แกลเลอรีและพื้นที่ศิลปะ ที่ตอบใจมือใหม่หัดดูงานอาร์ต

3,036 views
7 mins
June 13, 2022

อาจจะด้วยระบบการศึกษาที่ทำให้ศิลปะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต อาจจะด้วยระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ศิลปะกลายเป็นของสำหรับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง อาจจะด้วยสังคมการเมืองที่พยายามกีดกันศิลปะไปจากใจเรา เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังและไม่ยอมจำนน

แต่ศิลปะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่ใครว่าไว้อีกต่อไป เพราะยังมีแกลเลอรีน้อยใหญ่ที่พยายามออกแบบให้ศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวัน ผลักดันให้กลายเป็นสิ่งที่เราเห็นหรือไปหาได้บ่อยๆ โดยไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเคอะเขิน แม้จะเป็นมือใหม่หัดดูงานอาร์ต หรือแม้แต่คนที่ไม่เคยสนใจศิลปะจริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำ

แกลเลอรีบางแห่งจึงไม่ได้เป็นแค่แกลเลอรี แต่เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะ เป็นบาร์ เป็นร้านหนังสือ เป็นพื้นที่นิทรรศการของทุกคน ที่ช่วยกันทำให้พื้นที่ทางศิลปะในบ้านเราหลากหลาย เกี่ยวข้องกับผู้คนในมิติที่กว้างขวางขึ้น  และกระชับความสัมพันธ์ของผู้คนให้เข้าใกล้ศิลปะไปพร้อมๆ กัน

และเมื่อสนิทสนมกับศิลปะมากพอ เราจะกลายเป็นเจ้าของเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลัง และใช้มันขับเคลื่อนสังคม

ให้พื้นที่ทางศิลปะเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคน ที่ Jim Thompson Art Center

หลังจากส่งต่อพื้นที่ให้ทายาทรุ่นใหม่ ปัจจุบัน Jim Thompson Art Center เปลี่ยนจากพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องผ้าไทย และของสะสมจานชามเบญจรงค์ ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องราวของศิลปะร่วมสมัยที่เชื่อมโยงทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง และชุมชนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นพื้นที่ที่เชื้อเชิญทุกคนไปร่วมใช้ แบบที่ไม่รู้สึกถึงความขึงขังอีกต่อไป

จุดเด่นที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นมิตร คือการออกแบบให้เกิดการใช้งานอย่างหลากหลาย ทั้งคาเฟ่ ห้องสมุด WILLIAM WARREN LIBRARY พื้นที่จัดเวิร์กชอป หรือเสวนาในวันที่มีกิจกรรมชวนพูดคุยกัน มีโซนนั่งข้างนอกที่เดินออกไปเปลี่ยนบรรยากาศรับลม และเห็นบ้านไทยของจิม ทอมป์สัน กับฟ้าโล่งกว้าง การสร้างบรรยากาศที่ชวนทุกคนมาใช้พื้นที่แบบไม่ยัดเยียด จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้คนหน้าใหม่ไม่รู้สึกว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่ของพวกเขา

และเมื่อสบายใจ ก็อาจช่วยให้เปิดรับอะไรใหม่ๆ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่จัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่จะเปลี่ยนในทุกๆ 3-4 เดือน ที่แบ่งออกเป็นสองห้อง บางนิทรรศการก็อาจมีกิจกรรมเกี่ยวข้องเพื่อเติมการเรียนรู้ในหลายมิติ เช่น ล่าสุดกับนิทรรศการ Shadow Dancing: Where Can We Find a Silver Lining in Challenging Times? ที่มีการฉายหนัง  Bodo (1993, หวง หมิงฉวน) และรักที่ขอนแก่น (2015, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) รวมไปถึงเสวนากับศิลปินผู้จัดนิทรรศการด้วย

กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการประจำ Jim Tompson Art Center เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าอยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สนทนาแลกเปลี่ยนที่มีนิทรรศการศิลปะเป็นตัวเชื่อม ซึ่งการออกแบบที่เป็นมิตรกับความหลากหลายของผู้คนและกิจกรรมช่วยทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนไปพร้อมกัน

ศิลปะอยู่ในภาพที่เราถ่ายทุกวัน ที่ HOP Hub Of Photography

เชื่อว่าหลายๆ คนถ่ายภาพกันแทบทุกวัน และนั่นคือศิลปะที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด

HOP Hub Of Photography คือแกลเลอรีที่ให้พื้นที่กับคนรักการถ่ายภาพ ‘ทุกคน’ ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรือมือสมัครเล่นผ่านการออกแบบพื้นที่เพื่อนำเสนอศิลปะจากภาพถ่าย

ที่นี้แบ่งออกเป็น 3 โซนคือ WHOOP พื้นที่จัดแสดงงานที่ไม่ว่าใครก็สามารถส่งภาพถ่ายมาให้ทางทีมงานคัดเลือกจัดแสดงได้ ซึ่งจะอยู่ระดับเริ่มต้น หรือคร่ำหวอดวงการก็ได้ ที่แห่งนี้คือจึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์สำหรับคนรักการถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี 

ถัดมาเป็น HOP Club พื้นที่กึ่งห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือภาพถ่าย โฟโต้บุ๊กสำหรับคนที่อยากได้แรงบันดาลใจและเรียนรู้เทคนิคและมุมมองการถ่ายภาพ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แถมยังมีเซสชั่นของการมานั่งคุย นั่งถกกันเรื่องการถ่ายภาพ หรือจะเป็นพื้นที่ตั้งต้นในการคิดโปรเจกต์สำหรับเด็กมหาวิทยาลัยที่เรียนมาด้านนี้ก็ได้เช่นกัน

และโซนสุดท้ายคือ FLC FOTOINFO Learning Center & MUN sandbox ที่เป็นสตูดิโอให้เหล่าคนรักการถ่ายภาพได้มาทดลองกับอุปกรณ์มากมายที่ทางแกลเลอรีจัดหามาให้ ซึ่งบางครั้งจะมีการจัดเวิร์กชอปสำหรับคนที่ต้องการเนื้อหาแบบเข้มข้นด้วย ที่นี่จึงเป็นทั้งพื้นที่จัดแสดงและสนามทดลองเรียนรู้ของช่างภาพแบบที่มือสมัครเล่นหน้าใหม่หรือมืออาชีพก็เข้ามาใช้ร่วมกันได้โดยไม่ถูกแบ่งแยก

HOP Hub Of Photography
Photo : HOP Hub Of Photography

เดินดูศิลปะแบบป๊อปๆ ที่เชื่อมโยงกับคนหลายวงการ ที่ Bangkok City City Gallery

ภาพตึกสีขาวสะอาดตาน่าจะเป็นภาพจำของ Bangkok City City Gallery แกลเลอรีที่มักจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัย ที่ไม่ใช่แค่เอาผลงานศิลปะ ภาพวาด ประติมากรรมมาตั้งไว้กลางห้อง แต่เป็นศิลปะที่หยิบจับสิ่งของ หรือใช้การออกแบบร่วมกับคนหลายๆ วงการ เพื่อให้เกิดเป็นผลงานที่มีส่วนร่วมกับยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ว่าจะผ่านคนทำหนัง นักเทคโนโลยี หรือแม้แต่ศิลปินที่หยิบนวนิยายมาขยายต่อ จนทำให้เกิดเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมา และตั้งคำถามกับสังคมต่อไป

นี่เป็นความตั้งใจของ ลูกตาล – ศุภมาศ พะหุโล และ อ๊อป-อรรคพล สุทัศน์ ณ อยุธยา ที่สนใจการจัดนิทรรศการศิลปะพร้อมกับการทดลองเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งทั้งคู่เชื่อว่าศิลปะร่วมสมัย หรือ Contemporary Art จะช่วยเปิดกว้างด้านมุมมองและความคิดให้กับคนที่แวะเวียนเข้ามาได้มีบทสนทนาใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน

ที่แห่งนี้แบ่งเป็นสองโซน คือ โซนจัดแสดงงาน ที่ภายในเป็นเพียงพื้นที่โล่ง ล้อมด้วยผนังปูนสีขาว เพื่อให้คนที่มาจัดแสดงงานสามารถตกแต่ง จัดการพื้นที่ได้ตามที่อยากสื่อสารหรือชวนสนทนาหลังดูจบ อย่างล่าสุดกับงาน A CONVERSATION WITH THE SUN โดย  อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่พาสำรวจการตั้งคำถามของผู้กำกับชื่อดังกับภาพถ่ายการแสดง และศาสตร์ต่างๆ รวมไปถึงบทสนทนาของเขากับ AI ที่สุดท้ายย้อนกลับมาคุยถึงชีวิตของมนุษย์ หรือก่อนหน้านั้นอาจได้เห็นงาน Second Hand Dialogue ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่หยิบเอาบทสนทนาของคนทั่วไปมาเป็นงานศิลปะ หรือจะเป็นงาน Bangkok Art Book Fair ที่จัดต่อเนื่องมาหลายปี เป็นการผสมผสานวงการศิลปะ กับวงการหนังสือเข้าด้วยกัน ซึ่งคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันอย่างคึกคัก

อีกโซนของที่นี่ยังมี BOOKSHOP LIBRARY ที่ทดลองเอาห้องสมุดกับร้านหนังสือรวมไว้ด้วยกัน และนำเสนอหนังสือด้านศิลปะ หรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่แกลเลอรีกำลังนำเสนอหรือสนใจ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีหนังสือที่ต่อยอดจากงานศิลปะที่จัดแสดงที่แกลเลอรีแห่งนี้ และเป็นหนังสือพิเศษที่หาซื้อได้แค่ที่นี่ที่เดียวอีกด้วย

A Conversation with the Sun
Photo : Bangkok city city gallery

ไม่ต้องไปถึงแกลเลอรี ก็สำรวจศิลปะผ่านหนังสือได้ที่ Vacilando Bookshop

สำหรับคนที่ไปแกลเลอรีก็เขินๆ เดินดูงานจบแล้วไม่รู้ต้องทำอะไรต่อ ขอแนะนำให้รู้จักกับ Vacilando Bookshop ร้านหนังสือที่เน้นขายหนังสือเกี่ยวกับภาพถ่ายและงานศิลปะ ที่เราสามารถเดินดู และค่อยๆ เปิดอ่าน ‘Art Book’ เงียบๆ เพลินๆ ได้เหมือนการอ่านหนังสือสักเล่ม

Vacilando Bookshop ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของ Arai Arai ซึ่งเป็นสเปซในบริเวณวงเวียน 22 กรกฎา คำว่า Vacilando ก็มาจากภาษาสเปนที่แปลว่า การเดินทางที่มองและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทาง ที่ร้านหนังสือแห่งนี้จึงไม่ใช่แค่ร้านที่หยิบหนังสือซื้อกลับบ้านไป แต่ทุกครั้ง ปิ่น – วิทิต จันทามฤต เจ้าของร้านหนังสือจะชวนคุยถึงที่มาที่ไปของหนังสือ ทั้งเรื่องเทคนิค ประวัติศิลปิน และอีกมากมาย ทำให้นอกจากได้หนังสือ ยังได้ความรู้ ความเข้าใจในประเด็นใหม่ๆ กลับบ้านไปด้วย

พื้นที่แห่งนี้ยังมีจัดนิทรรศการด้วยเหมือนกัน อย่างที่เพิ่งจบไปคือ Hong Kong Photobook Award Touring Exhibition ที่หยิบเอาผลงานโฟโต้บุ๊กที่ได้รับรางวัลจากฮ่องกงมาจัดแสดง และมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการทำโฟโต้บุ๊กในไทยกับฮ่องกง เรียกว่าเป็นแหล่งรวมผลของคนชอบศิลปะที่เน้นบรรยากาศแลกเปลี่ยนความคิดแบบเป็นกันเอง ไปพร้อมๆ กับซัพพอร์ตศิลปินไปในตัว วิทิตเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้แค่สวมหมวกเป็นพ่อค้าขายหนังสือ แต่คือคนให้คำปรึกษาคนที่สนใจในเรื่องราวต่างๆ ได้เดินทางมารู้จักศิลปะกันมากขึ้นผ่านเครื่องมืออย่างหนังสือ

Photo : ili U

แกลเลอรี + บาร์ ที่อยากชวนคุยเรื่องการเมืองในชีวิตประจำวันที่ WTF Gallery

เมื่อแกลเลอรี ไม่ได้เป็นแค่แกลเลอรี แต่เป็นทั้งบาร์ และพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด วิพากษ์สังคมการเมืองผ่านศิลปะ

WTF หรือ Wonderful Thai Friendship คือแกลเลอรีที่มีความเข้มข้นในแนวคิดการสะท้อน วิพากษ์ และตั้งคำถามต่อสังคมผ่านศิลปะ ก่อตั้ง โดย ส้ม – สมรัก ศิลา ผ่านการลงขันร่วมกับพาร์ตเนอร์ กลายเป็นบาร์เล็กๆ ในชั้นหนึ่ง ซึ่งชวนให้รู้สึกเป็นพื้นที่นั่งชิลล์สบายๆ แต่เมื่อขึ้นไปยังชั้นสอง ก็จะได้พบกับแกลเลอรีนำเสนอศิลปะที่สื่อสารเรื่องราวการเมืองและสังคมในชีวิตประจำวันที่แยกจากกันไม่ออก

ที่นี่จัดแสดงผลงานหลากหลาย  ตั้งแต่การนำผลงานศิลปะจากความคิดการเมืองต่างขั้วมาจัดแสดงร่วมกัน ภายใต้ชื่อ Conflicted Vision ให้เห็นทั้งจุดร่วมและจุดต่างของความคิด งาน This Is Not A Political Act ที่ให้พื้นที่ของเสียงของแนวคิดต่างๆ ถูกได้ยินแม้จะมีความเสี่ยง 

การออกแบบพื้นที่ที่นี่ก็มีนัยสำคัญ การเดินขึ้นบันไดสลัวๆ สู่ชั้นสองของแกลเลอรีเล็กๆ หลังนี้ มีมากกว่าการเสพสุนทรียะของศิลปะ แต่คือการตั้งคำถามต่อข้อจำกัดในหน้าที่และบทบาทของศิลปะและผู้คนในวงการศิลปะในสังคม การได้พูดคุยถึงเรื่อง Censorship และ Self-censorship จนถึงการใคร่ครวญถึงการวางขอบเขตความคิดโดยภาครัฐ จากการชมงานของ Baphoboy, Headache Stencil และอีกหลายศิลปิน 

นอกเหนือจากนี้ แกลเลอรีแห่งนี้ยังจัดแสดงงานที่สื่อความในมิติ อื่นๆ ด้วย อาทิเช่น Quiet Time Exhibition เล่าความเงียบงันในช่วง Covid, กิจกรรมบอร์ดเกม Welcome you to IN-PATTANI, The Weeping Guitar, PROJECT-PRY 01 ที่เล่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฯลฯ

ราวกับจะบอกว่า นอกจากการเมืองจะไม่แยกขาดจากชีวิตประจำวัน ศิลปะก็เช่นเดียวกันด้วย

WTF GALLERY & CAFE
Photo : WTF Gallery

ที่มา

บทความ Jim Thompson Art Center, เว็บไซต์ readthecloud.co

บทความ BANGKOK CITYCITY BOOKSHOP LIBRARY ร้านหนังสือที่ไม่ยอมขายหนังสือเล่มสุดท้ายในสต็อก, เว็บไซต์ adaymagazine.com

เว็บไซต์ sac.gallery

บทความ HOP คอมมูนิตี้ที่มีทั้งพื้นที่ปล่อยของ และสิ่งจุดประกายแรงบันดาลใจของเหล่าช่างภาพ, เว็บไซต์ adaybulletin.com

เว็บไซต์ wtfbangkok.com

Cover Photo : HOP Hub Of Photography

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก