เมื่อพิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่ราชการ หรืออาคารที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะอย่างสวยงาม และนำเสนอด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเท่านั้น แต่ตั้งอยู่ในบ้านที่ยังมีการอยู่อาศัย ผู้ร่วมออกแบบและผู้นำชมคือเด็กๆ ที่พร้อมจะเล่าเรื่องราวของพวกเขา มีหลุมขุดค้นจำลองที่พร้อมให้ทุกคนมาสัมผัส และมีเจ้าของร่วมคือทุกคนในชุมชน
พิพิธภัณฑ์บ้านส่วยในคือตัวอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากหลายภาคฝ่าย บนแนวคิดของการสร้างพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางวัฒนธรรม เพื่อนำองค์ความรู้กลับคืนสู่ชุมชนและเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคน
ของดีบ้านส่วย ที่ผู้คนลืมเลือน
บ้านส่วย อยู่ห่างจากปราสาทหินพิมายประมาณ 2 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณ ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จากหลักฐานในการขุดค้นทางโบราณคดี พ.ศ.2509 และ พ.ศ.2543–2544 พบ “ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ” จำนวนมาก มีลักษณะเด่นคือ ผิวภาชนะสีดำขัดมัน ทำลวดลายเส้นตรงหรือเส้นโค้ง เป็นรูปแบบภาชนะที่พบมากในแหล่งโบราณคดีบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนในเขตจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ กำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ประมาณ 2,400 – 1,400 ปีมาแล้ว
จวบจนช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 วัฒนธรรมขอมได้เข้ามามีอิทธิพล บริเวณกลางเมืองมีการสร้างปราสาทหินพิมาย พุทธสถานในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ซึ่งเป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เกิดชุมชนกระจายตัวอยู่โดยรอบ สันนิษฐานว่าบริเวณบ้านส่วยนี้ก็กลายเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยของชาติพันธุ์ส่วย1 (หรือบางครั้งเรียกว่า คนกูย โกย กวย) ชาวส่วยมีความสามารถในการเลี้ยงช้าง และเป็นที่มาของชื่อตำบลบ้านส่วย
ในปัจจุบันบ้านส่วยเป็นชุมชนรายได้น้อย ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ คนในชุมชนน้อยคนนักที่จะทราบว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณซึ่งมีความสำคัญ และมีการขุดพบโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานยืนยันประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของเมืองพิมาย
โครงการวิจัยเพื่อฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเมืองเก่าพิมาย
ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังเมืองพิมายกว่า 300,000 คน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการเที่ยวชมปราสาทหินพิมาย ทำให้แผนการพัฒนาและความเจริญ รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองพิมายมุ่งเป้าและกระจุกตัวไปยังศูนย์กลาง ขาดการเชื่อมโยงกับพื้นที่ชุมชนโดยรอบ อันเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์วัฒนธรรมโบราณที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยในการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเมืองเก่าพิมายด้วยการขับเคลื่อนทางศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และภาคีอนุรักษ์เมืองพิมาย อันเป็นการรวมตัวกันของประชาชนคนพิมาย จากหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็น ครูเกษียณ ผู้ใหญ่บ้าน คนทำงานภาครัฐ นักเรียน นักศึกษา และชาวบ้าน โดยทุกคนเป็นจิตอาสา ที่มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนเมืองพิมายโดยชาวพิมาย
พิพิธภัณฑ์บ้านส่วยใน ผลลัพธ์จากกระบวนการระดมความคิด สู่การออกแบบอย่างมีส่วนร่วม
คณะนักวิจัยร่วมกับภาคีอนุรักษ์ฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในกระบวนการทำงาน ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะคนในชุมชนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับภาคีอนุรักษ์ฯ เพราะเป็นคนพิมายเหมือนกัน มีการลงพื้นที่ พูดคุยกับผู้คน ค้นหาประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมและพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาเส้นทางเชื่อมโยงอดีตมาสู่ปัจจุบัน ประสานตำนานบอกเล่าเข้ากับข้อมูลทางวิชาการ ออกมาเป็นชุดข้อมูลที่มีความถูกต้องและครอบคลุมที่สุด
จนได้มาพบกับเรือนคุณยายโอ๋ บ้านที่เก่าแก่ที่สุดในชุมชน และเคยเป็นพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี จึงเกิดเป็นแนวคิดที่จะสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชนขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมของพิมาย
กระบวนการออกแบบพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ใช้วิธีการระดมความคิดเห็นจากชาวบ้านในชุมชน และเด็กๆ จากโรงเรียนทั่วอำเภอพิมายเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดง การนำเสนอข้อมูล ถ่ายทอดสู่ทีมนักวิจัย และสถาปนิก กลั่นออกมาเป็นการออกแบบและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านส่วยในอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวคิดหลัก คือ บันทึกความทรงจำของประวัติศาสตร์ นำเสนอภาพแห่งความเป็นชุมชนโบราณ รื้อฟื้นเรื่องราววิถีคนบ้านส่วยใน จำลองวิถีชีวิต บนพื้นฐานการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและชุมชนโบราณ
ผลลัพธ์ที่ออกมาคือพิพิธภัณฑ์ที่มีความเรียบง่ายและเป็นกันเอง มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หลุมขุดค้นจำลอง ภาชนะแบบพิมายดำ (จำลอง) พร้อมข้อมูลประกอบ และมีการอบรมด้านเนื้อหาสาระให้เด็กๆ สามารถเป็นผู้นำชมได้อย่างสมบูรณ์
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนไม่ใช่แค่การทำให้เกิดการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของชุมชนบ้านส่วยใน แต่คือการวางแผนการดำเนินงานต่อไปในระยะยาว มีการสร้างข้อตกลงเรื่องสิทธิและการบริหารจัดการชุมชนรวมถึงวางแผนประชาสัมพันธ์ ผ่านเจ้าของสถานที่ ภาคีอนุรักษ์ฯ และผู้นำท้องถิ่น บนหลักคิดที่ว่าการจัดการพิพิธภัณฑ์หลังจากนี้ จะไม่กระทบและเป็นภาระแก่เจ้าของบ้านมากจนเกินไป ไม่ต้องดูแลมากมาย แต่เป็นการดูแลร่วมกันของคนในชุมชน
ในท้ายที่สุดพิพิธภัณฑ์บ้านส่วยในไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่สถานที่จัดแสดงวัตถุหรือเล่าเรื่องวิถีชีวิตเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัววัตถุ แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสาธารณะที่กลมกลืนและเป็นมิตรกับชุมชน และสิ่งสำคัญที่มากกว่าแค่พื้นที่ทางกายภาพ คือการสร้างพื้นที่ทางความคิด จุดประกายและกระตุ้นการเรียนรู้ของผู้คนในชุมชน ให้ได้ศึกษา อนุรักษ์ ต่อยอดและภาคภูมิใจในเรื่องราวความเป็นมาบนพื้นที่ของตนเอง จากความร่วมมือร่วมใจกัน โดยมีการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นผลลัพธ์เพิ่มเติม
อีกทั้งเป็นตัวอย่างของความร่วมมือในการทำงานระหว่างนักวิชาการ หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นโมเดลเพื่อการบริหารจัดการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อขยายผลสร้างเป็นเส้นทางและเครือข่ายการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
เชิงอรรถ
[1] คำว่า ส่วย เป็นคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กูย โกย กวย ของคนไทยสยาม ตั้งแต่มีการแบ่งเขตการปกครองอย่างเป็นทางการในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ที่มา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน. ชวนเที่ยวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น หลุมขุดค้นจำลองพิมายดำ บ้านส่วยใน.
สัมภาษณ์ ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ วันที่ 5 ธันวาคม 2563
Cover Photo: อาจารย์ภัทรศักดิ์ สิมโฮง