ABC BOOK FEST, SUMMER BOOK FEST, WINTER BOOK FEST, BOOK & BEER คือ ผลงานการจัดงานหนังสือโดยกลุ่ม Book Festival (หรือ Book Fest) ประกอบด้วย จุ๋ม-ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล ครีเอทีฟ, เอิร์ธ-ชนินทร์ สูงทรง โซเชียลมีเดีย, นก-ศิริธาดา กองภา คอนเทนต์ และ เอ๋-ภัทรภร วิวัฒนาการ ออร์แกไนซ์ ที่มารวมตัว กันตั้งแต่ปี 2563
แม้จะบอกว่าเพิ่งมารวมตัว แต่ก่อนหน้านั้นทั้ง 4 คนก็รู้จักกัน ถึงขั้นเคยทำงานร่วมกันด้วยซ้ำ เพราะทุกคนอยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว อย่างปนิธิตาเป็นผู้ก่อตั้ง และบรรณาธิการบริหาร P.S. Publishing ศิริธาดา เป็นผู้ร่วมก่อตั้งควบตำแหน่งบรรณาธิการต้นฉบับ Legend Books Publishing ก่อนมาทำงานใน สำนักพิมพ์หนังสือเด็ก YF CULTURE กับชนินทร์ ส่วนภัทรภรทำงานแปลและรับหน้าที่ออร์แกไนซ์จัดงาน หนังสือของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่เชียงใหม่มาหลายปี
จากองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้ปนิธิตา ชนินทร์ และ ศิริธาดาที่เคยร่วมทีมช่วยงานเทศกาลหนังสือ LIT Fest ที่มิวเซียมสยาม จับมือกับภัทรภรทำ ABC BOOK FEST อีเวนต์หนังสือขนาดย่อมงานแรกที่ สามย่านมิตรทาวน์ ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่บ้านเมืองค่อนข้างซบเซา ก่อนมีอีกหลายอีเวนต์ตามมา พร้อมกับฟีดแบ็กที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากเป็น ‘งานหนังสือ’ ที่เกิดจากการรวมตัวของ ‘คนวงการหนังสือ’ แล้ว Book Fest ยังสร้างความแตกต่างให้งานหนังสือที่มักมีภาพจำค่อนข้างเป็นทางการ จัดในฮอลล์ใหญ่ มีรูปแบบการจัดงานที่เป็นแพตเทิร์นซ้ำๆ ปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเป็นไปในทิศทางที่ร่วมสมัย มีรสชาติแปลกใหม่ผสมผสานกับคัลเจอร์อื่นๆ อย่างศิลปะ แรปเปอร์ ดนตรี ไปจนถึงการกินดื่ม
ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า Book Fest คือกลุ่มคนผู้จัดอีเวนต์หนังสือนอกกระแส ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้นักอ่านและนักอยากอ่านสนใจ เชื่อมโยง และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับงานหนังสือได้ คล้ายกับเป็นการทำให้งานหนังสือกลายเป็นคอมมูนิตี้หรือวัฒนธรรมที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากกว่าเป็นแค่พื้นที่ขายหนังสือ หรือมหกรรมลดราคา

ตอนที่รวมกลุ่มกันทำ Book Fest มีไอเดียหรือโมเดลงานหนังสืองานไหนที่เป็นตัวตั้งต้นในการจัดงานบ้างไหม
ปนิธิตา: เริ่มจากตอนที่เราทำ LIT Fest นั่นแหละ เพราะเรามองเห็นความเป็นไปได้ว่างานหนังสือมันไม่จำเป็นต้องใหญ่ หรือแค่เอาหนังสือมาลดราคา แล้วคนจะมา แต่ต้องเอากิจกรรมและประสบการณ์การเดินงานหนังสือแบบใหม่มาให้คนอ่าน ทีนี้ LIT Fest มันเป็นงานที่มีความเป็น festival ค่อนข้างสูง มองว่าเราก็จัดการงานแบบนี้ได้นี่นา เลยชวนกันมา ลองทำงานสเกลเล็กๆ เท่าที่ดูแลไหวกันไหม จึงออกมาเป็นงาน ABC BOOK FEST ที่สามย่านมิตรทาวน์
นอกจากนี้เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราจะชอบเจองาน fair เล็กๆ ที่จัดในชั้นใต้ดินของคาเฟ่ เป็นแค่การเอาหนังสือมาวางขายบนโต๊ะ อาจเป็นโฟโต้บุ๊กอย่างเดียวก็ได้ และสเปซไม่ได้กว้างใหญ่อะไรเลย คนก็เดินกันในนั้น เรามองว่าเป็นโมเดลที่ดีและทำได้
ศิริธาดา: ABC BOOK FEST เป็นการพบกันที่จุดกึ่งกลางระหว่างความเป็น festival และ trade fair ที่ขายหนังสือ จะไม่ใช่ภาพการเป็น festival แบบ LIT Fest 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มีงานขายเข้ามา เลยพยายามทำบรรยากาศให้ชิลล์ๆ ไม่ใช่เข้ามาแล้ว hard sell แต่อยากให้เดินสบายๆ มีอะไรหลาย อย่างให้ดูมากกว่าการมาซื้อหนังสืออย่างเดียว
แล้วมันมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาขึ้นจาก ความตั้งใจแรกมากน้อยแค่ไหน
ปนิธิตา: เราปรับตามมู้ดแอนด์โทนของแต่ละเดือน เช่น ถ้าหน้าหนาวก็จะเป็น WINTER BOOK FEST หรือล่าสุดคืองาน BOOK & BEER คือเอาหนังสือไปบวกกับอะไรก็ได้ จริงๆ เราคิดไอเดียกันเยอะมากแต่หลายไอเดียอาจยังทำไม่ได้ในตอนนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้สถานที่ตรงไหนด้วย
Book Fest ไม่ได้โฟกัสการจัดงานแค่ที่กรุงเทพฯ อย่างเดียวใช่ไหม
ศิริธาดา: ปี 2564 เราจัด SUMMER BOOK FEST ที่เชียงใหม่ เนื่องจากพี่เอ๋เดินทางไปจังหวัดนี้บ่อย รู้จักพื้นที่ มีคอนเน็กชันอยู่แล้ว หรืออย่างช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 เราจัดงานที่พิษณุโลก อาจไปคอลแลบกับมหาวิทยาลัยนเรศวร คล้ายเป็นการให้ความร่วมมือว่าใครขาดสิ่งไหน ก็เอามาแจมกัน เรามองว่างานต่างจังหวัดต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในท้องถิ่น เราไม่อยากจัดงานแล้วคนในพื้นที่ทำอะไรไม่ได้เลย มันควรเป็นรูปแบบของการมีส่วนร่วมกัน มองว่าในอนาคตน่าจะไปอีกหลายจังหวัด เพราะอยากให้ความสนุกกระจายออกไป ไม่ควรจำกัดแค่คนกรุงเทพฯ

งานหนังสือสำคัญกับการอ่านและคนทำหนังสือยังไง
ปนิธิตา: ถ้าตอบในแง่สำนักพิมพ์ งานหนังสือคือการได้เจอหน้าคนอ่านจริงๆ รู้ว่าเป็นใคร อายุประมาณไหน ไลฟ์สไตล์ การแต่งตัวเป็นยังไง โดยเรานำมาใช้พัฒนาหนังสือของเราให้เสิร์ฟกลุ่มเป้าหมายได้ แต่ถ้าพูดในมุมคนอ่าน การไปงานหนังสือคือการไปเจอเพื่อน ได้รู้ว่าใครอ่านอะไร เล่มไหนเป็นที่พูดถึง ป้ายยากัน ส่วนในมุมมองคน จัดงานจะรู้สึกว่างานหนังสือสำคัญตรงที่คนได้มาปฏิสัมพันธ์กับคน ได้เจอนักเขียนและคนทำหนังสือเขาอยากขายตรงไหน จุดขายคืออะไร เขาเล่าให้เราฟังได้
ภัทรภร: เดี๋ยวนี้คนสั่งหนังสือทางออนไลน์ก็สะดวกสบาย ได้หีบห่อที่สวยแหละ แต่เวลาเราไปเลือกเองที่งานหนังสือ มันจะมีความรู้สึกของการจับเล่ม ได้เปิดอ่านคำโปรยปก บางทีเจอนักเขียนนั่งอยู่ในบูท มีความกรี๊ดกร๊าด โดนคนขายป้ายยาเพิ่มจนต้องหอบหนังสือกลับบ้านเยอะมาก เราคิดว่ามันเป็นความสนุกและสีสัน มันเป็นความรู้สึกที่หาไม่ได้ในโซเชียลมีเดีย
ศิริธาดา: ขอเสริมในฝั่งที่เราทำงานเป็น literary agent ต้องเดินทางพบปะกับสำนักพิมพ์ต่างๆ งานหนังสือทั่วโลก คืองานเช็กชื่อสำหรับคนทำงานแวดวงหนังสือ ในความรู้สึกที่ว่าสำนักพิมพ์นี้จะออกหนังสือไฮไลต์กี่เล่ม สำนักพิมพ์ระดับโลกอย่าง Penguin Books จะออกหนังสืออะไรบ้าง นอกจากฟังก์ชันการเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยกันแล้ว งานหนังสือยังเป็นเหมือนโชว์รูมขนาดใหญ่ที่คุณจะไม่ได้เจอแค่หนังสือ แต่เจอทั้งสำนักพิมพ์ กองบรรณาธิการ นักเขียน ฯลฯ เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่างานหนังสือมันเป็นมากกว่าการเดินซื้อหนังสือแล้วกลับ
ปนิธิตา: พอด้วยความที่เป็นโชว์รูม มันเปิดโอกาสให้หนังสือเล่มที่ไม่เคยถูกแนะนำและไม่ดัง ทั้งที่เป็นเล่มที่ตรงใจคนบางกลุ่ม ให้มีโอกาสไปถึงคนกลุ่มนั้นๆ ได้มากขึ้น จากการพรีเซนต์ของสำนักพิมพ์ อีกอย่างคืองานหนังสือทำให้ความครีเอทีฟในวงการหนังสือเกิดการกระตุ้น ทั้งเรื่องรูปเล่มการออกแบบหนังสือ ไปจนถึงการจัดบูทยังไง ทำธีมแบบไหน มันสร้างไดนามิกบางอย่างที่ทำให้ทุกคนในวงการรู้สึกสนุก อยากแข่งขัน อยากพัฒนาตัวเอง
ชนินทร์: นอกจากนี้การที่เมื่อก่อนประเทศไทยมีงานหนังสือแค่ 2 งาน มันก็กลายเป็นบรรทัดฐานให้เหล่าสำนักพิมพ์ยึดเป็นสูตรว่าต้องออกหนังสือช่วงนั้นช่วงนี้ ทีนี้ระหว่างทางพอออกหนังสือใหม่ๆ มาก็ไม่รู้ว่าโซเชียลมีเดียช่วยได้ขนาดไหน แต่พอมีงานหนังสือย่อยๆ มันช่วยให้สำนักพิมพ์แบ่งแผนการออกหนังสือหรือโฟกัสการทุ่มกำลังทำงานโปรโมตได้ดีขึ้น
แล้วงานหนังสือที่ดีของกลุ่ม Book Fest ควรเป็นยังไง องค์ประกอบใดบ้างที่สำคัญ
ศิริธาดา: เราคิดว่าคือกิจกรรมและพื้นที่ อย่างงานทอล์กที่เราจัด มีคนมาฟังเสวนาทุกวัน จนเราตกใจว่ามีคนมาสนใจฟังขนาดนี้เลยเหรอ เหมือนกลายเป็นไฮไลต์เด็ดของงานที่ต้องมีเวทีเสวนาในประเด็นที่น่าสนใจ กระแสสังคมกำลังพูดถึง
ปนิธิตา: อาจไม่ใช่แค่ชวนนักเขียนมาแจกลายเซ็น แต่ชวนมาพูดคุยถึงประเด็นอื่นๆ ยกตัวอย่างเราเคยชวน ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล มาคุยเรื่องฟุตบอล เพื่อตอบสนองนักอ่านที่ชอบกีฬาฟุตบอล หรือกระทั่งชวนตัวแทนของเด็กเจนใหม่มาพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันว่า จริงๆ แล้วพวกเขาอ่านอะไรในยุคที่มีกระแสเด็กรุ่นใหม่อ่านหนังสือการเมืองกับสังคมกันมากขึ้น
ศิริธาดา: อีกอันคือกิจกรรม BOOK RAP การประกวดแรปจากหนังสือที่จัดครั้งแรกที่เชียงใหม่ ต่อยอดจากการชวนเหล่าแรปเปอร์มาคุยเรื่องหนังสือและแรปที่งาน ABC BOOK FEST แล้วมันสนุกมาก ซึ่งกิจกรรมนี้ทำให้เราทราบว่าคนอายุน้อยๆ หลายคนเป็นนักอ่าน บางคนอ่านหนังสือหนักกว่าเราอีก อีกอย่างคือเป็นการขยายฐานคนอ่านให้กว้างขึ้น เพราะจริงๆ แล้วอาจมีแรปเปอร์ที่สนใจเรื่องนี้แต่รู้สึกว่าการอ่านมันยาก หรือคนที่เป็นนักอ่านอยู่แล้ว อยากลองขยับจากการเขียนกลอนไปเขียนไรม์ดูบ้าง เรารู้สึกว่านี่แหละคือความสนุกของงานหนังสือ เหมือนแค่เอางานหนังสือไปพ่วงกับสิ่งอื่น ทำให้มันเป็นไลฟ์สไตล์ไปด้วยกันได้
การที่แต่ละคนทำงานหนังสือกันอยู่แล้ว มันมีข้อดีหรือส่วนส่งเสริมให้ได้เปรียบในการจัดงานหนังสือยังไงบ้าง
ศิริธาดา: เราคิดว่ามีข้อได้เปรียบในเรื่องของความเข้าใจ เพราะพวกเราไม่ได้เป็นแค่คนทำหนังสือ แต่เป็นสำนักพิมพ์ คนอ่าน และคนจัดอีเวนต์ ดังนั้นเวลาจัดงานแต่ละครั้ง เราจะมองในหลากหลายปัจจัย แน่นอนว่าต่อให้เป็นคนนอกวงการก็จัดอีเวนต์หนังสือได้แหละ แต่พวกเราอยู่ในฟิลด์ไง ถ้าโยนโจทย์มาปุ๊บ เรารู้ทันทีว่าต้องไปต่อยังไง ต้องเลือกใครมาทำงาน
อยากให้เล่าว่าการจัดงานหนังสือแต่ละครั้งของกลุ่ม Book Fest มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร
ภัทรภร: ต้องเริ่มก่อนว่าอยากจัดที่ไหน แต่บางงานก็เริ่มจากคอนเซปต์ โดยส่วนใหญ่เรากับนกจะไปดูว่าพื้นที่มันใช้ได้หรือเปล่า ค่าที่แพงไหม ข้อจำกัดของสถานที่คืออะไร จะแก้ด้วยวิธีไหน เป็นต้น ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็จะดูที่ที่เรามีคอนเน็กชัน หรือมีฐานคนอ่านอยู่แล้ว อย่างที่พิษณุโลกมีร้านหนังสือใหญ่ที่คนเข้า-ออกกันทั้งวัน เวลาจัดบุ๊กคลับก็มีคนมาร่วมกันเต็มร้าน เรารู้สึกว่าถ้าที่นี่คนเขารักการอ่านขนาดนี้ก็ลองไปจัดงานกันดูไหม บวกกับเช็กข้อมูลจากสมาชิกที่เคยไปบูทงาน NU BOOK FAIR ว่ายอดขายเป็นยังไง เพื่อคำนวณต้นทุน
ศิริธาดา: พอต้นทุนโอเค ก็ไปสู่กระบวนการทำงานฝั่งครีเอทีฟ เพื่อส่งต่อไปยังฝั่งโซเชียลมีเดียที่เวิร์กไปพร้อมๆ กับเราและพี่เอ๋ที่ดูส่วนกระบวนการหลังบ้าน ประสานเอากิจกรรมมาลง ขายบูทกันไป
คิดว่าการมาของ Book Fest ที่จัดงานหนังสือใน รูปแบบใหม่ๆ และหลากหลาย ส่งผลอะไรให้สังคม การอ่านไทยบ้าง แล้วคาดหวังอยากเห็นการ เปลี่ยนแปลงแบบไหน
ศิริธาดา: อย่างที่บอกว่ามันมีเคสที่นักอ่าน ไม่เคยเจอหนังสือหรืองานของสำนักพิมพ์นี้เลย แต่พอมาที่งานเราแล้วได้เจอ เขาก็รู้สึกดีที่พบว่ามีอะไรอีกมากที่ยังไม่รู้และไม่ได้อ่าน เราเลยมองว่างานหนังสือของ Book Fest ช่วยเปิดประสบการณ์และพื้นที่ เราไม่ได้คาดหวังยิ่งใหญ่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงวงการการอ่านแบบพลิกโฉม แต่ขอแค่ให้คนที่มางานของเรารู้สึกว่าการอ่านยังสนุก มีอะไรมากกว่าการนั่งอยู่บ้านสั่งหนังสือออนไลน์
ปนิธิตา: ส่วนใหญ่คนที่มางานของเราจะตามมาจากโซเชียลมีเดีย เวลาเพจโพสต์ภาพกิจกรรมหรือบรรยากาศงาน พวกเขาจะคอมเมนต์ชมว่างานสนุกและแท็กเพื่อนคนอื่นๆ หรือบางทีก็ขอเพลย์ลิสต์เพลงที่เปิดในงาน ขอคอนแท็กต์บูทนั้นบูทนี้ เรารู้สึกว่าการทำงานหนังสือให้เล็กลงมันจะเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานกับคนที่มามันเชื่อมโยงและจับต้องได้ง่ายขึ้น เหมือนเราทำงานหนังสือจนกลายเป็นเพื่อนข้างบ้านที่คนรู้สึกสนิทสนม จนมาขอเพลงหรือปรึกษาหารือได้

บางคนวิจารณ์ว่างานหนังสือคืองานลดราคาหนังสือ พวกคุณมองเรื่องนี้ยังไง และคิดว่างานหนังสือนอกกระแสแบบที่ทำอยู่ ส่งเสริมหรือแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง
ปนิธิตา: เราคิดว่าการลดราคาหนังสือเป็นไปตามกลไกตลาด สำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ที่เป็นรูปแบบบริษัทมีความจำเป็นในแง่บัญชีที่ต้องเอาหนังสืออายุเกิน 5 ปีขึ้นไปมาลดราคาเพื่อระบายสต็อกออก เพียงแต่ว่าถ้าคุณตั้งราคามาแล้วลดราคา 25 เปอร์เซ็นต์ในงานหนังสืองานแรกที่วางขายเลย มันก็เป็นเรื่องประหลาดนิดหนึ่ง เพราะของใหม่มันยังไม่ควรลดราคา แต่ถ้าผ่านงานหนังสือใหญ่มาแล้วสองครั้งและงานหนังสือย่อยๆ อีกไม่รู้กี่ครั้ง คุณจะลด 10-15 เปอร์เซ็นต์ หรือลดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ก็โอเค หมายถึงว่าการลดราคามันควรเป็นระบบขั้นบันไดที่แปรผันตามช่วงเวลาของหนังสือ
และถ้าสมมติว่าสำนักพิมพ์นั้นๆ ตั้งใจจะทำหนังสือขายในงานที่มีแค่การลดราคาอย่างเดียว เราคิดว่ามันก็ดึงดูดคนไม่พอแล้วต้องมีกิจกรรมอื่นๆ หรือของแถมพรีเมียมมาช่วยด้วย เพื่อทำให้คนอยากได้ เหมือนเป็นความพิเศษที่จะมีเฉพาะงานนี้เท่านั้น เพราะอย่างที่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ซื้อหนังสือออนไลน์ได้ ไหนจะช่วงหลังโควิด-19 ที่คนมีพฤติกรรมออกจากบ้านน้อยลงอีก การจะดึงให้คนมางานหนังสือ มันต้องปรับเปลี่ยนงานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคน ไม่สามารถใช้แค่วิธีลดราคาอย่างเดียวได้อีกต่อไป
ชนินทร์: ขอขยายต่อว่าถ้าเราสร้างพฤติกรรมให้นักอ่านรู้สึกว่ารออีกหน่อย หนังสือก็ลดราคาแล้วตลาดก็ต้องเป็นแบบนั้น ทุกคนต้องลดราคาเพราะไม่อย่างนั้นจะขายไม่ได้ เผลอๆ คุณอาจต้องแบกต้นทุนในการลดราคาถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปลายปีเพื่อเคลียร์สต็อก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวแน่นอนว่าการลดราคาเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน แต่มวลรวมของตลาดจะพัง บางสำนักพิมพ์อาจคิดว่าเป็นการควักเนื้อ ยอมลดราคาเพื่อให้ขายได้จำนวนมากๆ คิดเอาแต่ตัวเองรอด แต่ไม่ได้คิดเผื่อทั้งตลาดและคนอื่นๆ สุดท้ายคุณก็อาจไม่รอด
ทำไมงานหนังสือต้องปรับตัวตามยุคสมัย ทั้งๆ ที่งานหนังสือแต่ละครั้งก็มีคนไปร่วมมากมาย
ศิริธาดา: เพราะคนเองก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้างานหนังสือยังอยู่จุดเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เรารู้สึกว่าอีก 3-5 ปี มันจะไม่มีความตื่นเต้นกับการไปอีเวนต์หนังสือใหญ่ ทั้งที่มันควรมีความตื่นเต้น ยกตัวอย่างงาน Frankfurt Book Fair ที่เป็นงานหนังสือระดับโลก แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนทุกปีและมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย อย่างการเลือกชูประเด็นประเทศแถบอาหรับหรือฝั่งเอเชีย กระทั่งการพูดถึงทิศทางของคอนเทนต์จากหนังสือสู่โลกดิจิทัล ทั้งที่จริงๆ แล้วต่อให้เขาไม่เปลี่ยนอะไรเลยคนก็พร้อมไปอยู่แล้ว
เรารู้สึกว่ามายด์เซ็ตของผู้จัดงานควรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย เพราะถ้ามองว่าตัวเองเป็นงานใหญ่ระดับโลกยังไงคนก็มา แล้วไม่ทำอะไรเลย ความประทับใจหรือประสบการณ์แปลกใหม่ที่คนจะได้รับกลับมามันอาจไม่เกิดขึ้น
มีความตั้งใจจะเปลี่ยนจากสิ่งที่คนมองว่าเป็นงานหนังสือนอกกระแส ให้กลายเป็นงานหนังสือกระแสหลักไหม
ปนิธิตา: เหตุผลที่เราจัดงานขนาดกลางๆ เพราะมีกลุ่มสำนักพิมพ์ที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังมีกลุ่มสำนักพิมพ์ที่ยังเป็นเด็กดีอยู่ เขาจะกังวล ไม่อยากมาร่วมงานแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันคงไม่สามารถใหญ่ได้ เท่ากับงานใหญ่ คงเป็นงานหนังสือขนาดเล็กและกลางแบบนี้ที่มีสีสันฉูดฉาด มีประเด็นที่ร้อนแรงและพร้อมทะลุกรอบออกไปเรื่อยๆ มากกว่า
ตั้งแต่ทำ Book Fest และได้พูดคุยกับคนที่มาร่วมงานมากมาย คิดว่าการมาถึงของโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีอื่นๆ มันส่งผลกระทบต่อวงการหนังสือ และพฤติกรรมการอ่านของคนไทยอย่างไรบ้าง
ปนิธิตา: เรามองเป็นแง่บวกนะ เพราะการเติบโตของสำนักพิมพ์ P.S. มันผูกโยงโดยตรงกับโซเชียลมีเดีย เราไม่ได้มองว่าโซเชียลมีเดียเป็นศัตรูที่มาแย่งลูกค้าให้ใช้เวลาอ่านน้อยลง แต่เป็นการส่งเสริมในเชิงการตลาดด้วยซ้ำในแง่ที่ยิ่งมีคนพูดถึงหนังสือของสำนักพิมพ์เรามากขึ้นเท่าไร หนังสือเราก็จะกระจายไปมากขึ้นเท่านั้น หรือบางครั้งบางเศษบางตอนของหนังสือมันแพร่กระจายไป ก็ไปดึงดูดให้ผู้อ่านกลับมาหาเราได้ สำหรับเราการมาถึงของโซเชียลมีเดียยิ่งทำให้หนังสือขายดีมากขึ้น เป็นกระแสและเป็นที่รู้จักมากขึ้น สุดท้ายแล้วมันก็วนกลับไปที่คอนเทนต์อยู่ดี ว่าเราทำอะไรที่ตอบโจทย์คนอ่านหรือเปล่า มันไปด้วยกันกับความสนใจของพวกเขาหรือไม่
ศิริธาดา: เหตุผลที่ทำให้หนังสือขายได้น้อยลง เพราะเรามีตัวเล่นเยอะขึ้นมากกว่า เมื่อก่อนเราอาจมีสำนักพิมพ์สัก 50 แห่ง มี 50 ชอยส์ให้เลือก แต่ตอนนี้มีสำนักพิมพ์เกิดใหม่เยอะขึ้นมาก การซื้อขายก็จะไม่ได้เทไปที่ใดที่หนึ่งมากเท่าเมื่อก่อน ส่วนตัวเรามองว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้มีแต่ผลลบเสมอไป อย่างเรากับเอิร์ธทำหนังสือเด็ก พ่อแม่ที่เขาเล่นโซเชียลมีเดียแล้วอยากปลูกฝังให้ลูกเป็นนักอ่าน ก็จะมาซื้อหนังสือประเภทนี้เยอะ อย่างช่วงโควิด-19 เราขายหนังสือเด็กได้เยอะมาก ทั้งๆ ที่คนออกจากบ้านไม่ได้ แต่เขาเห็นหนังสือเราจากโซเชียลมีเดียไง สิ่งนี้เลยกลายเป็นตัวช่วยผลักดันให้สินค้าบางชนิดหรือคอนเทนต์บางส่วนไปถึงมือนักอ่านมากขึ้น ไหนจะมีการรีวิวจากคนนั้นคนนี้ที่ช่วยให้คนตัดสินใจง่ายขึ้นอีก
ภัทรภร: เราว่าคนมองเห็นคุณค่าของหนังสือเล่มกับอีบุ๊ก หรือแพลตฟอร์มอ่านออนไลน์ต่างกัน อย่างงานหนังสือที่เชียงใหม่ ก็มีคนมาต่อแถวรอเข้ากันเยอะมาก สุดท้ายก็กลับไปจุดเดิมที่คนโหยหาการไปเจอนักเขียน สำนักพิมพ์ หนังสือเป็นเล่มๆ ดูปกสวยๆ กระดาษดีๆ ร่วมกิจกรรมต่างๆ หรือกระทั่งไปซื้อของที่บูทแล้วได้ของพรีเมียม ไม่มีใครที่อยากนั่งกับจอสมาร์ทโฟนคนเดียวไปตลอดหรอก ทุกคนล้วนต้องการปฏิสัมพันธ์ ยิ่งถ้านำโซเชียลมีเดียมาใช้ในแง่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นจะยิ่งช่วยมาก
ชนินทร์: เราคิดว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นตัวร้าย มันอยู่ที่วิธีการใช้มากกว่า สำนักพิมพ์ต้องใช้ให้เป็น รู้ว่าตัวเองต้องใช้แบบไหน ลงคอนเทนต์อะไร จะบิลด์ยังไงให้คนชอบ สำนักพิมพ์บางแห่งอาจรู้สึกว่าตัวเองต้องเปลี่ยนแปลงเยอะ เลยเป็นกังวลว่าสิ่งนี้จะเข้ามาแย่งพื้นที่ของตัวเองไป แต่จริงๆ แล้วถ้าทำความเข้าใจและปรับตัวกับมันหน่อย เดี๋ยวก็ไปต่อได้ มันไม่ได้ยากอะไรขนาดนั้น
โลกกำลังเข้าสู่คุณค่าใหม่ของการกระจายอำนาจ (Decentralization) ทั้งในวงการการเงิน สื่อ การศึกษา ฯลฯ คิดว่างานหนังสือขนาดเล็กที่จัดโดยภาคเอกชน คือส่วนหนึ่งของกระแสนิยมเช่นนี้ไหม
ศิริธาดา: เราคิดว่าต่างจังหวัดก็มีหลายเจ้าที่จัดงานหนังสือของตัวเอง แต่ถึงที่สุดแล้วยังไงต้องมีคอนเน็กชัน โดยส่วนกลางเป็นคนชวนไปทำ เพราะถ้าให้คนท้องถิ่นจัดกันเองมันต้องหางบประมาณ หรือต่อให้เป็นอย่างเชียงใหม่ที่จัดงานกันเรื่อยๆ หลายงานก็ไม่ได้ถึงขนาดเอานักเขียนหรือกิจกรรมไปลงได้ เราถึงมองว่าถ้างานหนังสือจะกระจายไปยังต่างจังหวัดได้จริงๆ ต้องมีงบประมาณหรือเอกชน อย่างเราเป็นคนทำ โดยมีส่วนกลางช่วยผลักดันด้วยสุดท้ายถ้าให้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ คุณอยากแนะนำอะไรกับคนในแวดวงเดียวกันและคนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามาทำอาชีพสายหนังสือ รวมถึงอยากจัดงานหนังสือแบบนี้
ปนิธิตา: เวลาจัดงานมันจะมีภาพของงานที่เราตั้งใจเอาไว้ แต่ระหว่างทางมันจะถูกปรับเปลี่ยนโดยหลายๆ เงื่อนไขและคนที่เราร่วมงาน เนื่องจากเราก็ต้องทำตามความต้องการของทั้งสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และคนอื่นๆ ด้วย ให้คิดเสียว่าเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม อาจต้องค่อยๆ เปลี่ยน เพราะการจะเปลี่ยนให้สำนักพิมพ์ หรือคนที่ร่วมงานกับเราเข้าใจว่าเราจะไม่จัดงานหนังสือแบบเดิมๆ แล้ว มันต้องค่อยๆ เกลี่ยความเข้าใจ งานดีไซน์หรือคอนเซปต์ไอเดียบางอย่างอาจไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องลองคิดดูว่าจะประนีประนอมยังไงเพื่อดันภาพที่มีอยู่ 70-80 เปอร์เซ็นต์แล้วขึ้นไปได้อีก
ชนินทร์: อดทน เรียนรู้ ตั้งมั่น (หัวเราะ) ต้องชัดเจนกับตัวเองว่าอยากทำงานนี้จริงๆ แล้วเรียนรู้ไปกับมัน จัดงานแรกจบแล้วต้องศึกษาด้วยว่าต้องปรับอะไรบ้าง เพราะไม่มีทางที่คนจัดงานแบบนี้จะเป็นตัวเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ ณ วันหนึ่งที่คุณทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ จนมีคนเห็นและเชื่อมือแล้ว อาจเป็นวันนั้นแหละที่คนอื่นๆ เขาจะยอมปรับหรือมองเห็นภาพเดียวกับคุณ
ภัทรภร: ช่วงแรกๆ ของการจัดงานยากเสมอ เพราะด้วยความเป็นคนตัวเล็กของพวกเรา มันจะแปลกแยกนิดๆ กลุ่มคนหัวดั้งเดิมจะมองว่าทำอะไรกัน ไม่ค่อยเชื่อมือ ต่อรองไม่ได้ เวลาขอสปอนเซอร์เขาก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่พอช่วงหลังที่เราเริ่มมีผลงานชัดแล้ว สถานการณ์ก็จะดีขึ้น
ศิริธาดา: ต้องมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นและตัวเอง เพราะด้วยความที่เราทำงานกับคน ก็ต้องฟังความต้องการของเขา แต่บางทีความต้องการที่มากเกินไป ก็ทำให้พวกเรานอยด์กันเองเช่นกัน ดังนั้นให้อยู่ในจุดที่เห็นใจทุกคนแหละ แต่ก็ต้องเห็นใจตัวเองด้วย อันไหนที่ไม่ได้ เราจะบอกว่าไม่ได้ มันไม่ใช่ว่าไม่รับฟังเขานะ แต่เขาเองก็ต้องรับฟังและเข้าใจเราด้วย มันถึงจะทำงานแล้วไปต่อกันได้ เราคิดว่าการรับฟังกันทั้งสองฝั่งและการเห็นอกเห็นใจกัน คือเงื่อนไขการทำงานที่ทำให้เราไปต่อกันได้
