ห้องสมุดกลางแห่งใหม่ของเมืองคัลการี ประเทศแคนาดา เปิดให้บริการวันแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2018 เป็นผลงานออกแบบสถาปัตย์ร่วมสมัยระดับมาสเตอร์พีซที่ดึงดูดทุกสายตาผู้พบเห็น และสร้างความภาคภูมิใจอย่างยิ่งให้กับชาวเมือง
ความแปลกใหม่ของห้องสมุดกลางแห่งใหม่ในเมืองคัลการี คือการออกแบบให้สร้างคร่อมทางรถไฟฟ้ารางเบาซึ่งมีอยู่แล้วก่อนหน้า ส่วนหนึ่งของอาคารระดับพื้นดินถูกเจาะเป็นอุโมงค์ความยาว 135 เมตร พื้นชั้นล่างบริเวณนี้จึงมีรูปทรงเหมือนสะพานโค้งเพื่อให้ขบวนรถไฟลอดผ่านได้ โดยห้องสมุดได้จัดเก้าอี้ไว้ในโซน ‘ห้องนั่งเล่น’ สำหรับให้ผู้ใช้บริการสามารถนั่งชมขบวนรถไฟวิ่งแล่นผ่านไปมาตลอดทั้งวัน นับเป็นโครงการที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์การออกแบบที่โดดเด่นน่าจับตา และกลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองไปในทันที
แนวคิดการตกแต่งได้แรงบันดาลใจมาจากรูปลักษณ์ของกลุ่มเมฆที่ถูกพัดพามาโดยสายลมชินุค (ชื่อลมประจำถิ่นในเขตทุ่งหญ้าแพรรี่ของแคนาดา พัดมาจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก) ซุ้มทางเข้าอาคารเป็นหลังคาไม้ทอดแนวยาวตลอดตัวอาคารด้านหน้า ผ่านประตูทางเข้าจะพบโถงขนาดใหญ่ กำกับสายตาด้วยแนวคดโค้งของระเบียงทางเดินไม้ การตกแต่งภายในด้วยโครงสร้างเป็นรูปโค้ง แต่เชื่อมต่อไขว้ไปมาในแต่ละชั้น ต้องการบ่งบอกถึงที่ตั้งของห้องสมุดซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างย่านกลางเมืองของคัลการีกับย่านอีสต์วิลเลจซึ่งเป็นพื้นที่ชานเมืองที่กำลังถูกพัฒนาตามทิศทางการขยายตัวของเมือง
ภายนอกอาคารตกแต่งให้มีลักษณะคล้ายการตัดแปะ (Collage-Like) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในซึ่งเน้นพื้นที่หลากหลายประเภท แตกต่างไปตามระดับความเป็นส่วนตัวของการใช้งาน ผนังอาคารใช้กระจกสลับวัสดุผิวทึบทำให้ผู้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมสามารถมองออกมายังถนนภายนอกได้ ขณะที่พื้นที่อ่านเงียบๆ จะอยู่ในส่วนผนังทึบที่ไม่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก
ผนังทางเข้าอาคารเป็นผลงานภาพเขียนสีของชนพื้นเมืองดั้งเดิม (First Nations) ใกล้ๆ กันเป็นประติมากรรมโลหะรูปวัวป่าไบซันและตัวอักษรภาษาพื้นเมือง เมื่อเดินเข้ามาที่ชั้นหนึ่ง เป็นโซนหนังสือทั่วไป มีร้านกาแฟ และห้องประชุมขนาด 320 ที่นั่ง สำหรับจัดกิจกรรมนักเขียนพบนักอ่าน ฉายภาพยนตร์ หรือการบรรยายต่างๆ
ขึ้นบันไดไปยังชั้นลอย เป็นห้องสมุดเด็กขนาด 12,000 ตารางฟุต มีหนังสือสำหรับเด็กและของเล่นสารพัด มีสนามเด็กเล่นขนาดย่อมไว้ปีนป่าย ชั้นเรียนสำหรับกิจกรรมสอนอ่าน พร้อมหนังสือสนุกๆ และแบบฝึกหัด บอร์ดเกม รวมถึงแท็บเล็ตสำหรับให้ยืมออกไปได้
ชั้นสองเป็นพื้นที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยนความคิด โซนหนังสือนวนิยายและวรรณกรรม ชั้นสามเป็นพื้นที่สำหรับวัยรุ่น จัดสรรให้เป็นพื้นที่ทดลองเรียนรู้ (Learning Lab) บูธนั่งอ่านหนังสือ และห้องประชุมพูดคุยกลุ่มย่อยหรือทำงานกลุ่ม มีห้องทำงานสำหรับนักเขียนท้องถิ่น ชั้นสี่คือโซนอ่านหนังสือแบบเงียบ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งสบายๆ มีหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสตูดิโอสำหรับศิลปินท้องถิ่น
ชั้นหนังสือของที่นี่ออกแบบความสูงให้ต่ำกว่าระดับสายตา เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการมองเห็นโครงสร้างเสาคอนกรีตสูงจรดเพดานที่เป็นรูปทรงสวยงามราวกับวิหารโบราณของกรีก นับเป็นการออกแบบห้องสมุดที่สุดจะแหวกแนว เพราะนำเอารูปแบบร่วมสมัยมาผสมกับสไตล์สุดโบราณไว้ด้วยกัน
ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) ประธานและซีอีโอบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมืองคัลการี ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในโครงการห้องสมุดใจกลางเมืองแห่งนี้ กล่าวว่า ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เพียงเอื้ออำนวยให้ชุมชนเติบโตท่ามกลางความหลากหลาย แต่ยังจะสอนบทเรียนสำคัญให้กับผู้ใช้ห้องสมุดในเรื่องการยอมรับความแตกต่างด้วย
“ไม่มีสถานที่ใดจะมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งไปกว่าห้องสมุดประชาชนอีกแล้ว ที่นี่มีเสรีภาพ และเปิดกว้างต้อนรับทุกคน เราหวังว่าผู้ใช้ห้องสมุด โดยเฉพาะเด็กๆ และวัยรุ่น จะได้เรียนรู้เมื่อเข้ามาห้องสมุดว่า มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างคนไร้บ้านกับอาชญากร ยิ่งถ้าหากพวกเขาได้เห็นคนไร้บ้านเข้ามานั่งอ่าน และใช้คอมพิวเตอร์หรือค้นข้อมูลหางาน นั่นยิ่งเป็นเรื่องที่วิเศษ เพราะมันสำคัญมากที่ห้องสมุดจะสอนให้พวกเขาเข้าใจว่า โลกนี้มีความหลากหลายและซับซ้อนเพียงใด”
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดของห้องสมุด แมรี่ คาพุสตา (Mary Kapusta) เน้นว่าการเข้าใช้งานภายในอาคารมีความปลอดภัยสูง มีกฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่รัดกุม ชัดเจน แต่ไม่แบ่งแยกกีดกัน และไม่มีระเบียบที่ขัดขวางเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และการแสดงออก
เงินลงทุน 245 ล้านเหรียญกับอาคาร 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยกว่า 240,000 ตารางฟุต (22,300 ตารางเมตร) พร้อมหนังสือใหม่กว่า 450,000 รายการ สามารถเรียกที่นี่ได้ว่าเป็น ‘ศูนย์กลางวัฒนธรรมของการเรียนรู้และนวัตกรรม’
บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะไม่มีโต๊ะเก้าอี้ทำงานประจำของตนเอง เพราะทุกคนต้องพร้อมเสมอที่จะเดินไปพบปะผู้ใช้บริการที่ต้องการความช่วยเหลือซึ่งมีความหลากหลายและต่างก็มีปัญหาเฉพาะตัว จะว่าไปแล้วนี่เป็นงานที่เหมือนกับการวิจัยความต้องการเชิงลึกของลูกค้าในอีกรูปแบบหนึ่ง
บทความของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ แนะนำห้องสมุดกลางคัลการีให้เป็นหนึ่งใน ‘52 สถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องเยี่ยมชม’ ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและชาวต่างชาติจำนวนกว่า 5 แสนคนหลั่งไหลแวะเวียนเข้ามาที่นี่ในช่วงสามเดือนแรกของการเปิดให้บริการ
ที่มา
บทความ “The New Central Library” จาก atlasobscura.com (Online)
บทความ “Calgary’s $245M New Central Library opens doors to public” จาก calgaryherald.com (Online)
บทความ “Central Library” จาก calgarymlc.ca (Online)
บทความ “Snøhetta and Dialog’s New Central Library for Calgary opens” จาก dezeen.com (Online)