เมืองภาพยนตร์ ‘ปูซาน’ ระบบนิเวศและคลังสมองของอุตสาหกรรมหนังเกาหลี

2,131 views
August 15, 2022

          จอฉายภาพยนตร์ยักษ์ตามลานคนเมือง หรือจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ชักชวนแก๊งเพื่อน ครอบครัว คู่รัก หรือปัจเจกให้ออกจากบ้านมาจับจองหน้าเวที เดินกินลูกชิ้นปิ้ง หรือฟังเสวนาในงานเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ที่จัดขึ้นโดย กทม. และอีกหลากหลายผู้สนับสนุน เช่น สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ หรือสมาคมหนังกลางแปลง ซึ่งนี่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เห็นมานาน และอาจจะไม่เคยเห็นเลยในรอบหลายสิบปี

          หากใครได้ไปเยือนสักครั้ง จะสังเกตเห็นบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เช่น ลานคนเมือง บริเวณเสาชิงช้า ที่ปกติจะเป็นลานโล่งๆ ไม่ค่อยมีการจัดกิจกรรม เมื่อมีบูทมาตั้ง ก็เกิดรถเข็นขายอาหารหรือสินค้าของชุมชนละแวกนั้น ไหนจะเวทีเสวนาย่อมๆ ที่ทำให้พื้นที่โล่งกลับกลายเป็นมีสีสันแม้ในยามฝนตกหนัก ผู้ชมหลายคนใส่เสื้อกันฝนนั่งจับจองพื้นที่หน้าจอ รวมความหลากหลายของผู้คนเข้าไว้ด้วยกันอย่างชัดเจน

          ปรากฏการณ์ฉายภาพยนตร์ในพื้นที่ต่างๆ ตามเมือง มีความคล้ายคลึงกับหนึ่งในกิจกรรมของการเปิดพื้นที่เพื่อฉายภาพยนตร์ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่า และมีขอบเขตกว้างเพียงระดับชุมชน แต่ในแง่ของคอนเซ็ปต์นั้นก็ถือว่าเป็นการถอดบทเรียนการใช้พื้นที่เมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้สังคม โดยใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือ 

          ที่ปูซาน พื้นที่เมืองถูกใช้งานอย่างคุ้มค่า เพราะมีการจัดฉายภาพยนตร์ 15 เรื่องในย่านฮุนแด นัมโปดง และบริเวณรอบๆ ถึง 14 จุด 

          “คำว่า กลางแปลง คือการเปลี่ยนความหมายของพื้นที่หนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับภาพยนตร์มาก่อน แต่สำหรับปูซาน พื้นที่เหล่านั้นต่างเป็นพื้นที่เพื่อภาพยนตร์ ไม่ได้สร้างความหมายใหม่ แต่เป็นความหมายที่อยู่ตรงนั้นแล้ว เช่น โรงหนังก็มีอยู่แล้ว แต่ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่จัดงาน เป็นเจ้าภาพงานที่ยิ่งใหญ่ระดับจังหวัด เรารู้สึกว่างานนี้คนทั้งจังหวัดรับรู้ได้ เช่น จะมีงานก็มีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ พื้นที่ทางภาพยนตร์เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว คนรอบๆ จะรับรู้เสมอ ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นงานที่กันคนออกไป มีความครึกครื้น เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะเข้ามาดูหนัง”

          คาลิล พิศสุวรรณ นักเขียนบทและหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ FLY Film Lab ที่จัดโดยคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งปูซาน จากโรงเรียนสอนทำภาพยนตร์แห่งปูซาน (Busan Film Commission – Busan Asian Film School) บอกเล่าให้ฟัง

          เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี เป็นเมืองในทวีปเอเชียที่โดดเด่นมากในแง่ของการเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก เพื่อนของผู้เขียนที่ทำงานและอาศัยอยู่ที่เกาหลี ก็สะท้อนว่าปูซานเป็นเมืองภาพยนตร์ และโดดเด่นมากกว่าเมืองหลวงอย่างโซลด้วยซ้ำ แม้อาจจะไม่ได้มีความคึกคัก มีแสงสีมาก แต่ผู้คนดูเป็นตัวของตัวเอง

          ข้อสังเกตนี้น่าสนใจว่าเมืองแห่งภาพยนตร์ สามารถสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้เติบโต และสร้าง ‘คน’ ผ่านการศึกษาการทำภาพยนตร์ได้ผ่านกลไกแบบใด

Busan International Film Festival
บรรยากาศงาน Busan International Film Festival
Photo : Busan UNESCO Creative City of Film

คลังสมองของนักเรียนภาพยนตร์ปูซาน

          ในค.ศ. 2021 พิธีเปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เป็นเทศกาลระดับนานาชาติเทศกาลแรกที่จัดขึ้นในประเทศเกาหลีที่มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน หลังจากภาวะโรคระบาดโควิด 19 

          ในรายงานของ BIFF (Busan International Film Festival) ปี ค.ศ. 2021 ระบุว่า ถึงโรงภาพยนตร์จะเปิดฉายได้เพียง 50% แต่จำนวนผู้ชมต่างจองที่นั่งกันมาจำนวนมาก รวมถึงโรงภาพยนตร์กลางแปลง หรือ Open Cinema ก็ขายบัตรหมดไปแล้ว 5 วันจากงานทั้งหมด 8 วัน 

          กิจกรรมต่างๆ ของเทศกาลที่ออกแบบมาให้จัดกลางแจ้งก็อัดแน่นไปด้วยผู้คน ในเว็บไซต์ Timeout ถึงกับมีบทความเขียนถึงเทคนิคการจองตั๋วของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานให้ทัน พร้อมข้อมูลที่พักที่เหมาะสมหากอยากจะมาร่วมงานแบบยาวๆ

          นอกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานจะเป็นเทศกาลที่เปิดโอกาสให้คนทำภาพยนตร์หน้าใหม่และน่าจับตาในภูมิภาคเอเชีย ได้ลองส่งผลงานเข้ามาฉาย ปัจจัยที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญ และความสนุกสนานคึกคักของกิจกรรมเหล่านี้ คือการมีโครงสร้างของสถาบันหลายแขนงที่ช่วยให้เทศกาลภาพยนตร์ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

          มีผู้ผลิตภาพยนตร์เพิ่มขึ้นจากการตั้งโรงเรียนสอนทำภาพยนตร์ (Busan Asian Film School) ตั้งแต่ ค.ศ. 2016 มีการพยายามจัดเทศกาลอื่นๆ รายล้อมภาพยนตร์ อย่างเทศกาลโฆษณานานาชาติ (Busan International Advertising Festival (BIAF)) เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน (Busan International Kids & Youth Film Festival (BIKY)) หรือเทศกาลเกม G-STAR International Gaming Exhibition 

          เมืองปูซานยังมีคณะกรรมาธิการภาพยนตร์ภูมิภาค (Regional Film Commission) ที่คอยกระตุ้นให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่ โดยสนับสนุนทั้งผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น ช่วยหาทีมงาน สถานที่ที่เหมาะสมที่สุด และอุปกรณ์ต่างๆ

          “บรรยากาศของเมืองทำให้เรารู้สึกเป็นคนสำคัญ ภาพยนตร์เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ของเมือง เพราะมีโรงหนังหลายๆ ที่ และมีการจัดฉายหนังในจุดที่ไม่ห่างกันมาก พอมันถูกทำให้มองเห็นขึ้นมาในเมือง การเฉลิมฉลองตรงนี้ก็ถูกมองเห็น คนที่ทำหนังก็ถูกมองเห็น คนนอกก็เห็น เลยอาจจะทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่มันมีบรรยากาศที่ดีต่อภาพยนตร์ แล้วเราก็เป็นคนทำหนังที่มาอยู่ ณ เมืองนี้ ในเวลานี้ เราเลยรู้สึกว่าตัวเองถูกหลอมรวมเข้ามาในเมืองนี้โดยอัตโนมัติ”

          คาลิลเล่าถึงประสบการณ์ที่มีต่อปูซาน

          ย้อนอดีตไปสักหน่อย ภาพยนตร์เกาหลีได้ออกไปฉายในจอทั่วโลกเมื่อราวปลาย ค.ศ. 1980 จนถึง ค.ศ. 2021 ทั่วโลกเองก็รับรู้อย่างกว้างขวาง ว่าภาพยนตร์เกาหลีสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรม

          นอกจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากมหาชน ปรากฏการณ์นี้ยังเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านให้ประเทศผลัดจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่

          และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาวัฒนธรรมภาพยนตร์มาก คือการที่เกาหลีเปลี่ยนไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยหลัง ค.ศ. 1993 เพราะข้อบังคับแรกของแนวคิดทางการเมืองแบบใหม่ของประธานาธิบดีคิม ยอง ซัม คือการปลูกฝังให้ประเทศมีความพร้อมเข้าสู่ยุคเซกเยฮวา (segyehwa) หรือยุคโลกาภิวัตน์

            รัฐบาลจึงผลักดันเรื่องการศึกษาและสังคมวัฒนธรรม เพราะเห็นความสำคัญในการเผยให้ทั่วโลกเห็น ว่าฉันเองพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทุนและวัฒนธรรมที่ไหลเวียนอยู่ในโลก

Busan International Film Festival

เรียนภาพยนตร์แบบ One Stop Service

          คำถามสำคัญคือทำอย่างไร ไม่ให้เมืองเป็นเพียงแค่สถานที่จัดงานยิ่งใหญ่แล้วจบไป 

          หนึ่งในคำตอบคือ การให้ความสำคัญกับการศึกษา

          ตัดภาพกลับมาที่ปูซาน ตั้งแต่ ค.ศ. 2006 ปูซานมีมหาวิทยาลัยจำนวน 13 แห่ง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาระดับเยาวชน 10 แห่ง ซึ่งสถานศึกษาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับมหรสพและการแสดงศิลปะต่างๆ เช่น คอนเสิร์ตฮอลล์ของมหาวิทยาลัยเอกชนคยองซอง 

          พิพิธภัณฑ์หลัก 9 แห่งจาก 11 แห่งในปูซาน ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย จึงถือได้ว่าเป็นแหล่งเก็บวัตถุดิบด้านวัฒนธรรมของเมืองที่จะช่วยลับคมความรู้ให้คนในชุมชนผ่านศิลปะ และในขณะเดียวกันก็แปรรูปเป็นโปรเจกต์ทดลอง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญได้ลองเรียนรู้ว่าสถาบันแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะที่จะสร้างโมเดลการเรียนรู้

          ถือเป็นหนึ่งในคลังความหวังของตำนานประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ในอนาคต

          มหาวิทยาลัยคยองซองทำงานอย่างแข็งขันในการสนับสนุนจัดงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นแห่งเอเชีย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวที่เป็นผู้ใหญ่ใจดีต่อการจัดงานเทศกาลเก๋ๆ อย่างเทศกาลเต้นรำในเกาหลี ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาสนุกกับศิลปะและดนตรี ละทิ้งชีวิตประจำวันที่อาจเต็มไปด้วยเรื่องน่าปวดหัว

          สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนเลยคือ ตั้งแต่มีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานใน ค.ศ. 1996 มีความพยายามในการสร้างสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่อผลิตนักทำหนังรุ่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ และเชื่อมร้อยสถาบันศิลปะต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ให้สนับสนุนการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไปด้วยกัน เช่น ศูนย์ศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติปูซานมีหลักสูตรการฝึกอาจารย์ร่วมกับพิพิธภัณฑ์บกชน เพื่อมุ่งหมายจะสร้างอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะ และช่วยดีไซน์คอร์สให้นักเรียนเข้าใจการแสดงนิทรรศการผ่านประสบการณ์โดยตรง

          ทุกๆ ปี โรงเรียนสอนผลิตภาพยนตร์แห่งเอเชีย (Busan Asian Film School) ที่จัดตั้งโดยสภาการภาพยนตร์เกาหลี (Korean Film Council) จะมีผู้สมัครมากมายให้ความสนใจ เพราะเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ผลิตภาพยนตร์เอเชียที่โด่งดังมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สมัครมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากกูรูทั่วโลก และยังเป็นการสร้างตั๋วผ่านทางที่มีความหมายอย่างมาก หากอยากจะยึดสายงานภาพยนตร์ต่อไปในอนาคต เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเช็กลิสต์ที่ต้องผ่านไปให้ได้ สำหรับนักเรียนภาพยนตร์เอเชียจำนวนมาก

          Busan Asian Film School เป็นโรงเรียนที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Busan Film Commission ซึ่งเปิดการเรียนการสอนธุรกิจภาพยนตร์นานาชาติ (AFiS) ที่รวมเอานักเรียนจากเกาหลีและหลากหลายประเทศในทวีปเอเชียมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกันเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน นักเรียนแต่ละคนที่ได้รับการคัดเลือกมีคุณสมบัติที่หลากหลาย มีทั้งนักเขียน ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ตากล้อง เอเจนต์ขายหนัง (sales agent) หรือกระทั่งผู้จัดจำหน่าย (distributor) แต่ทุกคนต้องมีโปรเจ็กต์ที่จะนำมาใช้พัฒนาต่อเนื่องในชั้นเรียน

          ปูซานจึงเป็นตัวอย่างที่ดีและน่าสนใจ ของการสร้างต้นน้ำและปลายน้ำให้กับนักเรียนภาพยนตร์ เพราะให้ความสำคัญทั้งตัวองค์ความรู้ในหลายแขนง พื้นที่ในการทดลอง อุปกรณ์ ที่ปรึกษา สนามคู่แข่งเผ็ดร้อนจากทั่วโลก ไปพร้อมๆ กับการเปิดกว้างในเชิงโอกาสทางธุรกิจ โดยให้เรียนรู้จากบุคลากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมจริงๆ ผ่านโครงการที่มีจุดประสงค์แตกต่างกัน

ทุกคนต้องมีสิทธิทางวัฒนธรรม

          “การสามารถเดินได้ทั่วถึง (walkability) ของงานมันทำให้เทศกาลนี้ง่ายขึ้น เพราะสถานที่เหมือนคิดมาแล้ว โรงหนังจะอยู่ในพื้นที่ใกล้กันได้ ดูเรื่องนี้เสร็จก็ไปดูเรื่องอื่นต่อได้ ไม่ได้อยู่ในห้าง เราเลยรู้สึกว่าเราเห็นชุมชนคนดูหนังที่มีชีวิตอยู่ตรงนั้น พอมันเป็นพื้นที่เปิด และเมืองเดินได้ เลยทำให้ชีวิตของคนปะปนอยู่ในชีวิตของเมือง ไม่ใช่ว่าการดูหนังอยู่ในอาคารๆ หนึ่งแล้วจบ แต่มองเห็นได้เลยในพื้นที่สาธารณะมีงานฉายหนังอยู่ และมีคนทำหนัง นักวิจารณ์หนัง เคลื่อนที่อยู่ในบริเวณนั้น”

          จากความเห็นของคาลิลในฐานะพลเมืองไทยและพลเมืองโลก เมื่อสะท้อนมุมเรื่องเมืองและคนในปูซานระหว่างงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติของจังหวัด เราก็เริ่มเห็นประเด็น social inclusion หรือการครอบคลุมทางสังคม

          แน่นอนว่าปูซานเป็นเมืองที่มีหมุดหมายในการกระจายอำนาจทางวัฒนธรรม และแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่าพื้นที่นี้ในโลกมีพลังที่จะเป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของผู้คนจากหลายหลายที่มา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองไว้ได้อย่างมั่นคง

          ในรายงานหลายเล่มเกี่ยวกับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานระบุว่า ความกระตือรือร้นของผู้คนมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมให้ปูซานเป็น คุณปูซาน นามสกุล เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ อย่างทุกวันนี้ แถมยังเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative City of Film) แต่จุดสำคัญที่เอื้อให้ประชาชนในเกาหลี หรือในชุมชนเอง ซึมซับศิลปะและความรู้นอกขอบจอหนัง คือการมีคณะทำงาน และกรรมการระดับชุมชนที่ตั้งใจทำงาน ทำงาน ทำงาน

          จึงไม่แปลกเลย ที่หน้าที่ของเทศบาลนครปูซาน (Busan Metropolitan City) คือการปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมของประชาชนโดยการออกแบบนโยบายให้ครอบคลุมทั้งการดูแลศิลปินและนักออกแบบให้ผลิตงานอย่างราบรื่น และประชาชนต้องได้รับสิทธิทางวัฒนธรรมโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการอื่นๆ จากสถาบันที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการประเมินอย่างเคร่งครัด ว่าภาคประชาสังคมและท้องถิ่น ได้ทำงานเพื่อลองผิดลองถูกไปด้วยกัน

          คำว่า ‘สิทธิ’ ที่ว่า หากลงรายละเอียด ก็สามารถเห็นคุณค่าของให้ความสำคัญในการเรียนรู้ผ่านความหลากหลาย เช่น เทศกาล Busan WITH BOM Film Festival ที่เน้นฉายภาพยนตร์เกาหลีและนานาชาติ ที่ให้ความสำคัญกับผู้ทุพพลภาพ หรือเทศกาลภาพยนตร์สตรีปูซาน (Busan Women’s Film Festival) ที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน เพื่อเปิดฟลอร์ให้ผู้หญิงในท้องถิ่นได้คิด เล่น และใคร่ครวญถึงที่ทางและตัวตนของตัวเองผ่านภาพยนตร์

          นอกจากความเห็นที่ว่าคนปูซานดูเป็นตัวของตัวเองมาก เพื่อนของผู้เขียน ยังเล่าอีกว่า เขาเห็นคนแก่จำนวนมากในปูซานใส่เสื้อลายดอกเดินไปมาในเมือง เราจึงพบข้อมูลของกิจกรรมโรงภาพยนตร์เพื่อผู้สูงอายุ หรือ Senior Theater ที่อยากสร้างทัศนคติ และวัฒนธรรมทางความคิดต่อผู้สูงอายุแบบใหม่ โดยศูนย์ภาพยนตร์ปูซาน (Busan Cinema Center) ให้เวลาฉายภาพยนตร์เพื่อลุงป้าตายายที่มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่ามาเข้าชมในทุกๆ วันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน

Senior Theater
กิจกรรมโรงภาพยนตร์เพื่อผู้สูงอายุ (Senior Theater)
Photo : Busan UNESCO Creative City of Film

          หากกล่าวว่า ‘ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการดูภาพยนตร์ดีๆ’ คงมีน้อยคนที่ไม่เห็นด้วย และเราคงเห็นแล้วว่าการเรียนรู้ผ่านภาพยนตร์ ไม่จำเป็นต้องกระทำผ่านตัวภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นบริบทง่ายๆ รอบชุมชน เรียนรู้ผ่านเพื่อนบ้านที่มาดูภาพยนตร์กลางแปลงข้างๆ เห็นวิถีชีวิตของพ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของในงานเทศกาล หรือเข้าใจว่า มันเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่จะมีความสุขได้หากองคาพยพที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วนทำงานร่วมกันและใส่ใจมากพอ

          และส่วนผสมพิเศษที่เห็นได้จากการลงมือทำของทีมงานเมืองปูซาน นั่นคือ การสร้าง ‘ความหวัง’ ให้ทั้งคนในชุมชนและทั่วโลก

          ใน ค.ศ. 2021 ซีรีส์ไทยเรื่อง Forbidden หรือดินแดนต้องห้าม ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานครั้งที่ 26 และตัวแทนจากวงการภาพยนตร์ไทย 2 ท่าน คือคุณแม่น้ำ ชากะสิก และคุณปฏิภาณ บุณฑริก ก็ได้เข้าร่วมโรงเรียนสอนผลิตภาพยนตร์แห่งเอเชียในปีนั้นด้วย


ที่มา

รายงาน  26th Busan International Film Festival Final Report (online)

บทความ Busan Asian Film School (online)

บทความ Film Club Focus on Busan International Film Festival (online)

บทความ ‘Forbidden’ ออริจินัลซีรีส์ไทยจาก HBO ASIA ได้รับเลือกให้เข้าฉายในงาน ‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 26’ (online)

บทความ เจาะแผนสนับสนุนวงการหนังท็อปโฟร์ของโลก (ตอน 1 : เกาหลีใต้) (online)

บทความ Busan, Hub of Film and Visual Culture (online)

รายงาน Self-Evaluation Report: Busan, Republic of Korea (online)

Cover Photo : Asian Film Academy 2019 (Online) , Busan International Film Festival

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก