ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม

794 views
9 mins
September 25, 2023

          หากจะอธิบายวิธีการทำงานของโปรเจกต์ CLIMAVORE ที่ชวนให้มนุษย์เปลี่ยนวิถีการบริโภคผ่านงานศิลปะ ก็ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า เราควรจะบริโภคอย่างไรเมื่อโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะโปรเจกต์นี้ใช้ศิลปะหลายแขนง บวกกับกิจกรรม และนิทรรศการ มาช่วยสร้างความเข้าใจ และโน้มน้าวให้มนุษย์เปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่สร้างมลภาวะให้กับโลก

          โปรเจกต์นี้ดำเนินการโดยคู่หูศิลปินที่ทำงานร่วมกันในนาม Cooking Sections อีกหนึ่งกองกำลังที่พยายามเปลี่ยนโลกด้วยวิธีการของพวกเขา สองหนุ่มแดเนียล เฟอร์นันเดซ ปาสกูอัล (Daniel Fernández Pascual) และ อลอน ชวาบ (Alon Schwabe) พบกันในปี 2013 ที่ศูนย์วิจัยทางสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ (Centre for Research Architecture at Goldsmiths College) ชวาบมีพื้นฐานด้านศิลปะการเต้นและการแสดง ส่วนปาสกูอัลเป็นสถาปนิกชาวสเปน พวกเขาริเริ่มโปรเจกต์ทดลองว่าด้วยเรื่องการเมืองของการย้ายถิ่นของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จากนั้นก็ทำงานคู่กันมาตลอด

          เราอาจเคยรู้จักคำว่า Herbivore (กินพืช) Carnivore (กินสัตว์) หรือ Locavore (กินอาหารที่มีในท้องถิ่น) มาบ้างแล้ว บทความนี้ขอแนะนำคำว่า ‘Climavore’ ที่หมายถึงการกินอาหารที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

          Climavore คือแนวคิดที่เป็นแกนกลางการทำงานของ Cooking Sections พูดง่ายๆ คือ พวกเขาใช้ ‘อาหาร’ เป็นประตูสู่การสำรวจพลวัตของภาวะโลกร้อน ประเด็นส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงในโปรเจกต์ จึงบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงในการผลิตอาหาร พัฒนาการของพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับการทำฟาร์มรูปแบบใหม่ สัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ และอีกมากมายหลายเรื่องที่ชี้ชวนให้รักษ์โลกกันมากขึ้น

          โลกกำลังให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซีรีส์ Our Planet จาก Netflix เต็มไปด้วยเรื่องราวดราม่าของสัตว์ป่าและธรรมชาติที่กำลังเดือดร้อนหนัก หมีขาวผ่ายผอม วอลรัสไร้ที่อยู่ หรือเสือที่ต้องออกล่านอกเขตแดนเพราะอาหารไม่พออีกต่อไป แวดวงศิลปะร่วมสมัยก็เริ่มหันมาสนใจประเด็นเกี่ยวกับธรรมชาติและน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายมากขึ้น เรามีโอกาสได้เห็นศิลปินนำก้อนน้ำแข็งก้อนเบ้อเร่อ 24 ก้อนจากเกาะกรีนแลนด์ มาตั้งไว้หน้าหอศิลป์เทตบริเตน (Tate Britain) เพื่อสร้างความตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมาแล้ว (แม้จะโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขนส่งที่ใช้พลังงานสิ้นเปลือง)

          การเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนผ่านงานศิลปะมีพัฒนาการและความหลากหลายมากขึ้น แต่งานแสดงศิลปะก็ไม่จำเป็นจะต้องหวือหวาตลอดเวลา นิทรรศการในโปรเจกต์ CLIMAVORE ก็เป็นเพียงส่วนผสมของศิลปะคูลๆ ผสมกับเนื้อหาสาระ ผลงานวิจัย และผลลัพธ์ที่จับต้องได้

          จนถึงวันนี้ โปรเจกต์ของสองหนุ่มนักผลิตอาหารทางความคิด เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ตั้งแต่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลเดดซี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยูเครน ทั้งยังได้รับรางวัลและจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่างหอศิลป์เทตบริเตน หรืองานเทศกาลศิลปะเวนิสเบียนนาเล (Venice Biennale)

ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม
Photo: Cooking Sections

น้ำขึ้นเป็นฟาร์มหอยนางรม น้ำลงกลายเป็นโต๊ะอาหาร และทั้งหมดคืองานศิลปะ

          CLIMAVORE: On Tidal Zones เป็นโปรเจกต์ย่อยของ CLIMAVORE ซึ่งเริ่มต้นในปี 2017 ที่เกาะสกาย (Isle of Skye) เกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสกอตแลนด์ และยังดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้หน้าตาจะดูเหมือนงานวิจัยมากกว่างานศิลปะ แต่โปรเจกต์นี้ได้รับการสนับสนุนจาก ATLAS Arts หน่วยงานวัฒนธรรมในสกอตแลนด์ถึง 150,000 ปอนด์ 

          ศิลปินบอกเล่าเรื่องราวของปัญหามลพิษทางน้ำของเกาะ สาหร่ายเป็นพิษเพราะอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น รวมไปถึงพื้นของมหาสมุทรโดยรอบที่ถูกทำลายเสียหายจากการทำฟาร์มแซลมอน ตั้งแต่ปี 2017 ที่เกาะสกายมีการทำฟาร์มแซลมอนอย่างหนัก สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางน้ำถูกทำลาย เกิดการติดเชื้อในปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

          สมัยก่อน ผู้คนในเกาะใช้พื้นที่ตามบริเวณเขตชายฝั่งสร้างกำแพงแบบพิเศษขึ้นมาเพื่อกักสัตว์น้ำ (ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญจากพื้นที่ที่หาอาหารได้อย่างยากลำบาก) หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นกำแพงดักปลาเมื่อเวลาน้ำขึ้น เมื่อน้ำลง ปลาแฮร์ริง ปลาคอด กุ้ง แซลมอน และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ จะถูกกักไว้ด้านในเมื่อคลื่นซัดเข้ามา และรูปร่างของกำแพงนั้นก็จะถูกดัดปรับไปเรื่อยตามสายพันธุ์สัตว์น้ำที่แตกต่างกันไป

          หลายทศวรรษผ่านไป ภูมิปัญญาและวิธีคิดย่อมเปลี่ยนแปลง เขตชายฝั่งทะเลแถบนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่จะรักษาความมั่นคงทางอาหารของคนในเกาะ และสร้างความแข็งแรงให้กับห่วงโซ่อาหารในแถบชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

          เมื่อต้องสื่อสารแนวคิดการกินอาหารแบบ Climavore ให้เป็นรูปธรรม งานศิลปะของ Cooking Sections จึงมุ่งไปที่การตั้งโครงสร้างขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นคือฟาร์มหอยนางรม เป็นศิลปะจัดวางที่เป็นได้ทั้งฟาร์มเพาะพันธุ์เมื่อน้ำขึ้น และเมื่อน้ำลงก็จะเป็นโต๊ะอาหาร ชวนผู้คนจากหลากหลายฝ่ายให้เข้ามาระดมสมองถกเถียงเรื่องระบบนิเวศของเกาะ

          “สิ่งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ เราได้เรียนรู้ว่าเราจะเชื่อมโยงกับเหล่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่ทำงานอยู่ที่นั่นได้อย่างไร” ชวาบเอ่ย

          กว่า 3 ปี Cooking Sections ทำงานร่วมกับธุรกิจท้องถิ่นและชาวบ้านในเกาะเพื่อเปลี่ยนผ่านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ทำลายธรรมชาติไปสู่วิถีปฏิบัติแบบใหม่ ทั้งการเลี้ยงหอยนางรมและสาหร่าย ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนราคาไม่สูงที่ช่วยกรองน้ำให้ไม่มีมลพิษ

          โปรเจกต์จึงเคลื่อนไปด้วยการทำงานเชิงวิจัย พวกเขาร่วมมือกับนักนิเวศวิทยา นักชีววิทยาทางทะเล นักพืชศาสตร์ (สาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตทางการเกษตร) นักโภชนาการ แม้กระทั่งวิศวกร นักดำน้ำล่าหอยเชลล์ท้องถิ่นก็มีเอี่ยวด้วยในการแบ่งปันความรู้ว่าการขุดลอกหอยเชลล์นั้นทำลายธรรมชาติอย่างไร ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายเคลป์ก็ต้องให้ความรู้ในเรื่องการปรุงสาหร่ายที่หลากหลาย อธิบายเรื่องวงจรในการเพาะพันธุ์สาหร่ายและให้ความมั่นใจผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปว่ามันเติบโตได้

          มื้อเช้า กลางวัน เย็น ผู้เข้าร่วมจะได้ร่วมถกประเด็นกลางโต๊ะอาหารซึ่งก็คือสถานที่เลี้ยงหอยนางรม นักการเมือง ชาวบ้าน ชาวประมง นักวิทยาศาสตร์จะได้ชิมค็อกเทลหอยนางรมสดๆ และพูดคุยเรื่องอนาคตของเกาะ หรือแม้กระทั่งวาระที่ลึกและซีเรียส เช่น สิทธิสาธารณะของผู้เช่าที่ ชาวประมงกำลังจะลดลงจากการพิจารณาคดี ที่ข้อมูลของการแลกเปลี่ยนถูกบันทึกและเก็บไว้เป็นแหล่งข้อมูลในเว็บไซต์อย่างละเอียด

          Cooking Sections ปักหมุดในการฟื้นฟูทะเล นำเสนอวัตถุดิบในการทำอาหารที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมพฤติกรรมใหม่ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อคุณภาพน้ำชั้นเลิศ นักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นตามพื้นที่จะได้เข้าร่วมเวิร์กชอปกับ Cooking Sections เพื่อศึกษาว่า สูตรอาหารที่คำนึงถึงภาวะโลกร้อนต้องทำอย่างไร เมื่อจบออกไปแล้วก็ยังได้ฝึกปรือฝีมือกับร้านอาหารใกล้บ้านอีกด้วย 

          นอกจากเชฟกะทะเหล็กสามรายจากเกาะสกายและราเซย์ (Raasay) จะพร้อมกันลบแซลมอนออกไปจากเมนู ไม่รับซื้อวัตถุดิบปลาแซลมอนจากฟาร์มที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และร่วมกันสร้างสรรค์เมนูลดผลกระทบต่อโลกของท้องถิ่นแล้ว ชุดความรู้และจานอาหารก็ควรจะถูกส่งผ่านออกไปนอกพื้นที่ด้วย

ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม
Photo: Nick Middleton/ Cooking Sections
ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม
Photo: Cooking Sections
ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม
Photo: Colin Hattersley

สร้างจักรวาล CLIMAVORE ทุกมุมโลก ทำงานวิจัยให้หนัก เพื่อพิทักษ์อาหารจานลด(โลก)ร้อน

          เมนูอาหารแบบ CLIMAVORE หรือ CLIMAVORE dish ต้องหาพื้นที่ในทุกแวดวง และในเมื่อนี่คือโปรเจกต์ศิลปะ จึงต้องจัดแสดงที่หอศิลป์ด้วย ผลงานในปี 2020 เป็นนิทรรศการชื่อ Salmon: A Red Herring

          Cooking Sections จับประเด็นเรื่องสีมาตีแผ่ เพราะการเปลี่ยนสีของสายพันธุ์สัตว์น้ำในโลกนี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนของหายนะทางธรรมชาติ ซึ่งตัวต้นเหตุก็มาจากมนุษย์ เพราะสัตว์ซึมซับสารปลอมแปลงเข้าไปในร่างกาย 

          นิทรรศการ Salmon: A Red Herring จึงชวนตั้งคำถามว่าเราคาดหวังที่จะเห็น ‘สี’ แบบไหนในธรรมชาติ นักการตลาดวิเคราะห์ว่าแต่ละประเทศมีความนิยมในสีของแซลมอนที่แตกต่างกัน ดังนั้นฟาร์มจึงพยายามทำให้แซลมอน ‘กลายเป็น’ สีที่ไม่ใช่สีของตัวมันเองเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ มันจึงชวนให้เราตรวจสอบว่าความคิดเรื่องสีของเราก็เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกนั่นแหละ 

          และนิทรรศการนี้ก็นำมาซึ่งผลลัพธ์คล้ายคลึงกับโมเดลที่เกาะสกาย ภัตตาคารทั้ง 4 แห่งในหอศิลป์เทตบริเตนหยุดเสิร์ฟแซลมอนที่ได้มาจากการทำฟาร์มตลอดไป ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่มีการจัดนิทรรศการ พร้อมอธิบายแนวคิดนี้ให้โลกรู้เรื่องภาวะโลกรวนด้วย

          การจับมือกันของ Cooking Sections กับหอศิลป์เทตบริเตน ทำให้มองเห็นความจริงจังของหน่วยงาน พวกเขาจึงใช้วิธีนี้ในการขับเคลื่อนโปรเจกต์อื่นๆ ด้วย คือเรียกร้องให้องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดถอนการลงทุนจากการเพาะเลี้ยงฟาร์มแซลมอนเช่นเดียวกัน

          ในช่วงปี 2020-2022 งานนิทรรศการศิลปะในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และทุกอย่างถูกบันทึกเก็บไว้ในเว็บไซต์ของ CLIMAVORE 

          งานสนุกๆ ที่ชายหาดเวนิซอย่างโปรเจกต์ Mussel Beach พยายามสร้างความรู้ใหม่โดยให้หอยแมลงภู่เป็นตัวเอก ว่ามันมีความสำคัญกับระบบนิเวศอย่างไร ลมหายใจของมันสามารถทำให้น้ำทะเลสะอาด ทั้งยังช่วยเรื่องระบบการเผาผลาญในร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นการสำรวจทั้งร่างกายของหอยแมลงภู่ ร่างกายมนุษย์ และร่างกายของเมือง

          นอกจากนี้ก็ยังมี CLIMAVORE: Seasons Made to Drift ที่อิสตันบูล ตุรกี ซึ่งประกอบไปด้วยนิทรรศการเดี่ยว 5 ชิ้นจากศิลปิน โฟกัสไปที่วิถีเกษตรกรรมที่กลายเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ของตุรกี ภูมิศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบหนักจากการเพาะปลูกเชิงปริมาณหรือบรรดาเมกะโปรเจกต์ทั้งหลาย

          The Lasting Pond (2021) เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่สำรวจการเปลี่ยนแปลงผังเมืองที่กระทบกับพื้นที่ชุ่มน้ำในตุรกีโดยการตามรอยฝูงควายตามเส้นทางในปลักโคลนและสัมภาษณ์เกษตรกรเจ้าของฝูง เพราะพื้นที่ทั้งหมดนี้อาจจะถูกสนามบินแห่งที่สามหรือสะพานแห่งที่สามสร้างทับในที่สุด 

          แต่ควายเป็นสิ่งมีชีวิตที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาเป็นเวลามากกว่า 100 ปี ศิลปินจึงส่งเสียงเพื่อชุมชนโดยการตั้งร้านนมควายชุมชนขึ้นมาเสียเลย นำโคลนไปเป็นส่วนผสมในพุดดิ้งนมข้าวสไตล์ตุรกี (sütlaç) จำนวน 1,000 เสิร์ฟ รวมถึงทำงานร่วมกันกับนักโบราณคดีเพื่อผลิตถ้วยโยเกิร์ต  

          ศิลปินทำงานร่วมกับสถาบันคหกรรมด้านอาหารสร้างสรรค์ (Culinary Arts Academy) เพื่อใส่สูตรนมควายเข้าไป ผู้มาเยี่ยมเยียนจะได้ชิมผลิตภัณฑ์นมควายตุรกี และหลังจบงานแล้วก็ยังมีการช่วยส่งเสริมวิถีการเลี้ยงควายให้คนเห็นถึงความสำคัญมากขึ้น

ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม
Photo: Cooking Sections

          ยังไม่จบเพียงแค่นั้น Wallowland ในปี 2022 ก็เป็นงานนิทรรศการที่ต่อยอดมาจากงาน The Lasting Pond ซึ่งเป็นงานนิทรรศการแบบต่อเนื่อง และได้จัดแสดงในการเทศกาลศิลปะอาร์ตเบียนนาเลครั้งที่ 17 ของอิสตันบูล (Istanbul Biennial)

          Undamming Rivers เป็นศิลปะจัดวางในพื้นที่เฉพาะเจาะจง (Site-specific installation) ที่สำรวจความเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ สัญลักษณ์แห่งความเป็นยุคสมัยใหม่ แต่ในความเป็นจริงเขื่อนผุดขึ้นในหลายพื้นที่ในสวีเดน และมีจำนวนมากเกินความจำเป็นแม้ว่าชาวบ้านจะประท้วงว่าพวกเขาและธรรมชาติรอบตัวได้รับผลกระทบเสียหายมากก็ตาม

          งานชิ้นนี้เป็นงานคอลลาจที่นำแผนที่การเดินทางของแซลมอนมาแปะทับตรงพื้นที่ที่มีเขื่อนอยู่ และก่อนที่งานจะคลอด มีการทำวิจัยที่ยาวนานและพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในสวีเดนและประเทศอื่นๆ จนได้ข้อสรุปว่า Undamming Rivers มีวิสัยทัศน์ที่จะนำสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็นออกไปจากแม่น้ำเพื่อให้แซลมอนได้ใช้ชีวิตตามวงจรของมัน พร้อมปลุกแคมเปญด้านกฎหมายเพื่อเรียกร้องให้รื้อเขื่อน

          CLIMAVORE คือทีมเนิร์ดนัมเบอร์วัน เป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวที่กางมิติของการแทรกแซงทางศิลปะ (Art Intervention) ไว้ครบถ้วน ต้องมีความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน หลายหน่วยวิจัย และไม่หยุดนิ่ง พวกเขาพยายามเสนอแนวคิดผ่านงานศิลปะที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสังคมค่อนข้างสูง และอาจมีผลไปถึงการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย

ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม
Photo: Petter Cohen/ Cooking Sections

มาเป็น Climavore กันเถอะ!

          ธุรกิจเกษตรกรรมขนาดใหญ่ส่งผลให้เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว ระบบเศรษฐกิจที่บีบให้ต้องผลิตอาหารในเชิงปริมาณ ทำให้วิถีการเพาะปลูกและการบริโภคของคนเปลี่ยนไปด้วย และสิ่งนี้เชื่อมโยงกับเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) อย่างมีนัยสำคัญ

          นักอ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ยินดีด้วย คุณเป็นคนเนิร์ดพอสมควร คุณสนใจเรื่องอาหารการกินที่ส่งผลต่อโลก สนใจงานศิลปะเชิงวิจัย และอาจสนใจอะไรใหม่ๆ ที่เคี้ยวไม่ง่าย เพราะจักรวาล CLIMAVORE ของ Cooking Sections กว้างและลึกมาก 

          หากกล่าวถึงผลลัพธ์ที่ได้ โปรเจกต์ CLIMAVORE ประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจผู้ชมไม่น้อย CLIMAVORE: On Tidal Zones ได้รับผลตอบรับอย่างดี วัดได้จากมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานถึง 500,000 คนต่อปี ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นก็รับรู้ถึงการเปลี่ยนผ่านของเกาะและร่วมทำงานไปด้วยกันจนถึงวันนี้

          เมนูอาหารรักษ์โลกแบบ CLIMAVORE ปรากฏอยู่ในภัตตาคารกว่า 25 แห่งที่อังกฤษ ตุรกี สกอตแลนด์ อิตาลี และร้านอาหารอีก 10 แห่งทั่วเกาะสกายและราเซย์  นอกจากนี้ยังรวมตัวกันถอดแซลมอนที่ได้มาจากการทำฟาร์ม คิดค้นเมนูอาหารที่วัตถุดิบช่วยบำรุงดิน พัฒนาคุณภาพน้ำ และส่งโปสการ์ดอาหารกระจายไปยังสถาบันที่เกี่ยวข้อง

          “มันอัดฉีดพลังงานเข้าไปในบทสนทนาได้อย่างแท้จริงว่าผู้คนสร้างการเปลี่ยนแปลงในวิถีของตัวเองได้อย่างในอนาคต” ชวาบกล่าว

          จึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นการแตกย่อยของ CLIMAVORE ไปในนิทรรศการศิลปะร้อยแปดรูปแบบ หรือแนวร่วมเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น CLIMAVORE Station ที่เกาะสกายรวมถึง Becoming CLIMAVORE ซึ่งเป็นทั้งนิทรรศการแสดงภาพและเสียงเกี่ยวกับการดิ้นรนของแซลมอนในสกอตแลนด์

          ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศิลปินทั้งสองคนนี้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ และศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง research architecture หรืองานสถาปัตย์เชิงวิจัย ซึ่งบทความ Political, forensic, hi-tech: how ‘research architecture’ is redefining art ของ เดอะ การ์เดียน ก็วิเคราะห์ไว้ว่าเป็นสถาบันที่บ่มเพาะการเคลื่อนไหวใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา 

          การสอนให้นักศึกษาทำวิจัย ซึมซับแง่มุมทางการเมือง พัฒนาทักษะทางสถาปัตย์เชิงพื้นที่ สอนการทำข่าว กฎหมาย และวิทยาศาสตร์ อาจจะเป็นรากฐานของการสอนแบบข้ามศาสตร์เพื่อโลกยุคใหม่ สร้างคนแบบ Cooking Sections และศิลปินอื่นๆ ที่โดนตั้งคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าพวกเขาทำงานศิลปะจริงๆ น่ะหรือ

          Cooking Sections ไม่เคยหอบผ้าหนีไปจากโปรเจกต์ที่ยังทำไม่เสร็จ ถ้าพวกเขายังไม่เห็นผลลัพธ์ ก็พร้อมวางแผนที่ต้องอาศัยเวลาทำงานมากกว่าเดิม 

          “มันก็ใช้เวลาเท่าๆ กันนั่นแหละ กว่าที่ดินจะปนเปื้อน และกว่าที่จะทำให้มันหายปนเปื้อนด้วยวิถีทางธรรมชาติ ดังนั้นถ้าเรามองการปฏิวัติอุตสาหกรรมว่าเป็นจุดกำเนิดของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เราก็ต้องเริ่มทำงานเพื่อแก้ปัญหาในทุกๆ ช่วงเวลาที่แตกต่างกัน” ชวาบและปาสคูอัลกล่าว

ติดตามผลงานของ Cooking Sections ได้ที่ https://www.cooking-sections.com/

ปฏิบัติการศิลปะ เปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อโลกที่ถูกคุกคาม
Photo: Cooking Sections

เชิงอรรถ

[1] CLIMAVORE คือ โปรเจกต์ที่ชวนให้มนุษย์เปลี่ยนวิถีการบริโภคอาหาร เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อโลกด้วยงานศิลปะ

[2] Climavore คือ การกินอาหารที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ


ที่มา

บทความ “CLIMAVORE by Cooking Sections” (Online)

บทความ “Cooking Sections and the recipe for a healthy planet” (Online)

บทความ “Cooking Sections, CLIMAVORE” (Online)

บทความ “Political, forensic, hi-tech: how ‘research architecture’ is redefining art” (Online)

เว็บไซต์ CLIMAVORE (Online)

เว็บไซต์ Cooking Sections (Online)

Cover Photo: Petter Cohen/ Cooking Sections

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก