พื้นกระดาน ชานระเบียง เปียกปอน เลอะเละเกรอะเกลื่อนไปด้วยเศษดิน เศษกระถาง กลีบดอกพิทูเนีย หลุดจากต้น ยับ ฉีกขาด กระเจิดกระเจิง ยิบโซเทตัวล่วงกระจายทับเคราฤๅษี ยุ่งเหยิงหลุดลุ่ย
โอ… ห้องสมุดของฉัน ห้องสมุดเพื่อพลเมืองโลกของฉัน
หลังจากได้บ้านไม้ชั้นเดียวหลังเล็ก น่ารัก บนผืนดินติดกับบ้านที่อยู่อาศัยมาด้วยความจำเป็น ฉันเก็บไว้ให้คนเช่านานราว 2 ปี ระหว่างนั้นก็ใคร่ครวญว่าจะทำอะไรกับบ้านหลังนี้
25 มกราคม 2555 น่านยังหนาว ตะวันจวนจะลับฟ้า ฉันจัดงาน ‘เปิดหน้าหนึ่งห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ หลังจากที่ทดลองให้ใช้บริการห้องสมุดมาแล้ว 3 เดือน วันงานมีนักเขียน นักอ่าน เพื่อนฝูง มิตรสหาย ชาวบ้านในชุมชน มาร่วมรับรู้ เป็นแรงใจคับคั่ง มีเพลง มีดนตรี มีเบียร์ น้ำหวาน กับแกล้มกรุบกริบ เพลินเพลิน ผ่อนคลาย สนุกสนาน บอกเล่า ‘ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ’ ผ่านการสัมภาษณ์สดๆ โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียน นักสัมภาษณ์ ผู้มีทรรศนะและวิถีที่ทำให้ฉันเชื่อว่า การทำห้องสมุดบ้านๆ แบบที่ฉันคิดน่ะเป็นไปได้
ฉันไม่ชอบความเคร่งขรึม ความทึบ ความสงัดของห้องสมุดภาครัฐ ไม่ชอบระเบียบกติกาบางอย่าง ไม่ชอบนั่น ไม่ชอบนี่ นู้นนี้นัวเนีย เยอะแยะไปหมด
แน่นอนว่าห้องสมุดภาครัฐที่เหมาะๆ ชอบๆ ก็มี แต่มันน้อยเกินไป ไกลเกินกว่าที่ฉันจะไปใช้บริการได้ ห้องสมุดเอกชนที่ลงตัว ก็คงมี แต่ก็ไม่น่าจะใช่แบบที่ฉันปรารถนาสักเท่าไร
ในทรรศนะของฉัน นอกจากเป็นคลังความรู้แล้ว ห้องสมุดคือความรื่นรมย์ คือความผ่อนคลายด้วย
และถ้าเป็นไปได้ การทำห้องสมุดน่าจะเป็นธุรกิจ สร้างรายได้ได้ด้วย
ถ้าทำได้ เราจะมีห้องสมุดมากมายในทุกหนทุกแห่งทั่วเมือง เหมือนร้านกาแฟ เหมือนร้านชาบู
ฉันจัดให้ความรู้ ความรื่นรมย์ ความผ่อนคลาย มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรูปแบบของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเขียน ระยะเวลานับ 10 ปีที่ทำห้องสมุดมา กิจกรรมค่อยๆ เติบโต แตกแขนงขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างมาบอกเล่าเบาๆ ตามนี้
ว่ากันด้วยงานเล็กๆ ซึ่งจัดกันบ่อยๆ เป็นงานพบปะเสวนา แลกเปลี่ยนทรรศนะ ระหว่างผู้อ่าน ผู้เขียน ผู้สนใจ งานเปิดตัวหนังสือ เช่น งาน ปั่นลั่นกล้อง งานนี้บ.ก.วรวุฒิ วรวิทยานนท์ จากสำนักวิบูลย์กิจ มาว่าด้วยการปั่นจักรยาน ถ่ายภาพ เอามาทำหนังสือ พร้อมฉายหนังกลางแปลง เป็นสารคดีเกี่ยวกับจักรยานของไทย-เทศ มีฝรั่งชาวเดนมาร์ค มาเป็นแขกรับเชิญ พูดถึงการปั่นจักรยานของบ้านเมืองเขา นอกจากพูดคุยเปิดตัวหนังสือแล้ว ก็มีนิทรรศการแสดงภาพถ่ายจัดแสดงไว้ที่ห้องสมุดด้วย
งาน อุรุดามีนาคม – อันนี้ก็อุรุดา โควินท์ มาเนาะ / งาน ฟังเสียงคนหนุ่ม – คุยกับ ธิติ มีแต้ม, อินทรชัย พาณิชกุล นักข่าว นักเขียน / งาน ฝนตกลงมาเป็นหมึก – คุยกับ บ.ก. a day จิรเดช โอภาสพันธวงศ์ และแสดงภาพวาดสีน้ำต้นฉบับของ สารินและเพื่อน / งาน portrait worapoj – คุยกับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ในวาระ 50 ปี ว่าด้วยชีวิตและการงานของเขา พร้อมแสดงภาพเขียนต้นฉบับของศิลปินหญิง สุมาลี เอกชนนิยม / ล่าสุด ก่อนโควิดระบาดรอบ 3 เมื่อเดือนเมษายน 2564 งาน บินหลามาน่าน ว่าด้วยความรัก ความคิดถึง และ 112 / และ ฯลฯ
งานระดับกลางๆ ประเภทจัดค่าย เช่น ค่ายฝึกเขียนบ้านๆ น่านๆ มี บินหลา สันกาลาคีรี, เรืองรอง รุ่งรัศมี, ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ เป็นวิทยากร / ค่ายสารคดี-ถ่ายภาพ มี ยุทธนา อัจฉริยวิญูญู, ศุภชัย เกศการุณกุล, บินหลา สันกาลาคีรี, วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นวิทยากร / ค่ายการ์ตูนที่นี่น่าน มี วรวุฒิ วิทยานนท์, ทวีศักดิ์ แซ่เตียว เป็นวิทยากร / ค่ายอ่านเขียนบทกวี มีเมฆ ครึ่งฟ้า, อนุชา วรรณาสุนทรไชย, วนะ วรรลยางกูร, วาด รวี และอีกหลายกวี เป็นวิทยากร
และท้ายสุดงานใหญ่ ใช้พลังงานมาก คือ งาน Nan Poesie เทศกาลบทกวีที่น่าน ทั้งครั้งที่ 1 และ 2 (ครั้งที่ 3 มีกำหนดจัดงาน แต่ด้วยการระบาดของโควิด 19 รอบ 3 จึงเลื่อนไป และเลื่อนไป) งานที่รวมเหล่ากวี อ่านบทกวีกันสดๆ เนื้อหาเข้มๆ ผสมกับการอ่านบทกวีของประชาชนคนน่าน คนละรส คนละเสียง แลกเปลี่ยนทรงพลัง
ทั้งหมดทั้งมวลของทุกงาน (ยกเว้นการจัดค่าย) จะมีดนตรีสด เบียร์สดบ้าง ไม่สดบ้าง มีนิทรรศการภาพวาดหรือภาพถ่าย และอาจฉายหนังกลางแปลง ร่วมด้วยเสมอๆ ผู้คนที่มาร่วมงาน มาจากทุกทิศทั่วไทยที่สนใจ และทราบข่าวสารจากการประชาสัมพันธ์ งานเหล่านี้ เข้าร่วมชมฟรี
งานเล็กๆ ฉันกับมิตรสหาย ควักเงินส่วนตัวเป็นค่าใช้จ่ายเอง มีบ้านให้นักเขียนพัก มีนักดนตรีเป็นลูกหลานญาติพี่น้อง เครื่องเสียงเครื่องไฟ ก็หยิบยืมมา นักเขียนที่มาก็ยินดีจ่ายค่าเดินทางเอง ผู้ช่วยงานที่เดินทางมาไกล ญาตินักเขียนคนไหน ก็รับผิดชอบช่วยเหลือกันไป ค่าแม่บ้าน ตำรวจบ้านจัดการจราจร ก็ใช้วิธีขายเบียร์เอากําไรมาจ่ายเป็นค่าแรงให้เขา
แต่ถ้าเป็นงานค่าย ห้องสมุดจะเป็นฝ่ายสถานที่ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ บางนักเขียนที่เป็นวิทยากรก็ช่วยหามาให้ บางค่ายก็เป็นส่วนหนึ่งของงานใหญ่ระดับจังหวัด แบบนี้ห้องสมุดไม่ต้องควักเงิน
ส่วนงานใหญ่มาก Nan Poesie เทศกาลบทกวีที่น่าน ต้องเขียนโครงการ วิ่งหางบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุน ซึ่งกว่าจะหาได้ ก็เหนื่อยเหลือแสน พอได้มา ถึงตอนลงมือทำงานก็หนักหนา แต่ทว่าผลของมันก็หอมหวาน อิ่มเอม มีค่ามีความหมายสุดจิตสุดใจ
แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้สร้างรายได้เป็นเงินทองให้ห้องสมุดโดยตรง
แต่มันทำให้ผู้คนทั่วสารทิศ รู้จัก อยากรู้จัก อยากมาหา มาเห็น ห้องสมุดบ้านๆ น่าน ๆ
ห้องสมุดประชาชนต่างจังหวัด หน้าตาคล้ายๆ กัน เป็นตึก เป็นปูน สีสันไม่ลงตัวลงใจกับฉันเอาเสียเลย ต้นไม้ให้ร่มเงาก็แทบจะไม่มี ในห้องสมุดมีซุ้มโต๊ะผูกผ้าผูกโบสะสมฝุ่น รา เชื้อโรค
มันงามตรงไหนหนอ มีประโยชน์อันใดหนอ ไม่มีได้ไหมหนอ เมื่อไม่ชอบ ฉันจึงทำห้องสมุดในแบบที่ชอบ
ไล่เรียงตั้งแต่การจัดแต่งห้องหับ หิ้งวางหนังสือ แขวนภาพเขียนดีๆ ติดภาพวาดเหมาะๆ บนฝาผนัง ผูกเปลญวน วางเก้าอี้โยก ปูเบาะนุ่ม ให้เอนกายเอกเขนก ตั้งโต๊ะเก้าอี้ที่เหมาะกับการนั่งทำงาน-นั่งเล่น ฯลฯ
รอบๆ ห้องสมุดปลูกไม้เลื้อยคลุมชายคา ระย้าดอก รินใบ ไหลเป็นม่านหน้าต่าง มีต้นไม้ให้เงาร่มรื่น อากาศถ่ายเท โล่ง โปร่ง ทอดสายตาออกไปนอกชายคา พบสีสันสารพันของดอกใบ ยามลมผ่านพัดก็โชยกลิ่นหอมมาให้ดอมดม แว่วเสียงเพลงเบาๆ คลอเคลียบางๆ เพลินๆ จากเครื่องเสียงที่ซ่อนซุกจากมุมใดมุมหนึ่งของห้องสมุด
เข้ามาแล้ว ผ่อนคลาย อ่านหนังสือเพลิน อยากอยู่นานๆ
ห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ มีหนังสือเฉียดหมื่นเล่ม ซึ่งได้มาด้วยการกำหนดประเภทหนังสือ แล้วขอรับบริจาค มีผู้สมัครเป็นสมาชิก ถึง ณ เดือนสิงหา ปี 2564 จำนวน 921 คน การเป็นสมาชิกจะมีสิทธิ์ยืมหนังสือออกจากห้องสมุดได้ จ่ายเงิน 100 บาท ยืมได้ตลอดชีพ อายุตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยลงมา เป็นสมาชิกได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน
วิธียืมหนังสือก็ง่ายดาย ไม่เหนื่อยเขา ไม่ลําบากเรา อาศัยความสัตย์ซื่อของคนรักหนังสือ ความระแวงสงสัยว่าหนังสือจะหาย ก็หายไป (ทั้งนี้อาจจะหาย อาจจะไม่ลงทะเบียนยืม ไม่ลงทะเบียนคืนก็เป็นได้) ข้อมูลถึงตอนนี้ มีจำนวนยืมหนังสือไปแล้ว 2,908 ครั้ง ยืมได้ครั้งละ 3 เล่ม (มากกว่าก็ได้) นาน 7 วัน
ฉันยังคงมุ่งมั่นที่จะใช้ห้องสมุดทำเงินหาเลี้ยงชีพให้ได้
แม้จะยังไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินว่าใคร ที่ไหน ทำห้องสมุดเป็นอาชีพ สร้างรายได้มาก่อน
มันเป็นโจทย์ใหญ่มาก ตั้งแต่เข้าเรียน ป.1 จน จบ ป.โท ฉันได้รับการสั่งสอน ฝึกฝนให้เป็นผู้ผลิต แต่ไม่เคยมีหลักสูตรการตลาดสักครึ่งหน่วยกิต หรือกระทั่งแทรกเข้ามาในรายวิชาให้เรียนรู้
ฉันคิดเฉพาะหน้า แก้ปัญหาเฉพาะทางไปเรื่อยๆ
ในรั้วเดียวกันกับห้องสมุดบ้านๆ น่านๆ มีบ้านไม้ 2 ชั้นอีกหลังหนึ่ง คั่นกลางด้วยสนามหญ้าเล็กๆ กั้นสายตาแบ่งโซนด้วยต้นไม้เล็กใหญ่ ชั้นล่างเป็นที่พักอาศัยของครอบครัว ชั้นบนมี 4 ห้องนอน ใช้เป็นที่เก็บข้าวของประดามีของฉันกับน้องชาย เมื่อตั้งต้นตั้งใจเปลี่ยนบ้านแปลงเรือนหลังที่จำเป็นต้องซื้อไว้ ฉันตัดสินใจก่อหนี้เพิ่ม กู้เงินมารีโนเวทบ้านทั้ง 2 ให้แข็งแรง สวยงาม ตามจริตที่ชอบ
บนเนื้อที่ 196 ตารางวา ใจกลางเมืองน่าน ณ ชุมชนบ้านมณเฑียร พื้นที่ในเขตกําแพงเมืองเก่าจึงได้เกิดกลายเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น สวยงามทั้ง 2 หลัง
หลังหนึ่งอยู่ในสุด เป็น Banban Nannan guest home
ชั้นล่างยังคงเป็นที่พักอาศัยของครอบครัว ชั้นบนทำเป็นห้องพักรายวัน มีจำนวน 4 ห้องพัก (แอร์ 2 พัดลม 2) มี 2 ห้องโถง 2 ระเบียง เป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลาง
อีกหลังหนึ่ง เป็น Banban Nannan library
ชั้นบนแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน คือ 1. เป็นห้องหนังสือ มีประตูหน้าต่างมิดชิด 2. เป็นห้องโถงโล่ง รับลมรอบด้าน แม้นจะมีหน้าต่างแต่ก็ไม่เคยปิด เป็นพื้นที่อ่านหนังสือ ทำงาน นั่งเล่น นอนเล่น 3. เป็นห้องพักรายวันที่สร้างเพิ่มขึ้นเมื่อกลางปี 2561 ชื่อห้อง ‘ปรารถนา’ มันสวยงาม มีความเป็นส่วนตัวสูง มีระเบียงหน้าห้อง ที่สำคัญมันอยู่ชิดติดห้องหนังสือ ราคาแพงขึ้นมาอีกนิดแลกกับความงาม ความน่าอยู่ที่ไม่เหมือนใคร 4. เป็นห้องพักของฉันเอง ห้องนี้ต้องเดินผ่านห้องหนังสือเข้าไปอีกที ชื่อ ‘ห้องใบไม้’ ได้ชื่อนี้เพราะดอกสีม่วงใบสีเขียวของสร้อยอินทนิล เลื้อยล้อมอยู่รอบๆ ห้องนี้เพิ่งต่อเติมเสร็จเมื่อปลายกุมภาปี 2564 ตั้งใจว่าจะขายเป็นห้องพักในช่วงไฮซีซั่นด้วย
ชั้นล่างเปิดโล่ง จัดโซนตั้งตู้หนังสือ แบ่งเป็นพื้นที่นั่งอ่าน ทำงาน พักผ่อน เป็นพื้นที่ขายหนังสือ ขายกาแฟสด ขายของฝาก เช่น งานแฮนด์เมด โปสการ์ด สมุดบันทึก พวงกุญแจ ผ้าสวยๆ เสื้อมัดย้อม เซรามิคมือสอง สบู่หอม ลิปสติก ยาดม ยาหม่องสมุนไพร ฯลฯ
‘Banban Nannan library and guest home’
นักเดินทางเกินครึ่ง ทั้งไทยและเทศ เลือกมาพักที่นี่ เพราะคําว่า library
ที่พักกับห้องสมุด เกี่ยวก้อยเดินทางไปด้วยกัน เอื้อประโยชน์แก่กันและกัน ห้องพักในช่วงไฮซีซั่น ถึงขั้นจองล่วงหน้ากันข้ามปีทีเดียวเชียว เช่นเดียวกันกับห้องสมุด ในทุกวันหยุดยาว ผู้คนแวะเวียนเข้ามาสม่ำเสมอ บางวันถึงขั้นไม่มีที่นั่ง มาชื่นชม มาพักผ่อนแล้วจับจ่ายใช้สอย บางคนบอกว่า ‘ช่างเป็นห้องสมุดที่เซ็กซี่เสียจริง’
นักเดินทางหลายคน ถามฉันว่า จังหวัดอื่นๆ มีที่พักที่มีห้องสมุดและเป็นห้องสมุดแบบบ้านๆ น่านๆ บ้างไหม เขาอยากพักค้างคืน พักทำงาน ในสถานที่แบบนี้ จนถึงวันนี้ฉันยังไม่เห็น แม้จะมีหลายคนสนใจมาคลุกคลี ใกล้ชิด เฝ้าดูความเป็นไป อยากจะทำ แต่ก็ยังไม่มี จะมีก็แต่คล้ายๆ เช่น เป็นห้องสมุดด้วย เป็นร้านกาแฟด้วย
แน่นอนเหลือเกินว่า เรื่องราวข้างต้น ไม่ได้เกิดและเติบโตขึ้นภายในปี 2 ปี และก็ไม่ได้เกิดจากคนๆ เดียว ฉันมีครอบครัว มีมิตรสหาย คอยช่วยเหลือเกื้อหนุน บ้างเป็นเรี่ยวแรงหลัก บ้างเป็นเรี่ยวแรงรอง หากแต่ทุกเรี่ยวแรง มันทำให้เกิดเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ ความผ่อนคลาย ความรื่นรมย์ สร้างรายได้ในแบบที่สามารถนับว่ามันเป็นอาชีพได้
และหากว่ามีใครทำ ทำอีก ทำอีก เราก็จะมีห้องสมุดแบบนี้กันทั่วทุกมุมเมือง มันช่างสวยงาม
วันนี้ ถ้าฝนตกลมแรง พื้นกระดานบ้านๆ น่าน ๆ ก็ไม่เปียก ไม่เปรอะแล้ว
ม่วงมณีรัตน์ออกดอกสวยสดปีนป่ายคลุมชายคาห้องสมุด ดอกแก้วส่งกลิ่นหอมแทงช่อมาทักทายคนอ่านหนังสือถึงระเบียงชั้นสอง พวงชมพูเลื้อยไหลจากหลังคาโรงรถมาชิดชนชายคาห้องสมุด ชมนาดส่งตาหวานหาม่านบาหลี พากันย้อยระย้าสนุกสนาน พวงคราม บานบุรี ลั่นทม เล็บมือนาง ดาหลา ต้นกล้วย ชบาแดงสด โมกขาวหอม เหม่อมองช้อนเงินที่เอนกายพิงต้นวาสนา ใกล้กันกับต้นมะม่วงใบดกที่เอียงตัวเป็นยามบังแดดบ่ายริมรั้ว
อา… บ้านๆ น่านๆ ห้องสมุดและเกสต์โฮม
หมายเหตุ : ห้องสมุดยังคงคิดค้น สรรค์สร้างกิจกรรมนานาอยู่เสมอ โปรเจกต์ล่าสุด เริ่มต้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือ Nan Dialogue สื่อออนไลน์รายสัปดาห์ ที่สื่อสารงานเขียนทุกวันศุกร์-เสาร์ นําเสนอบทสัมภาษณ์คนน่าน / ความเรียง / แนะนําหนังสือ / บทกวี / ข่าวสารความเคลื่อนไหว กลิ่นอายเมืองน่าน ฯลฯ โดยมี วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นบรรณาธิการ