ว่ากันว่า “เด็กซนคือเด็กฉลาด” แต่ถ้าจะให้ถูกต้องกว่านั้นอาจต้องบอกว่า “เด็กเล่นคือเด็กฉลาด”
งานวิจัยของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาเผยว่า การเล่นของเด็กทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายถึงระดับโมเลกุลและเซลล์ ที่ส่งผลต่อพัฒนาการด้านพฤติกรรม ทำให้เกิดการเรียนรู้ พัฒนาร่างกายและความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวและแก้ปัญหา และฝึกทักษะการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม
แม้จะมีหลักฐานงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนการเล่นของเด็ก แต่การเล่นก็ไม่ได้รับความสำคัญมากพอในระดับนโยบาย เด็กปัจจุบันมีเวลาเล่นน้อยลงกว่ารุ่นที่ผ่านมา ทำให้ขาดโอกาสสำคัญในการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญา
งานวิจัยของ แนวร่วมเรียลเพลย์ (Real Play Coalition) พบว่า แม้จะมีเด็กถึง 92 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าต้องการเวลาเล่นให้มากขึ้น แต่เด็ก 1 ใน 5 ก็ให้เหตุผลว่า ‘ยุ่งเกินกว่าจะมีเวลาเล่น’ โดยเด็ก 1 ใน 5 มีเวลาว่างสำหรับเล่นน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ และราว 20 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั่วโลกในช่วงอายุ 7-12 ปี ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปเล่นข้างนอกคนเดียว ยิ่งไปกว่านั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านชีวิตความเป็นอยู่ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต รวมทั้งยังส่งผลถึงสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีแนวโน้มจะยากจนลง
นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ ‘เมืองเด็กเล่น’ ในปี 2021 อันเป็นความร่วมมือของ 2 หัวเรือใหญ่ คือ แนวร่วมเรียลเพลย์ และอาร์ซิตี้ส์ กับหน่วยงานรัฐและภาคประชาชนของเมืองนั้นๆ
แนวร่วมเรียลเพลย์ คือแนวร่วมไม่แสวงหาผลกำไรที่เกิดขึ้นในปี 2018 ประกอบด้วยหลากหลายองค์กรซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นั่นคือ ยูนิเซฟ (UNICEF), เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic), อารัป (Arup), อิเกีย (IKEA) และมูลนิธิเลโก้ (The LEGO Foundation) รวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องคุณค่าของการ ‘เล่น’ และขับเคลื่อนกลุ่มผู้มีอำนาจในการตัดสินใจพัฒนาเมือง เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นมากขึ้น โดยเจาะไปที่กลุ่มเปราะบางในประเทศที่ยังไม่พัฒนาและพัฒนาแล้ว ซึ่งเป้าหมายใหญ่ในอนาคต คือเด็กกว่า 500 ล้านชีวิตในพื้นที่โครงการจะต้องได้รับประโยชน์จากพลังแห่งการเล่นภายในปี 2025
ส่วนอาร์ซิตี้ส์ หรือ Resilient Cities Network (R-Cities) คือองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อเมืองระดับโลกที่ประสานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และการปฏิบัติที่ดี รวมถึงงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเมือง มีการทำงานร่วมกับนักพัฒนาเมือง เทศบาลเมือง และชุมชน ผู้สนับสนุนคือมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller) และมีสมาชิกกว่า 97 เมือง
องค์กรพันธมิตรรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือชุมชน ออกแบบเมืองที่เป็นมิตรกับการใช้ชีวิตและทำกิจกรรม เพื่อทำให้เมืองมีความพร้อมในการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเมืองที่สนใจเป็นแนวร่วมนั้นมักจะมีความต้องการคล้ายกัน คือเพิ่มพื้นที่สำหรับการเล่น การทำกิจกรรม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีต่อเด็ก เช่น เมืองรอมัลลอฮ์ เบลฟาสต์ ปารีส และแมนเชสเตอร์ เน้นส่งเสริมการเล่นกับพื้นที่ธรรมชาติ เมืองบาร์เซโลนาอยากสร้างให้ทั้งเมืองกลายเป็นพื้นที่สำหรับเล่น ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือเมืองซานฟรานซิสโกก็ได้สร้างมุมสำหรับการเล่นขึ้นบนถนนคนเดิน
หัวใจสำคัญของการสร้างเมืองเด็กเล่น ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
‘โครงการเมืองเด็กเล่น’ มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘โครงการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวของเมืองผ่านการริเริ่มเล่น’ (Strengthening Urban Resilience through Play) เป็นการร่วมมือระหว่าง 7 เมืองทั่วโลก ได้แก่ ฮูสตัน มิลาน เบลฟาสต์ บาร์เซโลนา โกลิมา รอมัลลอฮ์ และทบิลิซี เพื่อส่งเสริมคุณค่าของการเล่นเพื่อสุขภาวะที่ดีของเด็ก พร้อมกับพัฒนาและเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวของเมือง
แต่ละเมืองมีจุดเด่น บริบทของความสนุก หรือความท้าทายที่แตกต่าง และมักจะประสบปัญหาที่เป็นจุดร่วม คือมีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเล่นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีหน้าที่ ‘สร้างพื้นที่เล่นให้เด็กๆ’ โดยตรง หน่วยงานของเมืองจะทำงานร่วมกับโรงเรียน สวนสาธารณะ สถานที่หย่อนใจ หรือพื้นที่เชิงสาธารณสุขเสียมากกว่า มีไม่กี่เมืองที่มีหน่วยงานด้านสังคมและวัฒนธรรมที่จัดกิจกรรมเพื่อเด็กและครอบครัวเป็นประจำ
การสร้างเมืองเด็กเล่นที่ตอบโจทย์ประชาชนเมือง จำเป็นต้องนึกถึง ‘หัวใจสำคัญ’ เหล่านี้
หัวใจสำคัญอันดับแรก คือการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้ปฏิบัติงาน เช่น สถาปนิก นักออกแบบ นักวางแผน ผู้ปกครอง คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กทุกคน ทำงานอย่างไม่แบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ สีผิว เพศ หรือความพิการ ทุกคนมีส่วนร่วมในการบอกเล่าปัญหา แชร์ไอเดีย และออกแบบวิธีแก้ด้วยกัน โดยมุ่งไปที่การวางแผนและออกแบบพื้นที่สำหรับการเล่นให้เหมาะสมกับความต้องการ สิ่งที่สำคัญคือ ทุกคนต้องตระหนักว่าเด็กก็เป็นพลเมืองด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมที่ทำให้เด็กและเยาวชนเชื่อมั่นว่าเสียงของพวกเขาจะถูกรับฟัง
มิลานคือตัวอย่างเมืองที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในเมืองได้อย่างชัดเจน ด้วยการออกแบบ ‘ถนนเด็กเล่น’ ผ่านการระดมความคิด ของบรรดาเด็กๆ คุณครู รวมถึงคนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ทำให้เมือง ‘playable’ หรือเล่นได้ เช่น มีทีมที่คอยออกแบบการเล่นใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปตามบริบท
หัวใจสำคัญลำดับต่อมา คือการวางผังเมืองจากแนวคิดคนในชุมชน
เมื่อสำรวจปัญหาของคนในแต่ละเมือง พบว่า กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขาดพื้นที่เล่นใกล้กับที่อยู่อาศัย และหากต้องเดินทางก็ติดขัดเรื่องการจราจร ขาดขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ นอกจากนี้เด็กจำนวนมากที่เติบโตในเขตเมือง ก็ยังได้รับผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจจากมลพิษทางอากาศและทางเสียง ความแออัด หรือกระทั่งกฎระเบียบที่มากเกินไป
การเพิ่มพื้นที่เล่นอย่างทั่วถึงจึงช่วยแก้ปัญหาหลายประการ เช่น พื้นที่สีเขียวในลานเล่นอาจช่วยลดมลพิษ สร้างสุขภาพจิตที่ดีให้คนในเมือง นอกจากนี้ การมีพื้นที่สำหรับเล่นในชุมชนยังสามารถลดคนที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคมลงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ อ้างอิงจากคำกล่าวของ ไซมอน เฮนเซลล์-โธมัส (Director of Global Public Affairs, Advocacy and Transparency for Ingka Group) ที่มาจากงานวิจัย
การออกแบบพื้นที่สำหรับการเล่นที่ดีจึงต้องทำความเข้าใจชีวิตและอุปสรรคที่คนในแต่ละเมืองเผชิญ ออกแบบให้เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถเล่นร่วมกันได้ เมืองบาร์เซโลนาคือตัวอย่างที่ดี จากการผลักดันเครือข่ายโรงเรียนกว่า 200 แห่งผ่านโปรแกรม Protegim les escoles (แปลว่า มาปกป้องโรงเรียนกันเถอะ) ออกแบบสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้มีพื้นที่โล่งสำหรับการเล่นและพื้นที่สีเขียวให้มากเพื่อคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น ออกมาตรการความปลอดภัยทางการจราจร ให้รถวิ่งได้ช้าลง มีรถน้อยลง ถนนดีขึ้น มีป้ายและไฟถนนมากขึ้น
เมืองรอมัลลอฮ์ เมืองหลวงของปาเลสไตน์ ที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนพื้นที่สาธารณะหรือขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุม เด็กๆ จึงไม่มีโอกาสได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านเสียเท่าไหร่ เมืองจึงเริ่มจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ออกนอกบ้านไปสู่พื้นที่ธรรมชาติ เช่น กิจกรรม Yalla A’ HAdeqa ที่แปลว่า ไปเล่นในสวนกันเถอะ ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนสิทธิในการเล่นและการเข้าถึงพื้นที่สีเขียว โดยมีเด็กกว่า 4,000 คนเข้าร่วมในแต่ละปี หรือการจัดทริปลูกเสือเข้าแคมป์ ที่ประสานงานกับโรงเรียน 18 แห่งในเมืองและกระทรวงศึกษาธิการ
หัวใจสำคัญลำดับสุดท้าย คือการหาทุนเพื่อปรับปรุงพื้นที่สำหรับการเล่น ซึ่งเป็นข้อท้าทายสำคัญ หากไม่มีเงินทุนก็ไม่สามารถสำรวจเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาพื้นที่สำหรับเล่น หรือทดสอบแนวคิดสร้างพื้นที่ทดลองสำหรับการเล่นได้
เมืองต่างๆ จึงระดมไอเดียในการแก้ปัญหานี้ และได้ข้อสรุปว่า อย่างแรกต้องสร้างความเข้าใจให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าที่จะได้รับจากการเล่น ทั้งเรื่องสุขภาพ สุขภาวะ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในชุมชน การเพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคม และเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ เพื่อดึงงบประมาณจากพาร์ตเนอร์ภาคเอกชนที่สนใจ แล้วบูรณาการกับงบประมาณอื่นๆ ของภาครัฐที่มีอยู่ เช่น งบประมาณสำหรับการฟื้นฟูสุขภาพ งบประมาณสำหรับการจัดการกับสภาพภูมิอากาศ
งบประมาณ Seed Funding หรือการลงทุนสำหรับการทดลองวิจัยในระยะเบื้องต้นเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญและจำเป็น เพราะการเล่นต้องอาศัยการทดลองใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าเล่นได้จริง เมื่อมีงานวิจัย ต่อมาจึงต้องทดลองนวัตกรรมว่าเหมาะกับเมืองนั้นๆ หรือไม่
ฮูสตันคือตัวอย่างที่ชัดเจนของการดึงเอาภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมทุนปรับปรุงพื้นที่สาธารณะตามย่านต่างๆ ผ่านโครงการ ‘50/50 พันธมิตรสวนสาธารณะ’ 50 องค์กรภาคธุรกิจดูแลปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ 50 แห่งในเมือง รวมถึงให้ชาวเมืองที่สนใจมาเป็นอาสาสมัครในการดูแลปรับปรุงพื้นที่สาธารณะในละแวกบ้านของตนเอง
ถนนเด็กเล่นในมิลาน ชวนเด็กออกแบบภาพฝันของเมืองในอนาคต
ประชากรมิลานมีจำนวนประมาณ 1.39 ล้านคน มีเด็กและเยาวชนประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร แต่ด้วยข้อจำกัดสำคัญคือการมีความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ประมาณ 7,500 คน/ตารางกิโลเมตร จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีสวนสาธารณะ หรือลานกว้างสำหรับทุกย่านในเมือง
โครงการเมืองเด็กเล่นของมิลานมีจุดเด่นอยู่ที่การมีส่วนร่วมของคนในเมือง จึงเป็นการออกแบบร่วมกันของเหล่าเด็กๆ และครูของโรงเรียนในชุมชน รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น คนในชุมชน พร้อมกับการสนับสนุนของผู้เชี่ยวชาญจากแนวร่วมเรียลเพลย์ เช่น อารัป และมูลนิธิเลโก้
มิลานตัดสินใจว่าจะเริ่มสร้างพื้นที่สำหรับเล่นในย่าน ‘โรโกเรโด (Rogoredo)’ ก่อน เหตุเพราะย่านโรโกเรโดคือย่านที่มีครอบครัวคนรุ่นใหม่ย้ายมาอยู่อาศัยจำนวนมาก และมีประชากรที่อายุน้อยกว่า 18 ปีอยู่ถึง 22 เปอร์เซ็นต์ มีการทำวิจัยเชิงคุณภาพหลายประเด็น เพื่อตอบคำถามว่าจะสร้างพื้นที่สำหรับการเล่นในย่านนี้ และทำให้กลายเป็นที่รู้จักสำหรับทุกคนได้อย่างไร โดยอิงจากฐานะทางเศรษฐกิจของประชากร ปัจจัยทางด้านพื้นที่ รวมไปถึงสภาวะทางการเมืองที่จะส่งผลกระทบต่อการเล่นของเด็กในโรโกเรโด ซึ่งได้ข้อสรุปออกมาว่าจะทดลองทำ ‘ถนนเด็กเล่น’
ถนนเด็กเล่นคือถนนใกล้โรงเรียนที่ปิดการจราจรชั่วคราวในบางช่วงของวัน เพื่อเพิ่มพื้นที่เล่นสำหรับเด็กและคนในชุมชน เป็นสถานที่ปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่างๆ จะขี่จักรยาน วาดรูป เตะบอล หรือแค่ออกมาพบปะพูดคุย ก็สุดแล้วแต่ใจนึก
งบประมาณของโครงการถนนเด็กเล่นมาจากภาครัฐโดยตรง เป็นงบเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะของเมือง และการรณรงค์ให้ผู้คนเห็นคุณค่าของการเล่น ซึ่งเปิดให้ชุมชน ผู้ปกครอง และเด็กๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ออกแบบ และวางแผน
เมืองมิลานได้จัดงานอีเวนต์ ‘ถนนเด็กเล่น’ เพื่อชวนให้ทุกคนมาจินตนาการร่วมกันถึงเมืองในอนาคต โดยผนึกกำลังกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนกว่า 6 องค์กร มีเด็กและผู้ปกครองเข้าร่วมกว่า 700 คน รวมถึงคนในชุมชนอีกกว่า 300 คน ในงานมีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย เช่น ห้องแล็บเลโก้กับกิจกรรมออกแบบเมืองในอนาคต ห้องแล็บเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เวิร์กชอปการเต้นรำ เวิร์กชอปการวาดภาพ เล่นหมากรุก ดนตรี กีฬา และอ่านการ์ตูน
ที่น่าสนใจคือห้องแล็บเลโก้กับกิจกรรมออกแบบเมืองในอนาคต ซึ่งมีกิจกรรมการต่อเลโก้เป็นเมืองตามจินตนาการ เด็กแต่ละคนจะได้รับการ์ดคนละใบที่เขียนธีมต่างๆ ของการออกแบบเมือง และที่ว่างสำหรับขีดเขียนไอเดีย การ์ดใบแรกคือหัวข้อ ‘โรงเรียนในละแวกบ้านฉัน’ การ์ดใบที่สองคือหัวข้อ ‘เมืองสีเขียวที่สวยงามของฉัน’ การ์ดใบที่สามคือ ‘มาเล่นนอกบ้านกันเถอะ!’ และการ์ดใบสุดท้ายคือ ‘ถนนเป็นของพวกเรา!’
เด็กๆ ให้คำตอบที่สร้างสรรค์และหลากหลาย เช่น อยากให้มีเครื่องบินปลอดมลพิษ อยากให้มีโรงเรียนที่เต็มไปด้วยสีสัน พื้นที่สีเขียว และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อยากให้มีถนนที่เต็มไปด้วยสัตว์และพืชที่หลากหลาย มีสระว่ายน้ำ มีที่ให้ซ่อนตัว มีตึกมากมาย และสนามหญ้ากว้างใหญ่
คำตอบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กๆ ก็ตระหนักถึงปัญหาของเมือง และเสนอความคิดเพื่อช่วยแก้ไข การเล่นสามารถเป็นเครื่องมือเพื่อร่วมกันหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้
“ถนนเด็กเล่นเกิดจากการมีส่วนร่วมกันของทุกฝ่าย เด็กๆ ไม่ใช่แค่สนุกกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น แต่ยังมีประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชนในการออกแบบและรับผิดชอบพื้นที่แห่งนี้ นั่นทำให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นพลเมือง และเข้าใจว่าความเป็นพลเมืองสำคัญต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร” ยูจีนิโอ เพตซ์ (Eugenio Petz) ผู้อำนวยการสำนักงานการมีส่วนร่วมเมืองมิลานกล่าว
ฮูสตันระดมทุนจากภาคธุรกิจ ตั้งเป้าสวนสาธารณะที่ ‘ทุกคน’ ต้องเข้าถึงได้
ฮูสตันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในรัฐเท็กซัส และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของสหรัฐอเมริกา มีประชากรประมาณ 2.3 ล้านคน และมีจำนวนเด็กและเยาวชนอยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร มีความหลากหลายทางเชื้อชาติติดอันดับ 9 ของเมืองในสหรัฐอเมริกา และเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดเมืองหนึ่งในรัฐเท็กซัสจากการมีอุตสาหกรรมพลังงานขนาดใหญ่ สถาบันการวิจัยที่มีชื่อเสียง และย่านชุมชนที่เข้มแข็ง แต่ถึงกระนั้นฮูสตันก็ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การไร้ที่อยู่อาศัย จนถึงการจราจรที่ติดขัด
ปัญหาเหล่านี้ไม่รอดพ้นสายตาของหน่วยงานเทศบาล เมืองฮูสตันตั้งเป้าจะเป็นเมืองที่มีความสามารถในการปรับตัวและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต อันเป็นการพัฒนาที่มองไปข้างหน้าในระยะยาว
แต่ฮูสตันก็มีอุปสรรคไม่ต่างจากหลายเมืองทั่วโลก นั่นคือเรื่องของงบประมาณ
ฮูสตันจึงริเริ่มโครงการ ‘50/50 พันธมิตรสวนสาธารณะ’ ซึ่งเป็นความร่วมมือของเมืองฮูสตันและ 50 องค์กรภาคธุรกิจเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงสวนสาธารณะ เส้นทางสีเขียว พื้นที่สาธารณะ 50 แห่งตามแต่ละย่านของเมือง นอกจากนั้นยังร่วมกับชุมชนในการสนับสนุน ระดมความคิด และเป็นอาสาสมัครในละแวกบ้านตัวเองเพิ่มพื้นที่เล่นและพื้นที่สีเขียว สร้างความรู้สึกของการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของเมือง จนทำให้ฮูสตันมีชื่อเสียงระดับประเทศในฐานะผู้นำของการมีพื้นที่สีเขียว
หัวใจสำคัญของโครงการนี้นอกจากการระดมทุนระดมแรงแล้ว คือการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างภาคธุรกิจ ชุมชน และพื้นที่สาธารณะ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองฮูสตันให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ด้วย 3 แนวทางคือ การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้อย่างเสมอภาค การมีส่วนร่วมของชุมชน และความยั่งยืนในระยะยาว
แต่ถึงกระนั้น โอลิเวร่า ยานคอฟสก้า (Olivera Jankovska) ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาสำนักงานนายกเทศมนตรีเมืองฮูสตัน ก็เล่าว่า ชาวฮูสตันที่ยากจนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมการเล่นต่างๆ ได้มากพอ เมืองจึงได้ทำแคมเปญ ‘ออกไปเรียนรู้ (Out 2 Learn)’ ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรในการทำฐานข้อมูลรวบรวมทุกกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และทำให้ง่ายต่อการค้นหากิจกรรมที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละคน
ลำดับที่สองคือการทำโครงการ ‘รับดูแลสวนสาธารณะ (Adopt a Park)’ ซึ่งหมายรวมถึงลานกว้าง สนามกีฬา ทางเดิน หรือห้องสมุด โดยส่งมอบพื้นที่ให้อาสาสมัครในชุมชนช่วยดูแล ปลูกต้นไม้ ซ่อมแซมอุปกรณ์ เครื่องใช้ รวมถึงจัดกิจกรรมการเล่นในรูปแบบต่างๆ
“มีตั้งแต่งานเล็กๆ น้อยๆ เช่น การจัดกิจกรรมในชุมชน จนไปถึงงานใหญ่ เช่น การช่วยปรับปรุงสวนสาธารณะทั้งหมดเพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน” ยานคอฟสก้าเล่า
แม้ยังไม่มีการเก็บผลสถิติเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพกายและจิตของเด็กและเยาวชนอย่างเป็นทางการ แต่ยานคอฟสก้าก็เล่าว่าได้รับผลตอบรับที่ดี และทั้งเมืองกำลังมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันเพื่อเสริมสร้างคุณค่าการเล่นให้แก่เด็กและเยาวชน
“เรารู้สึกภูมิใจที่เป็นผู้นำในการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับเด็กและชุมชนผ่านการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ โครงการ 50/50 พันธมิตรสวนสาธารณะ ดำเนินการไปพร้อมกับที่เราดำเนินโครงการยูนิเซฟเป็นมิตรต่อเด็ก (UNICEF Child Friendly) เป็นแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาเมื่อสองปีก่อน ซึ่งเป็นโครงการที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนชีวิตของเยาวชนหลากหลายพื้นเพภูมิหลัง แผนปฏิบัติการของเรามุ่งเน้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพจิตของเยาวชน การเข้าถึงสวนสาธารณะ และการเล่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนในการพัฒนาและเรียนรู้” ยานคอฟสก้ากล่าว
เราจะเห็นได้ว่าแต่ละเมืองมีปัญหาและข้อจำกัดเฉพาะแตกต่างกันไป จึงมีวิธีการออกแบบนโยบายและการสร้างพื้นที่เล่นที่ไม่เหมือนกัน
มิลานนั้นได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง หายห่วงเรื่องงบประมาณ แต่ก็ต้องสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนให้ได้ เกิดเป็นถนนเด็กเล่นที่ผู้คนมากมายมีส่วนร่วม และข้อท้าทายนี้ก็ยังต้องปรับตามบริบทของเมืองและโลกที่ผันผวนต่อไป
ส่วนฮูสตันนั้นติดขัดเรื่องงบประมาณ ต้องดึงภาคธุรกิจเข้ามาช่วยจากการระดมทุน บริษัทเองก็เหมือนได้ทำ CSR (Corporate Social Responsibility) สร้างภาพลักษณ์ที่ดีไปด้วย รวมถึงการระดมแรงงานจากอาสาสมัครในชุมชน ซึ่งทำให้ชุมชนเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ ส่งผลให้ฮูสตันมีพื้นที่สีเขียวติดอันดับท็อปของประเทศ
ยังมีเมืองต้นแบบในโครงการของเรียลเพลย์อีกมากมายที่มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันดังที่ยกตัวอย่างข้างต้น รวมถึงเมืองทั่วโลกที่ต้องปฏิบัติภารกิจยึดคืนพื้นที่เล่นมาให้เด็กๆ เพราะถึงแม้ว่าเป้าหมายจะเป็นเยาวชน แต่การลงทุนในการเล่นจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใหญ่และระบบนิเวศของเมืองทั้งหมด
ดังนั้นการที่เราจะสามารถออกแบบเมืองที่เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สำหรับการเล่น สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การทำตามเมืองไหนๆ แต่คือการรับฟังเสียงของเมือง และเสียงผู้คนในเมืองเสียก่อน (แน่นอนว่าเสียงของเด็กๆ สำคัญมาก!) ว่าพวกเขาต้องการพื้นที่แบบไหน มีปัญหาอย่างไร เพื่อออกแบบเมืองที่เป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง
ที่มา
บทความ “WHAT IS 50/50 PARK PARTNERS?” จาก houstonparksboard.org (Online)
บทความ “Activating Play in Rogoredo, Milan” จาก arup.com (Online)
บทความ “Houston ranked 9th most ethnically diverse large city in the US: report” จาก fox26houston.com (Online)
บทความ “Houston, Texas Population 2023” จาก worldpopulationreview.com (Online)
บทความ “Houston’s Resilience Journey” จาก resilientcitiesnetwork.org (Online)
บทความ “MILAN AT MCR2030: TRANSFORMING STREETS WITH TACTICAL URBANISM” จาก wired.com (Online)
บทความ “Reclaiming Play in Cities” จาก arup.com (Online)
บทความ “Strengthening Urban Resilience through Play” จาก arup.com (Online)