‘บาบิน ยาร์’ อนุสรณ์แห่งบาดแผลเก่าที่ถูกเล่าใหม่

992 views
6 mins
September 14, 2021

          บาบิน ยาร์ (Babyn Yar) อาจเป็นชื่อหุบเขาแห่งหนึ่งในกรุงเคียฟ (Kiev) ประเทศยูเครน ที่ไม่คุ้นหูของเราเท่าไรนัก แต่สำหรับชาวยูเครนและชาวยิวในยูเครน มันยังเป็นชื่อของการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่กระทำโดยนาซีเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้พื้นที่นี้จะกลายเป็นสวนสาธารณะอันเงียบสงบในปัจจุบัน แต่มันกลับซ่อนอดีตอันเลวร้ายไว้ใต้ผืนหญ้าอันเขียวชอุ่ม

          นักประวัติศาสตร์ประมาณการณ์ว่าในช่วงระหว่างปี 1941-1943 ที่นาซีเยอรมนียึดครองเมืองนี้ มีผู้คนมากมายได้สังเวยชีวิตในหุบเขาแห่งนี้มากกว่า 100,000 ราย แม้เรื่องราวจะผ่านไปราว 80 ปี แต่ชาวยูเครนยังมีบาดแผลแห่งสงครามที่ฝากรอยประทับไว้มากมาย บาบิน ยาร์ เป็นหนึ่งในบาดแผลเก่าที่ผู้คนไม่อาจลืมเลือนได้

           ในช่วงเดือนมกราคมปี 2021 รัฐบาลยูเครนได้ประกาศเปิดตัวโปรเจกต์ ‘อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งบาบิน ยาร์’ (Babyn Yar Holocaust Memorial Center) โดยจะมีอนุสรณ์สถานทั้งของจริงและอนุสรณ์สถานออนไลน์สไตล์ interactive ให้ผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสประสบการณ์และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

อดีตอันเลวร้าย

          ย้อนกลับไปในปี 1941 เป็นช่วงเวลาที่เยอรมนีนำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กำลังเริ่มปฏิบัติการบาบารอสซา (Operation Barbarossa) เพื่อรุกรานสหภาพโซเวียตแบบสายฟ้าแลบโดยไม่ให้อีกฝ่ายตั้งตัวทัน

          แผนการระยะยาวของนาซีคือการจับจองพื้นที่อันกว้างใหญ่ในยุโรปตะวันออก เพื่อสร้างเป็นพื้นที่อาศัยของชาวอารยันเลือดบริสุทธิ์ที่เรียกว่า ‘เลเบนส์รอม’ (Lebensraum) และการจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ก็ต้องกำจัดเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่าออกไปให้สิ้น ไม่ว่าจะชาวยิว ชาวสลาฟ ชาวโรมา หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในยุโรปตะวันออก รวมไปถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่นาซีมองว่าเป็นภัยต่ออารยธรรมชาวอารยันด้วย

          ในพื้นที่ที่เยอรมนีย่างกรายเข้าไป กลุ่มคนที่ถูกมองว่าไม่พึงประสงค์มักถูกกำจัดอย่างรวดเร็วและไร้ความปราณี โดยกองทัพเยอรมัน (Wehrmacht) และหน่วยเอสเอส (SS) ต่างเป็นผู้ลงมือด้วยกันทั้งคู่

          วันที่ 19 กันยายน ปี 1941 กองทัพเยอรมันสามารถยึดครองกรุงเคียฟ อันเป็นนครหลวงของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (Ukrainian SSR) ได้สำเร็จ ชาวยูเครนบางส่วนหันไปให้ความร่วมมือกับผู้รุกรานทันที และไม่กี่วันต่อมาก็มีประกาศให้ชาวยิวทั้งหมดในพื้นที่รอบเมืองเคียฟมารวมตัวกันในวันที่ 29 กันยายน พร้อมทั้งเสื้อผ้าและทรัพย์สินที่มี

          เมื่อถึงวันที่นัดหมาย ชาวยิวมากกว่า 30,000 คนได้เดินทางมายังจุดที่นัดไว้ พวกเขาทั้งหมดถูกทหารเยอรมันและผู้สมรู้ร่วมคิดชาวยูเครนต้อนไปยังหุบเขาบาบิน ยาร์ โดยระหว่างทางพวกเขาถูกปลดทรัพย์สินและเสื้อผ้าทีละชิ้นจนเหลือแต่ร่างกายเกือบเปลือยเปล่าในจุดสุดท้าย ก่อนจะถูกยิงทิ้งในหลุม ส่วนเหยื่อกลุ่มต่อไปก็ต้องเผชิญกับชะตากรรมเดียวกันจนศพกองพะเนินกันสูงท่วมร่องเขา

          ด้วยความที่มีนักโทษยืนกันแออัดแน่นพื้นที่ ทำให้คนข้างหลังแทบไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจนกระทั่งถึงคิวของตนเอง และกว่าจะรู้เรื่องได้ ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว

          ในช่วงเวลา 2 วันระหว่าง 29-30 กันยายน ชาวยิวถูกสังหารหมู่ไป 33,771 ราย มีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพียง 29 คนเท่านั้น หลังจากนั้นกองทัพเยอรมันยังใช้สถานที่เดียวกันเป็นจุดสังหารหมู่ผู้คนอีกมากกว่า 100,000 ราย โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ทั้งชาวโรมา คนพิการ เชลยศึก และฝ่ายซ้าย

          ช่วงปี 1943 เมื่อฝ่ายโซเวียตรุกคืบเข้ามา พวกเยอรมันจึงทำลายหลักฐานด้วยการเผาทำลายศพและกลบฝังหลุมขนาดใหญ่ แต่จุดสังหารโหดก็ถูกค้นพบโดยกองทัพแดงหลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลโซเวียตสั่งกลบหลุมอีกครั้ง จุดที่มีการสังหารหมู่ถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ โดยมีอนุสรณ์สถานขนาดเล็กกระจัดกระจายไปในพื้นที่แทน

ประวัติศาสตร์ที่สัมผัสได้

          โปรเจกต์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งบาบิน ยาร์ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2016 โดยแรกเริ่มถูกวางโครงให้เป็นอนุสรณ์สถานและศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรูปแบบอาคารพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ ซึ้งจะสร้างขึ้นในพื้นที่ที่เคยมีการสังหารหมู่ การก่อสร้างอนุสรณ์ขนาดแห่งนี้คาดว่าจะเสร็จสิ้นและเปิดให้เข้าชมได้ในปี 2026

          แต่แล้วเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี 2021 โครงการนี้มีการประกาศเปลี่ยนแผนใหม่ว่าจะสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานแยกเป็น 12 อาคารด้วยกัน โดยครอบคลุมพื้นที่ราว 370 เอเคอร์รอบหุบเขาบาบิน ยาร์ ซึ่งแต่ละโซนจะมีธีมและกิจกรรมที่แตกต่างกันไป โซนเหล่านี้มีตั้งแต่การเดินทางตามรอยเหยื่อ โซนศึกษาผ่านจดหมายเหตุและฟังปากคำพยานเหตุการณ์ โซนสำหรับสงบนิ่งกับบรรยากาศในธรรมชาติ ไปจนถึงโซนสำหรับสวดมนต์ภาวนา นอกจากนี้ยังมีโซนที่มีเสาติดตั้ง Audio-Visual ให้ผู้เยี่ยมชมสามารถรับฟังวิทยุในช่วงสงคราม บันทึกเทปของคนท้องถิ่น รวมไปถึงเสียงเพลงของชุมชนชาวยิว ชาวโรมา และเพลงศาสนาจากยุคสงครามได้

          โครงการนี้ยังได้ อิลยา เครอะชานอฟสกี้ (Ilya Khrzhanovsky) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวรัสเซียที่เคยกวาดรางวัลมาแล้วทั่วโลก มาเป็นผู้กำกับศิลป์ให้ เขาวางแผนให้ผู้เยี่ยมชมได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศอันน่าสะพรึงของการสังหารหมู่ผ่านกิจกรรมแบบ interactive โดยใช้เทคโนโลยีอย่าง VR เข้ามาช่วย

          “เทคโนโลยีไม่ใช่จุดหมายในตัวมันเอง มันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง แต่มันยังเป็นภาษาใหม่ด้วย เทคโนโลยี VR จะทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงความรู้สึกของเหยื่อ เข้าใจว่าพวกเขากับครอบครัวเป็นใคร ทำให้ได้ยินเสียงจากอดีต และมีส่วนร่วมในความรู้สึก ความคิด กับการกระทำของพวกเขา” เขากล่าว

          นอกจากการเรียนรู้ในสถานที่จริง โครงการนี้ยังมีแผนสร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์เกี่ยวกับบาบิน ยาร์ ควบคู่ไปกับอนุสรณ์สถานจริง โดยมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยสร้างสื่อการเรียนรู้แบบ interactive ไปในตัว

          ในเว็บไซต์ BabynYar.org มีการจัดแบ่งหมวดหมู่ข้อมูลเกี่ยวกับการสังหารหมู่นี้ไว้ค่อนข้างละเอียด แม้จะยังไม่สมบูรณ์ดี มีหลายหมวดด้วยกัน ตั้งแต่หมวด Encyclopedia ที่คอยให้ข้อมูลเบื้องต้นกับผู้เยี่ยมชม หมวด Voices ที่รวบรวมคำให้การของพยานและผู้รอดชีวิตที่ยังหลงเหลืออยู่ในรูปแบบวิดีโอ

          หมวดที่น่าสนใจและค่อนข้างสมบูรณ์คือหมวด Library ซึ่งทำหน้าที่เสมือนคลังเอกสารและภาพถ่ายไปในตัว รวบรวมภาพถ่ายและโปสเตอร์ของเคียฟตั้งแต่ช่วงปี 1920 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในรูปแบบดิจิทัล แบ่งเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ ตั้งแต่คลังภาพของผู้ช่วยเหลือนักโทษให้รอดชีวิต โปสเตอร์พรอพากานด้าจากหลายฝ่าย รูปภาพจิปาถะที่ทำให้เราเห็นชีวิตที่แสนธรรมดาของผู้คน ภาพถ่ายเล่นในครอบครัวของผู้เสียชีวิต ไปจนถึงภาพการสังหารหมู่และศพมากมายที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสถานที่เดียวกันในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ จดหมายต่างๆ ก็ถูกรวบรวมไว้ให้อ่านในหมวดนี้เช่นกัน แม้จะยังไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่คาดว่าในอนาคตเราคงได้เห็นฉบับแปลหลายภาษาเมื่อเว็บไซต์สมบูรณ์แล้ว

          แม้จะมีข้อกังขาว่าการทำอนุสรณ์สถานในรูปแบบ interactive จะเป็นการไม่ให้เกียรติเหยื่อ โดยทำอนุสรณ์สถานให้เป็นเรื่องสนุกมากกว่าการรำลึกถึงความสูญเสีย แต่นายเครอะชานอฟสกี้ก็ยืนยันเสียงแข็งว่า ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเคารพสูงสุดต่อเหยื่อของเหตุการณ์นี้

          “สิ่งที่สำคัญคือการเข้าใจว่า แนวทางของเราทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการมองว่า บาบิน ยาร์ เป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์”

เว็บไซต์ BabynYar.org


ที่มา

Babyn Yar Official Website [online]

World’s largest Holocaust memorial planned for Ukraine’s Babyn Yar ravine [online]

Ukraine Unveils Plans for a $100 Million Interactive Holocaust Memorial, But Faces Criticism Over Director’s Proposal to Experiment on Visitors [online]

Mystery solved: Babyn Yar massacre location pinpointed after 79 years [online]

Babyn Yar Historical Memorial Center in International 2-stage design competition [online]

Holocaust: Synagogue opens at Nazi massacre site in Ukraine [online]

Lessons from Babyn Yar: History, Memory and Legacy [online]

Dorte Mandrup: Babyn Yar Holocaust Memorial Center [online]

Babyn Yar Unveils Plans for New Memorial Ahead of International Holocaust Remembrance Day on 27 January [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก