‘ร้านหนังสือ สื่อออนไลน์ ห้องสมุด’ ระบบนิเวศหนังสือคือกลไกส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน

533 views
7 mins
May 26, 2021

          เชียงใหม่ถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่ที่มีร้านหนังสือ ห้องสมุดประชาชน และเครือข่ายกลุ่มนักอ่านจำนวนไม่น้อย เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการขับเคลื่อนสังคมด้วยการอ่าน สร้างพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างยั่งยืน แม้ในปัจจุบันสื่อดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาททัดเทียมหรือหลายครั้งอาจจะมากกว่าสื่อกระดาษ แต่คนในแวดวงหนังสือยังคงพยายามมองหาแนวทางและวิธีการใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสที่เปลี่ยนแปลงไป

          สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUD4S) ร่วมจัดเสวนาออนไลน์ในประเด็นดังกล่าว ภายใต้หัวข้อ “จากกลุ่มคนชอบหนังสือ สู่ ‘เชียงใหม่เมืองการอ่าน’” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ People Public Library มีแขกรับเชิญพิเศษมาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย ประกอบด้วย ทรงกลด บางยี่ขัน อดีตบรรณาธิการนิตยสาร a day และผู้บริหารเว็บไซต์ The Cloud, ปิยศักดิ์ ประไพพร ผู้จัดการ ‘ร้านเล่า‘ ร้านหนังสืออิสระเก่าแก่ของเชียงใหม่ และครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการโรงเรียนต้นกล้า เชียงใหม่

          ทิศทางของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ในปัจจุบันเป็นอย่างไร การปรับตัวของธุรกิจร้านหนังสืออิสระควรเป็นไปในทิศทางไหน ความท้าทายใหม่ของห้องสมุดประชาชนในฐานะพื้นที่เพื่อการเรียนรู้คืออะไร การพัฒนานโยบายเพื่อเชื่อมโยงให้คนสนใจการอ่านและเข้าห้องสมุดมากขึ้นควรเป็นไปในลักษณะไหน คือประเด็นใหญ่ๆ ที่ถูกหยิบยกมาพูดคุย

จากหน้ากระดาษสู่หน้าจอ

          จากมุมมองของทรงกลด บางยี่ขัน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนิตยสาร จนถึงการเป็นผู้บุกเบิกการทำสื่อออนไลน์มองว่า ในปัจจุบันตลาดการทำสื่อออนไลน์นั้นมักวัดผลต่างๆ ด้วยจำนวนตัวเลข แต่แท้จริงแล้วตัวเลขเหล่านั้นอาจไม่ใช่หมุดหมายที่แท้จริง การผลิตเนื้อหาที่ดีและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมต่างหากคือสิ่งจำเป็น

“การทำเนื้อหาที่ดีที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและสร้างชุมชนที่คิดเหมือนกันขึ้นมาเป็นสิ่งที่ดี พลังของสื่อต้องสามารถดึงดูดและสร้างชุมชนของคนที่เชื่อเหมือนกันได้ แล้วพอถึงจุดหนึ่ง มันจะทำให้คนกลุ่มนี้มีพลัง จากเดิมถ้าอยู่แยกกันพลังอาจจะน้อย แต่เมื่อรวมกันพลังจะเยอะ และสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้”

          เมื่อถามถึงพัฒนาการจากนิตยสารมาเป็นธุรกิจสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ทรงกลดเท้าความเส้นทางการปรับตัวของธุรกิจสื่อไว้ว่า ในอดีตรายได้หลักของการทำนิตยสารมาจากการขายโฆษณา ดังนั้นนิตยสารแต่ละปกจึงจำเป็นต้องมีเนื้อหาที่กว้างและครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มผู้อ่าน เพื่อให้ขายโฆษณาได้ในปริมาณมาก

          กระทั่งถึงจุดหนึ่ง เมื่อพฤติกรรมการอ่านของคนเปลี่ยนไป มีสมาร์ทโฟนเกิดขึ้น สายตาของคนย้ายจากกระดาษมาอยู่บนหน้าจอ เช่นเดียวกับโฆษณา ส่งผลให้นิตยสารหลายเล่มต้องปิดตัวจากยอดขายที่ลดลง นำมาสู่ความคิดในการทำนิตยสารแจกฟรีเพื่อเพิ่มโฆษณาให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า นั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับวงการนิตยสารและเป็นที่นิยมในวงกว้าง ดังที่เห็นว่าในยุคหนึ่ง ชั้นหนังสือตามร้านกาแฟจะเต็มไปด้วยนิตยสารแจกฟรี

          แต่สุดท้ายนิตยสารประเภทนี้ก็มีความนิยมลดลงไป เพราะเนื้อหาที่นิตยสารหยิบยื่นเพียงทางเดียวไม่ตรงกับความสนใจทั้งหมดของผู้อ่าน ต่างจากเฟซบุ๊กที่คนสามารถเลือกติดตามได้ตามความสนใจ ธุรกิจสื่อจึงเกิดการย้ายบ้านอีกครั้ง โดยขยับมาเป็นผู้เล่นบนโลกออนไลน์ ทั้งรูปแบบเว็บไซต์และเฟซบุ๊กแฟนเพจ ดังนั้นคู่แข่งของสื่อจึงไม่ใช่ธุรกิจสื่อด้วยกันอีกต่อไป แต่คือคนทำเพจทั่วไปที่มีความสนใจเฉพาะด้าน

          จากสถานการณ์ที่ว่ามา ธุรกิจสื่อจึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหลากหลายหมวด มีทีมงานที่มากขึ้น เพื่อผลิตเนื้อหาให้ได้จำนวนมากและครอบคลุมขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิธีการดังกล่าวส่งผลให้ขาดอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตนเองไป ดังนั้นทิศทางของธุรกิจสื่อในปัจจุบัน จึงหันกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อหาเฉพาะด้านเพื่อนำเสนอมุมมองที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มีการแสดงตัวตนที่ชัดเจน นำมาสู่การแข่งขันในธุรกิจสื่อออนไลน์อย่างเข้มข้นอีกครั้ง

ร้านหนังสืออิสระ กับวัฒนธรรมการอ่านในโลกยุคดิจิทัล

          พฤติกรรมการอ่านมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการอ่านในเชิงวิชาการ อ่านเพื่อไปสอบ อ่านเพื่อความบันเทิง เพื่อการฆ่าเวลา หรือเพื่ออัปเดตข้อมูลข่าวสารต่างๆ การอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยได้รับความนิยม ถูกแทนที่ด้วยการอ่านผ่านหน้าจอมากขึ้น เช่นเดียวประเภทของหนังสือขายดีที่ปรับเปลี่ยนไปตามความนิยมของยุคสมัย  

          ในยุคเปลี่ยนผ่านของสื่อ เรามักได้ยินคำพูดทำนองว่า ตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย แต่ทรงกลดกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะหนังสือบางเล่มยังคงมียอดขายถล่มทลาย เขามองว่าคนยังอ่านหนังสือกันอยู่ เพียงแต่รอคอยหนังสือเล่มที่ใช่

“ความท้าทายคือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าอะไรคือหนังสือที่ใช่ของคนในยุคนี้ ถ้าคุณหามันเจอ ก็อาจเป็นการต่อลมหายใจของวงการหนังสือได้”

          ด้านปิยศักดิ์ ประไพพร ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่กับธุรกิจร้านหนังสือ เสนอมุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า

“คนภายนอกมักเข้าใจว่าเด็กสมัยนี้อ่านหนังสือน้อยลง แต่ผมว่าวัยรุ่นตอนนี้อ่านเยอะกว่าตอนผมเรียนเยอะมาก ลูกค้าส่วนมากคือเด็กวัยรุ่น ผมว่าจริงๆ แล้วคนอ่านหนังสือเยอะขึ้นและลึกขึ้นด้วยซ้ำ”

          ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ร้านหนังสืออิสระเองก็ต้องปรับตัว แม้ปัจจุบันจะได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็ต้องแบกรับภาระหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าที่ หรือการแข่งขันกับร้านหนังสือขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมเครือข่ายธุรกิจหนังสือมากกว่า ทำให้ร้านหนังสืออิสระมีตัวเลือกในการรับหนังสือน้อยลง บางครั้งต้องซื้อขาดจากสำนักพิมพ์ ยอมลดกำไรเพื่อให้ร้านมีหนังสือที่หลากหลายขึ้น

          ในส่วนของที่ตั้งหรือทำเลร้านหนังสือก็ส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าเช่นกัน ยกตัวอย่าง ‘ร้านเล่า’ ที่ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมนักท่องเที่ยวและวัยรุ่นของเชียงใหม่ การคัดเลือกหนังสือก็ต้องปรับเปลี่ยน เพิ่มประเภทหนังสอให้หลากหลายมากขึ้น เช่น หนังสือ How-to หรือหนังสือแปลที่อ่านง่ายๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และกระตุ้นยอดขาย จากเดิมที่เลือกหนังสือแบบค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่ในภาพรวมยังคงไว้ซึ่งหัวใจสำคัญที่ร้านยึดมั่นโดยตลอด คือเป็นร้านที่มีหนังสือหลากหลายและมีคุณภาพ

“จุดนี้คล้ายกันกับห้องสมุด ถ้าห้องสมุดมีหนังสือที่มีคุณภาพให้เลือกอ่านมากขึ้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีและดึงดูดผู้อ่านให้เข้าไปใช้บริการมากขึ้น”

'ร้านเล่า' ร้านหนังสืออิสระเก่าแก่ของเชียงใหม่
‘ร้านเล่า’ ร้านหนังสืออิสระเก่าแก่ของเชียงใหม่
Photo: ร้านเล่า

ห้องสมุดในฐานะพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ : กรณีศึกษาจากต่างประเทศ

          อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดคุย คือเรื่องการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่องพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ มีความสัมพันธ์กับการออกแบบเมืองอย่างแยกไม่ออก ยกตัวอย่างประเทศเมียนมาร์ มีห้องสมุดที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้และส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน มีพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถมารวมตัวทำกิจกรรมทางสังคม พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองย่างกุ้ง

          แต่ในทางกลับกัน ในประเทศไทยกลับมีพื้นที่แบบนี้น้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย พร้อมเสริมว่าปัญหาหลักอีกประการหนึ่ง คือการมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับมนุษย์ ทำให้อะไรก็ตามที่สร้างขึ้นมา ไม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่แท้จริง

          ในส่วนของการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ ครูจุ๊ยยกกรณีศึกษาของห้องสมุดหลายแห่งในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งไม่ใช่แค่สถานที่เก็บหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้ผู้คนได้มาพบปะพูดคุยกันโดยไม่จำกัดเนื้อหาหรือรูปแบบ

          ตัวอย่างหนึ่งคือบริการของห้องสมุดเมืองเฮลซิงกิ (Helsinki Central Library) ซึ่งเป็นเมืองที่มีผู้อพยพอาศัยอยู่จำนวนมาก ห้องสมุดมีคาเฟ่ที่เปิดให้ชาวฟินแลนด์และผู้อพยพเหล่านี้ได้มาพบปะกัน เพื่อทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในแต่ละปีมีการจัดกิจกรรมกว่า 400 กิจกรรม ผ่านกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาขอใช้พื้นที่และนำเสนอไอเดียต่างๆ ได้ โดยห้องสมุดจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการพื้นที่และช่วยอำนวยความสะดวก

          ครูจุ๊ยอธิบายต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้ของฟินแลนด์เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งคือวัฒนธรรมการอ่านอันมีรากฐานมาจากศาสนาที่ฝังลึก ผนวกเข้ากับการออกแบบพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่เข้าใจในมนุษย์ ดังที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดเมืองเอสโป (Espoo City Library) ซึ่งออกแบบพื้นที่จากความเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า มีทำเลที่ง่ายต่อการเข้าถึง และเป็นศูนย์รวมบริการจากภาครัฐ มีห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดวัยรุ่น จุดประสงค์คือเพื่อให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน ผู้คนสามารถมาที่ห้องสมุดแห่งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของทุกคนในครอบครัว

            จะเห็นได้ว่า ภาพรวมทั้งหมดในการออกแบบเมือง คือการพยายามส่งเสริมให้ผู้คนเกิดการพบปะกันมากที่สุด ทั้งที่เป็นไปตามอัธยาศัย ควบคู่กับการมีโครงสร้างทางสังคมช่วยกำกับ อันเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

คลิปวิดีโอ ที่กล่าวถึงการให้บริการของห้องสมุดเมืองเอสโป

ทิศทางห้องสมุด และพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของเมืองเชียงใหม่

          อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นห้องสมุด ทรงกลดให้ความเห็นว่า เราควรมองห้องสมุดในมุมใหม่ที่ไม่ใช่แค่สถานที่เก็บหนังสือโดยมีบรรณารักษ์เป็นผู้ดูแล นิยามของห้องสมุดควรเป็นมากกว่าพื้นที่ของคนรักการอ่าน แต่ควรเป็นพื้นที่ให้ความรู้ในทุกรูปแบบ พร้อมเสนอว่า เราอาจส่งเสริมให้ห้องสมุดแต่ละแห่งเป็นห้องสมุดเฉพาะทาง หรือเป็นศูนย์รวมข้อมูลเชิงลึก ซึ่งอาจช่วยเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้น

          ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่านยังเห็นพ้องกันว่า เมื่อห้องสมุดคือพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นจึงไม่ควรถูกจำกัดแค่การอ่านการเขียนเท่านั้น แต่ควรมีกิจกรรมที่เกิดจากความต้องการหรือริเริ่มจากผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยภาครัฐควรเปิดโอกาสให้คนนอกได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดรูปแบบของห้องสมุดที่หลากหลายยิ่งขึ้น

          ทรงกลด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนวงการหนังสือถือเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเขามองว่าควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างนักเขียน สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และห้องสมุด เช่น การเชิญนักเขียนมาร่วมพูดคุยกับผู้อ่าน เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนรักหนังสือได้มาพบปะกันมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับหนังสือที่แตกต่างกัน และส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศแห่งการอ่าน เช่นเดียวกับครูจุ๊ยที่มองว่าการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ของแวดวงหนังสือและการอ่าน จะช่วยส่งเสริมให้มีการเข้าถึงการอ่านที่ดีได้ โดยยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ที่มีหน่วยงานและกองทุนสนับสนุนด้านนี้อย่างจริงจัง ทำให้วงการหนังสือเข้มแข็งและขยายตัวไปในวงกว้าง

          สำหรับการวางแผนเชิงนโยบาย ครูจุ๊ยเสนอแนวทางว่า ควรมีโครงการห้องสมุดตัวอย่างที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชน และควรมีเจ้าภาพที่ชัดเจน เพราะหลายครั้งที่โครงการเหล่านี้ล้มเหลว เป็นผลมาจากการขาดความต่อเนื่องในการบริหารจัดการ ที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักว่าผู้มีส่วนร่วมหลัก คือทุกคนในชุมชน ต้องมีการอธิบายและให้ข้อมูลว่าห้องสมุดไม่ได้เป็นแค่ที่เก็บหนังสือ แต่สามารถเป็นอะไรต่างๆ ได้อีกมากมาย

“ห้องสมุดตัวอย่างไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ แต่ต้องถูกออกแบบให้ตอบโจทย์คนและพื้นที่ โดยมาจากการที่เราได้สังเกตวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้น”

          ช่วงท้ายของการเสวนา มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงบทบาทต่างๆ ของห้องสมุด ในฐานะสถานที่ให้ความรู้ว่าจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างไร คำตอบที่ได้จากการแลกเปลี่ยนคือ ทรัพยากรหนังสือที่ดีซึ่งควรจะอ้างอิงจากความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยมีบรรณารักษ์เป็นเพื่อนคู่คิดของนักอ่าน ที่สำคัญกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ต้องไม่ผูกขาด แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้


ที่มา

Cover Photo by Christin Hume on Unsplash

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก