ชมัยภร บางคมบาง: นักวิจารณ์วรรณกรรมยุคบุกเบิกสู่การผลักดันนักวิจารณ์รุ่นใหม่

602 views
7 mins
July 30, 2024

          ชมัยภร บางคมบาง โลดแล่นอยู่ในวงการน้ำหมึกมาเกือบ 50 ปี จากจุดเริ่มต้นที่ชมรมวรรณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่วันนี้ที่ก้าวเดินอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยจนล่วงเข้าอายุ 72 ปีไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

          สุภาพสตรีท่านนี้โดดเด่นในหลายบทบาท ทั้งนักเขียนแนววรรณกรรมที่มีผลงานกว่า 90 เล่ม บรรณาธิการมือฉมัง เจ้าของรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2557 เป็นอาจารย์ผู้เป็นที่รักของลูกศิษย์ทุกวัย ทั้งยังเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมยุคบุกเบิกผู้เน้นย้ำเสมอว่า   

          “อยากให้การวิจารณ์ในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปยอมรับได้ เพราะการวิจารณ์คือการแสดงความคิดเห็นและการรับฟัง ถ้าไม่มีคนแสดงความคิดเห็นมาก่อน เราก็จะไม่รู้หรอกว่า เราควรจะรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างไร นี่คือความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”

          เส้นทางของชมัยภรกับงานวิจารณ์วรรณกรรมเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เมื่อปี พ.ศ. 2518 จนถึงคอลัมน์วิจารณ์วรรณกรรมในนิตยสาร สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ที่ยืนหยัดอย่างสง่างามมานานถึง 17 ปี เรียกได้ว่ายาวนานที่สุดในบรรดาบทวิจารณ์วรรณกรรม ถือเป็นประวัติการณ์ของวงการหนังสือในประเทศ และล่าสุดเธอยังเป็นผู้บุกเบิกโครงการ ‘ดวงใจวิจารณ์’ พื้นที่วิจารณ์วรรณกรรมเพื่อผลักดันนักวิจารณ์รุ่นใหม่ด้วย

ช่วยเล่าถึงตอนที่เริ่มเขียนวิจารณ์วรรณกรรมให้ฟังหน่อย

          พี่เริ่มต้นการเขียนด้วยงานวิจารณ์เพราะเป็นนักอ่าน อ่านหนังสือเยอะ แล้วยังมาเรียนอักษรศาสตร์ ซึ่งมีวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ ทำให้สนใจเรื่องการเขียนบทวิจารณ์ เคยเขียนบทวิเคราะห์วรรณกรรมไทยให้น้องๆ ในชมรมวรรณศิลป์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ปี 2518 น้องเขาจัดนิทรรศการวรรณกรรม เป็นการวิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน หลังจัดงานเสร็จก็พิมพ์รวมเล่มในชื่อ วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชน ตอนนั้นใช้ชื่อ ‘นศินี วิทูธีรศานต์’ พอพิมพ์ออกมาได้สองสามเดือนก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หนังสือเล่มนี้ก็เลยได้รับการประกาศให้เป็นหนังสือต้องห้าม เป็น 1 ใน 104 เล่มของคณะปฏิวัติ นามปากกานี้ก็เลยไม่เคยใช้อีกเลย 

          หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็มีสถานการณ์น่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้น คือ พี่น้องนักเขียนปัญญาชนหนีภัยการเมืองเข้าป่ากันหมด มีข่าวคนถูกจับกุมคุมขัง ถูกฆ่าตายเยอะ ตอนนั้นวงการวรรณกรรมมันซบเซา เกรงว่าทุกอย่างจะชะงักงัน ราวปี 2521 เราก็เลยรวมกลุ่มกับน้องๆ จากชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ที่เขาเรียนจบและทำงานแล้วประมาณ 10 คน ตั้งกลุ่ม ‘กลุ่มวรรณกรรมพินิจ’ แล้วชวนกันอ่านนิตยสารต่างๆ ตามแต่ใครจะตกลงอ่านเล่มไหน พิจารณาคัดเลือกเรื่องสั้นและบทกวีที่ลงในนิตยสารเหล่านั้น นัดเจอกันแล้วแต่ละเดือนก็มาสรุปว่าเดือนนี้จะวิจารณ์เรื่องไหน ชิ้นไหนดี พอสิ้นปีก็มาแสดงผลรวมอีกที เป็นผลงานดีเด่น 10 ชิ้นประจำปี

           ความจริงแนวคิดนี้ได้มาจากการคัดเลือกรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ จุฬาฯ ที่เราเคยทำกันตอนอยู่มหาวิทยาลัย ปรากฏว่าเรื่องที่เราทำรู้ไปถึงหู คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งกำลังทำนิตยสาร โลกหนังสือ เขาก็เลยเอาผลการพิจารณาไปลง โลกหนังสือ และมีการสัมภาษณ์กลุ่มพวกเราลง โลกหนังสือ เพื่อตรวจสอบคุณภาพการทำงานด้วย

แล้วร่วมงานกับ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ได้อย่างไร

          ตอนนั้นเองที่ คุณพรชัย วีระณรงค์ บรรณาธิการ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เกิดสนใจ ก็มาชวนให้พวกเราไปเขียนบทวิจารณ์ที่นั่น ตอนนั้นพี่เริ่มใช้นามปากกา ‘ไพลิน รุ้งรัตน์’ ไพลิน มาจากพลอยที่ดีที่สุดของเมืองจันท์ พี่เป็นคนจันทบุรีค่ะ และน้องๆ ในกลุ่มวรรณกรรมพินิจก็มาช่วยเขียนอีกหลายคน ทุกคนต้องใช้นามปากกา เพราะบ้านเมืองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ไม่ธรรมดา อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ได้ง่ายๆ น้องๆ ที่ช่วยกันเขียนบทวิจารณ์ลง สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ในตอนนั้นก็มี วิจักขณ์ ประกายเสน, เวณุวัน ทองลา, กรรแสง เกษมศานต์, คำดี เขมวนา, คำศร ศีตนิรุตต์ เป็นต้น

          กลุ่มวรรณกรรมพินิจก็ยังทำงานต่ออีกหนึ่งปี คือปี 2522 แล้วก็หยุดกิจกรรมกลุ่ม เพราะน้องๆ แยกย้ายกันไป เหลือพี่มีคอลัมน์เขียนบทวิจารณ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ อยู่คนเดียว เลยตั้งนามปากกาขึ้นมาอีกเป็น ‘บัวแพน นันทพิสัย’ และได้คอลัมน์เพิ่มเป็นสองคอลัมน์คือ ‘วรรณกรรมพินิจ’ กับ ‘หนังสือ’ พี่ก็เลยเขียนคอลัมน์ทั้งสองยาวนานจนถึงปี 2538 แถมยังมีคอลัมน์ ‘ลมหายใจกวี’ ให้ ไพลิน รุ้งรัตน์ ทำหน้าที่พิจารณานำบทกวีลงอีกหนึ่งคอลัมน์ด้วย

          เรียกว่า ไพลิน รุ้งรัตน์ ทำงานเต็มที่ จนปี 2538 หลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อนิจกรรม พี่ก็ยุติบทบาทใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ แต่มาเขียนประจำที่ สกุลไทย เป็นบทวิจารณ์และบทสัมภาษณ์ 

รู้สึกอย่างไรที่ นามปากกา ‘ไพลิน รุ้งรัตน์’ ทำงานวิจารณ์วรรณกรรมมาต่อเนื่องยาวนานถึง 17 ปี 

          การเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมลงใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ นานถึง 17 ปี ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลงานในฐานะนักอ่าน พี่ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักวิจารณ์ แต่ถือว่าเป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือเล่มไหนประทับใจ ก็เขียนเล่าให้คนอื่นฟัง

          สองปีแรกมีน้องๆ ในกลุ่มวรรณกรรมพินิจช่วยเขียน แต่หลังจากนั้น ต้องเขียนเองทุกอาทิตย์ นานๆ จะมีผลงานจากทางบ้านสักชิ้น แถมยังมีคอลัมน์บทความหรือบทสัมภาษณ์อีกคอลัมน์ด้วย  เพราะฉะนั้น ผลงานการวิจารณ์ที่พี่เขียนจึงเป็นเหมือนการรีวิว ไม่ได้ใช้ทฤษฎีการวิจารณ์อะไรที่แปลกใหม่ จะมีคุณค่าอยู่บ้างก็คือ การทำสม่ำเสมอ และทำให้นักเขียนรู้สึกได้ว่ามีคนพูดถึงหนังสือเขาอยู่

          ขณะเขียนนวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน พี่ก็มีคอลัมน์วิจารณ์ในนิตยสาร ขวัญเรือน ด้วย เขียนวิจารณ์เองบ้าง ลงบทวิจารณ์ของคนอื่นด้วย ชื่อคอลัมน์ ‘ดวงใจวิจารณ์’ และคอลัมน์นี้ก็มีคนเขียนบทวิจารณ์ส่งมาพอสมควร แต่ทำได้สักสองสามปีก็ปิดไป  ตอนหลังนิตยสารทั้งหลายก็ทยอยปิดตัวลง พื้นที่การวิจารณ์ก็เลยลดลงไปอีก โลกดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้น พื้นที่การเขียนการอ่านปรากฏในสื่อออนไลน์มากขึ้น

ในฐานะนักวิจารณ์ เคยได้รับคำวิจารณ์จากผู้อ่านบ้างไหม

          เคยมีบทวิจารณ์บางชิ้นที่ถูกวิจารณ์กลับมาว่าเขียนได้ไม่ดี ก็ยอมรับ รวมทั้งเคยมีปฏิกิริยาจากนักเขียนในระดับโต้ตอบเป็นบทความพิมพ์เป็นเล่มเลยก็มี แต่ก็เป็นเรื่องปกติของการวิจารณ์ พี่เขียนผิดพลาด บกพร่อง พี่ก็ยอมรับ แรกๆ อาจจะสะเทือนใจ แต่พอนานเข้าก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราวิจารณ์คนอื่นได้ คนอื่นเขาก็วิจารณ์เราได้ บทเรียนที่ชัดเจนที่สุดคือ การเป็นนักวิจารณ์ต้องละเอียดรอบคอบ และเป็นมิตรเสมอ

บทบาทของคุณในงานวิจารณ์วรรณกรรมช่วงหลังๆ มีเรื่องไหนที่ภูมิใจ 

          ปี 2560 มีน้องมาชวนไปขอทุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มาทำโครงการ ‘การวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยในสื่อออนไลน์’ ซึ่งเป็นการสานต่อจากงานวิจารณ์ที่เราทำพอดี เราก็เปิดเว็บไซต์ขึ้นชื่อ ‘ดวงใจวิจารณ์’ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเขียนบทวิจารณ์ ก็จัดให้มีการประกวดบทวิจารณ์เพื่อคัดเลือกลงในเพจเฟซบุ๊ก มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการวิจารณ์ในสถาบันการศึกษา

          พอทำออกไปก็สอดรับกับการสอนวิชาวรรณกรรมวิจารณ์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาพอดี  พอสิ้นสุดโครงการ จะมีผู้ได้รับการคัดเลือกบทวิจารณ์ลงเพจอย่างน้อยปีละ 40 คน เราเห็นประโยชน์ก็ขอทุนต่อ กองทุนไม่ให้ เราก็ไปขอหน่วยงานอื่นมาทำต่อจนได้ ทำต่อมาจนปีที่ 4  ย้อนกลับมาขอกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อีก ก็ได้ทุนมาทำต่อ และเห็นผลได้ชัดเจนว่าโครงการเป็นที่สนใจของครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนระดับมัธยมศึกษามาก  

          พี่ก็รู้สึกว่างานนี้เราต้องทำต่อไปอีกเรื่อยๆ คือ อยากให้การวิจารณ์ในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปยอมรับได้ เพราะการวิจารณ์คือการแสดงความคิดเห็นและการรับฟัง ถ้าไม่มีคนแสดงความคิดเห็นมาก่อน เราก็จะไม่รู้หรอกว่า เราควรจะรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างไร นี่คือความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คือการสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล มีการรับฟัง และมีการร่วมแสดงความคิดเห็นกลับ

เล่าถึงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยบ้าง ตอนที่คุณเป็นนายกสมาคมฯ มีความท้าทายอย่างไรบ้าง

          ปีที่พี่เข้าไปเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คือ ปี 2550 แต่ก่อนหน้านั้น ปี 2534-2542 ก็เคยทำงานสมาคมนักเขียนมาแล้ว ในตำแหน่งเลขาธิการสมาคมฯ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้รู้งานสมาคมหมดทุกแง่มุม การเข้ามาทำงานจึงเป็นเหมือนการเข้ามารื้อฟื้น สานต่อ และเพิ่มเติมส่วนที่ยังไม่ได้ทำ

          เมื่อเข้ามาปีแรกสิ่งที่อยากทำที่สุดคือ การทำให้ความเป็นสมาคมนักเขียนฯ ขยายตัวไปทั่วประเทศ ไม่อยากให้คำว่านักเขียนมีศูนย์รวมอยู่แต่ที่กรุงเทพฯ จัดงานอะไรก็จัดแต่ที่กรุงเทพฯ ก็เลยคิดโครงการสัมมนานักเขียนสี่ภูมิภาคขึ้นมา ปีแรกขอเงินทุนสนับสนุนจากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมได้ด้วย และตลอดเวลา 4 ปีที่ทำงานในฐานะนายกสมาคมนักเขียน จะมีการสัมมนานักเขียนทุกภูมิภาคทุกปี เพื่อให้นักเขียนต่างจังหวัดได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ได้รู้สึกมีส่วนร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนักเขียนส่วนกลาง โดยเปลี่ยนหัวข้อสัมมนาใหม่ทุกปี ปีแรกเป็นหัวข้อที่มุ่งไปที่นักเขียน ปีสองมุ่งไปที่นักอ่าน และปีสามมุ่งไปที่นักอ่านและนักเขียนพร้อมกัน ปีที่สามนั้นทำในหัวข้อ ‘ร้อยหนังสือในดวงใจนักเขียน ร้อยนักเขียนในดวงใจนักอ่าน’ และทำต่อเนื่องเป็นเชิงงานวิจัย ได้รายชื่อ ‘หนังสือ 101 เล่มในดวงใจนักอ่าน’ มาด้วย สนุกมาก

          การไปสัมมนาต่างจังหวัดถือเป็นการทำให้นักเขียนในภูมิภาคได้มีโอกาสแสดงความเป็นตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และได้พบปะสนทนากับนักเขียนจากภูมิภาคอื่น ได้เกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

          ส่วนอีกโครงการที่ท้าทายมากและถือเป็นการสานต่อจากนายกสมาคมฯ คนก่อน คือ คุณประภัสสร เสวิกุล ที่ริเริ่มไว้คือ การทำโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์กับนักเขียนเพื่อนบ้าน เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดในเรื่องวรรณกรรม งานแปล และการรวมเล่มงานเขียนของทั้งสองชาติในภาษาของแต่ละชาติ สมัยคุณประภัสสรได้เริ่มต้นกับกัมพูชาไว้แล้ว พี่ได้ทำต่อกับจีน (กวางสี) และมาเลเซีย และนายกฯ ในสมัยต่อมาก็ยังทำอีกหลายชาติเพื่อนบ้าน ส่วนที่น่าเสียดายคือ เราไม่มีเงินทุนมากพอ แม้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักศิลปวัฒนธรรมรวมสมัยมาส่วนหนึ่งแล้วก็ตาม

นักเขียนใหม่ๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับสมาคมนักเขียนฯ ได้อย่างไร

          คิดว่าสมาคมนักเขียนเอง ก็ตระหนักในปัญหานี้เป็นอย่างดี ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นิตยสารปิดตัวลงและพื้นที่ของนักเขียนกลายเป็นพื้นที่ดิจิทัลแทบทั้งหมด เราจึงเห็นโครงการที่สมาคมฯ จัดทำขึ้นเพื่อการกระตุ้นนักเขียน เน้นให้นักเขียนใหม่มีพื้นที่สำหรับการเผยแพร่ผลงาน นอกจากการร่วมมือกับองค์กรต่างๆเพื่อการประกวดรางวัลวรรณกรรมต่างๆ เช่น รางวัลซีไรต์ รางวัลยุวศิลปินไทย สมาคมยังเปิดพื้นที่ ‘รางวัลบรรณาธร’ รับงานเขียนพิจารณาเป็นประจำ ดังนั้น นักเขียนรุ่นใหม่ จึงสามารถมีส่วนร่วมได้ รวมทั้งเรื่องของการอบรมนักเขียนซึ่งทำต่อเนื่องมาจากที่พี่ทำไว้แล้ว

จากยุคแอนะล็อกสู่ยุคออนไลน์ ความเปลี่ยนแปลงหลังการมาถึงของโซเชียลมีเดีย และเทคโนโลยีอื่นๆ คุณคิดว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อวงการหนังสือ และพฤติกรรมการอ่านของคนไทย

          การเปลี่ยนยุคเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัวส่งผลกระทบต่อวงการหนังสือแน่นอน แต่พี่ก็เชื่อมั่นความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ เราพูดว่าหนังสือจะล่มสลายมาเกือบยี่สิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ล่มสลายเลย มันเป็นเพียงการปรับตัวของโลกตามความจำเป็นหรือตามความเป็นไป เมื่อไม่มีหนังสือเล่มให้อ่าน หรือไม่อยากอ่านหนังสือเล่มเพราะเขาเป็นคนรุ่นใหม่ แต่คนก็ยังอ่านผ่านสื่ออื่นๆ ได้ พี่เชื่อว่าตัวอักษรที่เป็นภาษาเขียนของการสื่อสารของแต่ละชาติจะไม่ตาย เพียงแต่อาจมีรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้น

ถ้าให้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ อยากแนะนำอะไรกับคนในแวดวงเดียวกัน และคนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาเป็นนักเขียน

          หัวใจสำคัญของการเขียนอยู่ที่เนื้อหาหรือสาระที่นักเขียนต้องการจะสื่อสาร ไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการนำเสนอ ไม่ได้อยู่ที่การขาย การตลาด จำนวนคนอ่าน หรืออะไรอื่นอีกมากซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่อยู่นอกการกำกับของเรา เราจึงไม่ควรไปจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้น หากต้องจดจ่ออยู่กับสาระหรือเนื้อหาของเรื่องที่เราเขียนและอยากสื่อสารต่อสังคม ทำมันออกมาให้บริบูรณ์ดังใจ ทำมันออกมาให้สุดจิตสุดใจและจริงใจ ส่วนการขายได้หรือการมีนักอ่านต้อนรับ  เป็นเรื่องของคนอื่น เป็นการประเมินของคนอื่น เป็นสายตาของยุคสมัย เราอาจเป็นแบบนักเขียนดังๆ ที่ตายไปก่อนงานจะได้รับการยอมรับก็ได้ หรือเราอาจจะเป็นเหมือนนักเขียนบางคนที่เขียนออกมาแล้วก็หายไปจากโลกเลยก็ได้ สิ่งนั้นไม่สำคัญ แต่สำคัญที่ว่าเราได้เขียนแล้ว เราได้ทำแล้ว ด้วยความตั้งใจที่ดี ผลมันจะเป็นอย่างไรไม่ใช่หน้าที่เราจะพิพากษา

มีอะไรฝากบอกกับผู้บริหารประเทศบ้าง

          มีเยอะเลย (หัวเราะ) มีเยอะจนไม่รู้จะพูดว่าอะไร รู้แต่ว่าถ้าเรามีผู้บริหารเป็นนักเขียนหรือกวีบ้างก็จะดี เขาจะได้จินตนาการถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ชัดเจน  

ทำงานมาหลากหลายบทบาท แถมไม่เคยหยุดนิ่ง คุณมีวิธีอย่างไรไม่ให้ตัวเองหมดไฟ

          วิธีทำให้ตัวเองไม่หมดไฟ พี่ไม่ทราบเลยค่ะ เพราะตลอดชีวิตมามีแต่อยากทำโน่นทำนี่ไปเรื่อย อาจมีเหนื่อยล้าหมดแรงบ้างในบางครั้ง แต่พี่เป็นคนทนเก่งค่ะ เดี๋ยวเดียวก็ปรับอารมณ์ได้แล้ว  สังเกตตัวเองนะคะ เพราะชีวิตไม่เปิดโอกาสให้ทุกข์เศร้านานค่ะ

           ชมัยภร บางคมบาง จบบทสนทนาด้วยรอยยิ้มอบอุ่นและแววตาเป็นประกาย ฉายแววของผู้ใหญ่ซึ่งผ่านร้อนหนาวมายาวนานแต่ก็ยังสุขใจที่จะแบ่งปันไฟในการทำงานให้แก่คนรุ่นหลัง


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก