ทุกเจ็ดโมงเช้าวันเสาร์อาทิตย์ ‘อากร ภูวสุธร’ ชายผมสีดอกเลา สวมแว่นกรอบเงิน หน้าตาเหมือนอาแปะใจดี จะเดินทางมาเปิดแผงหนังสือเล็กๆ ใต้ถุนตึกแถวทรุดโทรมหัวมุมถนนกำแพงเพชรเป็นประจำทุกสัปดาห์
เขาเป็นเจ้าของร้านหนังสือ ‘ดาวแดง’ ขายหนังสือเก่าหายาก ตั้งแต่วรรณกรรมแปล เรื่องสั้นและนิยายของบรรดานักเขียนไทยชั้นครู สารพัดพ็อกเกตบุ๊กการเมืองฝ่ายซ้าย หนังสือต้องห้ามยุคคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ อนุสรณ์งานศพของเหล่าคนดังในสังคมไทย จนถึงหนังสือปกสวยคลาสสิกที่หาดูได้ยากยิ่งในยุคนี้
กองหนังสือสูงท่วมหัวหลายร้อยเล่มถูกจัดเรียงชิดติดกำแพงเป็นระเบียบ แม้จะดูรกแต่ถ้ามองให้ดีก็เป็นศิลปะได้เหมือนกัน ทุกเล่มห่อหุ้มด้วยฟิล์มใส ไม่อีเหละเขะขะฝุ่นเกาะสกปรก เพราะเจ้าของร้านทำความสะอาดเป็นอย่างดี
“ผมพยายามทำให้หนังสือทุกเล่มมีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช็ดถูทำความสะอาด ห่อปกด้วยฟิล์มใส พอหนังสือหน้าตาดูดีมันก็น่าหยิบจับ ไม่ใช่ให้คนมองว่า โอ้โห ร้านขายหนังสือเก่า คนขายแก่ แถมหนังสือก็สกปรกฉิบหาย”
อากรหัวเราะอารมณ์ดีขณะนั่งรอลูกค้าคนแรกที่อาจเดินเข้ามาในนาทีใดก็ได้ รอยยิ้มสว่างไสวของเขาสาดส่องไปทั่วเหมือนแสงแดดยามสาย พ่อค้าแม่ค้าแผงเช่าพระตะโกนคุยกันโหวกเหวกแข่งกับเสียงรถยนต์ที่วิ่งขวักไขว่บนถนน
“ใครๆ ก็คิดว่าผมอยู่วงการนี้มานาน แต่เอาเข้าจริงเพิ่งมาขายหนังสือได้ 8 ปีเท่านั้นเองนะ แถมเข้ามาแบบไม่ได้ตั้งใจด้วย”
ความเคลื่อนไหวเบื้องหน้าหวนให้รำลึกถึงอดีตหนหลัง ตอนที่เขายังเป็นเด็กหนุ่มจากปักษ์ใต้มาแสวงโชคในเมืองกรุงเป็นครั้งแรก ทันใดนั้นเองความทรงจำเก่าๆ ก็ถูกฉายออกมาเป็นภาพคล้ายฉากแฟลชแบ็กในภาพยนตร์
นักการโรงแรมผู้เรียกตัวเองว่า ‘หนอนหนังสือ’
อากรเป็นคนอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช บรรพบุรุษเป็นชาวจีนไหหลำจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งรกรากเปิดร้านขายชา กาแฟ ควบคู่กับเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ วัยเด็กค่อนข้างดื้อรั้น เกกมะเหรกเกเร ทว่ากระเสือกกระสนจนเรียนจบม.ศ.3 มาได้ แต่ที่บ้านไม่มีเงินส่งเสียต่อจึงตัดสินใจหอบเสื้อผ้าไม่กี่ชุดใส่ลังเหล้าแม่โขงขึ้นรถไฟเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ
ชะตาชีวิตลากเส้นมาบรรจบกับธุรกิจโรงแรม อากรเคยผ่านการทำงานในโรงแรมหลายแห่ง เริ่มต้นจากพนักงานระดับล่างสุดในห้องซักผ้า ย้ายมาเป็นรูมบอยทำความสะอาดห้องพัก เคยเป็นพนักงานต้อนรับ ขยับขึ้นสู่หัวหน้าแผนกยกกระเป๋า ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง
“ผมชอบอ่านหนังสือมาก พอทำงานมีตังค์ก็ไปซื้อนิยายชุด เหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์มาอ่าน ยุคนั้นยังไม่มีทีวี สิ่งบันเทิงมีแค่วิทยุ หนังสือ โรงหนัง อีกอย่างคือผมอ่านหนังสือพิมพ์เป็นประจำเพราะสนใจการเมือง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่สนามหลวงมีชุมนุมกันแทบทุกวัน ผมก็ไปยืนดูเขาปราศรัย บางทีมีแผงหนังสือมาวางขายก็ได้อ่านพวกหนังสือการเมืองฝ่ายซ้าย คาร์ล มาร์กซ์ เลนิน เหมาเจ๋อตุง วรรณกรรมจีน รัสเซีย สมัยนั้นหนังสือราคาถูกเล่มละ 3 บาท 5 บาท 10 บาท อ่านกันตาแตก ก็ซึมซับจากตรงนั้นมาเยอะ”
นอกจากรักการอ่าน สนใจการบ้านการเมือง อากรเป็นคนรักความยุติธรรม ไม่ชอบการกดขี่เอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ เมื่อมีโอกาสเขามักไปสังเกตการณ์ในที่ชุมนุมอยู่เสมอ เคยไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เคราะห์ดีเขาตัดสินใจหนีออกมาไม่กี่ชั่วโมงก่อนการสังหารหมู่จะเริ่มขึ้น เคยเป็นแกนนำขับไล่นายอำเภอที่บ้านเกิดเพราะประพฤติมิชอบ เคยเข้าไปเคลื่อนไหวกับกลุ่มสหภาพแรงงานธุรกิจโรงแรม เรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการให้พนักงานจนได้รับเลือกให้เป็นผู้พิพากษาสมทบอยู่ช่วงหนึ่ง สุดท้ายด้วยความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน มีประสบการณ์ด้านเจรจาต่อรองในฐานะคนกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จึงได้เลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงแรม ซึ่งอากรภูมิใจมากในบทบาทขณะนั้น
“มีแต่ลูกน้องรัก” อากรยืดอกพูดเสียงดังฟังชัด “ผมขยันทำงานมาก คนอื่นเขามาทำงานเช้าตกเย็นเลิกงานก็กลับบ้าน แต่ผมทำงานหามรุ่งหามค่ำตลอด แผนกไหนมาเรียกเราก็ไปช่วยหมด ตอนนั้นอายุหกสิบแล้ว สวมสูทดูภูมิฐานจนแขกคิดว่าเป็นเจ้าของโรงแรม”
แต่ใครจะเชื่อว่าหลายทศวรรษที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงโรงแรม อากรปิดฉากอาชีพตัวเองไม่ค่อยสวยนัก “วันหนึ่งเกิดทะเลาะกับเจ้านายเพราะเขาโยกย้ายพนักงานไม่เป็นธรรม ไอ้เรามันคนหัวแข็งก็ไม่ยอม ไปเป็นตัวแทนเจรจาให้พนักงาน สุดท้ายคุยไม่รู้เรื่องก็ลาออกเลย”
ดั่งฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ โดยไม่ทันตั้งตัว ต้นปี 2558 อากรกลายมาเป็นคนตกงานตอนแก่
‘ขายหนังสือออนไลน์’ อาชีพใหม่วัยเกษียณ
แดดบ่ายร้อนเหลือทน โชคดียังพอมีลมพัดโชยมาให้พอหายอกหายใจได้บ้าง อากรจิบน้ำเย็นแก้กระหายก่อนเล่าถึงจุดหักเหสำคัญในชีวิตบั้นปลาย นั่นคือการเบนเข็มมาเป็น ‘คนขายหนังสือ’
“ถึงจุดหนึ่งก็พบว่าซื้อหนังสือมาสะสมไว้เต็มบ้าน สามสี่พันเล่มได้มั้ง เยอะถึงขนาดวางขวางทางเดินจนเมียแอบขนไปขายซาเล้ง โมโหฉิบหาย แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะรักเมีย” เจ้าของร้านหนังสือดาวแดงหัวเราะร่วน
“ผมถือว่ามันคือสมบัติที่เราสะสมมาทั้งชีวิต ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม มีแต่ขายออกอย่างเดียว ช่วงนั้นเขาเริ่มฮิตขายหนังสือทางเฟซบุ๊กกันแล้ว ก็เลยถามรุ่นน้องว่า ‘เฮ้ย ช่วยหน่อย เขาขายกันยังไงวะ กูตั้งราคาไม่ถูก’ ก็ฝึกปฏิบัติจริงเลย หมั่นดูเพจอื่นว่าเขาขายหนังสือแนวไหน ตั้งราคาขายเท่าไหร่ ขายยังไง เรียนรู้ลองผิดลองถูกกันไป”
จากนักอ่านที่สะสมหนังสือไว้เต็มตู้แล้ววันหนึ่งจับพลัดจับผลูมาเป็นพ่อค้าป้ายแดง อากรสารภาพว่าทำใจอยู่นานกว่าจะตัดสินใจขาย
“เล่มไหนรักมากๆ จะเก็บไว้ก่อน เพราะยังทำใจไม่ได้ เช่นหนังสือของ จิตร ภูมิศักดิ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ ซื้อเก็บไว้ทั้งปกแข็งปกอ่อนร้อยกว่าเล่ม พวกนี้หวงมากเก็บรักษาไว้อย่างดี ส่วนวรรณกรรมแปล หนังสือทั่วไป ผมเอาออกมาขายหมด”
แหล่งที่มาของหนังสือของร้านดาวแดงมาจากการไป ‘ช้อน’ ซื้อต่อจากนักขายคนอื่นในกลุ่มแลกเปลี่ยนหนังสือเก่าทางเฟซบุ๊ก อากรเลือกเอาเล่มที่สภาพดี แต่บางทีก็เดินไปพบกับขุมทรัพย์ล้ำค่าเข้าโดยบังเอิญ
“บางทีก็เป็นเรื่องของโชคช่วย (หัวเราะ) ครั้งหนึ่งผมเคยเดินไปเจอ ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ สำนักพิมพ์เกวียนทอง ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี 2501 ซุกอยู่ในกองหนังสือที่เขาวางริมฟุตบาท เราเห็นสันโค้งๆ หน้าตาคุ้นๆ ก็เลยไปคุ้ยมาดู โอ้โห คุณภาพยังดีเยี่ยม ตอนนั้นเขาขายกันเล่มละ 6-7 พัน แต่เราได้มาพันเดียว”
หนังสือเก่าเหมือนพระเครื่อง ยิ่งพิมพ์แรก (ภาษานักเลงพระเครื่องเรียกว่า ‘พิมพ์นิยม’) สภาพดี ราคาก็ยิ่งสูง — ประโยคเปรียบเปรยจากปากของคนขายหนังสือเก่าวัย 72
“หนังสือเก่าที่ขายดีคือหนังสือของนักเขียนใหญ่มีชื่อเสียง คนอ่านเชื่อถือในผลงาน ถ้าสภาพดี ปกสวย แล้วยิ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรกยิ่งแล้วใหญ่ อย่างหนังสือผี ปกที่ครูเหม เวชกรวาดเอง เดี๋ยวนี้ขายแพงมาก หนังสืองานศพ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์’ ตอนแกเสียใหม่ๆ ขายกันเล่มละสองหมื่น คนมันคลั่ง แล้วหนังสือก็ทำดีด้วย เนื้อหาสมบูรณ์ ส่วนวรรณกรรมคลาสสิก วรรณกรรมแปลรางวัลโนเบล อีสต์ ออฟ อีเดน (East of Eden) ของจอห์น สไตน์เบ็ก วิมานลอย (Gone with the Wind) ดร.ชิวาโก (Dr.Zhivago) ถ้าเป็นปกสวยๆ เก่าๆ นี่ยังขายได้ตลอด”
จบประโยค เพื่อนพ่อค้าหนังสือเก่าที่เปิดร้านอยู่ติดกันเดินพาหนุ่มน้อยคนหนึ่งมาขอขัดจังหวะ เขาถามหาหนังสือชื่อ กาฬวิบัติ ของ อัลแบร์ กามูร์ สำนักพิมพ์สามัญชน
อากรขอตัวเดินไปคุ้ยกองหนังสืออยู่พักใหญ่ ก่อนกลับมาบอกลูกค้าหนุ่มว่า “มีเล่มนึง แต่น่าจะอยู่ที่บ้าน รับไหม 400 บาท ถ้าสนใจลองทักมาทางเฟซบุ๊ก เดี๋ยวจะถ่ายรูปส่งให้ดู” หนุ่มน้อยพยักหน้าตอบรับ ก่อนปลีกตัวไปคุ้ยกองหนังสือต่อ
“ผมชอบขายให้คนหนุ่มสาว เพราะมันต่อยอดได้ วัยเขากำลังมีเพื่อนฝูงเยอะ ตลาดเราจะกว้างขึ้น เวลาขายก็ไม่เชียร์อะไรมาก บอกแค่ข้อมูลพื้นฐาน บางทีจุกจิกมากไปเขาก็ไม่ชอบ คนขายหนังสือเก่าต้องรู้จริง มีพื้นฐานหนังสือแนวที่ตัวเองขาย ไม่งั้นจะเล่าให้ลูกค้าฟังได้ยังไง”
“ความโชคดีของผมคือเป็นนักอ่านด้วย เรารู้คุณค่าของหนังสือแต่ละเล่ม รู้จักหนังสือที่จะขาย เล่มนี้พิมพ์ครั้งแรก เล่มนี้พิมพ์วาระพิเศษ เล่มนี้หายากมาก แล้วเราก็จำลูกค้าได้ คนนี้ชอบแนวฝ่ายซ้าย คนนี้ชอบเรื่องผี คนนี้ชอบวรรณกรรมแปล เรารู้ว่าพอได้หนังสือเล่มนี้มาต้องขายให้ใคร ก็ทักไปหาเขาทางเฟซบุ๊กว่า ‘เจอแล้วนะ เล่มที่คุณตามหาอยู่ ยังสนใจไหม’”
“ร้านดาวแดงถือเป็นร้านหนังสือเก่าที่ขายแพง จนได้ฉายาจากคนในวงการว่า ‘อากรขายหนังสือแพงที่สุด’ (หัวเราะ) สาเหตุที่ขายแพงกว่าชาวบ้านก็เพราะเราเน้นเรื่องคุณภาพหนังสือ พอได้หนังสือมาสิ่งแรกที่ทำเลยคือเช็กหนังสือ คลี่ดูทีละหน้าเลยว่าหน้าครบไหม หลุดล่อนไหม มีตำหนิตรงไหนบ้าง บางทีได้หนังสือพังๆ มาเราก็เอาไปซ่อมก่อน แล้วก็มีบริการทำความสะอาดหนังสือให้ด้วย บางร้านซื้อต่อมาจากซาเล้ง สภาพยังไงก็ขายยังงั้นเลย ผมก็เอามาเช็ดๆ ถูๆ เพราะเราเป็นคนทะนุถนอมหนังสือด้วย เสร็จแล้วก็ห่อปกด้วยฟิล์มใส ใส่ถุงแก้วอีกที ถึงค่อยส่งให้ลูกค้า”
ซื่อสัตย์ — คุณสมบัติสำคัญที่สุดของการเป็นพ่อค้าขายหนังสือเก่า เพราะหนังสือเก่าเป็นสินค้าที่ประเมินราคายาก จึงต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา
“ความซื่อสัตย์ในการซื้อขายสำคัญที่สุด ต้องบอกเขาตรงๆ ว่ามีตำหนิตรงไหน คุณภาพดีไม่ดีอย่างไร ถ้าขายหนังสือเน่าๆ ให้เขา เสียเครดิตเลยนะ เขาจะซื้อจากเราครั้งเดียว มันเป็นเรื่องอุดมการณ์ของคนขายหนังสือเก่า ถ้าเรามักง่าย เราขายได้ไม่นาน แต่ถ้าเรายึดมั่นในอุดมการณ์ซื่อสัตย์กับลูกค้า เราก็จะค้าขายกับเขาได้นาน มีอะไรเขาก็จะกลับมาซื้อกับเรา บางทีมาที่ร้านแล้วไม่มีหนังสือที่เขาต้องการ ผมก็ไปถามหาจากพรรคพวกจนได้และหาได้เร็วด้วย ลูกค้าถึงเชื่อถือเรา”
อุดมการณ์ของพ่อค้าขายหนังสือเก่า
กิจวัตรของเจ้าของร้านหนังสือดาวแดงคือจันทร์ถึงศุกร์ โพสต์ขายหนังสือทางเฟซบุ๊ก พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ก็จะมาเปิดแผงขายหนังสือที่ตึกนี้
“ผมชอบมาขายที่จตุจักรมากกว่า ได้เจอหน้าลูกค้า พูดคุยกับลูกค้า พอซื้อกันบ่อยๆ ก็มีความผูกพันกัน สนุกกว่าโพสต์ขายออนไลน์เยอะ ขายแบบนั้นมันไม่เห็นหน้ากันด้วยซ้ำ ไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน สิ่งที่ชอบที่สุดในอาชีพนี้คือบรรยากาศในชีวิตประจำวันที่ค้าขาย มันอิสระ สนุก ตื่นเต้นตลอดเวลา ได้ลูบคลำหนังสือ เจอเพื่อนใหม่ๆ คุยกันเรื่องที่ชอบเหมือนกัน”
“สิ่งที่ผมเกลียดมากคือพวกที่ชอบหลอกลวงลูกค้า ไม่มีหนังสือจริงแต่ขโมยรูปหนังสือของคนอื่นไปโพสต์ขาย สุดท้ายโกง ไม่ส่งหนังสือให้ ผมยังเคยโดนเลย ไอ้พวกนี้ทำวงการเสื่อมเสียที่สุด”
ถามว่าสถานการณ์ของวงการขายหนังสือเก่าทุกวันนี้เป็นยังไง อากรสีหน้าเคร่งขรึมลง คิ้วขมวดเข้าหากันเหมือนปมเชือกที่รัดแน่น
“ก่อนโควิด ผมเคยขายได้เดือนละ 5-6 หมื่น วันเสาร์วันเดียวขายได้สองหมื่นก็มี เดี๋ยวนี้เสาร์อาทิตย์แทบขายไม่ได้สักบาท เพราะเศรษฐกิจไม่ดี หนังสือถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เป็นสิ่งรองๆ ที่คนเขาจะนึกถึง เวลาคนไม่มีเงินเขาเอาเงินไปซื้อข้าวกิน จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าขนมลูกก่อนสิ หนังสือนี่ไว้ทีหลังเลย”
“ตั้งแต่หลังโควิดมีคนขายหนังสือเก่าเพิ่มขึ้นเยอะมาก เพราะหลายคนตกงาน ร้อนเงิน ต้องการเงินไปหมุน ซึ่งหนังสือเป็นสิ่งที่ทุกคนมีอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องลงทุน บางเล่มได้มาฟรี ขายได้ 200 ก็คุ้มแล้ว ก็เลยเอาหนังสือที่ตัวเองสะสมไว้ออกมาขาย พอขายได้ก็พบว่า เฮ้ย รายได้ดีนี่หว่า พออยู่ได้ บางคนเลยยึดเป็นอาชีพ ไม่กลับไปทำงานประจำแล้ว พอคนขายเยอะ ราคาหนังสือก็ลดลง เพราะขายตัดราคากัน
อดีตนักการโรงแรมผู้ผันตัวมาเป็นพ่อค้าขายหนังสือ ยิ้มบางๆ ให้ตัวเอง แม้จะยึดอาชีพขายหนังสือเก่ามาเกือบสิบปี แต่ทุกวันนี้เขายอมรับว่ายังต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
“วันไหนร้อนเงินก็จำใจต้องปล่อยหนังสือหัวๆ ออกไปบ้าง ถ้ามีเงินก็ค่อยไปหามาสต๊อกไว้ใหม่ ซึ่งบางเล่มมันหาไม่ได้อีกแล้ว เราไม่ยอมลดราคาลงด้วยเพื่อรักษาเครดิตไว้ รายได้ก็ลดลงไปเยอะ แต่ผมไม่เคยคิดเลิกนะ แค่เซ็ง แต่ก็เครียดอยู่ไม่นานหรอก เพราะผมแก่แล้ว ผ่านความลำบากมาเยอะ ถ้ายังเป็นวัยรุ่นไม่แน่อาจผูกคอตายไปแล้วก็ได้” เขาหัวเราะขมขื่น
ใครบางคนเคยเปรียบเปรยว่า อาชีพขายหนังสือเก่าไม่ต่างจากการเป็น ‘ผู้ต่ออายุ’ หนังสือดีมีคุณค่าให้อยู่ต่อได้อีกนานๆ ให้ยังคงถูกพูดถึง ให้ยังถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา
“บางทีเราไปเอาหนังสือเก่าๆ ของศรีบูรพาที่พิมพ์มาห้าหกสิบปีแล้วมาวางขาย ลูกค้าเจอก็บอกว่าไม่เคยรู้จักเล่มนี้มาก่อนเลยแล้วเขาก็ซื้อไปอ่าน มันเหมือนเป็นการต่ออายุให้กับหนังสือทางอ้อม
สำหรับคนที่ต่ออายุหนังสือทางตรงและถือว่ามีบุญคุณมากกับวงการหนังสือคือ สำนักพิมพ์ที่ลงทุนพิมพ์หนังสือดีๆ ออกมาขายทั้งที่รู้ว่าขายไม่ได้หรอก เช่น เหยื่ออธรรม ของสำนักพิมพ์ทับหนังสือ หรือสำนักพิมพ์แสงดาวที่พิมพ์ ประวัติพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ ที่นี่… สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ถามว่าจะขายได้เหรอ แต่มันมีคุณค่า เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไง”
ในอนาคตหนังสือจะสูญพันธุ์ไหม? — เราหยิบประโยคที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในรอบหลายปีมานี้ ท่ามกลางยุคดิสรัปชันทางเทคโนโลยีที่ช่วงชิงเวลาในการอ่านหนังสือเล่มไปกับการเสพคอนเทนต์ออนไลน์ที่ง่ายและสั้นกระชับ
“หนังสือไม่ตายหรอก (ตอบเร็ว) ผมเชื่อว่าคนที่อยากอ่านหนังสือเล่มยังมีอยู่ วันนี้ก็เห็นแล้วว่ายังมีเด็กหนุ่ม ยังมีคนรุ่นใหม่ๆ เดินมาซื้อหนังสือเก่าอยู่เลย นี่แหละที่จะทำให้หนังสืออยู่ต่อไปได้ แล้วคนรุ่นใหม่เขาอ่านหนังสือมีสาระด้วย เห็นแบบนี้ก็ชื่นใจว่าหนังสือไม่มีวันสูญพันธุ์แน่ๆ”
ในฐานะพ่อค้าขายหนังสือเก่าคนหนึ่งที่ไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้มีร้านใหญ่โต เป้าหมายสูงสุดของอากรคืออะไร
“ผมว่าผมได้รับมาเต็มที่แล้วนะ อย่างน้อยผมมีกลุ่มลูกค้าจำนวนหนึ่งที่อุดหนุนเรา แม้ไม่มากเท่าเมื่อก่อนแต่ก็ยังอยู่ได้ แถมยังมีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ผมดีใจนะเวลาเห็นคนอ่านหนังสือมาจับมาลูบคลำหนังสือดีๆ ก็คิดในใจว่าเออ รู้จักอ่านเนอะ ทั้งที่ไม่ได้ไปแนะนำอะไรเลยด้วยซ้ำ”
“ความสุขของผมคือการตื่นเช้ามาเปิดร้านทุกวันเสาร์อาทิตย์ นั่งโม้กับเพื่อนฝูง ยังขายหนังสือได้ มีลูกค้าใหม่ๆ เดินเข้ามา วันไหนขายดีก็เปิดเบียร์ฉลอง อายุ 72 ผมคงไม่คาดหวังอะไรมากกว่านี้อีกแล้ว”
เกือบห้าโมงเย็น แม้ท้องถนนยังเต็มไปด้วยรถราแต่ใต้ถุนตึกที่เรานั่งอยู่ความเงียบเหงาเริ่มแผ่เข้าปกคลุม แม่ค้าขายสร้อยคอลูกปัดโบราณเก็บของกลับไปนานแล้ว พ่อค้าแผงพระและร้านหนังสือเก่าข้างๆ ก็กำลังทยอยเก็บโต๊ะ อากรลุกไปทักทายเพื่อนพ่อค้าคนแล้วคนเล่า ต่างคนต่างพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้มถ้อยทีถ้อยอาศัย
“สัปดาห์หน้าค่อยว่ากันใหม่”
เป็นประโยคร่ำลาที่เปรียบเสมือนการให้กำลังใจกันและกัน