ห้องสมุดคือ ‘บ้าน’ ความรู้คือ ‘สิทธิ’ ภารกิจสร้างนวัตกรรมสังคมของห้องสมุดในบาร์เซโลนา

655 views
9 mins
December 13, 2023

          ห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซประจำเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ได้รับรางวัลห้องสมุดประชาชนแห่งปี 2023 ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบกับห้องสมุดอื่นๆ ที่เข้ารอบสุดท้าย จะเห็นว่าที่นี่ไม่ได้มีดีไซน์หวือหวา หากเน้นความสะดวกในการใช้งาน ดูอบอุ่น และเข้าถึงง่ายเสียด้วยซ้ำ

          เนอุส กาสเตลยาโน (Neus Castellano) ผู้อำนวยการห้องสมุดกล่าวไว้ว่า “เราไม่เคยคิดเลยว่าจะชนะรางวัล เพราะห้องสมุดสเปนไม่เคยติดโผมาก่อน การได้รับการยอมรับครั้งนี้มาจากการทุ่มเททำงานของเมือง เพราะห้องสมุดเป็นส่วนสำคัญของเมืองบาร์เซโลนาเสมอมา”

          ห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ มีจุดเด่นคือตั้งอยู่ในเขตที่มีผู้ใช้แรงงานเป็นประชากรส่วนใหญ่ และมีหนังสือวรรณกรรมลาตินอเมริการาว 40,000 เล่ม เช่นกันกับห้องสมุดอีกหลายแห่งในเมืองบาร์เซโลนา ที่มีจุดเด่นและคาแรกเตอร์แตกต่างกันไป แต่มีมาตรฐานแข็งแรงเหมือนกันทุกแห่ง

          “เราได้รับรางวัลนี้เพราะเราเลือกโมเดลที่ทำให้ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่ต่อขยายจากบ้าน มีเก้าอี้นวมและพื้นที่ที่อ้าแขนให้ผู้คนที่มาใช้งานรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน” กาสเตลยาโนเอ่ย

          และไม่ใช่แค่ห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซเพียงแห่งเดียว แต่เครือข่ายห้องสมุดบาร์เซโลนา (Biblioteques de Barcelona) ที่มีห้องสมุดในเครือถึง 40 แห่ง คือองค์กรที่มีเป้าหมายในการสร้างวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนให้กับห้องสมุดในเครืออย่างชัดเจน

          ‘ความเป็นชุมชน’ ที่ว่า คือการมอบภารกิจให้ห้องสมุดเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ห้องสมุดไม่สามารถให้บริการยืมคืนหนังสือ หรือบริการพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องช่วยลดช่องว่างทางความรู้ให้กับชุมชน มีสิทธิมีเสียงในการปรับเปลี่ยนนโยบายการอ่าน และสร้างนิยามใหม่ให้กับห้องสมุด

          เป็นบ้าน เป็นห้องเรียน เป็นพื้นที่หย่อนใจ เป็นพื้นที่ให้ความรู้ พูดง่ายๆ คือ ต้องทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น เข้าถึงคนที่มีพื้นเพทางวัฒนธรรมหลากหลาย และยกระดับคุณภาพการบริการของห้องสมุดให้เห็นในทุกๆ ปี

          ดังนั้น การได้รับรางวัลห้องสมุดประชาชนแห่งปี จึงไม่ใช่เรื่องราวของห้องสมุดแค่เพียงแห่งเดียว แต่เป็น ‘เครือข่าย’ ที่ทำงานวิจัยกันอย่างเข้มข้น และทำงานกันเป็นทีมเพื่อให้ห้องสมุดประชาชนเป็นตัวแปรสำคัญในการลดความรู้สึกแปลกแยกทางสังคม พร้อมช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีความท้าทายทางสังคมเกิดขึ้น และสร้างกระบวนการทางประชาธิปไตยให้กับทุกคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
ภายในห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
Photo: Jesús Granada

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
Photo: Biblioteques de Barcelona/ Eva Guillamet

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
อาคารด้านนอกของห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
Photo: Jesús Granada

ถ้าห้องสมุดอยู่ในนโยบาย อะไรๆ ก็ง่ายขึ้น

          รายงานความท้าทายของเครือข่ายห้องสมุดบาร์เซโลนาเขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า บาร์เซโลนาไม่ได้มีแผนพัฒนาห้องสมุดที่ทรงประสิทธิภาพจนกระทั่งปี 1998 และเพิ่งดำเนินงานได้ครบถ้วนเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา สาเหตุหลักเป็นเพราะก่อนหน้านี้การสร้างห้องสมุดชุมชนที่ดียังไม่ได้เป็นวาระหลักของรัฐบาล และหน่วยงานทางวัฒนธรรมที่เชื่อมั่นในวิถีดั้งเดิมของห้องสมุดกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต (สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำก็ถือเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลหลัก) การขับเคลื่อนห้องสมุดประชาชนจึงเป็นไปอย่างระมัดระวัง

          เมืองบาร์เซโลนามีประชากรกว่า 2 ล้านคน แต่เคยมีห้องสมุดประชาชนเพียง 10 แห่ง จุดเริ่มต้นในการพัฒนาคือ ‘รัฐธรรมนูญ’ ปี 1999 ที่ส่งเสริมการอ่านและการพัฒนาห้องสมุด เมื่อกลายมาเป็นวาระสำคัญทางการเมือง การบริหารจัดการเชิงนโยบายก็ทำได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งนโยบายยังครอบคลุมการทำงานของโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งสำนักพิมพ์ต่างๆ ในบาร์เซโลนาอีกด้วย 

          เมื่อสภาเทศบาลเมืองบาร์เซโลนา (Barcelona City Council) ภายใต้หน่วยงานทางวัฒนธรรมของเมืองเริ่มเข้ามาจัดการในปี 2001 จึงเริ่มส่งผู้เชี่ยวชาญด้านบรรณารักษ์และการเก็บข้อมูลจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา (Official College of Librarians and Documentalists of Catalonia) หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดประชาชนลงประจำพื้นที่ ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่ามาตรฐานควรจะมีอะไรบ้าง โครงสร้างของห้องสมุดประชาชนในบาร์เซโลนาจึงเริ่มสดใสขึ้นเพราะมีมาตรฐานที่ปรับใช้อย่างเท่าเทียมทั่วถึง ราวปี 2010 มีห้องสมุดในบาร์เซโลนาถึง 36 แห่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ 348 คน

          แผนฉบับใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของวาระทางการเมืองอย่างชัดเจน ปลดล็อกงบประมาณถึง 103 ล้านยูโรเพื่อปรับมาตรฐานห้องสมุดตามแนวทางของสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA)  และองค์การยูเนสโก  (IFLA-UNESCO Guidelines for the development of the service of public libraries) จนห้องสมุดมีข้อมูลมากถึง 1,900,000 ชุดตามเกณฑ์ รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่มัลติมีเดีย เช่น มีอินเทอร์เน็ตบริการ มีการสอนทักษะด้านไอทีให้กับห้องสมุดอย่างน้อยหนึ่งแห่งในพื้นที่ หรือโปรแกรมการสนับสนุนด้านวัฒนธรรมที่เน้นสองกลุ่มหลัก นั่นคือครอบครัวและเด็ก และกลุ่มเด็กโตและผู้ใหญ่

          ในปี 2021 สหพันธ์ห้องสมุดแห่งบาร์เซโลนาเข้าบริหารจัดการโปรแกรมการอ่าน (Reading Action Programme) ของเมืองร่วมกับสถาบันทางวัฒนธรรมแห่งบาร์เซโลนา (Institut de cultura de Barcelona) เพื่อสนับสนุนการอ่านในโรงเรียนรอบเมือง พื้นที่ต่างๆ เช่น บ้านพักคนชรา ศูนย์กีฬา สวนสาธารณะ ตลาด ฯลฯ รวมถึงโปรแกรมที่สนับสนุนครอบครัวและเด็กในเนิร์สเซอรีด้วย 

          เครือข่ายห้องสมุดบาร์เซโลนาทำงานวิจัยด้านประชากรอย่างเข้มข้น เพราะเป้าหมายตามมาสเตอร์แพลน ปี 2030 ระบุไว้ว่าต้อง “สนับสนุนให้ห้องสมุดในบาร์เซโลนาเป็นบริการทางวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นที่จะบ่มเพาะการอ่านและความรู้ ในขณะเดียวกันก็การันตีการเข้าถึงข้อมูลและการใช้งานทางเทคโนโลยี ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนและสร้างความยึดเหนี่ยวทางสังคมและโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับการพัฒนาของปัจเจก ผ่านการมีส่วนร่วมและกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์”

          จึงเห็นได้ชัดเจนว่าห้องสมุดประชาชนถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคุณภาพความรู้ สนองตอบเป้าหมายทางการเมืองของรัฐบาล และมีส่วนในการช่วยสร้างนโยบายด้านวัฒนธรรมและความรู้ที่ดี และขยายโมเดลนี้ไปสู่หน่วยอื่นๆ โดยยังยึดหลักความเป็นชุมชนไว้เช่นเดิม

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
Photo: Paola de Grenet, CC BY-NC-ND 4.0, via Biblioteques de Barcelona
ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
Photo: Paola de Grenet, CC BY-NC-ND 4.0, via Biblioteques de Barcelona

‘พื้นที่ทางวัฒนธรรม’ คือห้องสมุดต้องเป็นทุกอย่างให้ประชาชน

          ยุคนี้สมัยนี้ หลักการในการสร้างสถาปัตยกรรมและอาคารต่างๆ ต้องโอบรับหลักการความยั่งยืนและผังเมืองที่เอื้อให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตดีๆ ในปี 2014 ห้องสมุด 4 แห่งในเครือข่าย (Francesc Candel, Collserola – Josep Miracle, Jaume Fuster และ Horta – Can Mariner) ได้รับประกาศนียบัตรด้านสิ่งแวดล้อม และในปี 2018 ก็มีห้องสมุดในเมืองที่ได้รับรางวัลเพิ่มเติม เช่นเดียวกับห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซที่มีจุดเด่นด้านดีไซน์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน

          แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือห้องสมุดต้องช่วยให้พลเมืองเดินทางไปมาสะดวก และช่วยให้พื้นที่ตรงนั้นมีความยึดเหนี่ยวทางสังคม (Social Cohesion) เครือข่ายเริ่มทำวิจัยว่า ระยะเดินเท้าจากบ้านไปยังห้องสมุดของคนในชุมชนควรใช้เวลาราวๆ 20 นาทีในการสัญจร เพราะจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของคนที่เข้ามาใช้งานสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ เช่น ห้องสมุด Gòtic – Andreu Nin สร้างโฟลว์ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มานั่งเล่นหน้าห้องสมุดตั้งแต่สร้างเสร็จได้ไม่นาน หรือห้องสมุด Francesc Candel ที่ชุบชีวิตให้ย่านอุตสาหกรรมกลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยแทน

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
ห้องสมุด Francesc Candel
Photo: Biblioteques de Barcelona
ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
ห้องสมุด Collserola – Josep Miracle
Photo: Biblioteques de Barcelona
ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
ห้องสมุด Jaume Fuster
Photo: Vicente Zambrano González, CC BY-NC-ND 4.0, via Biblioteques de Barcelona
ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
ห้องสมุด Horta – Can Mariner
Photo: Biblioteques de Barcelona

          แน่นอนว่าพื้นที่ต้องเข้าถึงได้และมีสถาปัตยกรรมเด่น ดังที่เราเห็นว่าห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซเน้นโครงสร้างไม้และสร้างเลียนแบบหนังสือที่เปิดออกวางซ้อนพร้อมหน้าที่ถูกพับ ด้านในเน้นความสะดวกสบาย อบอุ่น และกว้างขวาง ห้องสมุดสาขาอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

          และเพราะห้องสมุดต้องทำหน้าที่เป็น ‘พื้นที่ทางวัฒนธรรม’ ตามแผนแม่บทซึ่งกำหนดให้สิทธิทางวัฒนธรรมเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน เครือข่ายห้องสมุดบาร์เซโลนาจึงเดินหน้าปรับปรุงการบริการ และกิจกรรมทางการศึกษาและวัฒนธรรมให้สอดรับกับสังคมยุคใหม่ ที่ประชากรมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความหลากหลายนั้น คนจำนวนหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแยกขาดจากสังคมด้วยเช่นกัน จึงมีการทำวิจัยวิถีชีวิตของคนในเมืองอย่างละเอียด เพื่อออกแบบกิจกรรมที่เอื้อต่อการ ‘เข้าถึงวัฒนธรรม’ อย่างแท้จริง

          ปี 2009 ห้องสมุดในเครือข่ายจำนวนมากสร้างแนวร่วม “In summer, Barcelona takes you in” ซึ่งเป็นโปรแกรมของเทศบาลที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสภาพแวดล้อมและสอนภาษากาตาลันพื้นฐานให้กับกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนที่เพิ่งเดินทางเข้าเมืองมาในช่วงหน้าร้อน 

          เยาวชนกลุ่มนี้จะมาพร้อมกับสมาชิกครอบครัวที่ก่อนหน้านี้ต้องอาศัยอยู่กันคนละที่ เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้อพยพ พวกเขาจึงกำลังอยู่ในขั้นตอนของการปรับตัวให้เข้ากับเมืองให้ได้ 

          ห้องสมุดจึงถือว่านี่เป็นพันธกิจหลักในแผนงานวัฒนธรรมที่จะช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม จึงต้องดูแลผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ใหม่ผ่านบริการทางการอ่านและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ในเขตของตนเองอยู่เสมอ เช่น การสร้างห้องตอบสนองความรู้สึก (Sensory Space) ที่มีเซสชันดูแลผู้ที่มีภาวะทางการได้ยิน ฟื้นฟูทักษะการอ่านให้กับพวกเขา และทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าการอ่านหนังสือน่าสนุกสนานตื่นเต้น (มีแค่ห้องสมุดกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซและ Bon Pastor) รวมไปถึงการจัดสัปดาห์อ่านบทกวี และกิจกรรมศิลปะร้อยแปดพันเก้าร่วมกับพิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ต่างๆ

          เครือข่ายของห้องสมุดยังทำงานกับโปรเจกต์ Bibliolab ที่สภาเทศบาลเมืองบาร์เซโลนาเป็นแกนหลัก ซึ่งถือว่าเป็นโปรเจกต์และกิจกรรมเชิงนวัตกรรมเพื่อพลเมืองที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีและความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น การเกษตร โภชนาการ การทำอาหาร ศิลปะ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอ่านการเขียน โดยมีห้องสมุดเป็นกำลังหลัก หรือ ‘Work in the Neighborhoods’ โปรเจกต์ที่สนับสนุนคอร์สการหางานให้คนในชุมชนตลอดทั้งปีของห้องสมุด La Fraternitat สนับสนุนการจ้างงานและการพัฒนาเชิงท้องถิ่น

          ห้องสมุดบางแห่งทำงานกับ Spotify เพื่อจัดทำเพลย์ลิสต์เพลงท้องถิ่นและสนับสนุนให้ศิลปินท้องถิ่นเป็นที่รู้จักมากขึ้น กิจกรรมและเทศกาลทางดนตรีน่าสนุกและมีความหลากหลาย เช่น การจัดคอลเลกชันเพลงในตำนานที่เป็นสมบัติของเมืองบาร์เซโลนาตั้งแต่ปี 1980 อนุรักษ์ตลับเทปเพลงกว่า 3,500 ชุด จัดเก็บแผ่นเสียงที่หาไม่ได้แล้วกว่า 300 แผ่น หรือ Music Spy Club กิจกรรมน่าตื่นเต้นที่ชวนเหล่านักดนตรี นักวิจารณ์ และคนมันๆ ในวงการศิลปะมานั่งวิจารณ์เพลงที่เพิ่งออกใหม่ 10 เพลงเพื่อปลุกความสงสัยใคร่รู้และสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับศิลปะการดนตรี

          ช่วงวิกฤตโควิด-19 ในปี 2020 เหล่าคลังข้อมูลดิจิทัลที่พร้อมให้บริการได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในยามที่คนมาห้องสมุดไม่ได้ มีผู้ใช้งานมากกว่า 267% เมื่อเทียบกับข้อมูลในปี 2019

          อีกสถิติที่น่าสนใจคือ ผู้ที่ถือบัตรสมาชิกห้องสมุดกว่า 29.3% เป็นผู้ที่เกิดในประเทศอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าห้องสมุดในแต่ละพื้นที่สามารถมอบบริการที่ถูกใจให้กับประชากรชาวต่างชาติได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นพื้นที่ปลอดภัยสบายใจ มีอินเทอร์เน็ตใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้ที่อยู่ต่างแดน ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นมิตรกับชุมชนนั้นๆ มากขึ้นกว่าเดิม

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
ห้องสมุด Vapor Vell คือหนึ่งในห้องสมุดที่มีการอนุรักษ์ตลับเทปและแผ่นเสียง
Photo: Biblioteca Vapor Vell
ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
การสอนการใช้งานเทคโนโลยีให้กับผู้สูงอายุ
Photo: Biblioteca Montserrat Abelló
ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
เด็กๆ กับการฝึกทำ Stop motion
Photo: Biblioteca Vapor Vell

เดินหน้าเพื่อ ‘สิทธิทางวัฒนธรรม’

          เป้าหมายของห้องสมุดในบาร์เซโลนาคือเปิดกว้างและรับใช้คนในสังคมทุกกลุ่ม เครือข่ายห้องสมุดบาร์เซโลนาร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมและเทศบาลเมืองจัดทำ eBiblio ห้องสมุดดิจิทัลแห่งแคว้นกาตาลุนยาที่ให้บริการทั้งหนังสือเสียงและโรงภาพยนตร์ แถมยังมีคลังดนตรีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา ห้องสมุดแทบจะทุกแห่งมีชมรมการอ่านสำหรับ ‘ทุกเพศทุกวัย’ มีกิจกรรมการอ่านสำหรับแม่และเด็กจำนวนมากเพราะเป็นเป้าหมายหลักของเครือข่าย มีมุมหนังสือและพื้นที่ให้เล่นพร้อมกับหนังสือที่เหมาะกับเด็กในช่วงวัยต่างๆ พร้อมสรรพ ผู้ที่มีบัตรห้องสมุดจะใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ถึง 32 ครั้งต่อเดือน และห้องสมุดบางแห่ง อย่างห้องสมุด Sant Gervasi – Joan Maragall และ ห้องสมุด Montserrat Abelló ก็มีบริการห้องมัลติมีเดียแบบเคลื่อนที่ไว้บริการ

          ส่วนที่สำคัญคือ มีห้องไอที-มัลติมีเดียไว้จัดการอบรม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับทักษะความเข้าใจเทคโนโลยี เพราะทักษะนี้อาจทำให้ผู้สูงอายุหรือคนว่างงานรู้สึกว่าตัวเองถูกแยกขาด ในขณะที่เด็กๆ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะข้อมูลที่น่าเชื่อถือออกจากข่าวปลอมที่เกลื่อนกลาดในโซเชียลมีเดีย ห้องสมุดจึงต้องช่วยพลเมืองติดอาวุธทางปัญญาผ่านการจัดอบรมและหลักสูตร เพราะพลเมืองคือตัวแปรสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้อย่างยั่งยืนด้วยตัวเองและสังคมรอบข้าง 

          กว่าห้องสมุดต่างๆ ในเมืองบาร์เซโลนาจะเดินมาถึงจุดนี้ ‘เจ้าหน้าที่’ ทุกฝ่ายก็ถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันเช่นกัน เทศบาลเมืองและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องหมั่นจัดสัมมนาให้กับเจ้าหน้าที่ ครู และองค์กรอื่นๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดหรือโปรแกรมใหม่ๆ จากประเทศต่างๆ 

          เมื่อห้องสมุดโฟกัสเรื่องความเป็นประชาธิปไตยในการเข้าถึง การคัดบุคลากรเข้าทำงานก็ถือเป็นหนึ่งในความหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่ต่างจากผู้ที่เข้ามาใช้ห้องสมุด เครือข่ายจึงมีเป้าหมายที่จะสร้างมาตรการด้านความเท่าเทียมในการจ้างงาน นอกจากประวัติของเจ้าหน้าที่ต้องสะท้อนความเป็นประชากรของบาร์เซโลนา คุณวุฒิก็ต้องหลากหลายด้วย เช่น การพัฒนาสังคม หรือการศึกษา เพราะความสำคัญของทุนมนุษย์และการทำงานข้ามฝ่าย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลักของความยั่งยืน

          เมืองบาร์เซโลนามองบทบาทของห้องสมุดในฐานะผู้สร้างความแข็งแกร่งให้กับพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการจัดอบรมและเปิดช่องทางตลาดแรงงาน ที่สำคัญคือมีการวางเครือข่ายและนโยบายที่ชัดเจนในการสร้างความเหนียวแน่นของชุมชนเปี่ยมวัฒนธรรม มีอำนาจในการก่อสร้างและรื้อสร้างนโยบายด้านการอ่านและทักษะที่คนในชุมชนควรมี

          ห้องสมุดไม่ใช่ที่สุดวิเศษหรือหรูหรา มันเป็นพื้นที่ปกติธรรมดาที่โอบรับความหลากหลายให้ได้มากที่สุด มาร์เกซเคยกล่าวไว้ว่าบาร์เซโลนาเป็นเมืองที่เขาหายใจได้โล่ง และในภาคส่วนของห้องสมุด ทีมงานก็ดูจะพยายามสร้างบรรยากาศเช่นนั้นอยู่

          ภายใต้สาระและข้อมูลที่อัดแน่น สิ่งที่เผยให้เห็นเบื้องหน้าคือห้องสมุดสบายตาที่ใครเข้ามาใช้ก็ได้ มีทั้งกิจกรรมและการศึกษาที่จำเป็นสำหรับชีวิตของคนในชุมชน เป็นได้ทั้งโรงเรียนทางเลือกที่เรียนแค่คาบสองคาบ หรือมุมสงบรอบๆ บ้านที่กลุ่มเพื่อนมาสนทนากัน

          ภายใต้ความสามัญเหล่านั้นอีกชั้นหนึ่ง คือเสาหลักของสังคมประชาธิปไตยที่เชื่อมั่นในสิทธิการเข้าถึงความรู้ ความสนุกสนาน และพลังของประชาชน

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
Photo: Mariona Gil, CC BY-NC-ND 4.0, via Biblioteques de Barcelona
ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
Photo: Paola de Grenet, CC BY-NC-ND 4.0, via Biblioteques de Barcelona

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
Photo: Biblioteques de Barcelona

ห้องสมุดในบาร์เซโลนา มอบสิทธิด้านความรู้ และเป็น ‘บ้าน’ ที่น่าอยู่ให้ทุกคนในชุมชน
Photo: Biblioteques de Barcelona


ที่มา

บทความ “Barcelona honours Gabriel García Márquez with new library” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Barcelona community resource named world’s best new public library” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Barcelona Library Plan 2030” จาก bcnroc.ajuntament.barcelona.cat (Online)

บทความ “LIBRARIES OF BARCELONA:10 MORE YEARS NEW CHALLENGES, NEW OPPORTUNITIES” จาก bcnroc.ajuntament.barcelona.cat (Online)

เว็บไซต์ Ajuntament de Barcelona (Online)

Cover Photo: Biblioteques de Barcelona

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก