วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี

1,367 views
7 mins
October 4, 2023

          เมื่อกล่าวถึงวรรณกรรมจีนยอดนิยม หลายคนคงนึกถึงนิยายกำลังภายในเป็นอันดับแรกๆ ภาพในจินตนาการก็คงหนีไม่พ้นชาวยุทธที่เดินทางผจญภัยเพื่อค้นหาเคล็ดลับยอดวิชา บ้างก็นึกถึงการต่อสู้เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในยุทธภพ หรือการต่อต้านความไม่ชอบธรรมของผู้มีอำนาจปกครองในแคว้นนั้น 

          บางคนอาจนึกถึงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง สามก๊ก ไซอิ๋ว ซ้องกั๋ง 108 ผู้กล้าเขาเหลียงซาน และความฝันในหอแดง ที่หลายประเทศนำมาแปลและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง บ้างก็คงนึกถึงวรรณกรรมยุคหลังมาอีกนิดของโกวเล้ง กิมย้ง หรือ เนี่ย อู้เซ็ง ที่แฟนนิยายกำลังภายในคงคุ้นเคยกันดี อีกทั้งยังมีฐานนักอ่านที่แข็งแรงทั้งในและนอกประเทศจีน

          แท้จริงแล้ววรรณกรรมจีนมีความหลากหลาย มีพัฒนาการที่เด่นชัดและน่าสนใจท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แม้อำนาจรัฐจะมีผลต่อการควบคุมผลงานวรรณกรรมเป็นอย่างมาก แต่นักประพันธ์หลายท่านก็ยังคงมีช่องทางในการบอกเล่าประเด็นที่ตนต้องการจะสื่อสาร

          ในปัจจุบันมีวรรณกรรมจีนอีกประเภทหนึ่งที่เป็นกระแสและแพร่หลายในระดับสากลอย่างรวดเร็วนั่นคือ นิยายวิทยาศาสตร์จีน วรรณกรรมประเภทนี้ไม่ใช่แค่นิยายที่สนองความบันเทิงและนำเสนอเนื้อหาแนวคิดล้ำยุคเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมของผู้เขียนได้อย่างเจาะลึก

          บทความนี้จะพาผู้อ่านสำรวจวรรณกรรมจีนร่วมสมัย นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา เพื่อชี้ชวนให้เห็นว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผู้เขียนสอดแทรกทัศนะด้านการเมืองและการวิพากษ์สังคมตั้งแต่สังคมจีนจนถึงสังคมโลกลงไปบนหน้ากระดาษอย่างแนบเนียนได้อย่างไร

วรรณกรรมร่วมสมัยกับการวิพากษ์สังคม

          นับตั้งแต่สมัยขบวนการ 4 พฤษภาคม ในปี 1919 จนถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 วรรณกรรมจีนได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมและวัฒนธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้าสู่สังคมจีนเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ผลงานของ โจว ซูเหริน (Zhou Shuren) หรือนามปากกา หลู่ ซวิ่น (Lu Xun) ผู้ถือว่าเป็นบิดาแห่งเรื่องสั้นจีนสมัยใหม่ เขาเป็นคนแรกที่ใช้ภาษาพูดมาเขียนเป็นหนังสือ ผิดจากสมัยโบราณที่การเขียนหนังสือเป็นภาษาจีนจะต้องใช้ภาษาเต็มรูปแบบที่เป็นทางการ เขียนอะไรก็เป็นกลอนไปหมด อ่านแล้วเข้าใจยาก ผู้อ่านต้องแปลจีนเป็นจีนอีกรอบถึงจะเข้าใจ

          หลู่ ซวิ่น หยิบเอาวิธีเขียนแบบตะวันตกมาปรับใช้ และเป็นนักเขียนรุ่นแรกๆ ที่ท้าทายวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ในงานนวนิยายสั้นเรื่อง บันทึกของคนบ้า (A Madman’s Diary)  หลู่ซวิ่นได้วิจารณ์ระบบชนชั้นที่สังคมจีนยึดถือมาเป็นเวลายาวนานอย่างถึงพริกถึงขิง อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีทิศทางวัฒนธรรมใหม่ งานชิ้นนี้ถือเป็นผลงานภาษาจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดที่ได้รับการตีพิมพ์หลังการปฏิวัติซินไห่ ทั้งได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน 100 หนังสือที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์โดย Bokklubben World Library และได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบนวนิยายเอเชียที่ดีที่สุดตลอดกาลโดย The Telegraph ในปี 2014

          หลังจากการตีพิมพ์ บันทึกของคนบ้า กราฟความก้าวหน้าของวรรณกรรมจีนร่วมสมัยก็ไต่ระดับขึ้น จนถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 1930-1937 ซึ่งนักวิชาการบางคนขนานนามว่า คือ ยุคสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของจีน (The Chinese Renaissance) เนื่องจากมีบทกวี เรื่องสั้น และนวนิยายจำนวนมากมายได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย

          การวิพากษ์สังคมและเศรษฐกิจสมัยใหม่เป็นหัวข้อที่ปรากฏในวรรณกรรมร่วมสมัยของจีนอย่างกว้างขวาง เช่น ผลงานของเหล่าเฉ่อ (Lao She) เรื่อง Rickshaw Boy ตีพิมพ์ในปี 1938 เป็นเรื่องราวของเด็กลากรถผู้ซื่อสัตย์ อ่อนไหว และขยันหมั่นเพียร ที่พยายามเอาตัวรอด แต่ต้องล้มเหลวจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมจีนอันโหดร้าย หรือ นวนิยายชิ้นเอกของเสิ่นฉงเหวิน (Shen Congwen) เรื่อง Long River เขียนขึ้นประมาณปี 1937 ก็มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สังคมและภูมิปัญญาแบบลัทธิเต๋า

วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี
เรื่องสั้น บันทึกของคนบ้า หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงของหลู่ซวิ่น
Photo: Amazon Kindle Direct Publishing
วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี
บันทึกของคนบ้า โดย หลู่ซวิ่น ฉบับแปลเป็นภาษาไทย ตีพิมพ์ในหนังสือ THE MADMAN รวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนบ้า ของ 4 นักเขียนชื่อดัง
Photo: Zombie Books

นักเขียนจีนท่ามกลางการจับตาของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์

          จุดหักเหของทิศทางวรรณกรรมร่วมสมัยเกิดขึ้นหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นสู่อำนาจ รัฐมีหลายมาตรการที่ทำให้นักเขียนกลายเป็นเครื่องมือที่ภักดีต่อการปกครองแบบเผด็จการ (The dictatorship of the proletariat) นักเขียนทั้งหมดกลายเป็นสมาชิกของสหพันธ์นักเขียนภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์ มีสถานะคล้ายกับพนักงานของพรรค ได้รับเงินเดือนและต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลเหมาเจ๋อตุง ที่กำหนดว่าศิลปะและวรรณกรรมจะต้องรับใช้คนงาน ชาวนา ทหาร และวาระทางการเมืองของพรรค ดังนั้น นวนิยายส่วนใหญ่ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี 1949-1966 จึงเน้นการเชิดชูนักปฏิวัติ สำหรับผู้ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ก็จะต้องถูกกวาดล้างอย่างโหดร้ายครั้งแล้วครั้งเล่าโดยรัฐบาลจีน

วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี
Photo: Chinese Posters

          หลังจากการเสียชีวิตของเหมาเจ๋อตุงในปี 1976 การปฏิวัติวัฒนธรรมและสถานการณ์อันยุ่งเหยิงสิ้นสุดลง ข้อห้ามด้านวรรณกรรมต่างๆ ถูกยกเลิก นักเขียนไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกและพนักงานของพรรคคอมมิวนิสต์อีกต่อไป นักเขียนที่เคยถูกลงโทษได้รับการเยียวยา รูปแบบการเขียนมีเสรีภาพมากขึ้น วรรณกรรมเหมือนได้ปลดพันธนาการจากนโยบายเผด็จการ มีงานเขียนที่กล่าวถึงเหตุการณ์อันเจ็บปวดที่ผ่านมา และงานเขียนที่อุทิศให้กับคนธรรมดาสามัญเกิดขึ้น นักวิจารณ์มักเรียกวรรณกรรมเหล่านี้ว่า ‘Scar Literature’

          แม้จะดูเหมือนกับว่าแวดวงวรรณกรรมมีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้นแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังคงปกครองจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ และพร้อมจะใช้อำนาจทำลายผู้ที่ท้าทายหรือเห็นต่างรัฐบาลอย่างรุนแรง เช่น เหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989

          ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน มีวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มเป็นที่รู้จักคือ นิยายกำลังภายในแบบใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาแตกต่างจากนิยายกำลังภายในแบบขนบดั้งเดิมที่เน้นเชิดชูราชสำนัก โดยนิยายกำลังภายในลักษณะนี้จะมีเนื้อหาที่แสดงแนวคิดเรื่องชาติ ประชาชนและความดีงามของมนุษย์ นักเขียนที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เนี่ย อู้เซ็ง โกวเล้ง กิมย้ง ฯลฯ

          ตัวอย่างผลงานอันโด่งดังของกิมย้ง ไม่ว่าจะเป็น ดาบมังกรหยก แปดเทพอสูรมังกรฟ้า กระบี่เย้ยยุทธจักร มักจะมีเรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ระบุแน่ชัดนักในประวัติศาสตร์จีน เช่น เหตุการณ์ช่วงที่จีนฮั่นตกอยู่ในความเสี่ยงหรือถูกปกครองโดยชนเผ่าเร่ร่อน ภูมิหลังของนิยายเรื่องนี้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงของโลกที่จีนกำลังเผชิญจากมหาอำนาจตะวันตก นอกจากนี้ยังมีนักเขียนในรุ่นถัดมาอย่าง หวงอี้ (Huang Yi) ที่เริ่มผสานความแฟนตาซีเข้ามาผนวกกับนิยายกำลังภายใน เช่น เจาะเวลาหาจิ๋นซี

วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี
ดาบมังกรหยก นิยายจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังและต่อยอดไปสู่การทำเป็นซีรีส์หลากหลายเวอร์ชัน
Photo: Siam Inter Book

วรรณกรรมจีนร่วมสมัยสู่แวดวงวรรณกรรมระดับโลก

          ปลายศตวรรษที่ 20 รัฐบาลจีนเริ่มนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ มีการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น วรรณกรรมจีนจึงได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตกอีกระลอกหนึ่ง และมีโอกาสมากขึ้นที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมโลก นักเขียนจีนเริ่มมีอิสระในการเขียน แต่ยังคงยกเว้นบางประเด็น เช่น การวิจารณ์รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ความก้าวหน้าทางการสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงสิบปีสุดท้ายก่อนขึ้นศตวรรษที่ 21 ยิ่งทำให้ทางการจีนควบคุมสื่อได้ยากขึ้น

          งานเขียนส่วนใหญ่ที่ตีพิมพ์และได้รับความนิยม คือ นิยายซึ่งแหวกขนบวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน งานเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่ถูกใจรัฐบาลจีนนัก เช่น นวนิยายหลายเรื่องของ หวังอันอี้ (Wang Anyi) ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสาวสมัยใหม่ในเซี่ยงไฮ้ งานของเธอถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศและได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ

          เช่นเดียวกับ ผลงานของ โจวเว่ย (Zhou Weihui) ซึ่งถูกแบนและประณามว่าเป็นผลงานที่เสื่อมทราม แต่กระนั้นนวนิยาย Shanghai Baby ของเธอ กลับเป็นนวนิยายจีนยอดนิยมมากที่สุดเล่มหนึ่ง โดยขายได้มากกว่า 6 ล้านเล่มในกว่า 30 ภาษาทั่วโลก หรือ นวนิยายเรื่อง Candy ของ เหมียน เหมียน (Mian Mian) ซึ่งบรรยายถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยยาเสพติด การค้าประเวณี และการพนันในเซี่ยงไฮ้ช่วงปี 1990 ก็เป็นอีกเรื่องที่ได้รับความนิยมเช่นกัน

          วรรณกรรมจีนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับโลกเมื่อ โม่ เหยียน (Mo Yan) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2012 และเหยียน เหลียนเคอ (Yan Lianke) ได้รับรางวัล Franz Kafka Prize และเข้ารอบสุดท้ายของ The Man Booker International Prize หนึ่งในรางวัลร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงที่สุด ทั้งสองคนคือนักเขียนระดับโลกที่ผลงานหลายชิ้นถูกแบนในประเทศจีน

วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี
เซี่ยงไฮ้เบบี้ ผลงานของโจวเว่ยฮุ่ย นวนิยายที่มีเรื่องราวสุดอื้อฉาว จนทางการจีนสั่งห้ามขายและถูกเผาไปแล้วกว่าสี่หมื่นเล่ม แต่กลับได้รับความนิยมอย่างมากในระดับนานาชาติ
Photo: Simon & Schuster
วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี
The Garlic Ballads หรือชื่อภาษาไทยว่า ลำนำกระเทียม นวนิยายที่มีชื่อเสียงมากเรื่องหนึ่งของ โม่ เหยียน เป็นมหากาพย์เกี่ยวพันกับการเมือง ความรัก ความภักดี และการแก้แค้น ซึ่งตีแผ่ความทุกข์ทนและการต่อสู้กับรัฐของชนชั้นกรรมาชีพอย่างถึงแก่น
Photo: Arcade Publishing

เปิดศักราชใหม่กับกระแส Chinese Sci-Fi

          หลังจากการตีพิมพ์นวนิยายวิทยาศาสตร์จีนฉบับแปล เรื่อง The Three-Body Problem ในปี 2014 ของผู้เขียน หลิว ฉือซิน (Liu Cixin) กราฟความนิยมระดับโลกของวรรณกรรมประเภท Chinese Sci-Fi ที่อยู่ใต้ร่มเงาของวรรณกรรมประเภทอื่นก็พุ่งขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของแวดวงนิยายวิทยาศาสตร์ระดับโลก ที่เดิมถูกยึดพื้นที่โดยนักเขียนชาวอเมริกันและอังกฤษมายาวนาน

             ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยกย่องนวนิยายเรื่องนี้ว่า ‘เป็นจินตนาการที่ล้ำเลิศ’ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แนะนำให้ผู้ติดตามเฟซบุ๊กของเขานับสิบล้านคนอ่าน จอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน เขียนบล็อกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้จัดพิมพ์ทั่วโลกต่างไล่ล่าลิขสิทธิ์การแปล

          ในที่สุด The Three-Body Problem หรือชื่อไทยว่า ดาวซานถี่ อุบัติการณ์สงครามล้างโลก ก็ถูกแปลและจำหน่ายใน 26 ภาษาทั่วโลก อีกทั้งได้รับรางวัล Hugo Award ประจำปี 2015 ทำให้ หลิว ฉือซิน เป็นนักเขียนชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับดังกล่าว หนังสือเล่มนี้และภาคต่ออีก 2 ภาค ขายได้เกือบเก้าล้านเล่มทั่วโลก และถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์เผยแพร่บนสตรีมมิงยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix โดยมีกำหนดเข้าฉายในเดือนมกราคม 2024

          ภายใต้มหากาพย์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่ง มองโกเลีย และบนดาวเคราะห์ดวงอื่น ท่ามกลางคำอธิบายชวนปวดหัวเกี่ยวกับทฤษฎีควอนตัม นาโนเทคโนโลยี กลศาสตร์วงโคจร และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่อัดแน่นในนวนิยาย หลิว ฉือซิน แสดงแนวคิดและวิจารณ์สังคมตามทัศนะของเขา

          ฉากเริ่มต้นของ The Three-Body Problem เล่าถึงความรุนแรงทางการเมืองและการกดขี่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างดวงดาว ฉากนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความโหดร้ายของการปฏิวัติ แต่สำนักพิมพ์ในจีนกังวลว่านวนิยายจะแตะประเด็นทางการเมืองมากเกินไป และอาจไม่ผ่านการเซนเซอร์โดยรัฐบาล ดังนั้น เรื่องราวในช่วงต้นจึงถูกนำมาเล่าในตอนหลังของเรื่องเพื่อลดความชัดเจนลง หลิวยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เต็มใจ

          ความสำเร็จของ The Three-Body Problem ไม่เพียงแต่ทำให้ หลิว ฉือซิน กลายเป็นนักเขียนชื่อดังระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดประตูให้นิยายวิทยาศาสตร์จีนจำนวนมากหลั่งไหลสู่แวดวงวรรณกรรมระดับโลกด้วย วรรณกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดและการวิจารณ์สังคมจีนและโลกอย่างมีชั้นเชิง เช่น The Waste Tide ของ เฉิน ชิวฟาน (Chen Qiufan) ซึ่งเป็นนวนิยายแนวดิสโทเปียเกี่ยวกับมลพิษบนชายฝั่งคาบสมุทรของจีน และแรงงานอพยพผู้ยากไร้ที่ทำงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

          วรรณกรรมเหล่านี้สะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วของจีน โดยวางเรื่องราวในอนาคตอันไกลโพ้นหรือบนดาวเคราะห์ดวงอื่นเพื่อตัดปัญหาเรื่องประเด็นต้องห้าม เช่น การขาดเสรีภาพทางสังคม การแสวงประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ การยึดที่ดินของรัฐบาล ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และการทำลายสิ่งแวดล้อม บางเรื่องที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในประเทศจีน เนื่องด้วยความอ่อนไหวทางการเมือง

วรรณกรรมจีนร่วมสมัย ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี
The Three-Body Problem ฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ ดาวซานถี่ อุบัติการณ์สงครามล้างโลก
Photo: Post Books

ทีเซอร์ซีรีส์ 3 Body Problem 

จากนิยายกำลังภายใน ถึง Chinese Sci-Fi ตัวแทนขบถความคิดในม่านหมอกแฟนตาซี

          วรรณกรรมจีนร่วมสมัยพยายามสอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอยู่เสมอ แต่แนวการเขียนแบบสัจนิยมมักจะถูกเพ่งเล็ง ในช่วงที่รัฐบาลควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือประเภทที่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์โดยส่วนมากจึงเป็นเรื่องเชิงเหนือจินตนาการ ที่มีการใช้ฉากของเรื่องราวแบบไม่สมจริง หรือการกระทำของตัวละครที่ดูหลุดโลก รวมไปถึงรูปแบบของนิยายกำลังภายในและนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งมีสิ่งที่เหมือนกัน คือ เมื่อมองภายนอกเป็นวรรณกรรมประเภทบันเทิง แต่ภายในสอดแทรกความคิดเกี่ยวกับสังคมและการเมืองอย่างแยบยล หลายครั้งที่นิยายกำลังภายในสะท้อนความรู้สึกถูกกดทับในใจผู้อ่าน ตัวเอกที่รักชาติ รักพวกพ้อง ช่วยเหลือชาติบ้านเมือง ภายใต้ความรู้สึกที่ถูกรัฐกระทำอย่างไม่เป็นธรรม จึงต้องต่อสู้กับผู้มีอำนาจฝ่ายอธรรม เช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นขุนนางกังฉิน เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนความรู้สึกของคนจีนได้เป็นอย่างดี

          ในต่างบริบทที่ประชาชนรู้สึกว่าถูกกดขี่ด้วยอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม วรรณกรรมจีนแนวแฟนตาซี-ไซไฟ ก็อาจตอบสนองความคิดขบถของนักอ่านในภูมิภาคเหล่านั้นได้ในแนวทางเดียวกัน ดังที่อาจารย์รัชกฤช วงษ์วิลาศ สาขาวิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า

          “เรื่องของกำลังภายในมันไปสอดรับและตอบสนองความรู้สึกของคนจีนในไทยยุคก่อน ที่อัตลักษณ์ของความเป็นคนจีนถูกกดทับ ผูกมัด และปราบปราม เพราะวรรณกรรมกำลังภายในเป็นเรื่องของวีรบุรุษนอกระบบ ผู้ผดุงคุณธรรมที่ไม่ใช่ตำรวจ ทำให้คนจีนในไทยยุคนั้นชอบอ่านวรรณกรรมยุคนี้เพราะเขารู้สึกว่าเชื่อมโยงตัวเองกับประสบการณ์ได้ เขาต้องการตัวละครที่เป็นฮีโร่ แล้วถ้าดูตัวร้ายในกำลังภายในบางครั้งจะเป็นฝ่ายรัฐที่ปกครองอย่างกดขี่ ซึ่งอาจตรงกับความรู้สึกของคนจีนในไทยยุคนั้น เพราะเขารู้สึกว่าถูกนโยบายรัฐไทยกดความเป็นตัวตนของเขา โดนสั่งปิดโรงเรียน ปิดหนังสือพิมพ์ ดังนั้นวรรณกรรมกำลังภายในตอบสนองความรู้สึกของเขาตรงนี้ วรรณกรรมกลุ่มนี้จึงได้รับการแปลเยอะ”

          เมื่อกลับมามองที่ Chinese Sci-Fi “ส่วนหนึ่งคือ วรรณกรรมแบบสัจนิยม บางทีมันจริงเกินไป จริงชัดจนอาจไม่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์ หรือแปล แต่ว่าความแฟนตาซีนั้นเป็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในความไม่จริง ซึ่งผมคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้ มีอยู่ในทุกวัฒนธรรมและมีอยู่ในทุกยุคสมัย เรื่องที่พูดตรงๆ ไม่ได้จะถูกเอามาเล่าแบบเหนือจริงเพื่อให้พูดออกมาได้ เพราะบางทีคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อาจจะไม่รู้ตัว อาจารย์คนจีนท่านหนึ่งเคยบอกผมว่าถ้าสนใจเรื่องการเมือง น่าจะอ่านแนวไซไฟเยอะๆ เพราะว่าปัจจุบันนิยายไซไฟวิพากษ์การเมืองมาก” อาจารย์รัชกฤช กล่าวเสริม

เว็บโนเวล เปิดพื้นที่การอ่านไร้ปราการกั้นขวาง

          เว็บโนเวล หรือนวนิยายที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ คืออีกช่องทางหนึ่งที่นักเขียนจะแสดงออกซึ่งแนวคิดของตนได้อย่างเสรีมากกว่าการตีพิมพ์หนังสือรูปเล่มทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดวรรณกรรมออนไลน์ของจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2021 มีจำนวนนวนิยายออนไลน์เพิ่มขึ้นจากประมาณ 8 ล้านเรื่อง ในปี 2012 เป็นกว่า 32 ล้านเรื่องในปี 2021 จำนวนนักเขียนเพิ่มขึ้นเป็น 22.78 ล้านคนภายในปี 2021 และจำนวนผู้อ่านเพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านคนเป็น 490 ล้านกว่าคน

          ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนมองว่าสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดของจีนเป็นเงื่อนไขที่ทำให้นวนิยายบนเว็บเติบโตอย่างมาก แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ได้กลายเป็นห้องปฏิบัติการทดลองผลิตเนื้อหาขนาดใหญ่ในจีน ซึ่งผลงานจะถูกทดสอบจากกลุ่มผู้อ่านหลายร้อยล้านครั้ง อีกทั้งเรื่องราวเหล่านี้ ยังสามารถมีความยาวแบบไม่จำกัด ตราบใดที่ยังมีคนอ่าน เนื่องจากรายได้ของนักเขียนขึ้นอยู่กับความยาวของเรื่อง

          นิยายบนเว็บยังไม่ได้หยุดอยู่แค่ผู้อ่านเท่านั้น แต่กลายเป็นซัปพลายเออร์หลักส่งออกวัตถุดิบในเส้นทางวัฒนธรรมสมัยนิยมของจีน ต่อยอดไปสู่รายการโทรทัศน์ ละคร แอนิเมชัน และวิดีโอเกม 

          สำหรับประเทศไทย ความนิยมนวนิยายจีนร่วมสมัยยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิยายกำลังภายใน ไลท์โนเวลที่ในปัจจุบันยึดพื้นที่ชั้นวางทั้งในร้านหนังสือและห้องสมุดต่างๆ รวมถึงในแพลตฟอร์มออนไลน์  อาจด้วยคุณลักษณะเฉพาะที่ทำให้นักอ่านชาวไทยรู้สึกเข้าถึงและเชื่อมโยงกับเรื่องราวเหล่านั้นได้

          อาจารย์รัชกฤชให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า “แก่นของวรรณกรรมตะวันตก มักเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนในแนวระนาบ เช่น เป็นเรื่องความรักของตัวละครเอก แต่ว่าแก่นเรื่องของวรรณกรรมจีนเป็นเรื่องในแนวตั้ง คือจะมีเรื่องของคนตั้งแต่รุ่นปู่ย่า พ่อแม่ รุ่นหลาน สายสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง อาจจะไม่ใช่ครอบครัวทางสายเลือดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของศิษย์ร่วมสำนัก พี่น้องร่วมสาบานซึ่งเป็นธีมที่เหมือนครอบครัว แก่นนี้ยังอยู่แต่อาจจะถูกให้คุณค่าไม่เหมือนกัน” นักอ่านชาวไทยที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมครอบครัวขยาย อีกทั้งสายสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติและเพื่อนพ้องเป็นอย่างดี จึงอาจรู้สึกเชื่อมโยงกับประเด็นที่แฝงอยู่ในเรื่องจนรู้สึกเข้าอกเข้าใจตัวละคร ราวกับร่วมผจญภัยในโลกวรรณกรรมจีนเหล่านั้น

          จากมหากาพย์ของจอมยุทธผู้ฝึกวิชาในสุสานโบราณ เซียนกระบี่ผู้ฝึกตน สู่มหากาพย์การตามล่าวงแหวนวิญญาณเพื่อเพิ่มพลังต่อสู้ในจักรวาลคู่ขนาน หรือแม้กระทั่งการสู้รบระหว่างชนเผ่าด้วยเครื่องจักรกล เรือเหาะ และเสื้อเกราะติดอาวุธ สงครามทำลายล้างบนดาวเคราะห์ดวงอื่น วรรณกรรมจีนร่วมสมัยยังคงทำหน้าที่สื่อสารความรู้สึก ทัศนะ ประสบการณ์ของนักเขียนที่มีต่อสังคมจีนและสังคมโลกผ่านโลกจินตนาการเหล่านั้น นอกจากซึมซาบความตื่นตาตื่นใจ สนุกสนานกับพล็อตเรื่องลึกล้ำความคิดแล้ว หากลองอ่านระหว่างบรรทัดดู ผู้อ่านคงพอจะมองเห็นแนวคิดอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่แค่การสะท้อนหรือวิพากษ์สังคมวัฒนธรรมประเทศของผู้เขียนเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามและท้าทายความเชื่อ กรอบศีลธรรม หรือแม้กระทั่งคุณค่าความเป็นมนุษย์อีกด้วย


ที่มา

บทความ “Contemporary Chinese Fiction and World literature” จาก muse.jhu.edu (Online)

บทความ “A Brief History of Chinese Novels” จาก literariness.org (Online)

บทความ “Contemporary Chinese Fiction: Politics and Romance” จาก digitalcommons.macalester.edu (Online)

บทความ “How Chinese Sci-Fi Conquered America” จาก nytimes.com (Online)

บทความ “Accelerated History: Chinese Short Science Fiction in the Twenty-First Century” จาก vector-bsfa.com (Online)

บทความ “Online literature offers new worldwide lens for China’s stories of past, present” จาก chinadaily.com (Online)

บทความ “Chinese online literature witnesses boom over past decade: report” จาก global.chinadaily.com (Online)

บทความ “Variations on Utopia in Contemporary Chinese Science Fiction” จาก depauw.edu (Online)

บทความ “Chinese Sci-Fi Novel, ‘The Three-Body Problem,’ Touches Down in U.S.” จาก wsj.com (Online)

บทความ “อ่าน “นิยายกำลังภายใน” ในฐานะ “วรรณกรรมการเมือง” จาก academia.edu (Online)

บทความ “นวนิยายจีนออนไลน์’บุกตลาดโลก คว้าใจนักอ่านต่างชาติ” จาก dailynews.co.th (Online)

Cover Photo: Wang Jie

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก