ผมจำไม่ได้ว่าภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้ดูในชีวิตคือเรื่องอะไร จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าความรู้สึกแรกที่ได้ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าภาพยนตร์มอบความรู้สึกแบบใดกับผม เป็นไปได้ว่ามันอาจเกิดขึ้นในขวบวัยที่ผมยังไม่รู้จักความหมายของภาพยนตร์ด้วยซ้ำ แล้วก็เป็นไปได้อีกเช่นกันว่ามันอาจเป็นแค่หนังห่วยๆ สักเรื่องหนึ่ง
แต่จะว่าไป ต่อให้ผมจะรู้คำตอบว่าหนังเรื่องแรกที่ดูในชีวิตคือเรื่องอะไรก็ใช่ว่ามันจะสลักสำคัญอะไรนักหรอก เพราะรู้ตัวอีกทีภาพยนตร์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมไปแล้ว รู้ตัวอีกที – ผมก็ยินดีที่จะโดดเรียนเพียงเพื่อจะได้ไม่พลาดดูหนังในเทศกาลภาพยนตร์ กระตือรือร้นกับการวิเคราะห์ภาพยนตร์มากกว่าตั้งคำถามกับบทเรียน สนุกกับการโหลดหนังมาดูมากกว่าโหลดเปเปอร์มาอ่าน
รู้ตัวอีกที – ภาพยนตร์ก็กลายเป็น ‘การเรียนรู้นอกห้องเรียน’ ที่แสนจะทรงคุณค่าสำหรับผม
แน่นอนว่า ประสบการณ์ที่เราทั้งคู่มีต่อภาพยนตร์ย่อมจะแตกต่างกัน ถึงอย่างนั้น ในระหว่างที่ผมพลิกหน้ากระดาษของ ในหนังมีศิลปะ: งานศิลปะที่แฝงกายใต้พื้นผิวภาพยนตร์ ไปเรื่อยๆ ผมก็รู้สึกเชื่อขึ้นมาอย่างสนิทใจว่า ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ น่าจะเทิดทูนภาพยนตร์ไม่ต่างไปจากผมนัก นั่นคือ ภาพยนตร์ในฐานะของประตู หน้าต่าง และบันได ที่จะทอดพาเราไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่โพ้นไกลเกินกว่าตัวมันเอง
หากใครที่พอจะติดตามงานเขียนเกี่ยวกับศิลปะอยู่บ้าง ชื่อของภาณุย่อมจะเป็นอะไรที่คุ้นหู เพราะไม่เพียงแต่เขาจะเป็นคอลัมนิสต์ที่มีบทความในเว็บไซต์อย่าง a day, The MATTER และ The Momentum หากภาณุยังเคยเขียนหนังสืออย่าง ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ หนังสือที่พยายามแสดงให้เราเห็นว่า ศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัวและซับซ้อนที่จำเป็นต้องปีนบันไดดูแต่อย่างใด เพราะศิลปะสามารถเป็นสิ่งใกล้ๆ ที่วนเวียนอยู่รอบตัวเราได้ ทั้งโถ่ฉี่ ผัดไทย และการนอนหลับ ภาณุพยายามชี้ชวนให้เราเห็นว่า ศิลปะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของเราได้ ไม่จำเป็นว่ามันจะต้องอยู่ในแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ หรืออะไรพรรค์นั้น เพราะศิลปะสามารถปรากฏอยู่ได้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะในตลาด บนฟุตปาธ และแน่นอน – โรงภาพยนตร์
“เวลาดูหนัง นอกจากเนื้อหาเรื่องราวและนักแสดงในหนังแล้ว สิ่งที่ผมมักจะสนใจเป็นพิเศษคืองานศิลปะที่ปรากฏอยู่ในหนัง จะเป็นในฐานะของอุปกรณ์ประกอบฉากหรือเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนพล็อตในหนังให้ดำเนินไป โดยเฉพาะหนังของผู้กำกับชั้นดี ที่มักจะสอดแทรกงานศิลปะที่เขาชื่นชอบลงไปในหนัง หรือเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังหนังก็ตามที” (หน้า 19)
ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ ภาณุบอกเล่าไว้อย่างชัดเจนว่า สำหรับเขาแล้ว ‘งานศิลปะ’ คือสิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษขณะรับชมภาพยนตร์ โดยที่ภาณุก็ได้ต่อยอดความสนใจเฉพาะตัวจนออกมาเป็น ในหนังมีศิลปะ หนังสือรวมบทความที่พาเราไปสำรวจอิทธิพลของศิลปินและการปรากฏกายของงานศิลปะชิ้นต่างๆ ในภาพยนตร์ได้อย่างเพลิดเพลินจนน่าแปลกใจ
ผมเลือกใช้คำว่าน่าแปลกใจเพราะด้วยความที่ตัวผมเองไม่ได้มีความรู้หรือสนใจเรื่องศิลปะสักเท่าไหร่นัก ถึงอย่างนั้น ผมกลับพบว่า ภาณุสามารถที่จะโน้มน้าวให้ผมพลิกอ่านหนังสือเล่มนี้ต่อเรื่อยๆ อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ข้อดีหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือเนื้อหาแต่ละบทไม่ยาวจนเกินไป นั่นทำให้เมื่ออ่านบทนึงจบ ผมก็สามารถกระโดดไปสู่บทต่อไปได้อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ขณะเดียวกัน ภาณุก็ระมัดระวังพอในการประคับประคองเนื้อหาของแต่ละบทไม่ให้ยากจนเกินไป โดยที่เขาก็ยังรักษาไว้ซึ่งความลุ่มลึกและซับซ้อนของโลกศิลปะ
ในแง่นี้ ในหนังมีศิลปะจึงไม่เพียงจะเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนไม่ประสีประสาเรื่องศิลปะอย่างผมเท่านั้น เพราะหากคุณมีความสนใจศิลปะอยู่แล้วเป็นทุนเดิม หนังสือเล่มนี้จะสร้างบทสนทนาระหว่างคุณ ภาพยนตร์ และงานศิลปะได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
งานศิลปะที่แฝงกายใต้ผิวภาพยนตร์ของเปโดร อัลโมโดวาร์, แรงบันดาลใจแห่งแห่งศิลปะเบื้องหลังหนังไซไฟอันสุดแสนเดียวดายอย่างโรแมนติก Her และวิเคราะห์งานดีไซน์สไตล์มินิมอลในหนัง ฮาวทูทิ้ง เหล่านี้คือตัวอย่างบทความที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ โดยที่ผ่านภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่ภาณุได้หยิบมาวิเคราะห์นี่เองที่เขาก็ได้ขยายพรมแดนของศิลปะไปเรื่อยๆ ทว่าท่ามกลางเรื่องราวกว่า 42 บทของหนังสือเล่มนี้ หนึ่งในบทที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ ผลงานศิลปะร่วมสมัย แรงบันดาลใจเบื้องหลังหนัง The Square
อย่างคร่าวๆ The Square คือภาพยนตร์ตลกร้ายของ Ruben Östlund ผู้กำกับชาวสวีเดนที่เสียดสีวงการศิลปะอย่างถึงแก่น หนังพาเราไปจับจ้องชีวิตอันวินาศสันตะโรของภัณฑารักษ์คนหนึ่งที่พาดเกี่ยวอยู่ระหว่างปัญหาส่วนตัวกับงานศิลปะที่กลายเป็นชนวนสำคัญของประเด็นสาธารณะอย่างเสรีภาพทางการแสดงออกและความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness) ผมจำได้ว่า แม้จะชอบพอภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ไม่น้อย แต่ลึกๆ ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่า หากเข้าใจวงการศิลปะมากกว่านี้สักหน่อย ผมคงสนุกกับหนังมากกว่านี้ เป็นหลายปีให้หลังเมื่อได้อ่านบทความของภาณุในหนังสือเล่มนี้เอง ที่ผมก็ได้ย้อนกลับไปปะติดปะต่อเรื่องราวของ The Square อีกครั้งหนึ่ง
น่าเสียดายว่า การจะอธิบายว่า ภาณุถ่ายทอดอะไรไว้บ้างในบทนี้ดูจะเป็นเรื่องยากอยู่สักหน่อย ไม่สิ พูดให้ถูกคือ ในหนังมีศิลปะเป็นหนังสือที่จะอ่านสนุกขึ้นหากคุณได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่ภาณุหยิบมาบอกเล่า ในแง่นี้ ผมจึงคิดว่าการพยายามอธิบายเนื้อหาแต่ละบทของหนังสือเล่มนี้จะไม่นำไปสู่อะไรนัก เพราะในหนังมีศิลปะคือหนังสือที่คุณควรจะได้อ่านมันโดยยึดโยงไปกับประสบการณ์การดูหนังของตัวคุณเอง
“ในหนังมีศิลปะ เป็นงานเขียนของ ‘คนรักศิลปะ’ อย่างเป็นชีวิตจิตใจ แน่นอน ความรักเช่นนี้ย่อมมีอคติ หรืออย่างน้อยก็ต้องเห็นคุณค่าของศิลปะที่ผสมผสานอยู่กับกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่าคนทั่วไปที่อาจไม่ให้ความสำคัญต่อศิลปะสักเท่าไหร่นัก. ในความสนใจที่หลากหลายและซับซ้อนของสังคม คงไม่ใช่ความจำเป็นที่ทุกคนต้องเห็นค่าของงานศิลปะ และยิ่งคงยากจะคาดหวังให้คนเข้าโรงหนังหรือเปิดหนังดูเพื่อสังเกตว่าหนังเรื่องนั้นได้แรงบันดาลใจจากศิลปะชิ้นไหนหรือศิลปินคนใดบ้าง” (หน้า 8)
นี่คือส่วนหนึ่งของคำนำที่ปราบดา หยุ่นเขียนไว้อย่างน่าสนใจในช่วงต้นของหนังสือเล่มนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผมเองก็เห็นด้วยกับปราบดาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมุมมองที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะตระหนักถึงคุณค่าของศิลปะ – ซึ่งสอดคล้องไปด้วยกัน ในหนังมีศิลปะก็ย่อมจะไม่ใช่หนังสือที่ทุกคนอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน
ผมเชื่อว่าภาณุเองก็ย่อมจะรับรู้ในข้อเท็จจริงนี้ดี ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้พยายามจะเขียนเล่มนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคนหรอก เพราะในหนังมีศิลปะมันคือการเขียนเพื่อปลดปล่อยความหลงใหลศิลปะที่อัดแน่นภายในตัวให้ออกมาสัมผัสโลกภายนอกบ้าง แล้วมันก็คือการเขียนเพื่อเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับการดูหนังที่ไม่ใช่แค่การดูเพื่อรับรู้เรื่องราวของมัน ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร
หากลองกวาดสายตามองภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์หลายๆ เรื่องที่ไม่เพียงจะสร้างรายได้มหาศาล แต่การมาถึงของมันยังนำไปสู่การยึดครองจำนวนโรงภาพยนตร์อย่างมากเกินความจำเป็น แน่นอนว่า ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ ไม่แปลกหรอกหากใครจะมองว่า ภาพยนตร์ที่น่าจะสร้างรายได้มากกว่า ก็ย่อมควรค่าที่จะได้ฉายในโรงภาพยนตร์ที่เยอะกว่า มันก็ถูกแล้ว แต่หากลองถอยออกมาสักหน่อย ผมคิดว่าการที่จะตีขลุมเหมารวมว่า มนุษย์ทุกคนต่างก็ต้องการรูปแบบความบันเทิงเหมือนๆ กันก็ดูจะเป็นมุมมองที่ใจแคบไปสักหน่อย
ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทำให้เราโฟกัสแค่ว่า ‘เนื้อหา’ ของมันว่าคืออะไร มันทำให้เราโฟกัสว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งเมื่อหนังจบลงไป สิ่งที่เราหมกมุ่นสนใจก็ย่อมจะเป็นเรื่องราวของมัน ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย เพียงแต่ข้อเสนอของผมคือ มันยังมีวิธีการดูหนังแบบอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับส่วนอื่นๆ ของภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่พล็อตของมัน เรื่องราวไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ ‘เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง’ ของประสบการณ์ทางภาพยนตร์เท่านั้น มันยังมีเรื่องของภาพ เสียง แสง เหตุการณ์เล็กๆ ที่ปรากฏขึ้นพริบตาเดียวในฉากหลัง มันยังมีเรื่องของประสบการณ์ส่วนตัว ประวัติศาสตร์ การมีอยู่ของศิลปะ ธรรมชาติ เวลา และความทรงจำ ซึ่งอะไรเหล่านี้บ้างก็อิงแอบอย่างชัดเจนในเนื้อหาของหนัง แต่บ้างก็เลือนลางจนยากที่เราจะสังเกตเห็นได้อย่างทันท่วงที
โชคดีว่าในเรื่องของศิลปะในโลกภาพยนตร์เรามีภาณุและหนังสือเล่มนี้ที่คอยชี้ชวนให้เราเห็นในสิ่งที่อาจมองผ่าน และเติมเต็มประสบการณ์ภาพยนตร์ให้กว้างขวางและตื่นตะลึงยิ่งขึ้น ผมคงบอกไม่ได้ว่า หนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร แต่สำหรับผมในหนังมีศิลปะคือหนังสือที่บอกผมว่า มันยังมีอะไรอีกมากมายที่ผมมักจะเผลอปล่อยผ่านหรือมองข้ามไประหว่างดูภาพยนตร์
มันยังมีอีกมากที่ผมไม่เคยรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์