“เราไม่ได้ตกหลุมรักใครเพราะเพศสภาพ อันนา-ลีนา เราตกหลุมรักเพราะคนคนนั้นเป็นคนโง่ต่างหาก” ยูเลีย หนึ่งในตัวละครพูดไว้อย่างนั้น
ถ้าคุณชอบขีดเส้นใต้ถ้อยคำกินใจเวลาอ่านหนังสือ ‘Anxious People’ หรือ ‘ยอดมนุษย์วายป่วง’ ก็น่าจะเหมาะกับคุณ
ผลงานของนักเขียนชาวสวีเดน Fredrik Backman ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย ก่อนหน้านี้มี 2 เล่มคือ ชายชื่ออูเว (A Man Called Ove) และ บริทท์มารีอยู่ตรงนี้ (Britt-Marie Was Here) ได้ยินว่าหลายคนหลงรักทั้งสองเรื่อง
บทนำของสำนักพิมพ์เขียนว่า
‘ในเล่ม เราจะได้เห็นผู้คนมากมายและความวิตกกังวลของพวกเขา…พูดง่ายๆ ความวิตกกังวลที่เป็นพื้นฐานของตัวละครแทบทุกคนในเรื่องคือ กลัวว่าเราจะดีไม่พอสำหรับคนที่เรารัก’
ก่อนอ่าน ผมเข้าใจไปว่ามันคงเป็นนวนิยายว่าด้วยมนุษย์ขี้กังวลและความวิตกกังวลหลากรูปแบบ แต่ไม่ใช่ สำหรับผม มันไม่ใช่เรื่องความวิตกกังวล มันเป็นเรื่องราวว่าด้วยความรักอันมากมายที่เล่าผ่านความวายป่วงที่เกิดจากความรักอันมากมายนั้น
หรือจริงๆ แล้ว ความรักกับความวิตกกังวลเป็นของคู่กันมาตลอด?
เขาจะคิดเหมือนฉันหรือเปล่า? เขาไม่พอใจอะไรฉันหรือเปล่า? ฉันพูดอะไรผิดไปบ้างหรือเปล่า? ถ้าฉันชวนเขาไปดูหนัง เขาจะปฏิเสธฉันไหม? ฯลฯ เมื่อความรักผลิบานเป็นครอบครัว ความวิตกกังวลก็จะเริ่มเปลี่ยนคำถาม เราจะไปกันรอดไหม? เราจะเลี้ยงลูกยังไง? ฉันจะหาเงินได้มากพอเพื่อครอบครัวได้หรือเปล่า? ฯลฯ
ทั้งหมดทั้งมวลของความกังวลอันไม่รู้จักจบสิ้นรวบตึงลงเหลือเพียงหนึ่งคำถาม
“ฉันดีพอหรือเปล่า?” ที่จะได้รับความรักและรักใครสักคน เป็นคำถามที่สั่นคลอนก้นบึ้งตัวตนของเราอย่างรุนแรง
10 ปีก่อน ชายคนหนึ่งกระโดดลงจากสะพานภายหลังสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ธนาคารในวิกฤตซับไพรม์ ความมั่งคั่งที่เขาตั้งใจเก็บออมเพื่อลูกๆ 2 คนหายวับไปกับตาเพียงเพราะคำโกหกพกลมของธนาคารว่าการลงทุนนี้ ‘ไม่มีความเสี่ยง’ พร้อมกันนั้น ความเป็นพ่อที่ดี พ่อที่คู่ควรก็แตกสลายลงไปด้วยอย่างมิอาจกอบกู้
ความตายของชายนิรนามร้อยโยงคนสามสี่คนเข้าด้วยกันในอีก 10 ปีต่อมา
โจรปล้นธนาคารถือปืนที่ตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นปืนจริงหรือปืนปลอมบุกเข้าปล้นธนาคารแบบไร้เงินสด ระบุเจาะจงว่าต้องการเงิน 6,500 โครนา หรือราวๆ 20,000 บาท ไม่มีโจรปล้นธนาคารสติดีคนไหนเดิมพันอิสรภาพในชีวิตกับเงิน 6,500 โครนาหรอก
เป็นไปได้ว่าโจรสติไม่ดี ทว่า เบื้องหลังของความไม่สมประกอบ ความไร้เหตุผลก็ยังคงเป็นความรัก
ทุกอย่างผิดแผน อันที่จริงโจรปล้นธนาคารไม่มีแผนตั้งแต่ต้น จำต้องหนีเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ที่เปิดให้ผู้สนใจซื้อเยี่ยมชม จบลงด้วยการจับคนเหล่านั้นเป็นตัวประกัน ความโชคร้าย(?) คือตัวประกันทุกคนเป็นตัวประกันที่แย่มากและเป็นคนโง่
นาเดียเป็นตัวละครหนึ่ง เธอมีอาชีพเป็นนักจิตวิทยาที่ทำการบำบัดให้ซอรา หนึ่งในตัวประกันและเป็นตัวละครที่ผมชื่นชอบ ซอราถามนาเดียว่าทำไมคนเรามักตัดสินใจทำอะไรโง่ๆ นาเดียตอบว่า
“สิ่งที่มนุษย์เป็นมนุษย์มากที่สุดเกี่ยวกับความวิตกกังวลคือ เราพยายามแก้ไขความวุ่นวายด้วยความวุ่นวาย คนที่พาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์เลวร้ายแทบไม่เคยถอยออกมา เรามีแนวโน้มที่จะถลำลึกเร็วขึ้นด้วยซ้ำ เราสร้างชีวิตในที่ที่สามารถมองเห็นคนอื่นพุ่งชนกำแพง แต่ยังคงหวังว่าตนเองจะเดินทะลุกำแพงนั้นได้ ยิ่งใกล้เราก็ยิ่งเชื่ออย่างมั่นใจว่าทางออกที่ไม่น่าจะเป็นไปได้จะช่วยชีวิตเราไว้อย่างเป็นปาฏิหาริย์ ขณะที่ทุกคนเฝ้ามองเราเพียงแค่เฝ้ารอให้เราพุ่งชน
“ฉันเชื่อทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่า ถ้าเราทำมานานพอ สุดท้ายเราจะไม่มีทางบอกความแตกต่างระหว่างการบินกับการตก”
พวกเราส่วนใหญ่กระเสือกกระสนจะเป็นตัวเองในแบบที่ดีขึ้นยามที่มีความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ชีวิตกำลังวิ่งชนกำแพง เราจึงเผลอไผลทำเรื่องร้ายแรง โกหกหลอกลวง ก็เพราะเชื่อว่ามันคุ้มค่า หรือบางทีเราแค่ยังหาวิธีแสดงความรักไม่เจอ หรือบางทีเราแค่มีวิธีของเราเอง สุดท้าย เป็นไปได้ว่าคนอื่นจะมองต่าง ว่ามันก็แค่ความเห็นแก่ตัว ซึ่งมีเพียงเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์และไม่มีใครตัดสินได้นอกจากคนสองคนหรือมากกว่านั้นอีกนิดหน่อย
ในหนังสือ ‘Anxious People’ บางคนกำลังตกอย่างแรง บ้างกำลังหัดบิน ส่วนบางคนยังไม่เริ่มตกเลยด้วยซ้ำ เมื่อต้องมาอยู่ร่วมในสถานการณ์เดียวกัน พลั้งเผลอฟังเรื่องราวของกันและกัน ตระหนักว่าใครๆ ก็ทำเรื่องโง่ๆ เพราะความรักกันได้ทั้งนั้น มันจึงก่อเกิดเป็นความเห็นอกเห็นใจ แบ่งปันบทเรียน และใช้ความโง่กอบกู้เหตุการณ์ก่อนหัวจะโขกกำแพง
Backman เคยเผชิญอาการทางจิตจากการโดนยิงระหว่างถูกปล้น กลายเป็นคนวิตกจริต ใช่แล้ว มันแปรเปลี่ยนเป็นนวนิยายเรื่องนี้ เขาเคยพูดถึงตัวละครว่า
“กลุ่มคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่กับความกังวล และพยายามจะเยียวยารักษามัน กลุ่มคนที่รู้สึกว่า ‘ฉันแค่พยายามจะผ่านพ้นวันนี้ไปให้ได้’” (อ้างอิงจาก https://cont-reading.com/context/fredrik-backman/)
นอกจากการสื่อถึงความวิตกกังวลของชีวิตสามัญทั่วไปแล้ว Backman ยังสอดแทรกความโหดร้ายของระบบทุนนิยมที่ถูกปล่อยปละให้แข็งแกร่งจนเกินพอดี ซึ่งมันทำให้มนุษย์หลงลืมว่าเราอ่อนแอเพียงใดเมื่ออยู่ต่อหน้าระบบแห่งความโลภโมโทสัน มันฆ่าคนได้และฝากบาดแผลไว้ในใจ Backman ถ่ายทอดออกมาด้วยสำนวนที่น่าจดจำ การเสียดสีและอารมณ์ขันร้ายกาจ การเล่าเรื่องที่มีกลิ่นอายของนวนิยายสืบสวน ตัดสลับฉากได้อย่างพอเหมาะพอดี และแม้จะเป็นนวนิยายหนาเกือบ 400 หน้า แต่คุณจะรู้สึกว่าเรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนอยากให้มันอ้อยอิ่งมากกว่านี้
(“อารมณ์ขันคือแนวป้องกันสุดท้ายของจิตวิญาณ” ตัวละครหนึ่งกล่าวไว้)
ชายบนสะพานเมื่อสิบปีก่อนกำลังตกแน่นอน เราจะแยกแยะระหว่างการตกกับการบินได้อย่างไร ผมเองก็ไม่รู้ ถ้าไม่ใช่การตกจากสะพานตรงตามตัวอักษร เป็นไปได้ว่าเราสามารถตกได้มากกว่าหนึ่งครั้ง บางคนยินดีตกซ้ำแล้วซ้ำเล่า คงเพราะระหว่างร่วงหล่นผู้คนเหล่านั้นได้เรียนรู้วิธีการโบยบิน
ใครจะรู้ การตกกับการบินอาจเป็นสิ่งเดียวกันมาตลอด
แค่ต้องเรียนรู้วิธีการตก แล้วก็บินขึ้น ตก แล้วก็บินขึ้น ตก…แล้วก็บินขึ้น เพื่อให้ตกได้ดีขึ้น ยอมรับเถอะว่าเราเป็นคนโง่ได้เสมอแหละเมื่ออยู่ต่อหน้าความรัก
คำแนะนำเดียวที่ชัดเจนที่สุดที่บอกได้คือ จงอย่าปล้นธนาคาร