จิกกัดอย่างสร้างสรรค์ – ทำงานเพื่อประชาชน วิธีเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้สนุกในแบบ ‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’

683 views
7 mins
October 9, 2023

          หากย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2515 หนึ่งในนักเขียนการ์ตูนที่น่าจับตาของเมืองไทย คือเด็กอายุ 18 ปีคนหนึ่ง ที่ยังคงศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ แต่กลับมีผลงานอยู่ในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศยุคนั้นอย่าง สยามรัฐ 

          ชื่อของเด็กคนนั้นคือ อรุณ วัชระสวัสดิ์ คนเดียวกับที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่านักเขียนการ์ตูนคนนี้มีจุดเด่นเรื่องลายเส้นที่หลากหลาย ลื่นไหล ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนไปตามโจทย์ที่ได้รับ อรุณพัฒนาลายเส้นให้มีความเป็นไทยมากขึ้น จนกลายเป็นผลงาน ม้าหิน-จอมปลวก ที่สร้างชื่อให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งก้าวขึ้นมาเป็นการ์ตูนนิสต์ชื่อดังในเวลาต่อมา

          หลังจากนั้น อรุณก็มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง มีการประเมินคร่าวๆ ว่า งานเขียนการ์ตูนของเขามีไม่ต่ำกว่า 10,000 ชิ้น ทั้งจากหนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารข่าวรายสัปดาห์รวม 9 เล่มที่เขาเคยร่วมงานด้วย ปัจจุบันเขายังคงเขียนการ์ตูนบันทึกเหตุการณ์สำคัญของสังคมอย่างสม่ำเสมอใน มติชนสุดสัปดาห์

          สิ่งสำคัญที่อรุณยึดมั่นก็คือ การวิพากษ์อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้ความรอบคอบระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชน สะท้อนความต้องการและหยิบยกปัญหาออกมาตีแผ่สู่สังคมในวงกว้าง 

          อาจเป็นเพราะวิธีคิดเช่นนี้เองที่ยังทำให้เขามีพื้นที่และได้รับโอกาสให้เสียดสี จิกกัดสังคมและการเมืองมาทุกยุคสมัย จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ผู้บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองผ่านงานเขียนการ์ตูน’ คนสำคัญของเมืองไทย

          ในยามบ่ายวันหนึ่งที่ท้องฟ้าแจ่มใส เราเดินทางไปเยี่ยมเยียนอรุณถึงบ้าน พร้อมนั่งฟังเขาเล่าถึงเรื่องราวชีวิต ตัวตน และมุมมองในฐานะนักเขียนการ์ตูนคนหนึ่ง ที่ได้ร่วมขีดเขียนประวัติศาสตร์ของสังคมไทยมานานกว่า 5 ทศวรรษ

อรุณ วัชระสวัสดิ์ กับหนังสือการ์ตูน โคจรมาพบเจอกันตั้งแต่เมื่อไหร่ 

          ผมรู้จักหนังสือครั้งแรกจากการอ่านหนังสือการ์ตูนและนิยายภาพที่สมัยก่อนมักขายตามงานวัด สมัยเด็กอยู่สุราษฎร์ธานี ผมยังต้องแอบพ่อแม่ซื้อหนังสือพวกนี้มาอ่าน เพราะท่านคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะซื้อ เด็กอย่างเราควรอ่านหนังสือเรียนมากกว่า 

          จะให้บอกว่าเล่มไหนคงจำไม่ได้ แต่ส่วนมากจะเป็นหนังสือการ์ตูนที่แปลมาจากการ์ตูนต่างประเทศแล้วใส่คำบรรยายเป็นภาษาไทย ก็จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับคาวบอย การผจญภัยต่างๆ ที่เด็กๆ เขาชอบกัน ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีการ์ตูนให้อ่านมากเท่าไหร่ 

หนังสือการ์ตูนส่งผลต่อตัวคุณอย่างไร

          มันไม่ได้บันดาลใจตัวผมอะไรขนาดนั้น ไม่ได้พิเศษไปกว่าเด็กทั่วไปที่อ่านเพื่อความสนุก สมัยก่อนมันไม่มีโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือการ์ตูนจึงเป็นทางออกเดียวที่จะได้เห็นรูป เห็นสิ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของเด็กคนหนึ่งเท่านั้น 

          จนกระทั่งช่วงประถมที่มีความคิดริเริ่มจะเขียนการ์ตูนเป็นของตัวเอง แต่ก็เขียนเล่นๆ เป็นนิยายการผจญภัยของลูกเสือ ไม่ได้ลึกซึ้งคมคายอะไร เพราะผมไม่ได้มีความรู้รอบตัวขนาดนั้น อาศัยจินตนาการวาดมันออกมา แล้วก็เก็บไว้อ่านคนเดียว ไม่ได้ให้ใครอ่านเลย

ช่วงเวลาที่นั่งเขียนการ์ตูนให้ความรู้สึกอย่างไร

          มันคงเป็นความรู้สึกชอบ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าอะไรบางอย่าง…

          ไม่ว่าจะยุคสมัยไหน คุณสังเกตดูสิว่าจะมีเด็กอยู่จำพวกหนึ่งที่คณิตศาสตร์ก็ไม่ชอบ ภาษาก็ไม่ชอบ อะไรๆ ก็ไม่ชอบ แต่ชอบเขียนรูป พวกนี้จะเป็นเด็กที่เรียนอ่อนพอสมควรในวิชาสามัญ เพราะเขาใช้สมาธิในการเขียนรูปเสียมากกว่า ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในเด็กกลุ่มนั้น เพียงแต่ตอนนั้นที่สนใจก็เพราะว่ามันสนุก ไม่ได้มองถึงขั้นจะนำไปประกอบอาชีพ ก็เหมือนกับเด็กที่ชอบเล่นฟุตบอล แค่ชอบ แค่อยากทำ เลยมีสมาธิกับเรื่องนี้มากกว่าอย่างอื่น 

          ต่อมาก็ได้วาด ได้ฝึกฝนมาเรื่อย จนกลายเป็นคนที่ทำคะแนนได้ดีในวิชาศิลปะ เพื่อนๆ ชอบเอางานศิลปะมาให้ทำ คุณครูก็ชื่นชม กลายเป็นฮีโร่ในวิชานั้นไป จำได้ช่วงนั้นเหตุการณ์แบบนี้ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ทำให้รู้สึกมีคุณค่าบางอย่างขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่ไม่ได้เรื่องเลย 

          แต่ผมยืนยันนะว่าตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องอาชีพเลย ไม่รู้ว่าการเขียนการ์ตูนเก่ง แล้วจะมีอาชีพอะไรให้ทำต่อบ้าง รู้อย่างเดียวว่าการวาดรูปเก่งต้องไปเรียนต่อที่วิทยาลัยเพาะช่าง แล้วออกมาเป็นครูสอนวิชาวาดเขียน หรือไปเขียนรูป เขียนโปสเตอร์หน้าโรงหนัง สมัยนั้นแนวทางมีแค่นี้  ส่วนการจะเป็นนักเขียนนิยายภาพนั้นไม่ค่อยคิดถึงมันเท่าไหร่

จิกกัดอย่างสร้างสรรค์ – ทำงานเพื่อประชาชน วิธีเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้สนุกในแบบ ‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’

นอกจากนักเขียนการ์ตูน คุณเคยมองอาชีพอื่นไว้บ้างไหม 

          ไม่มี แต่สิ่งอื่นๆ ที่อยากทำก็มีอยู่นะ เช่น อยากเรียนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะได้มีโอกาสเดินป่า ดูต้นไม้ หรือความคิดอยากเป็นทหารก็เคยมี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้คิดจะเอาดีด้านใดด้านหนึ่ง ผมยังคงหมกมุ่นกับการพยายามเขียนการ์ตูน จนจบมัธยมศึกษามาแบบกระท่อนกระแท่น ครูคนหนึ่งเลยบอกผมว่าควรจะเอาดีในอาชีพการทำงานศิลปะ 

          ผมตัดสินใจสอบเข้าวิทยาลัยเพาะช่าง วิทยาลัยเพาะช่างมีหลายแผนก มีแผนกวิจิตรศิลป์ที่เรียนเขียนรูปอย่างเดียว แผนกฝึกหัดครูประถมการช่าง เรียนเพื่อเป็นครู แล้วก็มีแผนกหัตถกรรมเป็นงานช่างฝีมือ ซึ่งผมที่อยากเขียนรูปเก่งก็พยายามเข้าแผนกวิจิตรศิลป์ แต่สุดท้ายก็สอบไม่ติด ก็เลยเคว้งอยู่ปีหนึ่งที่กรุงเทพฯ แต่ยังสู้ต่อนะ จำได้ว่าพ่อมาส่งที่บางกอกน้อย ช่วยหาที่พัก เขาก็พยายามผลักดันเรา เพราะรู้ว่าหากยังอยู่ที่สุราษฎร์ฯ โอกาสในชีวิตมันน้อยกว่า 

          ปีต่อมาผมเปลี่ยนไปเข้าแผนกหัตถกรรมแทน เพราะคนสอบเข้าน้อยจึงมีโอกาสเยอะกว่า ด้วยความที่ผมวาดรูปดีก็เลยสอบได้ แต่ยอมรับตามตรงว่าช่วงแรกผิดหวังมาก เพราะสิ่งที่เขาสอนในแผนกนี้คือการแกะไม้ หล่อพระ ทอผ้า เป็นงานช่าง ส่วนวิชาวาดรูปมีน้อยมาก เป้าหมายในการเรียนคือจบไปเป็นช่างฝีมือ ตอนนั้นก็รู้สึกน้อยใจว่าเราไม่ได้เดินไปตามทางที่หวัง แต่พอได้มาคิดทีหลัง ผมกลับมองว่าเป็นสิ่งที่วิเศษมากที่ได้เรียนแผนกหัตถกรรม เพราะมันทำให้ผมได้รู้ขั้นตอนกระบวนการของการผลิตสิ่งของสักชิ้นหนึ่ง ได้เข้าใจวิธีคิดของการจะสร้างจะประดิษฐ์อะไรขึ้นมาสักอย่าง ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยตีกรอบและสร้างตัวตนให้กลายเป็นผมในทุกวันนี้  

          ช่วงปี 3 ได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ก็มีสิทธิ์จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในสมัยนั้น เพราะเขารับเพียงแค่ 30 คนจากหลายร้อยคน ก็จะมีทั้งเด็กแผนกวิจิตรศิลป์ของมหาวิทยาลัยเพาะช่างกับช่างศิลป์ที่เป็นนักเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากรแย่งกันเข้าเรียนอยู่ ดังนั้นเด็กแผนกหัตถกรรมแบบผมแทบจะหมดหวัง 

          สุดท้ายก็เลยสมัครไปแบบไม่ได้หวังอะไร คิดไว้ว่าถ้าไม่ได้ก็คงเรียนแผนกหัตถกรรมต่อ เรียนจบก็จะไปเป็นครูสอนทอผ้าตามโรงเรียน แต่ปรากฏว่าสอบติด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ ที่นักเรียนแผนกหัตถกรรมจากวิทยาลัยเพาะช่างจะสอบติดคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร

          แม้จะมีโอกาสได้เข้าเรียนที่ศิลปากร แต่สุดท้ายก็เรียนไม่จบ เพราะผมออกไปทำงานเขียนการ์ตูนเสียก่อน ยุคนั้นหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ดังมาก ใครถือ สยามรัฐ ไปมหาวิทยาลัยแสดงว่าไอ้นี่มันเก๋าพอตัว เพราะเป็นหนังสือพิมพ์การเมือง คนที่ถือต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ ซึ่งผมก็ชื่นชอบการเมืองและเป็นแฟนหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ เช่นกัน ผมติดตามงานเขียนของคุณประยูร จรรยาวงษ์ เขาเขียนหนังสือการ์ตูนอยู่ที่นั่น ก็เลยติดตามทั้งการ์ตูนและการเมืองไปพร้อมกัน 

          วันหนึ่งผมลองเขียนการ์ตูนของตัวเองส่งไปให้ สุจิตต์ วงษ์เทศ นักข่าว สยามรัฐ ในเวลานั้น เขาเห็นว่าพอมีแววก็เลยเรียกเข้าไปคุย ก่อนชวนมาเขียนลงหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ถือเป็นการเขียนการ์ตูนลงหนังสือพิมพ์ครั้งแรกของผม หลังจากนั้นก็ได้ทำงานต่ออีกมากมาย ได้ร่วมงานกับ เสถียร จันทิมาธร ในนิตยสาร วิทยาสาร ทำกับ สุทธิชัย หยุ่น ที่หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และใครต่อใครที่เป็นหัวก้าวหน้าสมัยนั้น ผมก็ไปเป็นฝ่ายศิลป์ให้กับเขา พอทำไปทำมามันก็สนุก ได้วาดภาพ เขียนรูปประกอบ ประกอบกับช่วงนั้นมหาวิทยาลัยเขามีปัญหากัน และตัวผมก็ได้อนุปริญญามาแล้ว เลยคุยกับทางบ้านว่าวันนี้มีงานที่ชอบแล้ว เงินเดือนก็เยอะ ขาดอย่างเดียวแค่ใบปริญญาเท่านั้น จำเป็นไหมว่าต้องเรียนให้จบ ที่บ้านเขาก็บอกว่าไม่จำเป็นแล้ว ช่างมันเถอะ ก็เลยตกลงว่าไม่เรียนแล้ว มาทำงานเต็มตัวดีกว่า 

          ระหว่างทำงานมันก็ทำให้ผมได้เรียนรู้และถูกปลูกฝังโดยคนกลุ่มนี้ และด้วยความที่ผมไม่ใช่คนดื้อ ทำงานเต็มที่ทุกงานที่เขาให้ทำ ก็น่าจะเป็นที่รักของทุกคน เขาก็เลยสอนผมทุกอย่าง แม้แต่สุทธิชัยที่เป็นนักข่าวนักเขียนก็สอนงานผมได้ เพราะเขาเป็นคนที่ได้รับข่าวสารจากต่างประเทศเยอะ เขาก็เอาการ์ตูนเมืองนอกมาให้ดูว่าต่างประเทศเขาวาดกันยังไง มีวิธีคิดกันแบบไหน ผมจึงได้เรียนรู้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาฝีมือและความคิดมาตลอด

จิกกัดอย่างสร้างสรรค์ – ทำงานเพื่อประชาชน วิธีเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้สนุกในแบบ ‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’

ในฐานะนักเขียนการ์ตูน ที่ผ่านมาคุณพัฒนาไอเดียรวมถึงลายเส้นอย่างไร

          ถ้าคุณสังเกตงานของผมมันไม่เคยเหมือนกันมาตลอด มันเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ 

          จุดเริ่มต้นมาจากคุณประยูร จรรยาวงษ์ สมัยนั้นมีสื่อของเขาเพียงอย่างเดียวที่ผมมองเห็นและรู้สึกว่าการเขียนการ์ตูนควรจะเป็นแบบนี้ ก็เลยใช้สไตล์การวาดแบบนั้นมาตลอด ก่อนที่ต่อมาคุณสุทธิชัยจะเอาการ์ตูนจากต่างประเทศมาให้ดูว่าเป็นยังไง ก็เริ่มปรับเปลี่ยน ผสมผสาน ให้เข้ากับตัวผมในแต่ละยุคสมัยมาตลอด เรื่องเทคนิคการวาดก็เช่นกัน สมัยก่อนเทคโนโลยีการพิมพ์ภาพคือการใช้บล็อกตะกั่วที่ทำให้เส้นเล็กๆ จะไม่ปรากฏบนผลงาน นักวาดจึงต้องใช้พู่กันใหญ่ๆ จะขีดเขียนได้ก็เฉพาะลายเส้นใหญ่ๆ เท่านั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น แท่นพิมพ์สามารถลอกลายเส้นเล็กๆ ได้ ผมก็ปรับสไตล์การวาด เริ่มหัดใช้ลายเส้นเล็กๆ หรือพอมีการใช้ Airbrush หรือการพ่นแทนวาด ผมก็ลองใช้ในงานของตัวเองเหมือนกัน เรียกว่าเป็นเจ้าแรกเลยที่ใช้เทคนิคนี้ทำปกหนังสือ

          จนถึงวันนี้ ผมก็ยังคงปรับเปลี่ยนสไตล์การเขียนการ์ตูนอยู่เสมอ ทุกวันนี้ก็ใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน ไม่ได้ใช้มือเขียนลงกระดาษแล้ว ก็ศึกษาไปเรื่อยๆ ดังนั้นสิ่งที่จะไม่เกิดและไม่มีทางได้เห็นจากผลงานของผมเลยคือการมีสไตล์ที่คงเดิม

การเขียนการ์ตูนการเมืองแตกต่างจากงานศิลปะอื่นอย่างไร

          แตกต่างกันตรงมันมีโจทย์ที่ต้องตีให้แตก การเขียนการ์ตูนการเมืองมีโจทย์ทุกวันและทุกชิ้นงาน คุณต้องมีความรู้ในโจทย์นั้นว่าเขาหมายถึงอะไร และต้องตีความออกมาให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันถูกหรือผิด มันใช่หรือไม่ใช่ในความคิดของคุณ ที่สำคัญคือคุณต้องมีความรู้และความสามารถในการถ่ายทอดให้คนที่เห็นเขาเข้าใจด้วย งานศิลปะบางอย่างคุณสามารถสร้างสรรค์ให้เข้าใจคนเดียวแล้วปล่อยให้คนดูเป็นผู้ตีความก็อาจทำได้ แต่การ์ตูนการเมืองมันแตกต่างออกไป และที่ยากกว่าคือ งานทั้งหมดนี้คุณต้องทำในเวลาอันสั้น เขียนการ์ตูนแบบวันต่อวัน หยุดไม่ได้เลย ซึ่งผมถือว่าเป็นงานที่หนักมาก 

          ในความคิดของผม การจะเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองต้องมีความรู้รอบตัวเยอะมาก ต่างจากนักเขียนที่เวลาเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็รวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเป็นงานเขียนได้เลย แต่นักเขียนการ์ตูนเวลาได้รับโจทย์มาก็ต้องมานั่งคิดก่อนว่าสิ่งที่จะวาดลงไปนั้น เราคิดเห็นอย่างไร ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ มันทำงานกับคนที่อยากช่วยส่งเสียงแทนอย่างประชาชนหรือคนที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง 

คุณมีเทคนิคอย่างไรให้ผลิตงานยากๆ แบบนี้ออกมาได้ในทุกวันตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

          ผมมักเปรียบเทียบว่าในก้อนสมองของผมจะมีก้อนเมฆอยู่ 2 ก้อน ก้อนแรกคือวิชาความรู้ที่สั่งสมมาจากการอ่าน จากการเรียนรู้ จากอะไรต่อมิอะไร ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่สื่อสารกับคน ส่วนก้อนที่สองคือเรื่องที่มันผ่านเข้ามา ข่าวสารรายวันที่มันไหลเข้ามา ทั้งสองก้อนนี้จะเข้ามาปะทะกัน เกิดเป็นความชื้น เป็นฟ้าผ่าเปรี้ยงหนึ่งโดยกะทันหัน เป็นสำนึกชั่วแวบหนึ่งที่ทำให้ผลงานที่เราจะวาดชัดเจนขึ้น 

          ดังนั้นการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองมันไม่ใช่แค่เรื่องของความคิด แต่มีสิ่งที่มันวูบขึ้นมาโดยสัญชาตญาณ ดังนั้นถ้าถามผมว่ามีวิธีคิดอย่างไร คำตอบคือไม่รู้เลย มันไม่มีตำราหรือหลักเกณฑ์ชัดเจนหรอก ว่าแต่ละรูปจะออกมาเป็นอย่างไร

จิกกัดอย่างสร้างสรรค์ – ทำงานเพื่อประชาชน วิธีเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้สนุกในแบบ ‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’

หากพูดถึงผลงานชิ้นเอกของคุณ หลายคนจะนึกถึงการ์ตูนชุด ม้าหิน-จอมปลวก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก อยากรู้ว่างานชิ้นนี้มีวิธีคิดอย่างไร

          ม้าหิน-จอมปลวก พัฒนามาจากการ์ตูนหลายช่องของต่างประเทศ สมัยก่อนประเทศไทยจะมีแต่การเขียนการ์ตูนช่องเดียวแบบคุณประยูรไปเสียหมด แต่พอคุณสุทธิชัยเขาไปเอาการ์ตูนของต่างประเทศซึ่งเป็นงานชุด ชาร์ลี บราวน์ (Charlie Brown) มาให้ดู ผมก็เลยได้รู้ว่าการ์ตูนไม่จำเป็นต้องเขียนช่องเดียว สามารถทำได้เป็นหลายช่อง จึงนำมาพัฒนาจนเป็นการ์ตูนชุดนี้

          หลายคนมองว่าเป็นการลอกเลียนแบบหรือไม่ แต่สำหรับผมมองอีกแบบหนึ่ง ผมเชื่อว่าสารพัดสิ่งทั้งหลาย วิทยาการทั้งหลายในโลกนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยคนคนเดียว มันสืบทอด พัฒนากันมาเรื่อยๆ ดังนั้นการที่ใครจะมาเลียนแบบใคร ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่คุณจะสามารถพัฒนามันไปได้ขนาดไหน 

ผลงานการ์ตูนการเมืองควรจะมีความเป็นการ์ตูนหรือการเมืองมากกว่ากัน ในฐานะนักเขียนการ์ตูน มีวิธีรับมืออย่างไรเวลาที่เนื้อหาทางการเมืองมันหนักแน่นจนบดบังความเป็นศิลปะของการ์ตูนมากเกินไป

          ความเป็นการ์ตูนหรือการเมืองมันก็ควรเดินทางควบคู่กันไปนะ เพียงแต่ผู้เขียนเองก็ต้องมีวิธีในการทำให้สองสิ่งนี้ปรากฏในผลงานของตัวเองชัดเจน 

          ผมในฐานะนักเขียนการ์ตูน ไม่มีทางเลยที่จะวาดมาได้นานถึง 40 ปี ด้วยการคิดถึงคำว่าการ์ตูนการเมืองเพียงอย่างเดียว ผมต้องตั้งมั่นในแนวทางของตัวเองอยู่เสมอว่า ครึ่งหนี่งผมทำงานการ์ตูนการเมือง อีกครึ่งหนึ่งผมทำงานศิลปะ ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นความเครียดจนกัดกินตัวตนและผลงานของผม 

          ผมต้องพยายามตระหนักและหนักแน่นว่ากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังทำงานศิลปะไปเพื่ออะไร เป็นปากเสียงให้กับใคร รวมไปถึงในฐานะนักศิลปะ เรากำลังพัฒนา กำลังเรียนรู้อะไร ดังนั้นผลงานของผมจึงไม่ใช่ผลงานที่เต็มไปด้วยความโกรธหรืออารมณ์ที่รุนแรง และมักไม่ปรากฏการโจมตีที่ชัดแจ้งต่อตัวบุคคล บางคนที่ผมเขียนการ์ตูนจิกกัดเขา เขายังมาขอเอารูปไปติดที่บ้านเลย เพราะผมไม่ได้โจมตีที่ตัวบุคคล ผมพูดถึงเรื่องราว พูดถึงเหตุการณ์ ที่สำคัญผมยังคงความงดงามของศิลปะเอาไว้อยู่ 

          ถ้าคุณสังเกต งานของผมจะไม่วาดใครให้ออกมาดูน่าเกลียด ผมคิดว่ามันไม่แฟร์กับเขา ผมเพียงแต่เล่าว่าในการทำงานของเขา เขาทำผิดหรือถูกมากกว่า ไม่ใช่การโจมตีตัวตนของเขา ผมไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนเลว เพียงแต่ ณ ช่วงเวลานั้นการกระทำของคุณเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่ผมก็ยังเคารพ ยังมองว่าเขาเป็นคนคนหนึ่งอยู่ แล้วผมมักจะไม่เอาอดีตมาใช้กับงานของตัวเอง

จิกกัดอย่างสร้างสรรค์ – ทำงานเพื่อประชาชน วิธีเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้สนุกในแบบ ‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’
Photo: อรุณ วัชระสวัสดิ์/ มติชนสุดสัปดาห์

ไม่ฉูดฉาด ไม่รุนแรง ไม่เต็มไปด้วยอารมณ์ แล้วแบบนี้มันจะทำงานกับอารมณ์ของคนที่เห็นภาพวาดของคุณได้อย่างไร 

          มันก็คงไม่เท่ากับที่เต็มไปด้วยอารมณ์แบบนั้นแน่นอน ผมก็ต้องปลง เพราะผมตั้งใจจะยึดแนวทางเช่นนี้อย่างแน่วแน่แล้ว คนอื่นจะชอบหรือไม่ ผมไม่สนใจเท่าไหร่ เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ผมไขว้เขวในตัวตน 

มองผลงานการ์ตูนการเมืองของนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีการวิจารณ์อย่างรุนแรง และมีภาพวาดที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความโกรธแค้นอย่างในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

          มันก็เหมือนกับศิลปะอื่นๆ นอกจากผลงานในสไตล์ที่สื่อสารแบบมีชั้นเชิง ไม่ตรงไปตรงมา มันก็ต้องมีศิลปะอีกสไตล์ที่พุ่งไปหาคนที่เห็น ถ่ายทอดอารมณ์ชัดเจน ซึ่งมันก็เป็นกระแสของคนในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร 

          สิ่งที่ผมหรือนักเขียนการ์ตูนอื่นๆ ทำได้ คือการยึดมั่นในจุดยืนของตน เข้าใจว่าตนเองเป็นอย่างไร และถนัดตรงไหน ยอมรับให้ได้ว่าเราอยู่กันคนละเวที ซึ่งผมโชคดีที่ผมตระหนักเรื่องนี้ได้ 

หลายคนมองว่าการ์ตูนคือส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์  คุณมองว่าผลงานของคุณกำลังบันทึกเรื่องราวอะไรอยู่        

          เรื่องราวที่สำคัญในชีวิตประจำวันแต่ละวัน เพียงแต่ไม่ได้บันทึกอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการเอาการ์ตูนของผมเมื่อ 5-10 ปีที่แล้วมาพิจารณาอีกครั้ง คุณก็จะพบว่ามันยังทันสมัย ยังดูรู้เรื่องอยู่ เพราะผมบันทึกความคิดทางการเมือง บันทึกว่าผู้คนเขามองโลกมองสถานการณ์อย่างไร มากกว่าการที่ผลงานของผมจะไปเลือกที่จะเล่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ถึงแม้ในรูปจะมีการสื่อถึงเหตุการณ์ใดก็ตาม แต่มันก็ยังมีมวลความคิดของกระแสสังคมในขณะนั้นอยู่ 

การเปลี่ยนผ่านของเครื่องมือและเทคโนโลยีในการเขียนการ์ตูน ส่งผลต่อคุณมากน้อยแค่ไหน

          ผมมองเป็นเรื่องของความสะดวก เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกของมนุษย์ สมัยก่อนผมเขียนการ์ตูนก็ต้องเขียนลงบนกระดาษ นำใส่ซอง รอคนมารับผลงานไปส่งที่โรงพิมพ์ แต่ปัจจุบันส่งผ่านอีเมลได้ จะทำงาน นั่งเขียนการ์ตูนจากไหนก็ได้ การติดต่อกับผู้คนก็ง่ายขึ้น เอาเป็นว่าผมมองเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี อะไรที่มีการพัฒนาผมปรับตัวตามหมด ผมเดินทันเขาหมด

จิกกัดอย่างสร้างสรรค์ – ทำงานเพื่อประชาชน วิธีเขียนการ์ตูนล้อการเมืองให้สนุกในแบบ ‘อรุณ วัชระสวัสดิ์’

ทุกวันนี้มีเป้าหมายในการเขียนการ์ตูนอย่างไร คาดหวังอะไรจากผลงานของตัวเอง

          ผมคิดว่าคนส่วนหนึ่งเขาไม่มีปากมีเสียง เขาไม่มีโอกาสได้แสดงออก ผมก็จะเป็นปากเป็นเสียงให้คนกลุ่มนี้ และผมต้องการจะเผยแพร่วิชาการเขียนการ์ตูนออกไป จะถูกผิดดีเลว ไม่รู้ เพียงแต่อยากเผยแพร่วิธีคิดและวิธีเขียนในรูปแบบของผม เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าถ้าอยากเขียนการ์ตูน คุณจะต้องทำอย่างไร เพราะผมได้บทเรียนจากตัวเองมาว่าผมเรียนศิลปะ ผมเขียนการ์ตูน โดยไม่เคยได้เข้าคอร์สวิชาการเขียนการ์ตูนที่ไหนเลย ผมศึกษาจากหนังสือพิมพ์และศึกษาด้วยตัวเองเท่านั้น ผมจึงอยากเผยแพร่องค์ความรู้ตรงนี้ ผมถึงเผยแพร่ลงในเฟซบุ๊กทุกวันเพื่อให้คนที่อยากเขียนการ์ตูนได้เห็นว่า ถ้าอยากจะเขียนการ์ตูนเขาจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการศึกษาและผลิตผลงานการ์ตูนการเมืองอีกในรุ่นต่อๆ ไป 

มีอะไรอยากจะฝากถึงนักเขียนการ์ตูนรุ่นใหม่บ้าง

          ผมว่าต้องมีความเมตตา มีแนวทางที่แน่นอนต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเข้ามา เดี๋ยวมันก็ผ่านไป รัฐบาลที่เข้ามาเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป แต่คนที่ยังอยู่คือประชาชน ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ ตัวตนและผลงานก็จะถูกผลักไปตามกระแสสังคม ดังนั้นเราอยู่ตรงนี้กันเถิด


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก