ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น

216 views
6 mins
March 11, 2025

          “ห้องนี้เป็นห้องทำงานและห้องพักผ่อน ผมชอบดูหนัง เพราะมันมีเรื่องราวมากมายอยู่ในนั้น แน่นอน ผมยังชอบฟังเพลงด้วย เพลงช่วยผมโดยที่คิดไม่ถึงเลย ตามสบายนะ คุยเสร็จแล้วค่อยถ่ายรูป แต่คุณให้ผมเตรียมการหน่อยก็แล้วกัน คนดูภาพจะได้ไม่รำคาญสายตามากนัก” 

          รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล ขอให้ผมหยุดเครื่องบันทึกเสียงไว้ชั่วขณะก่อนจะเล่าเรื่องราวการสูญหายของต้นฉบับเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ ชัยคุปต์ นามปากกาที่ใช้เขียนเรื่องแต่งแนววิทยาศาสตร์ แต่เขาไม่อยากให้เผยรายละเอียดของเรื่องราวตรงนี้ จึงขอให้หยุดการบันทึกชั่วคราว 

          “เรื่องราวตรงไหนที่อาจารย์ไม่ประสงค์จะเผยแพร่ ผมจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดครับ” ผมบอกนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนสำคัญของประเทศ ก่อนที่ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานกว่า 80 ปี จะย้ำให้กดหยุดเครื่องบันทึกเสียงเป็นครั้งที่สองและบอกไว้เป็นหลักคิดว่า “อย่าคิดว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้” 

          โต๊ะทำงานของชัยคุปต์ติดชิดขอบหน้าต่างโต๊ะสะอาดเป็นระเบียบ ดาวเสาร์จำลองเรืองแสงตั้งอยู่บนโต๊ะ กล้องดูดาวและโมเดลยานอะพอลโลเป็นของเล่นเสริมสร้างจินตนาการระหว่างนักเขียนทำงาน ผนังทุกด้านภายในห้องเต็มไปด้วยหนังสือซีดีเพลง และแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ 

         “ห้องนี้เป็นห้องทำงานและห้องพักผ่อน ผมชอบดูหนัง เพราะมันมีเรื่องราวมากมายอยู่ในนั้น ผมยังชอบฟังเพลงด้วย เพลงช่วยผมโดยที่คิดไม่ถึงเลย ตามสบายนะ คุยเสร็จแล้วค่อยถ่ายรูปแต่คุณให้ผมเตรียมการหน่อยก็แล้วกัน คนดูภาพจะได้ไม่รำคาญสายตามากนัก” 

         “เป็นห้องที่สวยมากครับ” ในตอนนั้นผมสรรหาถ้อยคำสื่อสารที่เหมาะสมไม่พบ ผมอยากบอกเขาว่า เป็นห้องที่เหมาะกับการทำงานของนักเขียนมาก

ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น

ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น
ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น
ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น
ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น

          ก่อนหน้าที่เราจะเข้ามานั่งในห้องทำงานแห่งนี้ เจ้าบิ๊กแบง สุนัขสายพันธุ์บีเกิล เห่าต้อนรับผมตั้งแต่ยืนรอที่ประตูรั้ว “เจ้าบิ๊กแบงมันไม่กัดครับมันแค่อยากทำความรู้จักแขกที่มาเยี่ยมบ้านเท่านั้นเอง” เขาบอกก่อนนำทางผมเข้าบ้าน ระหว่างขึ้นบันไดไปยังชั้นสอง เราจะพบหนังสือวางซ้อนกันเป็นตั้งเรียงรายตามบันไดทุกขั้น ไล่เรียงชิดผนังจรดทุกด้านสมกับเป็นบ้านของนักเขียน หนังสือเหล่านี้เป็นเหมือนดวงดาว เก็บงำเรื่องราวในอดีต เผยเล่าต่อผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ ณ กาลปัจจุบัน  

          “เวลาคนมาสัมภาษณ์ผม พวกเขาก็มักจะถ่ายรูปแต่ในห้องนี้ บางครั้งเราก็เห็นใจคนอ่านนะ แต่มันเป็นชีวิตของผม” ชัยคุปต์ เล่า 

          ชัยคุปต์ เป็นนามปากกาของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล ผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงกิจกรรมที่เขามอบความรักให้ตั้งแต่วัยเด็กนั่นคือการแต่งเพลง  

         “เพลงที่ผมแต่งจะมี 2 ประเภท ประเภทแรกคือเพลงที่ผมแต่งให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ทุกวันนี้ก็ยังคงถูกขับร้องนะ เพลงอีกประเภทคือเพลงที่แต่งจากความรู้สึกของผม” ชัยคุปต์ เผยอีกตัวตนของนักวิทยาศาสตร์ “ผมชอบเพลงหีบเพลงชักมาก” 

          ประวัติและผลงานของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีปรากฏอยู่ในวารสารอ้างอิงระดับโลก จึงไม่ผิดเลยที่จะกล่าวว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่สร้างคุณูปการอย่างสูงต่อวงการวิทยาศาสตร์เมืองไทย ทั้งงานประพันธ์ บทความ สารคดี และงานวิชาการ 

          ด้วยวัยเกินกว่าแปดสิบ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังคงกระฉับกระเฉง กระตือรือร้น ความจำดี และยังเปี่ยมความฝันที่จะทำงานบนพรมแดนใหม่ๆ เหมือนนักวิทยาศาสตร์ผู้เดินทางสำรวจไปบนดินแดนที่ยังไม่มีคำตอบ  

          “สิ่งที่ยังอยู่ในใจของผม คือ ผมอยากทำซีรีส์หนังวิทยาศาสตร์เยาวชนครับ” เขาเล่าเหมือนนักเขียนหนุ่มฝันถึงการที่ผู้กำกับจะนำต้นฉบับของตนไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 

          “ผมอยากทำซีรีส์วิทยาศาสตร์แบบ The Twilight Zone, Amazing Stories หรือ Star Trek แต่เป็นซีรีส์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชนที่ผู้ใหญ่ดูได้ด้วย ไม่ใช่ดูเป็นเพื่อนลูกนะ แต่ผู้ใหญ่ดูแล้วต้องสนุกและน่าติดตาม แต่คงไม่มีฉากรุนแรง เลิฟซีนก็คงไม่มี ไม่ได้ละเว้นเรื่องความรักนะครับ แต่ไม่ใช่ความรักทั่วไป อาจจะเป็นความรักระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์เหมือนใน มนุษย์สองร้อยปี และเรื่องสั้นอื่นๆ (The Bicentennial Man) หรืออาจจะเป็นความรักระหว่างมนุษย์กับดวงดาว”

          โครงการทำหนังวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนของ ชัยคุปต์ เคยเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2531 ในตอนนั้น ทูน หิรัญทรัพย์ นักแสดงและผู้จัดละครมีแผนการสร้างละครวิทยาศาสตร์ จึงขอเรื่องจากนักเขียนชื่อดัง 

         “ตอนนั้นผมยังไม่มีเรื่องที่เหมาะสมให้คุณทูน เขาจึงใช้วิธีส่งคนเขียนบทมาหาผม สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง กระทั่งได้บทละครหนึ่งเรื่อง เพื่อนรักต่างมิติ ไอเดียของเรื่องมาจากแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เรื่องการแช่แข็งมนุษย์ ในเรื่องคุณกาญจนา จินดาวัฒน์ ป่วยแล้วถูกแช่แข็งเพื่อให้ฟื้นในอนาคต” 

ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น

          การอ้างอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างโลกในงานเขียนของชัยคุปต์ เป็นเหมือนแรงโน้มถ่วงที่ยึดเหนี่ยวจินตนาการของการประพันธ์ให้สัมพันธ์อยู่กับโลกความเป็นจริง ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างงานของนักเขียนอาวุโสท่านนี้ 

          “ต้องขอบคุณคุณทูนที่สร้างละครเรื่องนี้ออกมา แต่ผมก็ยังฝันว่าหากมีโอกาสได้ทำ เราน่าจะมีศักยภาพมากขึ้น มีความพร้อมมากขึ้น” แต่เพื่อนรักต่างมิติ เป็นเหมือนเชื้อเพลิงให้จรวดพุ่งตัวขึ้นไปสำรวจดาวดวงใหม่ เพราะหลังจากนั้น ชัยคุปต์ ตั้งโจทย์กับตัวเองว่า จะเขียนเรื่องสั้นเดือนละ 1 เรื่องให้ได้ครบ 100 เรื่อง เพื่อหวังจะนำมาทำหนังวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน  

          “ช่วงนั้นผมเขียนเรื่องสั้นให้นิตยสาร สวนเด็ก ซึ่งลงตัวเลย เขียนหลายปีนะกว่าจะครบ 100 เรื่อง มาถึงวันนี้ผมจึงมีเรื่องพร้อมแล้วที่จะทำหนังช่วงเริ่มต้นอย่างน้อย 100 เรื่อง อาจจะใช้ได้ไม่กี่เรื่องหรอก แต่ไม่เป็นไร ผมมีไอเดียในใจว่าถ้าโครงการนี้ไปต่อได้ ผมจะเปิดให้คนดูเขียนเรื่องส่งเข้ามา ก็เหมือน The Twilight Zone ตอนแรก ร็อด เซอร์ลิง (Rod Serling) เขียนคนเดียว ผมก็บ้าแบบเขานี่แหละ ตอนนี้เรื่องสั้นเหล่านี้ก็ทยอยรวมเล่มมาหลายเล่ม แต่ผมอยากจะมอบเล่มนี้ให้คุณ” 

          เขามอบหนังสือรวมเรื่องสั้น อุโมงค์ทะลุมิติ ให้แก่ผม แต่ละเรื่อง สั้นกระชับ สำนวนการเขียนของเขาลีนเหมือนนักกีฬา เขาสร้างโลกเฉพาะขึ้นมาโดยมีองค์ประกอบระหว่างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และจินตนาการในแบบงานประพันธ์ 

          ผมพบในภายหลังว่าเรื่องสั้นของชัยคุปต์เรียบง่าย ล้ำสมัย เปี่ยมอารมณ์ขัน และตั้งคำถามกับสังคมมนุษย์ ท้ายเรื่องสั้นแต่ละเรื่องจะมี ‘บทกล่าวตาม’ ที่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เขียนขึ้นเพื่อสนทนากับผู้อ่าน เรื่องที่ผู้อ่านได้อ่านจบไปนั้น มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์รองรับอย่างไร แวดวงวิทยาศาสตร์ศึกษาและพบคำตอบอะไรบ้าง รวมทั้งมีข้อถกเถียงอย่างไรในหมู่นักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นเสน่ห์ทางการอ่าน เหมือนที่เราจะพบความงามแบบนี้ได้จากการแหงนหน้ามองดวงดาว 

          “หนังแต่ละตอนอาจจะยาวแค่ 20 นาที” เขาวกกลับมายังโครงการสร้างหนังวิทยาศาสตร์ “แต่ผมขอเวลา 1 นาทีท้ายเรื่อง ที่จะโผล่หน้ามากลางอวกาศพูดถึงเรื่องราวที่ท่านเพิ่งได้ชม อะไรบ้างที่ตอนนี้ยังเป็นไปไม่ได้ อะไรบ้างที่ตอนนี้เป็นไปแล้ว อะไรบ้างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เหมือนส่วนท้ายที่ผมเขียนเพิ่มในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในเล่มอุโมงค์ทะลุมิติ แต่ผมจะจบด้วยคำพูดที่ว่า ‘อะไรก็ตามที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นไปได้เสมอ’ ซึ่งเป็นคำพูดของ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก (Arthur C. Clarke)” 

          เรื่องสั้น เผ่น ในเล่มอุโมงค์ทะลุมิติ ชัยคุปต์เซ็ตฉากเรื่องสั้นในเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองที่มีศูนย์ป้อนสัญญาณคลื่นวิทยุจากอวกาศเข้าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งตั้งอยู่บนดอยสุเทพ 

          เขาเล่าถึงช่วงเวลาที่มนุษย์ต่างดาวส่งสัญญาณมายังโลก มนุษย์ต่างดาวกำลังเดินทางมาเชียงใหม่เพื่อแสวงหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาร่วมกาแล็กซีกับพวกเขา ตัวละครในเรื่องไม่มีความหวาดวิตกมนุษย์ต่างดาว เมื่อมนุษย์ต่างดาวเดินทางมาถึงเชียงใหม่ก็ได้สนทนากับมนุษย์ ซึ่งก็ผ่านพ้นไปด้วยไมตรีที่ดีต่อกัน กระทั่งมนุษย์ต่างดาวได้สนทนากับสัตว์ วันรุ่งขึ้นมนุษย์ต่างดาวก็เผ่นหนีกลับดวงดาวที่จากมา 

          ท้ายเรื่อง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า เรื่องสั้นชุดนี้ต้องการแสดงถึงข้อถกเถียงของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการมาเยือนโลกของมนุษย์ต่างดาว ซึ่งความคิดส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ก้าวข้ามประเด็นมีหรือไม่มีมนุษย์ต่างดาวไปแล้ว 

          ประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกถกเถียงกันก็คือ มนุษย์ต่างดาว เมื่อมาถึงโลก จะมาอย่างมิตรหรือศัตรู ซึ่งแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม 

          กลุ่มแรก คือ คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) เป็นตัวแทนของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวจะมาอย่างมิตร 

          ขณะที่ สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) เป็นตัวแทนของนักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า มนุษย์ต่างดาวจะมาอย่างศัตรู แต่มนุษย์ต่างดาวในเรื่องสั้นของชัยคุปต์กลับทิ้งคำถามให้มนุษย์ว่า ทำไมพวกเขาจึงรีบเผ่นหนีกลับดาวที่จากมาหลังจากได้พูดคุยกับสัตว์ สัตว์เหล่านั้นสนทนาอะไรกับมนุษย์ต่างดาว ซึ่งเป็นการวิจารณ์สังคมผ่านเรื่องแนววิทยาศาสตร์ 

          “เรื่องราวทั้งหมดในเผ่น เป็นเรื่องที่เกิดในจินตนาการ แต่มิใช่จินตนาการบริสุทธิ์ โอกาสที่จะเกิดขึ้นจริง มีอยู่เสมอ นี่คือจินตนาการวิทยาศาสตร์ ที่เรียกกันว่า นิยายวิทยาศาสตร์” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เขียนไว้ท้ายเรื่องสั้นเรื่องเผ่น

ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น

          นอกจากความรักในการประพันธ์นิยายวิทยาศาสตร์ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังศึกษางานประพันธ์แนววิทยาศาสตร์อย่างเป็นวิชาการเหมือนคนที่หลงใหลในดวงดาว เพราะมีเรื่องราวของวันก่อนซ่อนอยู่ในแสงที่ส่องมายังโลก  

          เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์เรื่องแรกของไทย คือ หน้าผี ของ หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ตีพิมพ์ใน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ เมื่อปี 2462 เรื่องสั้นเรื่องต่อมาคือ การทดลองของศาสตราจารย์ ประพันธ์โดย ครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) เมื่อปี 2467 แต่ยุคทองของนิยายวิทยาศาสตร์เริ่มต้นที่ จันตรี ศิริบุญรอด ผู้ได้รับการยกย่องเป็นบิดานิยายวิทยาศาสตร์ไทย นับว่าเป็นผู้บุกเบิกการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนสำคัญ ก่อนที่จะมีนักเขียนรุ่นต่อมาเดินทางบนเส้นทางสายนี้ ไม่ว่าจะเป็น นิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์, วีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์, ณัฐ ศาสตร์ส่องวิทย์, สมเถา สุจริตกุล รวมถึง ชัยคุปต์ ซึ่งเขียนนิยายวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงงานสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ทุกแขนง 

          “จริงๆ แล้วไม่เฉพาะนิยายวิทยาศาสตร์ เพราะนิยายเรื่องแรกที่ผมเขียนคือ หัวใจไม่มีสิทธิ์ เป็นนิยายรักโรแมนซ์ แต่หลังจากการเรียนรู้และการศึกษา การได้พบกับ ไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) และ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก ก็เป็นเหมือนการขยายพรมแดนความสนใจของผมไปยังนิยายวิทยาศาสตร์” 

          ชัยคุปต์ผละจากโต๊ะทำงานไปยังชั้นหนังสือฝั่งหนึ่งของห้องก่อนจะกลับมาพร้อมสมุดบันทึกปกหนังเก่าคร่ำ 

         “บุคคลสำคัญสำหรับผมมี 3 คน ไอแซค อาซิมอฟ, อาเธอร์ ซี. คลาร์ก และ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คิดว่าในชีวิตนี้ถ้ามีโอกาสได้เจอ 3 คนนี้ ก็ตายตาหลับแล้ว นี่ไงผมจดไว้ ผมพบไอแซค อาซิมอฟ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2520 ผมพบ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2523” ชัยคุปต์ เปิดสมุดบันทึกหน้าต่อไปพลางหัวเราะ 

          “ตอนนั้น ผมได้รับเชิญจากทางการของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 เดือน ผมทำอะไรก็ได้ หรืออยากพบกับใครก็ได้ แต่อยู่ในกรอบของการศึกษา วิทยาศาสตร์ หรือด้านสังคม ชื่อแรกที่ผมอยากเจอคือ ไอแซค อาซิมอฟ อีกคนคือคนเขียนตำราฟิสิกส์เล่มสำคัญของโลก ประเทศไทยก็ใช้ในการเรียนการสอน เขาชื่อ เอ็ดเวิร์ด เจ. ฟินน์ (Edward J. Finn)” 

          บุคคลที่เขาเลือกพบสะท้อนความสนใจที่ผสมผสานระหว่าง fiction กับ non-fiction “สำหรับ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก เราคุยกันที่ศรีลังกา ตอนนั้น อาเธอร์ ซี. คลาร์ก กำลังงอนสหรัฐฯ และนาซา ก็เลยประท้วงหยุดเขียนหนังสือ เพราะสหรัฐฯทุ่มเทเงินทองทรัพยากรเยอะแยะไปดวงจันทร์ แต่แทนที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ กลับต้องการเอาชนะแค่รัสเซียมากกว่าประโยชน์ของคนหมู่มาก ผมถามอาเธอร์ ซี. คลาร์ก ว่าจะหยุดเขียนตลอดไปไหม เขาบอกว่าไม่มีทางหยุดเขียนไปตลอดหรอก หลังสถานการณ์เปลี่ยน เขาจะกลับมาเขียนใหม่ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลับมาเขียนใหม่ เป็นเรื่องที่ดีมากๆ ด้วย 

          “The Fountains of Paradise เป็นเรื่องของการสร้างลิฟต์อวกาศจากโลกถึงอวกาศ อาเธอร์ ซี. คลาร์ก จะมีบุคลิกขรึมๆ แต่ผมกับอาซิมอฟจะคล้ายกัน คือความคิดกระโดดไปกระโดดมา คุยกันเรื่องหนึ่งไปโผล่เรื่องหนึ่ง” เขาหัวเราะและทำให้ผมมองเห็นบุคลิกของ ไอแซค อาซิมอฟ ผ่านน้ำเสียง และความกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องของชัยคุปต์ 

          หลังจากเรียนจบปริญญาเอก รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เดินทางกลับประเทศไทยในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 เริ่มงานวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัยควบคู่กับงานประพันธ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์  

          “ผมเขียนทั้งบทความวิทยาศาสตร์ บทความเกี่ยวกับนิยายวิทยาศาสตร์ รวมถึงแต่งเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์และเรื่องสั้นทั่วไปลงตีพิมพ์ แต่เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์กลายเป็นที่ได้รับความสนใจมาก” 

          เรื่องสั้น The Mission to Earth ของเขาได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ Heyne จากประเทศเยอรมนี ขอลิขสิทธิ์เรื่องสั้นเรื่องนี้ไปแปลเป็นภาษาเยอรมันตีพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ร่วมกับนักเขียนระดับโลก ตีพิมพ์ออกมาใน ค.ศ. 1983  

          “ก็กลายเป็นว่า ถ้าพูดเรื่องการเขียน ผมเขียนนิยายวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่นิยายวิทยาศาสตร์ที่ผมเขียนและสนใจ ไม่ได้เกี่ยวเฉพาะเรื่องสเปซแอนด์ไทม์ หรือยานอวกาศ แต่เป็นเรื่องของชีวิต 

          “เพียงแต่มันเป็นชีวิตที่อาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่มันสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ มันจะมีทั้งความงดงาม ความน่าทึ่ง และน่ากลัว ถึงระดับสิ้นโลกได้ หน้าที่หนึ่งของนิยายวิทยาศาสตร์คือการเป็น warning literature คอยเตือนว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามนุษย์เดินไปทางนี้”

ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น

“ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิต และวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น”

          ชัยคุปต์บอกถึงแก่นของตัวตน เหมือนนักวิทยาศาสตร์อธิบายแก่นของโลกที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ  

          “ทุกวันนี้อาจารย์เขียนต้นฉบับด้วยวิธีไหนครับ” 

          “ชอบที่สุดคือเขียนด้วยลายมือ ผมจะเอาต้นฉบับที่ผมเขียนให้ดู” เป็นอีกครั้งที่ชัยคุปต์ผละจากคู่สนทนาตรงหน้าไปค้นหนังสือบนชั้น เขาใช้เวลาไม่นานในการหาว่าหนังสือที่เขาเพิ่งพูดถึงไปนั้น เสียบอยู่ตรงไหนบนชั้นที่มีหนังสือหลายพันเล่ม 

         “เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็จะส่งต้นฉบับทางไปรษณีย์ไปให้บรรณาธิการ ยกเว้นกรณีเร่งด่วนจริงๆ” 

          ปัจจุบัน รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เขียนคอลัมน์ เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์ ให้ ไทยรัฐออนไลน์ เนื่องจากเป็นงานที่เผยแพร่ทางออนไลน์ ทำให้วิธีการทำงานด้วยการเขียนแบบเดิมอาจจะไม่เหมาะ เพราะจะไม่ทันเงื่อนไขของเวลา เขาจึงยอมพิมพ์ต้นฉบับด้วยคอมพิวเตอร์ส่งงานให้สำนักข่าวออนไลน์ 

          “แต่ผมไม่ได้พิมพ์เองนะ เพราะถ้าผมพิมพ์เองจะล่าช้ามาก คือผมทำเองได้ แต่ผมมีข้อคิดของผมว่าคนเราอย่าเก่งและทำเป็นทุกอย่าง เพราะมันจะหลงตัวเองได้ง่าย สุดท้ายจะโดดเดี่ยว จะไม่มีใครทำอะไรถูกใจเราไปหมด ผมรักการเขียนหนังสือ มีความสุขในการค่อยๆ สกัดความคิดผ่านปลาย ปากกา ถ้าผมพิมพ์ในคอมพิวเตอร์เอง ผมก็จะไม่ต้องพึ่งพาใครเลย สุดท้ายจะกลายเป็นคนที่ต้องอยู่คนเดียว ผมจึงต้องพึ่งคนอื่น ซึ่งมันดีนะ”  

          นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์ Big News ในนิตยสาร ต่วย’ตูน พิเศษ ซึ่งเป็นการหยิบเอาข่าวสารความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาเขียนเล่าให้แก่ผู้อ่าน 

          “ผมคัดเลือกเรื่องราวของสิ่งที่เกิดขึ้นในวิทยาศาสตร์ หรือผลจากวิทยาศาสตร์ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อทุกอย่าง ยกเว้นช่วงวาระพิเศษ เช่น เดือนพฤศจิกายน จะเป็นสกู๊ปพิเศษรางวัลโนเบล เพราะรางวัลประกาศเดือนตุลาคม แต่ต้นฉบับต้องเขียนล่วงหน้า ก็จะเป็นสกู๊ปพิเศษในเดือนพฤศจิกายน”

ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น

          รูทีนชีวิตในวัยแปดสิบกว่าปียังมีคอลัมน์ ย้อนอดีตคนโคราช ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่เหมือนบันทึกความทรงจำของเขาในช่วงวัยเยาว์ 

          “อันนี้เป็นคอลัมน์ประจำ แต่มีข้อตกลงพิเศษว่าไม่ต้องลงทุกฉบับ ย้อนอดีตคนโคราชเป็นเรื่องราวในความทรงจำของผมที่เคยพบเจอมา ซึ่งเขียนยากนะ เพราะมันเป็นเรื่องของตัวเรา แต่เรื่องราวมันเข้าแถวเรียงคิวกันเข้ามา มันเป็นเรื่องประหลาดนะครับ บางทีมันแย่งกันเอง เขียนเรื่องนี้ก่อนสิ เขียนเรื่องนั้นก่อนสิ มันทะเลาะกันเอง ผมก็ปล่อยเวลา แล้วค่อยจับมาเขียน มันก็ดีครับ ทำให้เราไม่ pressure” 

          วิทยาศาสตร์อยู่ในกิจวัตรประจำวันของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 40 ปี เขาคือคนรักของวิทยาศาสตร์ เขามองวิทยาศาสตร์ตามแง่มุมของความเป็นจริง ไม่ได้ยกย่องจนเกินจริง ไม่ได้ปรักปรำจนเกินจริง แต่มองเห็นทั้งแง่งามและด้านมืด  

          “วิทยาศาสตร์ต้องเดินหน้า ผมเชื่อว่าเป้าหมาย สูงสุดของวิทยาศาสตร์คือสร้างให้ชีวิตมีคุณค่า ก็อยู่ที่เราเองว่าจะใช้อย่างไร มนุษย์ทุกคนไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างครับ ผมก็ยังอยากบอกว่า ไม่มีใครชอบคนรู้ทุกอย่าง เก่งทุกอย่าง เพราะคนที่เก่งทุกอย่างไปเสียคนเดียว รู้หมดทำได้ทุกอย่าง จะเป็นคนที่เหงาที่สุดในโลก” 

          ไอแซค อาซิมอฟ คงเป็นเช่นนี้ เล่าถึงดวงดาวแต่ชั่วครู่ก็กล่าวถึงปีกของผีเสื้อ แต่การกระโดดไปมาของความคิดกลับเชื่อมโยงถึงกัน  

          “ช่วงเวลานี้ของชีวิต หน้าที่หนึ่งของผมคือการกล่าวคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาว คำหนึ่งที่ผมมักกล่าวอยู่เสมอ ก็คือ ขอให้มีชีวิตยืนยาว แต่ให้รักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้เสมอ เพราะเรื่องเศร้าที่สุดของคนแก่ คือการมีเรื่องดีๆ จะเล่า แต่ไม่มีใครสนใจจะฟัง เพราะคนที่สนใจอาจจะจากไปแล้ว หรือคนที่ยังอยู่ด้วยกันเขาไม่สนใจฟังแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้มา ก็พยายามใช้ชีวิตธรรมดาที่สุด ผมชอบที่สุดคือชีวิตที่ธรรมดา เดินไปไหนมาไหนด้วยรองเท้าแตะ อยากจะร้องเพลง อยากจะแต่งเพลง” 

          หลายวันต่อมา ผมโทรศัพท์ไปพูดคุยกับนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนสำคัญของประเทศอีกครั้ง ผมถามเขาว่า เขาคิดว่างานเล่มไหนเป็นงานชิ้นเอกของตนเอง 

          “ตลกนะ งานชิ้นนั้นกลับเป็นงานที่ผมเขียนไม่จบ ชื่อว่า เพลงแห่งจักรวาล ตอนนั้นผมเขียนเป็นเรื่องยาวทยอยตีพิมพ์เป็นตอนใน สยามรัฐรายวัน แต่หลังจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช สิ้นไปแล้ว ผมก็ไม่ได้เขียนต่อ แต่ประเด็นของมันยังสามารถอยู่ได้อีกเป็น 100 ปี ยังไม่ทิ้งนะ ยังอยู่ในสมอง ซีนจบของเรื่องยังอยู่ในสมอง” 

          เพลงแห่งจักรวาล ยังคงบรรเลง ยังไม่จบ

ชัยคุปต์ ในเพลงแห่งจักรวาล: ผมสนใจเรื่องราวทั้งหมดของชีวิตและวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)


RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก