หนังสือ non-fiction แนวความรู้ ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการหนักๆ หรือแนวความรู้ทั่วไป เช่น ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ AI ฯลฯ ที่ใส่เทคนิคการเล่าเรื่องชวนติดตาม ต้องถือว่ามีให้นักอ่านเลือกเสพมากกว่าในอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้ มีสำนักพิมพ์ทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางที่จับตลาดนี้โดยเฉพาะ โดยเป็นงานของนักวิชาการไทยหรือแปลจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก็แตกไลน์สำนักพิมพ์ของตนเพื่อจับตลาด non-fiction แนวความรู้เช่นกัน
แม้จะไม่มีตัวเลขสถิติอย่างเป็นรูปธรรม แต่ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง บรรณาธิการอำนวยการ และ ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Bookscape ก็เห็นคล้อยไปในทางเดียวกันว่าตลาดนี้เติบโตขึ้น มีการแข่งขันสูงขึ้น และยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อไป ซึ่งเราจะชวนทั้งสองคนมาช่วยกันอธิบาย วิเคราะห์ ทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ในหลายหลากแง่มุม
สำหรับนักอ่าน การที่สำนักพิมพ์ต่างแข่งขันกันนำเสนองานเชิงความรู้ที่มีคุณภาพย่อมเป็นเรื่องดีอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทว่า ในอีกด้านหนึ่งก็อาจสะท้อนความอ่อนแอและไม่ฟังก์ชันของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยที่ควรมีหน้าที่แปลงานชั้น ‘primary source’ หรือหนังสือที่ปูพื้นฐานองค์ความรู้ทางทฤษฎีต่างๆ ออกมาสู่สังคม ทั้งที่ใช้ทรัพยากรน้อยมากเมื่อเทียบกับสำนักพิมพ์ที่ต้องคิดเรื่องต้นทุนและความเสี่ยงว่าจะขายได้หรือไม่
นี่อาจเป็นสิ่งบ่งชี้วิสัยทัศน์ทางการศึกษา วัฒนธรรมการอ่าน ของสถาบันอุดมศึกษาและรัฐไทยได้ในระดับหนึ่ง
ราวๆ ห้าถึงสิบปีมานี้ตลาดหนังสือ non-fiction กับหนังสือวิชาการโตขึ้น คุณทั้งสองคนคิดอย่างไรกับข้อสังเกตนี้
ณัฏฐพรรณ: ถ้าเอาใกล้ๆ นี้คิดว่าเทรนด์ที่เป็นกระแสในต่างประเทศด้วย โควิดน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ non-fiction เติบโตขึ้น คนอาจรู้สึกว่าต้องหาความรู้ติดตัวไว้รับมือกับสถานการณ์ใดๆ ก็ตามที่คาดไม่ถึง คือมันจะมี 2 เทรนด์ เทรนด์หนึ่งคือหนีไปอ่านนิยายเพราะก็มีการเติบโตของ fiction เหมือนกัน คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งด้วย
วรพจน์: ผมไม่มีตัวเลข มันอยู่ที่สายส่งเป็นหลัก ว่าจริงๆ แล้วหมวด non-fiction มันโตแค่ไหน แต่พูดจากประสบการณ์ตัวเองที่ทำมาประมาณสิบกว่าปี ไม่มีอะไรเป็นวิทยาศาสตร์ สมัยทำโอเพ่นเวิลด์ส (openworlds) ตอนนั้นยังไม่มีใครเริ่มตลาด non-fiction เยอะมาก ตอนนั้นอาจจะมีมติชนที่เป็นเจ้าใหญ่สุด ตอนนั้นที่เราโดดลงมาเล่นเราสามารถ explore อะไรได้เยอะมากเพราะไม่มีใครทำ แล้วเราอยากซื้ออะไร เราก็ชอปได้ง่ายมาก ไปติดต่อก็ง่าย ต่อรองก็ง่ายในเวลานั้น ตอนนั้นตลาด non-fiction อาจจะยังไม่โตมาก
แต่เมื่อเทียบกับทุกวันนี้ เราอาจไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เราเห็นว่ามันมีการแข่งขัน แย่งชิงลิขสิทธิ์หนังสือ non-fiction ในต่างประเทศโดยเฉพาะเล่มดังๆ มาตีพิมพ์เยอะมากขึ้น ในฐานะสำนักพิมพ์เราเห็น ถ้าเล่มดังหน่อยจะแย่งกันค่อนข้างยาก เราต้องหนีไปทางเล่มที่อาจจะไม่ได้ดังมากแต่มีประเด็นน่าสนใจ หนังสือที่เป็น reference ตามแนวทางที่เราชอบได้ อันนี้อาจจะยังไม่แย่งกันมาก แต่ถ้าเป็นหนังสือ non-fiction ที่ดังๆ ตอนนี้แข่งขันค่อนข้างสูง คิดว่าตลาดมันโตขึ้นแน่ๆ แต่โตขึ้นเท่าไหร่ต้องเช็กอีกที
แล้วปัจจัยอะไรที่ทำให้มันโต
วรพจน์: ถ้าระยะใกล้โควิดก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ผมคิดว่าช่วงโควิดยอดขายหนังสือในต่างประเทศค่อนข้างชัด เห็นได้จากงานวิจัย เช่น ที่อังกฤษยอดขายหนังสือสูงขึ้นในช่วงโควิดทั้ง fiction และ non-fiction แต่ที่ผมเห็นเขาวิเคราะห์ fiction โตแน่ๆ อาจเพราะคนเครียดกับสถานการณ์ อยากหาความบันเทิง ส่วน non-fiction โตขนาดไหนยังไม่เห็นชัด อาจจะเหมือนที่เมษ์ (ณัฏฐพรรณ) บอกว่ามันอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรืออาจเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่บ้าน หนังสือก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตัวเอง ในการ escape ออกไปจากโลก หรือเป็นช่วงเวลาที่สามารถพัฒนาทักษะบางอย่าง ก็เป็นไปได้ที่อาจจะโตขึ้น
แต่ของไทยอาจจะมีหลายปัจจัย อย่างช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ที่ตลาด non-fiction โตชัดเจน เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ของฟ้าเดียวกัน ถ้าไปดูงานหนังสือจะเห็นว่าแต่ก่อนฟ้าเดียวกันไม่ได้มีคนมาต่อแถวขนาดนี้ ตอนนี้กลายเป็นหนึ่งในบูธที่ขายดีที่สุด หนังสือ non-fiction ที่เกี่ยวกับบริบทประวัติศาสตร์ไทยก็ขายดีในช่วงสถานการณ์ของสังคม ช่วงที่คนตื่นรู้ อยากรู้เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น มันสะท้อนชัดเจนว่าหนังสือ non-fiction แนวประวัติศาสตร์ แถมค่อนข้างวิชาการด้วย หลายๆ เล่มเป็นหนังสือที่อาจารย์ประวัติศาสตร์ไทยเป็นคนเขียนขายดี จะเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองทำให้คนต้องการไขว่คว้าหาความรู้มากขึ้นผ่านหนังสือของฟ้าเดียวกัน
ณัฏฐพรรณ: มองในมุมคนอ่านรู้สึกว่า non-fiction ในไทยค่อนข้างมีแนวทางชัดเจน อย่างช่วงหนึ่งหนังสือหุ้นมา อีกช่วงหนึ่งหนังสือเรื่องความสัมพันธ์มา พอมีโซเชียลมีเดียก็อาจมีคนที่อ่านหนังสือต่างประเทศ เล่าถึงหนังสือที่หลากหลายขึ้น คนเริ่มมีความสนใจหลากหลายขึ้น หรือว่าคนที่ได้อ่านหนังสือ non-fiction ในไทยบางทีจะมองว่าเข้าใจยากมั้ย ปวดหัวหรือเปล่า แต่พอมีการมาเล่าให้ฟัง ดูเข้าถึงได้มากขึ้น สนุกขึ้น ก็เริ่มมีคนสนใจ อาจจะดูรีวิว TikTok หรือพอดแคสต์แล้วก็อยากอ่าน คิดว่าเป็นปัจจัยที่สิบปีก่อนไม่มีตัวช่วยนี้ที่ทำให้คนได้รู้จัก non-fiction มากขึ้น
ตลาด non-fiction ในไทยใหญ่หรือเปล่า
วรพจน์: ตลาดหนังสือ non-fiction มันหลากหลายมาก ในฐานะคนทำหนังสือ สมมติเราทำปีหนึ่งสัก 30-40 เล่ม เราก็ต้องคาดหวังจะมีหนังสือที่ถูกลอตเตอรี่สักสองสามเล่ม แต่มันไม่ได้เยอะกว่านั้นหรอกครับ ผมคิดว่าเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศที่ประชากรใกล้เคียงกับเราอย่างเกาหลีใต้ ตลาดเรายังเล็กกว่ามาก หนังสือ non-fiction เราคุยกันในวงการ ถ้าเราคิดว่าหนังสือขายได้ 3,000 เล่มคือดีมากแล้ว หลายที่เริ่มต้นพิมพ์ 1,500 – 2,000 เล่มก็มี เยอะด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าตลาดโตขึ้นมั้ย ก็อาจจะโตขึ้น มีความสนใจที่หลากหลายมากขึ้น แต่คงไม่ใช่ทุกเล่มที่จะมีตลาดใหญ่ขนาดนั้น ถ้าเป็น non-fiction เราคงไม่ได้มองเป็นหมื่นเล่ม สองหมื่นเล่ม ค่อนข้างยาก มีไม่กี่เล่มที่โผล่มาได้
เข้าใจว่าหนังสือชุด Sapiens ของสำนักพิมพ์ยิปซีก็พิมพ์ซ้ำหลายครั้ง
วรพจน์: เซเปียนส์เหมือนลอตเตอรี่ อันนี้รางวัลที่ 1 เดาไม่ถูก แต่เกิน 20,000 เล่มแน่ๆ ในความเห็นผม แต่ไม่รู้เท่าไหร่เหมือนกัน
ณัฏฐพรรณ: non-fiction ถ้ามองในมุมส่วนตัวรู้สึกว่าจริงๆ มันก็โตขึ้น ถ้าเทียบกับบางประเภทที่เห็นชัดเจนอย่างนิยายเยาวชน young adult เราเห็นเทรนด์ทางนี้มันลด เรื่องกำไรหรือยอดขายทาง non-fiction ไม่แน่ใจนัก แต่เรื่องความหลากหลายมันโตขึ้น
วรพจน์: แต่เมื่อเทียบกับตลาดเมืองนอกแบบอเมริกา อังกฤษ ความหลากหลายเขาเยอะกว่าเรามาก มากกว่าชนิดที่ผมคิดว่าเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย หนังสือความรู้เขามันเฉพาะมากๆ หลายเรื่องมากๆ ขณะที่ของไทยโตขึ้นก็จริง หลากหลายขึ้นก็จริง แต่ก็ยังค่อนข้างจำกัด หนังสือที่แย่งกันซื้อและคิดว่าน่าจะขายดีก็จะเป็นเรื่องแนวจิตวิทยากับการพัฒนาตัวเอง ในตลาดหนังสือก็จะแข่งขันกันค่อนข้างสูง แต่บางเล่มในฐานะคนซื้อลิขสิทธิ์เราจะเห็นว่าไม่ต้องไปบิด (ประมูล) สูงหรอก เพราะไม่มีใครแข่งกับเรา หนังสือแนวสารคดีดีๆ ที่ยากขึ้นมาหน่อย เราก็รู้ว่าไม่มีใครบิดแข่งกับเรา เราทำไปเถอะ เพราะคนยังไม่ค่อยโดดเข้ามาเล่นเท่าไหร่ เกี่ยวกับการศึกษาก็ยังไม่ค่อยมีใครเล่นนอกจากเรา มันเยอะขึ้นจริงๆ มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ โผล่ขึ้นมาทำ non-fiction เยอะขึ้น ความหลากหลายเยอะขึ้น แต่ผมคิดว่ายังมีรูมในการโตได้อีกในหลากหลายทาง เพียงแต่ตอนนี้ตลาดยังค่อนข้างจำกัดและอนุญาตให้สำนักพิมพ์ที่แข่งกันทำอะไรที่ผมคิดว่าใกล้เคียงกันไปหมดเยอะอยู่ แนวจิตวิทยา พัฒนาตัวเองอันนี้ค่อนข้างชัด
งาน non-fiction ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานแปลจากต่างประเทศ แต่ที่คนไทยเขียนกลับมีน้อยกว่า ถ้าเขียนก็เป็นงานวิชาการหนักๆ ไม่ป๊อป ไม่มีวิธีการเล่าเรื่อง ในฐานะคนทำหนังสือ นักเขียนไทยมีข้อจำกัดอะไรมากกว่านักเขียนในโลกภาษาอังกฤษหรือเปล่า
วรพจน์: ถ้ามอง fiction มีหลากหลายกว่า ผมลองตอบในมุมของเราแล้วกันว่าทำไมเราทำหนังสือแปล ตอนนั้นเราคิดว่ามันมีองค์ความรู้อีกเยอะในรูปภาษาอังกฤษหรือจากต่างประเทศที่เราอยากแปลเพราะมีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงภาษาอังกฤษได้อีกเยอะ วิธีการที่ง่ายที่สุดในการสร้างความรู้ในมุมของเราก็คือการซื้อหนังสือมาแปล มันมองไปถึงคำถามหนึ่งที่พูดถึงเรื่องสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยด้วย ผมคิดว่าการผลิตความรู้ในสังคมไทยไม่ได้มีทุนในการสนับสนุนให้เขาผลิตองค์ความรู้เยอะแยะ
เหมือนกับถ้าคุณเป็นนักเขียนในเชิงโครงสร้าง คุณได้เงินค่าเรื่องสิบเปอร์เซ็นต์จากราคาปก สมมติหนังสือราคาสามร้อยบาท คุณได้สามสิบบาท ถ้าเราพิมพ์ 2,000 เล่มได้เงินประมาณ 60,000 บาท แปลว่าการที่คุณผลิตความรู้หนังสือเล่มหนึ่งที่ต้องใช้เวลาวิจัยนานมาก คุณได้เงิน 60,000 บาท มันอยู่ไม่ได้จริงในการผลิตความรู้ นอกจากนักวิชาการที่ได้ทุนอยู่แล้วหรือบางทีแหล่งทุนจ่ายเพิ่มให้ทำหนังสือ เขาก็ไม่มีต้นทุนอะไรเพิ่ม หรือว่าเขาได้ทุนอยู่แล้วในการผลิตองค์ความรู้นั้น ได้เงินสนับสนุนหมดแล้ว ที่เหลือก็แค่เอามาแปลงเป็นหนังสือ
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นง่ายกว่าหนังสือที่อยู่ดีๆ สมมตินะครับ นักข่าวคนหนึ่งสนใจเรื่องนี้มากเลยใช้เวลา 1 ปีขุดค้นเรื่องนี้แล้วเขียนสารคดีออกมา สมมติหนังสือที่เราเคยทำสมัยโอเพ่นเวิลด์สแล้วกำลังจะพิมพ์ซ้ำอย่าง The Sixth Extinction เข้าใจว่าคนเขียนได้ทุนในการทำวิจัย ลงพื้นที่เป็นปีๆ กว่าจะเขียนหนังสือออกมาได้ คำถามคือถ้าเขาไม่ได้ทุนและสมมติมาขายในไทยได้เงิน 60,000 บาท เขาใช้ชีวิตอยู่ยังไง แค่ทำงานในเชิงความรู้ก็ทำไม่ได้แล้ว นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ไม่ได้บอกว่านักวิชาการหรือนักเขียนไทยคุณภาพต่ำกว่า ไม่ใช่
แต่ก็ถกเถียงกันได้ว่ามาตรฐานในการผลิตหนังสือไทยกับเมืองนอกอาจมีมาตรฐานในการตรวจสอบงาน มีการทำ peer review ที่ต่างกัน ทำให้มาตรฐานงานต่างกันด้วยเหมือนกัน แต่สมมติว่าโครงสร้างเหมือนกันหมด มีทุนสนับสนุนเหมือนกัน ในแง่ศักยภาพอาจจะไม่ต่างกันก็ได้ แต่เราไม่รู้หรอกเพราะยังไม่เกิดขึ้น มันถูกล็อกโดยโครงสร้างทั้งหมด มันอาจจะเป็นคำตอบหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าทำไมหนังสือความรู้ถูกผลิตในเมืองนอกแล้ววิธีที่ถูกที่สุดในการสร้างความรู้คือการแปลหนังสือ ในความเห็นผมนะ
ณัฏฐพรรณ: ที่บอกว่าหนังสือความรู้ที่เป็นนักเขียนไทยมีน้อย จริงๆ อาจจะต้อง scope นิดหนึ่งว่า อันที่ป๊อปเราก็พอเห็นอยู่บ้าง แบบงานของอาจารย์นำชัยหรือแม้แต่ของ Bookscape เองก็มีของอาจารย์อาร์มที่เขียนเรื่องจีน ซึ่งมีลักษณะเป็นการย่อยความรู้ให้เลย หรืองานแบบคุณโตมร ศุขปรีชาที่เขียนเรื่องความรู้ที่ใส่มุมมองตัวเองเข้าไปด้วย ซึ่งแบบนี้ก็ยังเห็นและมีตลาดอยู่ แต่คิดว่าช่องว่างที่หายไปคือหนังสือความรู้ที่มีการอ้างอิง มีฐานความรู้ที่แน่นประมาณหนึ่งแต่ไม่ได้ยาก เป็นวิชาการ อ่านสนุกประมาณหนึ่ง และได้ความรู้ผ่านการค้นคว้ามาเยอะ อันนี้เห็นด้วยคิดว่าเรื่องทุนน่าจะเกี่ยวแน่ๆ
มันต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างคนเขียนกับสำนักพิมพ์ ตอนนี้รูปแบบน่าจะเป็นว่าอาจารย์หรือนักวิชาการได้ทุนวิจัยก็ติดต่อสำนักพิมพ์ที่พิมพ์อยู่ตอนนี้ก็ได้ เราก็เห็นไม่กี่เจ้า เช่น สำนักพิมพ์ศยาม แต่ถ้าทำงานกับสำนักพิมพ์ที่เชิงพาณิชย์มากกว่านั้น คิดเรื่องการขายในวงกว้างมากกว่านั้นอาจต้องคุยกันว่าควรปรับเนื้อหาไปทางไหน เปลี่ยนวิธีเขียน มี บก. มาช่วยให้แมสขึ้น อ่านสนุกขึ้น โดยที่องค์ความรู้กับส่วนที่อ้างอิงยังอยู่
รู้สึกว่ามติชนกำลังไปทางนี้อยู่ เช่น รสไทยไม่แท้หรืออะไรอย่างนี้ก็เป็นงานที่คนอ่านบอกว่าสนุกและมีลักษณะเชิงวิชาการ แต่ที่ยังรู้สึกว่าเป็นช่องโหว่คือเรื่องแนวนี้ก็ยังเป็นเรื่องของไทย ที่เราเห็นจะเป็นประวัติศาสตร์ไทย การเมืองไทย นางใน แต่ถ้าเรื่องความรู้เฉยๆ แบบที่ต่างประเทศเขียนกัน เขาสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ ปรัชญาความสุข อันนี้ยังไม่ค่อยมีคนเขียนในหัวข้อแบบนี้ ซึ่งคิดว่าก็คงขาดเรื่องทุนและต้องเผชิญความเสี่ยงที่เขียนออกมาแล้วจะขายได้มั้ยต่างๆ นานา เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ บุกเบิกกันไป
วรพจน์: แต่ถ้ากลับไปดูจริงๆ non-fiction แต่ก่อนมีค่อนข้างเยอะโดยนักเขียนไทย แต่ว่ารูปแบบคือการรวมบทความ แต่ก่อนมติชนทำเยอะเลย รวมบทความอาจารย์นิธิ อาจารย์เกษียร แต่รูปแบบนี้พอนิเวศสื่อเปลี่ยน หนังสือรวมบทความก็เริ่มเสื่อมคลายไประดับหนึ่งเพราะคนเสิร์ชหาอ่านออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งอ่านหนังสือ มันก็ทำให้เราเห็นว่าหนังสือรวมบทความเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ แต่จริงๆ มันก็ตอบเรื่องเดิมคือ ทำไมหนังสือรวมบทความที่เป็น non-fiction ถึงโผล่เยอะ เพราะมันไม่มีต้นทุนเพิ่ม คนเขียนไปแล้ว ได้เงินค่าเรื่องไปแล้ว แล้วก็มารวมเล่ม คุณก็เก็บเกี่ยวจากตรงนี้เพิ่ม แต่ความคาดหวังที่จะได้งานแบบที่ไม่ใช่งานรวมบทความ เป็นงานแบบองค์ความรู้แบบ non-fiction ชั้นดีมันใช้พลังระดับหนึ่ง ใช้ต้นทุน ถ้าพึ่งพาเฉพาะค่าลิขสิทธิ์เขาอยู่ไม่ได้จริง นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานลักษณะนี้เกิดยาก แต่หนังสือ non-fiction ที่โชคดีถูกพิมพ์ซ้ำเยอะๆ ผมว่าก็ยังยากอยู่
ณัฏฐพรรณ: นักเขียนของต่างประเทศก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเยอะนะคะ บางทีเป็นการรวมองค์ความรู้ที่เขาศึกษามาสิบยี่สิบปีมาเขียน มีการทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ คือตลาดเขาแข็งแรงมากพอจะมั่นใจได้ว่าทำหนังสืออย่างนี้ออกมาจะขายได้ แต่สำนักพิมพ์ในไทยจะทำก็ต้องคิดหนักเหมือนกันว่าโอกาสในการขาย การลงทุนมีแค่ไหน
Bookscape คาดการณ์ได้มั้ยเวลาเลือกหนังสือว่าเล่มไหนจะถูกหวย
วรพจน์: คาดการณ์ไม่ถึงกับได้ครับ ถ้าได้คงรวยไปแล้ว (หัวเราะ) ผมคิดว่าเราพอดูออกว่าเล่มไหนน่าจะขายได้ แต่ถามว่าขายดีมั้ย อันนี้เดาไม่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีอะไรเดาถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นหนังสือสองเล่มที่ขายดีมากของเราคือ Why We Sleep กับ Reasons to Stay Alive ตอนดูก็คิดว่าไม่น่าขาดทุน แต่ถามว่าคิดว่าถูกลอตเตอรี่มั้ย ก็ไม่ได้คาดการณ์ขนาดนั้น แค่พอรู้ว่าแนวนี้น่าจะมีตลาดระดับหนึ่ง
ณัฏฐพรรณ: คล้ายๆ กัน เรื่องนี้น่าจะไม่ขาดทุน เดาง่ายกว่า แต่เล่มที่ขายได้จริงๆ ที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะมองย้อนกลับไปมากกว่า ว่าเล่มที่ขายดีนั้น ขายดีเพราะอะไร ที่รู้สึกเองอาจจะมีสองทาง ทางหนึ่งคือมันไปกับกระแสสังคมตอนนั้น เช่น เล่ม Reasons to Stay Alive มันมาในช่วงโควิด หนังสือแนวฮีลใจหรือเรื่องภาวะซึมเศร้ากำลังมา ก็เลยคิดว่าหนังสือตอบโจทย์โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อ่านแล้วเหมือนเพื่อนที่เข้าใจเรา หรืออย่างหนังสือ The Art of Statistics ถ้ามาในเวลาอื่นคิดว่ามันจะไม่ขายดีเท่ากับตอนที่มันออกพอดี คือมันออกมาช่วงที่มีเรื่องวัคซีนโควิด คนกำลังปวดหัวกับสถิติตัวเลขต่างๆ ในข่าวก็เลยรู้สึกว่ามันออกมาได้ถูกเวลา คิดว่าเป็นเรื่องของ timing ด้วย
แต่ก็จะมีเคสหนังสือที่มีแนวคิดที่น่าสนใจค่อนข้างใหม่ชัดเจนและนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตได้ อย่าง Why We Sleep ไม่ได้ใหม่แต่เป็นด้านที่พูดถึงเรื่องที่เราต้องทำแบบเจาะลึก หรือ Designing Your Life เป็นการนำ Design Thinking มาใช้กับชีวิต มันก็มีแนวคิดที่ชัดเจน หรือ The Bullet Journal Method เป็นการจดบันทึกแบบบูโจ อันนั้นก็มีจุดขาย มีแนวคิดชัดเจน เท่าที่สังเกตเองแนวนี้ดูมีจุดเด่นที่ดึงดูด ขายได้มากกว่าแนวที่คล้ายๆ กับเล่มอื่นๆ ทั่วไป แล้วมันไม่โดดเด่นพอในตลาดที่มีหนังสือเยอะขึ้น มันเป็นการมองย้อนหลัง
(คำถามจากช่างภาพ) ขายดีนี่วัดจากอะไรครับ จากงานหนังสือหรือจากสายส่ง
วรพจน์: หนังสือพิมพ์ซ้ำถ้าคิดเร็วๆ น่าจะสักสิบเปอร์เซ็นต์ของหนังสือที่เราทำ แต่จะมีบางเล่มที่พิมพ์ซ้ำมากกว่าหนึ่งครั้งอันนี้ถือว่าถูกหวยที่หนึ่ง เช่น Reasons to Stay Alive, บูโจ, Why We Sleep พิมพ์เรื่อยๆ เวลาพิมพ์หนังสือเราอาจจะไม่ได้เหมือนสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่ไทม์ไลน์ในการมองหนังสือขายดีของเขาสี่ห้าเดือน เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เรามองกันแบบปีสองปีขึ้นไป หรือบางเล่มเราตัดสินใจทำ ไม่ได้มองว่าจะขายได้ภายในปีหนึ่งแล้วคืนทุน เราจะมองสองปี สามปีก็มี หนังสือที่เป็น reference หนังสือที่คิดว่าขายปีเดียวไม่ได้ ปีหน้าก็ขายได้ มันไม่เก่า อีกปีก็ขายได้อยู่ อย่าง Why We Sleep มันไม่เก่า มันอาจจะมีงานวิจัยใหม่ๆ บ้างแต่ก็ค่อนข้าง comprehensive มากๆ เกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์การนอน หรือหนังสืออย่าง Models of Democracy เราก็คิดว่าไม่ได้ขายดีหรอก แต่เราคิดว่าเป็นหนังสือ reference ที่จะอยู่กับเรา ปีแรก ปีที่สองไม่คืนทุน ปีที่สามอาจจะคืนทุนก็ได้ ถ้าเราเป็นสำนักพิมพ์ระดับกลาง แล้วสามารถยืนหยัดได้ระดับหนึ่งแล้วผมคิดว่า combination ของหนังสือที่เลือกมันพอที่จะอยู่ในการตัดสินใจได้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่คืนทุนในสองปีเราก็ทำได้เพราะหนึ่งคือเราอยากทำ สอง เราคิดว่าปีที่สามก็อาจจะคืนทุน เราพอมีสายป่านพอที่จะทำก็ทำ
สายป่านเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสำนักพิมพ์
วรพจน์: สายป่านนี่สำคัญเลยโดยเฉพาะ business model ของสำนักพิมพ์ ผมในฐานะที่ทำธุรกิจมาเอง ตอนเริ่มต้นควรมีเงินทุนระดับที่อยู่ได้สองปี หนังสือสำหรับผมอย่างน้อยปีสองปีถึงจะคืนทุน ถ้าใครคิดจะเริ่มทำสำนักพิมพ์ก็ควรคิดว่ามีสายป่านอยู่ได้สักสองปี มันก็ต้องมีสายป่านและต้องหมุนดีๆ ตอนแรกๆ ต้องทำเล็กๆ คุมต้นทุนเยอะหน่อย เล็งดีๆ ว่าเล่มนี้น่าจะประมาณปีหนึ่ง ไม่อย่างนั้นก็ค่อนข้างยาก ที่เราทำบางเล่มได้บอกเลยเพราะเราโตมาระดับหนึ่งแล้ว เรียกว่าระดับกลางแล้วกัน เราเลยมีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจระดับหนึ่ง เล่มไหนคิดว่าสายป่านสามปีกลับมาคืนทุนก็ยังทำได้ถ้าเราคิดว่าอยากทำ
ณัฏฐพรรณ: แต่ก็ยังเห็นโมเดลแบบถ้าคนทำเอง พิมพ์เองเลย เขาก็จะใช้วิธีรับพรีออเดอร์แทน เพื่อให้เขาประเมินกำลังต้นทุนได้หมดโดยการไม่เอาเงินไปจมเฉยๆ โดยไม่รู้ว่าจะคืนทุนเมื่อไหร่ หรือไม่ก็ต้องเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ไปเลยโดยที่มีฝ่ายการตลาด มีต้นทุนมากพอจะทุ่มโปรโมทในช่วงสามสี่เดือนแรกที่เป็นอายุของหนังสือใหม่เพื่อขายมันเยอะๆ แต่ข้อเสียคือหลังจากนั้นมันจะกลืนหายไปกับตลาดได้ง่ายกว่า
วิธีคัดเลือกหนังสือของ Bookscape
วรพจน์: ผมว่ามันก็เป็นคาแรกเตอร์เรา ยังไงก็หนีตัวเราไม่พ้น แน่นอนว่ามันเป็นธุรกิจยังไงก็ต้องทำหนังสือที่หลากหลายพอหรือหนังสือที่ไม่ใช่ตัวเราขนาดนั้น แต่เราคิดว่ามันไปได้ในสังคมและอาจให้มุมมองหรือความรู้บางอย่าง แต่สุดท้ายก็จะมีหนังสือที่ไม่มีใครทำ กูก็ทำ คิดว่าขาดทุนกูก็ทำ ไม่สนใจ เพราะมันเป็นตัวเรา มันก็จะมีปนๆ กัน ไม่ได้ถึงกับมีสูตรที่ชัดเจน แต่เราอาจจะคิดว่าหนังสือความรู้ที่มีงานวิจัยรองรับที่ดีพอ เช่นหลังๆ เราก็ทำหนังสือแนวมาร์เก็ตติ้ง แนวพัฒนาตนเอง แต่เราจะทำแบบที่มีงานวิจัยรองรับ เป็นโปรเฟสเซอร์ เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยดังๆ มาเขียน อันนี้เราก็ทำ อันนี้อาจจะเป็นคีย์หลัก ถ้าถามว่าอะไรที่ยึดโยงตัวเรามากที่สุดอาจเป็นเรื่องที่ว่าเราอยากได้งานที่มีความรู้แบบที่มีงานวิจัยรองรับระดับหนึ่ง ไม่มั่ว หรือเป็นตัวจริง เป็น reference ของเรื่องนั้นได้ เป็นองค์ความรู้ที่อยู่กับเราไปอย่างน้อยสี่ห้าปี คนซื้อได้ไม่รู้สึกเก่า
ณัฏฐพรรณ: ฟีดแบ็กจากคนอ่านบอกว่าหนังสือที่เราทำเขาก็เชื่อถือประมาณหนึ่งนะว่าน่าจะเป็นหนังสือที่มีข้อมูลที่ศึกษามา มีงานวิจัย มีความเป็นวิชาการ แต่ไม่ได้หมายถึงเนื้อหาจะต้องยากแต่มีฐานวิชาการรองรับ จนทำให้รู้สึกอยู่เองว่าถ้าเล่มนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เลย ประเด็นมัน controversial กับสิ่งที่เขานำเสนอก็จะลังเลว่าแล้วเราควรนำเสนอออกมาหรือเปล่าในเมื่อยังเป็นข้อถกเถียงที่ไม่แน่นอนด้วยซ้ำ ในฐานะที่เราเป็นคนนำเสนอมันก็รับภาระเหมือนกันในการเอาเรื่องนี้มาแล้วเขาก็มาเสพงานของเราต่อ
อีกอันที่สนใจคือหนังสือที่เป็นวิชาของมหาวิทยาลัยที่เปิดคอร์สอยู่แล้ว แล้วเขาแต่งใหม่เอาเนื้อหามาสรุปเป็นหนังสือ อันนี้ก็ทำบ่อยและรู้สึกว่ามันไม่ยากเกินไปเพราะเป็นวิชาที่สอนนักศึกษา ต้องมีการย่อยมาแล้วประมาณหนึ่ง แล้วก็เป็นวิชาที่ได้รับความนิยม เพราะฉะนั้นเนื้อหาก็มีความน่าสนใจในตัวมันเอง มีความเชื่อถือได้ และมีฐานความรู้
วรพจน์: ในแง่หลักไม่ได้ถึงกับมีสูตรตายตัวนะครับ ไม่ได้มีหลักสูตรหล่อๆ ว่าฉันจะทำเพื่อสังคม ไม่ใช่ มันจะมีหลายสูตรมาก แต่ละเล่มก็มีเหตุผลรองรับแตกต่างกัน หนังสือที่สะกิดเรามากๆ อยากทำมากๆ คือหนังสือที่เปิดดีเบตใหม่ๆ ให้สังคมด้วย เช่น เราทำ The Age of Surveillance Capitalism เพราะเรารู้สึกว่าเป็นหนังสือคลาสสิกที่ใช้อ้างอิงในการทำความเข้าใจทุนนิยมยุคใหม่ ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่ามันเปิดดีเบตใหม่ๆ หรือหนังสือเล่มเล็กๆ เช่น consent มันเปิดดีเบตใหม่ๆ เกี่ยวกับการเข้าใจเรื่องเพศศึกษาในสังคมยังไง
อย่างที่เมษ์บอก หนังสือที่เราก็ชอบทำคือหนังสือเกี่ยวกับวิชาในมหาวิทยาลัย แต่เป็นวิชาใหม่ๆ สนุกๆ ให้เด็กมาดีเบตกัน ไม่ใช่วิชาแบบ 101 อย่างเดียว เป็นแบบวิชาอารมณ์ขัน สอนการใช้อารมณ์ขันในธุรกิจว่ามีความสำคัญยังไง เราว่ามันสนุกดี วิชาจับตอแหล วิชา Calling Bullshit ให้เราเท่าทันพวกโกง วิธีหลอกลวงในยุคเฟคนิวส์เต็มโซเชียลไปหมด ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทำเยอะเหมือนกันเพราะเราคิดว่ามันสนุกและมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วย แต่เราก็ขยายขอบเขตความรู้ของเราไปค่อนข้างกว้างขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับสมัยโอเพ่นเวิลด์ส เราทำหนังสือหลากหลายขึ้นค่อนข้างมาก
มีสำนักพิมพ์เปิดใหม่หรือสำนักพิมพ์ใหญ่ที่แตกไลน์ออกมาทำ non-fiction Bookscape มองการแข่งขันในตลาดนี้ยังไง มันมีความท้าทายอะไรบ้าง
ณัฏฐพรรณ: มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือมันเปิดให้ตลาดวงการนักอ่าน non-fiction กว้างขึ้น ทำให้ในตลาดไทยมีหนังสือหลากหลายมากขึ้น บางเล่มเราเองอาจจะไม่ทำ หัวข้อไม่น่าสนใจนัก หรือกังวลเรื่องการขาย เช่นหนังสือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม เรารู้สึกว่ามันสำคัญ แต่ตลาดค่อนข้างเล็ก คาดเดายอดขายได้ยากกว่า พอมีสำนักพิมพ์อื่นทำเราก็ดีใจ คิดว่าการที่มันมีความหลากหลายโดยรวมแล้วในระบบนิเวศของคนทำหนังสือก็ดีกว่า เพราะสุดท้ายจะมีคนอ่านที่สนใจหลากหลายขึ้นจากที่เขาอาจคิดว่าหนังสือแบบนี้ต้องอ่านภาษาอังกฤษอย่างเดียวหรือไม่ก็หาอ่านไม่ได้เลย กลายเป็นว่ามีอ่านในภาษาไทยได้
แล้วจริงๆ ตลาดหนังสือ non-fiction ก็กว้างมาก มันก็ไม่ถึงกับต้องแก่งแย่งตบตี แบบว่าเขาเอาไปแล้ว แล้วเราจะไม่เหลือหนังสือให้ทำ แต่ความยากคือมันต้องเร็วขึ้นในการทำ ยิ่งถ้าเป็นเล่มดังๆ ถ้าช้าแล้วสำนักพิมพ์ใหญ่สนใจเมื่อไหร่ มันต้องบิดแข่งกันว่าใครจะได้ไป เราก็สู้ไม่ได้เพราะเขาทุนมากกว่า คล้ายๆ ว่าเราต้องละเอียดต้องเร็วในการคัดเลือกมากขึ้นหรือหาหนังสือที่หลากหลาย ที่โด่งดังอยู่ในซอกหลืบมากกว่า มีแนวทางที่ชัดเจนมากกว่า ไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่ยังไม่มีคนเข้ามาเล่นในตลาดนี้เท่าไหร่ เราจะแปลเล่มไหนก็ไม่ต้องแข่งกับใคร
วรพจน์: ผมว่าในแง่คนอ่านก็ดีอยู่แล้ว อะไรที่แข่งขันกันเยอะๆ นำเสนอให้คนอ่านเยอะๆ ผมว่ามันก็ดี แล้วเราก็ไม่ได้ทำได้ทุกอย่าง ความสนใจเราก็เป็นตัวเราระดับหนึ่ง อย่าง Being เขาก็เลือก non-fiction ที่ไม่ได้เหมือนกับเราเท่าไหร่ เขาก็มีแนวของเขา แล้วแนวตลาดคนอ่าน non-fiction เขาก็ทำอะไรที่ค่อนข้างไปในทางเดียวกัน เช่นทำเรื่องจิบลิ ถ้าถามเราในฐานะคนอ่านก็ดีใจที่มีหนังสือแบบนี้ แต่ในฐานะคนทำเราก็อาจจะไม่ได้ทำ โซเฟียมาทำผมคิดว่าเขาก็พยายามที่จะ…คือเนื่องจากเขามีสำนักพิมพ์ย่อยเยอะ เขาพยายามที่จะเฉดตัวเองให้ต่างจากหัวอื่นของเขา มันเลยเหมือนเขาทำอะไรที่ผมคิดว่าท้าทายสำหรับเรา เช่นเล่ม The Dawn of Everything เขาทำเล่มหนามาก สำหรับคนทำสำนักพิมพ์การทำเล่มหนาขนาดนั้นใช้พลังเยอะมาก แล้วสายป่านต้องยาว หนังสือเล่มหนึ่งลงทุนไปกว่าเงินจะกลับมา หนึ่งปีหรือสองปี สำนักพิมพ์เล็กๆ ต้องคิดเยอะว่าจะทำดีมั้ย แต่สำนักพิมพ์ใหญ่และต้องการสร้างฐานตัวเองให้ต่างจากสำนักพิมพ์ในเครืออื่นๆ ผมคิดว่าเขาก็ทำหนังสือน่าสนใจหลายเล่มที่เป็นเราก็อาจไม่ทำ ในแง่ของคนอ่านก็น่าดีใจ
แน่นอนในเชิงกระเป๋าตังค์มีเงินจำกัด พอซื้อเล่มนี้ก็อาจจะไม่มาซื้อเล่มเรา แต่ผมไม่สนใจเรื่องนี้นะ เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าในเชิงนิเวศโดยรวม คนอ่านหนังสือเยอะขึ้นก็ดีกว่าอยู่แล้ว ในแง่เงินอาจจะไม่มีเงินซื้อ แต่ในแง่ความรู้เขาอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ได้ ผมว่าระยะยาวเป็นการสร้างนิเวศการอ่านที่ดีต่อสังคม สุดท้าย ในฐานะคนทำสำนักพิมพ์เราก็ได้ประโยชน์ในระยะยาวกับมัน
แต่ในแง่ธุรกิจก็จะมีบางมุมมองเพราะบางสำนักพิมพ์ถ้าพูดตรงๆ ก็คือเราไม่ได้อยู่ในจังหวะการขายที่เท่าเทียมกันขนาดนั้น บางที่เป็นทั้งสำนักพิมพ์ เป็นทั้งร้านค้า เป็นทั้งสายส่ง เขามีตัวเลข เขารู้ว่าหนังสืออะไรขายดี หนังสือของเราเล่มไหนขายดี เขารู้หมด แต่เราไม่รู้ว่าหนังสือเล่มไหนของเขาที่ขายดี เขาสามารถต่อรองได้มากกว่า เวลาเราไปฝากสายส่ง เราเจอค่าจีพีเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์เข้าไปแล้ว 45 เปอร์เซ็นต์เป็นมาตรฐานของตลาดไปแล้ว แต่เขาก็อาจจะเจอเหมือนกัน บริษัทเครือเดียวกันเนาะ หรือว่าการเลือกปฏิบัติทั้งหลายก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าผมทำร้านหนังสือผมก็ย่อมอยากวางหนังสือตัวเองดีกว่า ถ้าการแข่งขันเท่าเทียมผมคิดว่าอันนี้เป็นประโยชน์กับคนอ่าน แล้วถ้าเราทำธุรกิจสำนักพิมพ์ได้ไม่โดนใจตลาดหรือไม่เก่งพอ ทำหนังสือไม่ดีพอ แล้วพ่ายแพ้ไป ผมก็ว่าเป็นธรรม คนอื่นก็ได้ประโยชน์ไป อันนี้เป็นเกมที่แฟร์ แต่ถ้ามีบางส่วนที่ไม่ค่อยแฟร์ เราก็อาจต้องมาทบทวนกันว่าจะทำยังไงให้แฟร์มากขึ้น
การมีคู่แข่งมากขึ้นมันก็ดีกับเรา เราก็ต้องปรับตัว ตอนนี้เราปรับตัวเยอะทั้งในแง่การเสนอหนังสือ ความเร็วในการผลิตหนังสือ จังหวะหนังสือต้องแม่นยำมากขึ้น วันหนึ่งเราคิดว่าเราซื้อหนังสือเหล่านี้ง่ายๆ แล้วทำแบบนี้ขายกับผู้อ่านเราได้ ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว เราก็ต้องหาแนวทางมากขึ้นหรือต้องสำรวจมากขึ้นว่ามีหนังสืออะไรที่คนยังไม่เห็นกันมาก ตลาดยังมีช่องว่าตรงนี้อยู่ เราควรจะทำมั้ย ผมคิดว่าพวกนี้ทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเอง ต้องปรับตัวในฐานะที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีคู่แข่งมากขึ้น
ผมรู้สึกว่าธุรกิจสำนักพิมพ์ไม่ได้ใช้เงินเยอะเมื่อเทียบกับสื่อหลายๆ อย่าง มันเลยอนุญาตให้เจ้าเล็กๆ โผล่มาได้ ประมาณเจ็ดแปดปีที่แล้ว สำนักพิมพ์เล็กๆ เกิดค่อนข้างเยอะ ทำหนังสือที่สำหรับเรารู้สึกว่าดี หนังสือกลายเป็นสิ่งที่เจ้าเล็กทำได้ดีเพราะเขาชอบหนังสือเล่มนี้ ไปคัดมา ดูแลงาน ไม่ว่าจะแปลหรือต้นฉบับไทยก็แล้วแต่ เขาจะดูแลมันอย่างดี รู้จักมันจริงๆ วิธีการ framing วิธีให้รายละเอียด การออกแบบปก สิ่งที่สื่อผ่านปก วิธีการโปรยปกหลัง มันเห็นความใส่ใจ เห็นความ craft เพราะเขาให้ความสำคัญกับทุกเล่มที่เขาทำ
ตอนนี้ก็มีสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่หายไปบ้าง แล้วแนวโน้มตอนนี้กลายเป็นเจ้าใหญ่เปิดหัวเยอะขึ้น เจ้าใหญ่ที่แต่ก่อนเป็นแค่สายส่ง ทำหนังสือบ้างแต่ก็น้อย และทำเฉพาะด้าน อย่างเช่นซีเอ็ดแต่ก่อนทำหนังสือติว เดี๋ยวนี้ก็เริ่มทำหนังสือ non-fiction เยอะขึ้น แต่สิ่งที่ผมรู้สึกเสียดายคือหนังสือบางเล่มที่ดีๆ ไปอยู่กับเจ้าใหญ่ แล้วมัน lost ในกระบวนการผลิตไปหมดเพราะเขาปฏิบัติกับหนังสือเป็นอุตสาหกรรม แล้วทุกอย่างก็เหมือนๆ กันหมด ผมนึกออกเลยว่าบางเล่มถ้าเจ้านี้ได้ไปจะดีกว่าที่เห็นเยอะมาก อันนี้เป็นความน่าเสียดายที่เกิดขึ้น แข่งขันกันมากขึ้น มีเจ้าใหญ่โผล่เข้ามา มันก็ดีสำหรับคนอ่าน แต่ก็อาจจะมีจุดที่ไม่ดีบ้างในแง่นี้ เพราะผมรู้สึกว่าหนังสือหลายเล่มมัน lost ไป
สถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะการชุมนุมในปี 2563 เป็นต้นมาส่งผลอย่างไรต่อตลาดหนังสือ หนังสือ non-fiction และหนังสือวิชาการ Bookscape ได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้หรือเปล่า
วรพจน์: มันต้องดูเป็นเล่มๆ มากกว่า ถ้าจะดูเฉพาะสถานการณ์ทางการเมือง มันทำให้คนกระหายอยากหาความรู้ทางการเมืองเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าบางเล่มเราก็ได้อานิสงส์ชัดเจน ที่เป็นรูปธรรมคือ Common Sense ซึ่งเป็นหนังสือที่เราวางแผนจะทำก่อนหน้านั้นแล้ว พอทำเสร็จแล้วสถานการณ์มันทำให้หนังสือที่เราไม่ได้คิดว่า… พูดง่ายตอนนั้นทำแบบเอามัน อยากสื่อสารบางประเด็นในสังคมออกไปให้รับรู้ ไม่คิดเลยว่าจะขายได้ ก็ปรากฏว่าเป็นหนังสือที่ช่วงเวลานั้นขายดีมากเล่มหนึ่ง
กระแสสังคมที่ผู้คนลุกขึ้น ตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามองไปยาวๆ จะทำให้หนังสือแนวความรู้เติบโตได้มากขึ้นอีกมั้ย หรือก็ต้องขึ้นกับเนื้อหาที่เราเลือก
วรพจน์: ผมว่าก็ต้องขึ้นกับเนื้อหาอยู่แล้วครับ ถ้าพูดถึงในเวลาปี 63 – 64 มันชัดเจนว่าเด็กต้องการความรู้ทางการเมือง แต่มันเป็นบริบทของไทยมากกว่าซึ่งเห็นชัดจากการขายดีมากๆ จากปรากฏการณ์ฟ้าเดียวกันที่เด็กไปต่อแถวขอลายเซ็นหรือต่อแถวซื้อ ซึ่งเราไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ผมคิดว่าสถานการณ์ทางการเมืองก็กระตุ้นความอยากรู้ แต่ความอยากรู้ก็ค่อนข้างเฉพาะระดับหนึ่ง อยากรู้สถานการณ์ทางการเมืองในบริบทไทย แต่ถามว่าความอยากรู้ตรงนี้จะขยายไปเป็นความอยากรู้ในองค์ความรู้อื่นๆ ด้วยหรือเปล่า อันนี้ผมคิดว่าเป็นไปได้ แต่ถามว่าตัวเราเองในฐานะสำนักพิมพ์ แล้วดูยอดขายสามารถเป็นตัวชี้วัดที่ตอบเรื่องนั้นได้มั้ย อาจจะยังไม่สามารถพูดได้ แต่ระยะยาวก็ไม่แน่เหมือนกัน
ณัฏฐพรรณ: คิดว่ามันเป็นการเดินทางไกล ส่วนตัวคิดว่ามันได้รับผลไม่มากก็น้อย พอมันมีกระแสขึ้นมาจากคนที่ไม่เคยสนใจเลย อย่างน้อยได้อ่าน ได้รับรู้เรื่องนี้แล้ว มีหนังสือชื่อ ปฏิวัติ ความสนใจเขาก็อาจเพิ่มขึ้นอยากรู้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร แต่อย่างที่บอกว่ามันก็ไม่ได้ทั้งหมด อย่างหนังสือ ‘นานาประชาธิปไตย’ ก็ไม่ได้รับกระแสอะไร มันคือการปูพื้นรากฐานประชาธิปไตยที่คนสนใจเข้ามาเรียนรู้ได้ แต่คิดว่ามันช่วยจุดต่อๆ กันมาทีละนิด อย่างหนังสือ ‘แม่ง โคตรโฟนี่เลย’ ที่พูดถึงการเมืองวรรณกรรมก็รู้สึกว่าได้กลุ่มคนอ่านที่คล้ายๆ กับตอน Common Sense ซึ่งถ้ามาตอนที่ไม่มีกระแสอะไรเลยก็อาจจะยากกว่านี้ที่จะสื่อสารประเด็นความโกรธ ความคับแค้นของคนที่ต่อสู้เรื่องการเมืองมาตลอดออกไป
เข้าใจว่าในโลกภาษาอังกฤษน่าจะมีงานไทยศึกษาดีๆ อยู่มาก ทำไม Bookscape จึงไม่เลือกนำงานเหล่านั้นมาแปลหรือไม่ใช่บุคลิกของ Bookscape
วรพจน์: เราอาจจะไม่ได้เริ่มมาจากตรงนั้นถ้าถามผมนะ แล้วผมคิดว่าทุกวันนี้มีคนทำอยู่แล้วและทำได้ดีกว่าเรา อย่างฟ้าเดียวกัน Illumination ที่เขามุ่งมั่นทำทางด้านนี้ หรือสำนักพิมพ์สมมติก็ทำบ้าง มติชนก็ทำเยอะ จริงๆ มติชนแต่ก่อนทำหนังสือแนวเราเยอะ ตอนนี้ไม่ค่อยทำ มาทำแนวไทยศึกษาค่อนข้างเยอะ ผมก็คิดว่ามีคนทำได้ดีกว่าเราเยอะมาก เราเลยไม่ได้สนใจงานไทยศึกษาขนาดนั้น อย่างที่บอกเราชอบทำเรื่องความรู้ที่เป็น reference สร้างคอนเซปต์ สร้างทฤษฎี สร้างฐานคิดที่ดี สร้าง argument ที่ดี เราสนุกกับการทำตรงนี้และคิดว่าเราทำได้ดี เราก็ทำ งานไทยศึกษาดีๆ มีเยอะ แต่มีคนทำได้ดีกว่าเรา ให้เราไปทำแข่งกับฟ้าเดียวกัน แข่งไม่ได้หรอกครับ เขาเก่งกว่าเราเยอะ
ไม่รู้ว่ามโนไปเองหรือเปล่า แต่อยากถามว่าหนังสือวิชาการ หนังสือแนว non-fiction ถือว่าอยู่ในกระแสวัฒนธรรมป๊อปของเยาวชนไทยตอนนี้หรือเปล่า
ณัฏฐพรรณ: ถ้าเทียบกับนิยายวายก็ยังไม่ป๊อปหรอก แต่ก็เรียกว่าได้รับความสนใจมากกว่า อาจจะยังไม่ถึงกับป๊อป แมส เป็นกระแส ทำออกมาแล้วคนสนใจหมู่มาก จุดติด ได้รับความสนใจ แต่ก็ขึ้นกับว่าหยิบเล่มไหนมาด้วย คิดว่าวัยรุ่นอ่านหลากหลายมากขึ้น วัยรุ่นที่อ่านแนวบทความสั้นๆ ก็มี แนวการเมืองเข้มข้นก็มี หรือของเราทั้ง Common Sense หรือ Reasons to Stay Alive ก็คนละแนวแต่ก็อยู่ในกระแสทั้งคู่ ส่วนตัวไม่ได้คิดว่ามันป๊อป แต่คิดว่ามันเติบโต
วรพจน์: วิชาการขนาดไหน
ผมได้ยินว่าช่วงหนึ่งหนังสืออาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เด็กมัธยมต้นถือกันเป็นเรื่องปกติ
วรพจน์: ก็เป็นไปได้ มันเหมือนมีกระแสบางอย่างด้วย ไม่แน่ใจว่าเป็นกระแสเรื่องประเด็นหรือกระแสตัวบุคคล คาดเดาไม่ได้ แต่ถ้าจะโน้ตนิดหนึ่ง งานวิชาการแบบบางเล่มที่เราทำ เช่น Models of Democracy ไม่ป๊อปแน่ๆ แต่ถ้าเป็นหนังสือที่ยกบางประเด็นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกษัตริย์หรือบางคนก็เป็นนักวิชาการที่ป๊อปและได้รับความสนใจขึ้นมา เช่นนักวิชาการบางคนที่พูดเรื่องมาร์กซิสต์ผมว่าก็มีพวกนี้อยู่ในความป๊อปของมัน
แต่ถ้าถามว่าความเป็นฐานวิชาการจริงๆ ป๊อปด้วยมั้ย ผมก็คิดว่ายังไม่ป๊อป มันมีคนอ่านมาร์กซิสต์แบบหนึ่งที่ทำให้ป๊อปขึ้นมา แต่ถามว่างานแบบมาร์กซิสต์จริงๆ ที่พูดอย่างรอบด้านและวิเคราะห์วิจารณ์มาร์กซิสต์ ผมคิดว่ายังไม่ป๊อปขนาดนั้น หนังสือที่เป็นองค์ความรู้ ทฤษฎีพื้นฐาน argument พื้นฐาน ผมก็ว่ายังไม่ป๊อป แต่อาจจะป๊อปบางจุดที่กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งก็เข้าใจได้ มันสัมพันธ์กับชีวิตเขา เขารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นตอบโจทย์บางอย่างของเขา แต่ถ้าจะขยับขึ้นไปก็จะดีขึ้นถ้าความสนใจเฉพาะตรงนั้นทำให้เขาไปต่อยอดฐานความรู้ที่รอบด้านมากขึ้น เช่นบางทฤษฎีมาร์กซิสต์ถูกหยิบใช้ในบางประเด็น เพื่อบางสถานการณ์ แต่องค์ความรู้พื้นฐานของมาร์กซิสต์ พูดอะไร มีทฤษฎีอะไร แนวความคิดโตมาจากไหน ผมคิดว่าอันนี้ยังไม่ป๊อปแน่ๆ
ณัฏฐพรรณ: อยากเสริมว่ามีบางด้านก็ใช้คำว่าป๊อปไม่ได้ แต่เติบโตขึ้น เราพูดเรื่องการเมืองกันเยอะ แต่มันก็แตะไปถึงประเด็นอื่นๆ เช่นเรื่องเพศ เรารู้สึกได้ว่าคนสนใจหนังสือที่พูดถึงเรื่องเพศ ความหลากหลายทางเพศ หรือความเท่าเทียม การถูกกดทับต่างๆ มากขึ้น ก็คิดว่าเป็นหนึ่งในกระแสที่มาจากการที่คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำด้วย แล้วพวกนี้พอสนใจแล้วมันมองไม่เห็นไม่ได้แล้ว ก็คิดว่ามันเติบโตไปได้เรื่อยๆ
คุณเคยพูดว่าการผลิตหนังสือความรู้ควรเป็นภารกิจหนึ่งของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย แต่กลับไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย คุณคิดว่ามีปัจจัยอะไรที่นำมาสู่สถานการณ์ทำนองนี้
วรพจน์: ผมอาจจะตอบโดยที่ยังไม่เข้าใจ จริงๆ เคยอยู่มหาวิทยาลัยแต่ออกมานานมากแล้ว แล้วก็ไม่ได้สนใจเรื่องตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ก็เลยไม่เคยศึกษา แต่ผมคิดว่ามันคงผูกกันด้วยว่างานแบบไหนที่ใช้ขอตำแหน่งได้ แบบไหนขอไม่ได้ เช่น งานแปล แต่ก่อนมันเคยมีว่า ผศ. ใช้งานแปลขอตำแหน่งได้ส่วนหนึ่ง แต่คะแนนคงไม่ได้เท่ากับการทำวิจัย ซึ่งงานวิจัยสำคัญมั้ย ก็สำคัญ แต่งานที่เป็นทฤษฎีความรู้พื้นฐานก็สำคัญเหมือนกันสำหรับการถกเถียงและต่อยอดไปทำงานภาคปฏิบัติ อันนี้มันขาดไป
ผมตอบตรงนี้ยากนิดหนึ่งเพราะผมไม่ได้รู้กฎระเบียบขนาดนั้น แต่คิดว่ามันผูกสัมพันธ์กับวิธีการวัดว่าคุณจะได้ยศถาบรรดาศักดิ์ทางวิชาการยังไง รวมถึงการแปลงานอาจไม่อยู่ในการวัดเคพีไอของมหาวิทยาลัยซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะในหลายๆ ที่ก็เป็นความรู้พื้นฐานเสียจนไม่รู้ว่าทำไมต้อง… คือถ้าเป็นเมืองนอกก็จะแข่งกันพวกงานวิจัยแล้วเอามาตีพิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งอันนี้ก็อยู่ใน Hall of Fame ของแต่ละคณะเลย ผลงานที่ชัดเจนเชิงประจักษ์ที่สุดของงานวิชาการคือหนังสือรวมเล่ม หนังสือที่เป็นเล่มๆ ของนักวิชาการแต่ละคนซึ่งมันยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าบทความอีก แต่ของไทยไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยได้รับความสำคัญเท่าไหร่ งานวิจัยขึ้นหิ้งก็เยอะแยะ ทำเสร็จก็ไม่ได้ถูกตีพิมพ์
ถ้าถามผมก็คิดว่ามันเป็นเรื่องพวกนี้แหละ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยก็ไม่สนใจ มันไม่ได้ถูกทำขึ้นเพื่อเสิร์ฟการสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคม มันเสิร์ฟเรื่องการผลิตงานของอาจารย์ที่ต้องการขอตำแหน่งทางวิชาการ ผลิตงานเพื่อเพิ่มเคพีไอให้กับมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นก็อาจละเลยเรื่องนี้ไป
ถ้าพิมพ์กับสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย… เขาเรียกอะไรล่ะ เหมือนกับเราผลิตงานออกไปก็อยากพิมพ์กับฟ้าเดียวกันมากกว่าสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย งานจะได้ไปสู่วงกว้างมากกว่า สองคือสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไม่มีทางมืออาชีพเทียบเท่ากับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน สุดท้ายผลงานมันผิดกัน คือสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไม่มี professionalism ไม่มีความเก่งกาจด้านนี้ ไม่เหมือนกับถ้าคุณไปดู Oxford University Press หรือว่า Cambridge University Press พวกนี้เข้มแข็งมาก กอง บก. เข้มแข็งมากในการทำงานวิชาการ ของไทยผมเข้าใจว่าไม่มี บก. หรือเปล่า ไม่น่ามีนะ คือเขาเป็นแค่แหล่งตีพิมพ์ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไทยไม่จึงฟังก์ชันเรื่องความรู้ในสังคม
จริงๆ เคยวิจารณ์เหมือนกันว่าทำไมสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไม่ฟังก์ชันมากกว่านี้ ทำงานแปลที่เป็นฐานความรู้ดีๆ สำนักพิมพ์อย่างเราสายป่านประมาณสองปีก็สุดๆ แล้ว คุณพิมพ์หนังสือเล่มไหนแล้วคิดว่าสิบปีคืนทุนคุณต้องเศรษฐี แต่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องตอบเรื่องนั้น เขาคิดเรื่องสี่ปีห้าปีคืนทุนก็ได้ หนังสือบางเล่มผมมั่นใจว่า ถ้าสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยทำอยู่ จะรอดทางธุรกิจได้ด้วย
สมัยผมสอนหนังสือต้องสอนพวก methodology พื้นฐาน หนังสือที่ทุกคนใช้คือหนังสือของอาจารย์ชายที่เป็นภาษาไทย มีอยู่เล่มเดียวจริงๆ หรือมีน้อยมาก ขณะที่เราไปเรียนเมืองนอกจะเห็นหนังสือ methodology เต็มไปหมด นี่เป็นฐานในการทำวิจัยต่อยอดมากมาย นี่คือการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกที่สุด คือแปลงานมาเลย แล้วถามว่าสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยได้ชื่อเสียงมั้ย ผมคิดว่าก็ได้ชื่อเสียงในการแปลหนังสือพวกนี้ที่เป็นทฤษฎีพื้นฐาน ดีเบตพื้นฐาน methodology พื้นฐาน แล้วก็ขายได้ด้วย เผลอๆ ไม่ถึงสามสี่ปีก็คืนทุนแล้ว แต่เขาไม่คิดเรื่องนี้ เขาต้องกลับมาทบทวนว่าเป้าหมายของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยคืออะไร
รัฐควรเข้ามายุ่งกับการสร้างองค์ความรู้ให้สังคมหรือเปล่า
วรพจน์: ผมคิดว่าอะไรที่ตลาดไม่ทำงานและมีผลกระทบเชิงบวกกับสังคมรัฐก็เข้ามาสนับสนุนได้ สมมติหนังสือเกี่ยวกับองค์ความรู้ ทฤษฎีพื้นฐานทั้งหลายที่เป็นดีเบตสำคัญ ใช้ต่อยอดในการทำวิจัย ในการถกเถียงเชิงทฤษฎีทั้งหลาย ถ้าคิดว่าเรื่องพวกนี้สำคัญ รัฐเข้ามาสนับสนุนได้ แต่จะสนับสนุนรูปแบบไหน ยังไง ก็ว่ากัน
ตอนนี้ตลาดหนังสือลักษณะนี้ไม่ทำงาน?
วรพจน์: ถ้าทำงานคงเกิดไปแล้ว ใช่มั้ยครับ เราก็ทำได้ แต่ทำได้ตามกำลังของเรา บางเล่มก็อยู่ในแผน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดเผย ตามกำลังของเราอาจทำหนังสือองค์ความรู้พื้นฐานสำคัญได้แค่ปีละเล่ม แต่เราก็ทำได้แค่นี้แหละ ถ้าทำให้มันเกิดอย่างเป็นระบบ สมมติเอาอาจารย์ทุกคณะมานั่งรวมกันแล้วโยนชื่อว่าหนังสืออะไรที่เป็นหนังสือคลาสสิก เป็นดีเบตพื้นฐาน แล้วเอามาทำ คืออยู่ดีๆ ให้ผมทำ ผมก็ทำไม่ได้ ฟ้าเดียวกันก็ทำไม่ได้หรอก อาจจะทำได้ปีละเล่ม สองปีเล่ม แต่ถ้าอยากให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ รัฐเข้ามาช่วยก็จะมีผลมาก
จริงๆ เคยเสนอตั้งแต่สมัยเป็น สกว. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) เขาบอกว่า สกว. เป็นคนให้ทุนค่อนข้างเยอะในการทำวิจัย แต่พูดตรงๆ เราก็เห็นอยู่ว่างานวิจัยของ สกว. หลายชิ้นก็ waste ในแง่คุณภาพ มัน waste เยอะ บางทีเขาให้เงินนักวิจัยรุ่นใหม่ไปทำ ขณะที่ไม่มีองค์ความรู้พื้นฐานที่ดีพอ ไม่มีหนังสือ methodology พื้นฐานที่ดีพอ ไม่มีเครื่องมือให้เขาไปออกทำวิจัย ผมไม่เข้าใจว่าทำไม สกว. ไม่ลงทุนกับเรื่องนี้หน่อย สมมติเล่มหนึ่งใช้เงินอุดหนุนประมาณ 7 แสน แล้วจะทำหนังสือคลาสสิกปีหนึ่งสัก 20 เล่ม มันใช้เงินไม่เท่าไหร่เอง เราพูดถึงเงินสิบล้านยี่สิบล้านสำหรับสร้างองค์ความรู้ให้กับสังคม มันราคาถูกมากๆ เมื่อเทียบกับ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ให้ทุนวิจัยนู่นนี่ 20 ล้านก็หมดไปแล้วปีเดียว สังคมได้ประโยชน์อะไรผมนึกไม่ออก ขณะที่หนังสือแปลพื้นฐานที่ใครเอาไปใช้ก็ได้และสร้างฐานในการดีเบตที่ดีแก่สังคมมันหายไป
เด็กเดี๋ยวนี้มีหน่อเชื้อแล้ว เขาอยากรู้ แต่เรามีหนังสือดีๆ มากพอให้เขาอ่านหรือเปล่า บางทีเราโทษแต่เขาว่าเป็นเกรียนในโลกทวิตเตอร์ ด่าแหลก ความจริงคือเขามีหน่อเชื้อบางอย่างอยู่แล้ว ความสนใจมันสร้างยากที่สุด ตอนนี้เรากระตุ้นความสนใจของเขาได้แล้ว แต่เราไม่มีองค์ความรู้ดีๆ ให้เขาเสพ
ณัฏฐพรรณ: เคยไปพูดในงานแล้วมีคนถามคำถามนี้เลยว่าทำไมเราถึงไม่มีหนังสือ reference ที่เป็น primary source ส่วนใหญ่มักเป็น secondary หรือย่อยมา แต่หนังสือที่ใช้ถกเถียง ใช้อ้างอิงหลักๆ ซึ่งอาจจะคลาสสิกมากน้อยต่างกันมันมีน้อยมากๆ ทำไมไม่มีคนเอามาทำ ตอนนั้นเป็นงานที่มีสำนักพิมพ์ non-fiction ไปรวมกันประมาณสี่ห้าสำนักพิมพ์ คำตอบคือเรื่องทุนและความยาก มันไม่ใช่หนังสือในระดับที่แค่จ้างนักแปล แต่บางทีมันเป็นภาษาโบราณระดับหนึ่งต้องทุ่มเทเวลา ต้องหาคนที่เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ สุดท้ายถ้าช่างน้ำหนักระหว่างรายได้ ต้นทุน ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ในเชิงพาณิชย์ก็ทำได้ยาก เลยคิดว่าส่วนนี้สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยน่าจะทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมีคนดูแลอย่างชัดเจนมั้ย เพราะมันมีคนรออ่านอยู่ พอเราอ้างอิงเล่มใหญ่ๆ เล่มหลักๆ สำนักพิมพ์ที่ทำก็จะเป็นศยามบ้าง คบไฟบ้าง ถ้ามีคนคอยผลิตงานเหล่านี้ออกมาก็น่าจะดีกับวงการวิชาการทั้งหมดด้วย
วรพจน์: และต้องทำอย่างเป็นระบบครับ ไม่อย่างนั้นจะเป็นแค่ความสนใจของสำนักพิมพ์อย่างเดียว อย่างผมสนใจเรื่องสังคมวิทยา ผมก็เอาหนังสือแบบ The Sociological Imagination มาทำ แต่มันก็เฉพาะสำหรับศาสตร์นี้ แล้วผมก็ทำได้ประมาณนี้ ทำเล่มเดียว (หัวเราะ) ปีหน้าค่อยว่ากันว่าจะทำเล่มไหนต่อ อาจจะมีคนเอา A Theory of Justice มาทำ แต่ผมว่ามันช้าไป ถ้ามีการสนับสนุนโดยรัฐอย่างเป็นระบบจะมีคุณูปการต่อสังคมค่อนข้างมากโดยที่ลงทุนน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาผลาญไประหว่างทาง
ณัฏฐพรรณ: อย่างตอนนี้งานแปลที่ไม่สามารถเอาไปขอตำแหน่งได้ อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ค่อยมีเวลาเยอะ ถ้าเขาจะแปลงาน เขาก็อาจมองว่าไปทำวิจัยหรืออะไรที่ได้ตำแหน่งดีกว่ามั้ย มันก็จะไม่มีคนมาทำตรงนี้ ทั้งที่เขาคือคนที่เหมาะที่สุดที่จะทำ มันก็ต่อกันมาเป็นลูกโซ่
วรพจน์: ตรงนี้เสริม ผมคิดว่าเราพึ่งพาอาจารย์มหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะในการแปลงานวิชาการ ซึ่งผมคิดว่าเมืองนอกไม่เป็นนะ เมืองนอกน่าจะมีนักแปลอย่างพี่ภัค (ภัควดี วีระภาสพงษ์) นักแปลที่มีความรู้วิชาการและสามารถแปลงานวิชาการได้ดีกว่าอาจารย์ องค์ความรู้ในการตรวจสอบก็เรื่องหนึ่ง แต่ทักษะนักแปลก็ไม่เหมือนกัน บางทีเราก็หานักแปลไม่ได้ มันก็อาจเป็นเรื่องที่เราต้องพัฒนานักแปล แต่พอตลาดมันเล็กมาก มันก็เป็น career path ให้กับคนที่สนใจงานแปลเชิงวิชาการได้น้อย ผมกลับคิดว่าเราไม่ควรพึ่งพาอาจารย์เพราะงานแปลไม่ใช่งานหลักของเขา
มองอนาคตสัก 10 ปีจากนี้ของวงการหนังสือ non-fiction และหนังสือวิชาการอย่างไร
วรพจน์: เอา non-fiction โดยรวมก่อนเนาะ ตอนนี้มันก็แข่งขันกันมากขึ้น มันมีคนโดดเข้ามาเล่นเยอะขึ้น แต่ผมก็คิดว่ามีช่องว่างอยู่เยอะ ถ้าพูดในแง่การแข่งขันผมคิดว่าก็คงเป็นแบบนี้ไปสักพักหนึ่งเพราะมีสำนักพิมพ์เปิดตัวมาใหม่ค่อนข้างเยอะ ผมนึกไม่ออกว่าอีก 10 ปีเป็นยังไง เพราะมันก็คงมีการปรับตัวอีกเยอะโดยเฉพาะการปรับตัวจากพวก disruption จากเทคโนโลยีทั้งหลายมันทำให้เราต้องปรับตัวเยอะ เราอาจจะเป็นสื่อที่โชคดีหน่อยเมื่อเทียบกับสื่ออย่างนิตยสารที่ถูก disrupt จากโลกออนไลน์มากกว่า เราอาจจะถูก disrupt ในแง่คนเอาเวลาไปเล่นเฟซบุ๊กแทนที่จะอ่านหนังสือ แต่ขณะเดียวกันคนที่แสวงหาอะไรเชิงลึก ยังไงเขาก็ต้องกลับมาที่หนังสือ อันนี้เป็นความโชคดีของสื่อหนังสือที่อาจจะยังยืนหยัดได้อยู่
แล้วหลายๆ ที่ยอดอีบุ๊กตกลง แต่ยอดขายหนังสือเล่มไม่ตกในหลายๆ ประเทศ ในไทยผมก็คิดว่ายังโอเค ธุรกิจหนังสือเล่มยังไปได้ แต่ต้องปรับตัวเยอะจากการแข่งขัน จากต้นทุนที่เยอะขึ้น มันก็เลยมองยากนิดหนึ่ง อีกห้าปีอาจจะมีเทคโนโลยีบางอย่างที่มา disrupt เราอย่างรุนแรงก็ได้ แต่ถ้าพูดตอนนี้ผมนึกไม่ออกว่าจะต่างจากนี้อีกขนาดไหน ยังไง นึกไม่ออกจริงๆ
ณัฏฐพรรณ: คิดว่ามันน่าจะสนุกขึ้นอย่างตอนนี้ที่เราเห็นสื่อต่างๆ เห็นการรีวิวในทวิตเตอร์ พอมี TikTok ขึ้นมา มันก็จะเห็นกระแส BookTok นอกจากการรีวิวก็มีการเอาคนดังทาง TikTok ที่เล่าเรื่องต่างๆ ให้สนุก เข้าใจง่าย เยอะขึ้น ก็เห็นว่ามันมีความลื่นไหลไปตามกระแสสังคม และคิดว่าคนอ่านละเอียดขึ้น สำนักพิมพ์จะต้องมีความเป็นตัวจริงมากขึ้น ทั้งในเรื่องเนื้อหา ความถูกต้อง รูปลักษณ์ต่างๆ แค่ดูเทรนด์จะเห็นเลยว่าเมื่อเทียบกับห้าปีสิบปีก่อน ปกหนังสือในตลาดของไทยตอนนี้สวยมาก เหมือนทุกคนต้องแข่งขันกันให้มันดึงดูด แล้วพอเป็นยุคที่คุณสามารถโดนเปิด โดนแฉได้ ถ้าทำงานไม่เรียบร้อยออกไป ในแง่คุณภาพมันจะดีขึ้นแน่ๆ
แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าในกระแสอื่นๆ เรื่องเทคโนโลยี เทรนด์อื่น มันจะยังไง อย่างอีบุ๊กก่อนหน้านี้ก็มีเทรนด์ว่าจะทำให้หนังสือเล่มไป สุดท้ายมันก็ไม่ไป แต่ก็มีออดิโอบุ๊กเพิ่มเข้ามาซึ่งในต่างประเทศมาแรงแล้วแหละ แต่ของไทยยังน้อยอยู่ ก็ดูอยู่ว่าจะมีกระแสออดิโอบุ๊กเข้ามาหรือเปล่าในอีกสองสามปีข้างหน้า