ถกถียงคือโอกาส เรียนรู้อย่างฉลาดผ่านการใช้เหตุผลโต้แย้ง

174 views
September 1, 2023

ในสถานการณ์ที่เกิดการปะทะคารม บ่อยครั้งเราโต้เถียงกันบนพื้นฐานความเชื่อว่าความคิดของเราถูกต้อง 100% ขณะที่ความคิดของอีกฝ่ายนั้นผิดทั้งหมดโดยไม่รู้ตัว สุดท้ายผลลัพธ์อาจนำมาซึ่งการตอบโต้ด้วยอารมณ์ หรือชวนทะเลาะเพียงเพื่อเอาชนะหักหาญน้ำใจกัน

หลายคนเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ต้องอยู่ท่ามกลางความคิดเห็นที่ไม่ลงรอย จึงมักเลือกวิธีประนีประนอม หรือเลือกจะนิ่งเฉยแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะไม่อยากผิดใจ ทั้งที่การถกเถียงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้และเติบโต หากตั้งอยู่บนแนวคิดของการโต้แย้งอย่างมีเหตุมีผล

แมทธิว ฟิชเชอร์ (Matthew Fisher) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นเมธอดิสต์ (Southern Methodist University) ได้นำเสนอข้อค้นพบในงานวิจัยของเขาและทีม เกี่ยวกับประโยชน์ของการถกเถียงที่มีต่อการเรียนรู้ว่า การยอมรับฟังมุมมองความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับคู่สนทนา ไม่ใช่แค่เปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้สิ่งใหม่ แต่ยังช่วยให้ได้คำตอบหรือทางออกของปัญหาที่เหมาะสม และยังช่วยให้ผู้อื่นเปิดรับมุมมองของคุณมากขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าขณะที่ถกเถียงต้องไม่พยายามโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับความคิดของเรา

ฟิชเชอร์และคณะออกแบบการทดลองโดยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งได้รับโจทย์ในการแก้ปัญหาเดียวกัน แต่ให้คำสั่งวิธีการอภิปรายที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกได้รับคำสั่งให้เถียงกันเพื่อเอาชนะ (Arguing to Win) ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้รับมอบหมายให้เถียงกันด้วยการรับฟังและเรียนรู้เหตุผลของฝ่ายตรงข้าม (Arguing to Learn) ผลปรากฏว่าผู้ทดลองกลุ่มแรกมักจะหาวิธีการแก้ปัญหาได้แค่แนวทางเดียว ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งสามารถมองเห็นคำตอบและทางออกของปัญหาได้หลากหลายกว่า

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่พิชเชอร์และทีมวิจัยค้นพบ เช่น บริบทที่เกิดการโต้แย้งก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ถ้าอยู่ในที่สาธารณะ คนเรามักจะเลือกถกเถียงเพื่อเอาชนะมากกว่าที่จะยอมรับฟัง ถ้าโต้แย้งกันเพียงลำพังส่วนตัว ก็มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะเลือกถกเถียงเพื่อเรียนรู้

แต่การปักธงในใจว่า ‘เราจะถกเถียงเพื่อเรียนรู้’ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ การศึกษาต่อเนื่องของงานวิจัยพบว่า เมื่อยังเด็กมนุษย์อาจจะถกเถียงเพื่อเรียนรู้ การโต้แย้งนำมาซึ่งการสะสมข้อมูลเกี่ยวกับโลกใบนี้ แต่เมื่อเติบโตขึ้นและพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลจนแข็งแกร่ง ก็มักจะสลับไปสู่การถกเถียงเพื่อเอาชนะ ดังนั้น การโต้แย้งด้วยใจที่เปิดกว้างจึงต้องเกิดขึ้นจากการฝึกฝน เพื่อให้กลับไปสู่สภาวะเดิมเมื่อครั้งยังเยาวว์วัย แต่จะฝึกได้อย่างไรให้เกิดผล?

ถกถียงคือโอกาส เรียนรู้อย่างฉลาดผ่านการใช้เหตุผลโต้แย้ง

โบ ซอ (Bo H. Seo) แชมป์โต้วาทีโลก 2 สมัย แนะนำให้เปลี่ยนทัศนคติ มองว่าการถกเถียงเป็นโอกาสที่จะแสดงมุมมองความคิดมากกว่าเป็นโอกาสที่จะเอาชนะคนอื่น จากประสบการณ์ของซอ คนเรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังจะพูด มากกว่าสิ่งที่กำลังเรียนรู้จากบทสนทนา

ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากเลิกคิดถึงการโต้แย้ง และลองรับฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจ โดยเขาแนะนำให้ใช้หลัก W 4 ตัว ในการวิเคราะห์บทสนทนา ได้แก่

1. ตรรกะของคุณคืออะไร (what is your logic?)

2. ทำไมมันถึงเป็นเรื่องจริง (Why is this true?)

3. มันเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ไหม (When has this happened before?)

4. ใครให้ความสนใจเรื่องนี้บ้าง (Who cares?)

แดน ชาปิโร (Dan Shapiro) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจรจาต่อรองและการแก้ไขข้อขัดแย้งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อธิบายว่าความขัดแย้งมักก่อให้เกิดความไม่สบายใจ แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ไม่อาจหลีกเลี่ยง ปัญหาที่ทำให้การถกเถียงเกิดขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่ประเด็นขัดแย้ง แต่อยู่ที่ ‘วิธีการ’ โต้แย้งเสียมากกว่า

จากงานวิจัยและประสบการณ์ของเขา ชาปิโรจึงเสนอ 3 วิธี ที่จะช่วยให้การถกเถียงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่ผลเชิงบวก ประการแรกคือ อย่านำเอาตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้ง เพราะทันทีที่รู้สึกว่าเรากำลังถกเถียงเพื่อตัวเอง การถกกันอย่างมีเหตุผลก็จะไม่เกิด ประการที่ 2 คือ อย่ามองว่าการโต้เถียงนั้นไร้ค่า พยายามค้นหาคุณค่าจากมัน ทำความเข้าใจเหตุผลของเขา ประการที่ 3 คือ อย่ามองว่าเรากำลังเถียงกับศัตรู แต่มองให้เป็นคู่คิด พึงระลึกว่าคุณสองคนกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน

กล่าวโดยสรุป นักวิชาการ และนักวิจัยหลายคนเล็งเห็นประโยชน์และโอกาสของการถกเถียงในการพัฒนากระบวนการคิดและทักษะ การโต้แย้งอย่างมีเหตุผลช่วยให้ผู้คนรู้คิด สามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนรู้ของเด็กๆ ทั้งการเลี้ยงดูบุตรของครอบครัว การจัดกิจกรรมในชั้นเรียน หรือแม้กระทั่งนำมาใช้กับโลกของการทำงาน เพื่อให้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลาย พบแนวทางการทำงานใหม่ๆ หรือได้ผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์มากขึ้น


ที่มา

บทความ “Yale Research: Highly Successful People Argue Differently” จาก biz.crast.net (Online)

บทความ “How do highly successful people argue differently?” จาก mikegreg.com (Online)

บทความ “This article is more than 4 years old The science of influencing people: six ways to win an argument” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “การโต้แย้งอย่างมีเหตุผล: ทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21” จาก hujmsu.msu.ac.th (Online)

บทความ “The Trajectory of Argumentation and its Multifaceted Functions” จาก bpb-us-w2.wpmucdn.com (Online)

วีดิโอ “Harvard negotiator explains how to argue | Dan Shapiro” จาก youtube.com (Online)


Facebook Post Click

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก