนน นักปั่น หรือพ่อค้า แม่ค้าตามรายทางเริ่มมีความสำคัญน้อยกว่ารถยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ โครงการนี้จึงตั้งเป้ามาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงออกแบบพื้นที่ให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชนและเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน
Les Allées du Cardo เป็นอีกตัวอย่างของโครงการที่จะมายกเครื่องสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ต่างๆ ให้กลายเป็นซอกซอยแห่งความรู้และศิลปะตามแบบฉบับเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมยุโรป 2028 (European Capital of Culture 2028) โดยเชื่อมกองทุนศิลปะร่วมสมัย ห้องสมุดเมือง พิพิธภัณฑ์ สิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่สวนเอาไว้บริการผู้คน
ในภาพกว้าง โครงการนี้ได้นักออกแบบด้านภูมิทัศน์และการวางผังเมืองมากำกับโครงการเพื่อแก้โจทย์เรื่องความยั่งยืน เช่น ปรับใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุท้องถิ่นเพื่อประดับเมือง ปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างทางจักรยาน ปรับทางเท้าให้กว้างขึ้นเพื่อให้เมืองเดินได้ ครอบครัวเดินดี
แต่นั่นคือการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายที่หลายเมืองในโลกก็กำลังพยายามทำรวมถึงที่ประเทศไทยด้วย เราเห็นโครงการพัฒนาสวนสาธารณะให้เป็นพื้นที่สีเขียวมาในระยะเวลาหลายปี แต่จุดสำคัญของการรื้อสร้างพื้นที่เหล่านี้ คือการสร้างระบบนิเวศให้กับชุมชนนั้นๆ ด้วย
สนับสนุนความรู้คู่กับความเท่าเทียม
ในฐานะที่เมือง แกลร์มง-แฟร็อง คลอดนักวิจัยออกมาจำนวนมาก โครงการประกวดนักวิจัยของเมือง จึงเป็นหนึ่งในการบ่มเพาะเยาวชนเนิร์ด ฝึกฝนให้เด็กที่ได้รับคัดเลือกมีโอกาสนำเสนองานวิจัยของตัวเอง ขัดเกลาทักษะการสื่อสารด้วยหลักสูตรและการทดสอบที่ถือว่าโหดหิน เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กจะพัฒนาได้ผ่านความสงสัยใคร่รู้ ความกระตือรือร้นของตัวเอง และต้องเรียนรู้วิธีการที่จะสื่อสารนวัตกรรมการทดลองที่มีแนวโน้มที่จะผิดพลาดได้
หากเข้าไปในเว็บไซต์ Ville de Clermont-Ferrand จะเห็นว่าในหัวข้อ Your City Hall มีข้อมูลมากมายในระดับนโยบาย คณะทำงาน การจ้างงาน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้แจงชัดเจนว่าเครื่องมือของการบริหารเมืองเมืองหนึ่งให้เป็นประชาธิปไตย ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น การจัดประชุมสาธารณะ การจัดเวิร์กชอปสร้างการมีส่วนร่วม สภากาแฟ แบบสอบถามออนไลน์
สมาชิกชุมชนต้องร่วมกันสังเกตการณ์หลักการการบริหารและธรรมมาภิบาลของผู้นำชุมชนหรือนายกเทศมนตรีของพวกเขา Observatory Commitments หรือคณะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นอิสระ มีสิทธิในการควบคุมการใช้ภาษีในเมืองและร่วมจัดสรรงบประมาณเมื่อมีสมาชิกอยากเสนอโครงการที่น่าสนใจใดๆ ก็ตาม
ความโปร่งใสและความชอบธรรมในการจัดสรรเงินถือเป็นหัวใจหลักที่เมืองจะเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีชีวิตชีวาและเท่าทันโลก คณะกรรมการของเมือง แกลร์มง-แฟร็อง จึงต้องประชุมกับนายกเทศมนตรีถึงการจัดสรรงบประมาณ คนในชุมชนจึงจะมีโอกาสได้รู้ว่าโครงการที่อยากเสนอหรือมีส่วนร่วมดำเนินการไปอย่างไร โหวตให้ผ่านหรือไม่
โมเดลการตรวจสอบนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 มีโครงการนำเสนอไปแล้วทั้งสิ้น 948 โครงการและได้โครงการผู้ชนะมาแล้ว 32 โครงการ เช่น โครงการรถอาบน้ำสำหรับคนไร้บ้าน (The Whole City: Shower Truck for the Homeless) หรือพื้นที่จัดแสดงงานและที่พำนักสำหรับศิลปิน (Cathedral, Delille, La Gare: Space for Exhibitions and Artist Residencies)
จุดมุ่งหมายหลักของ แกลร์มง-แฟร็อง คือการสร้างการเรียนรู้ที่ยั่งยืนผ่านนโยบายสาธารณะต่างๆ การมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนโดยใช้ทรัพยากรที่มีขับเคลื่อนแรงบันดาลใจและความเป็นชีวิตของคนในชุมชน
นโยบายเหล่านี้ต่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เน้นธรรมาภิบาล
ที่สำคัญคือการเข้าถึงความรู้ จึงที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเมืองที่มีความยืดหยุ่น (Resilient City) ปรับตัวเร็วต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงเป็นมิลลิวินาที และสร้างพลเมืองที่ตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่แตกต่างของตัวเองในฐานะพลเมืองโลก
ดังนั้นอีกคุณค่าหนึ่งของเมืองจึงเป็นการสร้างมาตรฐานของการเป็นพลเมืองโลก ซึ่งเป็นทั้งความท้าทายและความสนุกสนานไปในตัว เพราะถึงแม้จะรวมมวลชนให้มีความเห็นที่เหมือนกันได้ยากหากโปรเจกต์เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เด็กๆ จะได้มีกิจกรรมที่หลากหลายในการเล่น ตั้งแต่ดูหนัง เล่นดนตรี เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ลองเป็นนักวิจัย ในขณะที่ผู้ใหญ่จะได้ร่วมตรวจสอบการบริหารงานของเทศบาล ออกแบบนโยบาย และหาเป้าหมายของเมืองไปพร้อมๆ กัน
ประโยค “There are volcanoes, and that’s really classy” จึงน่าปรับเป็น “There are people, and that’s really classy” คุณจะเป็นใครก็ได้ จะเป็นเยาวชน เป็นพ่อแม่ นักท่องเที่ยว นักข่าว หรือเป็นประชาการที่ย้ายมาใหม่ก็ไม่ติด เพราะเมือง แกลร์มง-แฟร็อง ชี้ให้เห็นแล้วว่า ผู้คนคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการใช้ความสร้างสรรค์ผ่านนโยบายจากภาครัฐที่ผนวกรวมประชาชนเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ โดยไม่คัดใครทิ้งไว้เบื้องหลัง
ที่มา
บทความ “7 good reasons to come to study in Clermont-Ferrand” จาก erasmusu.com (Online)
เว็บไซต์ Ville de Clermont-Ferrand (Online)
บทความ “UNESCO learning city of Clermont-Ferrand: ‘One thousand shapes’ family learning project” (Online)
A Collaborative Methodology for the Entire Leaning City (Online)
Cover Photo : Ville de Clermont-Ferrand