ช่วงใกล้เรียนจบปริญญาเอก อันที่จริงเรามีที่ทางที่ต้องไปใช้ทุนที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความบังเอิญหรือโชคชะตาก็สุดแท้แต่ ทำให้ต้องมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานแบบนับหนึ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตอนสัมภาษณ์งาน คณบดีถามว่าสอนวิชาพลเมืองได้ไหม เราก็ตอบไปทันทีว่า วิชาที่สอนให้คนเป็นคนดีน่ะเหรอ เพราะส่วนตัวเรียนปรัชญามาด้วย เลยไม่ได้ให้คุณค่าในคำว่าดี เพราะไม่รู้ว่าคำว่าคนดี หรือความดีของแต่ละคนมีบรรทัดฐานอย่างไร
สุดท้ายแล้ว เราก็กลายร่างมาเป็นคนออกแบบวิชาการเป็นพลเมือง เพื่อไม่ให้นักศึกษาเข้าใจผิดไปว่า เราเป็นพวกนิยมชมชอบและบูชาในคุณงามความดีของมนุษย์ เลยเขียนหลักสูตรให้ออกแนวอินเตอร์หน่อย เอาเรื่องราวจากต่างประเทศมาเล่าสู่กันฟัง จากการเรียนเรื่องพลเมืองเลยกลายเป็นเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ เพศสภาพ ความหลากหลายทางศาสนา การจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การจัดการกับความเครียด ความยั่งยืน ฯลฯ เอาเป็นว่า ถ้าใครได้มาเห็นหลักสูตรยานแม่ของเราแล้วก็คงปวดหัว เพราะมันเป็นการเรียนรู้หลายๆ เรื่องที่ไปไม่สุดสักทาง
ปีนี้ก็เป็นปีที่ 6 แล้วที่ทำการเรียนการสอนในวิชานี้ สิ่งที่ค้นพบคือ วิชานี้ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการจัดการความรู้สึก – อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของตนเอง (ยืนยันว่ามันมีความรู้สึกนี้จริงๆ คือมีทั้งทุกข์และสุขสำหรับการสอนวิชานี้)
ในปีแรก นอกเหนือไปจากการเรียนในห้องเรียน เราก็ไปได้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์สารคดีมา เลยเกิดเป็นไอเดียไปจ้างเขาทำไอศกรีมรสชาติเป็นชื่อภาพยนตร์ คิดรสเองด้วย ฉายหนังไปก็ให้นักศึกษาขายไอศกรีมไป
ปีที่สอง เริ่มมีนักศึกษาจากนอกคณะมาเรียนด้วย เราก็พาไปบ้านเตื่อมฝัน ซึ่งเป็นบ้านเพื่อนคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ นักศึกษาเดินทางกันไปร้อยกว่าชีวิต อัดแน่นไปในบ้านเตื่อมฝัน มีพี่ที่เคยเป็นคนไร้บ้านมาเล่าเรื่องราวชีวิต ตอนแรกก่อนเดินทาง เราบอกนักศึกษาว่าให้สะสมขยะไว้ เอาไปให้พี่ๆ เขาไปขายต่อ เช่นพวกกระดาษ ขวดพลาสติก ปรากฏว่านักศึกษาต่างคณะไม่มีที่ไว้ขยะ เพราะคาบเรียนเราเรียนตอนบ่าย เลยบอกให้มาฝากเราไว้ที่ห้องทำงานได้ มาถึงห้องทำงานแทบเป็นลม ถุงดำกองเต็มหน้าห้อง ต้องบริการนักศึกษาด้วยการเอาถุงดำลงไปไว้ที่รถแดง ปรากฏถุงดันขาด มีน้ำเหม็นๆ ไหลเยิ้มออกมาด้วย
ตอนไปทำกิจกรรมร่วมกัน เราก็ไม่รู้หรอกว่านักศึกษาเขาได้อะไร แต่เพราะวิชานี้เรามีไดอารีแจกให้คนละ 1 เล่ม โจทย์คืออยากเขียนอะไรก็เขียนไป จะสุภาพหยาบคาย เอาที่สบายใจเลย เราเลยได้รู้ความคิดเห็นของนักศึกษา ในฐานะที่ต้องคงไว้ซึ่งจรรยาบรรณการสอน เราคงมาเขียนเอาไว้ไม่ได้ถึงเรื่องที่นักศึกษาเขียนในไดอารีว่าอะไรบ้าง แต่จะบอกว่าตอนที่อ่านไดอารีไปทีละคน ทำให้เรารู้สึกว่าโชคดีอะไรขนาดนี้ที่ได้รู้เรื่องราวชีวิตของคนอื่นจำนวนมาก และในที่สุดแล้ว เราก็เริ่มเห็นอกเห็นใจนักศึกษามากขึ้น เป็นเพราะข้อความในไดอารีทั้งหลายนี่แหละ
พอมาปีที่สาม เริ่มอยากลองอะไรใหม่ๆ เลยเอาคนทำสตาร์ทอัปมาสอน Design Thinking ให้นักศึกษาออกแบบกระเป๋าในห้องเรียน โดยมีเงื่อนไขว่าให้ออกแบบให้เพื่อน ไม่ใช่ให้ตัวเอง และทดลองผลิตกระเป๋าจริงๆ เราชอบกิจกรรมนี้มาก เพราะได้เห็นกระเป๋าทะลุมิติชนิดเหนือจินตนาการจำนวนไม่น้อย นักศึกษาคนหนึ่งออกแบบกระเป๋าที่เมื่อเอามือล้วงเข้าไป จะพ่นเอาความเย็นออกมาเหมือนเครื่องปรับอากาศ ถามเขาว่าทำไปทำไม เขาบอกเดินไปโน่นมานี่ เหงื่อออกรักแร้ ถ้ามีเครื่องทำความเย็น รักแร้เขาจะได้ไม่เปียกอีกต่อไป
ปีที่สี่ ถือเป็นโจทย์ที่ยากที่สุดในชีวิตการสอน เพราะแต่เดิม เราสอน 2 ชั้นเรียน จำนวนประมาณ 300 คน แต่พอขึ้นปีที่ 4 ต้องสอนวิชานี้ให้กับทั้งมหาวิทยาลัย 8,000 คนต่อปี เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับโควิด-19 เราถึงกับเดินทางไปพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยบอกว่าขอเลื่อนสอนวิชานี้ออกไปก่อนสัก 1 ภาคเรียน เพราะเราไม่พร้อมจริงๆ แต่ผู้บริหารก็บอกว่าให้ปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ให้ได้ ตอนแรกก็คิดว่าทำไมได้ แต่สุดท้าย ก็ต้องทำให้ได้ เราเอาทีมอาจารย์พิเศษมาช่วยสอน อัดคลิปบรรยาย และให้นักศึกษาทำกิจกรรมกลุ่มออนไลน์
ปีนี้เป็นปีที่มงคลมากจริงๆ เพราะพอให้ทำกิจกรรมกลุ่ม ก็เกิดปรากฏการณ์ทัวร์ลงทันที ทั้งเรื่องเกณฑ์การให้คะแนน ความยากลำบากในการทำงานร่วมกันออนไลน์ จนมีคนไปเขียนรีวิวว่าเป็นวิชาที่คนทั้งมหาวิทยาลัยเกลียด ยอมรับเลยว่าเซ็งมาก ตอนอ่านรีวิว แต่ทำไงได้ ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
พอขึ้นเทอม 2 เราเลยตัดกิจกรรมงานกลุ่มออก ทีนี้ก็ให้ทำไปเลยงานเดี่ยว งานเดี่ยว งานเดี่ยว งานเดี่ยว (เขียน 4 ครั้ง เพราะให้ทำ 4 งาน) เราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบตัวเอง จบ ผลก็คือแรงต้านน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไปบอกต่อว่าข้อสอบยากมาก ออกละเอียด ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้จะแก้ยังไงเพราะออกตามบทเรียนแบบไม่มีเกินเลย
ปีนี้เราผลิตสารคดีออกมา แล้วนำมาใช้เป็นบทเรียนให้นักศึกษา เป็นสารคดีที่เราไปสัมภาษณ์คนในจังหวัดเชียงใหม่ ตอนทำสารคดีสนุกมากๆ ไปสัมภาษณ์กลุ่มผู้ใช้แรงงาน สัมภาษณ์คนทำงานกลางคืน ทายาทแหนมป้าย่น จุ๋ย จุ๋ยส์ (ศิลปินที่ร้องเพลง “อย่าขี้โม้” ซึ่งเราชอบมาก) ถ้าใครเกิดทันรายการพี่ต๋อย ไตรภพ ก็คือใช่เลยค่ะ รายการฝันที่เป็นจริง เราเรียนรัฐศาสตร์มาแต่ได้มาทำหนังสารคดีเรื่องแรก เหมือนพี่ต๋อย ไตรภพ ถือรถเข็นมามอบให้เรากลางรายการยังไงยังงั้น
พอปีที่ห้า เราทำสารคดีออกมาอีก 1 เรื่อง เกี่ยวกับเมืองและผู้พิการ เอามาให้นักศึกษาดู (มุกเดิม) มีคนรีวิวว่าดูแล้วร้องไห้ นักศึกษาต่างชาติดูแล้วฮึกเหิม จะขอบริจาคเงินให้เราไปหาผู้รับเหมามาถมถนนให้เรียบเพื่อให้ผู้พิการเดินทางได้สะดวก มีความคิดเห็นแบบนี้ก็ดีใจว่าเขาได้ดูงานเราแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อมาสารคดีเรื่องนี้ได้ไปฉายที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา (น่าเสียดายจริงๆ ที่ได้ไปแต่หนัง แต่เราไม่ได้ไปด้วย) นักศึกษาที่อยู่ในสารคดีบอกว่าเวลาไปไหนบางทีก็มีคนมาทักว่าใช่คนที่อยู่ในสารคดีเรื่องนี้ไหม
ในขณะเดียวกัน วิชานี้ก็ยังคงได้รับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้ เราให้ดูภาพยนตร์ที่เข้าชิงออสการ์เรื่องหนึ่งแล้วให้เขียนข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์ ปรากฏว่าทัวร์ลงบนโลกออนไลน์ เพราะนักศึกษาบางคนดูแล้วเครียด พอจะเก็บคะแนนเราเลยบอกเอายังงี้นะ ใครมีความเครียดไม่ต้องดู ให้ไปดูโดราเอมอนมาซัก 2 ตอนแล้วเขียนสรุปแทน คนอื่นอาจจะคิดว่าเราประชด แต่ไม่เลย เพราะเราไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงเพราะต้องเก็บคะแนนเหมือนกัน เลยให้เขาดูเรื่องที่เขาจะไม่เครียดแล้วได้สาระด้วย เลยคิดว่าโดราเอมอนเหมาะสมแล้ว (อย่างน้อยก็สำหรับเรา)
ปีที่หก ถ้ายังเรียนหนังสืออยู่ แปลว่าเรากำลังเรียนปีสุดท้ายของคณะแพทยศาสตร์ จะว่าไปชีวิตการทำงานของเราก็เติบโตไปพร้อมๆ กับวิชานี้ ปีนี้มีเพิ่มเติมคือมีผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมาเรียนด้วย เราเลยได้ลูกศิษย์รุ่นเยาว์เพิ่มขึ้นมาอีกกว่าร้อยชีวิต นักเรียนกลุ่มนี้ เราเชิญมาร่วมกิจกรรมกับทางคณะอยู่เป็นระยะ หรือเวลามีงานนอกอะไรที่ให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมได้ เราก็จะเชิญเข้าร่วม กลายเป็นว่าพวกเขาเลยคุ้นเคยกับคณะ กับพี่ๆ นักศึกษา และเอาเข้าจริงๆ แล้วเหมือนเขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรายังไงไม่รู้ มีนักเรียนที่เคยเรียนวิชานี้ ต่อมาถูกรถชนเสียชีวิต คณบดี (ผู้สอนวิชาเดียวกันกับเรา) พอทราบข่าวก็ร้องไห้โฮเลย เราเองก็หวังว่าจะไม่มีข่าวเศร้าหลังจากนี้อีก
เราพบว่าเราได้เรียนรู้อะไรเยอะมากจากการสอนวิชานี้ เราหัดทำสารคดี ทำหนังสือเสียงเอาลงเป็นพอดแคสต์เพื่อให้น้องๆ เพื่อนผู้พิการทางสายตาได้อ่านหนังสือเรียนที่เราเขียนผ่านการฟัง ตอนจบภาคการศึกษา มีน้องนักศึกษาผู้พิการทางสายตาพิมพ์ไลน์มาขอบคุณแบบยาวมาก บอกว่าขอบคุณที่เข้าใจในข้อจำกัดของเขา ทำให้เขาสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้เหมือนคนอื่นๆ และอยากให้วิชาอื่นเป็นแบบนี้ด้วยเช่นกัน (อ่านแล้วปลื้ม) เราพบว่าเราได้เรียนรู้ที่จะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความอดทนมากขึ้นกับชีวิต เพราะยังไงเราก็จะต้องเตรียมพร้อมกับก้อนอิฐที่เข้ามาเป็นระยะ
หลายคนยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเรียนวิชานี้ มันมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งเราก็เข้าใจนะ เราก็ทำหน้าที่ของเรา วิชานี้เราพูดเรื่องการลงทุน พูดเรื่องฟรีแกน เรื่องมินิมอลลิสต์ ก็คิดเอาเองว่าไม่ประเด็นใดก็ประเด็นหนึ่งต้องถูกจริตกับนักศึกษา (สักเรื่องแหละน่า) มันอยู่ที่มุมมองของเขาแล้วล่ะว่าเขาคิดยังไงและมีการจัดการต่อความคิดอย่างไร เราบอกเสมอว่าถ้าหากวิชานี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกคุณ ให้ส่งเรื่องร้องเรียนไปมหาวิทยาลัยให้ยกเลิกวิชานี้ซะ เราแฟร์พอและรับได้กับคำพิพากษา แต่วันนั้นมันก็ยังไม่มาถึง
สรุปว่า วิชาพลเมือง มันก็ไม่ได้เลวร้ายและน่ากลัวอย่างที่เราเคยคิดนะ