British Library ผนึกกำลังปรับโฉมใหม่ ต่อลมหายใจให้คิงส์ครอส

932 views
11 mins
August 31, 2022

          หากเอ่ยถึงย่านคิงส์ครอส (King’s Cross) ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน แห่งสหราชอาณาจักร ภาพแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในจินตนาการของหลายๆ คนคงจะเป็นภาพของชานชาลาที่ 9 ¾ ที่พ่อมดน้อยแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตัวละครหลักในวรรณกรรมชิ้นเอกของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ขึ้นรถด่วนสายพิเศษเพื่อเดินทางไปศึกษาวิชาพ่อมดทางตอนเหนือของประเทศ วรรณกรรมชิ้นนี้โด่งดังจนเกิดป้ายจำลองชานชาลาที่ 9 ¾ ขึ้น เพื่อเป็นจุดเช็คอินสำหรับแฟนหนังสือและนักท่องเที่ยว กลายเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของย่านคิงส์ครอส

          ห่างออกไปจากสถานีรถไฟคิงส์ครอสเพียงไม่กี่ร้อยเมตร อาคารอิฐสีแดงหลังใหญ่ในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์สมศักดิ์ศรีอาคารที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์เกรด 1 ตั้งอยู่ตรงนั้นพร้อมกับคอลเลกชันหนังสือและคลังข้อมูลสำคัญ หากย่างเท้าเข้าไปจนถึงใจกลางตัวอาคาร ในห้องกระจกใสมีชั้นหนังสือสูงตระหง่านที่เต็มไปด้วยหนังสือโบราณเรียงรายละลานตา ให้บรรยากาศเคร่งขรึม จริงจัง คุณค่าของหนังสือเหล่านี้ยากที่จะประเมินได้ เอกสารต้นฉบับบางชิ้นสามารถพบได้เพียงที่นี่เท่านั้น

          อาคารหลังนี้ คือ หอสมุดแห่งชาติบริเตน (The British Library) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหอสมุดได้ทำหน้าที่เป็นห้องสมุดเพื่อการวิจัย (Research Library) ที่รวบรวมเอกสารขั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิจำนวนมาก ทำให้ผู้ใช้งานหลักเป็นกลุ่มนักวิจัย นักวิชาการ นักกฎหมาย นักแปล อาจารย์ หรือนักศึกษา ในปัจจุบันบทบาทเชิงวิชาการยังคงดำเนินต่อไป แต่บทบาทใหม่ก็ถูกเพิ่มเติมเข้ามาตามยุคสมัยและความต้องการของผู้ใช้งานที่แปรเปลี่ยน บทบาทที่สำคัญคือการผนึกกำลังกับองค์กรการเรียนรู้อื่นในพื้นที่ใกล้เคียง ผลักดันให้ย่านคิงส์ครอสปรับเปลี่ยนโฉมจากพื้นที่น่ากลัวในอดีต มาเป็นพื้นที่ที่เป็นมิตร และเป็นย่านแห่งการเรียนรู้ไปในที่สุด

Photo : British Library

ทำความรู้จักหอสมุดแห่งชาติบริเตน

          หอสมุดแห่งชาติบริเตนเกิดจากการรวมตัวของห้องสมุดหลายแห่ง เช่น ห้องสมุดแห่งบริติช มิวเซียม และห้องสมุดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งยอร์กเชียร์ (The Science and Technology Lending Library in Yorkshire) รวมถึงห้องสมุดของสถาบันอื่นๆ ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 หนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ในความดูแลจึงมีปริมาณมหาศาล รวมถึงข้อมูลในรูปแบบอื่น อาทิ แผนที่ ภาพวาด ภาพเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล ทุกวันนี้หนังสือในคอลเลกชันของหอสมุดมีจำนวนมากถึงประมาณ 170 ล้านเล่ม ทุกๆ ปีจะมีหนังสือใหม่เข้ามาในคอลเลกชันถึงเกือบ 3 ล้านชิ้นโดยประมาณ ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ ชั้นหนังสือในคลังจะยาวขึ้นประมาณปีละ 8 ไมล์หากนำมาเรียงต่อเป็นแถวยาว ทุกวันนี้หนังสือกว่า 70% ถูกเก็บรักษาไว้ที่คลังนอกสถานที่ใกล้กับเมืองบอสตันสปา โดยหนังสือจะถูกส่งมาให้กับผู้อ่านในลอนดอนที่แจ้งความจำนงจะขอยืมล่วงหน้า

          นอกจากบริการให้ยืมหนังสือและเอกสารแล้ว ที่นี่ยังมีนิทรรศการที่จัดแสดงคอลเลกชันสำคัญจากต้นฉบับโบราณ (Manuscript) ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลมาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น กฎบัตรแมกนา คาร์ตา (Magna Carta) เอกสารที่นำมาซึ่งการสร้างรากฐานประชาธิปไตยในสหราชอาณาจักร บทกวีมหากาพย์เบวูล์ฟ (Beowulf) ที่โด่งดัง นิทานแห่งแคนเทอเบอรี (The Canterbury Tales) ของเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (Geoffrey Chaucer) ที่นักอ่านสายวรรณกรรมคลาสสิกรู้จักเป็นอย่างดี คิง อาร์เธอร์ (King Arthur) ตำนานอัศวินโต๊ะกลมที่ถูกต่อยอดมาเป็นผลงานบันเทิงหลากหลายรูปแบบ บันทึกของกัปตันเจมส์ คุก (Captain Cook’s journal) นักเดินทางผู้ออกสำรวจและบุกเบิกโลกใหม่ หรือแม้กระทั่งเนื้อเพลงที่เขียนด้วยลายมือแท้ๆ ของสมาชิกวงเดอะ บีทเทิลส์ (The Beatles)

          หอสมุดแห่งชาติบริเตนนี้เป็นแหล่งข้อมูลที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิก นักอ่านสามารถทำ Reader Pass เพื่อเข้าใช้งานห้องอ่านหนังสือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ Reader Pass ของผู้ใช้งานชาวต่างประเทศนั้นจะมีอายุเพียงหนึ่งปี (สามารถต่ออายุ หรือสมัครใหม่ได้หากต้องการใช้งานเพิ่มเติมในอนาคต)

British Library ผนึกกำลังปรับโฉมใหม่ ต่อลมหายใจให้คิงส์ครอส
บันทึกของกัปตันเจมส์ คุก
Photo : The British Library
British Library ผนึกกำลังปรับโฉมใหม่ ต่อลมหายใจให้คิงส์ครอส
บันทึกของกัปตันเจมส์ คุก
Photo : The British Library

ย้ายออกจากย่านสถาบันการศึกษา มาสู่ย่านเสื่อมโทรม

          ตั้งแต่ช่วงปี 1980 จนถึงต้น 2000 นักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใกล้กับย่านคิงส์ครอสมักจะได้รับคำเตือนอยู่เสมอว่า อย่าเดินไปไหนมาไหนเพียงคนเดียวยามวิกาล เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่เหล่าผู้ค้าประเวณี และผู้ค้ายาเสพติดจำนวนมากจะออกมาทำมาหาเลี้ยงชีพ ยังไม่รวมพวกมิจฉาชีพและกลุ่มคนเมาหัวราน้ำที่เดินกันให้ว่อนหลังจากผับปิดให้บริการไปแล้ว

          ต่างจากย่านบลูมสเบอรี่ (Bloomsbury) ที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ช่วงถนน ย่านนี้เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญ ทั้งสถาบันศึกษาและองค์กรทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น บริติชมิวเซียม (British Museum)  ห้องสมุดวุฒิสภา (Senate House Library) โรงละคร หรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่จัดเก็บคอลเลกชันเฉพาะของมหาวิทยาลัยชั้นนำในพื้นที่ ทั้ง UCL (University College London), SOAS (The School of Oriental and African Studies) และ LSE (London School of Economics and Political Science)

          หอสมุดแห่งชาติบริเตนเกือบจะได้ตั้งอยู่ในย่านอันทรงเกียรติอย่างบลูมสเบอรี่ด้วย ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งจนถึงยุค 90 หอสมุดแห่งชาติบริเตนตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับบริติช มิวเซียม มาโดยตลอด แต่หนังสือที่อยู่ภายใต้การดูแลนั้นกระจัดกระจายอยู่ตามห้องสมุดสถาบันต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง จนกระทั่งคณะกรรมการบริหารหอสมุดได้มีแผนการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่เพื่อรวบรวมหนังสือทั้งหมดให้อยู่ด้วยกัน ทว่า อาคารโบราณในบริเวณนั้นล้วนมีความสำคัญในฐานะมรดกวัฒนธรรมจนไม่อาจรื้อถอนได้ การเปิดพื้นที่ว่างเพื่อก่อสร้างอาคารหอสมุดในย่านบลูมสเบอรี่จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น ในที่สุดประธานกรรมการหอสมุดจึงตัดสินใจที่จะซื้อที่ดินว่างในย่านคิงส์ครอส ติดกับสถานีรถไฟเซนต์แพนคราสเพื่อตัดปัญหาและจบข้อถกเถียง ทำเลที่ตั้งของหอสมุดถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ใช้งาน เพราะในเวลานั้น ย่านคิงส์ครอสถือว่าเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมแห่งหนึ่งของกรุงลอนดอนก็ว่าได้

พลิกย่านน่ากลัว สู่ย่านแห่งการเรียนรู้

          เมื่อคณะกรรมการบริหารหอสมุดตัดสินใจเลือกโลเคชันแห่งใหม่ นักวิจัย และนักวิชาการที่ใช้บริการเป็นประจำหลายท่านได้แสดงออกถึงความไม่พอใจที่หอสมุดแห่งชาติบริเตนจะย้ายออกจากย่านการศึกษาอย่างบลูมสเบอรี่ ไกลออกไปจากสถาบันศึกษาแห่งอื่นๆ เพื่อไปตั้งอยู่ใจกลางย่านคิงส์ครอสที่ในตอนนั้นเป็นเพียงย่านที่เต็มไปด้วยแหล่งเสื่อมโทรมและชุมชนที่ขาดแคลน

          สามทศวรรษผ่านไป หอสมุดแห่งชาติบริเตนก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการย้ายออกมาลงหลักปักฐานในย่านใหม่ไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เป็นความท้าทายที่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของหอสมุดนั้นสามารถทำได้มากกว่าการรวบรวมเอกสาร หลังจากการเปิดตัวอาคารใหม่ในปี 1998 พื้นที่ย่านคิงส์ครอสมีการเปลี่ยนแปลงทีละนิด จนในปัจจุบันย่านที่เคยถูกมองว่าเป็นย่านเสื่อมโทรมและดูไม่เป็นมิตรในวันนั้น กลายมาเป็นศูนย์กลางของ ‘ย่านแห่งความรู้’ (The Knowledge Quarter) ที่ครอบคลุมพื้นที่ในรัศมี 1 ไมล์รอบๆ สถานีรถไฟคิงส์ครอส แน่นอนว่าหอสมุดแห่งชาติบริเตนเป็นกำลังสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฐานะคลังความรู้ที่รวบรวมเอกสารตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลมาจนถึงข่าวสารล่าสุดในสหราชอาณาจักร

          ในปี 2014 งานเปิดตัวย่านแห่งความรู้ถูกจัดขึ้นที่หอสมุดแห่งชาติบริเตน กลุ่มองค์กรภาครัฐ การศึกษา เอกชน และท้องถิ่นในย่านคิงส์ครอสรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในนาม The Knowledge Quarter ที่มีปณิธานร่วมว่าสมาชิกจะร่วมเผยแพร่ ‘ความรู้’ และสร้าง ‘นวัตกรรม’ ผ่านภารกิจหลักขององค์กรและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษ เมื่อผนวกกับการเชื่อมเส้นทางรถไฟยูโรสตาร์จากยุโรปภาคพื้นทวีปมาจนถึงสถานีรถไฟเซนต์แพนคราส การเปลี่ยนแปลงของย่านก็ชัดเจนยิ่งขึ้น พื้นที่รายรอบสถานีรถไฟที่เคยเป็นย่านเสื่อมโทรมเริ่มกลายเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญ มีการก่อตั้งบริษัท สำนักงาน ศูนย์วิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ต่างๆ ในบริเวณนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

          การเกิดขึ้นของย่านแห่งความรู้ส่งเสริมให้ภาคีจัดกิจกรรมด้านการเรียนรู้ตลอดทั้งปี พื้นที่โดยรวมของย่านก็เริ่มมีการปรับโฉม มีการลงทุนจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ย่านน่ากลัวเริ่มกลายมาเป็นย่านที่น่าอยู่ หอสมุดแห่งชาติบริเตนมีโอกาสต้อนรับผู้มาเยือนที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มที่เดินทางมาศึกษาเอกสารโบราณหายากอีกต่อไป

          การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทำให้หอสมุดแห่งชาติบริเตนไม่อาจหยุดนิ่งได้ บริษัทและธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับหอสมุดแห่งชาติบริเตนในฐานะสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูลด้านแนวโน้มเศรษฐกิจและรายงานที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ยังไม่รวมถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เดินทางมาทัศนศึกษา กลุ่มศึกษาดูงานจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการกิจการขนาดเล็ก รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ต้องการพื้นที่ทำงาน แลกเปลี่ยนความคิด และติดตามข้อมูลข่าวสารรอบตัว

Living Knowledge ความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง

          ชื่อเสียงที่สั่งสมมายาวนานของหอสมุดแห่งชาติบริเตนในฐานะคลังเก็บเอกสารโบราณล้ำค่าและสิ่งพิมพ์ทุกชนิดบนเกาะบริเตนและไอร์แลนด์นั้นเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว แต่บทบาทที่หอสมุดแห่งชาติให้ความสำคัญและวางเป็นเป้าหมายหลักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา คือการเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย และสนองตอบความต้องการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย นอกจากข้อมูลเชิงลึกสำหรับนักวิจัย หอสมุดแห่งชาติบริเตนยังต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ต้องการข้อมูลเพื่อการประกอบอาชีพ หรือข้อมูลที่ไม่ใช่เชิงวิชาการด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การบริการสอดคล้องกับแนวคิด ‘Living Knowledge’ ที่ทางหอสมุดยึดถือเป็นแนวทาง

          ความหมายของ Living Knowledge คือ นอกจากการเก็บรักษาเอกสารสำคัญและส่งเสริมการวิจัยแล้ว หอสมุดแห่งชาติบริเตนยังต้องการส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้ทรัพยากรความรู้ที่มีอยู่ถูกนำออกมาใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

          หนึ่งในแผนการปรับตัวของหอสมุดแห่งชาติบริเตนก็คือการเก็บรวบรวมข้อมูลจากโลกดิจิทัลด้วย ในปี 2013 หอสมุดแห่งชาติบริเตนได้ประกาศว่าจะเริ่มเก็บข้อมูลดิจิทัลจากเว็บไซต์ที่มีแอดเดรส .uk เพื่อบันทึกเป็น ‘ความทรงจำดิจิทัล’ (Digital Memory) รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลของคอลเลกชันที่มีอยู่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้แบบออนไลน์ เช่น การรวบรวมรายงานทางธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานที่ขยายฐานกว้างขึ้น หรือแม้กระทั่งการทำฐานข้อมูลเสียง ภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพเคลื่อนไหว

          นิทรรศการหมุนเวียนและโครงการพิเศษต่างๆ ก็เป็นหนึ่งในกลวิธีสร้างความหลากหลายของหอสมุดแห่งชาติบริเตน ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีทั้งนิทรรศการที่แสดงออกถึงรากฐานวัฒนธรรมในอดีต และที่สะท้อนวัฒนธรรมกระแสนิยมในปัจจุบัน เช่น

  • Save Our Sounds เป็นโปรเจกต์ส่งเสริมการเก็บบันทึกเสียงที่ถูกบันทึกโดยเทปคาสเซ็ต ไม่ว่าจะเป็นเพลงเก่าๆ หรือบทสัมภาษณ์สำคัญ สุนทรพจน์ รายการวิทยุ หรือแม้กระทั่งเสียงอัดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล แล้วเปิดให้เข้าถึงได้ผ่านฐานข้อมูลออนไลน์ มีการนำข้อมูลบางส่วนมาจัดนิทรรศการให้ชมในปี 2016
Save our Sounds Acetate Discs
Save our Sounds Acetate Discs
Photo : British Library
  • Breaking the News เป็นนิทรรศการที่จัดแสดง ‘ข่าว’ ที่ถูกนำเสนอในสหราชอาณาจักรในช่วง 500 ปีที่ผ่านมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งต้นฉบับ หนังสือพิมพ์ บล็อก เช่น ข่าวเกี่ยวกับยุคไฟไหม้ลอนดอนครั้งใหญ่ ฆาตกรต่อเนื่อง แจ็ค เดอะ ริปเปอร์ ไล่มาจนถึงข่าวสารในยุคปัจจุบัน เพื่อนำเสนอให้ผู้ชมเห็นอิทธิพลของสื่อ และการตีความในรูปแบบต่างๆ ของผู้รับสาร ในปัจจุบัน (2022) นิทรรศการนี้ยังคงเปิดให้ชมอยู่
Breaking the News exhibition by the British Library. Photography by Justine Trickett.
Breaking the News exhibition
Photo: Justine Trickett.
  • Harry Potter: A History of Magic  ห่างออกมาจากจุดเช็คอินชานชาลาที่ 9 ¾ ของสถานีรถไฟคิงส์ครอสเพียงไม่กี่ร้อยเมตร นิทรรศการนี้บอกเล่าเรื่องราวของการเกิดขึ้นของพล็อตวรรณกรรมแฟนตาซี ที่ เจ เค โรว์ลิง คิดขึ้นได้บนรถไฟสายเหนือระหว่างที่เดินทางลงมาจากแมนเชสเตอร์สู่ลอนดอน เสริมความน่าสนใจด้วยนิทรรศการเกี่ยวกับเวทมนตร์และสัตว์ประหลาดในหนังสือ ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติบริเตนได้กล่าวว่า นิทรรศการนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าแม้วรรณกรรมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์จะถูกนำไปดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบ แต่ตัววรรณกรรมซึ่งเป็นต้นฉบับก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้แฮร์รี่ พอตเตอร์ กลายเป็นตำนาน ดังนั้นการย้อนกลับมาจัดนิทรรศการที่หอสมุดแห่งนี้จึงเป็นเหมือนกับการคืนสู่เหย้าของตำนานพ่อมดน้อยแฮร์รี่

มุ่งหน้าสู่อนาคต

          นโยบายที่ผู้บริหารหอสมุดแห่งชาติบริเตนยึดถือมาตลอด คือ ‘เปิดกว้าง’ ต่อสาธารณะ ทั้งทางกายภาพและทางโลกดิจิทัล แผนการที่วาดหวังไว้ในอนาคต คือ เปลี่ยนโรงเก็บเอกสารและงานวิจัย (Silo) ให้กลายเป็นพื้นที่แบ่งปันและสร้างสรรค์ของผู้ใช้งาน เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อประชากรที่อาศัยในย่านคิงส์ครอส ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักวิจัย นักธุรกิจ หรือแม้กระทั่งคนในชุมชนที่ต้องการพื้นที่พักผ่อน ดังนั้น การสร้างอาคารเพิ่มเติมในรูปแบบที่เอื้อต่อการรวมตัวแลกเปลี่ยนไอเดียจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันวิสัยทัศน์ให้เกิดขึ้นได้จริง

          ตัวอาคารในอนาคตจึงถูกออกแบบให้มีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับประชาชน ทั้งลานในร่ม กลางแจ้ง พื้นที่สีเขียว พื้นที่ทำงาน พื้นที่ผักผ่อนหย่อนใจ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาใช้งานสามารถใช้พื้นที่สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิด และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โครงการนี้จึงใช้งบประมาณลงทุนที่สูง หอสมุดแห่งชาติบริเตนจึงลงนามทำสัญญาร่วมกับบริษัท SMBL เพื่อพัฒนาโครงการนี้ให้เกิดขึ้นร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • เพิ่มโอกาสในการจัดแสดงนิทรรศการหรืออีเวนต์เพื่อนำเสนอคอลเลกชันที่มีให้มากขึ้น
  • จัดโปรแกรมใหม่ๆ เพื่อผู้เรียนหลากหลายเพศ และช่วงวัย
  • เพิ่มพื้นที่เปิดสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับองค์กรท้องถิ่น
  • เพิ่มสถานที่ทำงานที่เงียบสงบ
  • เพิ่มรูปแบบการให้บริการด้านคำปรึกษาทางธุรกิจผ่าน Business & IP Centre ที่หอสมุดได้ก่อตั้งขึ้น
  • สร้างสำนักงานให้กับ The Alan Turing Institute หน่วยงานด้าน Data Science และ AI
  • เตรียมกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะ และอาชีพสำหรับชุมชนท้องถิ่นรอบๆ หอสมุด
  • สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรม
  • เพิ่มเติมพื้นที่ให้เช่าสำหรับองค์กร หน่วยงานที่มีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกันกับ The Knowledge Quarter เพื่อให้เกิดระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับคนในชุมชน และสำหรับผู้เข้ามาใช้บริการ

          หากแผนพัฒนานี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้อุปสรรค การก่อสร้างจะเกิดขึ้นในปี 2025 และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2029 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และบ่มเพาะคนในชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อยรวมไปถึงองคาพยพของระบบนิเวศการศึกษาและระบบนิเวศนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็ง เจริญเติบโต จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับย่านคิงส์ครอสและเซนต์แพนคราสยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต


ที่มา

บทความ “Breaking the News” จาก bl.uk (Online)

บทความ “British Library signs Development Agreement with Stanhope and Mitsui Fudosan” จาก bl.uk (Online)

บทความ From Sleazy to Stylish, London’s King’s Cross Is Booming จาก wsj.com (Online)

บทความ Taking the British Library Forward in the Twenty-first Century จาก dlib.org (Online)

บทความ The British Library: building the future at St Pancras จาก blogs.bl.uk (Online)

บทความ Transforming Our St. Pancras Site จาก bl.uk (Online)

บทความ What’s Living in King’s Cross like จาก goodmigrations.com (Online)

Cover Photo : Justine Trickett

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก