ความมั่นคงทางอาหาร สำคัญยังไง? คุยกับ อรุณวตรี รัตนธารี ว่าด้วยเรื่องนอกจานที่มากกว่าแค่การกินอร่อย

3,456 views
8 mins
October 3, 2022

          Global Report on Food Crises 2022 รายงานว่า “ประชากร 193 ล้านคนใน 53 ประเทศ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน” 

          อธิบายอย่างรวบรัดที่สุด ทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ต่อเนื่องด้วยผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผนวกกับปัญหาเดิมที่มีอยู่ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดจำนวนลง ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น เกิดเป็นวิกฤตราคาอาหารแพงที่คนทั่วโลกต้องแบกรับ 

          ถึงวันนี้ คำใหญ่โตและฟังดูเหมือนจะไกลตัวพวกเราอย่าง ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ (Food Security) จึงไม่ใช่แค่เรื่องของคนในระบบสายพานการผลิตอาหารเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปที่กินข้าววันละสามมื้อ ที่อาจจะมีทั้งคนที่อินและไม่อินกับเรื่องอาหารการกิน หรืออาจจะกำลังสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง 

          ม็อบ อรุณวตรี รัตนธารี นักสื่อสารเรื่องอาหาร นักวิจัยเรื่องอธิปไตยด้านอาหารในไทย และผู้ก่อให้เกิดกิจกรรม Urban Foraging BKK ร่วมกับโครงการสวนผักคนเมืองกรุงเทพฯ ที่ชวนคนเมืองไปเด็ดพืชผักกินได้ริมทางมาร่วมกันเรียนรู้ เพื่อสร้างฐานข้อมูลเรื่องพืชอาหารสำหรับคนเมือง 

          ด้วยความพยายามจะเชื่อมโยงให้ใครก็ตามที่เป็นผู้มาใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องอาหารในมิติที่หลากหลาย ผ่านการสื่อสารและการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เธอเองก็น่าจะเป็นอีกคนที่คลายความสงสัยเหล่านี้ได้ดี

อะไรหล่อหลอมคุณให้มีความสนใจอาหารในจาน มากกว่าแค่การกินอร่อย

          เราเติบโตมาในบ้านที่ทำอาหารกินเอง และคนในบ้านที่มีความเป็นนักวิชาการในตัวกันทุกคน ย่าเป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม แม่เป็นอาจารย์ ส่วนพ่อก็เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ ทุกคนมีเซนส์ของการบอกเล่าและการสอน ระหว่างที่เป็นลูกมือช่วยย่าทำกับข้าว ย่าก็จะหยิบวัตถุดิบขึ้นมาสักอย่างแล้วเล่าไปห้านาที ตอนนั้นเรารู้สึกว่าอาหารมันมีสตอรี ไม่ใช่แค่ความอร่อย

          พอเริ่มมีความสนใจเรื่องอาหาร ความโชคดีคือเรามีแหล่งข้อมูลให้ค้นคว้าได้ในบ้าน เพราะที่บ้านมีหนังสือเยอะ ประกอบกับที่บ้านชอบเดินทาง ตอนเด็กๆ จำได้ว่าไปโรดทริปกันเดือนละครั้งถึงสองครั้งเป็นอย่างน้อย ด้วยความที่เราเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่น้องให้คุย ไม่มีกิจกรรมอื่นนอกจากการอ่านหนังสือและเป็นลูกมือช่วยย่าทำกับข้าว ที่บ้านเลยรู้สึกว่า งั้น ออกเดินทางกันดีกว่า อยากพาเราไปเจอโลกให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

โรดทริปของครอบครัวที่มีเซนส์นักวิชาการกันทุกคน ออกมาในรูปแบบไหน

          เป็นการเดินทางที่แวะและเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ สมมติว่าเป็นทริปเขาใหญ่ คนอื่นอาจจะมีหมุดหมายคือไปเที่ยวชมวิว แต่บ้านเราจะแวะตลาดระหว่างทาง แวะซื้อของ แวะจังหวัดอื่น แวะสระบุรีนิดนึง ด้วยความที่แม่บอกว่าตรงนั้นมีหมู่บ้านลาวอพยพ แม่ก็จะเริ่มเล่าว่าคนลาวอพยพมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่สมัยไหน อาหารของเขามีความซ้อนทับเรื่องวัฒนธรรม ปลาร้าที่นี่ไม่เหมือนกับที่อีสานนะ หรือต่อให้เป็นวันธรรมดาที่อยู่บ้าน ช่วงเลิกงานตอนเย็นแม่ก็จะพาเราไปเดินตลาด เพราะเขาอินกับการซื้อของสดใหม่ตลอดเวลา ที่บ้านจะไม่มีของค้าง ไม่เคยซื้อตุน เพราะไปเดินตลาดแทบทุกวัน 

จากจุดนั้น ต่อยอดมาเป็นการงานของคุณในทุกวันนี้ได้ยังไง

          ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ตอนแรกเราเรียนรัฐศาสตร์ก่อนจะเบนเข็มมาเรียนวารสารศาสตร์ เป็นการย้ายคณะที่เซนส์ของคณะเดิม (รัฐศาสตร์) มันยังอยู่ คือการตั้งคำถามกับทุกอย่าง เราก็ตั้งคำถามกับเรื่องอาหารด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เรื่องสตอรีแล้ว แต่เริ่มตั้งคำถามกับอาหารในจาน มันมาจากไหน เดินทางมายังไง เรากินอะไรอยู่ กระทั่งว่าทำไมในตลาดมีผักแค่สามสี่อย่างให้เรากิน

อรุณวตรี รัตนธารี

คะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี

          ใช่ ทำไมมันมีให้เราเลือกอยู่แค่นี้ เราเก็บความสงสัยนู่นนี่มาต่อยอดความสนใจ หาคำตอบให้ตัวเองสะสมมาเรื่อยๆ มานั่งคิดว่าสิ่งที่เกี่ยวกับอาหาร นอกจากการทำอาหารหรือเป็นเชฟแล้วมันมีอะไรอีกบ้าง ก็เจอว่าเครื่องมือของเราคือเรื่องการสื่อสาร แต่เราไม่ได้เฟรมตัวเองว่าต้องเป็นนักเขียนเท่านั้นนะ สำหรับเราการสื่อสารเป็นงานออกแบบประเภทหนึ่ง มันจะเป็นอะไรก็ได้ เราเลยทำงานสื่อสารมาเรื่อยๆ ทั้งงานเขียน จัดกิจกรรม ตอนที่ไปเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ เราก็ทำธีสิสเรื่อง Food Sovereignty (อธิปไตยด้านอาหาร) ซึ่งเกี่ยวโยงกับความมั่นคงด้านอาหาร เพราะ Food Crisis เป็นเรื่องใหญ่มากทั่วโลก 

นอกจากคำจำกัดความที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต ความมั่นคงด้านอาหาร คำกว้างๆ นี้คืออะไร และครอบคลุมเรื่องไหนบ้าง

          Meaning แรกสุดเกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วโลก UN (องค์การสหประชาชาติ) เลยตั้งนิยามความมั่นคงด้านอาหารขึ้นมาเพื่อต้องการพัฒนาให้คนทั่วโลกไม่อดอยาก นั่นคือ Criteria แรกของความมั่นคงด้านอาหาร คือทุกคนควรมีอาหารกินอย่างเพียงพอ จากนั้น Meaning ของมันก็ Develop มาเรื่อยๆ เช่น อาหารเพียงพอแล้วยังไงต่อล่ะ ต้องปลอดภัยด้วยมั้ย ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า ความมั่นคงด้านอาหารมันก็เลยครอบคลุมในมิติที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคม แต่พื้นฐานของมันคือคนสามารถเข้าถึงอาหารได้มั้ย 

          อย่างล่าสุดร้านข้าวมันไก่ทั่วสิงคโปร์ไม่มีไก่ขาย บริบทของสิงคโปร์คือ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง แต่พื้นที่ในการผลิตอาหารน้อย จำเป็นต้องนำเข้าไก่ ถ้าจำตัวเลขไม่ผิด ไก่สดในสิงคโปร์ประมาณ 80% เป็นการนำเข้าจากมาเลเซีย พอเกิดวิกฤต ประเทศผู้ผลิตอย่างมาเลเซียก็มีนโยบายจำกัดการส่งออกเพื่อรักษาสมดุลของอาหารในประเทศ ว่าง่ายๆ คือมาเลเซียต้องเก็บไก่ไว้กินในประเทศให้เพียงพอก่อน จู่ๆ ก็จะไม่ส่งออกแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบคือสิงคโปร์ เกิดภาวะขาดแคลนไก่สดที่นำเข้าจากมาเลเซียกระทันหัน ตรงนี้ตีความได้ว่าการที่คุณมีเงินไม่ได้แปลว่าคุณมีความมั่นคงด้านอาหารเสมอไป เพราะคุณก็เข้าถึงอาหารไม่ได้เหมือนกัน หรืออย่างประเทศเราที่ถูกตั้งฉายาว่า อู่ข้าวอู่น้ำ ผลิตอาหารได้มาก แต่กลับมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงด้านอาหารสูง 

แล้วการที่เราจะมีความมั่นคงทางอาหาร หรือเข้าถึงอาหารได้อย่างปลอดภัยในบริบทแบบไทยๆ ต้องทำยังไง 

         ประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่สร้างอาหารเยอะ แต่การเข้าถึงอาหารของคนทุกกลุ่มก็อาจจะไม่ได้ง่าย เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความมั่นคงด้านอาหารเลยไม่ใช่แค่เรื่องผลิตได้มากหรือน้อย รายได้ต่อหัวสูงหรือต่ำ แต่มันคือการเข้าถึงได้หรือเปล่า และต้องรู้ด้วยว่ากำแพงเหล่านั้นคืออะไร ทำไมอาหารปลอดภัยในประเทศไทยถึงมีราคาสูง ก็ต้องย้อนกลับไปที่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เรากระจายอาหารได้ไม่ดีพอ ยกตัวอย่าง เฉพาะค่าขนส่งอาหารปลอดภัยจากแหล่งปลูกที่เชียงใหม่มาถึงผู้บริโภคในกรุงเทพฯ ก็แพงแล้ว หรือการที่คนเชียงใหม่จะกินอาหารทะเลปลอดภัยที่ขนส่งจากชุมพรวันต่อวัน อาจต้องจ่ายจานละ 300-500 บาท ซึ่งกลายเป็นคำถามว่ามีเฉพาะคนรวยหรือเปล่าที่เข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ หรือต้องจ่ายมากกว่า 300 บาทต่อมื้อถึงจะได้กินอาหารออร์แกนิกหรือเปล่า

          ก็ใช่นะ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เรารู้สึกว่าต้นทุนการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ Knowledge Capital หรือองค์ความรู้ที่เป็นต้นทุนที่เราจะสามารถเลือกกินอาหารปลอดภัยสอดคล้องกับชีวิตของตัวเอง และเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเราในฐานะผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีช่องโหว่ในการพัฒนาระบบอาหารสูงแบบบ้านเรา

อรุณวตรี รัตนธารี

ช่วยขยายความ ‘การเลือกในแบบของตัวเอง’ ให้ฟังหน่อย

          อย่างเราเองก็ยังซื้อของในสโตร์นะ เพราะเราทำงานในเมือง อีกอย่างเราไม่อยากกดทับตัวเองมากเกินไปในรัฐที่กดทับเรามากพออยู่แล้ว ไม่อยากไปบอกใครๆ ว่าเขาต้องกินแบบนั้นแบบนี้สิ เพราะเข้าใจว่าบริบทชีวิตและต้นทุนของแต่ละคนแตกต่างกัน เราแค่อยากให้ข้อมูลความรู้ แล้วเขาจะเลือกกินแบบไหนก็เป็นเรื่องของเขา อย่างน้อยคนกินต้องรู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองมีทางเลือกมากกว่าการเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ หรือตัวเลือกที่ระบบอุตสาหกรรมนำเสนอให้

          สมมติว่ามีอาหารปลอดภัย A กับ อาหารปลอดภัย B ให้เลือก ถ้าอาหารปลอดภัย A ได้ Certified (การได้รับการรับรอง) ราคาจะพุ่งขึ้น 30-40% ทั้งที่คุณภาพใกล้เคียงหรืออาจเท่ากับอาหารปลอดภัย B ที่ไม่มี Certified

          เราคิดว่าอาหารออร์แกนิกมันเป็นเรื่อง Certified เพราะการที่อาหารของคุณจะได้ประทับตราออร์แกนิกมันมีต้นทุนสูง คุณต้องมีค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ ต้องพัฒนาสินค้า คนกินก็ต้องจ่ายแพง แต่ถ้าถามว่ายังมีแหล่งอาหารปลอดภัยอื่นที่ไม่มี Certified มั้ย ตรงนี้แหละเป็นต้นทุนองค์ความรู้ที่เรากำลังพูดถึง

          เรารู้ว่าที่ไหนมีอาหารปลอดภัยราคาไม่แพง เช่น ตลาดนัดชุมชน ซึ่งมีอยู่ทั่วไปใกล้บ้านทุกคน แต่ชนชั้นกลางในเมืองไม่ซื้อ คนซื้อส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานในเมือง เขามีองค์ความรู้ว่าแผงผักที่ไหนมีผักพื้นบ้านอีสาน ผักเหนือ ผักใต้ แบบที่เขาทำกินที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ No Chemical ด้วย เป็นการซัพพอร์ตผู้ค้ารายย่อยด้วย

          สิ่งที่เราจะพูดก็คือ Knowledge Capital อย่างความรู้เรื่องความหลากหลายของผักพื้นบ้าน รู้ว่ามันหน้าตาแบบไหน กินยังไง เดินทางมาจากไหน และซื้อได้ที่ไหน ทำให้คนสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้ในราคา 3 กำ 10 บาท หรือช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา เราเจอป้าคนนึงกำลังเก็บมะเดื่อที่ขึ้นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ป้าเล่าให้ฟังว่ามะเดื่ออุทุมพรกินได้นะ คนใต้เอาไปแกงส้ม จริงอยู่ว่ามันซัพพอร์ตป้าได้แค่มื้อสองมื้อ แต่ในวิกฤตมันจำเป็น ถ้าคุณรู้ว่าอะไรกินได้ สิ่งนั้นก็จะมีมูลค่า

          ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ราคาอาหารอินทรีย์ไม่ได้พุ่งขึ้นเท่าอาหารอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ ขณะที่อาหารอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมาต้องเจอกับปัญหาปุ๋ยแพง ราคาปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะที่ต้องนำเข้าทุกอย่างแพงขึ้นมาก ทำให้อาหารราคาสูงขึ้นทั่วโลก แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้อาหารอินทรีย์คงราคาได้ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา คำตอบคือ Consistency หนึ่ง การทำมานานจนรู้วิธีที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่ดีในต้นทุนที่เสถียร สอง การไม่พึ่งพาปัจจัยภายนอกมากเกินไป อย่างปุ๋ยแพง แต่เมื่อไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีก็ไม่มีผลกระทบมากนัก การผลิตอาหารปลอดภัยมันมีโอกาสพัฒนาเพื่อให้ราคาเสถียรได้ จริงๆ อาหารอินทรีย์ต้นทุนน้อยกว่าการทำอาหารเคมีด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าเรื่องโครงสร้างทำให้มันแพง ทั้งการขนส่ง การปลูกในสเกลเล็ก ถ้าปลูกในสเกลที่ใหญ่ได้ ต้นทุนต่อสเกลก็จะลดลง ราคาอาหารก็ลดลง

          การที่ระบบอาหารปลอดภัยจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ รัฐต้องเข้ามาซัพพอร์ตเชิงนโยบาย ต้องมองภาพกว้างของปัญหาที่เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศกำลังเผชิญอย่างเข้าใจ ปัญหาเรื่องหนี้ชาวนา ที่ดินทำกิน ระบบชลประทาน และอีกหลายปัญหา จริงๆ แล้วมันเชื่อมโยงกันหมด แล้วถึงไปออกแบบเครื่องมือการพัฒนาระบบอาหารที่ไม่ไปกดทับข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งในกระบวนการผลิตอาหารมากเกินไป เราจะไปล้มเลิกระบบอาหารอุตสาหกรรมเลยก็ไม่ได้ ในสังคมที่ระบบทุนมันพัฒนามาจนซับซ้อนขนาดนี้ แต่คำถามคือทำยังไงให้ระบบนี้เป็นมิตรกับสังคมมากที่สุด ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาระบบเกษตรและอาหารข้อหนึ่งที่เราคิดว่าสำคัญมาก คือ การพัฒนาเชิงโครงสร้างจนถึงจุดที่เกษตรกรสามารถมีทางเลือกในชีวิตที่หลากหลาย มีต้นทุนพอที่จะตัดสินใจหรือไม่ทำอะไรในภาคเกษตร ซึ่งเรื่องพวกนี้มันต้องใช้กลไกขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เข้าใจภาพรวม ไม่ใช่การไปบอกให้เกษตรกรทำเกษตรปลอดภัย แต่สุดท้ายคนที่แบกรับความเสี่ยงกลับเป็นคนตัวเล็กๆ ในภาคเกษตรเสียเอง

แต่กับคนที่ไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน เขาอาจกำลังอุ่นอาหารแช่แข็งแล้วสงสัยว่าความมั่นคงทางอาหารมันเกี่ยวอะไรกับเขาขนาดนั้น 

          เกี่ยวอยู่แล้ว เพราะเรากินอาหารสามมื้อต่อวัน ถ้ามีให้เลือกระหว่างผักเคมีกับผักปลอดสารพิษในราคาเท่ากันและหาซื้อได้ง่ายเท่ากัน คุณจะเลือกแบบไหน ส่วนตัวเราเชื่อว่าถ้ามีตัวเลือก ทุกคนก็อยากกินอาหารที่ดีต่อตัวเองทั้งนั้น เพียงแต่ว่ามันไม่มีให้เลือก โดยเฉพาะประเทศที่มีการผูกขาดเรื่องอาหารสูง เราก็เห็นอยู่ว่าทางเลือกของเรามีน้อย ในซูเปอร์มาร์เก็ตมีวัตถุดิบอยู่แค่ไม่กี่อย่าง รอให้เราซื้อ ความรู้เรื่องอาหารของเราก็น้อย ถ้าเทียบกับระบบอาหารของประเทศที่พัฒนาแล้ว

          อย่างแถบสแกนดิเนเวีย ที่นั่นมีการส่งต่อความรู้เรื่องอาหารให้ตั้งแต่คุณยังเด็ก ก่อนที่คุณจะเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่สามารถเลือกซื้ออาหารได้เอง เพราะอะไรก็ตามที่ซึมซับมาตั้งแต่อายุหลักหน่วยมันจะอยู่กับเรายาวนาน รัฐก็ซัพพอร์ตทั้งเรื่องหลักสูตรในโรงเรียน ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ เอาพืชอาหารไปปลูกตามพื้นที่สาธารณะให้ผู้ปกครองพาลูกมาเก็บไปกิน ซึ่งอะไรเหล่านี้มันเกี่ยวกับระบบการศึกษาว่าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารมากน้อยแค่ไหน กลับมาที่ประเทศไทย เราควรปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันมากขึ้น สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเรื่องอาหารที่มากกว่าการแกะสลัก ปลูกพริก หรือเพาะถั่วงอกหรือเปล่า เราควรเริ่มจากอะไรแบบนั้นก่อน 

          คำว่าความมั่นคงมันดูฟาสซิสต์ (หัวเราะ) ฟังดูเป็นคำใหญ่โตที่เข้าถึงยากไปหน่อย ส่วนตัวเราอยากพูดถึงระบบอาหารยั่งยืน ไม่ใช่แค่การมีอาหารกินเพียงพอ แต่โจทย์คือ เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ยังไง  ในที่นี้คือการมองภาพรวมว่าเราจะพัฒนาระบบอาหารให้ทุกคนสามารถมีอาหารที่ดีกิน และคิดถึงคนทุกกลุ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อย่างที่ชอบพูดกันว่าต้องให้เกษตรกรหันมาทำ No Chemical ร้อยเปอร์เซนต์สิ แต่ถ้าได้เข้าไปทำความเข้าใจเกษตรกรรายย่อยแล้วจะรู้ว่าเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้ทันที เพราะต้องใช้ต้นทุนและเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ อย่างน้อย 3-5 ปี กว่าที่เคมีจะหมดจริงๆ ในระหว่างที่ต้องเว้นระยะ รายได้ก็ลดลง รัฐก็ไม่ได้ซัพพอร์ตความเสี่ยงเหล่านี้ แล้วเกษตรกรชาวบ้านทั่วๆ ไปจะผ่าน Gap Year ขนาดนั้นได้ยังไง

          อย่าลืมว่าระบบอาหารยั่งยืนมีตัวละครเยอะ ทั้งเกษตรกร พ่อค้าคนกลาง ร้านอาหาร เชฟ ผู้บริโภค ทีนี้จะทำยังไงให้ทุกองคาพยพขยับไปพร้อมๆ กันทีละน้อย ให้ทุก Node ในระบบอาหารยั่งยืนสามารถยกระดับและพัฒนาตัวเองได้โดยไม่ไปกดทับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป 

หลายครั้งที่การขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้จำกัดอยู่ในวงแคบๆ ของคนในแวดวงเดียวกัน ในฐานะคนทำงานเรื่องนี้ ต้องทลายกำแพงนี้อย่างไร

          เราเองโดนตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเราคุยเฉพาะกับคนที่เหมือนตัวเองเท่านั้นหรือเปล่า เราทำทุกอย่างร่วมกับคนที่เขาสนใจอยู่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าจริง มันมีความเออออสูง (หัวเราะ) ถ้าจะจัดกิจกรรมอะไรขึ้นมาสักอย่าง เพื่อนในวงเดียวกันก็พร้อมจะเฮกันไป (หัวเราะ) ซึ่งข้อที่เป็นเนกาทีฟ คือ ไอเดียมันไม่ได้ถูกต่อยอดไปสู่พื้นที่ที่เรามองไม่เห็น เรารู้สึกว่ามันต้องมีคนเบรกสักหน่อย

          Urban Foraging BKK เกิดมาด้วยความคิดว่าเราจะคุยกับคนเมืองที่หลากหลายมากขึ้น จากทุกวงการ จากแต่ละสาขาอาชีพที่อาจจะเป็น New Comer ในเรื่องอาหารด้วย เราอยากให้ความรู้เรื่อง Urban Foraging ไปสู่คนที่อยู่ในวงการอื่นๆ และเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายเหล่านั้นมาเจอกัน เพื่อต่อยอดไอเดียและเอาความรู้ไปใช้งานในพื้นที่ตัวเอง อย่างคนที่เป็นสถาปนิก พอเขามาเรียนรู้เรื่องพืชอาหาร เขาก็มาเห็นว่ามีไม้ยืนต้นที่ Shape สวย ใบไม่ร่วง แถมกินได้อีก เขาบอกว่ามันสามารถเอาไปจัดแปลนทำสวนให้งานหมู่บ้านที่ทำอยู่ได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกหูกวางเท่านั้น หรือน้องที่เป็นยูทูบเบอร์ที่มีคนติดตามเยอะก็มาทำ Reels ทำ TikTok ส่งต่อความรู้ไปให้เพื่อนๆ ของเขาต่อ

          อีกคนเป็นคุณหมอเฉพาะทางโรคไต เจอคนไข้ที่แพ้เคมีเยอะมาก รู้สึกว่าอยากมีองค์ความรู้บางอย่างที่จะไปแนะนำคนไข้ของเขา ในทริปของเราก็มีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องพฤษศาสตร์มาส่งต่อความรู้ พอจับสองคนนี้มาเจอกันเขาก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน เอาไปใช้งานต่อในพื้นที่ตัวเองได้ ซึ่งถ้าเอาไปทำต่อมันอาจจะไม่เวิร์กก็ได้นะ แต่อย่างน้อยเราจะได้ฟีดแบคเหล่านั้นกลับมา สำหรับเรามันคือการสร้างเครือข่ายต่อยอด เราต้องการให้เกิดพื้นที่แบบนี้ ซึ่งอาจฟังดูเป็นทริปโลกสวย คนเมืองจ๋ามาก แต่เราก็อยากทดลอง ถ้าเกิดสปาร์กไอเดียกันขึ้นมามันอาจจะไปได้ไกลก็ได้ 

อรุณวตรี รัตนธารี

Food Literacy เข้าใจว่ามีหลายนิยาม หนึ่งในนั้นคือความรอบรู้ด้านอาหาร สำหรับคุณคืออะไร และจำเป็นกับเราแค่ไหน

          คีย์เวิร์ดของ Food Literacy สำหรับเราคือความรู้เท่าทัน การรู้เท่าทันจำเป็นกับสังคมไทยมากกว่าการไปบอกว่าคุณต้องกินหรือห้ามกินอะไร จริงๆ มันต้องมองไปถึงบริบทของชีวิตแต่ละคนด้วย อย่างเราร่วมจัดเทศกาลข้าวพื้นบ้านกับโครงการสวนผักคนเมือง แต่เรามีเพื่อนที่ไม่สะดวกทำอาหารกินเอง ไม่หุงข้าวกินเอง แล้วจะให้เขามาเข้าร่วมเทศกาลข้าวเราเหรอ (หัวเราะ) เขาอาจจะเคยฟังข้อมูลจากที่เราสื่อสารผ่านเทศกาลข้าว ถ้าหากวันหนึ่งบริบทชีวิตของเขามันเอื้อและอยากหุงข้าวกินขึ้นมา ก็คงพอมีตัวเลือกในใจบ้างว่ามีข้าวพันธุ์พื้นบ้านที่ซื้อในไอจีได้นะ

          ม็อบเคยเล่าว่าประเทศไทยไม่ได้มีแค่ข้าวหอมมะลิ แต่มีข้าว 20,000 สายพันธุ์ นี่หนา ไหนลองเสิร์ชดูสิ แต่เราจะไม่บังคับเพื่อนว่าต้องซื้อข้าวเราไปกินเดี๋ยวนี้เลยนะ เพราะเป็นการช่วยเกษตรกร สำหรับเรามันไม่ใช่เซนส์นั้น เราแค่ส่งต่อความรู้ไปสามสี่ก้อน เพื่อให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเชื่อมโยงกับมิติชีวิตคุณยังไง แล้วคุณจะเลือกอะไรก็เป็นเรื่องของคุณ คุณจะกินแช่แข็งก็ได้ แต่ต้องรู้ว่ามันมีขั้นตอนยังไง ใส่สารอะไร ถ้าวันนึงไปสปาร์กอะไรบางอย่างแล้วอยากลองอยากกินอาหารพื้นบ้าน อย่างน้อยคุณยังมีไอเดียในหัว ซึ่งสำหรับเรา Food Literacy มันครอบคลุมเรื่องนี้ด้วย คือการให้ข้อมูลให้คนสามารถเอาไปเป็นต้นทุนในการเลือก

อย่างน้อยก็ควรรู้จักวัตถุดิบในจาน รู้ว่ากำลังจะเอาอะไรเข้าปาก แบบนั้นหรือเปล่า

          รู้ว่าคืออะไร เราว่ายังไม่ทำให้เกิด Action เท่าการรู้ว่ากินยังไง การจะเลือกกิน ต้องรู้ว่ากินยังไงด้วย เรามีไอดอลเป็นพี่กฤช (กฤช เหลือลมัย นักเขียนสารคดีสายอาหาร) ที่เขาทำงานเรื่อง Food Literacy เราสองคนเห็นตรงกันว่าคนเมืองจะไม่เลือกกินเลยถ้าเขาไม่รู้ว่ากินยังไง การเห็นผักแปลกๆ ชื่อนั่นนี่แล้วยังไงต่อ พี่กฤชเลยจับสมการเอาของพื้นบ้านมาบวกกับความแมส เขาทำลูกตำลึงผัดไข่ คือเอาลูกตำลึงมาผัดแทนมะระแล้วได้รสชาติและสัมผัสที่ใกล้กันมาก เขียนเป็นคอลัมน์ เล่าว่าทำง่ายอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็น่าคิดว่าจริงๆ การให้ข้อมูลก็ต้องไปควบคู่กับวิธีการด้วย

สิ่งที่คุณพยายามทำ สร้างให้เกิด Food Literacy กับคนในสังคมอย่างไร

          เราทำอยู่หลายๆ ขา ขาแรก คือ งานเขียนเชิง Culture เล่าสตอรีเรื่องอาหารที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ เช่น เกลือไม่ใช่แค่ความเค็มนะ เกลือมีสตอรีเยอะมากในประเทศเรา อย่างเกลือที่น่านกับเกลือที่ปัตตานีก็ต่างกัน เกลือปัตตานีเป็นเกลือทะเลปากแม่น้ำรสชาติจะไม่เค็มขนาดนั้น เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของปัตตานี ความเป็นมุสลิม เมืองท่า แต่เกลือที่จังหวัดน่านเป็นบ่อเกลือโบราณ เป็นเกลือสินเธาว์ ทำให้เมืองน่านในยุคโบราณมีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง เพราะมีเกลือที่เป็นสินค้ามูลค่าสูง

          อย่างเชื่อมโยงกับอาหารในจานที่เรากิน องค์ความรู้เหล่านี้จะพาเราไปเชื่อมโยงกับโลกต่อไป เรารู้สึกว่าถ้าเราเชื่อมโยงกับโลก เราจะมีเซนส์ของการอยากดูแลปกป้อง ทั้งดูแลโลก ดูแลสังคม ดูแลคนอื่น รวมถึงดูแลตัวเอง ซึ่งทัศนคตินี้มันต่อยอดในเชิงบวกได้ เช่น คนอาจจะอยากเลือกกินมากขึ้น หรือมองเห็นคนอื่นในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น มองเห็นความเหมือนในความแตกต่างระหว่างกันมากขึ้น 

          ส่วนอีกขาเป็นเชิงมูฟเมนต์ การทำกิจกรรมต่างๆ การพูดถึงการพัฒนาระบบอาหาร เรื่องความยั่งยืน เป็นการขับเคลื่อนในมิติของการโยนหินให้เกิดแรงกระเพื่อมบางอย่าง ทั้งเครือข่าย การต่อยอดไอเดีย พยายามจะสร้างผลักดันให้เกิดมูฟเมนต์บางอย่างจากข้างล่าง จากคนเล็กๆ ก่อน เราเชื่อว่า Small Change เกิดได้ คนที่เรารวมตัวกันมาอาจไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ แต่ถ้าเกิดมีไอเดียบางอย่างเป็นเมล็ดพันธุ์มันก็โตเป็นต้นไม้ได้เหมือนกัน 

          สำหรับเรามันก็เป็นการทดลอง แต่ทั้งสองขาที่ต้องทำควบคู่กันไป และในอนาคตก็อยากทำในเชิงนโยบายด้วย อยากเชื่อมโยงกับกลุ่มหรือองค์กรที่ต่อยอดไอเดีย เราว่าคนที่มีไอเดียเหล่านี้ในประเทศมันมีอยู่เยอะนะ เพียงแต่ว่าเขาไม่เห็นช่องทางความเป็นไปได้ ถ้าเรามีเครือข่ายที่กว้างขึ้น ทุกคนมาเชื่อมไอเดียกันมันจะมองเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ เราเชื่ออย่างนั้น

อรุณวตรี รัตนธารี

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก