อาจินต์ ปัญจพรรค์ หยาดเหงื่อบรรณาธิการ กว่าเรื่องสั้นไทยจะหยัดยืน

921 views
5 mins
December 3, 2024

          “ลุงเป็นส่วนหนึ่งในการบุกเบิกเรื่องสั้นไทย เพราะยุคก่อนๆ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่พิมพ์แต่นิยาย หลังกลับจากเหมืองแร่ แกก็ตระเวนเอาเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ไปเสนอสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ไม่มีใครพิมพ์ สุดท้ายต้องมาพิมพ์เอง ขายเอง ปกทำด้วยกระดาษหนังไก่สองสี ไม่มีรูปภาพ ปรากฏว่าขายดี เลยเป็นแรงผลักดัน พอเป็นบรรณาธิการ ก็คอยให้โอกาสนักเขียนรุ่นใหม่อยู่เสมอ” แน่งน้อย ปัญจพรรค์ คู่ชีวิต เล่าถึงหมุดหมายการทำงานของลุงอาจินต์

          บนถนนดินแดงทอดยาวลัดเลาะผ่านไร่ของชาวบ้าน รถพาผมมาหยุดยืนตรงบ้านตีนเขา ในตำบลแก่งเสี้ยน จังหวัดกาญจนบุรี เก้าอี้หวายตัวเก่าริมระเบียงยังตั้งอยู่ที่เดิม แม้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนและบรรณาธิการ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 ผู้แผ้วถางเส้นทางเรื่องสั้นไทย เมื่อ 4 ทศวรรษก่อนจะจากไปแล้วเมื่อปี 2561

อาจินต์ ปัญจพรรค์ หยาดเหงื่อบรรณาธิการ กว่าเรื่องสั้นไทยจะหยัดยืน

          ใบปริญญาที่อาจินต์ได้รับคือ เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ปัจจุบันตีพิมพ์นับครั้งไม่ถ้วน และยังหล่อหลอมความเป็นบรรณาธิการบนหน้าประวัติศาสตร์ถนนน้ำหมึกจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต 

          4 ทศวรรษก่อน นักเขียนเรื่องสั้นไทยแทบไม่มีที่ยืนบนหน้ากระดาษนิตยสาร แต่ด้วยความสนใจงานวรรณกรรม ทำให้เมื่ออาจินต์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสาร ไทยโทรทัศน์ รายเดือน ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ในปี 2499 เขาก็พลิกโฉมหน้านิตยสารไทย ด้วยการเปิดโอกาสให้นักเขียนนำเสนอเรื่องสั้นสู่นักอ่าน หลังจากนั้นลาออกมาก่อร่างสร้างนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ ที่ได้รับความนิยมในแวดวงวรรณกรรม ช่วงระหว่างปี 2512-2531

          “ช่วงที่ลุงเป็นบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทย ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการหนังสือ เพราะนิตยสารยุคนั้นมีแต่นิยาย แต่ลุงพยายามเอาเรื่องสั้น บทความ สารคดีมาลงเพื่อให้มีเนื้อหาหลากหลาย เป็นความแปลกใหม่ที่คนอ่านก็ชอบ และด้วยอุปนิสัยความเป็นนักเขียน พอเห็นเรื่องสั้นที่ส่งมามีแวว ก็จะช่วยขัดเกลาแก้ไขจนได้ตีพิมพ์ เพราะแกเข้าใจความรู้สึกของนักเขียนว่า อยากเห็นงานของตัวเองได้รับการตีพิมพ์”

          การเป็นบรรณาธิการที่พร้อมให้โอกาสนักเขียน ทำให้มีต้นฉบับทั่วสารทิศส่งมาไม่ขาดสาย ยุคนั้นแวดวงวรรณกรรมค่อนข้างแคบ ไม่มีพื้นที่ให้นักเขียนนำเสนองานได้หลากหลายเหมือนยุคนี้ บรรณาธิการกับนักเขียนจึงมีความใกล้ชิดกัน ทุกวันจะมีนักเขียนหน้าใหม่แวะเวียนมาหาอาจินต์ยังที่ทำงานอยู่ตลอด ขณะที่อาจินต์ก็มีความสุขยามได้พูดคุยแนะนำ ถ้านักเขียนคนไหนมีความขยัน เขาก็จะเคี่ยวเข็ญเช้า-เย็น จนได้งานที่มีคุณภาพครองใจนักอ่าน

          ป้าแน่งน้อยเล่าว่า ลุงอาจินต์มีบุคลิกความเป็นครู เห็นได้จากนักเขียนบางคนถึงขั้นยอมลาออกจากงานที่มั่นคงมาช่วยงาน ก่อนก้าวสู่ถนนนักเขียนอย่างเต็มตัว เช่น นิมิตร ภูมิถาวร (นามสกุลเดิม ภักดี) นักเขียนชื่อดังที่ตัดสินใจลาออกจากราชการครู เพื่อมาช่วยลุงอาจินต์ทำนิตยสารฟ้าเมืองไทย ในช่วงท้ายๆ เนื่องจากขณะนั้นขาดแคลนคนมาช่วยทำงาน ปัจจุบันครูนิมิตรและภรรยาเสียชีวิตแล้ว

          ระหว่างรับหน้าที่บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทย ลุงอาจินต์ลงมือทำงานเองทุกขั้นตอน ทำให้ทุกลมหายใจเข้าออกตั้งแต่ตื่นนอนก็เริ่มจรดปากกาจนงานเขียนลุล่วง จากนั้นจึงเดินทางไปโรงพิมพ์ กว่าจะกลับถึงบ้านก็ค่ำมืด แต่งานนิตยสารที่ล้นมือไม่ได้ทำให้ความคิดอยากเขียนเรื่องขนาดยาวลดหดหายไป แม้เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ จะนำพาความสำเร็จมามากมาย ด้วยแรงผลักดันนี้ทำให้เกิดนวนิยายชุด เจ้าพ่อ เจ้าเมือง อันลือลั่นในเวลาต่อมา

          “ช่วงที่เขียนเรื่องชุดเจ้าพ่อ เจ้าเมือง ลุงตั้งใจมาก ปกติไม่ค่อยเห็นแกเขียนเรื่องยาวๆ พอกลับมาเขียนอีกครั้งเลยตั้งใจหาข้อมูล จนมีหนังสือเก็บเต็มตู้ ขณะที่ข้อมูลอีกส่วนมาจากประสบการณ์วัยเด็ก เพราะพ่อรับราชการเป็นผู้ว่าฯ ทำให้มีข้อมูลเชิงลึกด้านงานมหาดไทย ซึ่งบรรยากาศในเรื่องเป็นช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเรื่องชุดนี้ออกสู่สายตานักอ่าน หลายคนชื่นชอบ เพราะเป็นเรื่องราวที่ไม่ค่อยมีใครเขียน พอนำมารวมเล่มจึงกลายเป็นที่จดจำของนักอ่าน”

          19 ปีของการเป็นบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปลุกปั้นตั้งแต่อักษรตัวแรกไปจนถึงวันสุดท้ายที่ต้องลาแผง ป้าแน่งน้อยบอกว่า ลุงอาจินต์ไม่ได้แสดงความเสียใจออกมาให้คนรอบข้างเห็น ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ยุคนั้นสนใจเรื่องสังคมและการเมืองมากขึ้น ขณะที่ลุงอาจินต์เองก็เริ่มอายุมาก และรู้สึกว่าตัวเองทำมาแทบทุกอย่างตั้งแต่การเป็นนักเขียนไปจนถึงบรรณาธิการ สุดท้ายจึงตัดสินใจยุติการพิมพ์นิตยสาร แล้วพาตัวเองเดินทางไปสู่บทบาทใหม่

          สำหรับนักเขียนที่ทำงานมาตลอดชีวิต การยุติบทบาทในนามบรรณาธิการไม่อาจหยุดยั้งความคิดสร้างสรรค์ เมื่อ มติชนสุดสัปดาห์ เปิดคอลัมน์ วาบความคิด ให้อาจินต์เขียนบทความลงทุกสัปดาห์

          “พอเลิกทำนิตยสารฟ้าเมืองไทย ทางค่ายมติชนก็ชวนให้ไปเขียนบทความลงในคอลัมน์ทุกอาทิตย์ เมื่อเขียนไปเรื่อยๆ ลุงก็เริ่มสนุก แกไม่รู้สึกเหนื่อยเหมือนตอนทำนิตยสารเอง โดยประเด็นที่เขียนมาจากเรื่องราวรอบตัวและแวดวงนักเขียน ช่วงที่เขียนลงในคอลัมน์เป็นอีกการเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่เริ่มมีคอมพิวเตอร์เข้ามาแทนพิมพ์ดีด ด้วยความที่ลุงมีหัวด้าน engineer เลยเรียนรู้เร็ว ไม่นานก็พิมพ์คอมพิวเตอร์ส่งต้นฉบับทางอีเมลได้เอง” แน่งน้อยเล่าด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี

อาจินต์ ปัญจพรรค์ หยาดเหงื่อบรรณาธิการ กว่าเรื่องสั้นไทยจะหยัดยืน
อาจินต์ ปัญจพรรค์ หยาดเหงื่อบรรณาธิการ กว่าเรื่องสั้นไทยจะหยัดยืน

          เมื่อล่วงเข้าสู่วัย 80 ความอ่อนล้าของร่างกายทำให้งานคอลัมน์ประจำไม่แหลมคมเหมือนเช่นเคย แน่งน้อยยอมรับว่า บางครั้งอาจินต์ก็ไม่รู้จะเขียนอะไร เรื่องบางเรื่องเขียนไปก็ไม่ได้สนุกเหมือนแต่ก่อน ประกอบกับยุคสมัยและรสนิยมคนอ่านเปลี่ยนไป เธอจึงรบเร้าบอกให้สามีเลิกเขียนอยู่หลายครั้ง แต่ไม่นานอาจินต์ก็แอบพิมพ์ต้นฉบับส่งโรงพิมพ์จนทันเวลา

          “พอมาประมาณปี 2552 เป็นช่วงที่ลุงเริ่มรู้แล้วว่าตัวเองเขียนไม่ไหว เพราะบางครั้งเขียนส่งไปก็มีข้อผิดพลาดบ่อยครั้ง ด้วยอายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายไม่เหมือนเดิม บางสัปดาห์ถึงกับต้องหยุดเขียน ไม่นานหลังจากนั้นลุงก็ตัดสินใจเลิกเขียนให้มติชน”

          มาถึงตรงนี้ ป้าแน่งน้อยพาผมเข้าไปชมในบ้านที่ลุงอาจินต์เคยอาศัย ตู้ไม้ใบใหญ่สองตู้วางเคียงกัน ชั้นบนเป็นรูปของบรรณาธิการวัยหนุ่ม แววตาลุกโชนด้วยไฟฝัน ส่วนรูปตรงกลางเป็นรูปลุงใบสุดท้าย แววตาโรยราไปตามอายุ แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความอารี

          “เรื่องจริงคือเสน่ห์ของความจริง”

          อาจินต์เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ถึงแนวคิดการผลิตงานวรรณกรรมอยู่หลายครั้ง

          “ลุงมีจุดเด่นในการนำเรื่องจริงมาเขียนเป็นงานวรรณกรรม สิ่งนี้เป็นเสน่ห์ทำให้ผลงานเข้าถึงคนอ่านได้มากขึ้น เห็นได้จากงานหลายชิ้นโดยเฉพาะชุดเหมืองแร่ แต่การเก็บข้อมูลของลุงส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างเดินทางแล้วเห็นผู้คน เก็บเรื่องราวนำมาแต่งเป็นเรื่องสั้นหรือบทความ บางครั้งพอคิดอะไรออกก็จดไว้กันลืม ลุงเป็นคนทำงานตลอดเวลา อ่านหนังสือแทบทุกแนว โดยเฉพาะงานวรรณกรรมของนักเขียนไทยและต่างประเทศ ทำให้สามารถนำแนวคิดที่พบเจอมาผสมผสาน จนกลายเป็นงานที่คนอ่านยุคนั้นชื่นชอบ”

          ด้วยชื่อเสียงการทำงานที่ประสบความสำเร็จ จึงมีคนยกย่องให้อาจินต์เป็นหนึ่งใน ‘สี่มือทอง’ แห่งวงการวรรณกรรมไทยร่วมสมัยยุคนั้น แต่ป้าแน่งน้อยบอกว่า สำหรับลุงแล้ว ความถ่อมตนเป็นอุปนิสัยที่ทำให้ไม่เคยยอมรับต่อคำชมนั้น

          “ลุงไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นสี่มือทองตามที่คนยุคนั้นยกย่อง แต่แกมองว่าทุกคนต่างทำงานของตัวเอง เพียงแต่อยู่ในแวดวงเดียวกัน โดยฉายานี้ยกย่องให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในแวดวงนักเขียนยุคนั้นคือ นพพร บุณยฤทธิ์ ซึ่งอายุมากสุดในกลุ่ม รองลงมาคือ ลุงอาจินต์ และ รัตนะ ยาวะประภาษ ส่วนคนที่อายุน้อยสุดคือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์”

          ความถ่อมตนของบรรณาธิการผู้สร้างนักเขียนมาประดับวงการวรรณกรรมมากมาย เห็นได้ชัดจากหลายบทสัมภาษณ์ ที่ย้อนถามถึงการเปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่ อาจินต์มักจะตอบแบบถ่อมตนเสมอว่า “เราสร้างเขาไม่ได้ นักเขียนเหล่านั้นสร้างตัวเอง เราเพียงให้โอกาสเขา แต่เราไม่ได้สร้างพวกเขา”

          สายลมแห่งกาลเวลาไม่เคยหวนกลับ แต่ความทรงจำที่มีต่อบรรณาธิการยังอัดแน่นและแผ่กิ่งก้านเหมือนต้นหูกระจงที่ป้าแน่งน้อยตั้งใจปลูกไว้ทั้งสี่ทิศ ริมลานปูนขนาดย่อมข้างบ้าน เพื่อให้ลุงอาจินต์ได้เดินออกกำลังกายใต้ร่มไม้แห่งความรัก

          ใครที่เคยร่วมงานกับอาจินต์ มักจะชื่นชมถึงความเป็นสุภาพบุรุษตามแบบฉบับของลูกผู้ชาย สิ่งนี้แสดงออกผ่านงานเขียนหลายเล่ม รวมไปถึงการแสดงออกต่อคนรัก…

          “ป้าพบลุงครั้งแรกตอนเป็นนิสิตจุฬาฯ ขณะนั้นทำกิจกรรมและรับหน้าที่เป็นสาราณียกรหนังสือหลายเล่ม พอดีช่วงนั้นเพื่อนแนะนำให้ไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของลุงที่เพิ่งตั้งใหม่ ป้ากับเพื่อนเลยไปพิมพ์ที่นั่นก่อนที่ลุงจะเริ่มพิมพ์นิตยสารฟ้าเมืองไทย หลังจากนั้นก็ไปพิมพ์หนังสือและเจอลุงอีกหลายครั้ง ก่อนจะมาลาแกไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ หยาดเหงื่อบรรณาธิการ กว่าเรื่องสั้นไทยจะหยัดยืน

          สำหรับนักเขียนคนอื่น เส้นทางความรักกับงานเขียนอาจแยกออกจากกัน แต่สำหรับลุงอาจินต์แล้ว แนวคิด ‘เฟมินิสม์’ ของป้าแน่งน้อย ภายหลังกลับจากเรียนต่อในต่างประเทศ ทำให้งานเขียนของทั้งคู่มีความเข้มข้นมากขึ้น

          “ใครอาจมองว่าลุงเป็นผู้ชายหัวโบราณ แต่จริงๆ แล้วแกเปิดกว้างด้านความคิด เพราะหลังจากแต่งงานปี 2520 ลุงเป็นบรรณาธิการของนิตยสารฟ้าเมืองไทย ได้หาทุนให้ป้าทำนิตยสาร เสียงสตรี และนิตยสาร ผู้หญิงเก่ง เนื้อหาของหนังสือ พยายามผลักดันให้สิทธิสตรีมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย เพราะยุคนั้นผู้หญิงได้รับการยอมรับจากสังคมน้อย เห็นได้จากการให้เงินเดือนในที่ทำงานเดียวกัน ผู้หญิงจะได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกับตำแหน่งความก้าวหน้าในบริษัท ผู้หญิงได้รับโอกาสน้อยกว่ามาก”

          นิตยสารที่ส่งเสริมความเท่าเทียมสิทธิของสตรีเป็นเรื่องแปลกใหม่ในยุคนั้น ป้าแน่งน้อยเล่าว่า ลุงอาจินต์จะไม่ก้าวก่ายเรื่องเนื้อหาของงาน ปล่อยให้แสดงความคิดและแนวทางที่ต้องการนำเสนอให้ออกมาอย่างชัดเจน บางครั้งเมื่อแกอ่านงานบางชิ้นก็ชมว่าเรื่องนี้ดี หรือเรื่องอะไรที่มันแปลกใหม่ แกก็จะถาม ถือเป็นการแลกเปลี่ยนกันทางความคิด ทำให้เกิดผลงานเขียนที่สอดแทรกแนวความคิดความเท่าเทียมของชายหญิงในสังคม

          “ความเป็นสุภาพบุรุษของลุง บางครั้งก็เป็นเรื่องที่เราคาดไม่ถึง หลังจากป้ากลับจากต่างประเทศไปเจอลุงอีกครั้งในงานแต่งของเพื่อนที่เคยช่วยกันทำหนังสือตอนสมัยเป็นนิสิต วันนั้นลุงประกาศบนโต๊ะต่อหน้าเพื่อนกว่าสิบคนว่า พี่รอเธอมา 8 ปี แต่ป้าตอบแบบติดตลกกลับไปว่า ถ้างั้นพี่ก็รอต่อไปอีก 8 ปี ซึ่งลุงเป็นคนที่ให้เกียรติผู้หญิงมาก กว่าจะชวนไปดูหนังครั้งแรกได้ ก็ใกล้จะแต่งงาน”

          ห้วงสุดท้ายแห่งชีวิต ลุงอาจินต์เข้าออกโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ บ่อยมากขึ้น ครั้งสุดท้ายต้องอยู่ในโรงพยาบาลร่วม 6 เดือน แม้ร่างกายจะโรยรา แต่ความเป็นบรรณาธิการยังเทียวขอปากกาและกระดาษ เพื่อเขียนบางสิ่งระบายออกมาเป็นตัวอักษร

          “ก่อนลุงจะเสียชีวิต แกยังอยากเขียนหนังสือ ป้าก็บอกว่าเขียนเลย ยังไม่ต้องคิดว่าจะเอาไปลงที่ไหน ขอให้เขียนออกมาก่อน แต่พอเขียนออกมาลายมือก็ไม่เหมือนเดิม บางคำอ่านไม่ออก ส่วนเนื้อหาที่เขียนเป็นเรื่องเดิมๆ ที่แกฝังใจตั้งแต่เด็ก แม้ร่างกายลุงเจ็บป่วย แต่ความจำยังดี จนนาทีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ หยาดเหงื่อบรรณาธิการ กว่าเรื่องสั้นไทยจะหยัดยืน

          สายเครื่องมือแพทย์ที่ระโยงระยางบนเตียงนอนคนไข้ ยังเป็นภาพจำที่ป้าแน่งน้อยไม่อาจลืม หนังสือเล่มกะทัดรัดเขียนหน้าปกว่า ‘การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ ที่หมอเจ้าของไข้มอบให้ป้า ท่ามกลางสายตาที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามถึงอาการของลุงหลังจากนั้น แต่หมอเองได้แต่พูดปลอบใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของผู้สูงอายุ

          อาการป่วยของลุงอาจินต์หลังจากนั้นไม่ดีขึ้น ก่อนเสียชีวิตลุงยังมีสติดี รู้ตัวเองและสั่งเสียกับป้ากบ ซึ่งเป็นผู้ที่ดูแลว่า…

          “กบอยู่กับน้อยนะ ลุงไม่อยู่แล้ว อยู่กับน้อย” ป้าแน่งน้อยเล่าถึงคำสั่งเสียสุดท้าย

          การจากไปของนักเขียนและบรรณาธิการผู้ยิ่งใหญ่ แต่ผลงานหลายเรื่องของลุงอาจินต์ยังคงมีการตีพิมพ์ใหม่ เพราะไม่ใช่แค่การบันทึกเรื่องราวของสังคมในยุคก่อน ทว่ายังได้ซึมซับหยาดเหงื่อความมุ่งหวังของบรรณาธิการ ที่มุ่งหมายให้นักเขียนไทยมีพื้นที่หยัดยืน

          “ป้าอยากให้คนรุ่นใหม่ได้ลองอ่านงานของนักเขียนรุ่นเก่าๆ เพื่อจะได้ศึกษาและเห็นมิติของสังคมในอดีต และจะมีผลต่องานเขียนของคนรุ่นใหม่ ให้มีมิติที่เข้าถึงคนอ่านได้มากขึ้น”

          หลังสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ผมอำลาป้าแน่งน้อย แล้วค่อยๆ เคลื่อนรถลงจากเนินเขาไปบนถนนดินแดงที่ทอดยาว ราวกับหลุดเข้าไปในหน้ากระดาษท้ายๆ ของรวมเรื่องสั้นเหมืองเเร่ ในฉากที่เหมืองแร่ต้องปิดตัว นิสิตหนุ่มผู้ถูกรีไทร์ต้องกลับไปเผชิญโลกความจริงอีกครั้งในเมืองหลวง

          นาทีนั้นผมมองกระจกหลังเพื่อหารอยยิ้มของใครสักคน แต่ไม่พบ มีเพียงวลีของการจากลา จากหน้ากระดาษในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ผุดวาบขึ้นในหัว…

          ‘อาจินต์ เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ’

อาจินต์ ปัญจพรรค์ หยาดเหงื่อบรรณาธิการ กว่าเรื่องสั้นไทยจะหยัดยืน


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก