Choice Reading สร้างนิสัยรักการอ่าน ด้วยการให้เด็กเลือกหนังสืออ่านเอง

1,501 views
8 mins
May 3, 2021

          ‘Choice Reading’ หรือการเลือกหนังสืออ่านเอง เป็นแนวทางส่งเสริมการอ่านที่กำลังได้รับความนิยมในโลกการศึกษา มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า การให้เด็กนักเรียนได้เลือกหนังสืออ่านเอง จะช่วยสร้างนิสัยรักการอ่าน ทำให้พวกเขามีทักษะทางภาษาและผลการเรียนดีขึ้น และเป็นการปูทางสร้างนักอ่านที่ดีในระยะยาว

          แนวทางดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับ ‘การอ่านแบบอิสระ’ (Independent Reading) เป็นกิจกรรมที่เด็กๆ จะได้เลือกอ่านเนื้อหาในรูปแบบต่างๆ จากหนังสือ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ด้วยตัวเอง โดยพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้น้อยที่สุด ต่างจากแนวทางเดิมอย่าง ‘การอ่านยกชั้น’ (Whole-Class Novel) ที่มอบหมายให้นักเรียนได้อ่านหนังสือเล่มเดียวกันทั้งชั้นเรียน

          สมาคมการอ่านเขียนเรียนรู้นานาชาติ (International Literacy Association : ILA) ได้เผยแพร่ สิทธิ 10 ประการของเด็กในการอ่าน ที่ขยายความมาจาก สิทธิเด็ก ระบุว่า “เด็กมีสิทธิในการเลือกอ่านหนังสือ” เพราะการได้เลือกหนังสืออ่านเองจะช่วยให้เขาเป็นคนกล้าคิดกล้าตัดสินใจ รู้จักพินิจพิเคราะห์ ปลูกฝังพฤติกรรมการอ่าน และพัฒนาทักษะทางภาษา

ประโยชน์ 4 ประการของการให้เด็กเลือกหนังสืออ่านเอง

1. สร้างนิสัยรักการอ่าน

          รายงานของ Scholastic ปี 2015 ระบุว่า 91% ของเด็กอายุ 6-17 ปี ยอมรับว่า “หนังสือเล่มโปรดคือหนังสือเล่มที่พวกเขาได้เลือกเอง” สะท้อนว่าการให้เด็กได้เลือกอ่านหนังสือเอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเริ่มจากความสมัครใจ ไม่ใช่ด้วยการบังคับ ทำให้มีความตื่นเต้นและมีแรงจูงใจในการอ่านมากขึ้น แม้แต่เด็กที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเลย เมื่อค้นพบหนังสือที่ใช่ หรือเมื่อครูใช้แนวทางส่งเสริมการอ่านที่เหมาะสม ก็สามารถช่วยให้เปลี่ยนทัศนคติให้กลายมาเป็นคนรักการอ่านได้

2. ช่วยฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

          กิจกรรม Choice Reading หรือการเลือกหนังสืออ่านเอง คือการส่งเสริมให้เด็กๆ ฝึกตัดสินใจด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแสดงความพึงพอใจ และการจำแนกความแตกต่าง พวกเขาจะได้แยกแยะว่าตนชอบหรือไม่ชอบหนังสือเล่มไหน และสามารถระบุชื่อนักเขียนที่ตนเองชื่นชอบได้ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างสุนทรียภาพ การวิพากษ์ การสะท้อนความคิด และการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเชื่อมโยงตัวเองกับตัวละครที่อาจมีปูมหลังคล้ายกัน ทำให้ได้บทเรียนบางอย่าง หรือได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของผู้คน ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอิงจากบริบทในหนังสือ

3. พัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้

          ซัลลิแวน และ บราวน์ (2013) พบว่า เด็กอายุระหว่าง 10-16 ปีที่ได้เลือกหนังสืออ่านเอง จะมีทักษะทางภาษา เช่น คลังคำศัพท์ การสะกดคำ ดีกว่าคนที่ไม่ได้รับโอกาสให้เลือกหนังสืออ่านเอง ขณะที่เบอร์นีซ คัลลิแนน (2000) ระบุว่า เด็กนักเรียนที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวอย่างเพียงพอ มีแนวโน้มบรรลุผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้คำศัพท์ ความเข้าใจในการอ่าน และความคล่องแคล่วทางภาษา

4. พัฒนาผลการเรียน

          งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การอ่านโดยสมัครใจที่โรงเรียนหรือที่บ้าน มีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับความสำเร็จทางการศึกษาและการพัฒนาสมอง ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของ จูลี เฟราเมนี-แม็คไบรด์ (2017) ที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างนักเรียนระดับชั้น ป.2-3 ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเลือกหนังสืออ่านเอง พบว่านักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมแ มีผลคะแนนความเข้าใจในการอ่านดีกว่าเด็กๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ ในรายงานของ ไคลีน เบียร์ และโรเบิร์ต พร็อบสท์ (2017) แสดงให้เห็นว่า เวลาที่ใช้กับการอ่านหนังสือที่เด็กได้เลือกเอง มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของชั้นเรียน

กราฟจากหนังสือ Disrupting Think ของเบียร์และพร็อบสท์ แสดงให้เห็นว่าเวลาในการอ่านอิสระของชั้นเรียนมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งให้เวลาในการอ่านมากเท่าไหร่ ค่าคะแนนเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile Rank) ก็ยิ่งสูงตาม
กราฟจากหนังสือ Disrupting Think ของเบียร์และพร็อบสท์ แสดงให้เห็นว่าเวลาในการอ่านอิสระของชั้นเรียนมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งให้เวลาในการอ่านมากเท่าไหร่ ค่าคะแนนเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile Rank) ก็ยิ่งสูงตาม
Photo: Beers & Probst (2017)

7 เคล็ดลับสำหรับการจัดกิจกรรม Choice Reading

1.‘การเข้าถึง’ และ ‘ตัวเลือก’ คือหัวใจหลัก

          กูธรี และฮิวเมอนิค (2004) พบว่าปัจจัยการออกแบบกิจกรรม Choice Reading สองประการที่มีผลต่อการพัฒนาแรงจูงใจและความเข้าใจในการอ่าน ได้แก่ 1) มีการเข้าถึงหนังสือจำนวนมากและหลากหลาย และ 2) เด็กๆ มีตัวเลือกในการอ่าน มีหนังสือที่พวกเขาชื่นชอบ

2. มีการเตรียมการที่ดี

          ก่อนจัดกิจกรรม Choice Reading ครูหรือบรรณารักษ์ต้องใช้เวลาในการสร้างรายการหนังสือ ให้มีตัวเลือกการอ่านที่หลากหลาย เหมาะสมกับวัยของผู้อ่าน และเป็นหนังสือที่น่าดึงดูดใจหรือมีความเชื่อมโยงกับเด็กๆ นอกจากนี้ ก่อนสร้างรายการหนังสือ ผู้จัดอาจจะต้องสำรวจความต้องการของเด็กๆ ผ่านการพูดคุยหรือทำแบบสอบถาม ว่าพวกเขาต้องการอ่านหนังสือแนวไหน สนใจหัวข้อไหนเป็นพิเศษ หรือชื่นชอบนักเขียนคนใด พยายามให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากที่สุด

3. การจัดสรรงบประมาณ

          แม้จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจแค่ไหน แต่เมื่อเวลาลงมือ เรื่องงบประมาณอาจกลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ

          โดนาลีน มิลเลอร์ และโคลบี ชาร์ป (2018) ผู้เขียนหนังสือ Game Changer! Book Access for All Kids แนะนำว่าการจัดกิจกรรม Choice Reading ห้องสมุดจะต้องมีหนังสือในปริมาณมากพอ (300 – 1,000 เล่ม) หมายความว่าต้องใช้งบประมาณพอสมควร อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่ากิจกรรม Choice Reading มีส่วนในการเสริมสร้างสมรรถนะการอ่านออกเขียนได้ พัฒนาสมอง และผลการเรียนของเด็กอย่างชัดเจน ฉะนั้นจึงควรค่าแก่การลงทุน

          แนวทางที่โรงเรียนสามารถทำได้คือ แบ่งงบจากการลงทุนในส่วนอื่นๆ เช่น หนังสือแบบฝึกหัด หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มาเสริมให้ห้องสมุดเพื่อจัดหาวรรณกรรมเยาวชนหรือหนังสือทางเลือกเพิ่ม อีกทางหนึ่งคือสร้างพันธมิตรกับสำนักพิมพ์ต่างๆ ควบคู่ไปกับการวางแผนการจัดซื้อที่ดี อาจพิจารณาหรือต่อรองสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะช่วยในการประหยัดงบประมาณได้ เช่น ส่วนลด โปรโมชันพิเศษ

4. ทำให้การเลือกหนังสืออ่านเองกลายเป็นกิจวัตร

          โรงเรียนควรจะแบ่งเวลาให้กับกิจกรรม Choice Reading อย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ นอกจากงานวิจัยของเบียร์และพร็อบสท์ (2017) ที่ชี้ว่า เวลาในการอ่านทางเลือกมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว พิลกรีน และ กริบบอนส์ (1998) ระบุว่า โครงการ Choice Reading ที่ยั่งยืน จะต้องไม่ใช่การจัดกิจกรรมแบบชั่วครั้งชั่วคราว หรือเป็นแค่กิจกรรมเติมเต็มในชั้นเรียนวันศุกร์ แต่เป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน

          ในช่วงแรกๆ ผู้จัดอาจแบ่งเวลาสำหรับกิจกรรม Choice Reading สักวันละ 10 นาที เพื่อให้นักเรียนได้ปรับตัว โดยในระหว่างกิจกรรม ต้องกำชับไม่ให้นักเรียนอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ หรือแอบทำการบ้าน จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป 1-2 เดือน จึงค่อยๆ ขยายเวลากิจกรรมจาก 10 นาที ไปเป็น 15-20 นาที ไปจนถึงขั้นสูงสุด 30 นาที

5. คำนึงถึงความพร้อมของเด็กนักเรียน

          นักเรียนแต่ละวัยมีระดับความพร้อมแตกต่างกัน สำหรับนักเรียนชั้นประถมต้น ครูอาจต้องเริ่มต้นด้วยการให้คำแนะนำในการเลือกหนังสือ หรือให้ตัวเลือกหนังสือแบบจำกัดก่อน อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือระดับความยากง่ายของตัวเลือกหนังสือ โครงการ Teachers College Reading and Writing Project แนะนำว่า ควรให้นักเรียนอ่านหนังสือที่พวกเขาสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาได้ด้วยตัวเอง (มีระดับความเข้าใจเกินกว่า 90%) เพราะการอ่านหนังสือที่ซับซ้อนหรือท้าทายเกินไป อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วทางภาษาให้กับเด็กๆ เสมอไป เด็กนักเรียนจะได้ประโยชน์จากการอ่านเรื่องที่พวกเขาเข้าใจมากกว่าการอ่านเรื่องที่ยากเกินความสามารถ

          นอกจากนี้ ในกลุ่มเด็กนักเรียนย่อมมีทั้งคนที่เป็นหนอนหนังสือ และคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือเลย ในช่วงแรกๆ ของการจัดกิจกรรม ผู้จัดต้องเปิดกว้าง ยอมรับวิธีการอ่านหนังสือแบบต่างๆ ที่ทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจ เช่น ใช้การอ่านแบบกลุ่มย่อย หรือการฟังหนังสือเสียง เพื่อให้เขาค่อยๆ ปรับตัวและซึมซับนิสัยรักการอ่าน ในกรณีที่เด็กนักเรียนคนไหนอ่านเสร็จก่อนเพื่อน ครูอาจแนะนำหนังสือเล่มใหม่ หรืออนุญาตให้เขาอ่านหนังสือทางเลือกเล่มอื่นๆ ได้

6. มีกิจกรรมเสริมแรง โดยเฉพาะการสนทนาแลกเปลี่ยน

          กิจกรรมเสริมเป็นส่วนเติมเต็มที่จะทำให้การอ่านทางเลือกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แอเรียล แซ็คส์ (2019) ครูระดับมัธยมต้นในเมืองบรูกลิน กล่าวว่า การอภิปรายหลังอ่านจบ เป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยให้เด็กนักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าพวกเขาได้อะไรจากการอ่าน และสามารถทำความเข้าใจว่าหนังสือแต่ละเล่มต้องการจะสื่อสารอะไร

          เอมิลี เล็ช (2021) ครูใหญ่โรงเรียนประถมในเมืองยอร์กวิลล์ แนะนำว่า โรงเรียนอาจจัดกิจกรรมเสริมต่างๆ เพื่อสร้างสีสันให้กับการอ่านทางเลือก เช่น งานเสวนาหนังสือเล่มโปรดทุกวันศุกร์ หรืองานพบปะนักเขียน/นักวาด ทั้งแบบเชิญมาที่โรงเรียนหรือแบบออนไลน์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ หรืออาจมีการแจกหนังสือเป็นของขวัญเพื่อสร้างแรงจูงใจ

7. ผู้ใหญ่รับบทพี่เลี้ยง ทำหน้าที่เอื้ออำนวย

          ครูหรือผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบนิเวศการอ่านที่ดี ทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงทรัพยากรการอ่านได้อย่างเพียงพอและเท่าเทียม สร้างแรงบันดาลใจ สร้างทัศนคติเชิงบวก และช่วยปลูกฝังให้พวกเขามีนิสัยรักการอ่าน โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้พวกเขายินดีที่จะอ่านต่อ นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ควรเปิดกว้างและให้อิสระในการเลือกหนังสือแก่เด็กๆ ขณะเดียวกันก็สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับหนังสือใหม่ๆ เพื่อช่วยขยายขอบเขตการอ่านของพวกเขาได้ 

          จากข้อมูลทั้งหมดที่ไล่เรียงมา จะเห็นได้ว่าหัวใจสำคัญของ Choice Reading หรือการเลือกหนังสืออ่านเอง คือการให้สิทธิในการเลือก และให้อิสระทางความคิดกับเด็กๆ สอดคล้องกับคำกล่าวของ มาร์กาเร็ต มีด ที่ว่า “เราควรสอนเด็กๆ ให้รู้จักวิธีคิด ไม่ใช่สั่งพวกเขาว่าต้องคิดอะไร” การอ่านทางเลือกเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้เลือกอ่านหนังสือที่เขาสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เฉพาะตัว ช่วยขัดเกลาทักษะทางภาษา ทักษะการรู้คิด และที่สำคัญคือการสร้างนักอ่านคุณภาพอย่างยั่งยืน


ที่มา

Allison Varnes. Why Kids Need the Freedom to Choose the Books They Read. [Online]

Ariel Sacks. Whole-Class Novels vs. Choice Reading: Why Not Do Both?. 2019. [Online]

Emily Lech. A School-Wide Focus on Choice Reading. 2021. [Online]

International Literacy Association. The Case for Children’s Rights to Read. 2018. [Online]

Jenni Aberli. Student Choice Is the Key to Turning Students Into Readers. 2020. [Online]

Jori Krulder. Supporting Choice Reading for Students in Distance Learning. 2020. [Online]

Julie P. Fraumeni-McBride. The Effects of Choice on Reading Engagement and Comprehension for Second- and Third-Grade Students: An Action Research Report. 2017. [Online]

Kirsten. 6 Powerful Strategies on How to Choose Books to Read. 2019. [Online]

Lois Bridges. The Joy and Power of Reading. 2014. [Online]

Loose Canon. Why Reading Choice Matters: the Research on Independent Reading. [Online]

Richard L. Allington and Rachael E. Gabriel. Every Child, Every Day. 2012. [Online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก