ยล 2 ร้านหนังสือโลกต้องจำ ผลงานของ ชู เชี่ย-คัง นักฝันผู้โหยหาอดีต

519 views
9 mins
March 9, 2021

          การเติบโตขึ้นของเนื้อหาออนไลน์และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลสะเทือนต่อร้านหนังสือทั่วโลกจนล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ทว่าก็ยังมีร้านหนังสือหลายแห่งทยอยเปิดตัวและได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ ร้านเหล่านี้มิได้เป็นเพียงร้านค้าที่วางขายหนังสือ แต่ยังได้รับการออกแบบอย่างละเมียดละไมให้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้เป็นจุดขายของร้าน

          ตามไปชมผลงานของ ชู เชี่ย-คัง (Chu Chih-Kang) นักออกแบบหนุ่มชาวไต้หวัน ผู้หลงใหลการออกแบบร้านหนังสือ และกวาดรางวัลระดับนานาชาติมากมายจากผลงานการออกแบบร้านหนังสือ 2 แห่ง ที่แหวกแนวและสวยที่สุดในโลก

          ชู เชี่ย-คัง อยากเป็นศิลปินมาตั้งแต่เด็ก เขาเรียนจบด้านจิตรกรรมจีนจากมหาวิทยาลัยนานาชาติไต้หวัน (National Taiwan University of Arts) แต่เมื่อได้เป็นศิลปินแล้วกลับพบว่าไม่สามารถพบความหมายในสิ่งที่ทำ และไม่มีเป้าหมายหรือคำตอบที่ชัดเจน หลังจากศึกษาต่อด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และสถาปัตยกรรมจนจบ เขาได้ก่อตั้งบริษัท Chu Chih-Kang Space Design มีสำนักงานที่เซี่ยงไฮ้และเกาสง ผลงานการออกแบบของเขามีหลากหลาย ทั้งอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัย นิทรรศการ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

“ตั้งแต่ยังเด็ก ผมชอบการวาดรูปและชอบการตั้งคำถาม จนถึงวันนี้ผมก็ยังชอบตั้งคำถามและพยายามหาทางแก้มัน สำหรับผม นักออกแบบคือคนที่สามารถแก้ปัญหาในชีวิต”

          ชู มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในปรัชญาและวัฒนธรรมของจีน ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ในงานของเขา

“จิตรกรรมจีนโบราณให้ความสำคัญมากกับเรื่องที่ว่าง รวมทั้งความเชื่อมโยงของความทรงจำและประวัติศาสตร์ อาจเป็นความสัมพันธ์กับบรรพบุรุษหรือจักรวาลเบื้องบน ผมคิดว่าผลงานทุกชิ้นของผมดำเนินเรื่องราวผ่านความทรงจำ”

          เขามีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้าที่อยากจะออกแบบร้านหนังสือ เวลาผ่านไป 14 ปี เขาถูกเชิญชวนให้ออกแบบร้านหนังสือใต้ดินที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่มีวันปฏิเสธ ชู มองว่าการได้ออกแบบร้านหนังสือเป็นความสำเร็จอย่างสูงสุดของชีวิต และหากยังมีฝันใดที่ยังอยากทำอีก คงจะเป็นการออกแบบวัดหรือโบสถ์

ชู เชี่ย-คัง (Chu Chih-Kang)
ชู เชี่ย-คัง (Chu Chih-Kang)
Photo: Kuo-Min Lee

ขุมทรัพย์ ‘ความรู้’ สู่ ‘ความไม่รู้’ อันกว้างใหญ่ไพศาล

          การออกแบบร้านหนังสือเริ่มต้นด้วยการนิยามว่านครเฉิงตูเป็นอย่างไร โดยการศึกษาทั้งด้านประวัติศาสตร์ พื้นที่โดยรอบ และความเป็นอยู่ของผู้คน ทีมงานของ ชู เชี่ย-คัง พบว่า ใกล้กับบริเวณที่จะสร้างร้านหนังสือเป็นที่ตั้งของ วัดต้าสือ (Daci Temple) ซึ่งสมณะเสวียนจั้ง (หรือที่รู้จักกันในนวนิยายว่าพระถังซัมจั๋ง) เคยจำวัดอยู่ก่อนจาริกไปยังอินเดีย ในละแวกเดียวกันยังมีการค้นพบ “หอพระคัมภีร์ลับ” เก่าแก่นับร้อยปีใต้วัดหลายแห่ง

          ข้อมูลจากการสำรวจกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ ชู ออกแบบ ร้านหนังสือฟังสั่ว (Fangsuo Bookstore) ที่ดูเคร่งขรึมไว้ใต้ดิน เพื่อสื่อถึงมรดกทางปัญญาอันลึกซึ้งของมนุษยชาติที่ถูกซ่อนเร้น เขาเชื่อว่าจากพื้นฐานของโลกแห่งความรู้ มนุษย์จะออกแสวงหาสิ่งที่ไม่รู้ในภายภาคหน้า และเขาต้องการให้ลูกค้าทุกคนร่วมเดินทางไปกับเขา

          ร้านหนังสือแห่งนี้เต็มไปด้วยจินตนาการเรื่องจักรวาลที่กว้างใหญ่ ทางเข้าร้านหนังสือเป็นบันไดเลื่อนที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์ของประติมากรรมยักษ์รูปร่างเหมือนก้อนอุกกาบาต ชู จงใจออกแบบให้ผู้เยี่ยมชมเกิดความรู้สึกคับแคบและถูกจำกัด คล้ายกับอาการกลัวที่แคบ (claustrophobia) ก่อนที่จะทะลุไปยังพื้นที่โล่งกว้าง ซึ่งจะสัมผัสได้ทันทีว่าความกดดันมลายหายไป โถงใต้ดินใหญ่จนน่าตื่นตะลึงมีพื้นที่ 3,580 ตารางเมตร สูงถึง 100 เมตร เสาคอนกรีตและผนังปูนเปลือยช่วยสร้างบรรยากาศให้รู้สึกเหมือนถ้ำ

          เขายังต้องการให้ร้านหนังสือแห่งนี้สะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวเสฉวน พวกเขามีวิถีชีวิตที่เนิบช้า ผ่อนคลาย และชอบเข้าสังคม ในมณฑลเสฉวนมีพื้นที่ที่คนสามารถนอนคุดคู้อ่านหนังสือ หรือร้านกาแฟสำหรับนัดเจอเพื่อนฝูง กระจายอยู่หลายแห่ง

          ชู เชี่ย-คัง เป็นทั้งนักฝันและคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ (perfectionist) ทำให้กระบวนการทำงานเต็มไปด้วยความท้าทาย เรื่องยากที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าที่เดินเข้ามายังร้านหนังสือสัมผัสประสบการณ์ทางอารมณ์อย่างที่เขาต้องการจริงๆ การออกแบบร้านหนังสือตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการกินเวลาถึง 14 เดือน มีการปรับการออกแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกเกือบ 50 ครั้ง ชู ลงทุนแรงงานและทรัพยากรเกือบ 4 เท่าเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ

          เมื่อเปิดให้บริการในปี 2558 ร้านหนังสือฟังสั่วสร้างชื่อเสียงให้ ชู เชี่ย-คัง มันเป็นหนึ่งในร้านหนังสือที่ถูกกล่าวขานว่าสวยที่สุดในโลก และได้รับรางวัลการออกแบบในเวทีนานาชาตินับสิบรางวัล          

          ชู เอ่ยถึงสุภาษิตจีนที่เขายึดมั่นเสมอว่า

“ไม่มีความพยายามใดไร้ค่า เมื่อคนเราไม่กลัวความเหนื่อยยาก และทุ่มแบบหมดหน้าตักเพื่อบางสิ่ง”

จิตวิญญาณการอ่านกลับสว่างไสว ในร้านหนังสืออันมืดมิด

          หลังจากการออกแบบร้านหนังสือฟังสั่วที่ประเทศจีน ในปี 2560 ชู เชี่ย-คัง ได้กลับมาออกแบบร้านหนังสือที่ตัวเขาเองเป็นเจ้าของ ร้านตั้งอยู่ภายในศูนย์ศิลปะท่าเรือเกาสง-2 (Kaohsiung’s Pier-2 Art Center) โกดังเก่าซึ่งถูกแปลงโฉมเป็นศูนย์รวมความสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของไต้หวัน

          ร้านหนังสืออู๋กวัน (Wuguan Books) มีความหมายว่า “ไม่มีอะไรกระทำต่อสิ่งใดหรือผู้ใดทั้งสิ้น” สโลแกนของร้านคือ “จิตวิญญาณแห่งการอ่าน” ทางเข้าร้านตกแต่งด้วยม่านสีขาวและดอกไม้สีขาว โดยมีกองหนังสืออยู่ตรงกลาง ดูเหมือนงานศพ เขาต้องการสร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าชมไม่ว่ามาจากวัฒนธรรมใด สามารถสัมผัสถึงความโดดเดี่ยวและเปิดกว้างความคิดไปสู่จินตนาการ

          การอ่านหนังสือกับความมืดเป็นสองสิ่งที่ไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่ร้านอู๋กวันกลับถูกออกแบบให้ปกคลุมด้วยความมืด แสงไฟสลัวส่องกระทบปกหนังสือบนแท่นวาง ดูหลอกตาเหมือนว่าหนังสือจำนวนมากลอยได้ ลูกค้าสามารถมองเห็นทางเดินได้เพียงลางๆ ร้านมีกติกาห้ามใช้ไฟฉายหรือแสงจากหน้าจอมือถือเด็ดขาด

          ชู กล่าวว่าเขาต้องการสร้างประสบการณ์เพื่อนำทางไปสู่การค้นหาขุมสมบัติ ภายในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระ คนเราสามารถเป็นตัวของตัวเองและพบกับหนังสือที่ไม่คิดว่าจะอ่านมาก่อน โดยร้านเตรียมโต๊ะพร้อมโคมไฟให้ผู้อ่านได้ใช้เวลากับหนังสืออย่างเต็มที่

“มันไม่ได้เป็นเรื่องของความมืด ทว่าแสงสว่างในความมืดนำไปสู่ปัญญา นี่เป็นความเข้าใจชีวิตแบบเต๋า …ในฐานะมนุษยชาติ เรามีทั้งด้านสว่างและด้านมืด และนั่นทำให้จิตวิญญาณสมบูรณ์”

          บรรยากาศในร้านหนังสือเงียบกริบ พรมหนา 3 นิ้ว ช่วยดูดซับเสียงฝีเท้า กลิ่นหอมอ่อนๆ ลอยมาจากโต๊ะจำหน่ายสินค้าซึ่งจัดวางอย่างชวนมอง พื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นมุมกาแฟ ให้บริการเครื่องดื่มที่มีกลิ่นเหมือนกาแฟแต่รสชาติเหมือนน้ำเปล่า เพื่อตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของสรรพสิ่ง

          ในวัยเด็ก ชู เชี่ย-คัง มีความบกพร่องในการอ่านและการเขียน (dyslexia) ทำให้เขาไม่ชอบอ่านหนังสือให้ใครเห็น แต่ต้องแอบฉายไฟอ่านใต้ผ้าห่ม ความมืดของร้านหนังสืออู๋กวันที่อำพรางใบหน้าของผู้อ่าน จึงเป็นส่วนเติมเต็มวัยเด็กของเขา

“ผมชอบใช้เวลากับการทำความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ ขนบธรรมเนียม จิตวิทยา การกระทำของคนเมื่ออยู่ในความมืด และความสัมพันธ์ของพวกเขากับความมืด มันมิใช่อะไรเลยเป็นแต่เพียงภาวะที่ปราศจากแสง”

          ชู ตั้งข้อสังเกตว่าร้านหนังสือหรือห้องสมุดมักวางหนังสือเป็นกลุ่มหรือมีการจัดหมวดหมู่ ซึ่งกลับลดเสน่ห์ของหนังสือ ในร้านอู๋กวันหนังสือเกือบ 400 เล่ม ถูกวางโชว์ปกในความมืด โดยมีแสงไฟนำสายตาให้จดจ่อกับทรัพยากรการอ่าน ประเภทหนังสือเน้นเรื่องความเป็นมนุษย์และมีกลิ่นอายของการถวิลหาอดีต ครอบคลุมเรื่องจิตวิทยา การดูแลสุขภาพ กามารมณ์ ความทรงจำ และการบำบัด

          ใช่ว่าร้านหนังสืออู๋กวันจะมีบุคลิกที่น่ากลัวหรือเคร่งขรึมไปเสียทั้งหมด หน้าร้านมีป้ายเขียนกฎทีเล่นทีจริงไว้ว่า “ห้ามตะโกนหากมีใครเหยียบเท้าคุณ แต่ให้เหยียบเท้าเขาคืน” หรือ “หากมีใครต้องการหนังสือเล่มเดียวกับคุณ จงยกหนังสือให้เขาไป หรือไม่ก็ให้เบอร์โทร”

          ครึ่งปีแรกที่ร้านหนังสือเปิดให้บริการ ผู้คนไม่เข้าใจความหมายที่ ชู เชี่ย-คัง ต้องการจะสื่อ ลูกค้าหลายคนเดินเข้ามาในร้านแล้วรีบเดินออกไปเพราะกลัวถูกขโมยของ ในเวลาต่อมาจึงเริ่มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและกลุ่มคนรุ่นใหม่ แม้ว่าจะไม่สามารถถ่ายรูปเช็คอินเพื่อนำไปแชร์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ก็ตาม

          ร้านหนังสืออู๋กวันได้รับรางวัล Golden Pin Design Award ของไต้หวัน และ German Design Awards สำหรับนวัตกรรมสถาปัตยกรรม และถูกยกให้เป็นหนึ่งในร้านที่คนรักหนังสือควรไปเยือนก่อนตาย


ที่มา

A Personal Touch: Chu Chih Kang [Online]

CHU CHIH-KANG: LEGENDARY INTERVIEW [Online]

Fangsuo Bookstore in Chengdu [Online]

Wuguan Books, Taiwan. The illusion of books that appear to be floating [Online]

Cover Photo: Kuo-Min Lee

Photo: Kuo-Min Lee

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก