‘Book Re:public’ สาธารณรัฐหนังสือที่หยิบงานวิชาการมาถกเถียง ผ่านห้องเรียนประชาธิปไตย

477 views
4 mins
December 10, 2024

          ใครจะเชื่อว่า ร้านหนังสือขนาดเล็กอันอบอวลด้วยผู้คน และบทสนทนาที่หลั่งไหลแลกเปลี่ยนกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ภายใต้เงื่อนไขการถกเถียงที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล กลับถูกเพ่งเล็งว่า ‘เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ’ และ ‘เป็นแหล่งล้างสมองเยาวชนคนรุ่นใหม่’

          แม้จะเป็นยามบ่ายในช่วงกลางสัปดาห์ แต่ร้านหนังสือ Book Re:public กลับเต็มไปด้วยผู้คน ทุกโต๊ะเนืองแน่นด้วยนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาเติมเต็มร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มที่นั่งอ่านหนังสือเงียบๆ กลุ่มคนหนุ่มสาวที่นั่งล้อมวงถกเถียงอยู่ที่โต๊ะด้านนอก รวมถึงกลุ่มนักศึกษาที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการรณรงค์เรียกร้องพื้นที่สาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่

          “ถ้าเราบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมจึงเกิดรัฐประหารอยู่เรื่อยๆ ตั้ง 13 ครั้ง” 

          การตั้งคำถามต่อประชาธิปไตยภายใต้วิกฤตการเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดง และเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนกลางกรุงปี 2553 เป็นจุดเริ่มต้นให้ อ้อย-รจเรข วัฒนพาณิชย์ เปิดร้านหนังสือที่มีชื่อว่า Book Re:public โดยมีเป้าหมายต้องการเปิดพื้นที่พูดคุยผ่านการหยิบยกหนังสือและงานวิชาการ รวมถึงก่อตั้ง ‘ห้องเรียนประชาธิปไตย’ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาว่า แท้จริงแล้วประชาธิปไตยมีหน้าตาเป็นแบบไหน และมีทิศทางอย่างไรบ้าง

‘Book Re:public’ สาธารณรัฐหนังสือที่หยิบงานวิชาการมาถกเถียง ผ่านห้องเรียนประชาธิปไตย

          ย้อนกลับไปเมื่อ 7 มิถุนายน 2557 ภายหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 68/2557 รจเรขก็เป็นหนึ่งในรายชื่อจำนวน 33 คน ที่ต้องเข้ารายงานตัวกับ คสช. ด้วยเหตุผลที่ว่า Book Re:public เป็นร้านหนังสืออิสระที่เสี่ยงต่อภัยความมั่นคงของรัฐ จัดกิจกรรมที่เข้าข่ายปลุกปั่นล้างสมองเยาวชน

          “เราสร้างความขบถในตัวคนอื่นไม่ได้ เขาต้องอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นสังคมที่ดีกว่าด้วยตัวเอง เราเพียงไปจุดประกายบางอย่างในตัวเขาเท่านั้น พวกหน่วยงานความมั่นคงเลยมองว่าเราล้างสมองและผลิตเด็กที่มีความคิดขบถ

          “ฟังตอนแรกก็โกรธนะ เขาดูถูกเด็กหรือเปล่า เด็กมันล้างสมองได้จริงหรือ แต่พอมองอีกแง่หนึ่ง คสช. ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ร้านเราอยู่เชียงใหม่ แปลว่าข้อมูลที่เราเผยแพร่ มันเป็นความรู้คู่ขนานจากกระแสหลัก สิ่งเหล่านี้คงทำให้เขาตกใจ เลยเรียกเราเข้าไปในค่ายทหาร”

          หลังเหตุการณ์นั้น รจเรขตัดสินใจปิดร้านหนังสือ Book Re:public ชั่วคราว พร้อมทั้งถูกทหารสั่งห้ามจัดห้องเรียนประชาธิปไตย แต่หนึ่งปีให้หลังเธอกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง โดยย้ายจากย่านคันคลอง สู่กองบิน 41 ก่อนจะปิดตัวลงในปี 2562 ด้วยพิษเศรษฐกิจ

          แม้ว่าร้านหนังสือจะปิดตัวลง แต่การทำงานระหว่างรจเรขและเยาวชนไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่นานเธอก็กลับมาเปิดร้านใหม่อีกครั้งที่บ้านตัวเอง โดยเปิดให้นักศึกษานั่งอ่านฟรีเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหนังสือและเสริมสร้างพฤติกรรมรักการอ่าน พร้อมกับเดินหน้าทำเวิร์กชอปกับคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

          ไม่ใช่ว่าเธอไม่กลัว ไม่ใช่ว่าเธอไม่เข็ด แต่ตราบใดที่ความหวังในตัวคนรุ่นใหม่ยังคงเปล่งประกาย รจเรขยืนยันว่าจะยังเปิดร้านหนังสือต่อไป เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุย และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการผลักดันหนังสือนอกกระแส และนำงานวิชาการบนหิ้งมาถกเถียงกันในสังคมอีกครั้ง 

          “การที่เราพยายามผลักดันการอ่านหนังสือหรือนำชุดความคิดที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักมาพูดคุย เป็นการสร้างให้เกิดการตั้งคำถาม เพื่อให้คนไม่เชื่ออะไรแค่ด้านเดียวอีกต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็ต้องรู้สึกเกิดความสงสัยในชุดข้อมูลที่มีหลายด้านมากขึ้น”

‘Book Re:public’ สาธารณรัฐหนังสือที่หยิบงานวิชาการมาถกเถียง ผ่านห้องเรียนประชาธิปไตย

          แม้ว่าตอนนี้สังคมออนไลน์จะกว้างไกลและทันสมัยมาก แต่รจเรขกลับมองว่า หนังสือเล่มจะไม่หายไปจากสังคม ยังมีร้านหนังสืออิสระเกิดขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดได้ว่า คนไม่ได้ซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว ยังคงมีคนที่ต้องการสังคมการอ่านที่มีการแลกเปลี่ยนแบบนี้อยู่

          ทุกวันนี้แม้รจเรขจะไม่สามารถจัดห้องเรียนประชาธิปไตยได้อีก แต่เธอยังสร้างบทเรียนนอกห้องเรียนและหยิบหนังสืองานวิชาการต่างๆ มาพูดคุยผ่านการจัดเวิร์กชอปที่มีชื่อว่า ‘Human ร้าย, Human Wrong’ และ ‘คิด Space

          โดยเฉพาะ Human ร้าย, Human Wrong เป็นห้องเรียนที่พูดเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโครงการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการรณรงค์

          “เราเริ่มวางแผนหลักสูตรโดยให้น้องๆ ได้เรียนรู้ว่าการที่เราจะรณรงค์อะไรสักอย่าง ไม่ใช่ว่าโกรธกับสิ่งไหนแล้ววิ่งออกไปทำได้เลย มันต้องเรียนรู้เรื่องการคิดการวางแผน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ สร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งโครงการนี้ก็ดำเนินมา 5 ปีแล้ว

          “มันแล้วแต่ธรรมชาติในเด็กแต่ละคนด้วยนะ เพราะเขาไม่เหมือนกัน เมื่อเวิร์กชอปเสร็จ เด็กหลายคนอยากทำงานเรียกร้องรณรงค์ต่อ บางคนกลายเป็นเด็กที่ตั้งคำถามกับทุกอย่าง กลายเป็นคนที่มีความสนใจปัญหาสังคมโดยธรรมชาติ เขาบอกกับเราว่า ใช้ชีวิตยากแล้ว เหนื่อยนะแต่ก็อยากทำ (หัวเราะ)”

          ส่วนโครงการ คิด Space เป็นเวิร์กชอปฝึกการคิดแบบมีเหตุมีผล ซึ่งต่อยอดมาจากห้องเรียนประชาธิปไตย เนื่องจากรจเรขเล็งเห็นว่าการศึกษาไทยไม่ได้สอนเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์ แต่เน้นท่องจำเป็นหลัก จึงอยากทำเวิร์กชอปการคิดเชิงวิพากษ์ให้กับเยาวชน เธอเขียนโครงการขอทุนเพื่อเดินทางไปศึกษาค้นคว้าหลักสูตรการคิดเชิงวิพากษ์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 5 เดือน ก่อนนำมาปรับใช้ในบริบทสังคมไทย

          “รากฐานระบบการศึกษาไทยมันมีปัญหา เพราะมีการ propaganda ผ่านระบบการศึกษา ผ่านตำราเรียน เราจึงไม่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม เรามีหน้าที่ท่องจำเพื่อให้สอบผ่านเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ใหญ่มากในสังคมไทย เราเลยอยากเปิดโลกให้มันกว้างขึ้นผ่านหนังสือและห้องเรียน เพราะเราถูกจำกัดกรอบการเรียนตามที่เขาอยากให้รู้ เรียนเท่าที่เขาอยากให้เรียน”

          “การจัดห้องเรียนเวิร์กชอปแต่ละครั้ง เยาวชนที่เข้าร่วมจะมีโปรเจกต์ตามความสนใจ สังคมแบบไหนที่พวกเขาอยากเห็น หรืออยากให้เป็น เช่น กลุ่มคนที่สนใจเรื่องขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นเพราะอยากเห็นคนในพื้นที่ลุกขึ้นมาพูดคุยเรื่องขนส่งสาธารณะอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมามีการพูดคุยเรียกร้องในวงกว้าง แต่ยังขาดเสียงของคนในจังหวัด

          “มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานศิลปะ อยากเรียกร้องและผลักดันให้ภาครัฐสนับสนุนพื้นที่ในการปล่อยของ แม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีพื้นที่เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่กลับมีเงื่อนไขและข้อจำกัด เช่น ที่แห่งนี้ใช้ฟรีแต่ห้ามพูดเรื่องสังคม การเมือง พูดได้แค่ประเด็นวัฒนธรรมเท่านั้น หรือบางพื้นที่พูดเรื่องการเมืองสังคมได้ แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

          “โปรเจกต์ที่สาม มาจากทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่อยากให้มหาวิทยาลัยมีพื้นที่ที่นักศึกษาสามารถใช้สอยได้ 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับการอ่านหนังสือสอบ การทำงาน การเรียนรู้ในเวลากลางคืน เพื่อลดอุบัติเหตุและประหยัดค่าใช้จ่ายของนักศึกษา 

          “คงเป็นความหวังที่เราเห็นในตัวคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนที่เข้าๆ ออกๆ ร้านหนังสือแห่งนี้มั้ง แม้การทำงานร้านหนังสือควบคู่กับการจัดห้องเรียนไปด้วยมันจะเหนื่อย แต่ก็สนุก ยิ่งทำให้เรายิ่งมีความหวัง น้องๆ แต่ละคนเขาก็ให้ความร่วมมือ เข้าร่วมทุกกิจกรรม พวกเขาก็สนุกกับมันและทำด้วยความกระตือรือร้น เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ตรงนี้แหละที่เป็นรางวัลให้กับเรา ก็เลยยังทำแบบนี้ต่อมาเรื่อยๆ”

‘Book Re:public’ สาธารณรัฐหนังสือที่หยิบงานวิชาการมาถกเถียง ผ่านห้องเรียนประชาธิปไตย

          รจเรขเล่าว่า การได้เห็นคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนแต่ละรุ่นที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านเข้ามาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คนเหล่านี้ได้เติบโตไปทำงานด้านต่างๆ บ้างเป็นอาจารย์ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงโดยนำวิธีคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ไปปรับใช้กับนักเรียน นั่นทำให้เธอมีความหวังยิ่งขึ้น 

          เหนืออื่นใด การที่คนหนุ่มสาวเหล่านั้นบอกอย่างภูมิใจว่าเติบโตมาจากยุคเสวนาของร้าน Book Re:public ก็เป็นกำลังใจสำคัญให้เธอเปิดร้านหนังสือแห่งนี้

          “ความจริงเราอยากส่งต่อ เพราะถ้าอายุมากขึ้นเราก็คงอยากพักแล้วส่งต่อให้น้องๆ รุ่นต่อไปสามารถเอาตรงนี้ไปทำต่อได้ ทำต่อในแง่ที่ว่าทำเป็นโปรเจกต์เลย เราไม่อยากให้มีแค่ห้องเรียนนี้หรือแค่กลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียว เราอยากให้มันเกิดหลายๆ แห่ง 

          “เมื่อคนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นด้วยการมีเมล็ดพันธุ์อะไรสักอย่างบ่มเพาะอยู่ในหัวใจ เมื่อฝังเมล็ดไว้แล้ว เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เรายังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่เสมอ และจะหวังมากขึ้นเรื่อยๆ แม้บางทีจะปวดหัวกับพวกเขาบ้างก็ตาม (หัวเราะ) แต่เรามีความสุขเมื่อคิดว่าพื้นที่ Book Re:public แห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่ที่พวกเขาสามารถเข้ามาหาความรู้ มาบ่มเพาะปัญญาแล้วนำไปใช้ในวันข้างหน้าได้ คิดแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

‘Book Re:public’ สาธารณรัฐหนังสือที่หยิบงานวิชาการมาถกเถียง ผ่านห้องเรียนประชาธิปไตย


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก