Book Club / หนังสือ / นักอ่าน ประเทศไทยไม่เหมือนใครในโลก

3,691 views
6 mins
April 29, 2022

          Book Club เป็นกิจกรรมที่นิยมในหมู่นักอ่านทั่วโลก แต่อาจไม่ใช่กิจกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยหรือต่อเนื่องมากนักในประเทศไทย ด้วยบริบทและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

         หนึ่งใน Book Club ไทยที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปี และยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ก็คือ อ่านออกเสียง’ หรือ Read Aloud ซึ่งสื่อความหมายถึงเสียงของนักอ่านทุกคน ที่สามารถแสดงความรู้สึกนึกคิดโดยไม่ต้องกลัวว่าถูกหรือผิด กลุ่มอ่านออกเสียง ยังเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยว่าด้วยความคิดของนักอ่านที่มีต่อวรรณกรรมซึ่งสะท้อนถึงเรื่องราวของประเทศชายขอบ

          สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ริเริ่มกลุ่ม ‘อ่านออกเสียง’ เผยที่มาของกิจกรรมชมรมหนังสือแห่งนี้ รวมถึงวิเคราะห์เปรียบเทียบ Book Club และการอ่านของไทยกับต่างประเทศ และความคิดเห็นที่มีต่อนักอ่าน หนังสือ กับสังคมไทย

ทำไมจึงสนใจการทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘คนอ่าน’

          เวลานักวิชาการด้านวรรณกรรมคุยกัน เขามักไม่ได้นึกถึงคนอ่านที่เป็นคนอ่านจริงๆ (Real Readers) เมื่ออ่านตัวบทแล้ววิเคราะห์ว่า คนอ่านจะได้รับหรือตระหนักถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ เขาไม่ได้หมายถึงคนอ่านทั่วไป แต่หมายถึงตัวนักวิจารณ์เอง บางทีการวิเคราะห์งานวรรณกรรมก็ซับซ้อนและใช้ทฤษฎีเต็มไปหมด เราก็เลยสงสัยว่า คนอ่านจริงๆ เขาอยู่ตรงไหนในแวดวงวรรณคดีศึกษา

          ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับปัญหาของวงการการอ่าน คือการทำความเข้าใจคนอ่าน ไม่ใช่แค่การหาคำตอบว่าคนอ่านหรือไม่อ่าน แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น คนอ่านมองหนังสืออย่างไร อยากอ่านหรือไม่อยากอ่านอะไร อยากได้อะไรจากหนังสือ หรือเขามีสมมติฐานต่อการอ่านอย่างไร

วรรณกรรมโลกเข้ามาเกี่ยวข้องกับ Book Club ‘อ่านออกเสียง’ อย่างไร

          แต่ก่อนวรรณกรรมจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเหมือนขาใหญ่ในวงการวรรณกรรม ซึ่งถูกส่งออกไปทั่วโลก แล้วประเทศต่างๆ ก็นำไปแปล แต่ช่วงไม่กี่ปีมานี้มีกระแสด้านกลับ ก็คือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษควรจะเปิดรับวรรณกรรมจากภาษาอื่นๆ ด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย การแปลวรรณกรรมจากประเทศชายขอบกลับไปเป็นภาษาอังกฤษจึงเริ่มเป็นที่นิยม

          ย้อนกลับมามองคนอ่านไทย เราเป็นประเทศชายขอบอยู่แล้ว ถ้าเราอ่านวรรณกรรมโลกแล้วจะคิดกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างไร คนชายขอบน่าจะเข้าใจคนชายขอบด้วยกันมากกว่าคนอังกฤษหรืออเมริกันใช่หรือไม่ ก็เลยนำชุดความคิดเกี่ยวกับวรรณกรรมโลกมาทดสอบกับคนอ่านไทย Book Club ‘อ่านออกเสียง’ จึงทำหน้าที่สองอย่าง ด้านหนึ่งทำให้เราหาคนอ่านเจอแล้วเก็บข้อมูล อีกด้านหนึ่ง มันเป็นพื้นที่สนับสนุนให้คนมาอ่านหนังสือด้วยกัน พูดคุยกัน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกหรือผิด หรือตรงกับที่นักวิชาการเขาพูดไหม

กระบวนการในการทำกิจกรรมมีอะไรบ้าง

          Book Club ‘อ่านออกเสียง’ เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ก่อนการเก็บข้อมูลวิจัยประมาณครึ่งปี จนเริ่มสนิทคุ้นเคยกัน พอจะพูดได้ว่า คนอ่านเขาไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นอาจารย์ แต่คิดว่าเราเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้อง ตอนนั้นใช้วิธีประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านหน้าเพจให้คนมาแสดงความเห็น แล้วจัดส่งหนังสือซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ไปให้คนอ่าน โดยที่เขาไม่ต้องซื้อเอง ส่วนช่วงที่เก็บข้อมูลวิจัย เราเป็นคนเลือกหนังสือวรรณกรรมโลกให้ผู้อ่าน รวมทั้งหมด 6 เล่ม ผู้เข้าร่วมแต่ละครั้งมีประมาณ 10-15 คน ปกติ Book Club ไม่ใช่กลุ่มที่มีขนาดใหญ่ เพราะหากมีคนมากเกินไปก็จะคุยกันไม่ทั่วถึง

วรรณกรรมโลก 6 เล่ม ประกอบด้วย เรื่อง สมิงสำแดง นวนิยายอินโดนีเซีย ว่าด้วยคดีฆาตกรรมซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความรุนแรงในครอบครัว เรื่อง ท่ง กุลา ลุกไหม้ รวมเรื่องสั้นแปลจากภาษาสเปนเป็นภาษาอีสาน เรื่อง เพื่อนคนเก่ง นวนิยายอิตาเลียนที่สะท้อนความขัดแย้งในครอบครัวและสังคม เรื่อง ยัญพิธีเชือดแพะ นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เหตุการณ์ลอบสังหารผู้นำเผด็จการของสาธารณรัฐโดมินิกัน เรื่อง ร้าวรานในวารวัน นวนิยายอินเดียที่ถ่ายทอดเรื่องราวตัวละครในพม่า ช่วงที่ถูกอังกฤษยึดครอง และเรื่อง หิมะ นวนิยายว่าด้วยความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาในตุรกี

ข้อค้นพบสำคัญจากการวิจัยคืออะไร

          ผลที่ได้ มันไม่ได้เป็นไปตามสมมติฐาน เราพบว่า ผู้อ่านวรรณกรรมโลกในกลุ่ม Book Club ‘อ่านออกเสียง’ ไม่ได้พัฒนาทัศนคติแบบสากล ที่เชื่อมโยงตนเองกับคนในประเทศชายขอบของโลก เท่ากับการตระหนักถึงความแตกต่างในระดับท้องถิ่น คือไม่ว่าจะอ่านเรื่องในอิตาลี เม็กซิโก โดมินิกัน หรือประเทศใดก็ตาม สุดท้ายก็จะคิดเชื่อมโยงกลับมาว่า สถานการณ์ในบ้านเราเป็นอย่างไร แต่ในขณะเดียวกันเราก็อาจจะพูดได้ว่า ประสบการณ์ของคนที่อยู่ในประเทศชายขอบต่างๆ ก็คงคล้ายกันจริงๆ เลยทำให้เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเราเลย ดูเหมือนเป็นเรื่องของเราในระดับท้องถิ่นได้

ทำไม Book Club จึงสำคัญ และเป็นที่นิยมในหลายประเทศ

          ในต่างประเทศคนที่ชอบเข้า Book Club มักจะเป็นผู้หญิง ในสมัยก่อนอาจจะเป็นแม่บ้านที่มารวมตัวกันช่วงที่สามีไปทำงานหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ การอ่านจึงเป็นการสร้างชุมชนของคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน มีวิถีชีวิตคล้ายกัน หรือบางทีมีปมหรือเงื่อนไขของชีวิตที่ทำให้เขามาอยู่รวมกัน การอ่านจึงไม่ใช่เพียงการสร้างความหมายให้กับตัวบท แต่เป็นการสร้างความหมายให้กับตัวผู้อ่านด้วย

          โดยส่วนตัวเชื่อว่าพื้นที่โลกวรรณกรรมหรือโลกของการอ่าน สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาบางอย่างในสังคมได้ มันเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยความเคารพกัน คนที่เป็น Facilitator ของกลุ่มจึงมีอิทธิพลค่อนข้างมาก ที่จะชวนให้ทุกคนได้พูดได้แสดงออก โดยไม่มีใครรู้สึกว่าถูกกีดกันออกไปหรือไม่ถูกรับฟัง

          เราก็รู้กันดีว่า เวลาคนไทยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ถ้าคนแรกบอกว่าชอบ คนที่ 2 คนที่ 3 ก็มีแนวโน้มที่จะบอกว่าชอบด้วยเหมือนกัน แต่ถ้ามีใครสักคนลุกขึ้นมาบอกว่า ไม่เห็นสนุกเลย เกลียดตัวละครตัวนี้ ก็จะช่วยทำให้บรรยากาศคลี่คลายขึ้น คนอื่นจะเริ่มรู้สึกว่า พูดได้นี่หว่า เราสามารถไม่ชอบบางอย่างเหมือนคนอื่นก็ได้ มันเป็นเรื่องของหนังสือที่คุยกันจบแล้วก็แยกย้าย ไม่มีใครไปตบตีเรื่องนี้ต่อ ดูเหมือนไม่น่าจะยาก แต่มันก็ยากนะสำหรับคนไทย

          สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ใน Book Club แต่มันสะท้อนให้เห็นความกลัวของคนไทยที่จะแสดงความคิดเห็น (speak up) หรือไม่เห็นพ้องกับกลุ่ม สำหรับคนรุ่นอายุ 30-40 ขึ้นไป มักจะเป็นแบบนี้ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ก็อาจจะแตกต่างออกไป

สุธิดา วิมุตติโกศล

กิจกรรม Book Club ในไทยและต่างประเทศ มีลักษณะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

          ในต่างประเทศการอ่านเป็นกิจกรรมที่อ่านคนเดียวก็ได้หรืออ่านเป็นกลุ่มก็ได้ ในขณะที่คนไทยมักมองว่า การอ่านเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวและต้องเป็นการอ่านเงียบๆ ในใจ ไม่ใช่กิจกรรมทางสังคม เวลามีคนชวนไปร่วมกิจกรรมก็อาจจะคิดว่า ทำไมเราต้องไปอ่านหนังสือกับคนอื่น หรือบางทีคนที่ชอบอ่านหนังสือก็มักมีนิสัยไม่ชอบเข้าสังคม ดังนั้นมันจึงยากตั้งแต่จุดแรกที่จะชวนคนออกมา

          ปกติ Book Club มักจะเกิดที่ห้องสมุด ซึ่งห้องสมุดในหลายๆ ประเทศมีลักษณะเป็นชุมชน คนที่รู้จักหรือไม่รู้จักกันสามารถมาเจอกันที่ห้องสมุด ห้องสมุดไม่ใช่พื้นที่ของความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งคนใช้บริการต้องแต่งตัวให้เหมาะสม ต้องมีขั้นตอนนู่นนี่ หรือต้องขออนุญาตใคร บรรณารักษ์ไม่ได้มีหน้าที่คอยดุหรือสั่งเราให้เงียบ ห้องสมุดที่จะทำให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ จึงต้องมีความเป็นมิตรประมาณหนึ่ง

          เมื่อห้องสมุดมีความเป็นชุมชน คนที่มาร่วมกิจกรรมก็มักจะเป็นคนหน้าเดิมๆ ทำให้กลุ่มดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้อ่านช่วยกันเลือกว่าอยากจะอ่านและพูดคุยถึงหนังสือเล่มไหน ในขณะที่บ้านเราเป็นอย่างนั้นยาก ท้ายที่สุดแล้วกลายเป็นว่าผู้จัดเป็นผู้เลือกหนังสือ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แย่นัก

          ความแตกต่างอีกจุดหนึ่งคือด้านข้อจำกัดของหนังสือ บ้านเราไม่ได้มีหนังสือเยอะเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาสำนักพิมพ์ต่างๆ ผลิตหนังสือที่มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ถ้าจำนวนคนอ่านน้อย ก็เสี่ยงกับการขายไม่ได้ เมื่อก่อนนี้พิมพ์หนังสือกันที 3,000-5,000 เล่ม ยังตีพิมพ์ซ้ำหลายรอบ แต่ปัจจุบันนี้พิมพ์พันนึงยังไม่รู้จะขายหมดเมื่อไหร่ ตรงนี้ก็จำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาสนับสนุนให้สำนักพิมพ์หรือนักแปลผลิตหนังสือที่หลากหลายขึ้น

นอกจาก Book Club ยังมีกิจกรรมอะไรอีกบ้าง ที่สะท้อนว่าการอ่านสามารถเป็นกิจกรรมทางสังคม

          จริงๆ แล้วการอ่านมันเป็นกิจกรรมทางสังคมในตัวมันเอง เราไม่เคยอ่านคนเดียว แม้ว่าเราจะนั่งอ่านอยู่คนเดียวก็ตาม เราอาจจะเลือกหนังสือเพราะเห็นว่าเป็นหนังสือแนะนำ เจอในฟีดเฟซบุ๊ก หรือกำลังอยู่ในกระแสสังคม การที่เราจะเข้าใจตัวบทก็เกี่ยวกับสังคมอีก เราอาจจะไปอ่านรีวิว หรือรับฟังคนอื่นว่าคิดอะไรกับมัน ดังนั้น การเลือก การตีความ หรือการให้คุณค่ากับหนังสือ มันมีสังคมมาประกอบอยู่ด้วยเสมอ

          ในต่างประเทศมีกิจกรรมที่เรียกว่า ‘One Book One City’ ทั้งในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย แนวคิดก็คือให้ทุกคนในเมืองมาอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน เรื่องที่นำมาอ่านขึ้นอยู่กับโจทย์ของแต่ละรัฐ แต่ประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างชัดคือ การหยิบยกหนังสือมาเป็นสื่อกลางให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในสังคม เช่นหนังสือที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับผู้อพยพ

          ย้อนกลับมาดูในไทย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กรุงเทพฯ ถูกเลือกให้เป็นเมืองหนังสือโลก แล้วก็มีโครงการ ‘1 เขต 1 วรรณกรรม’ พอไปดูรายชื่อหนังสือก็จะพบว่ามันวนเวียนอยู่กับเรื่อง เขตฉันมีอัตลักษณ์อะไรที่น่าภูมิใจ หรือมีผู้มีอำนาจเคยเขียนอะไรเกี่ยวกับเขตฉัน ในขณะที่หนังสือในต่างประเทศช่วยปลดล็อคเรื่องชาติพันธุ์หรือความรู้สึกแปลกแยกระหว่างผู้คน หนังสือของไทยไม่ได้มีฟังก์ชันแบบนั้น แต่มันกลับผลิตซ้ำชุดความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับอำนาจในสังคม

          ในอังกฤษ BBC จัดทำสำรวจ 100 วรรณกรรมเปลี่ยนโลก โดยให้คนทั่วประเทศเสนอรายชื่อหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตเขา ไม่ใช่หนังสือที่นักวิชาการบอกว่ามันดีหรือมีความร่ำรวยทางวรรณศิลป์ ดังนั้นจึงมีชื่อหนังสือใหม่ๆ อย่าง Game of Thrones หรือ Twilight ถ้าในเมืองไทยมีอะไรอย่างนี้บ้าง นอกเหนือจาก หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน หรือรายชื่อหนังสือรางวัลซีไรต์ สังคมก็จะมีทางเลือกในการอ่านหนังสือที่หลากหลายขึ้น หรืออาจจะมีความกระตือรือร้นที่จะอ่านมากขึ้น

สุธิดา วิมุตติโกศล

วิถีในการอ่านของคนรุ่นใหม่ ต่างจากไปคนรุ่นก่อนหรือไม่

          ปัจจุบัน ความบันเทิงอย่างอื่นมีมากกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าหนังสือ ถ้าเขาไม่อยากอ่านเขาก็จะไปทำอย่างอื่นเลย ยกตัวอย่างนักศึกษาวรรณคดี ซึ่งมีพื้นฐานเป็นคนชอบอ่านระดับหนึ่ง สิ่งที่เขานิยมอ่านกันคือ จอยลดา นิยาย Dek-D หรือ readAwrite บางคนมีบทบาทเป็นคนเขียนหรือทำคอนเทนต์ด้วย เขาไม่ได้ไปจากโลกของตัวหนังสือหรือโลกของการอ่านเสียทีเดียว แต่เขามีทางเลือกมากขึ้น ในวิชาทฤษฎีการวิจารณ์ ซึ่งช่วงปลายเทอมให้นักศึกษาไปอ่านอะไรมาก็ได้แล้วมาเขียนบล็อก ส่วนใหญ่เขามักไม่เขียนถึงหนังสือ แต่เขาเขียนถึงเกม ซีรีส์ หรือหนัง

          ถ้าเราลองดูเกมในปัจจุบัน จะพบว่ามันมีการเล่าเรื่องที่ลึกลับซับซ้อน อย่างเช่นเกม Elden Ring ก็ดึงนักเขียนระดับโลกไปช่วยวางสตอรี คือ จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ผู้ประพันธ์เรื่อง Game of Throne โลกของวรรณกรรมกับโลกของความบันเทิง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตัดขาดจากกัน แล้วมันก็ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

          ดังนั้น หลักสูตรด้านวรรณกรรมก็ต้องปรับตัวเยอะเหมือนกัน เมื่อก่อนเอะอะก็ต้องมานั่งอ่านงานวรรณกรรมตามยุค ศตวรรษที่ 18-19-20 แต่เวลานี้พอเราพูดถึงเรื่องเล่าหรือตัวบท ก็ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดด้วยรูปแบบวรรณกรรมที่เป็นเล่มๆ แล้ว

ทำอย่างไรให้การอ่านเป็นกระบวนการที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาความคิด

          ในสังคมไทย หนังสือมีสถานะที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนอ่าน ทุกคนโตมาก็คงต้องเคยไหว้หนังสือ และมีคนที่มีอำนาจมาสั่งว่า เราควรจะอ่านอะไร และควรอ่านอย่างไร  ถ้าพ่อแม่หรือครูทำให้หนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วใครจะไปกล้าเถียงกับหนังสือ มันก็ยากตั้งแต่แรก

          จริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่เขารู้จักการถกเถียงหรือการตั้งคำถาม แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่มักให้เหตุผลโดยนำไปยึดโยงกับอำนาจอีกก้อนหนึ่ง เช่น เราบอกว่าสิ่งนี้เลว ไม่ใช่เพราะเราคิดว่ามันเลว แต่เพราะคนที่เป็น new idol บอกว่ามันเลว ท้ายที่สุดแล้วก็กอดไอดอลของตัวเองเอาไว้ ดังนั้น มันอาจจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก สิ่งที่ยังขาดหายไปในสังคมนี้ก็คือการคิดแบบอิสระ (independent thinking) กล้าตั้งคำถามแม้แต่สิ่งที่เราเชื่อถือหรือชื่นชม ซึ่งยากกว่าการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราไม่ชอบเสียอีก

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก