ในยุคนี้ สตาร์ทอัปคือกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญที่โลกต่างมองหา แต่ใช่ว่าทุกประเทศจะเหมาะกับการก่อตั้งสตาร์ทอัป หากไม่มีสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่อำนวยความสะดวกให้ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ลื่นไหล ก็คงยากที่จะเกิดยูนิคอร์นใหม่ๆ ขึ้นมาได้
หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของจีนที่จะเปลี่ยนภาพประเทศเกษตรกรรม ไปสู่ประเทศที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเหล่าสตาร์ทอัป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเปิดประตูต้อนรับชาวต่างชาติให้มาสร้างบริษัทเทคโนโลยีจนเกิดไอเดียแลกเปลี่ยนกันไปมา การกำหนดเขตเศรษฐกิจใหม่และกองทุนสำหรับบริษัทที่สนใจใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็น AI หรือหุ่นยนต์ เพื่อซัพพอร์ตบริษัทเล็กใหญ่จนเกิดเป็นนวัตกรรมมากมายที่เราได้เห็นทั้งจาก Alibaba Xiaomi และอีกหลากหลายบริษัท
และส่วนสำคัญ คือการสร้าง ‘สถานที่’ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น ที่สวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (Zhongguancun Science Park) สวนวิทยาศาสตร์แห่งแรกของจีนและศูนย์กลางนวัตกรรมที่ได้รวมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อให้เหล่าสตาร์ทอัปได้เข้าไปศึกษาในหลากหลายสาขาที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ AI พลังงาน วิศวกรรมอากาศยาน หรือส่วนงานวิจัยและพัฒนา (R&D)
และจากความสำเร็จของจงกวนชุนที่ได้สร้างสตาร์ทอัประดับยูนิคอร์นหน้าใหม่มากมาย ทำให้ทางการจีนเห็นความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อบริษัทผลิตนวัตกรรมเจ๋งๆ นำมาสู่การสร้าง Shenzhen Bay Culture Park เมกะโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้สำหรับเหล่าสตาร์ทอัปไฟแรงในเมืองเซินเจิ้น ซึ่งจะเปิดให้ใช้งานกันในปี ค.ศ. 2023 นี้
ออกแบบเพื่อเสริมพลังความสร้างสรรค์
หลายคนได้ยินชื่อเซินเจิ้น ก็น่าจะพอเห็นภาพความทันสมัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมล้ำๆ ในฐานะเขตเศรษฐกิจและการค้าที่จีนปลุกปั้นขึ้นมา Shenzhen Bay Culture Park ที่ว่า ก็ตั้งอยู่ใจกลางเซินเจิ้น บริเวณอ่าวโฮ่วไห่ (Houhai) เมืองหนานซาน (Nanshan) ซึ่งใครๆ ต่างเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘ซิลิคอนวัลเลย์แห่งใหม่ของจีน’ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเหล่าธุรกิจเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ยักษ์ใหญ่ และสตาร์ทอัปด้านนวัตกรรมมากมาย เช่น Tencent, Huawei
Shenzhen Bay Culture Park ออกแบบโดย MAD Architects สตูดิโอสัญชาติจีน ซึ่งมีผลงานเด่นๆ เช่น Absolute Tower ที่แคนาดา หรือ YueCheng Courtyard Kindergarten ที่ปักกิ่ง โดยการออกแบบสุดตระการตานี้นำทีมโดย หม่า ยังซง หัวหน้าโปรเจกต์ ที่ใส่กระบวนท่ามากมายเพื่อดีไซน์พื้นที่ออกมาเป็นอาคารล้ำๆ ด้วยรูปทรงเหมือนหินมน ตั้งตระหง่านท่ามกลางผืนหญ้าสีเขียวสด ในเนื้อที่กว่า 182,000 ตารางเมตร มีใจความหลักในการออกแบบอยู่ที่การผสมผสานความเป็นเมืองนวัตกรรมยุคใหม่ และความเงียบสงบของธรรมชาติบริเวณอ่าวโฮ่วไห่
หม่า ยังซง เล่าถึงการออกแบบไว้ว่า “ตั้งใจออกแบบบรรยากาศให้ดูเหนือจริง เพื่อให้คนที่แวะเวียนเข้ามาได้ผ่อนคลาย หรือมีบทสนทนาทั้งเรื่องอดีต และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะช่วยสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดกรอบจินตนาการ”
การดีไซน์พื้นที่จึงกลายเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่เอื้อต่อสภาพแวดล้อมให้เหล่าคนรุ่นใหม่ได้ออกมาร่วมใช้งานและสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่คาดไม่ถึงกัน
อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้เหล่าสตาร์ทอัป
ความตั้งใจของพื้นที่แห่งนี้คือการเป็นพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะให้กับคนที่สนใจและศึกษาเกี่ยวกับการก่อตั้งสตาร์ทอัป อยากสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเอง โดยในพื้นที่มีเครื่องมือทันสมัยและพื้นที่ไว้รองรับการเรียนรู้แบบไม่ต้องวิ่งหาอุปกรณ์ทดลองให้วุ่น มีหอประชุมใหญ่ที่ในอนาคตวางแผนให้เป็นพื้นที่เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้หรือเวิร์กชอป มีห้องสมุดเพื่อค้นคว้าข้อมูล พร้อมทั้งคาเฟ่ไว้ให้เหล่าสตาร์ทอัปได้มีพื้นที่ใช้สอยหลากหลาย สำหรับริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
มากไปกว่านั้น ภายในอาคารยังถูกแบ่งเป็นหลายโซนที่ตอบหลายฟังก์ชัน ทั้งห้องจัดแสดงนิทรรศการที่จะจัดแสดงผลงานส่งเสริมความสร้างสรรค์ ดีไซน์ และศิลปะหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ และยังมี Shenzhen Science and Technology Museum ที่บอกเล่าเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นจุดเด่นของเมืองนี้ เพื่อให้เหล่าคนรุ่นใหม่ได้มาเยี่ยมชมและเก็บไอเดียดีๆ กลับบ้านไป
ถัดมา เมื่อเดินออกจากอาคาร ก็จะได้เจอพื้นที่สีเขียวกว้างสุดลูกหูลูกตา มีต้นไม้ให้ร่มเงา และยังมีพื้นที่จัดกิจกรรมการแสดงภายนอกที่พร้อมเปิดให้ใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยความพิเศษคือเวทีที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กลางน้ำ รวมไปถึงที่นั่งสำหรับการรับชมที่สามารถรองรับคนได้มากกว่า 10,000 คนเลยทีเดียว
นับเป็นเมกะโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ ที่พยายามเชื่อมต่อธรรมชาติกับโลกยุคใหม่ และให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่พร้อมสนับสนุนผู้คนและเหล่าสตาร์ทอัปให้ได้ทดลอง เรียนรู้ และสร้างสรรค์
เพื่อขับเคลื่อนให้โลกเดินไปข้างหน้าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
ที่มา
บทความ “MAD Reveals the Shenzhen Bay Culture Park Masterplan” จาก archdaily.com (Online)
บทความ “The 3 pillars of China’s booming start-up ecosystem” จาก weforum.org (Online)
บทความ “Zhongguancun Science Park” จาก english.visitbeijing.com.cn (Online)