แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช

93 views
6 mins
September 10, 2024

          คงไม่เกินจริงที่จะยกย่องนครศรีธรรมราช ให้เป็นเมืองแห่งภูมิปัญญา ที่บ่มเพาะนักคิด นักเขียน ศิลปิน และผู้มีความรู้เอาไว้เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือหมอบัญชา พงษ์พานิช บุคคลผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์พร้อมทั้งทำงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เหมือนเช่นครานี้ที่คุณหมอตั้งใจฟื้นชีวิต ‘นาคร-บวรรัตน์’ ให้กลับมาในรูปโฉมใหม่ภายใต้ชื่อ ‘บวรนคร’ ที่ครอบคลุมทุกด้านการเรียนรู้  

หนึ่งในผู้รู้แห่งเมืองคอน

          ย้อนกลับไปในวัยเด็ก นับได้ว่าหมอบัญชาเติบโตขึ้นภายใต้นิเวศของการเรียนรู้ ดังคำบอกเล่าที่ว่า “ผมอยู่แวดล้อมด้วยผู้คนที่อ่านหนังสือ อย่างเช่น คุณพ่ออ่านนิตยสาร TIME, Reader’s Digest, ป.อินทรปาลิต, พล นิกร กิมหงวน, บู๊ลิ้ม ทางฝ่ายคุณแม่และน้าจะนิยมอ่านสตรีสาร, สกุลไทย, ศรีสัปดาห์, สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ส่วนขุนบวรคุณตาของผมท่านอ่านหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย นอกจากนี้ ที่บ้านของผมยังมีตู้หนังสือที่เก็บรวบรวมหนังสืออื่นๆ อีกมากมาย เช่น หนังสือของ ก.สุรางคนางค์, โรสลาเรน, ทมยันตี, ยาขอบ จอยุ่ยเหม็ง, ศิวาราตรีของพนมเทียน เป็นต้น”

          ภายใต้บรรยากาศของการสนใจใฝ่เรียนรู้นี้เองที่ได้ปลูกฝังให้หมอบัญชาเป็นนักกิจกรรมและชื่นชอบหนังสือ ซึ่งเริ่มฉายแววเมื่อเข้ามาศึกษาต่อยังวชิราวุธวิทยาลัย ที่นี่คุณหมอได้ทำกิจกรรม ดังที่ได้เล่าให้ฟังว่า “ผมอยู่สมาคมหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องทำหน้าที่ดูแลห้องสมุด และเขียนบทความเพื่อลงในวารสารของโรงเรียน โดยมี ครูอุดม รุ่งเรืองศรี ทำหน้าที่ดูแล”

          จวบจนย่างสู่วัยหนุ่ม เมื่อไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยังคงทำกิจกรรมอย่างเข้มข้น เช่น ทำหนังสือพิมพ์กำแพง ให้กับชมรมวรรณศิลป์ พร้อมกับการพบจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ ได้รู้จักกลุ่มนักกวีที่ชื่อว่า ‘นาคร’ และคุณหมอได้เล่าย้อนถึงชีวิตช่วงนั้นให้ฟังว่า “ตอนนั้นผมอายุ 20 ปี เห็นคนเขียนกลอนผ่านหนังสือพิมพ์ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องลงท้ายว่ากลุ่มนาคร จึงทำให้กลุ่มเป็นที่รู้จักและมีพลังมากในแวดวงวรรณกรรมของประเทศ ผมจึงเขียนจดหมายไปหาเพื่อแนะนำตัวและขอเข้าเป็นเพื่อนด้วย ดังนั้น เมื่อเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์แล้ว ผมจึงเข้าไปพูดคุยเพื่อวางแผนขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกัน” และนี่คือจุดกำเนิดนาคร-บวรรัตน์

แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช

นาคร-บวรรัตน์ ร้านหนังสือกลางเมืองคอน

          ข้อสรุปจากการพูดคุยกับสมาชิกกลุ่มนาครส่งผลให้เกิดการก่อตั้งแหล่งเรียนรู้ที่ชื่อว่า ‘สวนสร้างสรรค์นาคร-บวรรัตน์: แหล่งมั่วสุมทางปัญญาใจกลางเมืองนครฯ’ โดยมีพันธกิจ คือ เป็นศูนย์กลางการพบปะ แลกเปลี่ยน เรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และวรรณกรรม ที่มีร้านหนังสือเป็นเครื่องมือสำคัญ

          นาคร-บวรรัตน์ จึงเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของคน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย หมอบัญชากับเพื่อนแพทย์ในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่สนใจการเรียนรู้และสร้างสรรค์ จับมือกับนักเขียนกลุ่มนาคร เช่น รัตนธาดา (บุญเสริม) แก้วพรหม, รูญ ระโนด, ประมวล มณีโรจน์, ไพฑูรย์ ธัญญา, ธัช ธาดา เป็นต้น และผู้คนในนครที่มีความสนใจในเรื่องนี้ได้เข้ามาร่วมหุ้นกัน ดังที่คุณหมอเล่าว่า “เมื่อได้เงินมา ผมจึงขอใช้ตึกของที่บ้านเป็นที่ตั้งร้านหนังสือและขอตั้งชื่อว่า นาคร-บวรรัตน์ โดยนาคร คือ ชื่อของกลุ่มนาคร ซึ่งแปลว่า คนนคร หรือ ผู้อยู่ในนคร ส่วน บวรรัตน์ ที่แปลว่าดวงแก้วที่ดีงาม มาจากครอบครัวของผม คือ ขุนบวรรัตนารักษ์ ดังนั้น นาคร-บวรรัตน์ จึงเป็นสัญลักษณ์การรวมกันของกลุ่มนาครและบ้านบวรรัตน์”          

          ทั้งนี้คุณหมอได้เล่าถึงบรรยากาศการเปิดร้านหนังสือในปี 2528 ให้ฟังว่า “การเปิดร้านหนังสือถือเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่มากๆ  เพราะร้านหนังสือยังมีจำนวนน้อยโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งหากใครต้องการหนังสือโดยเฉพาะพ็อกเกตบุ๊กสักเล่มต้องสั่งตรงจากกรุงเทพฯ เท่านั้น ดังนั้น ผมจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปยังสำนักพิมพ์ทุกแห่งเพื่อขอเป็นตัวแทน ส่งผลให้สวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์ มีหนังสือหลากหลาย ทั้งพ็อกเกตบุ๊กชั้นแนวหน้าของคนก้าวหน้า หนังสือวรรณกรรม หนังสือวิชาการ คู่มือเตรียมสอบสำหรับนักเรียน และหนังสือศิลปะ” พร้อมเล่าสำทับอีกว่า “นาคร-บวรรัตน์ยังเปิดโอกาสให้คนเข้ามาอ่านหนังสือ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหา ภายในร้านจึงมีโต๊ะเตรียมไว้สำหรับให้บริการคนที่ตั้งใจจะมานั่งอ่าน”

           นอกจากจัดร้านหนังสือให้เป็นเสมือนห้องสมุดแล้ว นาคร-บวรรัตน์ยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม ศิลปะและการเรียนรู้ จึงทำให้ร้านคึกคัก ดังที่คุณหมอเล่าว่า “เมื่อมีกิจกรรมครูภาษาไทยก็จะพานักเรียนแห่กันมา เพื่อมาชื่นชมนักเขียนในดวงใจของตน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการศิลปะ ซึ่งภายหลังทำให้นาคร-บวรรัตน์ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยนาฏศิลป์เพื่อจัดกิจกรรมการแสดงขึ้น”

          อย่างไรก็ตาม หลังผ่านฝนผ่านหนาวมาถึง 29 ปี นับตั้งแต่ ปี 2528 – 2556 นาคร-บวรรัตน์จำต้องปิดตัวลง ด้วยเงื่อนไขตามการคาดคะเนของคุณหมอบัญชาที่ว่า “โลกของหนังสือได้เปลี่ยนไป พร้อมๆ กับพฤติกรรมของนักอ่านเปลี่ยนแปลง รวมถึงระบบการจัดการที่ยังไม่ทันสมัย จึงนำมาสู่การสูญเสียโอกาสทางการตลาด”   

          ผลจากการทำงานทำให้หมอบัญชา ถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จและเชื่อมั่นว่า “นาคร-บวรรัตน์เคยทำและต่อไปเราก็ยังจะทำในชื่อใหม่ว่า ‘บวรนคร’”

แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช

บวรนคร จากตึกแห่งประวัติศาสตร์สู่พื้นที่การเรียนรู้ 

          เหตุแห่งการสืบสานแหล่งเรียนรู้ในชื่อ ‘บวรนคร’ เป็นเพราะคุณหมอเห็นว่า “ตึกบวรนครแห่งนี้เป็นตึกของแผ่นดิน ทั้งยังเคยเป็นแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์มายาวนาน รวมถึงตนเอง ครอบครัวและเพื่อนฝูงเคยทำสวนสร้างสรรค์นาคร-บวรรัตน์ประสบความสำเร็จมาแล้ว ดังนั้นจึงคิดซ่อมตึกยาวบวรนครและปรับปรุงพื้นที่อีก 2 ไร่โดยรอบบริเวณ ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้กลางเมืองสำหรับทุกคนอีกครั้ง”   

          บวรนครหรือตึกยาว เป็นตึกเก่าแก่ที่ครอบครัวหมอบัญชาซื้อต่อมาอีกทอดหนึ่ง โดยคุณหมอเล่าถึงข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้เฒ่าในชุมชนให้ฟังว่า “ตึกหลังนี้สร้างโดยเถ้าแก่ขายแร่จากสิงคโปร์ แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ จึงย้ายออกไปและมีซินแสจากเซี่ยงไฮ้ มาเช่าทำเป็นโรงพยาบาล เมื่อผ่านพ้นยุคของการเป็นโรงพยาบาล ตึกยาวกลายเป็นโรงเตี๊ยมที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีลักษณะคล้ายโรงแรม ผู้คนที่เดินทางมายังเมืองนครฯ ต้องเข้ามาพักยังโรงเตี๊ยมแห่งนี้ หลังจากนั้นจึงเป็นโรงยาฝิ่น อย่างไรก็ตาม ต่อมากลายสถานะเป็นโรงเรียนจีนสยามนครศรีธรรมราช และเป็นที่ทำการของนครสมาคมหรือพื้นที่พบปะสังสรรค์เพื่อความสนุกสนานของผู้คนในนคร”

          จากการศึกษาข้อมูลทำให้ทราบว่า ตึกยาวสร้างขึ้นเมื่อปี 2440 และเกิดการปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปี 2500 เพื่อเปลี่ยนจากโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิคให้เป็นแบบโมเดิร์น และอีก 60 ปีถัดมาในครั้งนี้ จึงเกิดการซ่อมใหญ่อีกครั้งโดยหมอบัญชา ซึ่งมีแนวคิดว่า “การบูรณะครั้งนี้ตั้งใจจะปรับปรุงให้ดีและมีความแข็งแรงมากที่สุด เพื่อให้คงทนคู่กับแผ่นดิน เสมือนคืนชีวิตใหม่ให้กับตึก โดยยึดหลักการซ่อมตามปัจจยาการ นั่นคือ ซ่อมตามที่ถูกปรับเปลี่ยนมา สิ่งที่เหมือนของเดิมก็รักษาไว้ให้เหมือนเมื่อ 120 ปีก่อน ส่วนที่เป็นแบบ 60 ปีที่แล้วก็ให้คงไว้แบบนั้น อย่างไรก็ตามมีส่วนที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อความทันสมัย ในรูปแบบ Postmodern โดยการเพิ่มส่วนที่เป็นกระจกและการเล่นแสงไฟ”  

          ทั้งนี้ขั้นตอนการบูรณะตึก ผ่านการคิดอย่างประณีตรอบคอบตั้งแต่ฐานราก โดยหมอบัญชาตัดสินใจจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีมาขุดค้น ดังที่คุณหมอเล่าว่า “ก่อนจะบูรณะตึกยาวผมเชิญนักโบราณคดี นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ เข้ามาขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งนับเป็นโบราณคดีครัวเรือนครั้งแรกในประเทศไทยที่ทำโดยเอกชน และผลจากการขุดค้นทำให้พบโบราณวัตถุสมัยศรีวิชัย เครื่องถ้วยในท้องถิ่น เครื่องถ้วยเทอราคอตตา เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ชิงและราชวงศ์หมิงปะปนอยู่ แต่ที่น่าทึ่งที่สุด คือ พบเหยือกน้ำแร่จากเยอรมันในชั้นดินสมัยอยุธยา ซึ่งสะท้อนความเป็นอินเตอร์ของพื้นที่ได้อย่างดียิ่ง”      

          ตึกยาวผ่านวันและเวลามาถึง 120 ปี และยังคงจะยั่งยืนต่อไป เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทใหม่ คือ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของผู้คนในนครศรีธรรมราช ซึ่งหมอบัญชาตั้งใจให้เป็นแหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ

แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช
แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช
แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช
โมเดลตึกยาวบวรนครเมื่ออดีตและอาคารที่เคยอยู่ใกล้เคียง

แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช
แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช

แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ

           “ถึงเวลาเหมาะควรแล้วที่จะต้องมาฟื้นฟูแหล่งมั่วสุม สร้างสรรค์เชิงปัญญา เพราะในเชิงอื่นทำได้ง่ายและสนุก เชิงปัญญาทำได้ไม่ง่ายแต่กลับมีความหมาย ซึ่งการจะก้าวให้ทันโลกสำหรับผมแล้ว ต้องมีทั้งปัญญาและการสร้างสรรค์” คำกล่าวของหมอบัญชา ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการจัดวางพื้นที่การเรียนรู้ให้กับบวรนคร โดยแต่ละห้องจะมีการจัดแบ่ง ดังนี้

          ชั้นล่าง ห้องโถงหน้าให้เป็นห้องอเนกประสงค์สำหรับผู้มาจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น นิทรรศการ เสวนา ดนตรี จัดเลี้ยง ซึ่งสามารถจุคนได้ประมาณ 20-30 คน พร้อมระบบเสียงและเครื่องปรับอากาศรองรับอย่างดี

          ห้องถัดมา จะนำผลิตภัณฑ์สำคัญของเมืองนครฯ ที่มีคุณค่าทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมาจัดแสดง เพื่อจะได้ทราบว่าแผ่นดินนี้ มีนักคิด นักสร้างสรรค์ นักพัฒนา ประกอบด้วย เครื่องถม เครื่องจักสานย่านลิเภา และลูกปัดที่พบในภาคใต้

          ห้องที่สามจะนำนาคร-บวรรัตน์กลับมาในรูปแบบของห้องสมุดและ Co-working Space ให้คนมาอ่านหนังสือและพูดคุย ซึ่งอาจมีชั้นจำหน่ายหนังสือ โดยตั้งใจว่าจะมีหนังสือ 2 หมวด คือ หนังสือที่ว่าด้วยเมืองนครฯ และหนังสือธรรมะ

          ส่วนชั้นบนจะจัดแสดงของสำคัญเมืองนครฯ โดยแบ่งเป็นประวัติความเป็นมาและชาวจีนในเมืองนครฯ ทั้งย่านท่าวังและพื้นที่อื่นๆ โดยมีการทำโมเดลจำลองให้เห็นลักษณะทางสังคม ตึกรามบ้านช่องเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคุณหมอเล่าว่า “โมเดลนี้เมื่อคนสูงอายุเห็นจะตื่นเต้นดีใจมาก พร้อมชี้ชวนกันดูบ้านของคนที่ตนเคยรู้จัก ร้านของชำที่ตนเคยซื้อของซึ่งอาจไม่หลงเหลือแล้วในปัจจุบัน สำหรับเยาวชนอาจไม่ผูกพันกับพื้นที่ก่อนเก่า แต่เมื่อเห็นถึงความสวยงาม ก็อาจจะช่วยส่งเสริมให้เกิดแรงบันดาลและคิดพัฒนาบ้านเมืองของตนเองต่อไป” นอกจากนี้ ยังมีชิ้นส่วนศาลเจ้าของบ้านนายอำเภอจีนเมืองนครฯ ที่ชาวจีนในเมืองทุกคนจะต้องมารายงานตัวเพื่อผูกปี้ปีละครั้ง รวมถึงนำเก้าอี้ของเจ้าพระยานครที่เคยอยู่ในวังมาจัดแสดงให้ผู้คนได้เห็น ได้ลองนั่ง พร้อมทั้ง ศาสตราวุธในวังที่เคยใช้ปกป้องรักษาเมืองนี้

          ส่วนห้องที่สามก็จะเป็นคล้ายๆ Co-working Space อีกห้องหนึ่ง แต่มีความพิเศษ คือ จะติดตั้งแผนที่เก่าแก่ของโลกซึ่งปรากฏเมืองนครฯ ดังที่คุณหมอเล่าว่า แผนที่เก่าที่ผมตามเก็บย้อนไปถึงแผนที่ปโตเลมีเมื่อราวๆ พ.ศ. 700 จนมาถึงอยุธยาก็จะนำมาจัดแสดงที่นี่ เพื่อให้เห็นว่าเมืองนครฯ ปรากฏอยู่ในบริบทของโลกมาแต่นมนาน”  

          สำหรับด้านหลัง ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่บริการอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะเป็นอาคารกระจกแบบโมเดิร์น ข้างในดีไซน์เป็นบันไดเวียน มีเครื่องดื่มบริการ 2 อย่าง คือ ช็อกโกแลตคุณภาพเยี่ยมของเมืองนครฯ และกาแฟระดับพรีเมียม ซึ่งหัวใจของวิธีคัดเลือกเครื่องดื่มนั้น หมอบัญชาบอกว่า “จริงๆ แล้วผู้คนอาจจะไม่ได้ตั้งใจมาตึกยาว แต่ต้องการมาดื่มช็อกโกแลตหรือกาแฟ ซึ่งอาจทำให้สนใจและเข้าไปดูตึกยาวร่วมด้วย”

          ความตั้งใจทั้งหมดนี้หมอบัญชาหวังว่า “บวรนครจะเป็นพื้นที่ของการสร้างสรรค์เพื่อบ้านเพื่อเมือง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนได้มาใช้เป็นแหล่งมั่วสุม สร้างสรรค์เชิงปัญญาร่วมกัน”

แหล่งมั่วสุมเรียนรู้สร้างสรรค์เชิงปัญญากลางเมืองนครฯ : แบบฉบับหมอบัญชา พงษ์พานิช

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก