เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

189 views
8 mins
September 2, 2024

          หากมีใครสักคนเอ่ยถึงเมืองนครศรีธรรมราช ภาพจำของ ‘เมืองคอน’ ในจินตนาการของหลายคนคงจะเป็นเมืองวัฒนธรรมเก่าแก่ เป็นเบ้าหลอมความเชื่อและศรัทธาอย่างท่วมท้น อาจเพราะเนื้อหาวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์บอกกับเราว่า เมืองนครศรีธรรมราช คือเมืองท่าสำคัญมาตั้งแต่ครั้งยังถูกเรียกขานด้วยชื่ออื่นๆ เช่น ‘ตามพรลิงค์’ หรือ ‘ลิกอร์’ และเป็นเมืองที่พุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ได้ประดิษฐานอย่างมั่นคงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-19 ก่อนที่จะแผ่วัฒนธรรมและความเชื่อขึ้นไปยังอาณาจักรทางตอนเหนืออย่างสุโขทัย

          ภาพจำของเมืองวัฒนธรรมถูกย้ำให้ชัดขึ้นอีกครั้งเมื่อวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้รับการขึ้นบัญชีเบื้องต้นมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Tentative List) ในปี 2556 หน่วยงานท้องถิ่นต้องเตรียมเอกสารและแผนการจัดการมรดกวัฒนธรรมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการมรดกโลกอีกครั้งในเร็ววันนี้ เพื่อขยับสถานะจากบัญชีรายชื่อเบื้องต้น สู่สถานะ ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’

          อีกหนึ่งภาพจำผ่านเลนส์ของ ‘สายมู’ คือ นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และขับเคลื่อนด้วยศรัทธามหาชน เป็นแหล่งที่มาของวัตถุมงคลอย่าง จตุคามรามเทพ และ ไอ้ไข่ ที่บันดาลปาฏิหาริย์ให้กับญาติโยมที่เดินทางไกลมาบูชา

          แต่ จิระวดี ใจห้าว หัวหน้างานอุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช บอกกับเราว่า คนนครฯ ก็ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่แพ้กัน ทรัพยากรทางวัฒนธรรมอันอุดมในพื้นที่ กลายมาเป็นทรัพยากรการเรียนรู้ควบคู่ไปกับนวัตกรรมที่ทันสมัย โดย อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช (City Learning Park: CLP) มีบทบาทสำคัญในการแนะนำการเรียนรู้สมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อคอยเติมไฟให้เยาวชนและชาวเมืองคอนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะ หรือเรื่องเศรษฐกิจและปากท้องที่แสนจะใกล้ตัว

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

เริ่มต้นจากการวางรากฐานการเรียนรู้ที่เท่าเทียมและครอบคลุมรอบด้าน

          นครศรีธรรมราชก็ไม่ต่างจากหัวเมืองอื่นๆ ที่มีเยาวชนกลุ่มหนึ่งขาดโอกาสทั้งทางสังคมและการศึกษา ไม่ว่าจะเพราะขาดผู้ปกครองคอยดูแลใกล้ชิด มีภารกิจต้องดูแลน้องๆ หรือเครือญาติ หรือแม้กระทั่งขาดแคลนทุนทรัพย์ การก่อตั้ง CLP ทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้มีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้ตามอัธยาศัยมากขึ้น

          “เราให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีการสมัครสมาชิก…เป็นพื้นที่ให้เด็กๆ มาระดมความคิด ระดมสมอง ทำโปรเจกต์ ซ้อมเต้น หรือทำอีเวนต์ต่างๆ ตอนแรกก่อตั้ง มีห้องศูนย์บริการคอมพิวเตอร์ ที่มีคอมฯ ถึง 50 เครื่อง คล้ายๆ กับอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ในสมัยนั้นค่าบริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ก็ชั่วโมงละ 20-30 บาท เด็กด้อยโอกาสเขาจะเอาเงินที่ไหนไปใช้บริการ ถ้ามาที่นี่เขาก็ได้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตฟรี นอกจากเด็กกลุ่มนี้ เด็กที่มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ก็เข้ามาใช้งานด้วย จากทักษะพื้นฐานก็มาพัฒนาทักษะต่อยอดทั้งเรื่องการวาดการ์ตูน แอนิเมชัน ส่วนใหญ่เราก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ดูแลเด็กไปด้วยในตัว นี่คือช่วงบุกเบิกแรกๆ เลย” จิระวดี เล่าถึงที่มาของ CLP

          เทคโนโลยีด้านการเรียนรู้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่นกันกับ CLP ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ “ในส่วนของห้องสมุด เมื่อทำ MOU กับ TK Park เราก็มีการส่งเสริมในเรื่องของการอ่าน ชุมชนของเราในเขตเทศบาล ล้อมรอบไปด้วยโรงเรียนเทศบาลจำนวน 10 แห่ง ที่เป็นเครือข่าย เราขยายการประชาสัมพันธ์ให้เด็กๆ เข้ามาใช้ห้องสมุดเป็นสื่อการเรียนการสอน มีการจัดอีเวนต์ให้เด็กๆ ได้บ่มเพาะความรักการอ่าน ผ่านสื่อการเรียนรู้และนิทรรศการหมุนเวียนที่ได้รับความอนุเคราะห์จาก TK Park ตอนนี้เรามีบริการห้องสมุดออนไลน์ ห้องสมุดดิจิทัล ให้เด็กๆ อ่านหนังสือได้ ยืมคืนหนังสือได้จากสมาร์ทโฟน”

          ในส่วนอื่นๆ CLP ก็พัฒนาและจับมือกับท้องถิ่นสรรค์สร้างกิจกรรมไม่ขาดสาย “ด้านบนมีโรงภาพยนตร์ มีหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองคอน ที่เราจัดตั้งร่วมมือกับศิลปินท้องถิ่นในนครศรีธรรมราช เราทำงานร่วมกับศิลปิน ทั้งอาจารย์ที่เกษียณแล้ว และกลุ่มต่างๆ ที่รักงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผ้ามัดย้อม ลูกปัดมโนราห์ การถ่ายภาพ การวาดภาพ การเพนต์ผ้าบาติก แล้วแต่ว่าทางกลุ่มศิลปินอยากจะมาจัดงานอะไรร่วมกับเรา เราได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรในด้านงานศิลป์ค่อนข้างจะเยอะ มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนในอาคารแทบทุกปี”

          บทบาทของ CLP จึงถือว่าค่อนข้างจะครบถ้วนทั้งด้านเทคโนโลยีและศิลปะ การทำงานเปิดกว้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนวัตกรรมหรือวัฒนธรรมพื้นถิ่น

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

CLP ในฐานะจิกซอว์ตัวหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

          การเกิดขึ้นของโครงการขับเคลื่อนเทศบาลนครนครศรีธรรมราชให้เป็นเมืองอัจฉริยะ คือจุดที่ทำให้กิจกรรมและบทบาทของ CLP ในด้านเทคโนโลยีเริ่มชัดเจนมากขึ้น “เดิมทีเทศบาลตั้งใจจะผลักดันให้นครศรีธรรมราชเข้าร่วมเป็นเครือข่าย Learning City ขององค์การยูเนสโก ต่อมาก็ผลักดันเรื่องเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพราะว่า 1 ใน 7 ด้านของ Smart City นั้น มีเรื่องของการศึกษารวมอยู่ด้วย ถ้าเราขับเคลื่อนให้ครบทุกมิติ เราก็จะขับเคลื่อน Learning City ไปได้ด้วยนวัตกรรม” และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นให้ CLP เข้ามาเป็นจิกซอว์ที่สำคัญตัวหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ที่ใช้ข้อมูลเป็นฐานในการวางแผน แก้ปัญหา และพัฒนาเมือง

          “2-3 ปีที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด ไม่ว่าเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุก็ต้องใช้โทรศัพท์มือถือ มีความจำเป็นทุกช่วงวัย เรียกได้ว่ากลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว ท่านนายกเทศมนตรี (ดร.กณพ เกตุชาติ) เลยมองว่า เราจะใช้โทรศัพท์มือถือให้เกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน ก็เลยพัฒนาบริการออนไลน์ของเทศบาลผ่าน LINE OA @Nakhoncity ตัวเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมและทำหน้าที่เป็น Smart Officer จะเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม ให้นักเรียนไปจนถึงผู้สูงอายุเข้ามาใช้งาน”

          Smart Officer กระจายตัวไปในกลุ่มเจ้าหน้าที่เทศบาลแผนกต่างๆ รวมถึงนักวิชาการสาธารณสุข ที่เข้าไปนำร่องจัดการอบรมเรื่องการเข้าถึง LINE OA @Nakhoncity ให้กับชุมชน สอนให้มีการสมัครสมาชิก และใช้ระบบเมนูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ศูนย์การเรียนรู้ ข้อมูลพิพิธภัณฑ์เมือง การฉีดวัคซีนสัตว์เลี้ยง ร้องทุกข์ออนไลน์ และตรวจเช็กกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง

          “CLP ที่เป็นแอดมินอยู่แล้วก็เข้าไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องระบบบริการออนไลน์ผ่าน @Nakhoncity กับนักเรียนนักศึกษา เขาก็ไปต่อยอดให้กับผู้ปกครอง ลุง ป้า น้า อา หรือชุมชน เมื่อเรามีฐานกำลังที่ประชาชนเป็นแกนนำ มันก็ทำให้รากฐานแข็งแรง จำนวนสมาชิกที่ลงทะเบียนพุ่งไปกว่า 70% ของประชากร คือประมาณ 7 หมื่นกว่าคน”

          เพราะ LINE คือแอปพลิเคชันที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มความสนใจ ระบบต่างๆ จึงทำงานผ่านแอปพลิเคชันนี้ ฟังก์ชันที่สำคัญของแพลตฟอร์มคือกล้องวงจรปิด ที่สมาชิกสามารถติดตามตรวจสอบดูกล้องวงจรปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงสามารถวางแผนการเดินทางสัญจรได้โดยสะดวก รักษาความปลอดภัยได้โดยง่าย และที่เห็นผลได้ชัดเจนคือการวางแผนป้องกันอุทกภัย

          “ก่อนหน้านี้เขตเทศบาลเคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมทุกปี หลังจากที่เราใช้ระบบนี้ จุดไหนที่เกิดน้ำท่วม เขาก็ตรวจสอบระดับน้ำจากกล้องวงจรปิด ก็สามารถขนของล่วงหน้า ลดความเสียหายในครัวเรือนได้ ทีมเทศบาลก็แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เนื่องจากเห็นระดับน้ำในช่วงต้นน้ำที่กำลังขึ้นสูงก่อนที่จะเข้ามาในเมือง เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง ตรงนั้น ช่วยให้ประชาชนขนของได้เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายของศูนย์ยังชีพได้อีก ประหยัดงบประมาณไปหลายล้าน”

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช
จิระวดี ใจห้าว หัวหน้างานอุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

          อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่ดีคือ ระบบร้องทุกข์ออนไลน์สามารถส่งข้อร้องเรียนต่อสายตรงถึงแอดมินในแต่ละแผนกได้อย่างรวดเร็ว “ประชาชนสามารถร้องทุกข์เข้าไปใน LINE OA ได้เลย เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ภายใน 48 ชั่วโมง บางงาน 24 ชั่วโมงก็เสร็จแล้ว ขึ้นอยู่กับประเภทของหน้างาน จากที่เมื่อก่อนต้องเขียนคำร้องผ่านกระดาษ กว่าเรื่องจะถึงระบบการจัดการโดยท่านนายกฯ ก็ใช้เวลา 7-15 วัน ตอนนี้…สมมติว่าน้ำประปาไม่ไหล คุณก็เข้าไปที่เมนูร้องทุกข์ ปักหมุดพิกัด แล้วแจ้งข้อมูลว่าน้ำไม่ไหล แอดมินในกองประปาก็จะมองเห็นข้อร้องเรียนและสามารถดำเนินการได้ภายใน 48 ชั่วโมง หรือถ้าเป็นปัญหาเรื่องขยะมูลฝอยก็เข้าไปร้องทุกข์ กองสาธารณสุขก็สามารถดำเนินการจัดเก็บขยะได้เลย”

          นอกจากบทบาทในการประชาสัมพันธ์เรื่อง LINE OA @Nakhoncity แล้ว CLP ยังมีบทบาทสำคัญในส่วนของ ‘Smart Learning’ โครงการขับเคลื่อนเมืองนครศรีธรรมราชให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

          “การผลักดันด้านการศึกษาในส่วนของ Smart Learning ทางเทศบาลนำเทคโนโลยี AR/VR มาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน มีการเชิญวิทยากรจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเข้ามาเป็นวิทยากร อบรมให้ครูทั้งหมด 300 คน เพื่อใช้อุปกรณ์ VR เป็นสื่อการสอนด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ตอนนี้เด็ก ป.5 ก็สามารถสร้างสื่อการเรียนรู้ในโลกเสมือนได้แล้ว เป็นเรื่องของการยกระดับด้านการศึกษา การเรียนหนังสือในรูปแบบตัวอักษรมันไม่สนุก ก็เลยยกสื่อการเรียนรู้ให้มาอยู่ในส่วนที่เด็กๆ สนใจ คือเรื่องของเทคโนโลยี

          “ในเขตเทศบาล เราซื้ออุปกรณ์ตัวนี้ไว้ให้ทุกโรงเรียน แต่ถ้าเป็นเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่รอบนอกล่ะ เขาไม่มีโอกาสที่จะได้จับต้องอุปกรณ์พวกนี้แน่ๆ ก็เลยจัดหาเข้ามาในอุทยานการเรียนรู้ฯ 15 ตัว แล้วก็มีตัว VR Box ที่ใช้ โทรศัพท์มือถืออีก 30 ตัว ให้บริการฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เราจะมีวิทยากรเด็กๆ ช่วยกันแนะนำการใช้งาน มีการจัดอบรมให้เด็กๆ ได้ทราบว่าอุปกรณ์ตัวนี้มีความเป็นมายังไง มีความสำคัญอย่างไรในโลกปัจจุบัน”

          เมื่อเยาวชนมีโอกาสได้สัมผัสเทคโนโลยีเหล่านี้จากโรงเรียนในฐานะสื่อการสอนแล้ว บทบาทของเทคโนโลยี VR ที่ CLP จึงมุ่งเน้นที่กิจกรรมสันทนาการมากกว่า “คุณจะนอนดูคอนเสิร์ตก็ได้ ดูดาวก็ได้ เล่นกีฬาก็ได้ ตีปิงปองก็ได้ เราก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยหมุนเวียนการใช้แว่น VR เปิดเป็นรอบเช้าและบ่าย ส่วนตัวกิจกรรมที่ใช้ VR Box ถ้าผู้ปกครองต้องการจะใช้งาน ก็เอาสมาร์ทโฟนเข้ามาใส่ในตัวอุปกรณ์แล้วก็ใช้ได้เลย”

          นี่คือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงเทคโนโลยีได้สะดวกยิ่งขึ้น “เด็กๆ ได้มีโอกาสได้รู้จักอุปกรณ์พวกนี้ นี่คือโลก 3 มิตินะ โลกเสมือนเป็นแบบนี้นะ โลกจริงเป็นแบบนี้นะ อวกาศเป็นแบบนี้นะ เด็กๆ ที่มาเรียนรู้ที่นี่ก็เรียนรู้ภาษาได้เร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยีพวกนี้ต้องใช้การฟัง ฟังแล้วทำตาม ทั้งหมดนี้เป็นสื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ เด็กก็จะซึมซับเรื่องภาษา ปีที่แล้วมีการอบรมการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ ชื่อว่า CLP Smart City โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อให้เด็กๆ รู้จักการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้ทราบที่มา ได้สัมผัส รู้ว่าเมนูต่างๆ มีความหมายอย่างไร สร้างความคุ้นชินกับอุปกรณ์ แล้วหลังจากนั้นเมื่อเขาเข้ามาเล่นก็จะไม่กลัว เด็กๆ พวกนี้คือเด็กที่มาจากรอบนอก เขาไม่กล้าหยิบจับอุปกรณ์พวกนี้หรอก เมนูก็ภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราสอนแล้ว เขาก็จะคิดต่อยอดในเรื่องการใช้อุปกรณ์ได้เอง ก็จะสังเกตได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร”

          เทคโนโลยี VR ไม่ใช่แค่เรื่องของเยาวชนเท่านั้น CLP เคยจัดอบรมการใช้ VR ในผู้สูงอายุด้วย “ผู้สูงอายุเดินมากไม่ได้ เล่นเกมที่มีการเคลื่อนไหวมากก็ไม่ได้ เราก็เลยให้เขานั่งเล่น อย่างเช่น ฟันดาบ เขาจะได้ขยับแขนขยับขา หลบซ้ายขวา ก้มเงย ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เจ้าหน้าที่ศูนย์เองก็ต้องรู้ว่าเกมไหนเหมาะกับใคร”

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

          และย่างก้าวที่สำคัญคือ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมในเรื่องการเรียนรู้ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น “เทศกาลหนึ่งที่สำคัญของเทศบาลฯ คือพิธีโล้ชิงช้า ท่านนายกฯ มองว่า เด็กรุ่นใหม่คงไม่รู้จักพิธีโล้ชิงช้าแล้ว เลยร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใช้ AI สร้างแอนิเมชันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีนี้ สร้างการ์ตูนขึ้นมาเพื่ออธิบายให้เด็กฟังว่าเรามีพิธีนี้เพื่ออะไร ประเพณีเก่าแก่นี้มีความสำคัญอย่างไร มีที่มาอย่างไร เป็นสื่อการสอนที่ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่เด็กถืออยู่ในมือ”

          แม้แต่การจัดการภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ทางเทศบาลก็เห็นเป็นเรื่องสำคัญ “ทำอย่างไรถึงจะปลุกประวัติศาสตร์เมืองนครด้วยนวัตกรรม เราก็เคยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีทำ Lighting City ทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ตอนนี้ก็มีไฟประดับเมืองไม่ว่าจะเทศกาลอะไรที่เกี่ยวข้องกับเมือง เทศกาลถือศีลอด ตรุษจีน อิสลาม หรือเทศกาลวาเลนไทน์”

          ตั้งแต่มีโครงการเมืองอัจฉริยะ CLP ก็กลายมาเป็นศูนย์กลางของการเยี่ยมชมเมือง คณะศึกษาดูงานต่างๆ ต้องมาเริ่มต้นที่นี่ จิระวดีเล่าให้ฟังถึงคณะศึกษาดูงานจากต่างจังหวัดที่แวะเวียนมาเยือนบ่อยครั้ง “เครื่องจ่ายน้ำอัตโนมัติ Refill City ก็ติดตั้งอยู่ที่ CLP ด้วย เพราะที่นี่เป็นจุดศูนย์กลางเมือง อยู่ใกล้กับโรงเรียนเทศบาล 3-4 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ มีสวนสาธารณะ มีโรงละคร เครื่องจ่ายน้ำนี้ตอบวัตถุประสงค์ของ Smart City เลย คือช่วยลดปริมาณขยะ เพราะขยะในเขตเทศบาลค่อนข้างจะล้น น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาของเมืองใหญ่ที่มีประชากรเยอะ เราจะทำอย่างไรให้ปริมาณขวดพลาสติกลดลง เทศบาลเลยเป็นพื้นที่นำร่องในการติดตั้งเครื่อง Refill City เพื่อให้บริการน้ำดื่มกับประชาชน”

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

          ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกๆ กิจกรรมของนครศรีธรรมราช แต่เมืองฉลาดอย่างเดียวไม่ได้ คนต้องฉลาดด้วย เทคโนโลยีไม่ควรทันสมัยเกินระดับที่ผู้คนจะรับรู้และทำความเข้าใจ “ตอนนี้เมืองก็ครึกครื้นด้วยสีสัน จากที่นิ่งเงียบ ตอนกลางคืนประชาชนก็กังวลเรื่องความปลอดภัย เมืองมันสว่าง เราสามารถดูกล้องวงจรปิดได้ด้วย ลดความกังวลลงไปได้มากเลย ถ้าเรามองว่าเมื่อก่อนเราใช้เวลาประมาณเดือนหนึ่งในการติดตามโจรผู้ร้าย ตอนนี้เราใช้เวลาเพียง 4-5 วัน ก็จับได้แล้ว จะทำอย่างไรให้คนเชื่อถือในความฉลาดของเมือง คนฉลาดอยู่แล้ว เราจะขับเคลื่อนเมืองอย่างไรให้ฉลาดไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีฉลาดกว่า มันจะราบรื่น ความกดดันและความกลัวจะลดลง”

ศูนย์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ทุกวันนี้ CLP เป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมสำหรับชาวเมืองนครทุกเพศทุกวัยที่ไม่ได้มุ่งทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสุขภาวะและกิจกรรมส่งเสริมอาชีพอีกด้วย มีการจัดฝึกอบรมด้านการสร้างสื่อประชาสัมพันธ์ ช่องทางทำเงินผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งยังมีห้อง Live ให้พ่อค้าแม่ค้าได้ทดลองฝึกการ Live ขายสินค้า นอกจากเยาวชนโรงเรียนใกล้เคียง ผู้ใช้บริการ CLP ขาประจำ จึงมีกลุ่มผู้สูงอายุเข้ามาจัดกิจกรรมอย่างเต้นลีลาศ เต้นบาสโลบ และมีพ่อค้าแม่ค้าหลากหลายช่วงวัยเข้ามาถ่ายภาพสินค้าเพื่อขายของออนไลน์

          “เราให้บริการฟรี มีห้องมินิสตูดิโอ มีกล่องถ่ายสินค้าจำนวน 10 กล่อง ให้เข้ามาใช้บริการถ่ายรูปสินค้า แล้วเราก็ต่อยอดการประชาสัมพันธ์ด้วยโปรแกรม Canva พอเขาถ่ายรูปเสร็จ ก็สามารถใช้โปรแกรมจากคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่อยู่คู่กับตัวกล่องได้เลย มีเจ้าหน้าที่อุทยานเป็นวิทยากร อบรมเรื่องการใช้งาน ถ้าเขามีช่องทางประชาสัมพันธ์ของเขาเองทาง TikTok, Facebook หรือ YouTube จะดำเนินการเองก็ได้ หรือถ้าอยากจะฝากเราประชาสัมพันธ์ก็ได้เหมือนกัน เทศบาลมีวิทยุชุมชน รถแห่ มีกลุ่มตลาดออนไลน์เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้านำสินค้าท้องถิ่นมาจำหน่าย ทั้งมังคุดคัด ผ้ามัดย้อม ขนมลา เครื่องถม เครื่องเงิน น้ำพริก

          “ถ้าไม่ได้ใช้ห้องสตูดิโอสำหรับ Live ก็สามารถปรับใช้เป็นสตูดิโอถ่ายรูป เป็นกิจกรรมครอบครัวได้ ทีมงานก็จัดหาภาพกราฟิกดีไซน์ อย่างหอไอเฟล ภูเขาไฟฟูจิ ให้เด็กๆ พาพ่อแม่มาถ่ายภาพครอบครัวกัน”

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

          สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับ CLP คือการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ “เรายังมีหน่วยงานที่มาร่วมทำงานกับเรา อย่าง GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) หรือ Goethe-Institut ที่เข้ามาฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หรือดาราศาสตร์ในเรื่องดาวเทียม ภาคพื้นแผนที่ GISTDA ก็จะมีนิทรรศการกึ่งถาวรมาจัด…ในส่วนของกิจกรรมที่เราได้รับการสนับสนุนจาก TK Park ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดเกม หนังสือ นิทรรศการต่างๆ เราก็จะนำมาจัดอีเวนต์ให้เด็กๆ เหมือนกัน เช่นให้เขาเข้ามาชมนิทรรศการแล้วสรุปให้เราฟัง ว่าได้ข้อคิดอะไร นำเอาไปต่อยอดในชีวิตประจำวันของเขาได้ไหม รู้หรือเปล่าว่านิทรรศการแต่ละอย่างมีความน่าสนใจแตกต่างกันไปอย่างไร”

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

          CLP คือ ศูนย์การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ห้องสมุด แต่รวบรวมกิจกรรมและรูปแบบการเรียนรู้หลากรูปแบบ บางที…อาจเป็นภาพสะท้อนความหลากหลายทางสังคมของเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นได้

          แผนอนุรักษ์และการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารกำลังดำเนินต่อไป ในขณะที่คนอีกกลุ่มก็พยายามนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยสื่อความหมายมรดกวัฒนธรรม  วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของผู้คนในพื้นที่ก็ยังคงมีการอนุรักษ์และสืบสาน พร้อมกันกับที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่พยายามฟื้นย่านเก่าและต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กับมรดกวัฒนธรรม

          จึงน่าติดตามดูว่า กิจกรรมใหม่ๆ ของ CLP จะแตกแขนงเป็นอะไรได้อีกบ้างในอนาคตอันใกล้…

เรียนรู้รอบด้านทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ที่อุทยานการเรียนรู้เมืองนครศรีธรรมราช

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก