Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’

929 views
7 mins
March 4, 2024

          เสียงเพลงบรรเลงทั่วงาน ผู้คนหลากหลายวัยเดินขวักไขว่ ร้านค้างานฝีมือเรียงราย ตารางกิจกรรมอัดแน่นไม่ได้มีแค่เสวนาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ หากยังมีแฟลชม็อบ วงสนทนาเรื่อง AI ไปจนถึงวัฒนธรรมอาหารการกิน บรรยากาศไม่เหมือนงานเทศกาลหนังสือดั้งเดิมที่เราคุ้นชิน แต่ดูเหมือนว่างานเทศกาลหนังสือหลายแห่งกำลังดำเนินไปในแนวทางนี้ 

          หากมองย้อนไปทศวรรษก่อน ภาพลักษณ์ของงานเทศกาลหนังสือในบ้านเรา โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การซื้อขายหนังสือเป็นหลัก ทั้งหนังสือออกใหม่หรือหนังสือลดราคา อาจมีการจัดกิจกรรมเสริมบ้างเป็นส่วนน้อย เช่น เวทีเสวนาเปิดตัวหนังสือใหม่ และกิจกรรมที่เน้นการพบปะระหว่างนักเขียนนักอ่าน 

          งานเทศกาลหนังสือขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำ คืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  ซึ่งมักจะจัดช่วงต้นปี ราวปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่จัดในช่วงเดือนตุลาคม ทั้งสองงานเป็นเหมือนงานประจำปีที่คนทำหนังสือและนักอ่านต่างเฝ้ารอ ส่วนในระดับภูมิภาคหรือระดับจังหวัด ก็มีงานมหกรรมหนังสือเฉพาะถิ่น เช่น งานมหกรรมหนังสือภาคใต้ มหกรรมหนังสือภาคอีสาน งานเชียงใหม่ บุ๊คแฟร์ 

          งานเทศกาลหนังสืออีกกลุ่มหนึ่ง คืองานขนาดย่อม งานประเภทนี้มักจะมีธีมหรือประเด็นเฉพาะเพื่อคัดสรรหนังสือที่จะนำเสนอและกิจกรรมในงาน สนองตอบความต้องการของผู้สนใจในหัวข้อนั้นๆ ไปจนถึงกลุ่มคนรักการอ่าน เช่น หนังสือศิลปะ หนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือภาพสำหรับเด็ก 

          และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ งานเทศกาลหนังสือบางแห่งปรับรูปแบบการนำเสนอมากขึ้นไปอีก คือไม่ได้ตีกรอบให้สินค้าและกิจกรรมมีความเกี่ยวข้องกับหนังสือและการอ่านเท่านั้น แต่ปรับงานทั้งงานให้กลายเป็น ‘พื้นที่อิสระ’ ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ผ่านหนังสือ ดนตรี ศิลปะ และผู้คน เราจึงมีโอกาสเห็นกิจกรรมหลากหลาย ทั้งแผงงานศิลปะแฮนด์เมด อาหารสตรีทฟู้ด และเวิร์กชอปดีไอวาย

          ศิริธาดา กองภา และ ภัทรภร วิวัฒนาการ คือทีมงานเบื้องหลังงานเทศกาลหนังสืออิสระภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘Book Festival’ ที่รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อทำงานบนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า ‘อยากทำเทศกาลหนังสือให้สนุก’ นำมาสู่การโยนไอเดียงานในแบบที่อยากเห็น จนเกิดเป็นเทศกาลหนังสือแบบทางเลือกหลายครั้งในหลายพื้นที่

Book Festval
Photo: Book Festival

Book Festival งานเทศกาลหนังสือคู่ความสนุก

          อาจถือได้ว่างาน LIT Fest (เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ!) ที่ผ่านมาแล้วกว่าห้าปี เป็นการปลุกกระแสงานเทศกาลหนังสือแนวทดลอง ผู้อ่านรู้สึกสนุก เรียกร้องให้จัดต่อ และเหล่าผู้จัดเองก็ติดใจในการได้ ‘ปล่อยของ’ เรียกได้ว่าเป็นงานแรกๆ ที่รวมการขายหนังสือเข้ากับการฉายภาพยนตร์ เวิร์กชอป และกิจกรรมทางศิลปะ โมเดลการจัดงานแบบ ‘Book Fest’ จึงค่อยๆ ก่อกำเนิดขึ้นมา โมเดลที่พวกเขาอธิบายว่าไม่มีรูปแบบตายตัว แค่ทำเทศกาลหนังสือให้เป็นมากกว่างานขายหนังสือ และที่สำคัญต้องสนุก

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: LIT Fest
Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: LIT Fest
Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: LIT Fest

          เสียงตอบรับที่ดีจากงาน LIT Fest เป็นแรงผลักดันให้ทีมงานต่อยอดมาสู่งาน ABC BOOK FEST 2020 ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงธุรกิจมากขึ้นโดยการเปิดขายบูธ และเพิ่มความสนุกด้วยการมีตลาดศิลปะ วงเสวนา ดนตรี หลังจากนี้ก็เริ่มมีงานเทศกาลหนังสือแนว ‘พื้นที่อิสระ’ จาก ‘Book Fest’ ตามมาอีกหลายงาน

          “โมเดลจัดเทศกาลหนังสือเป็นโมเดลธุรกิจที่ยากด้วยตัวเองอยู่แล้วถ้าไม่มีสปอนเซอร์ ลำพังแค่การขายบูธมันอยู่รอดลำบาก ต้องมีผู้สนับสนุนด้วย แต่ถ้าเป็นงานของเราเอง เราออกแบบโมเดลธุรกิจของเราได้ เราเติมกิจกรรม เติมความสนุกเพื่อให้งานอยู่ได้ในทางของเรา โจทย์ของเราคือการอยู่รอดและเราต้องสนุกระหว่างการทำงานด้วย” ภัทรภรกล่าว

          ความคิดดังกล่าวเป็นที่มาของการเพิ่มกิจกรรมซึ่งอาจไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะอยู่ร่วมกับเทศกาลหนังสือได้ และขยายขอบเขตความร่วมมือไปสู่กลุ่มความสนใจอื่นๆ เช่น ชั่วโมงบำบัด ซึ่งมีห้องสำหรับให้คนไปปรึกษาปัญหากับนักเขียน และ Tolerance Posters Exhibition นิทรรศการที่ให้กราฟิกดีไซเนอร์ทั่วโลกออกแบบงาน 40 กว่าชิ้น เป็นต้น

หนังสืออยู่กับอะไรก็ได้ทั้งนั้น

          “จริงๆ โมเดลของมันคือ รวมความคิดจากทุกคนที่มาร่วมจัดงาน โดยมีพื้นฐานเป็นหนังสือ คืออาจจะคิดว่า เอ๊ะ หนังสือไป X กับอะไรได้บ้าง กับดนตรี กับงานศิลปะได้ไหม ไปกับเพลงแรปได้ไหม อย่างตอนที่จัดงานที่สามย่าน เรามีไอเดียบุ๊กแรปขึ้นมา (BOOK RAP) เพราะเรามองว่า หนังสือก็เป็น inspiration ให้คนแต่งเพลงได้” ศิริธาดาพูดถึงไอเดียของการจัดงานเทศกาลหนังสือในแต่ละครั้ง

          โมเดลการจัดงานเทศกาลหนังสือ ขยายออกไปอย่างไม่รู้จบ เป็นที่มาของงาน BOOKS & BEERS 2022 เทศกาลอ่านและดื่มอย่างรื่นรมย์ ภายใต้คอนเซปต์ ‘No Book I Cry, No Beer I Die’ ไม่มีหนังสือก็เศร้า และถ้าไม่ได้ดื่มเราก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดี จนมีการนำไปจัดงานในต่างจังหวัด โดยเป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆ  เช่น BOOKS & BEERS 2023 + Busking ที่จังหวัดเชียงใหม่ หรืองาน BOOKS & BEERS x ส้ม SPACE COMMUNITY ที่จังหวัดกาฬสินธุ์

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
บรรยากาศงาน BOOKS & BEERS 2022 ที่กรุงเทพมหานคร
Photo: Book Festival

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
บรรยากาศงาน BOOKS & BEERS 2023 ที่กรุงเทพมหานคร
Photo: Book Festival

          “เราจะเอาอะไรมาเล่นในงานแต่ละครั้ง มันก็เบสออนหนังสือ ว่าหนังสือจะเป็นอะไรต่อได้บ้าง อย่างงาน BOOKS & BEERS เรามองว่า…หนังสือมันก็โยงกับเครื่องดื่มได้ ถ้าคุณบริวเบียร์ขึ้นมาสักหนึ่งตัว มันจะลิงก์กับหนังสือเล่มไหน เบียร์บางตัวอาจจะมีรสขมนำ มีความหวานตาม มันเหมือนหนังสือเล่มไหนกันนะ เราก็มาคิดคอนเซปต์ มิกซ์แอนด์แมตช์ไอเดียจากหนังสือเข้าไปด้วยกัน”

          รูปแบบของการจัดงานเทศกาลหนังสือไม่มีขอบเขตหรือข้อจำกัด แต่หากถามถึงแนวทางหลักในการจัดงานว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ศิริธาดาตอบกับเราว่า ประกอบไปด้วย 4 อย่างด้วยกัน คือ คอนเซปต์ ซึ่งเป็นสิ่งกำหนดทิศทางหลักของงาน รวมถึงการออกแบบกิจกรรม สองคือ พื้นที่ในการจัดงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถระบุค่าใช้จ่าย การหาสปอนเซอร์ จำนวนร้านค้าและกิจกรรมที่จะอยู่ภายในงาน สามคือ การเดินทาง มายังงาน ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเลือกพื้นที่ และสำคัญที่สุดคือ เครือข่ายคนทำงาน ซึ่งไม่ได้มีแค่คนในแวดวงหนังสือ แต่ยังรวมถึงคนในวงการศิลปะ ดนตรี อาหาร ทั้งหมดนี้คือพาร์ตเนอร์ที่จำเป็นสำหรับการจัดงาน

          แต่ใช่ว่าการจัดงานแต่ละครั้งจะต้องคิดคอนเซปต์ใหม่อยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือลูกเล่นที่ใส่เพิ่มเข้ามาในงานเพื่อสร้างความแปลกใหม่ “ตอนที่เราไปจัดงานที่เชียงใหม่  เราจัด BOOKS & BEERS คู่กับ เซิร์ฟสเกต ในงานมีเด็กเล่นเซิร์ฟกันในหลุมแล้วก็วนกันไปตามบูธหนังสือ มันก็เป็นคอนเซปต์ที่น่าสนใจขึ้นมาอีกอันหนึ่ง บางทีลูกเล่นอาจจะไม่ได้มาในแง่ของสถานที่ หรือไฮไลต์ของงานเสมอไป มันก็จะมีความแปลกใหม่แบบนี้ ที่เราต้องพยายามคิดไอเดียเติมเข้าไปเรื่อยๆ”

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: Book Festival

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: Book Festival

          เหนือสิ่งอื่นใด ศิริธาดาบอกว่าสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดคือ งานเทศกาลหนังสือได้กลายเป็น ‘พื้นที่ปล่อยของ’ แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทีมงานก็อยากผลักดันให้ผู้คนต่างสายงานได้มาพบเจอกันในพื้นที่ตรงนี้อยู่เรื่อยๆ พร้อมทั้งเล่าตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นให้ฟังว่า มีเจ้าของสำนักพิมพ์ที่ค้นหาคนทำปกหนังสือแนวใหม่ บังเอิญพบเห็นและประทับใจงานคราฟต์ที่วางขาย จึงถือโอกาสติดต่อประสานงานกันตรงนั้น หรือบางคนอยากได้แรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์งานที่แตกต่าง ก็เข้ามาหาเรฟเฟอร์เรนซ์ มาตามหาคนทำงานกันในงานนี้ พื้นที่กลายเป็นยิ่งกว่าการซื้อขายหนังสือ แต่เป็น ‘ตลาดงาน’ เกิดเป็นคอนเนกชันใหม่ๆ ขึ้นมา

          “ชื่อของเราคือ Book Fest เนาะ เราก็ยังอยากให้หนังสือเป็นหัวใจของงานอยู่ แต่ก็อยากเปิดกว้างให้หนังสือสามารถไปคอลแลบกับสิ่งอื่นๆ ได้มากขึ้น เพราะเราเห็นว่าหนังสือเข้ากับอะไรก็ได้ จะเป็นงานเบียร์ งานบ้านและสวน งานแม่และเด็ก หรือเกษตรแฟร์ยังได้เลย” 

          เมื่อสอบถามความคิดเห็นในประเด็นที่ชาวโซเชียลพากันส่งเสียงคัดค้านว่า งานเทศกาลหนังสือไม่ควรถูกนำไปรวมกับกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเป็นการทำลายสมาธิ หรือสร้างความรบกวนแก่คนที่อยากมางานเพื่ออ่านหรือเลือกซื้อหนังสือ ศิริธาดามองว่า สิ่งสำคัญคือการจัดการแบ่งโซนพื้นที่ให้ชัดเจนและเป็นระบบ 

          “ตอนงาน BOOKS & BEERS เราเห็นพ่อแม่พาลูกมาเยอะมาก เพราะในงานมี Kid Zone คือคิดจากกรณีของตัวเองว่าเราก็มีลูก แล้วบางทีเราก็อยากออกไปแฮงก์เอาต์กับเพื่อน แต่ว่ามันไม่มีพื้นที่ให้เด็ก เวลาเราไปงานพวกนี้ เราก็เลยทำโซนเด็กขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ที่มางานก็สามารถพาลูกมาที่โซนเด็ก มาเล่นเกม มาทำกิจกรรมด้วยกัน ส่วนผู้ปกครองก็ได้ไปดูหนังสือ พูดคุย ทำกิจกรรมของตัวเอง กลายเป็นว่าในงานนี้ เป็นงานที่พ่อแม่ลูกใช้เวลาด้วยกันได้ หนังสือที่ดูจะไม่ไปด้วยกันกับเบียร์ เช่น หนังสือเด็กก็กลายเป็นขายได้ดีในงานนี้ หรือไม่ก็มี target บางคนที่เป็นนักดื่มเบียร์แต่ไม่ได้อ่านหนังสือเลย พอมางานนี้ได้มาเดินดูหนังสือ เห็นหนังสือบางเล่มน่าสนใจ เกี่ยวกับธุรกิจ เกี่ยวกับงานของเขา เขาก็ลองซื้อไปอ่านดู เรารู้สึกว่ามันคือการเปิดโลกกัน”

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: Book Festival

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: Book Festival

ทิศทางงานเทศกาลหนังสือในประเทศไทย

          เมื่อถามว่า…เทศกาลหนังสือแนวอิสระที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและแพร่หลายมากขึ้น จะเป็นแนวทางใหม่ของการจัดงานเทศกาลหนังสือใช่หรือไม่ ศิริธาดา กลับมองว่า งานเทศกาลหนังสือทางเลือกไม่ใช่คู่แข่งของใคร ไม่ว่าจะเป็นงานเทศกาลหนังสือประจำปี ร้านหนังสือ หรือแม้แต่งานกิจกรรมและเวิร์กชอปด้านต่างๆ ที่จัดขึ้นอยู่เป็นประจำ แต่งานลักษณะนี้เป็นการสร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้มาพูดคุย พบปะเพื่อนใหม่และเป็นช่วงเวลาผ่อนคลาย สำนักพิมพ์เองก็จะได้มีที่ทางในการจำหน่ายหนังสือมากกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ก็เป็นพื้นที่ปล่อยของ กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคราฟต์เบียร์ กลุ่มอนิเมะ กลุ่มเต้น กลุ่มอาร์ตแอนด์คราฟต์ หรือแม้แต่กลุ่มดูดวง ก็มีโอกาสได้นำเสนอตัวตนมากขึ้น

          “ในงานที่เราจัด ยอดขายหนังสือเป็นยอดที่สำนักพิมพ์พึงพอใจ แต่ก็ไม่ได้ว้าวขนาดยอดในงานสัปดาห์หนังสือเพราะสเกลงานมันเล็ก และจริงๆ คนที่มางานบางคนเขาก็ซื้อหนังสือทางออนไลน์ไปแล้ว แต่ที่มาเพราะอยากมาพูดคุย มาเจอคนที่อาจจะชอบในสิ่งเดียวกัน เช่น ดื่มเบียร์แบบเดียวกัน อ่านหนังสือแบบเดียวกัน สนใจประเด็น หรืองานศิลปะแบบเดียวกัน เป็นเหมือนการสร้างชุมชนคนที่สนใจเรื่องคล้ายๆ กัน 

          บางคนอาจจะไม่เคยสนใจหนังสือ แต่พอมางานนี้ก็อาจจะหยิบติดมือไปสักเล่มสองเล่ม หรือบางคนอาจจะไม่เคยทำเวิร์กชอปร้อยลูกปัดก็ได้ลองมาทำ และประทับใจจนไปติดตามร้านต่อ กลายเป็นว่าคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะสนใจแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง พอได้มาเจอกัน ก็ได้ขยายความสนใจต่อกันไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่านี่คืองานที่เราได้สร้างชุมชนใหม่ๆ ขึ้นมา”

          อาจกล่าวได้ว่างานเทศกาลหนังสืออิสระต่างๆ ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมแก่แวดวงหนังสือและการอ่านไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะภาพรวมของการจัดงานเทศกาลหนังสือขนาดใหญ่ประจำปี ให้เป็นไปในทิศทางที่แปลกใหม่และสนุกกว่าการเป็นงานออกร้านขายหนังสือ

           “งานมหกรรมหนังสือที่เป็นงานใหญ่ประจำปีก็ยังสำคัญ เพราะมันเหมือนงานเอ็กซ์โปที่รวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน งานสเกลเล็กก็เกิดขึ้นเยอะ เราเห็นความหลากหลายของงานเทศกาลหนังสือ เหมือนว่าถ้ามีคนเริ่มจัดงานรูปแบบใหม่ งานอื่นๆ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนกันมาเรื่อยๆ งานหนังสือที่เป็นงานใหญ่ เขาก็เริ่มมีการจัดสรรพื้นที่ เพิ่มกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเครือข่ายต่างๆ เช่น ในงานมหกรรมหนั งสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 กลุ่มสมาคมป้ายยาหนังสือก็ไปจัดกิจกรรม Book Blind Date มูลนิธิหนึ่งอ่านล้านตื่น จัดนิทรรศการ 50 ปี 14 ตุลา เราเองก็มีไปร่วมจัดกิจกรรมโซน ‘โต๊ะก็คือโต๊ะ’ เป็น Art Market  รวมสินค้าจากศิลปินอิสระ งานแฮนด์เมด และกิจกรรม DIY ต้องบอกว่า เราเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าสนใจในช่วง 2-3 ปีมานี้ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันสนุกตรงนี้แหละ”

          ในท้ายที่สุด หนังสือไม่จำเป็นต้องถูกแยกออกมา แต่การทำให้หนังสือสอดแทรกอยู่ในซับคัลเจอร์ก็จะทำให้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเมื่อถึงตอนนั้นเราคงไม่ต้องพูดกันว่าเราจะสร้างสรรค์สังคมที่รักการอ่านอย่างไร เพราะเมื่อการอ่านสอดแทรกอยู่ในความชอบ กลายเป็นความปกติในชีวิตประจำวันแล้ว สังคมที่รักการอ่านย่อมเกิดขึ้นเองโดยปริยาย

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: Book Festival

Book Festival เมื่อเทศกาลหนังสือไม่ใช่เพียงพื้นที่ขายของ แต่เป็นที่ ‘ปล่อยของ’
Photo: Book Festival


ที่มา

บทความ “งานมหกรรมหนังสือ vs งานสัปดาห์หนังสือ | แตกต่าง หรือ เหมือนกัน?” จาก naiin.com (Online)

บทความ “เชิญ ร่วมงาน Kasemsan (Book) Fair เทศกาลหนังสือ “ประวัติศาสตร์” จาก khaosod.co.th (Online)

บทความ “Children’s Picture Book Festival 2023” จาก barefootbanana.co (Online)

เว็บไซต์ Bangkok Art Book Fair (Online)

เฟซบุ๊ก Book Festival (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก