ลองลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์สังคมไทยในจานอาหาร กับอาสา คำภา

2,032 views
7 mins
June 7, 2023

          ‘มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง…’ คือความท่อนหนึ่งในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งปรากฏในแบบเรียน และกลายเป็นเมนูภาพจำหนึ่งของอาหารไทยที่มีชื่อเสียง ถ้าจะพูดถึงประวัติของเมนูนี้คงต้องย้อนไปถึงการรับอิทธิพลของมุสลิมตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังมีอาหารไทยลือชื่ออีกหลายจานที่เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรม เช่น ผัดไทย ซึ่งมีที่มาจากเมนูก๋วยเตี๋ยวผัดของชาวจีนโพ้นทะเล

          ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนของ ‘รูปทิพย์’ แห่งความเป็นไทยผ่านอาหารที่ถูกกำหนดผ่านสนามของการต่อสู้ ต่อรอง และช่วงชิงความหมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

          อาสา คำภา นักวิจัยประจำ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทดลองอธิบายเส้นทางของอาหารไทยในประวัติศาสตร์ กระตุกต่อมความสงสัยว่าอาหารไทยแท้คืออะไรกันแน่ และเบื้องหลังจานอาหารที่เราคุ้นเคยกันดี แอบแฝงการครอบงำและบงการความคิดเรื่องการกินอยู่บ้างหรือไม่

          ความคิดข้างต้นเป็นที่มาของหนังสือ รสไทย(ไม่)แท้: ถอดรูปทิพย์อาหารไทยในสนามการเมืองวัฒนธรรม ซึ่งปรับมาจากงานวิจัยวิชาการให้กลายเป็นเนื้อหาย่อยง่าย อ่านอร่อย ที่เราอยากให้คุณได้ลิ้มลองผ่านบทสนทนานี้

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

          หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงมาจากงานวิจัยภายใต้ ‘แผนการพัฒนาฐานข้อมูลวัฒนธรรมอาหารไทยสู่การเป็นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมและการท่องเที่ยวด้านอาหารไทย’ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2561 นักวิจัยท่านอื่นๆ ในสถาบันไทยคดีศึกษาก็มีงานวิจัยในประเด็นต่างๆ ที่อยู่ภายใต้กรอบดังกล่าว เช่น อาหารในจิตรกรรมไทย คอร์สเรียนทำอาหารไทย

          ในช่วงเวลานั้น ผมเองเพิ่งกลับมาจากเรียนปริญญาเอกและยังไม่รู้จะทำอะไรดี คือเรากำลังยุ่ง ในหัวเต็มไปด้วยข้อมูลต่างๆ มากมายในบริบทและช่วงเวลาที่เพิ่งทำวิทยานิพนธ์เสร็จ ผมก็เลยมานั่งคิดว่าถ้าจะทำเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมอาหารให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ควรจะนำเสนออย่างไร เพราะถ้าให้มาบอกว่าอาหารไทยดีเลิศยังไงถึงได้กลายเป็นอาหารอันดับหนึ่งของโลก ผมว่าการพูดแบบนี้มันน่าเบื่อ ผมก็เลยลองเสนอภาพอีกมุมหนึ่งว่าอาหารไทยที่จริงมันไม่ไทยเลยนะ

ลองลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์สังคมไทยในจานอาหาร กับอาสา คำภา

คุณมีวิธีการศึกษาค้นคว้าร่องรอยเหล่านี้อย่างไร

          จริงๆ แล้วหลายคนที่สนใจก็อาจจะพอรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง เช่น มัสมั่น ซึ่งชื่อก็ไม่ใช่ไทย แต่เราต้องทำอะไรที่มันลึกกว่านั้น จึงกลายมาเป็นการศึกษาเส้นทางการเดินทางของอาหารไทยว่าถูก ‘สร้าง’ และ ‘กำหนดนิยาม’ มาอย่างไรบ้าง โดยผมใช้แนวคิด ‘การเมืองวัฒนธรรม’ ทางรัฐศาสตร์มาช่วย ยุคหนึ่งอาหารไทยถูกนิยามโดยคนกลุ่มหนึ่ง อีกยุคถูกนิยามโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง ต่อมาถูกช่วงชิงกลับไปได้ ทั้งหมดนี้คือการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้ปริมณฑลทางวัฒนธรรม

          ผมศึกษาโดยการค้นคว้าและใช้ข้อมูลหลายแบบซึ่งก็เข้าทางเราที่เป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย และถ้าดูในรายละเอียดของเนื้อหาจะเห็นว่างานชิ้นนี้เป็นงานเชิงกว้างมากกว่าเชิงลึก ผมใช้การศึกษาต่อยอดจากงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารที่นักวิชาการท่านอื่นๆ เคยศึกษาไว้บ้างแล้ว เราก็เลือกหยิบที่เป็นแก่นและเอามาขยำเล่าใหม่ รวมทั้งดูปรากฏการณ์อาหารผ่านสื่อต่างๆ เช่น ภาพยนตร์ ข่าว กระทู้ออนไลน์ เรียกว่าเป็นการสังเคราะห์ข้อมูลให้เป็นงานใหม่แบบของเราเอง

ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ว่าอยากนำเนื้อหามาแปลงเป็นหนังสือให้คนอ่านง่าย เพราะงานวิจัยจำนวนไม่น้อยมักถูกนำไปขึ้นหิ้ง

          จริงๆ ตอนทำผมก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องสื่อสารในวงกว้างนะ แค่อยากทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มุมกลับ แต่พอลองทำไป ผมคิดว่างานแบบนี้ ใครๆ ก็น่าจะพออ่านเข้าใจและน่าจะสนใจอ่านด้วย ผมเลยลองนำไปเสนอสำนักพิมพ์ ตอนปรับเป็นหนังสือผมก็ไม่ได้ปรับเยอะ มีตัดเนื้อหาบางส่วนออกไปเล็กน้อย เช่น บททบทวนวรรณกรรม หรืออะไรต่างๆ ที่ผมรู้สึกว่ารุงรังไปสำหรับหนังสือ และมีการปรับสำนวนบ้าง มีบรรณาธิการมาช่วยดู

          พอหนังสือออกมาแล้ว ผมไปอ่านสิ่งที่คนเขารีวิว เห็นได้ว่าเขาอ่านแล้วเอาไปคิดต่อและเชื่อมโยงกับชีวิตตัวเอง เช่น สมัยก่อนคุณพ่อคุณแม่ฉันก็เป็นแบบนี้ เพราะตัวอย่างที่ผมยกมามันเป็นส่วนเล็กๆ ที่แต่ละคนสามารถเอาไปสานต่อได้อีก เหมือนเราไปช่วยกระตุกต่อม เอ๊ะ! ประมาณนั้น

          ส่วนเรื่องของงานวิจัยขึ้นหิ้ง ทุกวันนี้งานวิจัยส่วนหนึ่งถูกกำหนดจากเงื่อนไขทุนด้วย อีกอย่างผมคิดว่างานวิจัยที่ผลิตออกมาแล้วสามารถกระจายไปสู่สังคมวงกว้าง เนื้อหาจะต้องไม่ลึกหรือยากเกินไป แต่ควรเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างและมีประเด็นที่คม หากคมแต่ลึกเกินไปก็อาจเหมาะกับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น ถ้าคุณทำงานวิจัยเรื่องศึกษาชุมชนหรือหมู่บ้านใดสักแห่งหนึ่ง มันก็ยากที่จะแมสเพราะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในมหาสมุทรแห่งความสนใจของผู้คน

ลองลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์สังคมไทยในจานอาหาร กับอาสา คำภา

ปรากฏการณ์เกี่ยวกับอาหารไทยอะไรบ้างที่คุณคิดว่าน่าสนใจ และคุณวิเคราะห์เห็นอะไรในนั้น

          ผมขอยกตัวอย่าง ภาพยนตร์เรื่อง ‘พริกแกง’ จากที่ผมลองสืบข้อมูลความคิดเห็นจากสื่อออนไลน์ต่างๆ พบว่าหนังเรื่องนี้โดนด่าชิบเป๋ง (หัวเราะ) ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างและถูกโปรโมตในช่วงหลังการทำรัฐประหาร โดยรัฐบาล คสช. (พ.ศ.2557-2562) อีกเรื่องที่สืบเนื่องกันมา คือ การมอบตราสัญลักษณ์รสไทยแท้ (Thai SELECT) โดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตรานี้เป็นความพยายามของรัฐเพื่อกำหนดนิยามว่ารสชาติอาหารไทยที่ดีควรจะเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้การให้เครื่องหมายเกี่ยวกับอาหารว่าร้านนี้อร่อย ส่วนใหญ่เป็นการทำกันเองโดยเอกชน ไม่เคยมีว่ารัฐจะเข้าไปบอกว่าต้องเป็นตามนั้นตามนี้ พอไปดูความเห็นในโลกออนไลน์เกี่ยวกับตรานี้ คนก็ด่ากันเละอีก

          คุณจะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถไปกะเกณฑ์ หรือคุมความหลากหลายทางความคิดของคนว่าอาหารจานนี้ต้องมีรสชาติแบบนั้นแบบนี้ แต่เป็นลักษณะที่คอยดึงกันไปดึงกันมา คนกลุ่มหนึ่งก็จะพยายามสร้างความเป็นไทยนำเสนอมาตรฐาน ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็โต้แย้งว่าบรรทัดฐานคืออะไร เพราะอย่างส้มตำที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน

          ดังนั้น เรื่องของอาหารจึงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะมาบงการกันได้ง่ายๆ นี่คือคำตอบเบื้องต้น แต่ว่าในความเป็นคนไทย กินอาหารไทยนั้น เราปลอดจากการถูกควบคุมจริงหรือเปล่า

อาหารไทยมีเส้นทางการ ‘สร้าง’ และกำหนด ‘นิยาม’ อย่างไรบ้าง

          แต่เดิมเรายังไม่มีคอนเซปต์เรื่องไทยไม่ไทยลองดูตำราอาหาร ‘แม่ครัวหัวป่าก์’ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าเป็นตำรับตำราอาหารไทยดั้งเดิมโบราณ แต่เอาเข้าจริงโดยสารัตถะของมันโคตรฝรั่งเลย ถ้าคุณลองดูเนื้อหา องค์ประกอบ และวัตถุดิบที่อยู่ในเล่มนี้เป็นการนำแม่แบบมาจากตำราฝรั่งของอิซาเบลลา บีตัน (Isabella Beeton) ซึ่งจริงๆ ในเชิงวิชาการมีคนพูดไว้อยู่บ้างแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผมเอามาเล่าให้เห็นภาพมากขึ้นว่าจากจุดเล็กๆ ที่คุณเคยคิดว่าไท๊ยไทย จริงๆ มันไม่ใช่

          ชนชั้นนำไทยสมัยก่อนไม่เคยปฏิเสธต่างชาติ อาหารในตำราแม่ครัวหัวป่าก์คือของนอก เป็นอาหารแห่งชนชั้น อาหารแบบมีคลาส นั่นเพราะว่าตอนนั้นเรายังไม่มีคอนเซปต์เรื่องชาติ ไม่ได้คิดเรื่องไทยไม่ไทย การบริโภคอาหารที่ไม่มีในท้องถิ่นคือความไฮโซ เราจึงเห็นเมนู เช่น ข้าวบุหรี่ที่เป็นอาหารเปอร์เซีย แต่พอมีคำว่า ‘ความเป็นไทย’ เกิดขึ้นมาแล้ว อาหารเหล่านั้นดันถูกเอามาใส่ในกรอบนี้ซะงั้น

          อีกยุคหนึ่ง อาหารไทยเคยถูกกำหนดโดยรัฐ เช่น ยุคจอมพล ป. มีการนำนิยามอาหารไปสัมพันธ์กับคติว่าราษฎรพลเมืองจะต้องมีร่างกายแข็งแรง ทำให้มีการสร้างโภชนาการแบบใหม่ รณรงค์ให้คนกินโปรตีนมากขึ้น

          หรือถ้าคุณย้อนไปดูในเอกสารเก่า เช่น บันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในนั้นมีการระบุไว้ว่าคนไทยกินข้าวกับปลาและที่กินกันมากคือปลาหมักเกลือ คนอยุธยาและลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดกินปลาร้าแน่นอน เพราะเป็นอาหารร่วมในภูมิภาคอุษาคเนย์ แต่พอมาอีกยุค ปลาร้ากลายเป็นอาหารลาวเฉยเลย เนี่ยคือ ไทยไม่ไทยอยู่ที่ใครนิยาม

ลองลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์สังคมไทยในจานอาหาร กับอาสา คำภา

ถ้าอย่างนั้นการจับคู่ระหว่างค่านิยมความเป็นไทยกับอาหารเกิดขึ้นบนเงื่อนไขอะไร

          ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ยุคที่คณะราษฎรมีบทบาทคือช่วงปี 2475-2490 แต่พอหลังปี 2490 เป็นต้นมา มันมีการสวิงกลับมาเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมมากขึ้น การศึกษาไทยจึงถูกหลอมไอเดียความเป็นไทยที่คุมโดยชนชั้นนำสายจารีตประเพณี เช่น ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บทกล่าวไหว้ครู ‘ปาเจราจริยาโหนติ…’ ที่เราท่องกันมาตั้งแต่เด็กก็แต่งขึ้นโดยภรรยาของหม่อมหลวงปิ่น ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา หรือการบรรจุกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ‘มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง’ ในแบบเรียน รวมถึงการเชิดชูอะไรๆ ที่เป็นไทยจ๋า ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ นิยามอาหารไทยถูกเอามาผสมผสานกับอุดมการณ์อาหารที่ดีแบบของคณะราษฎร การบอกว่าวรรณกรรมไทย ศิลปะไทยแบบจารีตประเพณี (ในกรุงเทพฯ) เป็นสิ่งดีงามที่สุด ทั้งหมดคือความคิดแบบส่วนกลางซึ่งถูกเชป (Shape) มาจากชนชั้นนำ

          เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่าง จะเห็นได้ว่านิยามอาหารในแต่ละยุคนั้นถูกกำหนดทั้งโดยทุน โดยรัฐ โดยอะไรต่างๆ มากมาย จริงๆ แล้วเราถูกกำหนดอยู่ตลอดเวลา ผ่านสนามของการต่อสู้ ต่อรองเชิงอำนาจ และการช่วงชิงความหมาย แม้เราจะคิดว่าไม่ยอมหรอก แท้จริงแล้วเราก็มีภาพจำอยู่

แล้วพลังของทุนนิยมและการผลิตแบบอุตสาหกรรม เข้ามามีอิทธิพลต่ออาหารไทยมากน้อยแค่ไหน

          ผมคิดว่าอย่างน้อยนายทุนก็เข้ามาเปลี่ยนรสลิ้นเรา อย่างที่ผมบอกว่าเราไม่รู้ตัวหรอกว่าโดนอะไรครอบงำอยู่ ซึ่งผมก็ตั้งข้อสังเกตจากที่มีคนพูดกันเอาไว้บ้างว่าทุกวันนี้คนไทยกินรสจัดซึ่งแสดงว่า คุณกินเค็ม ติดโซเดียม กินหวาน กินรสเผ็ดมากขึ้น

          ยกตัวอย่าง เมนูเล้งต้มแซ่บ ผมคิดว่าเพิ่งเป็นที่รู้จักไม่เกิน 10 กว่าปีได้มั้ง เพราะสมัยก่อนอาหารไม่ได้เผ็ดขนาดนี้ เราสร้างมันขึ้นมาโดยไม่ทันนึกด้วยซ้ำว่า ความนิยมกินเผ็ดกว่าเดิมมาจากพันธุ์พริกที่เผ็ดร้อนขึ้น แล้วก็กลายเป็นมาตรฐานใหม่ หรือบางเมนูก็อาจเกิดจากการมีเทคโนโลยี สมัยก่อนในแถบภาคอีสานหรือภาคเหนืออาจจะไม่สามารถกินอาหารทะเลสดๆ ได้ตลอด แต่ตอนนี้มีห้องเย็น เราเลยเห็นส้มตำที่ใส่ปูม้า ใส่อาหารทะเลสดเต็มไปหมด เป็นอาหารร่วมสมัยที่เกิดขึ้นตามบริบท ถ้าถามว่า ไทยหรือเปล่า ไม่รู้ รู้แต่ว่าเปลี่ยนแน่ๆ นอกจากนี้ ทุนก็เข้ามาเปลี่ยนวัตถุดิบ เช่น ไก่ ทุกวันนี้เรากินไก่จากบริษัทเอกชนที่เป็นซัพพลายใหญ่ของตลาด ต้องบอกว่าทุนพลิกลิ้น พลิกรสชาติโดยที่เราไม่รู้ตัว

ลองลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์สังคมไทยในจานอาหาร กับอาสา คำภา

ในหนังสือของคุณมีการใช้คำว่า ‘ประชาธิปไตยทางอาหาร’ อยากให้ช่วยขยายความถึงคำนี้

          การเมืองและวัฒนธรรมไทยเคยกดทับอาหารบางประเภท จัดให้เป็นอาหารอีกคลาส ตัวอย่างในกรณีของอาหารจีนซึ่งมีลักษณะเป็นทวิลักษณ์ ในมุมหนึ่ง อาหารจีนคือของกินของพวกกุ๊ยในตลาด ซ่อง บ่อนการพนัน รัฐไทยเคยมองคนจีนอย่างหวาดระแวง ดังนั้นอาหารของคนที่น่าหวาดระแวงเลยถูกจำกัดความแบบนั้น เช่น ข้าวต้มกุ๊ย แต่ว่าอาหารจีนอีกแบบหนึ่ง เป็นอาหารของกลุ่มคนที่อยู่ในคลาสเดียวกับชนชั้นนำไทย ก็กลายเป็นอาหารเหลา เพราะฉะนั้นอาหารจีนจะดีก็ได้ แย่ก็ได้ โดยการนิยามของคนไทยเอง

          ส่วนอาหารลาวเผชิญหน้ากับอุดมการณ์ความเป็นไทยหนักเสียยิ่งกว่าอาหารจีนอีก เช่น ส้มตำ หรือปลาร้า ก็เพิ่งจะถูกขยับปรับเปลี่ยนสถานะขึ้นมาในช่วงหลังๆ ดูได้จากกลุ่มลูกหลานคนชนชั้นกลาง ผมเคยไปสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ ซึ่งท่านเล่าว่าตนเองเป็นลูกหลานชนชั้นกลางกระฎุมพี และสมัยก่อนที่บ้านมีคนรับใช้เป็นคนลาว แต่จะเอาอาหารอีสานมาขึ้นโต๊ะไม่ได้เด็ดขาด คือมันมีชนชั้นของอาหารอยู่ ผมเองก็มาคิดว่า เออ ที่บ้านเราก็เป็นนะ แต่ว่าปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติมากเลย เรากินส้มตำที่ไหนก็ได้ ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาประมาณเจเนอเรชันเดียวเอง อาหารพวกนี้กลับถูกยกระดับมาเป็นแนวระนาบ

          ผมมองว่าอุดมการณ์ความเป็นไทยแบบขวาๆ มีพลังน้อยลง ในขณะที่ความเคลื่อนไหวและพลังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของผู้คนวิ่งไปทั่วโลก อีกอย่างอาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึง เรากินอยู่ทุกวัน ทุกคนสัมผัสได้ หากรัฐมาโปรโมตว่าอะไรเป็นมาตรฐานคนจึงมองว่ายัดเยียด หรือถ้ามีคนมาบอกว่า อาหารจานนี้รสอร่อยต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น เราอาจจะเอ๊ะในใจ คนบางส่วนอาจจะบอกว่าฉันไม่กินแบบนั้น ฉันขอกินเมนู กินร้านที่ฉันชอบ นี่แหละ คือ ประชาธิปไตยทางอาหาร

          ส่วนหนึ่งที่ผมพยายามชี้ให้เห็นในงานนี้คือ ประเด็นอาหารอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายของสังคมที่กำลังจะเป็นประชาธิปไตย แต่ว่ามันคือภาพแทนของสังคมไทยซึ่งเป็นการชักเย่อกันระหว่างความเป็นไทยแบบเก่าและการไม่ยอมรับในความเป็นไทยแบบเก่าอยู่ตลอดเวลา

ลองลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์สังคมไทยในจานอาหาร กับอาสา คำภา

สำหรับคุณ ‘อาหารไทย’ คืออะไรกันแน่ และจะทำให้กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมได้อย่างไร

          มันคืออาหารร่วมสมัยที่คนในยุคนี้สมัยนี้เขากินกัน เป็นอาหารที่มีอยู่จริง อะไรที่ได้รับความนิยมก็จะขยายต่อไป ส่วนอะไรที่ไม่ได้เรื่องก็จะหายไปเอง อาหารเป็นอะไรที่ดิ้นได้ พลิกพลิ้วอยู่ตลอดเวลา มันเป็นการแต่งงานกันทางวัฒนธรรม เปลี่ยนร่างแปลงกายของอะไรก็ได้ที่เหมาะสมกับยุคสมัย อาหารทั่วโลกก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด ผสมผสานคละเคล้ากันไป เช่น ไก่ทอดเกาหลีที่เกิดจากอิทธิพลอเมริกา

          การนำเสนอว่าอาหารเป็นซอฟต์พาวเวอร์มันสามารถเป็นเซนส์เรื่องเล่าที่สนุก อาจถูกเอาไปใช้เป็นกิมมิกก็ได้ว่าอาหารไทยเป็นการผสมผสานที่มหัศจรรย์มากนะ มีคนพูดถึงเรื่องนี้ในเชิงวิชาการ ส่วนการผลักดันไปสู่สินค้าวัฒนธรรมยังไม่ค่อยชัดเจน เพราะเราไปมองว่า มันต้องเป็นสิ่งสวยงามและเป็นของแท้ (Authentic) จึงจะดีที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นเลย

ในฐานะที่คุณเป็นนักวิจัยสายประวัติศาสตร์ คิดว่าแง่มุมใดที่นักวิจัยควรสื่อสารแก่สังคมให้มากขึ้น

          เราควรยอมรับก่อนว่าประวัติศาสตร์มีได้หลายเวอร์ชัน ซึ่งพูดแบบนี้ก็จะดูวิชาการไป เพราะคนแต่ละคนก็อาจไม่จำเป็นต้องมารู้ประวัติศาสตร์ทุกแบบ แต่อันดับแรกคือสังคมไทยต้องยอมรับก่อนว่ามันมีตัวเลือกมากมาย คุณอาจจะชอบประวัติศาสตร์แบบมีความเป็นไทยเยอะๆ แต่คุณก็ต้องรู้ว่ามีกระแสอื่นด้วยนะ ประวัติศาสตร์ไทยแบบนั่งทางในยังมีเลย ดังนั้นคุณต้องไม่ไปดูถูกหรือตัดสินอะไรเขา คุณควรยอมรับถึงการมีอยู่ และทำความเข้าใจว่าเงื่อนไขอะไรที่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์แบบนี้ๆ เราก็จะอยู่ร่วมกันได้

          ในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแห่งการดึงกันไปดึงกันมาทางความคิดระหว่างคนที่ไม่เอาความเป็นไทยแบบเดิม กับคนที่ยังยึดติดกับความเป็นไทยอยู่ อนาคตประวัติศาสตร์ที่เข้าใจกันตอนนี้ก็อาจจะโดนแกงจากคนอีกรุ่นหนึ่งก็ได้ มันเป็นพลวัต เราต้องเข้าใจว่ามันมีแบบนี้ได้

ลองลิ้มชิมรสประวัติศาสตร์สังคมไทยในจานอาหาร กับอาสา คำภา

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก