Bioscope นิตยสารที่เชื่อว่าหนังคือประตูสู่ความรู้ ของผู้ดูและผู้อ่านทุกคน

1638 views
7 mins
April 15, 2025

          แม้ภาพยนตร์จะเป็นศิลปะและสื่อบันเทิงที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา หนังที่พวกเราได้ดูกันยังถือเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณหนังทั่วโลกที่ไม่มีโอกาสมาเข้าฉายในประเทศไทย

          จึงเป็นเหตุให้ Bioscope Magazine (หรือ Bioscope) เกิดขึ้นมาเพื่อเชื่อมช่องว่างระหว่างหนังทั่วโลกและคนดูหนังในเมืองไทย ผ่านการวางสถานะตัวเองเป็นเหมือนประตูสองบาน บานแรกคือการเปิดโลกให้คนรักหนังชาวไทยได้รู้จักหนังกระแสรองหลากหลายประเภทจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงการเป็นประตูอีกบานที่ชวนผู้อ่านค้นพบชุดความคิดและองค์ความรู้ที่ปรากฏขึ้นอยู่ในหนังเรื่องต่างๆ

          เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ สุภาพ หริมเทพาธิป หรือ หมู และ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ สองผู้ก่อตั้ง Bioscope Magazine ถึงเรื่องราวและเส้นทางของนิตยสารที่อยู่คู่คอหนังชาวไทยมาร่วม 2 ทศวรรษ รวมไปถึงทิศทางของนักดูหนัง ว่ามีพฤติกรรมการอ่านเนื้อหาทางภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างตลอดเวลาที่ผ่านมา

Bioscope นิตยสารที่เชื่อว่าหนังคือประตูสู่ความรู้ ของผู้ดูและผู้อ่านทุกคน

Bioscope Magazine มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

          ธิดา: ย้อนไปก่อนหน้าจะมีนิตยสาร Bioscope มันก็มีนิตยสารหนังแบบนี้มาก่อนหน้าแล้วหลายเล่ม ส่วนใหญ่นิตยสารหนังจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ นิตยสารที่ตอบสนองกลุ่มคนดูหนังวงกว้าง จะเกี่ยวข้องกับหนังที่อยู่ในกระแสหรือฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ขณะนั้น อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นนิตยสารที่ทำโดยอิงจากรสนิยมและความเชื่อของคนทำนิตยสารเป็นหลัก ก็จะพูดถึงหนังนอกกระแส หนังต่างประเทศ หนังแปลกๆ ที่ไม่ได้ฉายในประเทศไทย ซึ่งนิตยสารประเภทนี้ก็มีอยู่ในไทยมาตลอด เราเองก็เป็นแฟนนิตยสารพวกนี้อยู่เรื่อยมา อย่างพี่หมูเองเขาก็เคยทำงานในนิตยสารแบบนี้ที่ชื่อ หนังและวิดีโอ ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือนิตยสาร FILMVIEW

          สำหรับ Bioscope ไอเดียมันเริ่มขึ้นตอนเรามาเจอพี่หมู แล้วก็ได้คุยกันจนเกิดความคิดว่าอยากทำนิตยสารประเภทนี้บ้าง อยากทำนิตยสารที่มีเนื้อหาที่ต้องใช้เวลาในการสืบค้น การเรียบเรียงและบอกเล่า เป็นข้อมูลที่เยอะและลึก

          กระทั่งช่วงปี 2540 เหตุการณ์ฟองสบู่แตก นิตยสารหนังหลายหัวเริ่มล้มหายตายจาก เนื่องจากวงการเอเจนซีได้รับผลกระทบ ดังนั้นนิตยสารที่อาศัยโฆษณาจากเอเจนซีก็หายตามไปเยอะ ส่วนเราเองตอนนั้นก็กำลังเบื่องานที่ทำอยู่ กำลังมองหาอะไรใหม่ๆ ความคิดเรื่อง Bioscope มันก็เลยผุดขึ้นมา จึงตัดสินใจลองดูสักตั้งกับนิตยสารหนังทางเลือกเล่มนี้

ณ วันนั้นคุณตั้งใจให้ Bioscope Magazine บอกเล่าเรื่องอะไรให้คนอ่าน เนื้อหาของนิตยสารเล่มนี้มีอะไรบ้าง

          ธิดา: โดยพื้นฐานคือต้องนำเสนอให้เห็นความหลากหลายของหนังในโลกใบนี้ เพราะในตอนนั้นที่ตัดสินใจเริ่มทำ นิตยสารหนังในบ้านเราจะเหลืออยู่แค่นิตยสารที่พูดถึงหนังกระแสหลัก ซึ่งเขาก็ทำได้ดีในแบบของเขา เพียงแต่เรารู้สึกว่ามันยังขาดเนื้อหาในอีกด้านหนึ่งของวงการหนังไป

          หนังนอกกระแส หนังต่างประเทศ หลายเรื่องมันไม่ได้มาฉายในประเทศไทยก็จริง แต่การที่ไม่ได้มาฉาย ไม่ได้แปลว่ามันไม่ควรค่าแก่การรู้จัก เพราะเรารู้สึกว่าหนังที่ฉายในตลาดจะมีความหลากหลายน้อย โดยเฉพาะช่วงนั้นที่ตลาดหนังฮอลลีวูดมันแข็งแรงมากๆ ดังนั้นความคิดที่จะต้องนำเสนอหนังนอกกระแสให้คนอ่านรู้จักคือความตั้งใจอย่างแรก

          ต่อมาคือ การจุดประเด็นและตั้งคำถามต่อวงการหนังในประเทศไทย ตลอดเวลาที่ทำเราจะมีคำถามต่อวงการหนังไทย มีความสงสัยว่าทำไมสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ ทำไมสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น ก็เลยกลายเป็นอีกคอนเซปต์หนึ่งของ Bioscope

          ถ้าเรามองว่าวงการหนังไทยยังมีสิ่งที่ต้องหาคำตอบ เราเองในฐานะคนผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับหนังจะทำอย่างไรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหาคำตอบได้บ้าง ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างเช่น ช่วงหนึ่งวงการหนังไทยจะมีปัญหาว่าบทหนังไม่ค่อยแข็งแรง ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะองค์ความรู้เรื่องการเขียนบทมันไม่ได้แพร่หลายหรือไม่ จนทำให้คนในวงการไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องการเขียนบท

          มันก็เลยเป็นที่มาของคอลัมน์สำคัญอันหนึ่งใน Bioscope ที่อยู่มาตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้ายเลย คือคอลัมน์ที่พูดถึงศิลปะการเขียนบท ซึ่งนิตยสารหนังอื่นๆ อาจจะมีบ้าง ไม่มีบ้าง ไม่ได้มีต่อเนื่อง แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราอยากรู้ เป็นการตอบคำถามอะไรบางอย่าง เป็นคอนเซปต์ที่เราอยากนำเสนอ อันนี้ก็เป็นอีกตัวตนของ Bioscope ที่อยากให้ผู้อ่านรู้จัก

เชื่อว่าช่วงนั้นคงมีคำถามประมาณว่า ถ้าหนังไม่มีให้ดู จะอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นทำไม คิดเห็นประเด็นนี้อย่างไร

          สุภาพ: ส่วนตัวผมเติบโตมาจากยุคที่โอกาสได้ดูหนังที่ไม่ใช่กระแสหลักเป็นไปได้น้อยอยู่แล้ว ดังนั้นการได้รู้จักหนังสักเรื่อง สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือเราคาดหวังไว้ว่าจะได้ดูมัน แต่ถ้าสุดท้ายมันไม่มีโอกาสได้ดูจริงๆ ก็คงไม่เป็นไร ก็ทำความรู้จักกันไว้ก่อน เราเริ่มด้วยวิธีคิดแบบนี้

          แต่เชื่อไหมว่าในวงการหนังไทย บ่อยครั้งที่หนัง ดูไม่มีโอกาสจะเข้ามาฉายในไทยเลย แต่พอเรามีการพูดถึง ทำให้คนไทยได้รู้จัก พอเขาสนใจกันมากๆ สุดท้ายก็มีการนำเข้ามาฉายในประเทศได้ในที่สุด มันเกิดขึ้นจริงๆ นะ เหตุการณ์อะไรแบบนี้

          ธิดา: สมัยก่อนตอนที่อ่านหนังสือหนังทางเลือก มันก็เต็มไปด้วยหนังชนิดที่ว่าชาตินี้ก็คงไม่มีโอกาสได้ดู คือรู้แหละว่าอย่างไรก็คงไม่ได้ดู แต่ก็ยังชอบอ่านเนื้อหาพวกนี้อยู่ เป้าหมายของเราไม่ได้รู้สึกว่าต้องได้ดู ขอเพียงแค่เราได้เห็น ได้รู้จัก ได้รู้ว่ามันมีความคิดแบบนี้อยู่ในโลก เพียงเท่านี้ก็เป็นความรู้สึกเปิดหูเปิดตาแล้ว จนถึงช่วงทำ Bioscope

          แม้โอกาสในการเข้าถึงหนังจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามยุคสมัย แต่สุดท้ายเราก็ยังเชื่อว่าการทำเนื้อหาที่มันสร้างแรงบันดาลใจและให้ความรู้กับคนอ่านมันเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

          มีเรื่องหนึ่งที่อยากเล่าคือ Bioscope จะมีอยู่คอลัมน์หนึ่งชื่อ World Movie Map เป็นเนื้อหาที่เล่าว่าในช่วงที่ผ่านมามีหนังอะไรน่าสนใจผุดขึ้นมาบนโลก เราจำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นผู้กำกับหนัง เขาบอกว่าไปอ่านเจอย่อหน้าเดียวในคอลัมน์นั้น แล้วทำให้เขามีแรงบันดาลใจมากว่าจะทำหนังในอีกแบบที่ต่างออกไป

          ดังนั้นเราคิดว่าการอ่านบางอย่างจนทำให้รู้สึกว่าได้ค้นพบบางอย่างมันสำคัญในตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายว่า ถ้าหากฉันไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ การอ่านเนื้อหาของหนังจะไม่มีความหมายเลย

Bioscope นิตยสารที่เชื่อว่าหนังคือประตูสู่ความรู้ ของผู้ดูและผู้อ่านทุกคน

ปลายทางของเนื้อหาใน Bioscope  ไม่ได้มีแค่การไปดูหนังเรื่องที่เขียนถึง

          ธิดา: ใช่ Bioscope จะใช้วิธีคิดแบบนี้ คือไม่ได้มีเป้าหมายว่าเหล่านี้ คือสิ่งที่คุณต้องหาดูเท่านั้น แต่บางทีได้รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งบางครั้งมันสำคัญกว่าการไปดูแล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไรกลับมา ไม่พาไปสู่ความรู้สึก ความคิด หรือมุมมองใหม่ๆ ซึ่งก็มีเหมือนกัน 

แล้วหนังในกระแส Bioscope จะเขียนถึงอย่างไร

          สุภาพ: หากเทียบกับหนังนอกกระแสคงแบ่งสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง เหตุผลที่ต้องทำหนังในกระแส ก็เพราะต้องทำให้รู้ว่าโลกกำลังไปทางไหน และหนังเรื่องไหนที่กำลังจะเข้ามาประเทศไทย เราก็ต้องบอกเล่าในแง่หนึ่งเพื่อเป็นการบอกว่าเราคือนิตยสาร เรามีวาระ มีการอัปเดตเนื้อหาในช่วงเวลานั้น

หนังในกระแสของ Bioscope จะแตกต่างกับหนังในกระแสของนิตยสารหัวอื่นอย่างไร

          สุภาพ: ส่วนใหญ่มันจะเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่าเราคิดกับหนังไว้อย่างไร สำหรับเราไม่ว่าจะหนังในกระแสหรือหนังนอกกระแส เราคิดว่ามันเป็นเหมือนประตูที่จะพาเราไปเจอโลกอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาแบบไหน มันต้องทำหน้าที่ใช้หนังเป็นประตูไปหาชุดความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเราจะพยายามดูว่าหนังในกระแสมันมีแง่มุมตรงไหนหลังประตูที่น่าหยิบยกมาเล่าบ้าง

          ธิดา: สำหรับนิตยสารหนังอื่นๆ เขาอาจจะทำเนื้อหาสำหรับหนังที่จะเข้าฉายสักเรื่อง ด้วยข้อมูลประเภทเบื้องหลัง วิธีการทำ หรือโปรดักชันต่างๆ ภายในเรื่องนั้น

          สำหรับ Bioscope เราพยายามหาวิธีเล่าและนำเสนอแบบอื่น ซึ่งเวลาประชุมกอง ก็พยายามชวนทุกคนคิดว่าหนังเรื่องที่เราสนใจ เราสนใจมันเพราะอะไร อยากรู้อะไรเกี่ยวกับมัน หรือมีความสลักสำคัญอย่างไร ที่ต้องทำให้คนรู้จัก แล้วเราจะเชื่อมโยงหนังกับคนอ่านอย่างไร

          ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง Top Gun (1986) เราก็พยายามจะเล่าว่าสิ่งที่ ทอม ครูซ นักแสดงหลักในเรื่องพยายามพูดอยู่ตลอดในหนัง คือการที่คนรุ่นหนึ่งที่พยายามมีตัวตนในอีกยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งไม่มีพื้นที่ให้สำหรับเขาแล้ว จากนั้นเราก็พยายามหาข้อมูลมาอธิบายต่อว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ผู้กำกับคิดอะไรอยู่ ทำไมจึงนำเสนอสิ่งนี้ หรือมันมีหนังเรื่องไหนอีกที่พูดในประเด็นที่คล้ายคลึงกัน หรือถ้ามันสามารถเชื่อมโยงไปสู่สังคมกว้างกว่านี้ เราจะนำเสนอความแตกต่างของคนแต่ละยุคสมัยในประเทศไทยได้อย่างไร คือเราพยายามตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้คิดว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจ มากกว่าจะเล่ากระบวนการ เบื้องหลังทั้งหลาย

ไม่ใช่คอหนัง ดูหนังน้อย ไม่มีความรู้เชิงลึกของหนังหรือผู้กำกับ จะอ่าน Bioscope รู้เรื่องไหม

          ธิดา: คนที่ไม่เคยอ่าน Bioscope หากมองจากภายนอกจะรู้สึกว่าคือนิตยสารเหมาะกับคนรักหนังเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเรามีคนอ่านที่ทำอาชีพอื่นๆ เยอะมาก ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าความที่เราพยายามเชื่อมหนังไปกับเรื่องอื่นๆ มันทำให้คนเขาต่อกับเรื่องราวติด แม้จะไม่ได้ดูหนังกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่พูดถึงในหนังสือเลย จึงทำให้ Bioscope มีคนอ่านที่อยู่ในวงการแปลกๆ ค่อนข้างเยอะ

Bioscope มีวิธีในการเลือกธีมแต่ละเล่มอย่างไร

          สุภาพ: เราก็ไม่ถึงขนาดจะมีธีมทุกเล่มนะ มีเป็นบางเล่ม จำได้ว่าในช่วงแรกเคยพยายามจะมีธีมเพื่อมีอะไรให้เล่นไปตลอด แต่พอทำไปแล้วกลับพบว่ามันกลายเป็นการสร้างเงื่อนไข สร้างข้อจำกัดให้กับตัวเองมากกว่า

          สมมติมีเหตุการณ์ที่เรารู้สึกว่าอยากจะพูดถึงมัน แต่พอมันไม่ตรงธีม มันก็พูดไม่ได้ จะรอไว้เขียนในธีมเล่มหน้า มันก็ไม่ทันแล้ว ดังนั้นธีมของเล่มจึงกลายเป็นเงื่อนไขที่จำกัดการนำเสนอของเรา โดยหากจะมีจริงๆ ต้องเป็นเรื่องและประเด็นที่เยอะและแข็งแรงพอ เราถึงจะทำเป็นธีมเล่ม แต่ท้ายที่สุดแล้วเราอยากจะพูดถึงเนื้อหาให้หลากหลายในเล่มมากกว่า

          ธิดา: เนื่องจากทุกคอลัมน์ใน Bioscope เราอยากให้มีจุดเด่นและยืนอยู่ได้ในตัวมันเอง เราจึงพยายามไม่กำหนดธีมเพื่อไปผูกกับคอลัมน์ ซึ่งเราชอบวิธีคิดแบบนี้มากกว่า

          มีคอลัมน์หนึ่งที่เราชอบมากๆ คือ คอลัมน์ที่พูดถึงประวัติผู้กำกับคลาสสิก ที่ใน Bioscope จะไม่มาเล่าด้วยท่าทีหยิบเขาขึ้นหิ้ง ยกบูชาเหนือหัวอะไรแบบนั้น แต่เราจะย่อประวัติมาให้สั้น แล้ววาดเป็นการ์ตูน วาดเป็นแอนิเมชันหลายๆ ช่อง ให้จบใน 2 หน้า มันก็กลายเป็นคอลัมน์ที่ง่าย สนุก และโดดเด่น มีเอกลักษณ์ของตัวมันเอง

ส่วนใหญ่แล้วคนดูหนังเขาคาดหวังอะไรจาก Bioscope

          สุภาพ: เราคงไม่กล้าไปฟันธงขนาดนั้น แต่หากพูดในบทบาทของคนทำนิตยสารที่มีตำแหน่งบรรณาธิการ เราก็รู้สึกว่าคนอ่านของเราจะสื่อสารกลับมาประมาณว่า คัดมาให้ฉันอ่านสิ เพราะเขาเชื่อใจเรา เขาก็เลยเลือกอ่านหนังสือของเรา

          ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำเนื้อหาให้ทันสถานการณ์ หรือเลือกเล่าโปรแกรมหนังใหญ่ที่สุดหากมันไม่มีประเด็นที่จะพูด

          อาจด้วยความที่ว่าเราเติบโตมาทำเนื้อหาที่ไม่ได้เป็นกระแสหลัก ฉะนั้นนอกจากสิ่งที่เป็นกระแสหลักที่เขาพูดกันไปหมดแล้ว เราจะพูดอย่างอื่นได้บ้างไหม ทำให้ Bioscope เสิร์ฟเนื้อหาให้คนอ่านด้วยโจทย์นี้มาตลอด

Bioscope นิตยสารที่เชื่อว่าหนังคือประตูสู่ความรู้ ของผู้ดูและผู้อ่านทุกคน

หากพูดถึงการเขียนเกี่ยวกับหนัง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ บทวิจารณ์หรือรีวิวหนัง ซึ่งปัจจุบันยังดำรงอยู่และได้รับความนิยมอย่างมาก คุณคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

          ธิดา: บทวิจารณ์หนัง สำหรับเรามันเกิดขึ้นมาเพื่อประเมินค่าของหนังแต่ละเรื่อง แต่มันก็จะมีการตั้งคำถามกับเรื่องนี้ต่อว่า แล้วบทวิจารณ์ที่ดีคืออะไร ซึ่งแต่ละคนก็จะมีนิยามที่ต่างกันออกไป

          สำหรับเรามันคือวิธีการประเมินค่างานศิลปะแบบหนึ่ง หมายความว่า คนเขียนก็มีชุดความคิดในการอธิบายมุมมองของเขาที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งจะสมบูรณ์แบบหากชุดความคิดนั้นสามารถข้ามพ้นจากความรู้สึกส่วนตัว ด้วยการอาศัยศาสตร์ของหนังเข้าไปจับต้อง เช่น ภาษาของหนัง การใช้งานสร้าง ใช้สี งานตัดต่อ การถ่ายภาพ หรือชุดความคิดอื่นๆ ที่ใช้ในหนัง เช่น ชุดความคิดเรื่องสังคมวิทยา ชุดความคิดเรื่องสตรีนิยม

แล้วเหตุใดจึงไม่มีเนื้อหาประเภทบทวิจารณ์หนังปรากฏอยู่ใน Bioscope

          ธิดา: หากมีก็คงมีอยู่ 2-3 คอลัมน์ที่เป็นการวิเคราะห์หนัง ด้วยวิธีการต่างๆ แล้วแต่คนเขียน เช่น การวิเคราะห์หนังในเชิงสัญลักษณ์ วิเคราะห์หนังในเชิงจิตวิทยาอะไรแบบนี้มากกว่า เราไม่มีบทวิจารณ์ประเภทให้ดาว ให้คะแนน หรือไม่แม้แต่บอกว่าหนังเรื่องนี้ดี ไม่ดีอย่างไรในมุมมองคนเขียน

          เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเราอยากเป็นคนที่สร้างสภาพแวดล้อม สร้างบรรยากาศของการวิจารณ์ขึ้นมากกว่า ดังนั้นตำแหน่งของ Bioscope ในประเด็นนี้คือเราอยากผลิตเนื้อหา องค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับหนังเพื่อให้ผู้อ่านนำไปต่อยอดเป็นงานวิจารณ์ สร้างให้วัฒนธรรมการวิจารณ์มันเกิดขึ้นในสังคม พอเป็นโจทย์นี้ เราเลยพยายามทำคอลัมน์เชิงความรู้มากกว่า พยายามเน้นเรื่องความคิดของคนทำ ความคิดที่อยู่เบื้องหลังงานนั้น ส่วนจะถูกประเมินค่าอย่างไร เป็นเรื่องของคนดูและคนอ่าน เราไม่ได้ไปทำหน้าที่ตรงนั้น

          อีกอย่างคือมันเป็นความเชื่อส่วนตัวของเราด้วย เราเชื่อว่าหนังเรื่องหนึ่งไม่ควรสุดทางเพียงแค่การตัดสินว่าดีหรือไม่ดีอย่างไรเสมอไป บางทีหนังมันอาจทำหน้าที่อื่น เช่น ในทางศิลปะอาจไม่ดีเท่าไร แต่มันโคตรกล้าหาญเลยที่พูดประเด็นสังคมเรื่องนี้ออกมา ดังนั้นหนังเรื่องนี้ควรจะมีคุณค่าที่จะได้รับการพูดถึง มากกว่าจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่ค่อยดี ไม่ต้องดูก็ได้

          สุภาพ: มันมีบางกรณีที่เราประเมินในเชิงคุณค่าทางภาพยนตร์ มันก็เป็นหนังที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 20-30 ปี ทุกวันนี้มานั่งคุยกัน เราจะรู้สึกว่าหนังเรื่องนั้นมันก็มีความน่าสนใจของมัน วันก่อนยังคุยเรื่อง The Accused (1988) ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันดีขนาดนั้น แต่ว่าพอมองทุกวันนี้แล้วเห็นหนังเรื่องนี้พูดเรื่อง consent เราก็รู้สึกว่ามันล้ำมาก ทั้งที่หนังมันพูดเรื่องนี้เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว แต่บ้านเราเพิ่งมาพูดเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

Bioscope นิตยสารที่เชื่อว่าหนังคือประตูสู่ความรู้ ของผู้ดูและผู้อ่านทุกคน

หนังทุกเรื่องจะสนุกหรือไม่สนุก จะดีหรือไม่ดี แต่เราเชื่อว่ามันจะมีคุณค่าบางอย่างอยู่เสมอ

          สุภาพ: มีผู้กำกับคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่า สำหรับเขาสิ่งที่ทำให้หนังน่าสนใจคือเรื่องราวที่อยู่นอกจากกรอบที่เราได้ดูกัน ซึ่งแม่งโคตรจริง บางทีนอกจากเราจะสนุกในกรอบแล้ว ข้างนอกจอที่มันยังมีอะไรตั้งเยอะแยะที่เกี่ยวข้อง แล้วพาเราไปไหนต่อไหนได้อีก

ในวันที่เทคโนโลยี โซเชียลมีเดียเข้ามา Bioscope มีการปรับตัวอย่างไร

          ธิดา: สำหรับเทคโนโลยีคงไม่ได้กระทบขนาดนั้น เพราะในช่วงหนึ่งการหาหนังนอกกระแสดูก็ยังเป็นเรื่องยาก หนังที่คนได้ดูก็ยังเป็นกระแสหลัก หน้าที่ในการนำเสนอหนังให้คนรู้จักก็ยังคงเดิมอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย สำหรับเราคือต้องปรับตัวเยอะกว่า เราว่าสิ่งนี้เปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านของคน จนทำให้เนื้อหาใน Bioscope ดูไม่ตรงกับความต้องการของคนที่เปลี่ยนไป

          อย่างแรกคือ นิตยสารมันอัปเดตไม่ทันแล้วด้วยข้อจำกัดด้านการผลิต อีกอย่างคือพฤติกรรมการอ่านเป็นบทความยาวๆ หลายหน้า มันลดลงแล้ว ซึ่ง Bioscope ได้รับผลกระทบตรงนี้ค่อนข้างมาก โดยช่วงท้ายก็ต้องเปลี่ยนวิธีการของการทำหนังสือไป เช่น เริ่มต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะขายใคร เพื่อหวังว่าจะมีกลุ่มคนที่ยังอ่านเนื้อหาที่เป็นบทความยาวๆ แบบนี้อยู่

          คนทุกวันนี้เองก็ไม่อยากทำเนื้อหาแบบ Bioscope ที่ยาวๆ เยอะๆ กันแล้ว ด้วยความเร็วแน่นอนว่าอย่างไรก็ทำไม่ทัน ที่สำคัญพอต้องมาย่อยลงเว็บไซต์ก็ไม่ค่อยมีคนอ่าน มันเลยทำให้กรอบความสนใจของคนอ่านที่เป็น core idea ของเรามันหายไป

เนื้อหาหนังที่สั้น สะดวก รวดเร็ว คุณมองว่ามันจะส่งผลต่อนักอ่านในระยะยาวอย่างไรบ้าง

          ธิดา: สำหรับเราคือน่าเสียดาย เพราะว่าสิ่งที่เราพยายามทำกับ Bioscope คือเราจะไม่ตัดสินประเมินค่าในแบบสำเร็จรูป เพื่อให้คนเห็นว่าหนังแต่ละเรื่องมันมีหลายมุมให้คุณค้นพบอยู่ ซึ่งสิ่งนี้มันไม่ปรากฏอยู่ในโซเชียลมีเดีย มันไม่ได้มีใครสนใจจะทำงานตรงนี้แล้ว ดังนั้นเวลาหนังเรื่องหนึ่งเข้า ก็น่าสนใจเหมือนกันว่าจะมีคนรับรู้ สนใจองค์ความรู้ บริบท เรื่องราวนอกกรอบของหนังเรื่องนั้นๆ หรือไม่ ด้วยวิถีชีวิตและพฤติกรรมการอ่านแบบทุกวันนี้ ส่วนหนังเองจะกระทบแน่นอน เพราะจะถูกตัดสินและประเมินคุณค่าอย่างรวดเร็ว

จนถึงวันนี้ที่นิตยสาร Bioscope ปิดตัวลงไปแล้ว มองว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นิตยสารเล่มนี้ได้วางรากฐานและส่งผลต่อนักอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับหนังอย่างไร

          ธิดา: มันก็คงจะควบคู่กันไปตลอดระหว่างคนอ่านกับคนผลิตเนื้อหา ทุกวันนี้คนชอบอ่านอะไรเร็วๆ คนผลิตเนื้อหาก็ต้องปรับตัวทำเนื้อหาที่เป็นจานด่วน ย่อยง่าย ก่อนนำมาเสิร์ฟ หากทิศทางของวงการนักอ่านยังเป็นแบบนี้ มันก็จะวนเวียนด้วยกระแสการอ่านแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

Bioscope นิตยสารที่เชื่อว่าหนังคือประตูสู่ความรู้ ของผู้ดูและผู้อ่านทุกคน


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก