ในแต่ละปีมีการประกาศรางวัลระดับโลกด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมมากมาย บางรางวัลมีผลงานที่เกี่ยวข้องกับแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบโรงเรียนรวมถึงห้องสมุด เช่น Best of Year Awards 2019 ที่จัดขึ้นโดย Interior Design Magazine นิวยอร์ก ซึ่งปีนี้ห้องสมุดน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปหมาดๆ ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง และรางวัล World Interiors News Awards (WIN Awards) 2019 เป็นต้น
มากไปกว่าเรื่องความสวยงาม รสนิยม การเลือกใช้วัสดุ และเทคนิคในเชิงสถาปัตยกรรมศาสตร์ การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ 9 แห่ง ที่เข้ารอบสุดท้ายของการประกวดทั้งสองรางวัลดังกล่าว เป็นรูปธรรมที่ทำให้เห็นถึงแนวโน้มและความเปลี่ยนแปลงของการออกแบบพื้นที่แหล่งเรียนรู้ และความพยายามตอบโจทย์การใช้งานของคนยุคใหม่ที่มีความหลากหลาย และลึกไปกว่านั้นอาจเป็นร่องรอยที่บ่งบอกถึงแนวคิดหรือปรัชญาทางการศึกษาที่เริ่มจะพลิกผันจากที่เคยเป็นมานับร้อยปี
ความผ่อนคลาย จินตนาการ และแรงบันดาลใจ
แทบจะกลายเป็นขนบไปแล้วว่า ห้องสมุดแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องสลัดทิ้งภาพลักษณ์เก่าที่เงียบขรึม พลิกโฉมเป็นพื้นที่ที่มีสีสัน มีชีวิตชีวา มีการออกแบบที่กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ รวมทั้งอนุญาตให้ใช้เสียง พูดคุย และมีการจัดกิจกรรมในห้องสมุด
ห้องสมุดลอคฮาล (LocHal library) เนเธอร์แลนด์ มีการออกแบบตกแต่งพื้นที่การเรียนรู้ในห้องต่างๆ ให้มีบรรยากาศที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง เช่น ห้องสำหรับจัดเวิร์คช็อปและเสวนามีสีแดงเจิดจ้า ห้องเกมแล็บมีผนังทรงกลมสีน้ำเงินเข้ม ส่วนห้องการเขียนถูกออกแบบให้ดูเหมือนมีชั้นหนังสือเรียงต่อกันทุกทิศทางคลุมไปถึงเพดาน เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกของวรรณกรรมและภาษา โซนห้องสมุดสำหรับเด็กถูกเนรมิตเป็นสวนสนุกในดินแดนแห่งเทพนิยาย เฟอร์นิเจอร์ได้รับการออกแบบอย่างสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นจินตนาการและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ
เป็นไปในทิศทางเดียวกับพื้นที่การเรียนรู้ในโรงเรียน ซึ่งหลายแห่งปรับเปลี่ยนห้องเรียนให้มีชีวิตชีวามิใช่กล่องสี่เหลี่ยมที่มีโต๊ะเก้าอี้เรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่โรงเรียนอเมริกันแห่งโคโซวา เมืองพริสตีนา ประเทศโคโซโว เชื่อว่าพื้นที่การเรียนรู้ควรมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ปราศจากความกังวล และเปี่ยมพลังด้านบวก เพราะความกระตือรือร้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเรียนรู้ พื้นที่ลักษณะดังกล่าวเอื้อต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งใช้เกมและกิจกรรมสันทนาการดึงดูดให้เด็กๆ เกิดแรงจูงใจในการเรียน
ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับไม่ใช้สีสันฉูดฉาดสดใสเหมือนกับห้องสมุดหลายแห่ง แต่เลือกใช้โทนสีดำเรียบง่ายออกแบบให้ดูมีสไตล์ แต่งแต้มด้วยเบาะสีส้มและสีเหลือง จุดเด่นอยู่ที่โครงเหล็กขนาดใหญ่กลางโถงซึ่งมิได้เพียงติดตั้งไว้เพื่อความสวยงาม แต่สามารถใช้วางหนังสือ แสดงงานศิลปะ หรือผลงานของนิสิต ประหนึ่งนิทรรศการที่จะสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับผู้เข้ามาเยือน
การใช้งานพื้นที่แบบผสมผสาน
แหล่งเรียนรู้ในอนาคตจะมีพื้นที่สำหรับการใช้งานแบบเฉพาะเจาะจงน้อยลง แต่จะรองรับพฤติกรรมการใช้งานที่มีความผสมผสานมากขึ้น การเรียนรู้มิได้จำกัดอยู่เพียงแต่เรื่องหนังสือและการอ่าน แต่สามารถเกิดจากกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การฟังเพลง ชมการแสดง ดูผลงานศิลปะ ฯลฯ จนเป็นที่มาของนิยามพื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่ว่า GLAM (galleries, libraries, archives and museums)
ห้องสมุดเยว่ (Yue Library) เป็นหนึ่งในห้องสมุดที่พยายามสร้างนิเวศทางวัฒนธรรมในวิถีที่หลากหลายในฐานะ “พื้นที่แบ่งปันประสบการณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว ซึ่งผู้คนสามารถเข้ามาอ่านและยืมหนังสือ เยี่ยมชมซาลอนศิลปะและวรรณกรรม ชมภาพยนตร์และคอนเสิร์ต เข้าร่วมเทศกาลดนตรีนานาชาติ ฯลฯ
แม้แต่ออฟฟิศซึ่งน่าจะหมายถึงสถานที่ที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ก็เกิดกระแสใหม่ให้มีทั้งพื้นที่เรียนรู้ พบปะสังสรรค์อย่างไม่เป็นทางการกับเพื่อนร่วมงาน ประชุมในบรรยากาศสร้างสรรค์ เล่นกีฬาหรือกิจกรรมสันทนาการที่ผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน ดังเช่นที่ศูนย์เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ที่ออสเตรเลีย ออฟฟิศที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่พยายามออกแบบให้มีความสมดุลในเชิงสุนทรียะ และคำนึงถึงการใช้ชีวิตอย่างเป็นองค์รวม
ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน
ความต้องการด้านการเรียนรู้มีความแตกต่างไปตามหลากหลายปัจจัย ทั้งกลุ่มคน เพศ วัย ช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปตามวันและฤดูกาล เป็นเรื่องยากที่แหล่งเรียนรู้แห่งหนึ่งจะสามารถสร้างพื้นที่ทุกรูปแบบเพื่อตอบสนองคนทุกคน สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือการออกแบบพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีความยืดหยุ่น สามารถเคลื่อนย้ายชั้นหนังสือหรือเฟอร์นิเจอร์ เกิดเป็นพื้นที่แบบเปิดที่สามารถจัดกิจกรรมเฉพาะกิจได้ตามวัตถุประสงค์
ที่ห้องสมุดลอคฮาล ออกแบบผนังกั้นห้องที่สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเรียบง่ายและชาญฉลาด เพียงแค่ใช้ม่านขนาดใหญ่กั้นพื้นที่แต่ละส่วน ซึ่งเมื่อเปิดม่านออกหมด จะกลายเป็นโถงโล่งขนาดใหญ่ตั้งแต่ห้องแล็บเรียนรู้ด้านบนเรื่อยลงมาจนกระทั่งถึงคาเฟ่ อีกทั้งตู้หนังสือและโต๊ะขนาดใหญ่ก็ติดล้อไว้สะดวกแก่การเคลื่อนย้าย
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่สารพัดประโยชน์หรือพื้นที่อเนกประสงค์ ที่เรียกว่า common space ซึ่งคำนึงถึงความยืดหยุ่นในการใช้งานเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น บริเวณโถงทางเข้าอาคารของโรงเรียนอเมริกันแห่งโคโซวา ซึ่งมีลักษณะโปร่งโล่งกว้าง มีเฟอร์นิเจอร์น้ำหนักเบาจำนวนหนึ่ง สามารถเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้นั่งเล่น นัดพบ เล่นเกม รวมทั้งจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้บรรยากาศเป็นอิสระ
ศูนย์กลางของชุมชนและผู้คน
หัวใจของห้องสมุดที่มีชีวิตก็คือคน ห้องสมุดหลายแห่งทั่วโลกวางพันธกิจต่อชุมชนไว้อย่างชัดเจน และเอาใจใส่ต่อเรื่องวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ห้องสมุดลอคฮาล มีแนวคิดที่จะเป็น “ห้องนั่งเล่นของเมือง” ซึ่งผู้คนนัดพบกันมาจิบกาแฟชั้นดีที่คาเฟ่บริเวณด้านหน้าห้องสมุด ในกรณีของห้องสมุดมหานครโคลัมบัส สาขาดับลิน สหรัฐอเมริกา ได้สร้างสรรค์บรรยากาศที่สนับสนุนกระบวนการคิดและอภิปรายให้แก่พลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองในอนาคตให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างชัดเจนกับห้องสมุดสาขาอื่นๆ ในเครือข่ายเดียวกัน
ที่ห้องสมุดประชาชนเบด็อก สิงคโปร์ มีพื้นที่ที่เรียกว่า Heartbeat@Bedok เพื่อเป็นฮับสำหรับผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุและครอบครัว ภายในมีสระว่ายน้ำ ศูนย์กีฬา และเป็นที่ตั้งของ Kampong Chai Chee Community Club ซึ่งผู้คนรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางวัฒนธรรมและสันทนาการ
ห้องสมุดหลายแห่งออกแบบและตกแต่งโดยยังคงรักษากลิ่นอายดั้งเดิมของอาคาร ซึ่งเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับประวัติศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่น ดังเช่นห้องสมุดลอคฮาลซึ่งดัดแปลงมาจากโรงงานซ่อมหัวรถจักร การออกแบบเน้นใช้องค์ประกอบที่มีอยู่เดิมของตัวอาคาร เช่น รางรถไฟ และเสาเหล็กแบบยุคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับห้องสมุดประชาชนชิคาโก สาขาเวสลูป ซึ่งดัดแปลงมาจากอาคารสตูดิโอของสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับบริจาคมาจากเอกชน ออกแบบให้เห็นโครงสร้างของอิฐและไม้เพื่อสะท้อนลมหายใจที่ยังเหลืออยู่ของยุคอุตสาหกรรม อันเป็นรากฐานที่ส่งต่อความรุ่งเรืองไปยังอนาคต
การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
นิยามการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบพื้นที่ห้องสมุด ผู้คนต้องการพื้นที่สำหรับนั่งทำงานหรือการมีปฏิสัมพันธ์และสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น ห้องสมุดหลายแห่งปรับลดพื้นที่จัดวางหนังสือ หรือออกแบบชั้นหนังสือให้อยู่ชิดติดผนัง แล้วนำพื้นที่มาใช้เพื่อเป็นโค-เวิร์คกิ้งสเปซ เมกเกอร์สเปซ สตูดิโอ หรือห้องแล็บที่มีลักษณะเป็น active learning
ดังเช่นที่ห้องสมุดประชาชนชิคาโก สาขาเวสลูป นอกจากมีห้องอ่านนิทานซึ่งผนังเป็นแม่เหล็กซึ่งสามารถเขียนและลบได้ และพื้นที่เรียนรู้ดิจิทัล ยังมีธิงเกอร์ริงแล็บ (Tinkering Lab) พื้นที่สำหรับให้เด็กนำไอเดียมาทดลองสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานจริง เต็มไปด้วยเครื่องมือที่จำเป็น ส่วนบริเวณโถงที่มีผู้คนผ่านไปผ่านมาจำนวนมากของห้องสมุดสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกสร้างสรรค์เป็นพื้นที่ ‘Co-working and Thinking Space’ เอื้อให้นิสิตมาพบปะพูดคุย ทำโครงงานร่วมกัน รวมทั้งจัดแสดงผลงาน
หวนกลับสู่ธรรมชาติ
ผู้คนในเมืองใหญ่ที่มีวิถีชีวิตเร่งรีบและตึงเครียด ยิ่งรู้สึกโหยหาสถานที่ธรรมชาติอันสงบผ่อนคลาย ห้องสมุดหลายแห่งสร้างทางเลือกให้คนเมืองมีพื้นที่ได้หลีกเร้นกายใจเพื่อชาร์จพลังให้กับชีวิต เช่นห้องสมุดประชาชนเบด็อก ใช้แนวคิด “ห้องสมุดในสวน” เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจีน่าพักผ่อน ระเบียงแต่ละชั้นกว้างขวางสามารถวิ่งเหยาะๆ ออกกำลังกาย
การเลือกใช้วัสดุจำพวกไม้เนื้อแข็งและสีวอร์มโทน ประกอบกับแสงส่องสว่างจากธรรมชาติ มีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น กลมกลืน และเติมเต็มมิติทางจิตวิญญาณ ห้องสมุดเยว่พยายามนำพาผู้คนให้คิดทบทวนถึงชีวิตและธรรมชาติเดิมแท้อันบริสุทธิ์ ซึ่งโลกดิจิทัลไม่มีวันเข้ามาทดแทนได้ ห้องอ่านหนังสือที่มีกาแฟให้บริการ ช่วยสร้างประสบการณ์อันรื่นรมย์ผ่านผัสสะทั้งห้า ทั้งการเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส
ส่วนคาร์ปจอยคลับ คลับสำหรับเด็กแห่งแรกในเซี่ยเหมินและห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดของชุมชนเมืองใหม่จี๋เหม่ย เลือกใช้โทนสีอ่อนหวานให้ความรู้สึกละมุนละไม นำแรงบันดาลใจมาจากตำนานปรัมปราเกี่ยวกับปลา ภูเขา และท้องทะเล ห้องต่างๆ ทั้งห้องอ่านหนังสือ ห้องหุ่นยนต์ ห้องเปียโน และโรงละคร จึงมีบรรยากาศเสมือนว่าเด็กๆ กำลังเล่นอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา ซึ่งจะเร้าจินตนาการให้บรรเจิดและสร้างการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้ครอบครัว
ผลรางวัล World Interiors News Awards (WIN Awards) 2019 ประเภทพื้นที่การเรียนรู้
รางวัล | บริษัทที่ออกแบบ | แหล่งเรียนรู้ |
รางวัลเหรียญทอง | Mecanoo | ห้องสมุดลอคฮาล (LocHal library), เนเธอร์แลนด์ |
รางวัลเหรียญเงิน | Maden Group | โรงเรียนอเมริกันแห่งโคโซวา (American School of Kosova), โคโซโว |
รางวัลเรียญทองแดง | Zest Art | คาร์ปจอยคลับ (Carp Joy Club), จีน |
ผ่านเข้ารอบสุดท้าย | Tom Mark Henry | ศูนย์เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ (Microsoft Technology Centre), ออสเตรเลีย |
ผ่านเข้ารอบสุดท้าย | ONG&ONG | ห้องสมุดประชาชนเบด็อก (Bedok Public Library), สิงคโปร์ |
ผลรางวัล Best of Year Awards 2019 จัดโดย Interior Design Magazine นิวยอร์ก ประเภทห้องสมุด
รางวัล | บริษัทที่ออกแบบ | แหล่งเรียนรู้ |
รางวัลชนะเลิศ | คณาจารย์และศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ห้องสมุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทย |
ผ่านเข้ารอบสุดท้าย | Beijing Fenghemuchen Space Design | ห้องสมุดเยว่ (Yue Library), จีน |
ผ่านเข้ารอบสุดท้าย | NBBJ | ห้องสมุดมหานครโคลัมบัส (Columbus Metropolitan Library) สาขาดับลิน, สหรัฐอเมริกา |
ผ่านเข้ารอบสุดท้าย | SOM- Skidmore, Owings & Merrill | ห้องสมุดประชาชนชิคาโก (Chicago Public Library) สาขาเวสลูป, สหรัฐอเมริกา |
ที่มา
https://www.worldarchitecturenews.com/awards/2019-entries
https://www.mecanoo.nl/Projects/project/221/LocHal-Library?t=0
https://www.archdaily.com/908709/american-school-of-kosova-maden-group
https://www.dezeen.com/2019/01/29/west-loop-branch-library-som-chicago/
https://www.archdaily.com/928538/columbus-metropolitan-library-dublin-branch-nbbj
https://www.archdaily.com/897347/heartbeat-at-bedok-ong-and-ong-pte-ltd
https://www.archdaily.com/926534/yue-library-beijing-fenghemuchen-space-design#
https://www.worldarchitecturenews.com/article/1581918/2019-win-awards-entry-carp-joy-club-zestart
A Tour of Microsoft Technology Center in Sydney