สำหรับผู้กระทำผิดซึ่งเข้ารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม การหวนกลับไปใช้ชีวิตในสังคมตามปกติอาจไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งมีความต้องการด้านความรู้ หรือ การช่วยเหลือเยียวยาที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนทั่วไป พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในต่างประเทศไม่เพียงทำงานด้านการจัดแสดงวัตถุ แต่ยังมีบทบาททางสังคมในการเชื่อมโยงความรู้และศิลปะไปสู่ผู้ต้องขังและอดีตผู้กระทำผิด
ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กองทุนโคสต์เลอร์ (The Koestler Trust) ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และองค์กรด้านกระบวนการยุติธรรม เพื่อสนับสนุนให้ผู้ต้องขังและอดีตผู้กระทำผิดได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เพราะเชื่อว่าศิลปะเป็นสื่อที่ช่วยให้มนุษย์สามารถมองชีวิตด้านบวกมากขึ้น รวมทั้งทำให้คนในสังคมมองเห็นความสามารถและเกิดทัศนคติแบบใหม่ต่อผู้ที่เคยกระทำผิด
โครงการสำคัญ คือ รางวัลโคสต์เลอร์ ซึ่งเป็นการประกวดผลงานศิลปะกว่า 50 ประเภท ครอบคลุมทั้งด้านคีตศิลป์ วิจิตรศิลป์ วรรณศิลป์ ศิลปะการแสดง งานออกแบบ และงานฝีมือ ในแต่ละปีมีผู้ต้องขังและอดีตผู้กระทำผิดส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 3,000 คน กองทุนฯ ช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการให้ฟีดแบ็กผลงานเกือบทุกชิ้น เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาและต่อยอดผลงาน นอกจากนี้ยังให้คำปรึกษาด้านการขายผลงานศิลปะ และนำผลงานดังกล่าวไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
พิพิธภัณฑ์ลิเวอร์พูลเป็นหนึ่งในองค์กรที่นำผลงานศิลปะจากการประกวดรางวัลโคสต์เลอร์ไปจัดแสดง รวมทั้งจัดอบรมการพัฒนาทักษะศิลปะให้แก่ผู้ต้องขังและอดีตผู้กระทำผิด เพื่อช่วยให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และสามารถนำทักษะใหม่ๆ ไปใช้ประกอบสัมมาชีพได้
ด้านพิพิธภัณฑ์ในแคว้นสตาฟฟอร์ดเชียร์มีรถบัสพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ ‘Museum on the Move’ ซึ่งปกติแล้วให้บริการตามสถานที่ชุมชนในแคว้นใกล้เคียง แต่มีการขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษเพื่อเข้าไปสร้างประสบการณ์ด้านศิลปะวัฒนธรรมในเรือนจำ หนุ่มสาวผู้ต้องขังต่างสนุกสนานกับการร่วมกิจกรรม บางคนเพิ่งจะเคยใช้บริการพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรกในชีวิต และนี่ยังเป็นโอกาสที่พวกเขาได้พบปะพูดคุยกับคนอื่นๆ ที่มาจาก ‘โลกภายนอก’
ในอังกฤษมีการสำรวจพบว่า กลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 80% มีอาการป่วยหรือทุพพลภาพเป็นเวลานาน และ 30% มีภาวะซึมเศร้า การทำให้สมองตื่นตัวอยู่เสมอจึงเป็นกุญแจสำคัญในการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานรอยัลอัลเบิร์ต และ RECOOP ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลด้านช่วยเหลือผู้สูงอายุ จึงร่วมกันทำโครงการ ‘Brain Gym’ มีการนำเสนอวัตถุและเรื่องราวที่น่าสนใจทางประวัติศาสตร์ เพื่อจุดประกายการอภิปรายระหว่างผู้ต้องขังด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง เช่น เรื่องของโบสถ์เซนต์นิโคลัส ซึ่งเป็นอารามยุคกลางแห่งแรกของเมืองเอ็กซิเตอร์
ในบางครั้ง การทำงานพิพิธภัณฑ์กับเรือนจำก็ก้าวไปไกลกว่าให้ความรู้ด้านศิลปะ แต่เป็นกระบวนการที่ชวนให้สังคมหันมาเรียนรู้และพินิจความเป็นไปของระบบยุติธรรม กรณีของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา ได้จัดนิทรรศการศิลปะ “It’s Not Just Black and White” พร้อมกับกิจกรรมวิชาการ งานเต้นรำ การฉายภาพยนตร์ การแสดง และเวทีอภิปรายสาธารณะว่าด้วยระบบยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา โดยเชิญผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ผู้ต้องขัง และชุมชน มาร่วมงาน
นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกที่บอกเล่าประวัติการถูกจองจำ เช่น พิพิธภัณฑ์เกาะอัลคาทราซ ในซานฟรานซิสโก และพิพิธภัณฑ์เรือนจำคิลเมนฮาม ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ฯลฯ เรื่องราวในอดีตที่อยู่หลังซี่กรงจุดประกายให้ผู้คนในปัจจุบันตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจหรือถูกนำมาใช้อย่างขาดความเที่ยงธรรม ในวันหนึ่งก็อาจกลายเป็นความอัปยศที่ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์
ที่มา
บทความ “How are Museums working with Prisons, Ex-Offenders and exploring the justice system?” จาก museumnext.com (Online)