“ห้องสมุดจะไม่ตาย ก็ต่อเมื่อมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต” ชาตรี ประกิตนนทการ

2,140 views
10 mins
August 25, 2021

          คุณเข้าห้องสมุดครั้งล่าสุดเมื่อไหร่?

          หากโยนคำถามนี้ให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักศึกษา นักวิชาการ หรือบุคลากรที่ทำงานด้านห้องสมุด เชื่อว่าหลายอาจนึกไม่ออก ระบุวันเวลาที่ชัดเจนไม่ได้

          ในทางกลับกัน หากเปลี่ยนจากคำว่าห้องสมุด เป็นห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ หรือ co-working space คนวัยเรียน-วัยทำงานจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ (ในช่วงเวลาที่ปลอดโควิด) อาจแทบไม่ต้องใช้เวลาคิดด้วยซ้ำ  

          คำถามที่ตามมาคือ หรือห้องสมุดในสังคมไทยกำลังเดินไปสู่จุดอวสาน

          ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งคำถามทำนองเดียวกัน ผ่านบทความ ‘ห้องสมุด (รัฐ) ไทย ในโลกที่เปลี่ยนแปลง’ พุ่งเป้าไปยังห้องสมุดของรัฐที่ขับเคลื่อนด้วยภาษีประชาชน

          ใจความสำคัญคือการวิพากษ์ห้องสมุดรัฐไทยที่ปรับตัวไม่ทันโลก ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างที่ห้องสมุดยุคใหม่ควรจะเป็น พ่วงท้ายด้วยการไล่เรียงข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม

          บทความดังกล่าวเป็นดั่งเชื้อไฟที่ช่วยจุดประกายคำถามอื่นๆ อีกมากมาย ทำไมห้องสมุดหลายแห่งถึงดูไม่ค่อยเป็นมิตร อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ห้องสมุดของไทยไม่พัฒนา ห้องสมุดยุคใหม่ควรมีหน้าตาเป็นแบบไหน ทำอย่างไรให้ห้องสมุดกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ฯลฯ

          เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว เราชวน ดร.ชาตรี มาสนทนาเรื่องห้องสมุดแบบยาวๆ ไล่เรียงตั้งแต่แง่มุมทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม รวมถึงคำแนะนำที่อาจช่วยให้ห้องสมุดรัฐไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร

จากบทความที่คุณเขียน อยากให้ขยายความว่า ‘ห้องสมุด (รัฐ) ไทย’ ที่คุณกล่าวถึงนั้นมีลักษณะแบบไหน

          ในทัศนะของผม ห้องสมุดสามารถแบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 ประเภท คือห้องสมุดของรัฐ ห้องสมุดของเอกชน และห้องสมุดที่เป็นกึ่งรัฐกึ่งเอกชน อย่าง TK Park ผมจัดให้อยู่ในประเภทนี้

          โดยส่วนตัว ผมคิดว่าห้องสมุดสองประเภทหลัง มีการปรับตัวและพัฒนาค่อนข้างรวดเร็ว ตามทันความเปลี่ยนแปลงพอสมควร แต่ห้องสมุดที่ในบทความพยายามเขียนถึง คือกลุ่มแรกที่เป็นห้องสมุดของรัฐ ซึ่งมีวัฒนธรรมองค์กรแบบราชการค่อนข้างมาก

            ต้องอธิบายก่อนว่า ห้องสมุดของรัฐส่วนใหญ่ แม้แต่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นห้องสมุดที่มีความเป็นทางการสูงมาก เขาก็มีการปรับตัวเหมือนกัน เพียงแต่ในความคิดเห็นของผม การปรับตัวของเขามักเป็นการปรับในเชิงกายภาพ เช่น ใช้วัสดุสมัยใหม่ในการปูพื้น ตกแต่งภายในให้ดูทันสมัยขึ้น หรือเพิ่มคอมพิวเตอร์เข้ามาเป็นอุปกรณ์สืบค้น แต่แก่นของห้องสมุดแบบเดิมๆ ยังไม่เปลี่ยน ไม่ได้มีคอนเซ็ปต์อย่างที่ห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ควรจะเป็น

ปัญหาของห้องสมุดรัฐไทยมีอะไรบ้าง

          มีสองปัญหาใหญ่ๆ ปัญหาแรกคือเรื่องความเป็นระบบราชการไทย โดยรวมยังมีอยู่เยอะมาก อาจลดหลั่นกันไปตามลักษณะขององค์กร ถ้าเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัย แม้จะเป็นหน่วยงานหนึ่งของราชการ แต่อาจมีการปรับตัวที่เป็นมิตร หรือมี service mind มากกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดแบบไหน ถ้ายังอยู่ในหมวดของห้องสมุดรัฐไทย ตัวโครงสร้างการบริหารจัดการ รวมถึงการบริการ ยังมีรากของระบบราชการฝังอยู่ไม่มากก็น้อย 

          ถามว่ารากของระบบราชการคืออะไร ก็คือการที่เขาไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนที่ให้บริการ (service) ประชาชน แต่จะมองว่าประชาชนคือผู้ที่จะต้องเข้ามาขอร้อง ขอใช้บริการ ขอความช่วยเหลือ ทัศนะแบบนี้จะอยู่ตรงข้ามกับการมี service mind อย่างแน่นอน

          ดังนั้นเมื่อเราเข้าไปในห้องสมุดประเภทนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต เราจะรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้เลย จะกลัวว่าเดี๋ยวทำอะไรผิดหรือเปล่า เวลาถามอะไรก็มักจะโดนบ่น หรือแสดงอาการไม่พอใจ นี่คือรากของปัญหาที่ใหญ่ที่สุด สิ่งเหล่านี้อาจดำรงอยู่ได้ในศตวรรษที่ 20 แต่ในศตวรรษที่ 21 มันไม่ได้แล้ว เพราะการเรียนรู้มันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ห้องสมุดในรูปแบบเดิมๆ จึงมีปัญหา เกิดช่องว่างมากขึ้น และยิ่งถอยห่างจากประชาชนไปเรื่อยๆ

          ปัญหาถัดมา ซึ่งเป็นบริบทของทั้งโลก คือห้องสมุดถูกมองว่าเป็นที่เก็บรวบรวมความรู้และอารยธรรมของมนุษยชาติ ฉะนั้นสถาปัตยกรรมหรือพื้นที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้จึงมีภาพลักษณ์ (image) ที่ค่อนข้างสูงส่ง ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่

          ในสมัยโบราณมีความเชื่อว่าคนที่มีความรู้คือคนที่ได้ยินเสียงจากพระเจ้า แล้วจึงนำความรู้นั้นมาถ่ายทอดเป็นหนังสือ คัมภีร์ หรือตำราต่างๆ ถึงแม้จะก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ แต่หนังสือยังเป็นตัวแทนของอารยธรรมในอดีต ดังนั้นองค์กรหรือสถาบันที่เราเรียกว่าห้องสมุด จึงยังมีภาพจำที่สูงส่งและศักดิสิทธิ์เหมือนเดิม ซึ่งมันยังให้บริการได้ดีในโลกศตวรรษที่ 20 หรือก่อนหน้านั้น เพราะกิจกรรมทางความรู้เป็นเรื่องของคนบางกลุ่ม เป็นพื้นที่เฉพาะของนักปราชญ์ราชบัณฑิต เศรษฐี ไฮโซ หรือคนที่อ่านออกเขียนเท่านั้น

          แต่พอเริ่มเข้าครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 21 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เนื่องจากความรู้ต่างๆ มันกระจายสู่คนทั่วไปมากขึ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ส่งผลให้ห้องสมุดในหลายประเทศเริ่มมีการปรับภาพลักษณ์และบทบาทห้องสมุดให้เท่าทันยุคสมัย โดยบริบทดังกล่าวก็แผ่เข้ามาที่ไทยด้วยเช่นกัน

  ถ้าพิจารณาเฉพาะห้องสมุดของรัฐไทย จะพบว่ามันโดนทั้งสองเด้ง คือยังมีรากของระบบราชการไทยอยู่ ขณะเดียวกันก็ยังยึดโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ สูงส่ง ยิ่งใหญ่ ห้องสมุดรัฐไทยจึงเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้างที่แยกห่างจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าวิเคราะห์เชิงสถาปัตยกรรม การออกแบบห้องสมุดยุคก่อนศตวรรษที่ 21 มีลักษณะอะไรที่สอดรับกับวิธีคิดที่ไล่เรียงมาบ้าง

          การออกแบบของห้องสมุดในแบบสากล ก่อนศตวรรษที่ 21 แน่นอนว่ายึดโยงกับภาพลักษณ์ที่มองว่าความรู้คือสิ่งสูงส่ง หนังสือคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เวลาสถาปนิกออกแบบพื้นที่เหล่านี้ จึงมักจะแทรกภาพของความเป็นสถาบันและความเป็นทางการเข้าไป ถ้าเราเสิร์ชดูห้องสมุดโบราณเก่าๆ จะพบว่ามีลักษณะแผนผังที่ค่อนข้างเป็นทางการ มีชั้นหนังสือสูงตั้งตระหง่านเป็นเป็นฉากหลังขนาดมหึมา เมื่อเข้าไปแล้วจะรู้สึกว่าตัวเล็กทันที เหมือนเวลาเข้าไปในโบสถ์หรือวิหาร แล้วอยู่ต่อหน้าพระประธาน แต่ในห้องสมุดเราอยู่ต่อหน้าองค์ความรู้ของมวลมนุษยชาติ เราจะรู้สึกว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่อยู่ต่อหน้าสิ่งที่มีอำนาจมาก 

          เรื่องความเงียบก็เช่นกัน ถ้าพิจารณาในแง่การยกย่องบูชาความรู้ มุมมองต่อความรู้ในสมัยก่อนก็คล้ายกับมุมมองต่อศาสนา คือผู้ที่จะมีความรู้ ต้องบำเพ็ญเพียร ต้องฝึกฝนเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ ต้องจริงจังกับกิจกรรมการอ่านเพื่อให้ปัญญาบังเกิด การอ่านหรือการจะได้มาซึ่งความรู้ จึงเป็นเรื่องจริงจังและสูงส่งมากๆ ฉะนั้นจึงต้องใช้พื้นที่ที่มีความเงียบขั้นสูงสุด เหมือนห้องบำเพ็ญเพียรอะไรบางอย่าง

          ด้วยเหตุนี้ ความเงียบจึงอยู่คู่กับห้องสมุดมาแต่โบราณ ถือเป็นเงื่อนไขแรกๆ ของการออกแบบห้องสมุดก่อนศตวรรษที่ 21 และในเมื่อการอ่านหนังสือเป็นเหมือนกิจกรรมบำเพ็ญเพียร คุณจะมาเอ็นเตอร์เทนไม่ได้ กินขนม ดื่มน้ำ ฟังเพลงไม่ได้ ห้องสมุดจึงเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างเฉพาะและแยกตัวออกมา นี่คือรูปแบบห้องสมุดสากล ซึ่งพอเข้ามาในประเทศไทย เราก็รับไอเดียนี้มาเช่นเดียวกัน

แล้วการออกแบบห้องสมุดในไทย เหมือนหรือต่างจากห้องสมุดสากลอย่างไร

          รูปแบบพื้นที่ หรือสถาปัตยกรรมของห้องสมุดรัฐไทยในช่วงแรก จะถูกออกแบบขึ้นภายใต้รูปทรงที่เป็นงานสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ เหมือนเอาหลังคาวัดมาครอบ เช่น หอสมุดแห่งชาติ หรือหอสมุดเมือง ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ดูมีความเป็นไทย และยิ่งตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ สูงส่งเข้าไปอีก พูดง่ายๆ คือเมื่อบวกกับรากความคิดและระบบราชการของไทย ความศักดิ์สิทธิ์สูงส่งมันเลยยิ่งทวีคูณ เป็นภาพลักษณ์แบบสากลที่ผสมเงื่อนไขแบบไทยๆ เข้าไปอีก

          ทีนี้เมื่อโลกมันเปลี่ยน รากความคิดแบบเดิมๆ เรายังคงไว้ ไม่ยอมทิ้งไป ขณะที่ฝั่งตะวันตกเขาทิ้งไปแล้ว ที่เห็นชัดคือการมองว่าหนังสือคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรายังต้องไหว้หนังสือ ห้ามเหยียบหนังสือ ห้ามวางหนังสือไว้ที่ต่ำ เชื่อไหมว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้าราชการในกรมศิลปากรยังมีพิธีกรรมบูชาหนังสืออยู่เลย เอาหนังสือมาตั้งและจุดธูปเทียนบูชา ยิ่งทำให้หนังสือกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปอีก

ในขณะที่ห้องสมุดทั่วโลกเปลี่ยนแปลงกันไปไกล แต่ห้องสมุดรัฐไทยยังอยู่ในสภาวะก้ำกึ่งว่าจะเปลี่ยนหรือไม่ ในความเห็นของคุณ คิดว่าเราสามารถเปลี่ยนได้หรือไม่ อย่างไร

          ผมคิดว่าเขามีศักยภาพในการเปลี่ยนแน่นอน และเขาควรจะต้องเปลี่ยน เพราะถ้าพูดกันตามตรง ห้องสมุดรัฐไทยคือห้องสมุดที่มีจำนวนหนังสือ พื้นที่ หรือแม้กระทั่งงบประมาณ รวมกันแล้วน่าจะมากที่สุดในสังคมไทย ฉะนั้นกลุ่มที่เรียกว่า ‘ห้องสมุดรัฐไทย’ ตามที่ผมพูดมา เป็นกลุ่มควรจะต้องเปลี่ยนที่สุด เพราะมันจะส่งผลต่อการเรียนรู้ของสังคมได้มากที่สุด

          อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ปัจจุบันเขาก็มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนแรกคือเปลี่ยนแปลงในเรื่องพื้นที่ให้ดูสวยงาม ซึ่งไม่ได้มีนัยยะสำคัญมาก ส่วนที่สองคือเปลี่ยนในแง่ที่เริ่มเอาหนังสือบางประเภท เช่น หนังสือหายาก มาแปลงให้เป็นหนังสือดิจิทัลหรืออีบุ๊ก ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แม้ว่าปริมาณที่ทำจะยังไม่น่าพอใจนักก็ตามในความคิดผม

          แต่ส่วนที่เขายังไม่เปลี่ยน แต่ผมเห็นว่าควรจะเปลี่ยนมากๆ คือ หนึ่ง เปลี่ยนมุมมองในการนิยามหน่วยงานหรือห้องสมุดที่ตัวเองมีอำนาจจัดการใหม่ทั้งหมด สอง ต้องรู้ว่าห้องสมุดในโลกปัจจุบันควรมีฟังก์ชันการใช้งาน หรือเปิดรับกิจกรรมใหม่ๆ อะไรบ้าง แล้วจึงนำไปสู่ขั้นตอนที่สาม คือการทำเรื่องของบเพื่อมาบูรณะ ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่ตัวเองมีอยู่ ให้สอดคล้องกับความเป็นห้องสมุดในโลกศตวรรษที่ 21 มากขึ้น 

ฟังดูเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน คุณมองว่าควรเริ่มเปลี่ยนจากจุดไหนก่อนดี

          ต้องเริ่มเปลี่ยนจากมายด์เซ็ตก่อนเลย ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่าบทบาทของตัวเองคืออะไรกันแน่ ตอนนี้เขามองว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่ปกป้องดูแลหนังสือที่สำคัญของชาติอยู่ และต้องคอยให้บริการคนที่อยากเข้ามาอ่านหนังสือเหล่านี้ เขาจึงมีหน้าที่คอยควบคุมและอนุรักษ์หนังสือเหล่านี้ให้ไม่เสียหาย อาจมีภารกิจอื่นๆ เพิ่มมาเล็กน้อย เช่น การแปลงหนังสือให้เป็นไฟล์ดิจิทัล หรือนานทีปีหนอาจมีจัดสัมมนาวิชาการที่เนื้อหาลงลึกเกี่ยวกับสาขาตัวเองสักครั้งหนึ่ง ผมว่าเขามีมายด์เซ็ตในการมองพันธกิจของตัวเองแบบนั้น

          แต่ในปัจจุบัน มายด์เซ็ตแบบนี้จะต้องถูกเปลี่ยน เขาจะต้องออกมาหาผู้คนในสังคมมากขึ้น ต้องทำกิจกรรมเชิงรุก ต้องพยายามแปลงความรู้หรือสิ่งที่ตัวเองมีเพื่อเผยแพร่ออกไปในหลากหลายช่องทาง เพื่อให้คนเข้าถึงความรู้ที่เขาถือครองไว้ให้มากที่สุด

          ผมคิดว่าห้องสมุดในโลกยุคใหม่ ต้องเป็นพื้นที่หรือสถานที่ที่คนสามารถค้นหาและเข้าถึงการเรียนรู้ได้ดีที่สุดในแบบที่แต่ละคนเป็น เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถยกระดับ พัฒนาตนเอง หรือแก้ปัญหาชีวิตได้ผ่านการเรียนรู้ใหม่ๆ ถ้าห้องสมุดรัฐไทยตระหนักได้ว่าตัวเองมีหน้าที่แบบนี้ เขาจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่าต้องปรับตัวอย่างไร

ในฐานะอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม คุณคิดว่าห้องสมุดยุคใหม่ ควรมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน และมีฟังก์ชันอะไรบ้าง

          ผมคิดว่าสิ่งที่ควรทำคือ หนึ่ง การลดหรือปรับสัดส่วนของพื้นที่ออกเป็นหลายส่วน โดยพื้นที่อ่านเงียบ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของห้องสมุด อาจต้องลดสัดส่วนลงมา ผมมองว่าพื้นที่อ่านเงียบยังมีความจำเป็น แต่อาจไม่ได้เป็นพื้นที่หลักของห้องสมุดเหมือนแต่ก่อน

          สอง ควรมีพื้นที่อ่านแบบเสียงดัง (brainstorming space) คือพื้นที่ที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ พื้นที่นี้จะต้องมีลักษณะที่เอื้อต่อการเรียนรู้สมัยใหม่ ต้องเพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสืบค้น ปริ๊น หรือการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ เพราะการเรียนรู้ในปัจจุบันไม่ได้มาจากหนังสือเพียงอย่างเดียว พื้นที่อ่านเสียงดังควรเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการได้มีปฏิสัมพันธ์หลายทาง ทั้งกับหนังสือ กับคนข้างๆ รวมถึงสื่อสารสนเทศต่างๆ

          สาม คือ co-working Space เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น อาจเป็นห้องกลุ่มย่อยๆ สำหรับทำงานแบบจริงจัง สามารถเดินออกมาค้นหนังสือหรือเชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆ ในห้องสมุดได้

          อีก 3-4 ส่วนที่ผมกำลังจะพูดถึง คือสิ่งที่คิดว่าจำเป็นต้องมีสำหรับ ‘ห้องสมุดในอุดมคติ’ ถ้าเกิดใครมีงบประมาณแบบไม่อั้น ควรทำให้ได้ถึงขั้นนี้ แต่ว่าถ้าไม่มีก็ลดทอนตามเงื่อนไขและบริบทได้ สิ่งแรกที่ผมคิดว่าควรมีคือโรงภาพยนตร์ หรือห้องดูภาพยนตร์ เพราะปัจจุบันโรงภาพยนตร์มีความเป็นธุรกิจมากๆ ทำให้ภาพยนตร์ที่เลือกมาฉาย มักมีแต่ภาพยนตร์ที่อยู่ในกระแส ส่วนโรงภาพยนตร์ทางเลือกก็มีแค่ไม่กี่แห่ง ห้องสมุดสามารถสร้างพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมาได้ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านภาพยนตร์ที่หาดูไม่ได้ในโรงทั่วไป

          ต่อมาคือห้องเกม ผมคิดว่าเกมคือพื้นที่การเรียนรู้แห่งใหม่ที่สำคัญมาก เพราะเดี๋ยวนี้เด็กสมัยใหม่ใช้ชีวิตอยู่ในเกมมากกว่าชีวิตจริงเสียอีก ถ้าเราปล่อยให้เป็นการเล่นเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ห้องสมุดเป็นพื้นที่ที่ดีในการผนวกเกมและการเรียนรู้เข้าด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นคุณน่าจะหาช่องเข้าเกมแล้วก็ให้ผนวกการเรียนรู้เข้าไปด้วย

          พื้นที่สุดท้ายคือ ‘ห้องสมุดสิ่งของ’ หรือ Library of Things ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมากๆ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยในโลก โดยเฉพาะในสังคมไทยที่อาจไม่ชอบการอ่าน แต่เขาสามารถเรียนรู้ผ่านสิ่งของต่างๆ ได้ เช่น เช่น 3D Printer, กล้องถ่ายรูป, เครื่องดนตรี, หรืออุปกรณ์ DIY ทั้งหลาย ห้องสมุดอาจมีอุปกรณ์เหล่านี้ให้ยืม โดยมีการอบรมก่อนนำไปใช้ นี่คือการส่งผ่านความรู้โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องไปอ่านหนังสือถ่ายรูป หรือหนังสือ DIY เป็นวิธีที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ไม่ได้ชอบการอ่าน แต่อาจชอบการพูดคุย หรือลงมือปฏิบัติ นี่คือห้องสมุดแบบ Full Option ในอุดมคติ

          แต่ถ้ามองตามความเป็นจริง Library of things ของแต่ละที่ อาจเปลี่ยนไปตามธรรมชาติหรือความถนัดของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ เช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ อาจมีบริการให้ยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์เบื้องต้น มหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม อาจมีเครื่องมือหรือเครื่องยนต์กลไกที่เตรียมไว้ให้บริการ 

จากฟังก์ชันที่ไล่เรียงมา สังเกตว่า co-working Space เป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน  การหลอมรวมพื้นที่แบนี้เข้ากับห้องสมุด มีข้อดีอย่างไรบ้าง

          ความจริงแล้ว co-working Space ได้รับความนิยมทั่วโลกเลย ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย แต่ในกรณีสังคมไทย ผมคิดว่ามันบูมขึ้นมาอย่างน่าเสียดาย เพราะส่วนใหญ่มันไปบูมนอกพื้นที่ห้องสมุด

          ในแง่การใช้งาน co-working Space เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเรียนรู้สมัยใหม่จริงๆ มีงานศึกษามากมายที่อธิบายว่าทำไมคนถึงชอบไป co-working Space ข้อสรุปหลักๆ คือ หนึ่ง พื้นที่แบบ co-working Space มันมีบรรยากาศที่สวยงามและเอื้อต่อการทำงาน คือไม่เคร่งเครียดเกินไป และมักจะมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ครบครัน ทั้ง WiFi เครื่องปริ้นท์ รวมถึงบริการเครื่องดื่มและอาหาร ซึ่งเหมาะกับการเรียนรู้สมัยใหม่ 

          ข้อต่อมาคือเรื่องความเงียบ เอาเข้าจริงบรรยากาศที่เงียบแบบสุดๆ ก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ไม่ได้เอื้อต่อการทำงานเท่าไรนัก แต่ถ้ามีเสียงเพลงคลอเบาๆ มีเสียงพูดคุยของโต๊ะอื่นในระดับที่ไม่ดังจนเกินไป หรือแม้แต่การที่เราเห็นผู้คนเดินไปมา มันคือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสมาธิในการทำงาน ช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงไม่แปลกที่พื้นที่แบบนี้จะได้รับความนิยมทั่วโลก

          แต่ประเด็นของผมคือ ในประเทศไทยพื้นที่เหล่านี้ดันไปบูมนอกพื้นที่ห้องสมุด ซึ่งน่าเสียดายตรงที่ว่า co-working Space ส่วนใหญ่เขาไม่มีหนังสือหรือเครื่องไม้เครื่องมือในการศึกษาหาข้อมูลเชิงลึกขนาดนั้น ต่างจากห้องสมุดที่มีทรัพยากรเหล่านี้อย่างครบถ้วน และหนังสือหรือ ข้อเสนอของผมก็คือว่า ทำไมเราจึงไม่รวมสองพื้นที่นี้เข้าด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ภาครัฐควรจะผลักดันให้เกิดขึ้น

          นอกจากนี้ ผมยังนึกไปถึงการดึงร้านขายหนังสือเข้ามาอยู่ในห้องสมุดด้วย ก็จะยิ่งครบวงจร ในแง่ที่ว่าถ้าเกิดเราอ่านหนังสือเล่มไหนแล้วรู้สึกสนใจ อยากเอากลับไปอ่านต่อที่บ้าน แต่ไม่สามารถยืมได้ หรือยืมได้โดยมีเงื่อนไขมากมาย ก็สามารถเดินไปซื้อที่ร้านหนังสือได้เลย

          โดยสรุป ผมคิดว่าพื้นที่ห้องสมุดในโลกสมัยใหม่ ควรจะต้องเป็น multi-functional Space หรือพื้นที่ที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ไม่ใช่ห้องสมุดที่เป็นเชิงเดี่ยวอีกต่อไป ถ้ามองแบบนี้จะเห็นได้ชัว่า ห้องสมุดในศตสรรษที่ 20 ก็สอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 20 หมายความว่าทุกอย่างถูกจำแนกแยกแยะตามฟังก์ชันของมัน ตั้งแต่ห้องสมุด ร้านอาหาร โรงหนัง ร้านกาแฟ โรงเรียน ทุกอย่างแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ในโลกโพสต์โมเดิร์นและโลกหลังศตวรรษที่ 21 เป็นต้นไป ทุกอย่างไม่ได้แยกขาดจากกันอีกต่อไปแล้ว และแนวโน้มการปรับตัวของห้องสมุดทั่วโลกก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

จากที่คุยกันมา คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาหรืออุปสรรคที่สำคัญที่สุด ในการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาห้องสมุดแบบรัฐไทย

          ถ้าให้เลือกเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่ามายด์เซ็ตของของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับห้องสมุดรัฐไทยในปัจจุบัน ยังติดอยู่ในกรอบแนวคิดของต้นศตวรรษที่ 20 อยู่ เขายังไม่ตระหนักว่าห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ต้องมีบทบาท หน้าที่ ความหมาย ภารกิจ และพันธกิจแบบใหม่แล้ว นี่คือปัญหารากเหง้าที่สำคัญที่สุด

            ห้องสมุดของรัฐไทยในปัจจุบัน ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ผมพยายามเสนอ สักวันหนึ่งมันจะตาย ไม่ได้ตายในแง่ของการถูกรื้อหรือปิดตัว แต่ตายไปจากชีวิตประจำวันของคนไทย กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนเข้า จริงๆ ทุกวันนี้ก็มีช่องว่างพอสมควรแล้ว ลองไล่ถามดูก็ได้ว่ามีสักกี่คนที่ยังเข้าห้องสมุดอยู่เป็นประจำบ้าง ถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยน สุดท้ายห้องสมุดจะกลายสภาพเป็นห้องเก็บของของรัฐ

พูดได้ไหมว่าสภาวะที่เกิดขึ้น เป็นเพราะรัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนเท่าไหร่

          ถ้าบอกว่าเขาไม่สนใจเลย ก็อาจไม่ถูกสักทีเดียว แต่เป็นไปได้ว่าเขายังสนใจไม่มากพอ และภายใต้ความสนใจนั้น แม้จะมีจุดประสงค์หรือเจตนาที่ดีในการส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ปัญหาคือวิธีการที่ใช้ ยังเป็นแบบราชการมากๆ และจำกัดวิธีการเรียนรู้อยู่เพียงไม่กี่แบบเท่านั้น พูดง่ายๆ คือถ้าเป็นห้องสมุด ก็ต้องอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นมุมมองที่แคบมาก

          ผมว่าปัญหาคือเขาปรับตามโลกไม่ทัน เขานึกหรือจินตนาการไม่ออกว่าการเรียนรู้มันมีอยู่ 100 ช่องทางแล้ว โลกไปไกลแล้ว แต่เรายังมองอยู่แค่ 1 2 หรือ 3 ช่องทางในแบบเดิมๆ

คำถามสุดท้าย ขอย้อนมาถามในมุมของคนทั่วไป มีเหตุผลอะไรที่เรายังต้องเข้าห้องสมุดอยู่

          สำหรับผม ถ้าห้องสมุดของรัฐไทยยังเป็นเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือห้องสมุดที่ไหนก็ตามที่ยังมีกรอบแนวคิดแบบเดิมๆ คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักศึกษา หรือมีความจำเป็นจะต้องไปหาข้อมูลในห้องสมุด ก็ไม่ต้องเข้าแหละ ถูกแล้ว เพราะมันไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเข้า การไม่เข้าห้องสมุดไม่ใช่เรื่องเสียหาย ไม่ต้องกังวลว่าถ้าไม่เข้าแล้วจะถูกหาว่าเป็นพวกไม่สนใจใฝ่รู้

          แต่ถ้าห้องสมุดสามารถเปลี่ยนตัวเองได้อย่างที่ได้บอกไป ผมคิดว่าคำถามนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นเลย เพราะคนจะรู้สึกว่าต้องไป สมมติห้องสมุดปรับตัวเป็น co-working Space ได้ในวันใดวันหนึ่ง คุณลองคิดดูสิว่าเขาจะเลือกไปที่ไหน ระหว่าง co-working Space ที่มีเพียงสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ไม่มีหนังสือให้เลือกดูเลือกใช้ กับห้องสมุดที่มีบริการแบบเดียวกันเป๊ะเลย มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง แต่มีหนังสือให้ยืมให้ค้นเดี๋ยวนั้น คนจะเริ่มไปห้องสมุดก็ต่อเมื่อห้องสมุดกลายเป็นความจำเป็นในวิถีชีวิตของคนจริงๆ


Cover Photo: เมธิชัย เตียวนะ / The101.world

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก