จักรวาลการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งของผู้กำกับหนัง รางวัล Bucheon ‘บรรจง ปิสัญธนะกูล’

2,026 views
8 mins
August 16, 2021

          ในบรรดาผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ถือเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่โดดเด่นและมีผลงานต่อเนื่อง หลายคนจดจำเขาจาก ‘พี่มาก..พระโขนง’ ที่สร้างสถิติหนังไทยทำรายได้สูงสุดตลอดกาล หรือผลงานเรื่องอื่นๆ ที่สามารถสะกดอารมณ์คนดูได้อยู่หมัด ทั้งหนังโรแมนติกคอมเมดี้สุดฮาอย่าง ‘กวน มึน โฮ’ หรือหนังสยองขวัญไอเดียบรรเจิดที่อยู่เหนือกาลเวลาอย่าง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’

          ล่าสุด บรรจงพาผู้ชมไปสัมผัสการผจญภัยบทใหม่ในภาพยนตร์แนวระทึกขวัญ ‘ร่างทรง (The Medium)’ ที่ร่วมทุนสร้างกับเกาหลีใต้ เข้าฉายในแดนกิมจิเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา กวาดรายได้ถล่มทลายตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย ตามมาด้วยการคว้ารางวัล ‘Best of Bucheon’ จากเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN)

          บรรจงอุปมาว่า การทำหนังใหม่แต่ละเรื่องเหมือนการก้าวสู่จักรวาลใหม่ ผ่านการลงพื้นที่เพื่อค้นคว้าหาข้อมูล ประกอบสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ไปจนถึงการเผชิญความท้าทายเมื่อได้ลงมือทำหนัง สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้เขายังมีแพสชันในการทำงาน

          ในบทสัมภาษณ์นี้ เราจะพาคุณไปสำรวจจักรวาลการเรียนรู้ของบรรจงในวัย 41 ปี พร้อมแง่มุมอื่นๆ ที่ใครหลายคนไม่เคยทราบ 

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจเข้าสู่วงการภาพยนตร์

          ผมเริ่มจากคนชอบดูหนังทั่วๆ ไป สิ่งที่หล่อหลอมผมมาน่าจะเป็นหนังกลางแปลง บ้านผมอยู่ในซอยที่มีศาลเจ้า ตรงนั้นจะมีคนมาจัดหนังกลางแปลงบ่อยๆ ความสุขในวัยเด็กคงเป็นการได้เห็น magic ของหนังที่ทำให้คนหัวเราะจนเอามือตบพื้น เป็นความสนุกในวัยเด็กที่ทำให้เราติดใจจนต้องเอาหนังสือพิมพ์ไปจองที่เพื่อจะได้ดูหนัง

          ต่อจากนั้นก็เป็นการเช่าวิดีโอ ซึ่งมีอิทธิพลกับผมมา ผมเช่ามาดูตลอดเวลา หนังใหม่ หนังเก่า ช่วงที่เริ่มดูแบบจริงจังคือตอน ม.ต้น มีหนังเรื่องหนึ่งเราดูแล้วไม่ค่อยเข้าใจ ก็เลยไปซื้อนิตยสารพวก Starpics หรือ Entertain มาอ่าน สงสัยว่าทำไมเรื่องนี้ถึงได้รางวัล ตอนนั้นเราไม่เก็ทว่าหนังดีคืออะไร พอได้ศึกษามากขึ้นก็เริ่มหลงใหล อินขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัดสินใจเลือกสายที่จะเรียนต่อได้ง่ายเลย คือไม่เรียนสายวิทย์แน่นอน ยังไงก็ต้องสายศิลป์

          พอถึงช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไหนๆ เราชอบหนังอยู่แล้ว ก็เรียนนิเทศฯ แล้วกัน ตอนนั้นมีความคิดแค่ว่าอยากทำอะไรก็ได้ในวงการหนัง โดยเฉพาะการเขียนบท เพราะเราสนใจเรื่องการวิเคราะห์หนัง ชอบเขียนรีวิวหนัง โดยไม่ได้มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นผู้กำกับเลยตั้งแต่แรก

จากประสบการณ์ในการเรียนหรือการทำงานที่ผ่านมา คุณได้วิชาหรือวิธีคิดอะไรติดตัวมาบ้าง เริ่มจาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สร้างผู้กำกับภาพยนตร์เก่งๆ ขึ้นมาจำนวนมากในยุคหลัง

          ที่นิเทศ จุฬาฯ ถ้าให้พูดตรงๆ ในแง่หลักสูตรเนื้อหา มันไม่ได้เติมเต็มเราเท่าไหร่ เพราะมันได้ลงมือทำน้อย ยิ่งตอนหลังๆ ที่เราได้ไปสัมผัส ม.เอกชน จะเห็นความแตกต่างเลย เพราะเขาได้จับอุปกรณ์ ได้ลงมือทำเยอะมาก

          แต่ผมว่าสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมเด็กนิเทศ จุฬาฯ คือบรรยากาศมันเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นและความคิดสร้างสรรค์ เพราะมีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก ตั้งแต่การรับน้อง ทำเอ็มวี หนังสั้น ละครเวที โดยรวมมันเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองเยอะเหมือนกัน แต่อีกด้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจารย์หลายๆ คนก็ดี ในแง่ของการผลักดันส่งเสริม กระตุ้นให้เรามีความกระตือรือร้น

          สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ในห้องเรียนโดยตรง แต่ด้วยบรรยากาศ ด้วย attitude ของผู้คน มันทำให้เรายกระดับตัวเองขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เวลาเห็นเพื่อนสร้างงานเจ๋งๆ เราก็อยากทำให้ได้แบบเขาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ไอ้นี่ทำเอ็มวีออกมาตลอดเวลา ไอ้นั่นก็เขียนบทหนังสั้น บรรยากาศมันส่งเสริมให้ทุกคนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ซึ่งผมก็ได้ทำเยอะมาก ทั้งละครเวที ถ่ายนั่นถ่ายนี่ ไปเล่นหนังให้เพื่อน ทำหนังสั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ทุกที่อาจเป็นแบบนี้กันหมดแล้ว

จักรวาลการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งของผู้กำกับหนังรางวัล Bucheon ‘บรรจง ปิสัญธนะกูล’

แล้วพอพ้นจากรั้วมหาวิทยาลัยมาสู่โลกการทำงาน มีช่วงไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญบ้าง  

          ตอนทำงานโฆษณาที่ ฟีโนมีน่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเลย เพราะเราได้ทำงานกับระบบที่คุณต้องเป็น The Best เท่านั้น คือพุ่งเป้าไปที่ระดับโลก เขาจะสอนตั้งแต่ Day 1 เลย ประโยคหนึ่งที่มีส่วนหล่อหลอมเราคือ “เฮ้ย โต้ง มึงทำหนังออกมาแล้วมีคนบอกว่า น่ารักดีนะ แค่นี้พอแล้วเหรอ?”

          ความคิดแบบนี้มันค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในตัวเรา ผมได้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของพี่ต่อ-ธนญชัย ศรศรีวิชัย ทำให้เห็นเลยว่าคนเราไม่ได้ Born Genius แต่การที่เขาเก่งขนาดนั้นเป็นเพราะเขาขยันมาก คิดเยอะมาก ดูหนังเยอะมาก เขาก้าวไปข้างหน้าเสมอ เวลาทำงานแต่ละชิ้น จะเรียกผู้ช่วยทุกคนมา brainstorm ช่วยกันคิดแล้วคิดอีก เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด

          ถ้าเป็นสมัยเรียน เวลาเราคิดอะไรออก แล้วรู้สึกว่ามันว้าวมากๆ เราจะหยุดทันที “เฮ้ย ได้แล้วนี่หว่า” แต่ที่นี่สอนเราว่าสิ่งที่จะเป็นมาสเตอร์พีซนั้นไม่มีทางได้มาง่ายๆ

แล้วที่จีทีเอช (ชื่อปัจจุบันคือ จีดีเอช) ล่ะครับ

          สิ่งสำคัญมากๆ ที่ทำให้ผมทำหนังไทย แล้วยังรู้สึกว่าโอเค สามารถพัฒนาขึ้นได้เรื่อยๆ เพราะจีทีเอชเชื่อมั่นว่าการทำหนังมันต้องหาเลี้ยงชีพได้จริง

          ถ้าผมทำหนังแล้วยังต้องมาห่วงเรื่องปากท้อง หรือห่วงว่าหนังเรื่องหนึ่งต้องหมดเวลากับมันไป 2-3 ปีโดยไม่มีรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อ มันจะทำให้แพสชันของเราหายไป หรืออาจโฟกัสไม่ได้ แต่การที่เขาตั้งปณิธานว่าเขาจะต้องยืนหยัดให้ได้ แล้วเขาดูแลเราดีเหมือนครอบครัว เวลาหนังประสบความสำเร็จก็มีระบบปันผลตอบแทนที่แฟร์มากๆ มีระบบที่คอยดูแลและสนับสนุนคนทำงานอย่างจริงจัง ทำให้เราสามารถ concentrate ได้ เราให้เวลากับการพัฒนาบท กับการทำหนังได้เต็มที่ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้องหรือความมั่นคงมากนัก

ในวัย 41 ปี มีอะไรที่เป็นความท้าทายใหม่ๆ บ้างไหม แล้วคุณมีวิธีหรือกระบวนการพัฒนาตัวเองอย่างไร

          ผมไม่เคยตั้งหลักการให้ตัวเองเลย มันมาของมันเอง ถ้าในแง่ความกระตือรือร้น ตอนนี้ยังมีอยู่เท่าเดิม ผมรู้สึกว่าการทำหนังในโลกนี้มีอะไรที่น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ เวลาผมทำโปรเจกต์ใหม่ จะมีการทดลองใหม่ๆ ทุกครั้ง ผมไม่เคยเริ่มโปรเจกต์ไหนด้วยความรู้สึกว่าไม่กลัวเลย ยังกลัวและกังวลทุกครั้ง เวลาทำงานเลยยังมีความตื่นเต้น มีชีวิตชีวาอยู่ ในทางกลับกัน ถ้าเราทำอะไรเหมือนเดิมซ้ำๆ เช่น ทำหนังแบบพี่มากฯ ภาคสองสามสี่ไปเรื่อยๆ จุดหนึ่งผมคงรู้สึกว่ามันเป็นงานรูทีน แล้วเราอาจหมดไฟอย่างรวดเร็ว

          เวลาทำหนังแต่ละเรื่อง มันเหมือนการก้าวไปสู่จักรวาลใหม่ๆ ซึ่งการจะเข้าใจมันได้ เราต้องกระโดดลงไปในนั้นจริงๆ เช่น ตอนผมทำเรื่อง กวนมึนโฮ ผมก็ต้องไปเกาหลีเพื่อศึกษาว่าเราจะพูดอะไรเกี่ยวกับประเทศนี้ดี จนกระทั่งได้ไอเดียเรื่องการแอนตี้การตามรอยละคร แอนตี้ละครน้ำเน่า แล้วสุดท้ายตัวละครเองกลับทำอะไรที่เน่ายิ่งกว่าอีก เป็นต้น

          อย่างหนังเรื่องล่าสุด ‘ร่างทรง’ นี่ยิ่งชัดเจน เพราะกว่าเราจะทำได้ กว่าจะเข้าใจมัน ผมลงพื้นที่ทำรีเสิร์ชทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน รวมๆ แล้วเกือบปี การจะทำหนังให้ถึงจริงๆ มันต้องรีเสิร์ชทุกอย่าง แม้แต่หนังที่ดูเหมือนพล็อตง่ายๆ อย่าง ‘พี่มากพระโขนง’ ก็ไม่ง่าย เพราะมันเป็นการบิดตำนานที่ชัดเจน เราอยากสร้างฉากจบอีกแบบหนึ่งจากคำถามที่ว่า หรือตัวเอกไม่ควรกลัวผีที่ตายไปแล้ว? ซึ่งพอเราลงไปรีเสิร์ชความรู้สึกของคนที่มีคนใกล้ชิดเสียชีวิต ถามเขาว่าคุณยังอยากเจอเขาตอนเป็นผีไหม มันทำให้เราได้แง่มุมและไดอะล็อกเต็มไปหมดเลย ซึ่งเรานำมาใช้ในบทหนังได้

งานผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์ เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คุณมีเคล็ดลับในการสร้างไอเดียหรือต่อยอดความคิดอย่างไรบ้าง

          ตั้งแต่เด็กๆ ผมมีนิสัยชอบวิเคราะห์ เวลาวิจารณ์หนังเราก็จะวิเคราะห์ว่าทำไมหนังเรื่องนี้เวิร์กหรือไม่เวิร์ก คือถ้าไม่เวิร์กก็ต้องหาจนเจอว่าเพราะอะไร อ๋อ เพราะว่าแคสต์คนนี้มาเล่นแล้วเราไม่ชอบ หรือตัวละครทำสิ่งที่เราไม่เชื่อว่าจะมีใครทำ มันเลยดูเฟคมาก

          พี่ต่อ (ธนญชัย) เคยพูดว่า ผมทำผลงานสำเร็จได้เพราะเป็นคนคิดแบบวิทยาศาสตร์ ชอบวิเคราะห์ทุกอย่าง แล้วหาคำตอบให้ได้ ซึ่งผมไม่เคยสังเกตเห็นตัวเองในมุมนี้เลย หนังที่ผมทำส่วนใหญ่เป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ แต่พอเราพินิจพิเคราะห์อย่างจริงจัง ทำให้เราไปต่อได้ ไม่ได้ใช้วิธีเดาสุ่ม

          ในแง่ของเคล็ดลับ ผมคิดว่าเราต้องไม่หยุด ไม่ใช่คิดว่าอยู่มือแล้ว เรายังต้องทำการบ้านเยอะมาก ดูหนังตลอดเวลา อ่านหนังสือ สังเกตผู้คน พูดคุยกับคน การจะไอเดียใหม่ๆ จักรวาลใหม่ๆ เราต้องเปิดรับตลอดเวลาถึงจะเจอ เฮ้ย โลกแบบนี้น่าสนใจว่ะ เอามาทำหนังได้ไหม ทำยังไง ของพวกนี้ฝึกปรือกันได้ ถ้าเราสนใจและหมกมุ่นกับมันจริงๆ แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นงาน เป็นสิ่งที่จะต้องทำเงิน ต้องทำให้ได้ 5 โปรเจกต์ต่อปี แบบนั้นก็อาจจะฝืนไป

          นอกจากนี้ ผมจะมีกรุ๊ปที่เป็นทีมเขียนบทด้วยกัน เราจะแชร์กันตลอดเวลาว่าเจอเรื่องนั้นเรื่องนี้มา ทุกคนพร้อมจะสนุกไปกับเรา แลกเปลี่ยนไอเดียกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้เรายกระดับกันและกันไปในตัว

จักรวาลการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งของผู้กำกับหนังรางวัล Bucheon ‘บรรจง ปิสัญธนะกูล’

ถ้าให้มองวงการภาพยนตร์ในบ้านเราตอนนี้ คุณคิดว่าอะไรที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน

          การที่เราจะพัฒนาได้ มันต้องมีความหลากหลาย ทุกวันนี้แค่การมีหนังบันเทิงหรือหนังอินดี้ดีๆ สักเรื่องหนึ่งยังยากเลย ถ้าเราเห็นว่า GDH แข็งแรง มีหนังอย่างต่อเนื่อง ลงทุนได้อย่างสมเหตุสมผล ค่าตอบแทนโอเค คนก็เลยทำงานได้เต็มที่ ฉะนั้นถ้าเรามีสตูดิโอที่แข็งแรงแบบนี้เยอะๆ ก็ยิ่งดี การแข่งขันจะเกิดขึ้น คุณภาพโดยรวมจะดีขึ้น หลากหลายขึ้น

          แม้กระทั่งวงการหนังอินดี้เอง ถ้ามีความต่อเนื่อง มันจะแข็งแรงกว่านี้ ตอนนี้เหมือนว่านานๆ ถึงจะมีหนังดีสักเรื่อง มันไม่มีความต่อเนื่อง พอไม่ต่อเนื่อง คนก็ไม่ได้ดูหนังไทยอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเทียบกับวงการหนังเกาหลี เขามีงานคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง มีการลงทุนเป็นอุตสาหกรรมจริงจัง มองกลับมาที่ไทย แทบเป็นไปไม่ได้เลย ผมว่ายังอีกนานมากๆ ตอนนี้มันเหมือนมืดแปดด้าน ภาครัฐก็ไม่ค่อยให้การสนับสนุนสักเท่าไหร่ ไม่รู้จะแก้ยังไง

          แต่ในฐานะคนทำหนัง เราก็พยายามสร้างงานให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ผมคิดว่าคนไทยพร้อมสนับสนุนหนังไทย ถ้ามันดี อย่างเรื่อง ‘อีเรียมซิ่ง’ หรือ ‘Bad Genius’ หรือเรื่องไหนก็ตาม ขอให้มันโดนเถอะ อย่างน้อยต้องทำให้คนดูรู้สึกว่า เฮ้ย สนุกมาก หรือไม่เคยดูอะไรแบบนี้มาก่อน

แล้วในแง่ของทักษะคนทำหนังล่ะ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ คนเขียนบท หรือคนทำงานโปรดักชัน มีอะไรที่เรายังขาดอยู่ไหม

          ผมว่าปัญหาใหญ่คือเราขาดแคลนคนเขียนบทเก่งๆ เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ค่อยๆ สร้างคนขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยระบบที่แข็งแรง

          เรื่องนี้ผมมีประสบการณ์ตรง ฝรั่งชอบมาถามผมว่า “เฮ้ย บรรจง ไอมีหนังเรื่องนี้ ยูช่วยหาคนเขียนบทคนไทยให้หน่อยได้ไหม” ผมจะนึกไม่ค่อยออก เพราะมันไม่มีคน ผลสุดท้ายคือต้องเขียนเอง คนที่เขียนแล้วสามารถจบบทด้วยตัวคนเดียวได้แบบมืออาชีพ ในประเทศนี้มีอยู่ไม่กี่คนหรอก นอกนั้นจะเขียนกันเป็นทีมเสียส่วนใหญ่

          คนชอบอ้างว่า เพราะค่าตอบแทนมันน้อยไง ก็จริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยกตัวอย่างเล่นๆ ว่า ผมให้งบคุณ 10 ล้านเลย ทำบทมาเรื่องหนึ่ง ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้บทที่ดี แต่สมมติว่าค่าตอบแทนมาตรฐาน เป็นหลักล้านอย่างต่อเนื่อง เช่น เขียนเรื่องหนึ่งแล้วได้ 3 ล้านบาท มีคนที่พร้อมจะทุ่มงบ ให้เวลา พัฒนาสกิลคนที่มีแวว แล้วให้เรทนี้อย่างต่อเนื่อง เราอาจปั้นนักเขียนบทเก่งๆ ได้ภายใน 5 ปี เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับเรื่องค่าตอบแทนที่เหมาะสม และอุตสาหกรรมที่แข็งแรง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ค่ายหนังบางค่ายแทบไม่ให้เวลากับการพัฒนาบทเลยด้วยซ้ำ ระบบแบบนี้ทำลายหนังไทยมาก

            อย่างตัวผมเอง ถือว่าโชคดีมากที่สามารถผลักดันตัวเองจนมาถึงขั้นที่สามารถทุ่มเทให้กับการทำหนังเป็นปีๆ ได้สบาย โดยที่ไม่ต้องไปทำอย่างอื่น ผมว่าอาชีพนี้มันต้องการอะไรแบบนี้ ในเมืองนอกจะมีคนที่ทำหลายโปรเจกต์พร้อมกันได้ และมีคนเป็นแขนขาให้เราได้ตลอดเวลา เวลาผมไปทำงานกับคนจีน เขาทำ 4-5 โปรเจคพร้อมกัน โปรดิวซ์อันนี้ ถ่ายอันนั้น พัฒนาบทอันโน้น นี่แหละคืออาชีพ นี่แหละคืออุตสาหกรรม

น่าจะมีคนเคยถามถึงผู้กำกับที่คุณชื่นชอบไปเยอะแล้ว อยากถามถึงนักเขียนหรือหนังสือที่คุณชื่นชอบบ้าง

          ถ้าเป็นของไทย ช่วงหลังก็มีเรื่อง ‘ลับแล แก่งคอย’ ของคุณอุทิศ เหมะมูล แล้วก็งานเขียนของคุณอุรุดา โควินท์ เรื่อง ‘หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา’

          อย่างลับแลฯ นี่ผมรู้สึกว่าคณภาพเทียบเท่าระดับเมืองนอกเลย คือมีความลึกลับ น่าติดตาม แล้วก็ลึกซึ้ง ส่วนหยดน้ำหวานฯ อ่านแล้วรู้สึกเจ็บปวดมาก ทั้งเรื่องราวและภาษา ส่วนหนึ่งเพราะมันมาจากเรื่องจริงของผู้เขียน เป็นวรรณกรรมไทยสองเล่มที่ผมว่าเข้าขั้นระดับโลกเลย

หนังสะท้อนแง่มุมการเรียนรู้ที่ โต้ง-บรรจง ยกนิ้วให้

          ในช่วงท้ายของการสนทนา เราขอให้บรรจงช่วยแบ่งปันภาพยนตร์ดีๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งเขาได้คัดเลือกภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความสัมพันธ์ของครูและลูกศิษย์มาแนะนำ 3 เรื่อง ดังนี้

Dead Poet Society (1989)

          ถ้าพูดถึงครู เราจะนึกถึงหนังเรื่องนี้ มีการนำเสนอความคิดที่แหวกออกไปแล้วทำให้คนต่อต้าน จริงๆ หนังมันเศร้ามากเลย แต่เชื่อว่าหลายคนดูแล้วน่าจะได้แรงบันดาลใจ กระตุกความคิดให้เรานึกถึงสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เป็นหนังที่ข้ามพ้นกาลเวลา ไม่ว่าจะสมัยไหนก็ยังดูได้อยู่

Whiplash (2014)

          หนังเกี่ยวกับครูสอนดนตรีที่เคี่ยวกรำลูกศิษย์อย่างหนักหน่วง ต้องบอกว่าเราเป็นคนที่โตมาคล้ายๆ ในหนังเรื่องนี้เลย ตอนทำงานกับพี่ต่อ-ธนญชัย เรารู้สึกเหมือนโดนหวดแบบในหนัง คำพูดหนึ่งที่พี่ต่อเคยพูด ซึ่งแทบจะเหมือนกันเป๊ะกับประโยคในหนังเลยคือ “ไม่มีประโยคใดในภาษาอังกฤษที่อันตรายไปกว่าคำว่า Good Job”

          มันเหมือนว่าคุณทำอะไรได้ดีประมาณหนึ่ง ได้รับคำชมว่า Good Job แล้วทุกอย่างก็จบไป แต่ความจริงแล้วผลงานมันยังครึ่งๆ กลางๆ อยู่เลย เหมือนที่พี่ต่อเคยพูดกับผม “เฮ้ย โต้ง มึงอยากทำหนังโฆษณาที่ทุกคนดูแล้วพูดว่า น่ารักดีนะ แค่นี้พอเหรอ?” คำพูดนี้ผ่านมาตั้ง 20 ปีแล้ว แต่เรายังรู้สึกว่ามันโคตรใช่ ผมเลยถือคติว่าทำอะไรแต่ละอย่าง อุตส่าห์เหนื่อยทั้งที เราจะไม่มีทางทำอะไรส่งๆ

Mr.Holland Opus (1995)

          เรื่องของคนมีความฝันที่อยากทำอะไรหลายอย่าง แต่สุดท้ายลงเอยด้วยการเป็นครูสอนดนตรี ชีวิตของเขากำลังเดินทางมาสู่บั้นปลาย แล้วจู่ๆ เขาก็รู้สึกว่า เฮ้ย เรายังไม่ได้ทำความฝันให้สำเร็จเลยนี่หว่า แต่ความจริงคือระหว่างทางเขาทำอะไรมามากมายแล้ว ดูจบแล้วรู้สึกว่าเป็นหนังที่น่าประทับใจมากๆ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก