Write for Rights ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ คุยกับ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล – ประธาน แอมเนสตี้ ประเทศไทย

1,663 views
12 mins
October 19, 2022

          Amnesty International หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล เป็นหน่วยงานที่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วทุกมุมโลกโดยให้ความสำคัญกับ Solidarity หรือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในฐานะเพื่อนมนุษย์ แอมเนสตี้สากลเริ่มก่อตั้งในประเทศอังกฤษเมื่อปี 1961 มีองค์กรประสานงานในประเทศไทยคือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) หรือแอมเนสตี้ ประเทศไทย

          ในปี 2001 นักสิทธิมนุษยชนชาวโปแลนด์กลุ่มหนึ่งจัดกิจกรรมเขียนจดหมายมาราธอนเพื่อส่งถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงเหยื่อที่ถูกกระทำ จากจดหมาย 2,326 ฉบับ ในช่วงแรก เพิ่มเป็น 4.5 ล้านฉบับ ในเวลาต่อมา ภายใต้ชื่อ Write for Rights (โครงการ เขียน เปลี่ยน โลก) กิจกรรมนี้ช่วยให้มีผู้รอดชีวิตจากการถูกซ้อมทรมาน การกักขังหน่วงเหนี่ยวหรือถูกอุ้มหายมากกว่า 100 ราย ข้อความที่ถูกเขียนผ่านช่องทางต่างๆกลายเป็นสายตาสาธารณะที่จับจ้องเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเกิดในซอกมุมไหนของโลก

          แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้สานต่อเจตนารมณ์โครงการ Write for Rights ผ่านโครงการ ‘Writers that Matter นัก (อยาก) เขียน เปลี่ยนโลก’ ด้วยการเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนผ่านการสร้างสรรค์ผลงานประเภทเรื่องสั้น ที่ผ่านกระบวนการพูดคุยกับนักรณรงค์และญาติของบุคคลสูญหายและถูกซ้อมทรมาน เพื่อส่งสารถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องว่า ‘Write to Remember’ หรือ ‘เราจะไม่ลืม’

          นี่เป็นที่มาของการนัดคุยกับอาจารย์หญิง ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เกี่ยวกับโครงการ Write for Rights และการเขียนที่กลายเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวอันทรงพลัง

ความสนใจส่วนตัวและแรงขับที่ใช้ผลักดันโครงการ Write for Rights ในบริบทสังคมไทย

          พื้นฐานจากการทำงานวิชาการและสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยทำให้สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ส่วนที่มาเสริมคือ การได้เข้าไปมีส่วนร่วมในองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ การได้เข้ามาทำงานใน แอมเนสตี้ ประเทศไทย จึงเหมือนได้ลงมาอยู่ในขบวนรณรงค์ โดยเฉพาะการทำงานเบื้องหลังที่คอยผลักขบวนรณรงค์สิทธิมนุษยชนให้เคลื่อนไป พอมาดำรงตำแหน่งแล้ว ต้อง Contribute การทำงานให้กับองค์กร จึงเริ่มพิจารณาว่า มันยากที่จะทำให้บางสังคม โดยเฉพาะสังคมเอเชียคิดถึงเรื่อง Individualism หรือ Human Rights แบบแทรกไปในชีวิตประจำวัน เวลาที่เราเห็นถ้อยความที่เกี่ยวกับการรณรงค์ก็เป็นเหมือนการวางหลักการให้อ่าน คนอ่านก็เข้าใจ เห็นด้วย คือรู้นะแต่ไม่ได้เข้าใจเนื้อหา เราเห็นช่องว่างแบบนี้อยู่เยอะ จึงกลับมาย้อนคิดถึงเรื่องการทำให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาอยู่ในวิธีคิดหรือชีวิตประจำวันของคน

          นอกจากงานวิชาการ ยังเคยรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือ ทำงานแปลวรรณกรรม สนใจป๊อปคัลเจอร์และภาพยนตร์ทางเลือก จึงมองว่าเครื่องมือทางวัฒนธรรมน่าจะช่วยให้สิทธิมนุษยชนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และเข้ามาอยู่ในวิธีคิดของคนได้ โครงการ Write for Rights จึงเป็นโครงการที่ให้ความสำคัญมาก โดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดผลงานที่ส่งเข้ามา และมี Passion กับโครงการเยอะมาก

อยากเห็นเนื้อหาสิทธิมนุษยชนถูกนำเสนอผ่านสื่อรูปแบบไหนและอย่างไรบ้าง

          อยากเห็นเนื้อหาถ่ายทอดผ่านสื่อทุกประเภท แต่ไม่ต้องจั่วหัวตัวเองว่ากำลังจะพูดเรื่องสิทธิ  อยากให้เนื้อหาแทรกอยู่ในกระบวนการเล่าเรื่อง ไม่จำเป็นต้องมีที่ทางเฉพาะ อย่างนิยายญี่ปุ่นก็วางขายบนชั้นนิยายทั่วไป ในขณะที่อ่านแล้วสบายใจขึ้น คนอ่านก็ได้แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีจินตนาการใหม่ๆ เปิดใจกว้างเพื่อยอมรับความหลากหลาย ส่วนตัวจึงอยากเห็นเนื้อหาเรื่องสิทธิแทรกอยู่ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปเข้าถึงด้วยวิธีเล่าเรื่องที่แยบคาย

          กรณีของไทยขอยกตัวอย่างผลงานชื่อ ‘อ่อนหวานและหาญกล้า’ โดย จิดานันท์ (สำนักพิมพ์แจ่มใส) ตัวละครผู้ชายไม่ได้ตรงกับกรอบของความเป็นชาย ส่วนผู้หญิงโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ที่ชอบเพราะบรรณาธิการไม่ได้จั่วเรื่องพวกนี้เป็นจุดขาย แต่การเล่าเรื่องราวให้ค่อยๆ คลี่คลายในตอนท้าย ทำให้เราตระหนักว่าเพื่อนเราหรือคนรอบตัวที่มีกรอบบังคับอยู่ เป็นผลมาจากโครงสร้างสังคมที่อยู่เบื้องหลัง การคุ้มครองสิทธิหรือกฎหมายไม่เอื้อให้คนต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาควรจะได้รับ เลยเริ่มมาได้พลังแบบนี้จากนักเขียนรุ่นใหม่อย่างงานของคุณจิดานันท์ที่ทำให้มีความหวังในการจัดโครงการ Write for Rights

อยากให้ช่วยฉายภาพสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองไทย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจไปด้วย

          สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมืองไทยที่น่าเป็นห่วงที่สุดตอนนี้คือ เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก จริงๆ ก็ห่วงมาโดยตลอด แต่ตอนนี้มันมีทั้งมุมที่ดีขึ้นและมุมที่น่าเป็นห่วงกว่าเดิม เรามองเห็นการตื่นตัวในการใช้เสรีภาพในสังคมมากขึ้น มีการทำความเข้าใจกับสิทธิ และทดลองใช้สิทธิในรูปแบบที่หลากหลาย ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมี  2 ประเด็น คือ พอมีคนลองใช้เสรีภาพมากขึ้น แรงกดและแรงปราบปรามจากผู้มีอำนาจก็มากขึ้น มีการจำกัดเสรีภาพเยอะขึ้นจากฝั่งรัฐหรือจากฝั่งที่รู้สึกว่าการใช้เสรีภาพมากขึ้น มันไปกระทบกับผลประโยชน์ของเขา จุดนี้ต้องใช้เวลาให้ปฏิกิริยาลดความรุนแรง ให้เวลาคนในสังคมหาจุดร่วมกัน แล้วพอถึงจุดหนึ่งสังคมจะเรียนรู้ว่า สิ่งนี้ทำได้นะ อันนี้ทำไม่ได้ ละเมิดสิทธิคนอื่น 

          อีกมุมหนึ่งที่น่าเป็นห่วงและอาจไม่เกี่ยวกับผู้มีอำนาจโดยตรงคือ สังคมรวมตัวกันปะทะกับประเด็นทางสังคมเอง มีสถาบัน องค์กร รวมทั้งตัวบุคคลที่ถูกสังคมรุมตัดสินหรือตั้งศาลเตี้ย ซึ่งเรียกว่า Cancel Culture มันเป็นการรับรู้ของคนธรรมดาที่รวมตัวกันโดยมีความเห็นคล้ายกันเพื่อต่อต้านสิ่งที่ไม่เห็นด้วย หรือประเมินไปแล้วว่าสิ่งนั้นไม่ดี เช่น แบรนด์สินค้าที่เหยียดผิว เหยียดเพศ ผู้บริโภคก็ลุกขึ้นมาส่งเสียงต่อต้านแบรนด์สินค้า มันเป็นวิธีการรวมตัวใช้เสรีภาพรูปแบบหนึ่ง แต่ว่าความตื่นตัวทำนองนี้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเสรีภาพในสังคมด้วยเช่นกัน

          นึกออกไหม ถ้าคุณไม่ได้อยู่ทั้งสองฝั่งแล้วพูดออกมา คุณอาจจะโดนทัวร์ลงจากทั้งสองขั้วหลักที่กำลังตีกันอยู่ในวง แต่ถ้าคุณอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง คุณจะโดนแค่จากฝั่งตรงข้าม ซึ่งถึงจะเถียงแพ้ คุณก็ยังมีคนที่เห็นด้วย แต่คนที่เป็นปัจเจก มันไม่มีอะไรให้พิง คนทั่วไปที่ไม่ได้มีพลังหรืออำนาจมากพอที่จะเข้าไปจัดการกับสภาวะแบบนั้น ยิ่งหลีกเลี่ยงที่จะพูด ฉันไม่ยุ่ง ฉันไม่พูด บางคนก็ปิดใจไปเลย งั้นฉันไม่สนใจเรื่องนี้แล้ว ปล่อยให้เขาเถียงกันไป

          ก็จะกลับไปสู่วงของคนที่คุยแต่เรื่องนั้นวนไปมา กลายเป็นว่าคนที่มีพลังและอำนาจมากๆ เท่านั้นที่พร้อมจะถกเถียงในวงสนทนาเหล่านี้ ซึ่งมันย้อนแย้งมาก เพราะจุดตั้งต้นของ Cancel Culture คือโอบรับความหลากหลาย เพื่อที่จะทัวร์ลงคนที่ละเมิดสิทธิคนอื่น แต่วิธีการแบบนี้พอเอามาใช้ในสังคมกลับทำให้เกิดการปฏิเสธความหลากหลายเสียเอง ถามว่าน่าห่วงเท่าการปราบปรามจากรัฐไหม ส่วนตัวคิดว่าไม่ แต่ Cancel Culture ทำให้เกิดสภาวะแบบ Echo Chamber คุยกันเฉพาะคนที่เห็นด้วย และรุมด่าคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม คนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ตรงกลางก็จะไม่คุย ไม่ส่งเสียง มันเป็นต้นเหตุที่ทำให้สังคมเลือกที่จะเงียบ

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ชวนย้ำด้วยการเขียน ให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไม่ไกลตัว
Photo : The101.world

ถ้าอย่างนั้น คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ที่สังคมไทยกำลังเผชิญ และแอมเนสตี้ ประเทศไทยทำงานกับเรื่องนี้อย่างไร

          สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม คนถูกกดไว้ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คนที่มียศตำแหน่งหรืออายุที่มากกว่ามีอำนาจเหนือคนที่อยู่ต่ำกว่า ‘โดยอัตโนมัติ’ แล้วค่านิยมจารีตในสังคมมันมาหนุนซ้ำ เช่น ห้ามเถียงครู ห้ามเถียงพ่อแม่ ห้ามตั้งคำถามกับสิ่งที่อยู่เหนือกว่า พอเราเริ่มรู้ว่า มันผิดนะ หรืออาจจะอึดอัดมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่รู้จะรับมือยังไง หรือไม่มีวิธีที่เหมาะ พอรู้ว่ามันแสดงออกได้ พูดออกไปแล้วรอด เพื่อนทำได้ ฉันก็ทำได้ เลยไปสู่สภาวะของการตีกลับ ยิ่งกดไว้แรง แรงอัดที่กลายเป็นการตีกลับก็ยิ่งแรง เวลาวางแผนการทำงานเราไม่ได้มุ่งแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทัวร์ลงโดยเฉพาะ แต่คิดว่าเป้าหมายการทำงาน 3 ระดับที่เราวางแผนไว้น่าจะช่วยให้สังคมยกระดับความคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และเชื่อมโยงโครงการ Write for Rights เข้ามาด้วย

          ระดับแรก ทำงานกับคนกำหนดนโยบาย (Policy Maker) ขณะเดียวกันก็สร้างนักกำหนดนโยบายรุ่นใหม่ที่เข้าใจสิทธิมนุษยชนควบคู่กัน ต้องสื่อสารกันว่าเรื่องไหนถึงเวลามาช่วยกันทบทวนและขยับปรับเปลี่ยน ซึ่งหลายคนที่ไปเจอ มีประสบการณ์สูง อายุมาก รู้ว่าต้องเปลี่ยนนโยบายเพียงแต่เขาไม่รู้วิธีเปลี่ยน แอมเนสตี้ ประเทศไทย ก็จะช่วยเสริมข้อมูลให้ เช่น ถ้าอยากปรับเปลี่ยนคุก และต้องการกรณีศึกษาที่บอกว่าการให้นักโทษอยู่นอกคุกทำให้สังคมดีขึ้นกว่าเดิมได้ เราก็ช่วยสนับสนุนข้อมูลให้ ถ้าต้องการฟังเสียงว่าคนในสังคมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ไหม เราจัดกระบวนการรับฟังให้ได้

          ระดับที่สอง ทำงานกับผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Maker) เป้าหมายของเราอยากทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นกระแสหลัก (Mainstreaming) เป็นงานอีกระดับที่มุ่งไปหาคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ คนที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน เขาจะร่วมขบวนตรงนี้ได้อย่างไร โครงการ Write for Rights ก็เป็นงานที่อยู่ในระดับนี้ด้วย คือตั้งใจใช้สื่อพาให้สิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันและสร้างความตระหนักรู้อยู่แก่ใจ ชวนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาส่งเสียงมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ มาทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยเริ่มจากชีวิตและเนื้อตัวของเขาผ่านงานเขียนและสื่อช่องทางต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเป็นขบวนประท้วงเสมอไป

          ระดับที่สาม ทำงานกับผู้ที่รับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยหรือคนที่ไม่ได้พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร เป้าหมายกลุ่มนี้บางคนสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแต่ติดข้อจำกัด แม้แต่กลุ่มที่ไม่รู้จักสิทธิมนุษยชน รวมถึงกลุ่มที่ต่อต้านสุดๆ แค่ได้ยินคำนี้ก็โบกไม้โบกมือไล่ เป็นกลุ่มที่เราตั้งใจทำงานด้วย และพยายามเปิดช่องทางการสื่อสาร โครงการ Write for Rights ก็น่าจะเข้ามาช่วยทำงานกับกลุ่มนี้ได้เช่นกัน

          ส่วนตัวประเมินว่างานในระดับที่สองจะสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้าง เพราะคนรุ่นใหม่เป็นกำลังที่จะขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคต เวลาเคลื่อนขบวนก็ต้องการต้องการแรงสนับสนุนและเครื่องมือรณรงค์ เราคิดว่าข้อดีของยุคนี้คือเครื่องมือรณรงค์หลากหลาย ยิ่งพอมี โซเชียล มีเดียโต้ตอบได้ มีคอมเมนต์กลับมาเดี๋ยวนั้น มีคนกดไลก์ กดโหวต กดแชร์ อย่างรวดเร็ว เราจึงให้ความสำคัญกับการทำงานในระดับที่สองมากขึ้น นักกิจกรรมรุ่นใหม่ก็มีท่าทีเปลี่ยนไป คือเขาจะเริ่มรู้ว่าต้องเข้าใจคนอื่น มีความเข้าอกเข้าใจ มีความอดทนที่จะคุยกับคนเห็นต่างเพราะ โซเชียล มีเดียโต้กลับทันที อันนี้ก็เป็นพลังของการเขียนและผลพวงจากพฤติกรรมทัวร์ลงเช่นกัน

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ขับเคลื่อนโครงการ Write for Rights ผ่าน โซเชียล มีเดีย แค่ไหน อย่างไร

          ช่วง 2 ปีที่เราเข้ามาทำงานตรงนี้ พฤติกรรมการใช้โซเชียล มีเดีย มันก็เคลื่อนตัวไปด้วยจาก Twitter ล่าสุดขยับไปอยู่ที่ TikTok อย่างช่วงโควิด พอพบเจอตัวจริงไม่ได้ ก็มี Clubhouse หรือห้องประชุมออนไลน์เข้ามา ทั้งหมดไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกทำโปรเจกต์แบบเดิม กรณีโครงการ Write for Rights ก็เป็นโครงการดั้งเดิมที่เรายังทำอยู่ เขียนจดหมาย ส่งอีเมล ก็ยังทำอยู่ คิดว่ามันไปด้วยกันได้ เพียงแต่ต้องมาคิดเรื่องวิธีการกับผลที่อยากได้จากการลงมือทำสิ่งนั้น โซเชียล มีเดีย เป็นการสื่อสารสองทาง เรื่องไหนที่ไม่ดีมันสามารถติดเทรนด์ Twitter ได้แค่ชั่วข้ามคืน

          ถ้ามีประเด็นที่ยากแต่เราอยากให้คนช่วยรณรงค์ อย่างเช่น ร่าง พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรืออย่างพ.ร.บ. ควบคุมเอ็นจีโอ สิ่งที่เราทำคือช่วยย่อยประเด็น ช่วยไกด์ว่าถ้าคุณอยากรณรงค์ประเด็นนี้ คุณจะไปต่อยังไง มีใครที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่บ้าง หรือโยนคำถามที่ช่วยให้สามารถเปิดประเด็นคุยต่อได้ อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นว่าทีมสื่อสารทำได้แล้วก็ติดเทรนด์ใน Twitter

อยากให้เล่าถึงตัวโครงการ Writers that Matter ปีนี้ตั้งที่โจทย์ในการเขียนเกี่ยวกับประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงเหตุผลว่าทำไมปีนี้ถึงเลือกโจทย์นี้ มีอะไรเป็นวาระสำคัญ และทำไมถึงใช้เรื่องสั้นเป็นสื่อ

          โครงการนี้จะเป็นภาพใหญ่ที่พยายามดึงให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเข้ามาอยู่ใกล้ตัวกับผู้คนมากขึ้น หรือเรียกว่า Mainstreaming Human Rights ซึ่งงานสื่อสารด้านอื่นที่แอมเนสตี้ทำก็มี เช่น ภาพถ่าย ภาพวาด ซึ่งภาพมันเข้าใจง่าย แต่เรายังเชื่อว่างานเขียนมีพลังพุ่งเข้าไปในจิตใจของคนได้เยอะ ช่วยให้คนมีจินตนาการเชื่อมโยงกัน และเทียบเคียงประสบการณ์ของกันและกันได้ดีกว่า โดยเฉพาะ Fiction มันทำงานตรงนี้ได้ ช่วยเสริมจินตนาการของผู้อ่านได้ เลยนำมาสู่ไอเดียที่ว่า ลองจัดประกวดงานเขียน แน่นอนว่างานเขียนที่เราจัดประกวดต้องเชื่อมโยงกับสิทธิมนุษยชนและเชื่อมโยงกับประเด็นในสังคม

          กรณีการทรมานและการอุ้มหาย เวลาเกิดเหตุครั้งหนึ่งจะเห็นว่าสื่อลงข่าวใหญ่ เพราะมันเป็นประเด็นร้อนที่คนรู้สึกร่วมได้ สื่อก็คงอยากช่วยสร้างความตระหนักให้สังคมด้วย แต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้ง่าย มีการก่อเหตุที่ซับซ้อน คนที่หายตัวไปยิ่งบอกไม่ได้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออย่างกรณีทรมานก็ไม่ค่อยมีข่าวตามต่อไปว่าหลังถูกทรมานเหยื่อได้รับการดูแลอย่างไร ได้รับการบำบัดในมิติไหนบ้าง พอผ่านไปนานสังคมก็ลืมว่าเคยมีเรื่องร้ายแรงแบบนี้เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามันมีกระบวนการทำให้สังคมจดจำหรือลืมเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากผู้มีอำนาจ ซึ่งเราไม่อยากให้การละเมิดสิทธิถูกลบไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ความตระหนักรู้ว่า ‘วันหนึ่งเหตุการณ์แบบนั้นอาจเป็นเรา’ มันหายไป จึงเป็นที่มาของหัวข้อการประกวดของปีนี้ว่าเป็นการประกวดเรื่องสั้นหัวข้อ ‘เราจะไม่ลืม’

          ส่วนเหตุผลที่เลือกประเภทงานสร้างสรรค์ให้เป็นเรื่องสั้น เพราะอยากให้ลองช่วยกันดูว่าพอประเด็นทางสังคมถูกถ่ายทอดเป็นเรื่องสั้น มันช่วยเปิดมิติของการคิดถึงสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นได้หรือไม่ เพราะไอเดียของการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนคือ การเอาตัวเราไปอยู่ในหัวอกและความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่ถูกกระทำหรือผู้ที่ถูกละเมิด แล้วหยิบความรู้สึกที่เราเรียกว่า ความเห็นอกเห็นใจหรือความหัวอกเดียวกันหรือการเคียงบ่าเคียงไหล่กัน เอามาเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนงานประกวดครั้งนี้ เราจึงเชื่อว่าเรื่องสั้นมีพลังในแง่นี้

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ชวนย้ำด้วยการเขียน ให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไม่ไกลตัว
Photo : The101.world

Writers that Matter ถือว่าเป็นการประกวดเรื่องสั้นที่มีเค้าโครงจากเรื่องจริง มีกระบวนการช่วยเหลือด้านข้อมูลสำหรับนักเขียนอย่างไรบ้าง

          มีงานพูดคุยแบบออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา วิทยากรทั้งหมดมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหาย กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีจากภาคเหนือ เรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด กรณีคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คุณบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งเคสเหล่านี้ก็จะมีความซับซ้อนขึ้นไปอีก อย่างญาติผู้สูญหายที่ออกมาช่วยเราทำรณรงค์หรือเคลื่อนไหว ก็ถูกรัฐเพ่งเล็งอีกที โดนละเมิดเสรีภาพเรื่องอื่น เช่น เสรีภาพด้านการแสดงออก เพราะมันมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องเยอะพอสมควร

          เราสามารถจัดสรรวัตถุดิบเหล่านี้ให้กับนัก (อยาก) เขียน ให้เขานำวัตถุดิบไปปรุงด้วยวิธีการและความคิดสร้างสรรค์ แล้วมันอาจจะกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งวัตถุดิบที่เรามีก็หลากหลาย และวิธีการเขียนสามารถพลิกแพลงได้หมด ไม่ว่าจะบรรยายตามเหตุการณ์จริง หรือดัดแปลงให้มันน่าสนใจ กลายเป็นเรื่องเชิงทดลองไปเลย อันนี้เราก็ไม่ปิดกั้น ซึ่งในบรรดาผู้สมัครทั้งหมดคงมีคนที่หยิบเรื่องเดียวกันขึ้นมาเขียน แต่ว่ามันจะต่างกันยังไงก็ต้องรอดู อาจจะไม่ใช่มุมมองของเหยื่อ อาจจะเขียนจากมุมมองของญาติ มุมมองของคนที่ทำการรณรงค์ แล้วพอเป็นงานประกวดมันทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า บนวัตถุดิบชุดเดียวกัน ประเด็นเดียวกัน แต่มันมองได้หลากหลาย มีความหลากหลายในการพูดถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งในขบวนของการรณรงค์สิทธิมนุษยชนก็มีประเด็นที่เราพูดกันมาตลอดว่า มันไม่จำเป็นต้องมีวิธีทำงานวิธีเดียว มีเส้นเรื่องแบบเดียวที่เราจะต้องโฟกัสโดยห้ามออกนอกลู่นอกทาง ในทางกลับกันในเรื่องหนึ่งเรื่องมันมีมิติที่หลากหลาย นำไปสู่วิธีรณรงค์หลายวิธี พอมันมีหลายวิธี ก็จะยิ่งเปิดกว้าง เชื้อเชิญคนทั่วไปว่าคุณพร้อมหรือคุณสนใจเข้าร่วมรณรงค์ในหัวข้อไหน ประเด็นไหน ด้วยวิธีการแบบไหน

นอกจากโครงการด้านการเขียนแบบ Writers that Matter ทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย มีโครงการเกี่ยวกับการอ่านบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะการอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

          การอ่านจำเป็นมาก เพราะมันเป็นวิธีรับข้อมูลที่ทำให้เรามีเวลาได้ย้อนคิดกับตัวเอง เวลาฟัง พูด คุย มันได้ข้อมูลเหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ได้ซึมซับแบบการอ่าน เพราะฉะนั้นการอ่านมันช่วยให้คนได้สำรวจเข้าไปในสำนึกและจิตใจของตัวเอง แต่ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราโฟกัสโดยตรงในแง่ที่ว่า ลุกขึ้นมาทำสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้คนนั่งอ่านจริงจัง แต่เราจะโฟกัสกับกิจกรรมที่อยู่บนพื้นฐานการให้ข้อมูลกับสังคมซึ่งงานทั้ง 3 ระดับที่เราพูดถึงตอนแรกจะเน้นเรื่องการให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจ อย่างเวลาเราสื่อสารเพื่อการรณรงค์จะมีการใช้กรณีศึกษาเล่าว่าเขาต้องเจอกับอะไรมา อันนี้จะเป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับการอ่านเรื่องสั้นเหมือนกัน  คือช่วยให้รู้ว่าชีวิตมนุษย์คนหนึ่งถูกละเมิดสิทธิได้ขนาดไหน ที่สำคัญเหตุการณ์แบบไหนถึงเรียกว่าถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือในแง่ของนักรณรงค์ แรงบันดาลใจของเขาพาเขาเดินทางไปถึงไหนบนเส้นทางนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็สามารถเผยแพร่เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังกลุ่มนักรณรงค์หน้าใหม่ที่สนใจเข้ามาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

เคยมีโครงการเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจากต่างประเทศมาแปลบ้างหรือไม่?

          เคยมีโครงการที่เคยคิดจะทำเพื่อ Mainstreaming คือเราตั้งคำถามกันว่า ถ้าจะทำให้ชุดคุณค่าสักชุดกลายเป็นกระแสหลักของสังคม เราทำอะไรได้บ้าง เราก็คิดถึงเรื่องสื่อ สิ่งที่คนเสพ แต่ไม่ได้มองหนังสือเป็นตัวเลือกแรก เพราะคิดว่าหนังสือไม่ใช่ทางเลือกที่ได้รับความนิยมนักในเมืองไทยถ้าเทียบกับภาพยนตร์หรือละคร อย่างภาพยนตร์มีเลือกหนังที่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเอามาฉาย แต่บทเรียนอันหนึ่งที่เรายืนยันตรงกันคือหนังสือมีความสำคัญ เพราะหนังสือมันมีพื้นที่ให้กับคนอ่านได้คิดใคร่ครวญมากกว่าสื่ออื่น อย่างเวลาดูหนังจะมีทั้งภาพและเสียงที่กระตุ้นเร้าทำให้การตั้งรับข้อมูลหรือการย้อนคิดลดลง

          อย่างโครงการ Write for Rights ซึ่งเขียนถึงนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด มีทั้งเขียนถึงตัวคนที่ถูกละเมิดสิทธิและเขียนถึงผู้มีอำนาจที่อาจจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นทั้งหมด การสื่อสารกับคนสองกลุ่มนี้ก็ไม่เหมือนกัน คือนอกจากเราจะต้องเข้าใจว่าคนนี้เขามีสิทธิ มันก็ต้องเข้าใจต่อว่า แล้วเราจะเขียนถึงคนที่ถูกละเมิดสิทธิอย่างไร เวลาเราพูดกับเขามันพูดจากคนหัวอกเดียวกัน เวลาเราพูดกับคนกำหนดนโยบาย คนที่มีอำนาจตัดสินใจเราจะใช้ภาษาแบบไหนในการเขียน เราคิดว่ากระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดทักษะที่เอาไปใช้ต่อในชีวิตจริงได้

การเขียนถึงผู้ถูกกระทำ เรามักเขียนเพื่อให้กำลังใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจ การเขียนถึงผู้มีอำนาจมักเป็นการเขียนบอกเล่าเรื่องราวในเชิงลบ ซึ่งบางทีเขาปิดประตูไม่รับฟัง มีปัจจัยใดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผู้มีอำนาจต้องฟัง

          จริงๆ มีหลายลำดับเหมือนกัน ลำดับแรกคือ การพูดอย่างตรงไปตรงมา ช่องทางสื่อสารระหว่างคนที่มีอำนาจกับพลเมืองมันไม่ค่อยมี หรือถึงมีก็ต้องผ่านตัวแทนแบบผู้แทนราษฎร ผ่านองค์กร หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่การเขียนจดหมายมันตรงไปตรงมา

          ลำดับที่สองคือ เรื่องของปริมาณ ถ้าเห็นภาพใหญ่ว่าไม่ใช่คนๆ เดียวที่ออกมาเขียน แต่มีคนเยอะมากที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง มีเนื้อหนังของการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม มันต่างจากการลงชื่อในคำร้อง คำร้องก็สำคัญแต่ว่าการลงชื่อมันบอกแค่ว่าฉันเห็นด้วยกับข้อเสนอนั้น ในขณะที่การเขียนจดหมายหรือโปสการ์ดมันไปไกลกว่า นอกจากเห็นด้วยกับข้อเสนอนั้นแล้ว เหตุผลที่เห็นเหมือนกันอาจจะมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน มันมีเลือดเนื้อมีชีวิตจิตใจอยู่ในตัวอักษรที่ถูกเขียนออกมา สุดท้ายผู้มีอำนาจก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เวลาเขาใช้นโยบายต่างๆ ก็ถูกจับตามองเช่นกัน

          ผลงานที่ชนะการประกวดเรื่องสั้นในปีนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทย จะคัดสรรมาเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปติดตามอ่านผลงานได้จากช่องทางออนไลน์ โดยลิขสิทธิ์ของผลงานยังเป็นของผู้เขียน

          แอมเนสตี้ ประเทศไทย เชื่อว่าการเขียนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้ของประชาชนในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ อย่างน้อยนัก (อยาก) เขียนที่ส่งผลงานเข้าประกวดก็คือคนที่ภาคภูมิใจและอยากเป็นส่วนหนึ่งของขบวนรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแล้ว ยังมีกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกหลายโครงการที่ช่วยเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนให้กลายเป็นหนึ่งในพื้นฐานความเข้าใจของการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใครจะรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นเหล่านั้น จะเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัวในวันไหน การส่งเสริมให้สังคมยอมรับว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ คือเรื่องใกล้ตัว คือเรื่องในวิถีชีวิตประจำวัน จึงเป็นเป้าหมายที่เราควรก้าวไปให้ถึง

แอมเนสตี้ ประเทศไทย ชวนย้ำด้วยการเขียน ให้สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องไม่ไกลตัว
Photo : The101.world

ที่มา

Cover Photo : The101.world

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก