‘กาลครั้งหนึ่ง’ นอกตัวบทกับพื้นที่ทดลองทางวรรณกรรมใน ‘บุ๊คโทเปีย’

351 views
7 mins
February 22, 2023

          หากเป็นหนังสือ อุทัยธานีคือหนังสือเล่มเล็ก หนังสือเล่มนี้มีแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่าน ผู้คนดำเนินชีวิตเรียบง่าย ชีวิตที่นี่เริ่มต้นตั้งแต่เช้ามืด จบลงตั้งแต่หัวค่ำ เงียบสงบ ทุ่งนาสองข้างทางทำให้อุทัยธานีคล้ายฉากชวนหลงใหลในวรรณกรรมที่ถูกเขียนเมื่อศตวรรษที่ 20 แต่ไม่เคยมีอะไรง่าย และโลกก็เปลี่ยนไปทุกวัน ร้านหนังสืออิสระ 2 แห่งในเมืองแห่งนี้เป็นพยาน หลายปีมาแล้วที่ร้านหนังสือทั้งสองแห่งยังคงเป็นพื้นที่เล็กๆ ของนักอ่าน ทั้งสองร้านอยู่ไม่ไกลจากกัน บนถนนสายเดียวกัน ร้านหนังสือแห่งหนึ่งมีชื่อแทน ‘พื้นที่’ และอีกแห่งบอกนัยของ ‘เวลา’

พื้นที่ทดลองในบุ๊คโทเปีย

          บุ๊คโทเปีย (Booktopia) ร้านหนังสืออิสระเล็กๆ ตั้งบนถนนณรงค์วิถี วิรัตน์ โตอารีย์มิตร นักเขียนและคอลัมนิสต์ผู้มีผลงานกว่า 20 เล่ม ในหลายนามปากกา ทั้งชื่อจริง ญามิลา และ ปลาอ้วน เป็นเจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้

          ในยุคสื่อนิตยสารรุ่งเรือง วิรัตน์เขียนคอลัมน์ให้นิตยสารหัวต่างๆ เดือนละเกือบ 30 ชิ้น แต่เขาคิดมาตลอดว่า “อาชีพนักเขียนฟรีแลนซ์ไม่ยั่งยืน” จึงตัดสินใจย้ายกลับบ้านเกิดที่อุทัยธานี

          “เวทีของเราจะน้อยลงเรื่อยๆ หรือกระทั่งไม่มีเลย เมื่อก่อนเราไม่คิดว่าจุดนี้จะมาถึงเร็วขนาดนี้ มันเปลี่ยนจนคอลัมนิสต์ก็ไม่มีงาน เพราะนิตยสารหลายแห่งทยอยปิดตัวลง เทรนด์เปลี่ยนไปหมด” วิรัตน์ เล่า

          ย้อนกลับไปประมาณ 16 ปีก่อน เขาเปลี่ยนโรงรถชั้นล่างตึกแถวให้เป็นร้านหนังสือที่ตั้งชื่อสะท้อนรสนิยมทางการอ่าน บุ๊คโทเปียเกิดจากความตั้งใจที่จะสร้างพื้นที่ให้กับผลงานเขียนรวมเล่มของตนเอง วิรัตน์วางแผนว่าในฐานะนักเขียน เขาควรพิมพ์งานเขียนของตัวเองและขายเองโดยไม่พึ่งพาสายส่งและร้านหนังสือ นั่นก็หมายความว่าเขาเป็นนักเขียนที่จะทำสำนักพิมพ์และขายหนังสือในร้านของตัวเอง

          “เราขายวรรณกรรมหรือหนังสือที่เราอยากขาย มีความสุขที่ได้ขายหนังสือที่เราเลือก …ใช่ครับ เราเลือกวรรณกรรม” วิรัตน์ บอกถึงหนังสือที่วางขายในร้านบุ๊คโทเปีย

          ในขวบปีแรก ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับบุ๊คโทเปียยังไม่ชัด วิรัตน์บอกว่า ยังไม่รู้ว่าร้านหนังสือแห่งนี้จะไปในทิศทางไหน แต่โดยพื้นฐาน บุ๊คโทเปียเป็นร้านหนังสือที่มีแฟนประจำ บางปีก็ชวนนักอ่านที่รู้จักมักคุ้นมาทำนา ตั้งชื่อโครงการว่า ‘ทำนาประสา Booktopia’

          บางปีเจ้าของร้านหนังสือก็ไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่ง เรียนกันใต้ต้นไม้ใหญ่ โครงการ ‘ห้องเรียนใต้ร่มไม้’ ริเริ่มโดยนักอ่านประจำร้าน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนทั้งหมด 22 คน วิชาที่วิรัตน์เลือกไปสอน เช่น วิชาท้องฟ้า วิชาความสุข วิชาฟังเพลง ฯลฯ

          “โรงเรียนดังกล่าวชื่อโรงเรียนบ้านท่าดาน อยู่ที่อำเภอทัพทัน จ.อุทัยธานี หนึ่งปีต่อมาโรงเรียนซื่อๆ น่ารักก็ถูกยุบ แต่ห้องเรียนใต้ร่มไม้ถือเป็นความทรงจำที่แสนพิเศษสำหรับผมจนกระทั่งปัจจุบัน” วิรัตน์ บอกเล่าความทรงจำในครั้งนั้น

          “คนอ่านของร้านกลุ่มหนึ่งคือแฟนหนังสือของผม เขาตามมาจากหนังสือที่อ่าน แล้วหลังจากนั้นมันเหมือนกับเราไม่ใช่ร้านหนังสือ เพราะเราคุยกับคนอ่านจนบางคนก็คุ้นเคยเป็นพี่เป็นน้องกัน จากคนนี้ไปรู้จักกับคนนั้น มันเหมือนชุมชนเล็กๆ เขาก็จะผลัดกันมา”

          วิรัตน์บอกว่า เเรกเริ่มเดิมที ไม่ได้วางคาแรกเตอร์ให้บุ๊คโทเปียเป็นพื้นที่ที่รวบรวมผู้คนเช่นทุกวันนี้ พูดได้ว่าลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในร้านบุ๊คโทเปีย เกิดขึ้นจากส่วนผสมระหว่างเจ้าของร้านกับนักอ่าน

          “หลายเรื่องในชีวิตการทำงาน เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้า แต่พอเราลงมือทำ เราจะเห็นว่ามันเป็นแบบนี้ของมันเอง ชีวิตของร้านหนังสือเล็กๆ แต่ละร้านก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบุคลิกเจ้าของร้าน สไตล์เจ้าของร้าน เราใช้ความรู้ที่มีอยู่ในการขายของ ความรู้เรื่องหนังสือ ความรู้เรื่องการเขียน ที่สามารถจะแลกเปลี่ยนกับคนอ่านที่เข้ามาในร้านได้”

          ร้านหนังสือบุ๊คโทเปียดำรงอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้บริโภคย้ายเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ แต่ความสนใจของวิรัตน์ยังคงปักหลักอยู่ที่วรรณกรรม และยังคงทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ บนพื้นที่งานวรรณกรรม

          “เรายังเขียนในแบบที่เราอยากเขียน ตอนหลังผมเขียนนิยายแล้วสนุกกว่า ผมเขียนคอลัมน์มา 20 กว่าปี ปีท้ายๆ ผมล้ามาก มันไม่มี willing ที่จะเขียน แต่ทุกวันนี้เรายังเขียนอยู่ ด้วยวิถีการเขียนแบบเดิมๆ ไม่ไปอิงกับรายปักษ์ รายเดือน รายสัปดาห์อะไรทั้งหลาย เราอิงกับตัวเรา เขียนแล้วก็รอรวมเล่ม แล้วเราก็จะขายที่ร้านเราเลย เป็นการเขียนเพื่อรวมเล่ม”

          ‘Sad Café เธอ, เขา, เรา, ฉัน และสามร้อยกว่าวันในดินแดนแสนโศก’ เป็นนวนิยายเล่มเล็กๆ เล่มล่าสุดของวิรัตน์ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2561 ซึ่งพิสูจน์คำตอบที่เขาบอกว่า ‘ยังเขียนในแบบที่อยากเขียน’ นอกจากร้านหนังสือบุ๊คโทเปีย วิรัตย์ยังทำสำนักพิมพ์ในชื่อ Booktopia พิมพ์งานของนักเขียน เช่น ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ทิวา สาระจูฑะ และ ม.ร.ว.นารี รัชนี ยิ้มศิริ รวมถึงงานของเขาเอง

          ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนการหลายอย่างของร้านบุ๊คโทเปียเลื่อนออกไป บางแผนก็ชะลอไว้ก่อน แต่การเขียนหนังสือสามารถทำได้ทันที

          “ผมเริ่มเขียนหนังสืออีกเล่มตอนต้นปี 65 และพอเดือนมีนาฯ ก็เริ่มอีกเล่ม เล่มหลังคือ Rocktopia : Revisited ซึ่งตั้งท่ามานาน จึงถึงเวลาลงมือเสียที ขณะที่ยังเขียนงานได้และยังมีเรื่องที่อยากเล่าก็ควรทำ ร้านหนังสือนั้นไม่ค่อยมีอะไรให้ทดลองมากนัก แต่ในงานเขียน ผมยังมีหลายสิ่งที่อยากทดลอง”

‘กาลครั้งหนึ่ง’ นอกตัวบทกับพื้นที่ทดลองทางวรรณกรรมใน ‘บุ๊คโทเปีย’
วิรัตน์ โตอารีย์มิตร – ร้านหนังสือบุ๊คโทเปีย

กาลครั้งหนึ่งนอกตัวบทวรรณกรรม

          เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว อุทัยธานีไม่ได้มีสถานะเหมือนทุกวันนี้ กระแสการท่องเที่ยวเมืองรองยังไม่เกิด แต่ วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล อดีตกองบรรณาธิการนิตยสาร สานแสงอรุณ เลือกที่จะบอกลางานประจำในเมืองหลวง เดินทางมายังเมืองแปลกหน้าอย่างอุทัยธานี แต่ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับอุทัยธานีเสียมากกว่า

          “ถ้าถามว่ามองเห็นโอกาสอะไรในเมืองเล็กๆ อย่างอุทัยธานี ผมไม่เห็นอะไรเลยครับนอกจากที่นี่เป็นเมืองในฝัน” วุฐิศานติ์ ย้อนกลับไปยังกาลครั้งหนึ่งเมื่อ 13 ปีก่อน

          วุฐิศานติ์เตร็ดเตร่ไปตามเมืองริมฝั่งแม่น้ำ เพราะเป็นคนชอบแม่น้ำ เขาหาทำเลที่ตั้งร้านโดยใช้วิธีกางแผนที่ประเทศไทย เพื่อดูว่าจังหวัดไหนอยู่ติดแม่น้ำ

          เดินทางเลาะไปตามเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขงจากเขมราฐขึ้นไปเชียงคาน จากเมืองเลยเลียบเลาะแม่น้ำมายังหนองคาย นครพนม มุกดาหาร ขึ้นเหนือไปน่าน ลำพูน สุโขทัย กระทั่งมิตรรุ่นน้องแนะนำเมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำที่อุทัยธานี ตอนมาเยือนครั้งแรกเขาก็บอกตัวเองว่า “นี่มันเมืองในฝันของเราเลย”

          “มันเหมือนคนที่มีความฝันครับ ตอนนั้นเพิ่งออกจากงาน พอออกจากงานเราก็คิดว่าอยากทำร้านหนังสือมันเหมือนเป็นความฝันที่เราต้องทำให้มันเป็นความจริง ไม่อย่างนั้นก็ยังเป็นความฝันต่อไป ก็เลยเดินทางไปหลายที่หลายแห่ง แล้วสุดท้ายก็มาเจอที่นี่ มันเป็นเมืองเล็กๆ เหมือนอย่างที่เราต้องการ มันค่อนข้างเงียบดี”

          เขาเริ่มต้นเขียนประโยคคลาสสิกในโลกวรรณกรรมไว้บนถนนณรงค์วิถี – กาลครั้งหนึ่ง

          เมืองในฝันที่เงียบสงบนี้ ส่งผลให้สัปดาห์แรกของร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง ไม่มีนักอ่านเปิดประตูเดินเข้าร้านมาซื้อหนังสือเลย

          “เปิดอาทิตย์แรก ไม่มีใครเดินเข้าร้านเลย ตอนนั้นก็ตกใจนิดหน่อย สงสัยเราเลือกทำอะไรที่มันผิดหรือเปล่า ผิดผู้ผิดคนไปหรือเปล่า ก็คิดอยู่เหมือนกัน” วุฐิศานติ์ เล่าถึงขวบปีแรกของกาลครั้งหนึ่ง

          กาลครั้งหนึ่ง นำเสนอตัวตนของร้านด้วยหนังสือวรรณกรรมคลาสสิก วรรณกรรมแปล วรรณกรรมเยาวชน หนังสือประวัติศาสตร์ ปรัชญา และหนังสือเก่า หนังสือที่วางขายในร้านคือความสนใจของเจ้าของร้าน

          วุฐิศานติ์อ่านอะไร ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่งก็ขายหนังสือประเภทนั้น

          กาลครั้งหนึ่ง เลือกที่จะทำเว็บไซต์เพื่อนำเสนอหนังสือของร้านควบคู่ไปด้วย ซึ่งทำให้คนอ่าน “สามารถที่จะเข้ามาดูในเว็บของเรา แล้วก็ซื้อหนังสือใหม่ควบคู่กับหนังสือเก่าได้เลย แน่นอนครับว่าการมีคนเดินเข้าร้านก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เราก็พยายามดูแลคนที่เข้ามาร้าน แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เราพยายามจะเสาะหาหนทางอื่น เราใช้สิ่งที่เราสามารถใช้ได้ฟรี อย่างเว็บไซต์ ซึ่งอาจจะเสียเงินเป็นรายปี แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะถือเป็นการลงทุน แต่ช่วงหลังก็มีเฟซบุ๊กมาช่วย ซึ่งได้ผลมากขึ้น เพราะว่าเฟซบุ๊กทำให้ร้านกับคนอ่านสามารถตอบรับกันได้เร็วขึ้น”

          เป็นเวลานานนับสิบปีที่ร้านกาลครั้งหนึ่งยืนหยัดที่จะนำเสนอหนังสือในแบบที่คนขายชอบ แต่ก็ปรับตัวไปตามยุคสมัยที่สร้างช่องทางในการสื่อสารระหว่างผู้คนในสังคม ไม่ว่าเนื้อหาในหนังสือที่ร้านหนังสือแห่งนี้นำเสนอจะเป็นเรื่องราวเก่าแก่ไกลโพ้นประหนึ่งชื่อร้าน

          หากใช้ยอดขายหนังสือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการทำร้านหนังสือ วุฐิศานติ์กล่าวอย่างจริงใจว่า กาลครั้งหนึ่งย่อมล้มเหลว

          “สัปดาห์หนึ่ง มีลูกค้าแวะเวียนกันมาที่ร้านเพียงสองสามคนเท่านั้น บางสัปดาห์อาจมีมากกว่า นั่นถือว่าเป็นโชคดีของเรา การทำร้านหนังสือแล้วไม่มีคนซื้อถือเป็นความล้มเหลว แต่ก็ยังมีคนที่มาหาเราครับ ส่วนใหญ่คนที่มาก็จะเป็นนักท่องเที่ยว เป็นคนที่รู้จัก ผ่านกิจกรรมที่เราเคยทำ หรือว่าผ่านกิจกรรมในเฟซบุ๊ค มีคนเดินทางมาจากภาคใต้ขึ้นมาหาเรา เขาบอกว่าตั้งใจมาที่ร้านนี้ มีพี่ที่อยู่ต่างประเทศรู้จักกันผ่านทางกิจกรรมที่ร้านจัดนิทรรศการเรื่องเจ้าชายน้อย เขากลับมาจากออสเตรเลียแล้วมาหาเรา มันทำให้เรามีกำลังใจ เราไม่รู้สึกว่าเรามาทำร้านหนังสือที่ไม่มีคุณค่า คนมองไม่เห็นคุณค่าที่เราตั้งใจเลย แต่มันยังมีคนเห็นเราอยู่” วุฐิศานติ์ บอก

          กาลครั้งหนึ่งไม่นานนัก คุณลุงนักอ่านคนหนึ่งอยากรู้ความหมายของคำว่า ‘กรีส’ คุณลุงท่านนี้สันนิษฐานว่าเป็นพื้นที่รอบต้นศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แต่ก็เก็บความสงสัยมานานปี กระทั่งมีโอกาสได้มาที่ร้านหนังสือแห่งนี้

          วุฐิศานติ์จึงลองค้นจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 จนพบว่าคำว่า ‘กรีส (กะหรีด) (แบบ) น. มาตราวัดพื้นที่ มีอัตราเท่ากับ 4 อัมพณะ หรือ 125 ศอก, กำหนดเนื้อที่ทำนาได้ข้าวประมาณ 44 ทะนาน. (ลิปิ)’

          “พอได้รู้ความหมาย คุณลุงดีใจมาก ทำให้เราพลอยดีใจไปด้วย รู้สึกว่าร้านหนังสือของเราพอจะมีประโยชน์ให้กับคนที่นี่บ้าง” วุฐิศานติ์ เล่า

          หากเปลี่ยนตัวชี้วัดจากยอดขายเป็นคุณค่าของการเชื่อมโยงความรู้กับผู้คนแดนไกลและชุมชนรอบร้าน เรื่องราวของนักอ่านผู้เดินทางไกลมายังเมืองเล็กๆ แห่งนี้ รวมถึงคุณลุงชาวอุทัยฯ ผู้ต้องการค้นหาความหมายของคำว่า ‘กรีส’ และเขาได้รับคำตอบจากกาลครั้งหนึ่ง

         น่าจะยืนยันได้ถึงสิ่งที่วุฐิศานติ์ตั้งใจเขียนประโยคขึ้นต้นที่ดีที่สุดในโลกวรรณกรรมนี้ขึ้นมา… เป็นร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้

*** ปัจจุบันร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง ย้ายไปอยู่ที่ บ้านพักส่วนตัวของ วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล ที่อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ติดตามกิจกรรมของร้านได้ที่นี่ https://www.facebook.com/oncebookkshop

‘กาลครั้งหนึ่ง’ นอกตัวบทกับพื้นที่ทดลองทางวรรณกรรมใน ‘บุ๊คโทเปีย’
วุฐิศานติ์ จันทร์วิบูล – ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง


ที่มา

บทความนี้ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์ในรายการ Coming to Talk เผยแพร่ครั้งแรกทาง TK Podcast เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ฟังบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่ https://www.thekommon.co/comingtotalk-ep13/

บทความ The Ballad of Booktopia 15 ปี Booktopia ของ ‘วิรัตน์ โตอารีย์มิตร’ ร้านหนังสือที่เต็มไปด้วยผู้คนและเรื่องราวพิเศษราวกับฉากในนิยายเล็กๆ [Online]

บทความร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง อุทัยธานี อุดมคตินักอ่านสู่เจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ [Online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก