ไม่นานมานี้หน้าเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ Penguin Random House SEA เพิ่งแนะนำหนังสือใหม่ ‘Death and the Maiden’ เมื่อพิจารณาจากชื่อเรื่อง สีสันเคร่งขรึมของปก และภาพประกอบที่แฝงกลิ่นอายลึกลับชวนพิศวงแล้ว ใครที่ยังไม่เคยอ่านก็น่าจะพอคาดเดาได้ว่าเนื้อหาคงออกไปในแนว Gothic Fantasy เป็นแน่ เมื่อไล่สายตาลงมาก็ต้องสะดุดกับชื่อผู้เขียน ‘Apinuch Petcharapiracht’ ซึ่งเป็นชื่อของนักเขียนชาวไทย
อภินุช เพชราภิรัชต์ หรือที่เจ้าตัวขอให้เรียกว่า ‘เคีย’ คือผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ เธอมาร่วมตั้งวงกินขนม จิบน้ำชา พูดคุยกับทีมงาน The KOMMON พร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะสดใสเป็นกันเอง บทสนทนาเต็มไปด้วยสาระดีๆ แม้ว่าบางครั้งจะเพลิดเพลินจนเผลอไผลออกนอกประเด็นแบบสาระไม่มีไปบ้าง แต่เมื่อการสัมภาษณ์จบลง เราก็รู้จักตัวตนของ ‘เคีย’ มากขึ้น เพราะเธอเล่าประสบการณ์ให้ฟังแบบไม่มีหวงของ
ถ้าอยากรู้จักนักเขียนไทยที่ส่งผลงานไปตีพิมพ์ไกลถึงสำนักพิมพ์ต่างแดน ดำเนินการด้วยตนเองแบบไม่ผ่านเอเจนต์ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ลองมาอ่านบทความสัมภาษณ์นี้ คุณคงจะพอเห็นว่า จากคนชอบเขียนที่เขียนนิยายลงแพลตฟอร์มเป็นงานอดิเรก เคียขยับมาเป็นนักเขียนอิสระ และก่อตั้งสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่ตีพิมพ์หนังสือเฉพาะกลุ่มได้อย่างไร ปิดท้ายด้วยประเด็นสำคัญที่คุยกันยาว คือ เคียคิดว่าการส่งผลงานออกไปโลดแล่นในตลาดสากลนั้นยากหรือง่ายแค่ไหน อะไรคือแรงผลักดันให้เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้
ในประเทศไทย นักอ่านรู้จักคุณเคียในนามของ Moonscape มากกว่า ทำไมตอนตีพิมพ์กับ Penguin Random House SEA ถึงได้เลือกใช้ชื่อจริง
ตอนแรกก็ตั้งใจจะใช้นามปากกา Moonscape นี่แหละในการตีพิมพ์ แต่เขาขอให้ใช้ชื่อที่ดูมีความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หน่อย ก็เลยตัดสินใจใช้ชื่อจริงไปเลย
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม ว่าเริ่มต้นชีวิตนักเขียนได้อย่างไร
ความจริงแล้วงานเขียนนี่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียนและสิ่งที่เป็นอาชีพเลย เราเริ่มต้นจากการเขียนบล็อกที่ Exteen.com เขียนมาตั้งแต่มัธยมปลาย นอกจากนั้นก็มีแต่งฟิกชัน วาดการ์ตูนลงเว็บบอร์ดบ้าง เวลามีคนมาคอมเมนต์ก็ดีใจ กระทู้แรกมี 10 คอมเมนต์ ก็ตั้งเป้าไว้ว่ากระทู้ต่อมาต้องได้มากกว่านั้น
เรียกได้ว่าการเขียนบล็อกเป็นพื้นที่ฝึกหัด และเป็นพื้นฐานของการเขียนนิยายในเวลาต่อมา
ใช่ ตอนนั้นคิดด้วยนะ ว่าเขียนแบบนี้คนอ่านจะชอบหรือไม่ชอบ เช่น ถ้าเขียนแบบตัวหนังสือติดกันเป็นพืดคนคงอ่านไม่ไหว แต่ถ้ามีภาพประกอบด้วยคนอ่านจะชอบมากกว่า มาเขียนอย่างจริงจังอีกทีตอนที่เรียนด้านการบริหารครัวและภัตตาคาร วิทยาลัยดุสิตธานี พอดีที่บ้านเป็นร้านขนม ก็เลยอยากให้เรียนด้านขนมบวกกับด้านบริหาร ระหว่างที่เรียนก็เขียนบล็อกไปด้วย ตอนปี 4 เรียนทำช็อกโกแลต ก็จะถ่ายรูปผลงานของเพื่อนทุกคนมาลงบล็อก เขียนเล่าให้ฟังว่าเรียนอะไร ทำอะไร วาดอินโฟกราฟิกแบบง่ายๆ มีแต่เส้นไม่มีสี
หลังจากนั้นก็ได้เรียนวิชาเกี่ยวกับการบริหารคาเฟ่ แบ่งกันเป็นผลัด มีกลุ่มที่บริหาร กลุ่มที่ทำครัว และกลุ่มที่ทำขนม สลับกันมาทำ 3 กลุ่ม เป็นวิชาที่ชอบมาก รู้สึกสนุกมาก ก็เลยเขียนถึงสิ่งที่ได้ทำ จับพลัดจับผลูกลายเป็นทูตสันติภาพของวิทยาลัยไปเฉยเลย มีคนเข้ามาอ่านบล็อกเราเยอะมาก พอพิมพ์ชื่อสถาบันลงไปใน Search Engine บล็อกเราก็จะขึ้นมา เด็กๆ อยากจะสมัครมาเรียน กลายเป็นว่าตอนที่เราเรียนจบไปแล้ว เด็กเข้าใหม่ตามมาจากบล็อกเราทั้งนั้นเลย ตอนนั้นไม่ได้เขียนเพราะอยากจะเป็นนักเขียนเลยนะ แค่เหงา อยากคุยกับคนอื่น หาเรื่องคุยกับชาวบ้านไปทั่ว
ต่อมา Exteen ล่ม จากเราไปตลอดกาล ประกอบกับบล็อกใหม่ที่ WordPress เองก็ซบเซาไม่มีคนเล่นด้วย เป็นช่วงปี 2017-2018 ที่เราเริ่มแยกตัวออกจากกิจการขนมไทยของครอบครัวมาทำคาเฟ่ ค้นพบแล้วว่าตัวเองไม่ได้เหมาะกับขนมไทย ในฐานะเจ้าของร้านขนม การพัฒนาสูตรขนมไทยขึ้นมา มันต้องทำเต็มสูตร อย่างขนมหม้อแกงก็ต้องทำ 64 ถาดออกมาพร้อมกัน ไม่สามารถทำสูตรเล็กๆ ได้เลย มันไม่ใช่ตัวเอง เลยดัดแปลงพื้นที่ส่วนที่เคยเป็นร้านขายของฝากเล็กๆ มาทำเป็นร้านขนมแบบเต็มตัว ยุ่งจนไม่ได้เขียนอะไรไปพักหนึ่งเลย
จากการเขียนบล็อกมาสู่การเขียนนิยายได้อย่างไร
กลับมาเขียนอย่างจริงจังเพราะเป็น ‘ติ่งด้อม’ เราว่าเป็นกันทุกคนนะ หลายๆ คนกลับมาเขียนอะไรอย่างจริงจังก็เพราะเป็นแฟนคลับด้อมต่างๆ นี่แหละ เราเป็นสมาชิกด้อมนิยายเรื่อง ตัวร้ายอย่างข้า…จะหนีเอาตัวรอดยังไงดี ของโม่เซียงถงซิ่ว ตอนนั้นอ่านแล้วชอบคู่รอง รู้สึกว่าคู่รองน่ารัก แต่ยังไม่มีใครแปลตอนพิเศษเป็นภาษาไทย แฟนแปลให้เราอ่านแต่ไม่ได้เผยแพร่ที่ไหน ก็เลยเขียนฟิกชันของคู่นี้อยู่คนเดียว ปรากฏว่าคนก็เข้ามาอ่านกันเยอะแยะ แต่ก็เข้ามาแบบงงๆ “คู่นี้มาจากไหนกันคะ 2 คนนี้เขาคุยกันแค่ 2 บรรทัดเองนะ” เราก็ตอบไปว่า “มีสิ…แต่อยู่ในตอนพิเศษนะ” คนอ่านเลยโดนป้ายยากันไปเป็นแถบๆ ถึงขนาดที่ว่าเป็นเรื่องที่ยอดวิวสูงสุดในบรรดางานที่เราเขียนลง readAwrite เลยก็ว่าได้ อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องของคนคู่นี้มันไม่มีคนผลิตเลย หลังจากที่เราเขียนไปแล้วก็มีคนเขียนบ้าง แต่ก็แค่พอนับนิ้วถ้วนน่ะ
ได้เรียนรู้อะไรจากการเขียนแฟนฟิกชันบ้าง
ได้ข้อคิดเยอะมาก อย่างแรกเลยคือ เราไม่จำเป็นต้องเขียนให้ทุกคนอ่าน ถ้าเราเขียนถึงคู่หลักหรือคู่ที่แมส ก็จะมีคนอ่านเยอะ แต่ถ้าเราเขียนถึงคู่ที่ไม่มีใครเขียนเลย มันก็จะยังมีคนอ่านอยู่ดีถ้าเขาชอบสิ่งที่เราเขียน มันวัดกันแค่นิดเดียว…ว่าเขาจะซื้อมั้ย เหมือนประเทศที่ไม่มีใครใส่รองเท้าเลย แล้วเราเอารองเท้ามาตั้งแผงขาย ถามว่าจะมีคนซื้อมั้ย มันต้องมีสิ แค่เขาไม่เคยเห็นสิ่งนี้มาก่อน เราก็เลยอยากจะเขียนถึงสิ่งที่ยังไม่มี
ตอนที่เรากับแฟนเขียนเรื่องสั้นลงทวิตเตอร์ มีคนอ่าน…ถ้านับจากที่รีทวิตก็ประมาณ 4 คนเห็นจะได้ บางทีก็ 6 คน แต่ก็เขียนไว้ประมาณ 60 เรื่อง เป็นเรื่องสั้นที่ไม่เกี่ยวกัน 30 เรื่อง กับเรื่องที่ต่อเนื่องกัน ชื่อ โบสถ์ของคนสิ้นหวัง อีก 30 ตอน ถึงตอนนั้นจะไม่มีคนอ่านเลย แต่เราก็เล็งเห็นว่า คอยดูนะ…เดี๋ยวมันต้องมี แต่ว่ายังไม่ใช่ตอนนี้ ก็ผลักมันเก็บไปก่อน
ต่อมาเราออกผลงานเรื่อง อยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียน ตอนนั้นสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ในประเทศไทยยังไม่ได้นำเข้าหนังสือแนว Slice of Life เลย แต่เราอยากเขียนเพราะว่ารู้สึกถนัดแนวนี้ คนเราสามารถเล่าเรื่องชีวิตประจำวันให้สนุกได้นะ มันพิเศษได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคนมาตบกันให้เราดู เรื่องราวมันสามารถเล่าได้ แค่เรานั่งอยู่ตรงนี้ ส่วนคนนั้นนั่งอยู่ตรงนั้น เปิดขวดน้ำไม่ออกมา 20 นาทีแล้ว แบบนี้ก็เอามาเขียนได้ เราก็เลยตั้งใจจะเขียนเล่าเรื่องชีวิตธรรมดาๆ แบบ 30 วัน 30 ตอน อะไรแบบนี้
เรื่อง อยู่แชร์เฮาส์ฯ มี 31 ตอน เราก็เลยคิดว่าจะลงให้อ่านในเดือนตุลาคม วันที่ 1-31 ลงไปเรื่อยๆ ทุกวัน ให้อ่านแล้วรู้สึกเหมือนกับว่า เวลาผ่านไปตอนละวัน เราซุ่มเขียนตอนเดือนมิถุนา พอถึงเดือนตุลาก็แอบเอามาลง ปรากฏว่าคนชอบมากเพราะตอนนั้นยังไม่มีคนเขียนแนว Slice of Life ถึงมีก็น้อย ลองไปเสิร์ชดูแล้ว น้อยแบบหลักสิบคน ส่วนมากคนจะบอกว่า สิ่งนี้ไม่เคยเจอมาก่อนเลย รู้สึกโหยหา อ่านแล้วสบายใจ ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ตัวละครกินกาแฟแล้วก็คุยกันแค่ 2-3 คำ
กลายเป็นว่า ตอนแรกตั้งใจจะพิมพ์แค่ร้อยเล่มตอนที่จะเปิดขาย แต่ยอดมันเกินไปมาก อยู่ดีๆ เรื่องนี้ก็พุ่งเป็นสตาร์ เลยเป็นการพิสูจน์ว่าทฤษฎีของเรานั้นถูกต้อง หลังจากนั้นเราก็พิมพ์เรื่อง โบสถ์ของคนสิ้นหวัง ที่เคยพับเก็บไว้ก่อน อาศัยกระแสของเล่มแรก
คิดว่าข้อได้เปรียบของเราคือ เขียนในแนวที่ไม่มีคนเขียนมาก่อน?
เราก็เหมือน market penetrator นะ (ผู้บุกเบิกตลาด) คนแรกจะได้ผลเต็มๆ เลย ลูกค้าเยอะ คนที่เข้ามาหลังจากเราก็จะเริ่มลำบากแล้ว สำนักพิมพ์ใหญ่ก็เริ่มเข้ามาด้วย มี Slice of Life เป็นสิบๆ เรื่อง ร้านกาแฟวิเศษ ร้านขนมวิเศษ ไปรษณีย์วิเศษ ศูนย์รับฝากของ เยอะแยะไปหมด ตอนนี้คนก็จะเริ่มอิ่มละ จากตอนแรกที่รู้สึกโหยหา พอคนเริ่มอิ่ม เอาอะไรมาให้ชิมก็จะรู้สึกว่า “งั้นๆ แหละ” เราก็เลยคิดว่า Slice of Life เป็นตลาดที่เราชอบ แต่ไม่ใช่ตลาดที่เราจะอยู่ได้ตลอด แล้วก็ไม่ใช่ตลาดที่เราจะเขียนไปตลอดด้วย เพราะเราก็อยากเขียนอย่างอื่นบ้าง
นิยายแต่ละเล่มของเราไม่มีเรื่องไหนแนวเดียวกันเลย ตั้งแต่เรื่องยาวเรื่องที่สองเป็นต้นมา สมุดบันทึกกับแท่งถ่าน เป็นเรื่องของ ghostwriter (นักเขียนเงา) กับ nude artist (ศิลปินวาดภาพเปลือย) ที่อ่านหนังสือไม่ออก nude artist ฝันว่าตัวเองจะตาย ก็เลยอยากจะเขียนหนังสืองานศพตัวเองเอาไว้ แต่ว่าเป็นคนเขียนหนังสือไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก เพราะเป็น dyslexia (ภาวะผิดปกติทางด้านการอ่านและการเรียนรู้ภาษา) ก็เลยให้ ghostwriter เขียนให้ แต่ตีพิมพ์ในชื่อเขา ghostwriter เนี่ย มันเล่นกับคอนเซปต์ของความว่างเปล่าไม่มีตัวตน ความไม่มีบุคลิกเป็นของตนเอง การที่เราซึมซับคนอื่นเข้ามาในตัวมากๆ กลายเป็นว่าวันหนึ่งที่เขาหายไป มันก็เหมือนกับเขากระชากเอาส่วนหนึ่งของเราออกไปด้วย
เราเขียนในสิ่งที่อยากจะเขียนไปเรื่อยๆ แต่ว่าด้วยความที่ประตูทางเข้างานเขียนของเรามันกว้างมากคือเรื่อง อยู่แชร์เฮาส์ฯ พอเราเริ่มตีกรอบให้แคบลง คนที่อยู่กับเราต่อๆ มามันก็น้อยลงไปด้วย แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเราก็เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งของการเขียนแล้ว
อะไรคือแรงบันดาลใจให้ตีพิมพ์กับ Penguin Random House SEA อะไรทำให้อยากจะลองตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ
พอตีพิมพ์ภาษาไทยไปเรื่อยๆ ก็พบว่า นักเขียนอิสระนี่ได้เงินเยอะนะ ถ้าเราดัง เราก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียนของประเทศ และนักเขียนของโลก อันนี้ต้องยอมรับ เพราะว่าต่อให้เรามีศักดิ์ศรีในตัวเองในความคิดของเราแค่ไหน วงการไม่ได้มองเราแบบนั้นด้วย มันยากเหลือเกินกับการต้องพิสูจน์ตัวเอง
เคยคิดว่าต้องเข้าสังกัดสำนักพิมพ์มั้ย เพื่อให้ได้รับการยอมรับในวงกว้าง
ความจริงก็เคยมีสำนักพิมพ์โทรมาทาบทาม ตั้งแต่ตอนพิมพ์เรื่อง อยู่แชร์เฮาส์ฯ เราก็ถามเขาว่า เขาจะทรีตหนังสือเรายังไงบ้าง เขาบอกว่าแก้ไขนิดหน่อย แล้วก็ใส่ตอนพิเศษลงไปสัก 4-5 ตอน ซึ่งเราก็ปฏิเสธเพราะว่าเรื่องราวมันจบในตัวไปแล้ว อีกอย่างคือเราออกเล่มอื่นไปแล้ว และมันก็มีเหตุการณ์ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ มันไม่จำเป็นต้องมีตอนพิเศษ ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้ามองภาพไม่ตรงกัน เราก็ทำของเราเองไปเรื่อยๆ ดีกว่า แต่มันต้องมีทางอื่นที่เราจะได้รับการยอมรับสิ ประมาณว่าเราประสบความสำเร็จจนถึงจุดหนึ่งแล้ว เราก็อยากจะไปจุดต่อไป
แล้วเริ่มต้นการ โก อินเตอร์ อย่างไร
เริ่มต้นจากการแปลก่อน เราส่งเรื่อง ใครสักคนในเราทั้งคู่ กับ สมุดบันทึกกับแท่งถ่าน ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตอนนี้มีขายในร้านหนังสือทั้ง 2 เล่ม คิดว่าระหว่างที่ยื่นให้สำนักพิมพ์ต่างประเทศพิจารณา เราก็ต้องขายเองไปด้วย เพื่อหาเงินค่าแปลกลับมา แต่ปรากฏว่าส่งให้สำนักพิมพ์กี่ที่ ก็ไม่มีใครตอบรับกลับมาเลย มารู้ทีหลังว่ามันอยู่ที่การเขียน cover letter และการ pitching งานของเรา ตอนนั้นเรายังทำไม่เป็น
ตอนนั้นก็อยากมีเอเจนต์นะ เพราะเราไม่ถนัดเรื่องกฎหมาย เรื่องสัญญา ก็เลยไปค้นหาทางอินเทอร์เน็ต เขามีช่องให้กรอกข้อมูลเป็นข้อๆ มีอยู่ข้อหนึ่งเขาบอกว่าให้แปะเนื้อหาที่คุณเขียนมาจำนวน 10 หน้า เราก็รู้สึกว่าอยากให้ได้อ่านมากกว่านี้จัง เพราะ 10 หน้าแรกของเรามันยังไม่มีอะไรเลย ก็เลยแปะไปเลย 15 หน้า ทีนี้ทุกคนก็ตอบปฏิเสธเราหมดเลย
รู้ได้อย่างไรว่าผิดพลาดตรงไหน
หลังจากนั้นก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ไปดู Master Class ของ N.K. Jemisin เขาก็บอกว่าเอเจนต์ให้โจทย์พวกนั้นมาเพื่อรอดูว่าเราจะทำตามที่เขาขอได้ไหม ถ้าเราส่งให้เขาเยอะเกินไป หรือทำเหมือนพูดไม่รู้เรื่อง เขาก็จะไม่รับงานของเรา ก็เลยกลายเป็นว่า ยิ่งเราพยายามพรีเซนต์ตัวเองมากจนเกินไป มันยิ่งล้นเกินจากที่เขาต้องการ
อีกประเด็นหนึ่งคือ เราเขียนเป็นอย่างเดียว แต่เล่าเรื่องย่อไม่เป็น เวลาที่เขาบอกว่าขอ synopsis ความยาว 1 หน้ากระดาษ เราก็ยังสงสัยว่าจะเล่าเรื่องนี้ให้จบภายในหนึ่งหน้ากระดาษได้อย่างไร หรือไม่ก็…พล็อตมีแค่นี้เอง จะให้ลากยาวเล่าเรื่องจนถึง 1 หน้ากระดาษเลยเหรอ บางทีก็เขียนแบบให้มี cliffhanger (ทิ้งปมเอาไว้ให้ตื่นเต้น) อะไรแบบนี้ ซึ่งผิดหมดเลย การเขียนเรื่องย่อที่ดีคือการเปิดเผยส่วนสำคัญของเรื่องตั้งแต่เริ่มต้น จุดหักมุม จนถึงตอนจบ เพราะเขาไม่ได้อยากอ่านงานของเรา เขาอยาก ‘ขาย’ งานของเรา เขาต้องรู้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร จะจบอย่างไร ต้องเล่าให้หมด กั๊กไม่ได้ แล้วส่วนที่เป็นพล็อตก็ไม่ใช่ synopsis หรือเรื่องย่อ แต่เป็นการเล่าหนึ่งประโยคที่ครอบคลุมเรื่องราวให้ได้มากที่สุด ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้เลย ส่งไปก็เหมือนคลำทางในความมืด แล้วสุดท้ายก็ไม่มีใครรับ
ตอนนั้นคิดจะทำอย่างไรต่อไป
เป็นช่วงมืดมนของชีวิตมาก เพราะว่าไม่เคยถูกปฏิเสธมาก่อน ไม่เคยส่งงานให้สำนักพิมพ์ด้วย พออยู่ดีๆ ถูกอีเมลตอบกลับมารัวๆ ว่า ไม่เอาๆๆ สักพักก็เริ่มนอนเหม่อ ทำใจ แล้วก็ชินไปเอง
ตอนที่ส่งไปให้ Penguin ก็ส่งเรื่อง Blue Hour (สมุดบันทึกกับแท่งถ่าน) ไป ทำเหมือนกับตอนส่งให้ที่อื่นแหละ เขาก็ถามถึง พล็อต synopsis แล้วก็ส่งต้นฉบับไปด้วย กลัวว่าเขาจะอ่านแล้วไม่เอา ปรากฏว่าเขาตอบกลับมาว่า ฉันเห็นนะว่าเธอแปลเป็นภาษาอังกฤษวางขายเองแล้ว ขอดูเรื่องที่ยังไม่เคยตีพิมพ์หน่อย ก็เลยตอบไปว่า ได้ แต่รอหน่อยนะ สักครึ่งปีได้หรือเปล่า เพราะเรื่องนี้ยังไม่ได้แปล
ทุกเรื่องที่ส่งไปคือต้องจ้างแปลเองทั้งหมด
ใช่ค่ะ จ้างแปล ชื่อคนแปลยังอยู่บนปกอยู่เลย…นี่ไง (ชี้ให้ดู) เขาอ่านต้นฉบับ Blue Hour แล้วรู้สึกชอบ แต่ติดที่ว่ามันตีพิมพ์ไปแล้ว หลังจากส่งเรื่อง Death and the Maiden หรือชื่อไทยว่า สนธยาและหลังจากนั้น ไป เขาก็ตอบตกลง
หลังจากนั้นก็ต้องมาตอบคำถามด้านการตลาดต่อ เช่น เขาให้แจ้ง key word ของเรื่องนี้มาหน่อย เราก็เลือกคำว่า Mystery, Gothic, Thailand, Cult แล้วเขาก็ให้ลิสต์หนังสือเล่มที่เราคิดว่ามีเนื้อหาคล้ายกันกับเรื่องนี้มา 3 เรื่อง ไม่ต้องเขินนะ ต่อให้เราจะคิดว่า “ไม่นะ…ฉันไม่ได้ลอกใคร” ก็ไม่เป็นไร ใส่เต็มที่ไปเลย จากนั้นเขาก็ถามอีกว่า กลุ่มลูกค้าแบบไหนที่จะชอบอ่านเรื่องแนวนี้ เราตอบไปว่า “คนที่ดู Sandman ของ Neil Gaiman แล้วชื่นชอบ” เขาก็ตอบกลับมาว่า “ดีมาก คุณทำการบ้านมาดีมาก” บางทีนักเขียนก็ตอบไปกว้างๆ ว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมันไม่ชัดเจน โชคดีที่เราชัดเจนมาตั้งแต่แรก เรารู้ว่าหนังสือเราไม่ได้เหมาะกับทุกคน หนังสือเราตั้งเป้าหมายที่ผู้หญิงและ Queer เป็นหลัก มีผู้ชายมาอ่านน้อยมาก เวลาที่มีงานแจกลายเซ็นก็จะมีผู้ชายหลงมา 3-4 คน เห็นจะได้
พอจะรู้สาเหตุที่เรื่องของเราไม่ผ่านการ pitching กับที่อื่นๆ หรือเปล่า แล้วคิดว่าเพราะอะไร Penguin Random House SEA ถึงได้ตอบรับ
พอส่งไปหลายๆที่ ก็พอจะคาดเดาสาเหตุที่เราไม่ผ่านได้เหมือนกันนะ โดยส่วนมาก เขาจะเขียนไว้ในเว็บไซต์ว่าอยากได้อะไรที่สะท้อน diversity หรือ non-white แต่เรื่องที่เขาอยากได้จากนักเขียนแบบเรา คือเรื่องที่สะท้อนมุมมองเอเชียในแบบที่เขาอยากเห็น อย่างความเจ็บปวดจากสงครามเวียดนาม หรือถ้าเป็นเรื่องของชาวแอฟริกา ก็ต้องเป็นเรื่องของลูกหลานทาส ถ้าเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อาจจะเป็นเรื่องของการเป็นลูกสาวชาวจีนที่โดนกดขี่ในครอบครัว โดนเลือกปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่เขามองหา เขามองว่าเขากำลังช่วยคุณอยู่ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คุณเขียนถึงความเจ็บปวดของคุณออกมา ทันทีที่คนเอเชียมีความสุข อยากจะเขียนเรื่องแนว Gothic Fantasy นี่ไม่ได้ละ ไม่เข้าเกณฑ์ ด้วยความที่บรรณาธิการของ Penguin Random House SEA เป็นคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเขาก็เลยรับเรื่องแนวนี้ได้ ถ้าเป็นที่อื่นคงยาก พอเห็นว่าเป็นแนว Gothic Fantasy คงไม่มีใครรับ
ฟังดูแล้วเหมือนกับว่าสำนักพิมพ์ต่างประเทศจะมีเงื่อนไขในการตีพิมพ์เยอะเหมือนกัน
เยอะ เราอยากให้นักเขียนไทย นักเขียนอิสระไปแตะจุดของการแปลผลงานส่งนอกเหมือนกันนะ แต่ว่า หนึ่ง การที่มันมีเงื่อนไขข้อจำกัดเยอะ เรารู้ว่ามันค่อนข้างจะบีบจินตนาการของนักเขียน สอง ค่าแปลหนังสือ ลองคิดง่ายๆ ด้วยการเอาจำนวนคำคูณด้วย 1.75 ถ้านิยายของคุณมีความยาวแสนคำ ก็ต้องใช้เงินประมาณแสนเจ็ด ต้นทุนมันสูง ด้วยความที่เรามีเงินเดือนจากการทำร้าน เราก็มีจ่าย ต่อให้เรื่องนั้นไม่ได้รับคัดเลือก ก็ถือว่าเป็นต้นทุน อีกหน่อยมีโอกาสค่อยเอาออกมาพิมพ์ขายก็ได้ แต่ถ้าสายป่านไม่ยาวพอ ไม่มีเงินเย็น การเอาเงินแสนไปทุ่มกับหนังสือเล่มหนึ่งแล้วโดนปฏิเสธกลับมา มันก็พังเหมือนกันนะ สุดท้ายก็เลยไม่ได้ส่งเสริมให้ใครทำ จริงๆ ก็ทำได้แหละ ถ้าไม่มีข้อจำกัดที่ว่ามา ที่อยากเตือนไว้อีกหน่อยก็คือ อย่าเพิ่งพิมพ์ขายเองก่อนส่งไปสำนักพิมพ์ ถ้าเขาเห็นเราขายอยู่แล้ว เขาก็ไม่รับ เขากลัวเราจะไปขายแข่ง
จากนักเขียนอิสระ กลายมาเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Ladys and Moonscape ได้อย่างไร
ตอนนี้ในสำนักพิมพ์มีผลงานของแค่ 2 คน ก็คือ Ladys และ Moonscape ตามชื่อของสำนักพิมพ์เลย แค่นี้ก็แย่แล้ว มีตั้ง 20 กว่าปก ทั้งที่มีกันแค่ 2 คน เพราะว่าเราเอาผลงานตอนที่ยังเป็นนักเขียนอิสระมาลงด้วย งานของเราจัดอยู่ใน Genre ที่เรียกว่า Queer Lit (Queer Literature) มีผลงานแบบที่ตลาดเรียกว่า BL (Boys’ Love), GL (Girls’ Love) ด้วย แต่คอนเซปต์หลักตอนที่สร้างสำนักพิมพ์คือ “Be Queer, Be Protagonist” ตัวละครหลักจะไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้ ปัญหาของเรื่องจะไม่ใช่เรื่อง gender ของคนเหล่านั้น เราจะไม่มานั่งเล่นมุกที่ผลิตซ้ำ ประเด็น “นี่ฉันจะต้อง come out (เปิดเผยรสนิยมทางเพศ) แล้วเหรอเนี่ย” ตัวละครจะทรีตกันในแบบที่ การหลงรักตัวละครเพศเดียวกันเป็นเรื่องธรรมดา
อย่างเรื่อง อยู่แชร์เฮาส์ฯ ก็มีตัวละครที่เป็น Asexual เขาก็มีตัวละครที่เป็นเกย์ เป็นผู้หญิงมาชอบ แต่ถ้ารสนิยมไม่ตรงกันก็จบ จะไม่มีการตีฟู มาฟูมฟายว่าจะทำยังไงให้ตัวละครมารักกัน เราเจองานแบบนั้นมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราพยายามจะก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง การที่เราเห็นค่านิยมบางอย่างมากไปมันก็ shape ความคิดของคนอ่านได้ในระดับหนึ่ง ว่าเกย์หรือเลสเบี้ยนเป็นเรื่องที่ไม่ปกติ คนไม่ฝักใฝ่ในรักและในเซ็กซ์ไม่ปกติ
เราอยากจะอยู่ในโลกที่ไม่ต้องมีการ come out เราอยากจะเขียนหนังสือที่ทำให้การ come out เป็นเรื่องเฉยๆ ไม่มีอะไรมากไปกว่าการบอกกล่าวกัน บางเรื่องเขียนถึงการ come out เหมือนการขออนุญาต จริงๆ มันควรเป็นแค่การบอกกล่าวกันธรรมดาๆ อย่าง “เราไปกินข้าวก่อนนะ”
เรียกได้ว่า ตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยเฉพาะ
จะว่าเราทำก็ไม่เต็มปาก เพราะคนที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ Ladys เราอยากให้เรื่องเหล่านี้ ส่งไปถึงคนที่เป็น และอยากให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ได้ผิดปกติ เราจะหลีกเลี่ยงคำว่าผิดเพศ หรือคำว่า อี๋ คนที่อ่านหนังสือของเราอาจจะไม่สบายใจในเรื่องอื่นๆ แต่จะไม่มีทางไม่สบายใจเรื่องนี้แน่นอน มันเป็นคอนเซปต์ของการสร้างงานที่จะเอามาลงในสำนักพิมพ์หลังจากนี้ด้วย เราอยากจะนำเสนอเรื่องราวที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เราไม่ได้คิดว่าทุกคนต้องอ่านเรื่องของเรา แต่เราอยากจะสื่อสารไปให้คนที่คิดว่าควรจะรู้ ให้เขารู้ว่ามีตัวตน สิ่งที่เขาเป็นอยู่ไม่ใช่โรค ไม่ใช่ความผิดพลาด เขาเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องปกติทั่วไปของโลกใบนี้
ได้ยินว่าสำนักพิมพ์ไปออกงาน Taipei International Book Exhibition 2024 ด้วย เป็นอีกเส้นทางของการโก อินเตอร์หรือเปล่า
ใช่ เราสมัครเป็นสมาชิกของ PUBAT เพื่อที่จะไปงานนี้เลย เราอยู่ที่งานหนังสือพอดี พอได้ยินว่ามีงานนี้ด้วยก็รีบสมัครในช่วงประมาณเดือน 10–11 เพื่อที่จะได้มีโอกาสไปออกงานหนังสือที่ไทเป
มีการสนับสนุนเรื่องการแปลไหม
เขาจะให้เราส่งเรื่องย่อไปไม่เกิน 250 คำ เป็นแค็ตตาล็อกรวม มีรูป มีเรื่องย่อของแต่ละเรื่อง แต่ด้วยความที่เราอยากแน่ใจว่า คนที่โน่นจะต้องเห็นงานเรา ถ้ามีแค่เรื่องย่อในแค็ตตาล็อกรวมเราก็ต้องไปแข่งกับอีกหลายเรื่อง เราก็เลยทำแค็ตตาล็อกส่วนตัวของสำนักพิมพ์ไปด้วย เอา synopsis ทั้งหมดที่มี แปลตัวอย่างผลงานไปเรื่องละตอน นี่ถึงขั้นแปลเป็นภาษาจีนเก่าแบบที่ไต้หวันเขาใช้กันด้วยนะ หมดค่าแปลไปเยอะอยู่เหมือนกัน แล้วก็มาทำภาพอาร์ตใส่เข้าไป ทำออกมาเป็นเล่มเพื่อเอาไว้แจก
มองเห็นศักยภาพอะไรในงานมั้ย เรามีโอกาสที่จะได้ขายงานหรือเปล่า
เห็นนะ มีคนมาคุยด้วยเยอะเลย เป็นผู้จัดซีรีส์ ตอนนี้นิยายวายไทยกำลังโด่งดังข้ามโลก คำว่า Thai BL นี่ฮ็อตฮิตมาก ทุกคนก็จะเข้ามาถามหาแต่ Thai BL แต่พอเราถามคำถามที่ลึกขึ้น เช่น Can you handle tragedy? เขาก็จะแบบ หืม ไม่นะ เขาอยากได้เรื่องเบาสมอง น่ารัก กุ๊กกิ๊ก พอ Ladys เล่าเรื่อง หนนั้นวันโลกแตก เป็นเรื่องของผู้หญิงสองคนที่มาเจอกันเพราะเรื่องเฮงซวยในชีวิต ต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไปนั่นไปนี่ด้วยกัน ต้องผ่านเรื่องราวตรงนี้ไปให้ได้ หนึ่งในนั้นทะเลาะกับแฟน โดนแฟนเอาขวดเหล้าฟาดหัว แต่สิ่งที่ผู้จัดเขาถามกลับมาก็คือ “เขามีเลิฟซีนกันหรือเปล่า”
Ladys ก็บอกว่า เรื่องมันหนักขนาดนี้เลยนะ จะมีเลิฟซีนได้เหรอ ไม่มีหรอก ทางนั้นก็เลยบอกว่า “อ้าว งั้นก็เป็นแค่ ‘friendship’ น่ะสิ ไม่ใช่ GL” เราได้ยินแบบนี้ก็อ่อนแรงไม่มีพลังจะลุกไปทำอะไรแล้ว แนวของเรามันอาจจะก้าวล้ำเกินไปกว่าที่เขาจะเข้าใจ
เล่าให้ฟังหน่อย ว่าในงานมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
วันแรกมีพิธีเปิด นั่งดูพิธีเปิดกัน วันที่ 2 จะเป็น b2b ไปตามนัดกับคนที่เรานัดไว้ วันที่ 3 เป็น pitching มีช่วงเวลาให้เล่าเรื่องของเราให้ผู้จัดซีรีส์ 30 กว่าคนฟัง แต่ละคนมีเวลา 6 นาที เราเลือกมา 2 เล่ม หลังจากนั้นก็จะมีช่วงเวลา matching ถ้าเขาฟัง pitching แล้วรู้สึกสนใจ เขาก็จะมานั่งคุยกับเราต่อ ส่วนมากก็จะมีคนมาถามเราว่า “มีเรื่องที่เนื้อหาเบากว่านี้มั้ย”
ด้วยความที่เราไม่เคยออกงานแบบนี้มาก่อน เราก็จะเหนื่อยกับการที่ต้องพยายามเอาใจทุกคน คนที่มาฟังเราก็จะมีหลากหลายรูปแบบมาก มีผู้กำกับหญิงคนหนึ่งมานั่งคุยด้วย “ฉันเห็นเธออ้างอิงถึงหนังของฉันในการ pitching” เขาก็เลยแวะมาถามว่า “ไหน ขอฟังหน่อย เรื่องราวเป็นอย่างไร”
เขาบอกว่าอยากทำหนังที่มัน ‘relatable’ กับคนดู (เชื่อมโยงกันได้) ความเป็นความตายมันจะเชื่อมโยงได้ขนาดนั้นเลยเหรอ เธอเคยสูญเสียใครบ้างมั้ย ถามมาแบบนี้ก็ยาวเลย เราเลยต้องขุดเรื่องความสูญเสียในอดีตออกมาเล่า พอฟังแล้วเขาก็บอกว่า “มา…เรามาแอดไลน์กัน” ก็อาจจะยังขายเรื่องไม่ได้นะ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าคุยกันรู้เรื่อง คนที่เข้ามาคุยกันส่วนมากคืออยากได้แนว BL, GL ความเป็น Queer Lit มันอาจจะยังล้ำเกินไปสำหรับกลุ่มนี้ ที่พูดแบบนี้ เพราะตอนช่วงงานปาร์ตี้ เราเจอสำนักพิมพ์จากยุโรป พอพูดถึง Queer Lit ก็ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอะไรแล้ว เขาเข้าใจทันที หลายคนบอกว่า น่าสนใจนะ แล้วก็ขอแค็ตตาล็อกของเราไป รอบนี้ไม่แน่ใจว่าจะขายอะไรได้เลย แต่เป็นการไปเห็นโลก และไปให้โลกเห็นเรามากกว่า
รอบหน้าสนใจจะออกงาน Book Fair แบบนี้อีกไหม
Ladys ก็ชวนทบทวนว่าตกลงงานของพวกเราเหมาะกับการขายแบบนี้หรือเปล่า เราคิดว่า การเป็นผู้บุกเบิกมันเหนื่อยและต้องใช้พลังมากกว่าเสมอ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ คนอื่นเขาก็เขียนแนว Queer Lit แค่เขาไม่ได้บอกว่าเขาเขียนแนวนี้ การที่เราประกาศตัวเองว่าเรามาทางนี้ ก็เหมือนเรากับเราทำนามบัตร ทีนี้ก็ต้องหาคนที่ใช่สำหรับเรา ตอนนี้ยังไม่เจอ ก็ต้องใจเย็นๆ หน่อยเท่านั้นเอง
หรือว่าหนังสือแนวนี้จะเหมาะกับ Book Fair ทางแถบยุโรปมากกว่า อย่าง Frankfurt Book Fair หรือ London Book Fair
ที่ไทเปเราก็เจอคนที่ทำ Frankfurt Book Fair แวะมาคุยด้วย เขามาจากพาวิลเลียนประเทศเยอรมนี ซึ่งค่าใช้จ่ายในการไปไทเป กับไปยุโรปมันก็ต่างกันหลายเท่าเลย แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากลองไปดูเหมือนกัน
สำหรับงานที่ไทเป ยังไงก็คือต้องไป มันเป็นประตูบานสำคัญที่จะเปิดไปสู่ประตูบานอื่นๆ ในโลก เราควรจะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่คนอื่นเห็น มันไม่สามารถทำได้บ่อยๆ คนทั่วไปเห็นเราได้ในอินเทอร์เน็ตก็จริง แต่ถ้าเทียบกับการที่คนทำงานในวงการเดียวกันเห็นตัวจริงๆ ได้คุยกันจริงๆ มันก็ต่างกันแล้ว แค่จากงานปาร์ตี้ เราได้นามบัตรของคนที่ไม่น่าจะได้พบเจอในชีวิตประจำวันมาเยอะมาก
ดูคุณเคียมีแผนการบุกไปข้างหน้าตลอดเวลา เหนื่อยหรือท้อบ้างไหม เวลามันไม่เป็นไปตามที่คิด
ไม่มีเวลาท้อหรอก เพราะทำอยู่ 2 งาน ตอนที่เบื่องานหลักก็มาทำงานเขียน ตอนที่เบื่องานเขียนก็กลับไปทำงานหลัก ถ้าเหนื่อยหรือคิดไม่ออกก็วางลงก่อน แล้วก็ไปทำอย่างอื่น เขียนอย่างอื่น เช่น เขียนจดหมายหาแฟน ซึ่งการเขียนจดหมายหาแฟนนี่ก็มีประโยชน์นะ เขียนไปเขียนมาก็ลองหัดเขียนจดหมายแบบเป็นทางการ ไม่คิดเลยว่าจะได้ใช้ทักษะตอนที่ตอบกลับจดหมายหลังจากงาน Book Fair นี่แหละ
ในฐานะ ‘ผู้บุกเบิกตลาด’ มีอะไรที่อยากฝากให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังค้นหาตัวเองบ้างไหม
ไม่ฝากได้ไหม (หัวเราะ) รู้สึกว่าตัวเองเป็น Influencer ที่แย่ แถมคนยังเกลียดขี้หน้าอีกต่างหาก อีกอย่างหนึ่งคือ การที่เราเป็น market penetrator มันแปลว่าเราจะพูดแบบเดิมให้กับคนที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้แล้วนะ การตลาดแบบนี้ใช้ไม่ได้ผลกับคนที่ตามเข้ามาทีหลังแล้ว การที่เราเข้าตลาดช้ากว่าคนอื่นๆ เราแทบตักตวงอะไรจากตรงนี้ไม่ได้เลย มันก็เหมือนคนแรกๆ มีโอกาสได้ก้อนทอง คนที่เข้ามาทีหลังได้เศษทอง
แล้วการที่เรามีโอกาสมากกว่าในเรื่องของการแปล แต่คนอื่นอาจจะมีข้อจำกัด เราจะไปบอก ไปแนะนำเขาก็ไม่ได้ มันจะดูเหมือนว่าเราถือวิสาสะไปเทศนาเขา ทั้งที่ตัวเรามีโอกาสไม่เหมือนเขา
ถ้าเดินมาถึงตรงนี้จะรู้ว่า เราสอนใครไม่ได้จริงๆ เราไม่กล้าสอน คนที่สอนคนอื่นคือคนที่มีความรู้แบบ Intermediate ยังก้าวไปไม่ถึงปลายทาง ยังมีอะไรจะบอกทุกคนมากมาย พอเดินมาถึงตรงนี้ก็จะรู้ว่า มันต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ความรู้อย่างเดียวในการก้าวข้ามเส้นนี้ แต่เราก็ไม่สามารถต่อว่าคนที่ตัดพ้อได้นะ ประเทศนี้ก็ให้อะไรเราจำกัดจริงๆ อย่างบางประเทศมีงบประมาณให้เด็กไปศึกษาวัฒนธรรม ดูโอเปรา ดูงานศิลปะ ยังไม่นับเรื่องการแปลงานเขียนที่มีทุนมากมาย ของเราคือ…อย่าว่าแต่การส่งเสริมกิจกรรมแบบนี้เลย แค่ขั้นพื้นฐานบางทีก็ยังไม่มีการสนับสนุน คนไทยไม่ได้ซีเรียสกับการพัฒนาเยาวชนมากพอ การทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาแล้วมีคุณภาพ เราต้องเลี้ยงเขาด้วยดินที่ดีพอ ใช่ว่าทุกคนจะเติบโตบนพื้นคอนกรีตได้