ก่อนจบ ม.ปลาย ต้องสอบวิชาปรัชญา ‘Bac Philo’ เหตุผลทางปรัชญาของการศึกษาฝรั่งเศส

1,396 views
7 mins
November 8, 2023

          เมื่อพูดถึงวิชาปรัชญา เราจะนึกถึงอะไรกันบ้าง?

          หลายคนอาจนึกถึงชื่อนักปรัชญาชื่อดัง บางคนนึกถึงตำราเล่มหนาเตอะ ส่วนอีกบางคนนึกอะไรไม่ออกเลย เพราะไม่เคยข้องเกี่ยวกับวิชาปรัชญามาก่อนในชีวิต วิชาปรัชญาในประสบการณ์คนไทยส่วนใหญ่คงเป็นเช่นนั้น มันเป็นคำขึ้นหิ้งชนิดที่ว่า หากไม่ใช่นักศึกษาวิชาปรัชญา ไม่มีความจำเป็นต้องเรียน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรู้ เพราะระบบการศึกษาของเราไม่เคยบอกว่าวิชาปรัชญาเป็นเรื่องสามัญ 

          ขณะเดียวกัน นักเรียนชั้นมัธยมปลายในฝรั่งเศส ทุกคน ทุกสายการเรียน ล้วนต้องผ่านข้อสอบ Bac Philo หรือข้อสอบวัดระดับวิชาปรัชญาเสียก่อน จึงจะนับว่าจบการศึกษาขั้นมัธยมอย่างสมบูรณ์ 

          อะไรทำให้ฝรั่งเศสเชื่อว่าวิชาปรัชญาควรนับให้เป็นวิชาพื้นฐานของนักเรียนมัธยมปลาย และประเทศไทยเราควรยึดฝรั่งเศสเป็นแบบด้วยหรือไม่ ขอชวนมาขบคิดกันอย่างไม่มีถูกผิดแต่อย่างใด

ทำไมถึงต้องเรียนปรัชญา? ชวนมารู้จัก Bac Philo ข้อสอบนักเรียน ม.ปลาย ในฝรั่งเศส
Photo: Ecole polytechnique, CC BY-SA 2.0, via Flickr

Bac Philo

          ข้อสอบ Baccalauréat (บักกาโลเรอาต์) หรือ Bac (บัก) เป็นข้อสอบกลางระดับประเทศที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทุกคนต้องสอบเพื่อจบการศึกษา (คล้ายกับที่เด็กไทยเราสอบ O-NET) และมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ปี 1808 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเสมอภาคในประเทศ และเรื่องขึ้นชื่อของข้อสอบ Bac ก็คือ นอกจากวิชาพื้นฐานอย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือภาษาแล้ว นักเรียนในฝรั่งเศสยังต้องสอบวิชาปรัชญา หรือ Bac Philo ด้วย และดูเหมือนว่า Bac Philo จะอยู่ในความสนใจของสื่อและคนทั้งประเทศมากกว่าวิชาหลักอื่นๆ เสียอีก

          ช่วงกลางปีที่ผ่านมา นักเรียนมัธยมปลายในฝรั่งเศสกว่า 536,000 คน ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเต็ม ตั้งแต่ 08.00-12.00 ไปกับการเลือกตอบคำถามเชิงปรัชญาที่ว่า

          Is Happiness a Matter of Reason?

          ความสุขเป็นเรื่องของเหตุผลหรือไม่

          Is Wanting Peace Wanting Justice?

          การปรารถนาความสงบ คือการปรารถนาความยุติธรรมหรือไม่

          แม้คะแนนสอบวิชานี้จะคำนวนออกมาแล้วเหลือเพียง 4-8% ของผลการเรียนทั้งหมด แต่ด้วยคำถามที่แม้กระทั่งคนโตๆ ยังต้องขบคิด Bac Philo จึงถูกพูดถึงอยู่เสมอทุกปี เมื่อวันสอบใกล้เข้ามา ดาราและ ‘เซเลเบรตี’ จะถูกสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ Bac Philo ของตัวเองลงสกู๊ปข่าว และเมื่อผ่านพ้นวันสอบไปแล้ว คำถามใน Bac Philo ก็จะถูกนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญคนโน้นคนนี้ตอบ (หรือกระทั่งนำไปให้ AI ตอบ) คล้ายกับว่ามันเป็นวาระประจำปีอย่างไรอย่างนั้น

          จากมุมมองของหลายคน (โดยเฉพาะคนในสังคมที่ไม่ค่อยพูดเรื่องปรัชญา) โจทย์ Bac Philo ที่เผยแพร่ออกมาแต่ละครั้งเรียกได้ว่าโหดหินจนไม่น่าเชื่อว่าเป็นข้อสอบนักเรียนมัธยมปลาย เพราะคำถามประเภทว่า เราสามารถเป็นอิสระจากวัฒนธรรมของเราได้ไหม เหตุผลอธิบายทุกอย่างได้หรือไม่ หรือ ความสุขเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาไหม ฟังดูคล้ายหัวข้อสนทนาของเหล่านักปราชญ์เสียมากกว่ามิใช่หรือ

ทำไมถึงต้องเรียนปรัชญา? ชวนมารู้จัก Bac Philo ข้อสอบนักเรียน ม.ปลาย ในฝรั่งเศส
ตัวอย่างข้อสอบ Bac Philo
Photo: Phi MrPhi

ทำไมนักเรียนมัธยมปลาย(และเรา)ต้องเรียนวิชาปรัชญา

          หากวิชาปรัชญาในไทยถูกจำกัดอยู่ในวงแคบและถูกแปะป้ายว่าเป็นเรื่องของผู้รู้ เราคงจะตื่นเต้นกับการสอบปรัชญาในระดับชั้นมัธยมปลายของฝรั่งเศส ทั้งที่ในความเป็นจริง ปรัชญาถูกจัดให้เป็นความรู้พื้นฐานในหลายประเทศทั่วโลก กระทั้งนักวิชาการหลายคนยังเสนอว่าเราควรเริ่มสอนวิชาปรัชญาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเสียด้วยซ้ำ และหากเราได้คลุกคลีอยู่กับเด็กๆ บ่อยๆ ก็จะเห็นว่า เด็กๆ ต่างหากที่เป็นฝ่ายถามคำถามเชิงปรัชญาออกมาเสมอ

          ทำไมเราต้องไปโรงเรียน ทำไมเราต้องเป็นผู้ใหญ่ ทำไมคนเราถึงต้องเกิดและตาย – คำถามแบบ ‘เจ้าหนูจำไม’ เช่นนี้เป็นวิธีการเรียนรู้โลกกว้างของเด็กๆ อีกอย่างหนึ่ง น่าเสียดายที่จิตวิญญาณของเจ้าหนูจำไมมักถูกหลงลืมไปเสียก่อนจะได้เติบโต และในสังคมที่ตั้งคำถามมีความสำคัญน้อยลง วิชาปรัชญาก็ย่อมจะเป็นเรื่องไกลตัวไปอย่างเสียมิได้

          ในการเรียนมัธยมปลายปีสุดท้าย นักเรียนฝรั่งเศสจะได้เรียนวิชาปรัชญามากถึง 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสให้น้ำหนักกับวิชาปรัชญาไม่น้อยไปกว่าวิชาหลักอื่นๆ เพราะระบบการศึกษาอย่างฝรั่งเศสเชื่อว่าหน้าที่ของสถานศึกษาไม่ใช่การสร้างบุคลากรให้เหมาะจะเป็นแรงงาน แต่เป็นการสร้างพลเมืองให้กับสังคมต่างหาก ชั่วโมงที่นักเรียนจะได้ใช้ไปกับการตั้งคำถาม ถกเถียง เรียนรู้ และค้นหาความจริงร่วมกันจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะกับเยาวชนที่กำลังจะก้าวสู่โมงยามของการเป็นผู้ใหญ่ในอีกไม่ช้าไม่นาน

          พลเมืองที่ตื่นรู้และมีความรับผิดชอบคือผู้สร้างรากฐานของประชาธิปไตยให้แบ่งบานได้ในสังคม และเราจะสร้างพลเมืองเช่นนี้ไม่ได้เลย หากสังคมไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม การค้นหาความจริง และการเข้าใจว่าคำตอบของสรรพสิ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่คำตอบเดียว เมื่อเริ่มคิดด้วยเหตุและผลเช่นนี้แล้ว วิธีการเรียนการสอนปรัชญาในห้องเรียนก็จะแตกต่างออกไป และไม่ใช่แค่เรื่องของนักปราชญ์หรือนักศึกษาวิชาเอกเท่านั้น

          ในฝรั่งเศส ชั่วโมงปรัชญาของห้องเรียนมัธยมปลายไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้นักเรียนจดจำชื่อนักปรัชญาก้องโลก แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่ครูและนักเรียนจะได้ร่วมกันศึกษาวิธีมองโลก วิธีตั้งคำถาม และวิธีคิด ที่จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ขึ้น และชาวฝรั่งเศสก็เชื่อว่า การได้จมจ่อมขบคิดอยู่กับคำถามยากๆ หรือเรื่องใหญ่ๆ ในช่วงวัยใกล้ 20 นี่แหละที่คือพิธีเปลี่ยนผ่านจากจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ได้ดีที่สุด – เพราะเหตุนี้ วิชาปรัชญาจึงเป็นวิชาสำคัญของฝรั่งเศสเสมอมา

ทำไมถึงต้องเรียนปรัชญา? ชวนมารู้จัก Bac Philo ข้อสอบนักเรียน ม.ปลาย ในฝรั่งเศส
Photo: THE MACDUFFIE SCHOOL on Pexels

หรือปรัชญาจะเป็นวิชาที่น่าเบื่ออยู่ดี?

          แม้จะมีหลักการและน่าสนใจ แต่การเรียนการสอนและการสอบ วิชาปรัชญาในระดับมัธยมปลายของประเทศฝรั่งเศสก็ถูกวิจารณ์อยู่เสมอ (ช่างสมกับเป็นเมืองแห่งการปลูกฝังทักษะ Critical Thinking) เป็นต้นว่ารูปแบบการสอนวิชาปรัชญาในห้องเรียนมัธยมอาจกดดันทั้งผู้สอนและผู้เรียน ด้วยว่ามันคือการต้องพยายามเรียบเรียงข้อเขียนจากนักคิดคนสำคัญของโลกจากอดีตเป็นร้อยๆ ปี ให้เข้าไปอยู่ในใจของวัยรุ่นวัยพลุ่งพล่าน แม้ว่าโดยหลักการจะน่าสนุกและน่าสนใจขนาดไหน เชื่อว่าในชั่วโมงเรียนก็คงไม่ได้ราบรื่นสมบูรณ์แบบไปเสียทุกครั้งแน่ๆ

          ข้อครหาประการที่สองคือตำราเรียนวิชาปรัชญาของฝรั่งเศสยังคงเป็นตำราเรียนแบบดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยประวัติของนักปรัชญาและแนวคิดโดยสรุปซึ่งอาจทำให้วิชาปรัชญาสูญเสียความลุ่มลึกบางอย่างไป แม้การเรียนการสอนในห้องเรียนจะถูกออกแบบได้ตามสมควร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท้ายที่สุดกิจกรรมการเรียนการสอนควรยึดโยงกับหนังสือและหลักสูตร เพื่อให้เกิดมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ หากวิชาปรัชญาตั้งต้นด้วยตำราเล่มหนาเตอะที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดการคิดเชิงวิพากษ์ วิชาปรัชญาก็อาจจะเป็น ‘วิชาบลาๆๆ’ แสนน่าเบื่ออยู่ดี

          เหนือสิ่งอื่นใด รูปแบบการเขียนตอบของ Bac Philo ยังถูกสอนให้เป็นการเขียนตอบตามขนบ มีโครงสร้างการเขียนเฉพาะ เช่นว่าต้องเริ่มต้นด้วยการแปลความคำถามก่อน แล้วจึงตอบคำถามโดยใช้การยกตัวอย่างหรือการอรรถาธิบายด้วยวิธีใดบ้าง จึงจะเป็นคำตอบที่ได้คะแนนดี (อาจเทียบได้กับการสอบนักธรรมซึ่งมีรูปแบบการเขียนเฉพาะ) ดังนั้นในแง่หนึ่ง Bac Philo นี่แหละที่อาจปลูกฝังให้นักเรียนเชื่อว่าปรัชญามุ่งเน้นไปที่รูปแบบมากกว่าวิธีคิดที่มีความหมาย

          ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ ก็ยังไม่มีเหตุผลสักข้อเดียวที่ควรยกเลิกการเรียนการสอนวิชาปรัชญาในระดับชั้นมัธยม Bac Philo จึงยังคงเป็นข้อสอบสำคัญของฝรั่งเศสเรื่อยมาจนถึงวันนี้ และระหว่างทางก็มีการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรอยู่เสมอ เพื่อให้วิชาปรัชญาเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากคำว่าตำราและน่าเบื่อ และกลายเป็นวิชาแห่งการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี

ทำไมถึงต้องเรียนปรัชญา? ชวนมารู้จัก Bac Philo ข้อสอบนักเรียน ม.ปลาย ในฝรั่งเศส
Photo: Ecole polytechnique, CC BY-SA 2.0, via Flickr

เด็กไทยควรคุยเรื่องปรัชญาบ้างไหม

          ย้อนกลับมาสู่คำถามที่ว่า แล้วประเทศไทยล่ะ ควรจัดสอบวิชาปรัชญาในระดับชาติบ้างดีไหม?

          สิ่งแรกที่ควรระวังที่สุดในการจัดการเรียนการสอนก็คือ เราไม่สามารถยกหลักสูตรของที่ใดที่หนึ่งมาทาบทับกับผู้เรียนอีกกลุ่มหนึ่งได้ แม้การบรรจุวิชาปรัชญาไว้ในหลักสูตรจะมีข้อดีมากมาย แต่มันก็จะเป็นวิชาไร้ประโยชน์ไปในพริบตาหากเราไม่สามารถตอบได้ว่า เด็กไทยเรียนปรัชญาแล้วจะได้อะไร 

          แน่นอนว่าด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงที่แสดงไว้ตั้งแต่ต้น วิชาปรัชญาเป็นแบบฝึกหัดสำหรับการคิดเชิงวิพากษ์ที่ยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเด็กไทย หรือเด็กของประเทศไหนๆ ก็ควรได้สัมผัสโลกของปรัชญาไปตามความเหมาะสม โจทย์สำคัญก็คือ หากเด็กไทยจะเรียนปรัชญา เราควรจัดการเรียนการสอนอย่างไรต่างหาก

          หากเริ่มต้นด้วยชื่อนักปรัชญาคนสำคัญ หรือการโยนคำถามโหดหินที่ลอกมากจาก Bac Philo ตั้งแต่คาบเรียนแรก ข้อสอบวิชาปรัชญาท้ายเทอมก็คงจะเป็นเพียงการท่องจำคำตอบที่เคยมีมาแล้วในอดีตไปเขียนให้ตรงตามรูปแบบที่กำหนด ความท้าทายของผู้สอนวิชาปรัชญาในไทยคือเราจะช่วยให้นักเรียนกล้าตั้งคำถามได้อย่างไรในวัฒนธรรมที่หล่อหลอมว่านักเรียนที่ดีคือนนักเรียนที่เชื่อฟังคำสั่ง

          นอกเหนือจากวิธีการสอนแล้ว กำแพงสำคัญที่หลักสูตรหรือสถาบันการศึกษาต้องก้าวให้พ้นก็คือแนวคิดอย่างพุทธศาสนาซึ่งถูกบรรจุเป็นเนื้อหาบังคับมาเนิ่นนาน คำตอบอย่างศาสนาอาจทับซ้อนพื้นที่ของปรัชญาได้และนั่นไม่ใช่เรื่องต้องห้าม เพียงแต่วิธีคิดที่ตัดสินว่าสิ่งใดดี-เลว ถูก-ผิด ย่อมจะไม่เอื้อให้การขบคิดเชิงวิพากษ์เติบโตได้ทั้งในห้องเรียนและชีวิตจริง

          ท้ายที่สุด คำถามที่ว่าเด็กไทยควรเรียนหรือไม่ควรเรียนวิชาใดบ้าง คงไม่สำคัญเท่ากับจุดมุ่งหมายในการเรียนและการสอบในปัจจุบันคืออะไร มันสร้างทักษะที่พึงมีในอนาคตอันใกล้นี้ได้มากแค่ไหน และมันจะสร้าง ‘ผู้ใหญ่ที่ดี’ มาเป็นพลเมืองโลกได้อย่างไรเสียมากกว่า และหากยังตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ จะเป็นวิชาปรัชญาหรือวิชาใดๆ ก็คงไร้ความหมาย และวลี ‘สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว’ ก็คงจะถูกผลิตซ้ำไปอีกแสนนาน


ที่มา

บทความ “‘Teach philosophy in primary schools,’ says academic” จาก telegraph.co.uk (Online)

บทความ “A History of the French Baccalaureate Exam” จาก aaweparis.org (Online)

บทความ “Bac 2023. W4e passed the philosophy test at Chat GPT and here is a teacher’s answer key” จาก euro.dayfr.com (Online)

บทความ “Bac 2023: the corrected philosophy” จาก newsrnd.com (Online)

บทความ “Why Study Philosophy?” จาก phil.washington.edu (Online)

Cover Photo: Ecole polytechnique, CC BY-SA 2.0, via Flickr

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก